ที่เรียงรายอยู่ในเล่มคือ 8 เรื่องสั้นของริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ (Ryunosuke Akutagawa) ที่เขียนขึ้นในช่วงทศวรรษ 1910s-1920s และหากสำนักพิมพ์สมมติไม่ได้หยิบขึ้นมาแปล เรื่องสั้นเหล่านี้ก็อาจจะถูกทิ้งไว้ในซอกหลืบของกาลเวลาหรือไม่สามารถพาตัวเองมาถึงผู้อ่าน (อย่างน้อยก็ผู้อ่านอย่างเรา) ตามที่คำนำสำนักพิมพ์ว่าไว้ และนับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง
มันเริ่มจากคาดหวังว่ารูปแบบของนิทานหรือตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่นที่เรามักเสพในฐานะเรื่องปรัมปรา จะช่วยพาเราหลีกหนีออกจากความเหนื่อยล้าของปี แต่เราคิดผิด อะคุตะงะวะไม่ปล่อยให้ผู้อ่านของเขาเพลิดเพลินกับเรื่องเล่าเหนือจริงและหลงอยู่กับความบันเทิงใจ เขาสาดใส่ความเจ็บปวดให้เราอย่างหนักๆ แต่ไม่ได้ทำให้อยากผละหนีไปจากมัน แม้เราอาจจะเว้นช่วงให้ตัวเองสักหน่อยหลังอ่านจบไปเรื่องหรือสองเรื่อง ที่สุดแล้วก็ต้องรีบกลับมาอ่านมันต่อให้จบ จากนั้นก็ค่อยเวียนกลับไปอ่านชีวิตอันกระพร่องกระแพร่ง-หลงใหลในวรรณกรรม-หลีกหนีไปจากเมืองหลวง-และจบลงที่การจบชีวิตตัวเองของอะคุตะงะวะที่บรรณาธิการเล่มเรียบเรียงเอาอย่างงดงามตอนต้นเล่มอีกครั้ง
หลายคนคุ้นชื่อของอะคุตะงะวะในฐานะชื่อรางวัลทางวรรณกรรมของญี่ปุ่น หรือไม่ก็ในฐานะนักเขียนผู้เป็นเจ้าของ 2 เรื่องสั้นที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง ราโชมอน (1950) รวมถึงนิยายขนาดสั้น ขัปปะ ที่ว่ากันว่าสะท้อนความล้มเหลวในการอยู่ร่วมโลกกับผู้คน รวมถึงความขึ้งเครียดเหนื่อยหน่ายเจียนวิปลาสต่อสังคมญี่ปุ่นของเขา
และเหล่าเรื่องสั้นที่นำโดย ‘ความจงรักภักดี’ หรือ Loyalty นี้ ได้ตอกย้ำลายเซ็นโดดเด่นของเขา ทั้ง 8 เรื่องเต็มไปด้วยลีลาในวิธีเล่าความจริงหลายฉบับ และวิธีสวมบทผู้เล่าที่มีทัศนคติต่างๆ อย่างแนบเนียน การเล่าเรื่องการดำรงอยู่ของคนบ้าในสังคมเคร่งครัดแบบลูกพระอาทิตย์ รวมถึงการครุ่นคำนึงถึงความตายในรูปแบบต่างๆ ผ่านงานเขียน ก่อนที่เขาจะพาตัวเองไปเจอมันจริงๆ
สำหรับเราแล้ว มู้ดแอนด์โทนของเรื่องอาจห่างไกลจากเรื่องสั้นร่วมสมัยที่หลายคนเคยคุ้น (ก็แน่อยู่แล้ว) แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาและนับเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับการเข้าไปทำความรู้จักประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง ผ่านมุมมองของอะคุตะงะวะ ไม่ใช่ญี่ปุ่นเปลี่ยวเหงาแบบฮารุกิ มุราคามิ ไม่ใช่ญี่ปุ่นบ้าคลั่งเย็นเยียบแบบริว มุราคามิ แต่เป็นญี่ปุ่นที่ต่อมาอีกสักเกือบศตวรรษจะกลายเป็นอย่างนั้น และเรื่องสั้นของอะคุตะงะวะก็ฉายภาพต้นตอของความวิปลาสและโดดเดี่ยวในสังคมญี่ปุ่นได้อย่างข้นคลั่ก
ไม่ใช่ญี่ปุ่นเปลี่ยวเหงาแบบฮารุกิ มุราคามิ ไม่ใช่ญี่ปุ่นบ้าคลั่งเย็นเยียบแบบริว มุราคามิ แต่เป็นญี่ปุ่นที่ต่อมาอีกสักเกือบศตวรรษจะกลายเป็นอย่างนั้น
‘เคะซะ และ โมริโตะ’ คือเรื่องที่ทิ้งตะกอนไว้ในใจเราได้หนักอึ้งนำหน้าเรื่องอื่นๆ ทั้งสองชื่อนี้น่าจะเป็นที่คุ้นเคยของคนญี่ปุ่น เชิงอรรถอธิบายเอาไว้ตั้งแต่หน้าเปิดเรื่องว่ามันเป็นเรื่องของหญิงสาวที่ยอมตายแทนสามี และคนที่ลอบเข้ามาฆ่าผู้เป็นสามีก็คือชายหนุ่มผู้เป็นชู้รักของเธอเอง พล็อตเรื่องออริจินัลเพียงสั้นๆ นี้ก่อความไม่เข้าใจถึงการยอมตายแทนสามีของหญิงงาม ซึ่งอะคุตะงะวะได้นำมาเล่าใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ทั้ง คะเซะ หญิงสาวผู้ยอมตาย และ โมริโตะ ชายชู้ผู้เป็นฆาตกรได้เปิดเปลือยความรู้สึกนึกคิดอย่างเต็มที่
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรายิ่งไม่เข้าใจคนทั้งคู่ แต่เป็นความไม่เข้าใจที่แฮปปี้และคลี่คลาย เป็นความรู้สึกประมาณว่ารู้ทุกอย่างแหละแต่ก็ยังไม่เข้าใจ คล้ายเวลาเราไม่เข้าใจตัวเองเวลามีความรักหรือเวลาอกหัก แล้วก็ยิ้มๆ กับตัวเองว่า “มนุษย์เราก็ซับซ้อนอย่างนี้เอง” ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอะคุตะงะวะถ่ายทอดความเป็นไปของความรักความลุ่มหลงที่ทั้งคู่มีต่อกัน (สามีเป็นเพียงตัวละครแสนดีที่ปรากฏตัวบางๆ หากแต่น่าสงสารไม่แพ้ทั้งสองคนที่ได้เล่าเรื่อง) ในความร่วงโรยของคะเซะ การถูกหยามเกียรติทุกครั้งที่มีอะไรกับโมริโตะ จนถึงแววตาของคะเซะในแวบหนึ่งที่ทำให้โมริโตะกลัว หรือเหตุผลที่โมริโตะทำตามสัญญา
มันเป็นความรู้สึกที่ชวนอึดอัด น่าชิงชังรังเกียจ ในแต่ละวรรคตอนทำให้เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าทั้งคู่รักหรือเกลียดกันกันแน่ ทั้งคู่ผลัดกันเป็นฝ่ายกุมอำนาจในความสัมพันธ์และพกความจริงกันคนละชุดได้อย่างน่าประทับใจ และที่สุดแล้วมันได้กลายเป็นเรื่องโรแมนติก ที่ทบทวนแล้วก็รู้สึกว่าไม่ได้โรแมนทิไซส์ไปเองจริงๆ อะคุตะงะวะน่าจะตั้งใจให้มันเป็นอย่างนั้น เพราะเขาอุตส่าห์ให้ดวงจันทร์ฉายแสงในคืนมืดมิดก่อนที่ความตายจะมาเยือนคะเซะผู้เฝ้ารอให้ชู้รักทำตามสัญญา และอะคุตะงะวะก็ทิ้งให้เป็นหน้าที่ของเราเองในการตัดสินว่าแผนการเกี่ยวกับความตายของคะเซะมาจากความรู้สึกผิดล้นเหลือ ความรักหนักหน่วงต่อโมริโตะ หรือความสมเพชเวทนาตัวเองจนเกินทนกันแน่
ขณะที่ ‘โอะงิน’ และ ‘บันทึกเตือนความจำของโอะงะตะ เรียวซะอิ’ เป็นสองเรื่องที่เล่าถึงอคติที่สังคมญี่ปุ่นมีต่อคริสตศาสนา ตัวละครชาวคริสต์ถูกเล่าอย่างทะนุถนอม (เท่าที่อะคุตะงะวะจะยอมให้ตัวละครของเขาถูกทะนุถนอม) เขาได้ขยายความทุกข์ทรมานของการถูกบังคับให้ละทิ้งศรัทธาต่อพระเยซูเจ้าเพื่อแลกกับสิ่งที่น่าจะสำคัญกว่านั่นก็คือ ชีวิตและจิตวิญญาณของผู้เป็นที่รัก
ใน ‘บันทึกเตือนความจำฯ’ น้ำเสียงของผู้เล่าถูกออกแบบให้แฝงอคติที่มีต่อศาสนาคริสต์ แม้จะถูกทานทัดด้วยความเห็นใจที่มีต่อแม่ที่ลูกกำลังจะตาย ก่อนหน้านั้นเธอก็เพิ่งพังทลายจากความตายของสามีจนต้องหันหน้าเข้าพึ่งคริสตศาสนา สำหรับผู้บันทึก เหตุผลคือ “อย่างไรเสียคนเหล่านี้ก็เป็นพวกนอกรีตที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นเสื่อมเสีย” ส่วนอารมณ์ความรู้สึกคือ “อันที่จริงเธอก็น่าสงสารน่ะนะ ถ้าไม่เพียงแต่เป็นพวกนอกรีต” มันเป็นบันทึกที่ตัวละครผู้บันทึกเองคงไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังมีอคติ เขาเพียงแต่เขียนเล่าเรื่องให้กับ ‘ท่านผู้มีอำนาจ’ ที่อะคุตะงะวะโยนบทโครมให้ผู้อ่านอย่างเราๆ เป็น และพิจารณากันเอาเองถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะความมุ่งมั่นในศรัทธา ความบ้าคลั่ง หรือปาฏิหาริย์ที่เกิดกับเหล่าผู้ศรัทธา
และ “ขนาด อะคุตะงะวะให้ผู้บันทึกเล่าอย่างมีอคติแล้วนะ” ตัวเรื่องก็ยังอุตส่าห์ส่งแรงศรัทธาเหล่านั้นมาสู่ผู้อ่านได้อย่างแรงกล้าทีเดียว
ขณะที่ ‘โอะงิน’ น้ำเสียงของผู้เล่าเรื่องถูกออกแบบให้เอนเอียงไปทางพระเยซูเจ้ามากกว่า เช่นที่บอกว่า “พวกเขาไม่รู้ตัวเลยว่าจะต้องตกไปสู่ ‘อินเฟอร์โน’ ได้แต่ฝันถึงดินแดนสุขาวดีที่ไปไม่ถึง และอยู่ใต้เงาของต้นสนในป่าช้าที่เปล่าเปลี่ยว แต่ยังโชคดี โอะงินหาได้แปดเปื้อนความโง่เขลาของพ่อแม่ไม่” หรือกระทั่งตอนที่ผู้เขียนครุ่นคิดถึงซาตานในตอนท้ายเรื่อง
เรื่อง ‘โอะงิน’ เล่าถึงแง่มุมงดงามของคริสตศาสนาที่ทำให้เด็กกำพร้าคนหนึ่งได้มีชีวิตอันเรียบง่ายและแสนสุขในอ้อมกอดพระเจ้า ก่อนที่เหล่าชาวพุทธจะมาพรากมันไปเพราะเฝ้ารอจะได้เห็นพวกเขาถูกเผาทั้งเป็น หากแต่ต้นสนที่ดูเหมือนฉัตรของพระศรีศากยมุนี ก็ได้ทำให้เด็กหญิงโอะงินยอมประกาศว่าจะละทิ้งพระเจ้า เพราะเธอไม่สามารถปล่อยให้วิญญาณของพ่อแม่ที่ตายไปต้องจมอยู่ในนรกเพราะศรัทธาที่มีต่อศรีศากยมุนี เธอจะไปอยู่ในนรกเป็นเพื่อนพวกเขาเอง!
ทั้งสองเรื่องถูกจัดเอาไว้ไม่ให้อยู่ติดกัน และเชิงอรรถที่มากับเรื่อง ‘โอะงิน’ ช่วยให้เราเข้าใจบริบทสังคมที่อะคุตะงะวะเขียนถึงได้มากขึ้น ในช่วงปี 1615-1645 เป็นยุคที่มีการปราบปรามผู้นับถือศาสนาคริสต์อย่างรุนแรง มีชาวคริสต์จำนวนไม่น้อยที่ถูกประหารและถูกเผาทั้งเป็น รัฐบาลโชกุนยังได้ออกกฎบังคับให้ชาวเมืองเหยียบย่ำลงบนรูปของพระเยซูเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้นับถือคริสต์ (สิ่งนี้เกิดขึ้นกับหญิงม่ายในเรื่อง ‘บันทึกเตือนความจำฯ’ เช่นกัน
และเมื่อดูจากปีแล้ว ช่วงเวลานั้นเองก็เป็นช่วงที่ชาวคริสเตียนล่าแม่มดและเผาผู้คนทั้งเป็นไปทั่วยุโรป แต่ในดินแดนตะวันออกอันไกลโพ้น เรื่องเล่าของอะคุตะงะวะทำให้เรารู้ว่าชาวคริสเตียนเองกลายเป็นเหยื่อที่ถูกเผาและทรมานเช่นเดียวกัน ไม่ว่าอะคุตะงะวะจะตั้งใจแสดงภาพด้านกลับนั้นหรือไม่ แต่นั่นก็ชวนให้เราครุ่นคิดว่าแท้จริงแล้วหากโลกทั้งใบนี้เป็นนิยาย ฝั่งที่ผู้อ่านจะเทใจเกลียดจะเป็นโลกทั้งใบนี้เองหรือพระเจ้าของฝั่งใดฝั่งหนึ่งกันแน่
หากโลกทั้งใบนี้เป็นนิยาย ฝั่งที่ผู้อ่านจะเทใจเกลียดจะเป็นโลกทั้งใบนี้เองหรือพระเจ้าของฝั่งใดฝั่งหนึ่งกันแน่
ส่วน ‘เรื่องของหัวที่หลุดออกมา’ ที่เราประทับใจอย่างยิ่งคือการบรรยายถึงสงครามและห้วงเวลาที่เหอเสี่ยวเอ้อร์กำลังจะตาย อะคุตะงะวะบรรยายการคิดคำนึงถึงความตายและช่วงเวลาอันเป็นมนุษย์อย่างยิ่งของคนคนหนึ่งได้อย่างยอดเยี่ยม แต่แล้วก็ตัดฉับและพาเราไปสู่เรื่องของเหอเสี่ยวเอ้อร์ที่ถูกเล่าโดยผู้อื่น เรื่องไม่เพียงแต่พาเราไปสู่การเปลี่ยนไปของเหอเสี่ยวเอ้อร์ที่เราไม่มีวันรู้สาเหตุ ลามไล่ไปถึงรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่น ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะมาถึง ก่อนที่นานจิงจะถูกทหารญี่ปุ่นย่ำยีจนความสัมพันธ์จะยิ่งต่อไม่ติด
สำหรับ ‘ความจงรักภักดี’ ประเด็นเรื่องความจงรักภักดีไม่ใช่สิ่งแรกที่เรานึกถึง แต่เป็นเรื่องของคนบ้า
แม้จะเป็นที่ทราบว่าอะคุตะงะวะมีแม่ที่เป็นบ้า และตัวเขาเองก็จวนเจียน แต่งานเขียนของเขาก็ไม่ได้โอบกอดคนบ้าจนแนบแน่น ไม่ได้ทำให้พวกเขาดูน่าสงสารหรือร้องขอความเห็นใจ ไม่ได้ทำให้พวกเขาน่ารังเกียจจนเกินทน เพียงแต่เป็นคนบ้าที่ถูกเล่าถึงอย่างกลางๆ แต่ที่สุดแล้ว ผู้อ่านก็ได้เห็นภาพของคนบ้า ที่ถูกวางไว้ท่ามกลางสังคมและพิธีรีตองของญี่ปุ่น และสะท้อนรากฐานของระบบโครงสร้างทางสังคมในญี่ปุ่นทุกวันนี้ ซึ่งที่สุดแล้วเรื่องก็โยนคำถามกลับมาให้เราอยู่ดี ว่าหากเป็นเรา เราจะเลือกจงรักภักดีกับสิ่งใด
เรื่องอื่นๆ ในเล่มก็น่าสนใจไปคนละแบบ ‘มังกร’ กับพลังของการโกหกที่มีต่อผู้โกหกเองและผู้ถูกหลอก จนถึงความทรงจำร่วมของผู้คนที่แม้จะมีประจักษ์พยานนับร้อยพัน แต่เราเองสามารถแน่ใจหรือไม่ว่าเหล่านั้นคือเรื่องจริง? หรือเรื่องอื่นๆ ที่คงต้องขอให้คุณลองตามอ่านในเล่ม ส่วนเราจะขอรวบรัดตัดความไปยังเรื่องสุดท้าย ที่ทิ้งตะกอนไว้ในใจเป็นลำดับต่อมาจาก ‘คะเซะ และ โมริโตะ’
‘ต้นหอม’ เป็นเรื่องสุดท้ายของเล่ม อะคุตะงะวะพาเราเข้ามาใกล้ญี่ปุ่นแบบที่เรารู้จัก สาดใส่กลิ่นอายของวัฒนธรรมอเมริกันเคล้ากับความลุ่มหลงในศิลปะและความศิวิไลซ์ เขาสวมตัวเองเป็นนักเขียนหนุ่มผู้เฝ้ามองคุณโอะกิมิด้วยสายตาของพระเจ้า เธอเป็นสาวน้อยเซ็นทิเมนทัล ผู้ทัดผมด้วยที่ติดผมรูปดอกฟอร์เก็ตมีนอท เขียนจดหมายถึงตัวเอกในนวนิยายชวนฝัน ทำงานในคาเฟ่ และช่างโปรยเสน่ห์อย่างร้ายกาจ เขาเล่าถึงเธอและการใช้โลกของศิลปะและความฝันพาตัวเองให้ออกห่างจากความเป็นจริงที่ว่า เธอเป็นเพียงหญิงสาวที่ต้องกระเบียดกระเสียรในโลกทุนนิยมที่เริ่มบุกเข้าญี่ปุ่นตั้งแต่ตอนนั้น (ช่วงยุค 20s-30s)
คุณโอะกิมิคบหาอยู่กับหนุ่มคนหนึ่งนามว่าทะนะกะ ซึ่งนักเขียนคนนั้นเล่าถึงเขาอย่างหมั่นไส้ —“คุณอาจต้องการให้ผมเล่าถึงเจ้าทะนะกะอีกสักนิด แต่ผมจะไม่เขียนถึงมันอีกแม้แต่บรรทัดเดียว” ภาพของทะนะกะที่เราเห็นจึงเป็นหนุ่มฮิปสเตอร์แห่งยุคก่อนสงครามโลกซึ่งความหัวสูงของเขานั้น ก็เป็นทั้งแรงดึงดูดและอย่างอื่นที่คงจะน่าเศร้าสำหรับคุณโอะกิมิ
สำหรับเราแล้ว ‘ต้นหอม’ ไม่ได้รุนแรงเท่าเรื่องอื่น แต่มันกลับเป็นความกรีดลึกที่คืบคลานข้ามเวลาเกือบศตวรรษมาใกล้ตัวเราเสียเฉยๆ และในความหลงใหลในศิลปะของคนทั้งคู่ อะคุตะงะวะก็พาเราเข้าไปสู่ความอึมครึมและคอตกได้อีกเช่นเคย
Tags: วรรณกรรมญี่ปุ่น, สำนักพิมพ์สมมติ, Ryūnosuke Akutagawa, ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ