เป็นเวลากว่า 60 ปีแล้วที่ ฟ้าบ่กั้น ทำหน้าที่เสียดสีสังคมไทย นับตั้งแต่ถูกตีพิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี พ.ศ. 2500

เหตุการณ์ดังกล่าวชวนให้ผู้คนตั้งคำถามถึง ‘อำนาจ’ ของมนุษย์ที่มีไม่เท่ากัน บ้างก็มีเพียงหยิบมือพอให้หายใจรวยริน เอาตัวรอดไปได้ในสังคม บ้างก็มีล้นฟ้าจนเนรมิตและกำจัดทุกอย่างได้ชั่วพริบตา บ้างก็มีเพียงตัวเปล่า ไม่มีอำนาจในมือแม้แต่น้อย ต้องกลายเป็น ‘เหยื่อ’ ผู้ถูกกระทำในหลายมิติของชีวิต

1

‘สภาวะบ้านนอก’ คือเรื่องราวของคนไร้อำนาจที่ฟ้าบ่กั้นพยายามบอกเล่าอย่างคมคาย หลายเรื่องราวสะท้อนถึงชีวิตของมนุษย์ที่ไม่อาจลืมตาอ้าปาก ยากเกินจะพรรณนาถึงความเจ็บปวด ทั้งยังเล่าถึงวิถีและความเชื่อที่กำเนิดขึ้นมาจากการเอาตัวรอดของผู้คนในแต่ละท้องที่ 

ยกตัวอย่างในตอนที่ชื่อ คนหมู ซึ่งสะท้อนความยากลำบากของผู้คนจำนวนหนึ่งได้เป็นอย่างดี ชีวิตที่ขัดสน ไม่มีเงินเพียงพอจะซื้อข้าวมาประทังชีวิต ส่งผลให้ลูกเมียต้องอดข้าวอดน้ำเป็นบางครา หรือในตอน ฟ้าโปรด เรื่องของเฒ่าผู้เป็นที่เคารพของสองเด็กหนุ่ม จำต้องลดศักดิ์ศรีของตน เพื่อแย่งแมงขี้ควายมากินเป็นอาหารเช้า สิ่งเหล่านี้ฉายภาพบรรยากาศความทุรกันดารที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยได้อย่างแจ่มชัด

อีกตอนที่น่าสนใจคือ กระดานไฟ สะท้อนแนวคิดของมนุษย์ที่ให้ความสำคัญกับของบางสิ่ง มากกว่ามนุษย์ที่อยู่ร่วมโลกเดียวกัน เหล่านี้เป็นผลผลิตของสังคมที่น่าสนใจไม่น้อยว่า มนุษย์ต้องสิ้นหวังเพียงใด ผู้คนจึงหันเหไปศรัทธาสิ่งของมากกว่าตัวบุคคล

“สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้สร้างคนขึ้นมา แต่คนสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาเพื่อจะขี่คอกันเอง”

2

แนวคิดในการต่อต้านกับความยากลำบากของคนเหล่านี้ ฟ้าบ่กั้นก็สะท้อนออกมาได้อย่างชวนหดหู่ไม่น้อย ยกตัวอย่างตอนคนหมู การที่ลูกเมียจะลำบากลำบนขนาดไหน แต่ผู้เป็นพ่อก็พยายามหลบหนีความเจ็บปวดด้วยการหลับตาข้างเดียว ผลักไสให้ลูกเมียตัวเองกลายเป็นหมู เป็นอูฐ เสียดีกว่าจะได้ไม่ต้องรู้สึกทรมาน หรือในตอน ชาวไร่เบี้ย ที่แม้ตัวละครในเรื่องจะถูกเอารัดเอาเปรียบแค่ไหน เขากลับยกปัญหาทุกอย่างให้เป็นเรื่องผลของบุญและกรรมที่ทำมาแทน เพื่อตนจะได้รู้สึกสบายใจ และขอไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในชาติหน้าด้วยผลบุญที่ทำมาจากชาตินี้

3

‘อำนาจ’ เป็นประเด็นสำคัญที่ฟ้าบ่กั้นพยายามบอกเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นออกมาได้อย่างชัดแจ้ง และหากสืบสาวไปหาสาเหตุของเรื่องราวทั้งหมด ในหลายตอนก็จะวนกลับไปหาคนในเมือง เรื่องของทุนนิยม และอำนาจทางสังคมที่กดทับคนเหล่านี้มาโดยตลอด 

ในตอน เขียดขาคำ สามารถถ่ายทอดอำนาจของเงินที่มากกว่าชีวิตได้อย่างเห็นภาพ การที่มนุษย์คนหนึ่งยอมปล่อยให้เมียตัวเองทำคลอดเพียงลำพัง เพื่อไปรับเงินจากราชการมาเลี้ยงปากท้อง เป็นภาพสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของเงินและชีวิตที่คนในสังคมดูจะให้ค่ากับสิ่งของมากกว่า

โดยเฉพาะตอน ไพร่ฟ้า เรื่องราวสุดพิสดารในมุมมองของชาวป่าคนหนึ่ง ที่ตั้งคำถามว่าเหตุใดมนุษย์คนหนึ่งที่มียศเป็นหม่อมเจ้าเมื่อมาถึงป่า เขาจึงได้รับการปรนนิบัติ ได้รับการสรรเสริญเยินยอ ราวกับไม่ใช่มนุษย์เหมือนตนแต่อย่างใด ทั้งที่ความจริง คนป่าและหม่อมเจ้าก็ต่างดิ้นรนหาข้าวเอาไว้กิน หาที่ไว้นอนไม่ต่างกัน ก่อนสุดท้ายเขาจะถูกหม่อมเจ้าที่เป็นมนุษย์เช่นกัน ใช้สิ่งที่เรียกว่ายศถาและบุญบารมี มาลิดรอนเอาบางสิ่งไปจากตัวเขาแม้จะไม่เต็มใจก็ตาม 

“ท่านเป็นคนมีบุญญาบารมีมาก เราจึงเทิดทูนให้ท่านเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง แม้คนธรรมดาสามัญอย่างฉันอย่างอินถานี้เป็นเสมือนสมบัติของท่านเรียกว่าเป็นไพร่ฟ้า ข้า-แผ่นดิน”

“เอ…นายนี่ อู้สับปะ เจ้าตี้ไหน? คนแต่ๆ ผมหันกิ๋นเข้าหยับๆ ตึงวัน”

4

เสน่ห์ของฟ้าบ่มีกั้น คือชุดคำของลาว คำหอม ตัวอักษรที่ถ่ายทอดพื้นที่ของผู้คนในเรื่องได้ชัดแจ้ง การอธิบายท้องนาจนเห็นแผ่นดินแตกระแหงสุดลูกหูลูกตา บรรยายสภาพอิดโรยของร่างกายที่ยังหายใจให้กลายเป็นเรื่องทรมานได้

ภาษาที่ใช้ก็เช่นกัน ในหลายเรื่องเราเห็นการใช้ภาษาถิ่น ภาษาทางการ ภาษาชาวบ้าน ปะปนกันไปตามแต่บริบท สะท้อนถึงความเข้าใจทางด้านสังคมของนักเขียนผู้นี้ได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่ใช่สาระสำคัญของเรื่องแต่อย่างใด แต่ก็ถือเป็นความเก่งกาจของลาว คำหอมที่สามารถสร้างจินตนาการให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ 

5

จะเห็นได้ว่า ฟ้าบ่กั้นคือหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ถ่ายทอด บาดแผลอันเกิดจากอำนาจได้อย่างสมจริง จนถึงขนาดที่ในการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2501 นั้น หนังสือเล่มนี้ถูกจับตามองว่ามีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจนต้องเก็บออกจากแผง ก่อนที่ ส.ศิวรักษ์ จะค้นพบหนังสือเล่มนี้ และให้สำนักพิมพ์ศึกษิตสยาม นำมาตีพิมพ์อีกครั้งในปี 2512

เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยที่เรื่องสั้นเกี่ยวกับชีวิตบ้านนอกของ ลาว คำหอม เล่มนี้ เหตุใดจึงถูกทางการจับตาเป็นพิเศษ เรื่องราวปลายนาและชีวิตที่ไม่อาจได้เห็นแสงสี มันไปสะกิดต่อมในใจอันใดของผู้มีอำนาจในยุคนั้น ขอเชิญผู้อ่านทุกท่านสัมผัสด้วยด้วยตนเอง

Fact Box

ฟ้าบ่กั้น, ผู้เขียนลาว คำหอม, สำนักพิมพ์ สมมติ, จำนวน 240 หน้า, ราคา 350 บาท (ปกแข็ง)

Tags: , ,