สารภาพตรงๆ ว่า นิยายสยองขวัญที่ทำให้ผม ‘ขนหัวลุก’ ได้ เกิดขึ้นนานหลายปีแล้ว นั่นคือ ‘เปนชู้กับผี’ ผลงานการเขียนของ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งดัดแปลงมาจากภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน 

ทั้งเวอร์ชันภาพยนตร์และเวอร์ชันหนังสือ ให้อารมณ์ละม้ายคล้ายคลึง สละสลวย เยือกเย็น และน่าประหวั่นพรั่นพรึง ว่าด้วยชีวิตอันเปลี่ยวเหงาเศร้าสร้อยของหญิงสาวคนหนึ่ง ภายใต้บรรยากาศวังเวงของบ้านเก่าแก่โบราณ ดวงจันทร์สีเลือดลอยเด่นบนท้องฟ้าสลัว ต้นจามจุรีใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาดุจปีศาจร้าย เสียงหรีดหริ่งเรไรร้องระงมยามค่ำคืน และภูติผีวิญญาณที่สิงสู่อยู่ภายในบ้าน วนเวียนรอคอยจังหวะที่จะเผยโฉม

นับจากนั้นหลายปี ไม่มีนิยายสยองขวัญเล่มใดที่เตะตาผมอีกเลย จนกระทั่งได้มาเจอกับหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ ‘The Haunting of Hill House’ หรือชื่อภาษาไทยว่า ‘บ้านหลังนี้มีคนตาย’ ปกสีเลือดแดงฉานและดีไซน์หลอนๆ สะดุดใจจนมิอาจปล่อยผ่าน

The Haunting of Hill House เขียนโดย เชอร์ลีย์ แจ็กสัน (Sherley Jackson) นักเขียนหญิงชาวอเมริกัน ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘สายดาร์กตัวแม่’ แม้จะถูกมองว่าเป็น ‘นิยายผี’ หนำซ้ำนักเขียนสยองขวัญอย่าง สตีเวน คิง ยังยกย่องว่ามันคือนิยายสยองขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 แต่เหนืออื่นใด หนังสือเล่มนี้กลับพูดถึงจิตใจอันเปราะบาง บอบช้ำ และเปลี่ยวเหงาของมนุษย์ที่ต้องอาศัยอยู่ใต้ชายคาแห่งความหวาดกลัวนั้น ช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าเพียงไร

เรื่องราวของ ดอกเตอร์จอห์น มอนทากิว นักปรัชญาผู้ศึกษาเรื่องปรากฏการณ์ลี้ลับเหนือธรรมชาติ เขาต้องการพิสูจน์ว่าผีมีจริงหรือไม่ จึงเดินสายไป ‘ลองของ’ ตามบ้านผีสิงต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ที่ร่ำลือกันว่าเฮี้ยนนักเฮี้ยนหนา โดยมีเป้าหมายล่าสุดคือ บ้านฮิลเฮาส์ บ้านเก่าแก่โบราณหลังใหญ่อายุกว่า 80 ปี ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีคนตาย และเหตุการณ์ประหลาดมากมายที่ทำให้เจ้าของบ้านคนแล้วคนเล่า ‘อยู่ไม่เป็นสุข’

ดอกเตอร์มอนทากิวลงทุนควักเงินเช่าบ้านฮิลเฮาส์เป็นเวลา 3 เดือน ก่อนร่อนจดหมายเชิญชวนอาสาสมัครผู้กล้าเข้ามาใช้ชีวิตอยู่กินหลับนอนด้วยกัน เพื่อเฝ้าจับตาและบันทึกปรากฏการณ์ประหลาดที่จะเกิดขึ้น สุดท้ายได้สมาชิก 3 คน ประกอบด้วย เอเลนอร์ แวนซ์ สาววัยสามสิบสองที่กำลังหมดไฟและเบื่อหน่ายชีวิต ทีโอดอรา สาวสวยผู้สดใสร่าเริงและมาดมั่น ลุค แซนเดอร์สัน หนุ่มเจ้าชู้ ทายาทที่จะได้รับมรดกจากป้า ในการเป็นผู้ครอบครองบ้านฮิลเฮาส์คนต่อไป 

อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อคนสี่คน ต่างปูมหลัง ต่างบุคลิกนิสัยและปมในใจบางอย่าง ต้องมาอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน ท่ามกลางบรรยากาศสุดหลอน 

‘ทีเด็ดทีขาด’ ของนิยายแนวบ้านผีสิง มี 3 ข้อใหญ่ๆ ที่ทำให้คนอ่านอย่างผม เกิดอาการ ‘วางไม่ลง’ ถึงขั้นตาเบิกโพลง หายใจกระชั้น เฝ้าลุ้นระทึกอย่างใจจดใจจ่อ และจินตนาการตามในทุกบรรทัด นั่นคือ 1. ฉากและบรรยากาศอันน่าขนลุก 2. ประสบการณ์หลอนที่ตัวละครได้พบเจอ 3. ตอนจบสุดท้ายที่เหนือความคาดหมาย คล้ายถูกกระชากหัวใจหลุดออกจากอก

บ้านฮิลเฮาส์ เรียกได้ว่า ‘สมบูรณ์แบบ’ ในนิยามความเป็นบ้านผีสิง บ้านไม้เก่าแก่หลังใหญ่อายุร่วมร้อยปี ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเขาเขียวทะมึน ซุกตัวอย่างเงียบเชียบท่ามกลางหมู่ไม้ ห่างไกลชุมชน สร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยเจ้าของบ้านคือ ฮิวจ์ เครน เศรษฐีผู้ตรอมตรมขมขื่น เขาสูญเสียภรรยาไปถึงสองคน ต้องเลี้ยงลูกสาวสองคนเพียงลำพัง ก่อนจะเกิดเหตุสลดนับไม่ถ้วน จบลงด้วยโศกนาฏกรรมและความตายอันน่าเศร้าในเวลาต่อมา

ไม่มีดวงตาของมนุษย์ใดจะจำแนกได้ว่า การพบกันอย่างบังเอิญของเส้นสายและสถานที่แบบใดจึงเป็นเครื่องบ่งชี้ความชั่วร้ายที่แฝงกายอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าบ้าน แต่ถึงอย่างนั้นองค์ประกอบที่ดูวิปลาส เหลี่ยมมุมที่หักเหอย่างเลวร้าย หรือการที่หลังคากับท้องฟ้าเสมือนว่าบรรจบกันในบางจุด ก็ทำให้บ้านฮิลเฮาส์กลายเป็นสถานที่แห่งความสิ้นหวัง และน่าพรั่นพรึงยิ่งขึ้นเมื่อใบหน้าของมันดูเหมือนไม่เคยหลับ บานหน้าต่างว่างเปล่าดูคล้ายดวงตาที่คอยจับจ้อง แฝงความปีติอันเกิดจากคิ้วบัวเพดาน 

ปกติแล้วบ้านส่วนใหญ่จะทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกขบขันเมื่อบังเอิญไปเห็นมันอย่างไม่ทันตั้งตัวหรือเห็นมันในมุมแปลกๆ แม้แต่ปล่องไฟเล็กๆที่ดูเจ้าเล่ห์ หรือเวิ้งหน้าต่างหลังคาที่เว้าหลุบก็ยังอาจให้ความรู้สึกเป็นมิตร แต่กับบ้านที่เต็มไปด้วยความยโสโอหังและความเกลียดชัง บ้านที่เฝ้าระวังตัวแจ สิ่งเดียวที่มันเป็นได้ก็คือความชั่วร้าย มันคือบ้านที่ปราศจากความเมตตา ไม่หมายจะให้ใครเข้าพักตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ที่ที่เหมาะกับมนุษย์ ความรัก หรือความหวัง แม้แต่พิธีขับไล่ผีก็ยังไม่อาจเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของมันได้ บ้านฮิลเฮาส์จะเป็นเช่นนี้จนกว่าจะถูกทำลาย

ผู้เขียนบรรยายฉากภายในบ้านฮิลเฮาส์ได้อย่างหมดจด เก็บตกรายละเอียดให้เห็นภาพแจ่มชัด ราวกับพาคนอ่านเดินเที่ยวชมห้องต่างๆ ที่มีมากมายหลายสิบห้อง ตั้งแต่ห้องโถงใหญ่ ห้องนั่งเล่น ห้องทานอาหาร ห้องครัว ห้องสันทนาการ ห้องเด็กเล็ก ห้องนอน ยันห้องใต้เพดานบนหอคอย สำรวจตรวจตราข้าวของเครื่องใช้มีค่า ถ้วยโถโอชาม ภาพเขียน รูปปั้น รูปสลัก เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น ฉายภาพรสนิยมของชาวอเมริกันผู้มีอันจะกินในยุคนั้น นอกจากนี้ ยังไม่ลืมเติมบรรยากาศความเย็นยะเยือก ชวนอึดอัด ไม่ไว้วางใจ น่าหวาดกลัว และสารพัด ‘ความรู้สึกแปลกๆ’ ที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในยามกลางวันและกลางคืน

ตัวละครหลักของเรื่องน่าจะเป็น เอเลนอร์ แวนซ์ หรือ เนลล์ ผู้ที่โยนเวลาช่วงวัยสาวเกือบทั้งหมดไปกับการดูแลแม่ที่ป่วยติดเตียง เธอกลายเป็นคนหมดไฟ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไร้อนาคต เป็นผู้จงเกลียดจงชังชีวิตของตัวเองอย่างแท้จริง ทันทีที่ได้คำตอบรับให้มายังบ้านฮิลเฮาส์ เอเลนอร์จึงเกิดความหวังอีกครั้งว่า มันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตเธอให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทว่าชีวิตอันแสนบอบช้ำ เต็มไปด้วยปมด้อยและบาดแผลในใจ ทำให้คน ‘เปราะบาง’ อย่างเอเลนอร์ ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เขย่าขวัญสั่นประสาท ทั้งจากคนด้วยกันเอง ทั้งจากเหตุการณ์ประหลาดๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในยามหลับและยามตื่น ตลอดเวลาที่อาศัยอยู่ในบ้านผีสิงหลังนี้

คราวนี้เป็นเสียงใหม่ที่เกิดขึ้น เอเลนอร์คิด นิ่งฟังเสียงที่ก้องในหัวของเธอ มันไม่ใช่เสียงเดิม เสียงทุบประตูหยุดไปราวกับรับรู้แล้วว่าทำไปก็ไร้ผล จึงเปลี่ยนเป็นเสียงเคลื่อนไหวอย่างว่องไวตามโถงทางเดิน เหมือนเสียงฝีเท้าสัตว์ที่ย่ำไปมาด้วยอาการงุ่นง่าน เฝ้ามองบานประตูทีละบ้านด้วยแรงกระตุ้นจากภายใน แล้วเสียงพูดงึมงำฟังไม่เป็นภาษาที่เอเลนอร์จำได้ก็ดังขึ้นอีกครั้ง นั่นเสียงของฉันหรือ เธอสงสัย ใช่เสียงฉันหรือเปล่า และได้ยินเสียงหัวเราะเบาๆ อย่างเย้ยหยันดังแว่วมาจากนอกห้อง

“ฟี-ไฟ-ฟอ-ฟัม” ทีโอดอราร้องเป็นเพลงกล่อมเด็กออกมา เสียงเบาจนแทบไม่ได้ยิน ตรงข้ามกับเสียงหัวเราะที่ยิ่งทวีความดังขึ้นจนกลายเป็นเสียงตะโกน มันอยู่ในหัวฉัน เอเลนอร์คิด ยกมือปิดหน้า มันอยู่ในหัวฉัน และมันกำลังจะออกมา… ออกมา… ออกมา…”

เริ่มจากเสียงทุบประตูปึงปัง เขย่าลูกบิดดังสนั่นกลางดึก ไอเย็นยะเยือกในบางซอกมุมของบ้าน แรงสั่นสะเทือนรุนแรงอย่างไม่มีที่มาที่ไปของตัวบ้าน เสียงกระซิบกระซาบ เสียงหัวเราะในลำคอ เสียงสะอื้นไห้คร่ำครวญ เสียงตะโกนเรียกชื่ออันลึกลับ ตลอดจนฝันร้ายยามหลับนอน สุ่มเสี่ยงเหลือเกินที่จะทำให้เสียสติ จิตใจกระเจิดกระเจิง บวกกับความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนรักใคร่กลมเกลียวทว่าเชือดเฉือนและขัดอกขัดใจในคราวเดียวกันของคนแปลกหน้าทั้งสี่คน ไม่ว่าจะสีหน้า แววตา คำพูดคำจา ท่าทางการแสดงออกที่เต็มไปด้วยอารมณ์อันหลากหลาย จึงไม่แปลกใจที่จะทำให้คนที่หวั่นไหวง่ายอย่างเอเลนอร์ เกิดอาการ ‘นอยด์’ จนควบคุมตัวเองไว้ไม่ได้ สุดท้ายกลายเป็น ‘จุดอ่อน’ ถูกบีบบังคับให้เก็บเสื้อผ้ากลับบ้านก่อนกำหนด บอกลาช่วงเวลาสั้นๆ ในบ้านผีสิงไปอย่างผู้พ่ายแพ้

“ฉันมีเสียที่ไหนล่ะ อพาร์ตเมนต์อะไรนั่น” เธอบอกทีโอดอรา “ฉันกุมันขึ้นมาทั้งนั้น ฉันยังต้องอาศัยนอนบนเตียงพับในห้องนอนลูกพี่สาวอยู่เลย ฉันไม่มีบ้าน ไม่มีที่ไหนให้ไปทั้งนั้น และฉันก็กลับไปหาพี่สาวไม่ได้ด้วย เพราะฉันขโมยรถของเธอมา” เอเลนอร์ยังคงหัวเราะต่อไป ได้ยินทุกถ้อยคำที่ตนเองเปล่งออกมา มันฟังดูหดหู่และเศร้าสร้อยสุดจะบรรยาย “ฉันไม่มีบ้านให้กลับ” เธอพูดซ้ำอีกครั้ง และมองทุกคนอย่างมีความหวัง “ไม่มีบ้าน ทั้งหมดในโลกนี้ที่เป็นของฉันกองรวมกันอยู่ในลังกระดาษท้ายรถ นั่นคือทั้งหมดที่ฉันมี หนังสือไม่กี่เล่มกับข้าวของกระจุกกระจิกที่มีมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็นาฬิกาที่แม่เคยให้ไว้ ทีนี้พวกคุณก็เห็นแล้วใช่ไหม ฉันกลับบ้านตามที่พวกคุณต้องการไม่ได้หรอก”

บทสรุปของ The Haunting of Hill House หรือ บ้านหลังนี้มีคนตาย เล่มนี้ อาจจะไม่มีฉากจบสุดท้ายที่จะทำให้คนอ่านอ้าปากค้าง ความเคลื่อนไหวภายในบ้านฮิลเฮาส์เกิดขึ้นในชั่วระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่สัปดาห์ แม้จะมีหลายเหตุการณ์แปลกๆ ที่ไม่สามารถอธิบายหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่ก็เรียกได้ว่า ไม่มีใครพบเจอกับ ‘ผี’ อย่างจังๆ เต็มๆ ตาเลยสักครั้ง ทว่ามันกลับทำให้คนๆ หนึ่ง ผู้มีหัวใจที่แสนเปราะบางและอ่อนไหวอย่างเอเลนอร์ ต้องเผชิญกับประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืม เป็นประสบการณ์ที่ ‘ขยี้’ จิตวิญญาณ ความหวัง แม้กระทั่งชีวิตของเธอให้แหลกลาญ ไร้ปรานี ยิ่งกว่าเงื้อมมือของผีสางตนใด

 

Fact Box

  • The Haunting of Hill House (บ้านหลังนี้มีคนตาย) / สำนักพิมพ์แมร์รี่โกราวด์ / เขียน เชอร์ลีย์ แจ็กสัน / แปล สมเกียรติ ชินตระกูลวัฒนะ / ราคา 240 บาท
Tags: , , , , ,