เราลงรถไฟที่สถานี Uno พร้อมกับเพื่อนร่วมเดินทางที่เดินงงๆ ก่อนจะถามฉันว่า “แล้วเราต้องไปยังไงต่อ?” เลยตอบไปว่า “เธอเห็นฝรั่งพวกนี้มั้ย เดินตามเขาไป ฉันว่าในเมืองเล็กๆ แบบนี้จุดหมายของชาวต่างชาติน่าจะมีไม่กี่ที่หรอก” 

เมืองอุโนะเป็นเมืองท่าเล็กๆ ในจังหวัดคางาวะ แถบคันไซ ใช้เวลาเดินทางจากโอซาก้าด้วยรถไฟชินคันเซนอย่างน้อยสองชั่วโมง แต่ด้วยความเด๋อด๋าของเราเลยขึ้นรถไฟผิด ปาเข้าไปห้าชั่วโมง ที่นี่มีท่าเรือต่อไปถึงเกาะรอบทะเลสาบเซโตะ หรือรู้จักกันในนามเซโตชิ 

พวกเราเดินไปถึงท่าเรือที่เป็นบ้านสีขาวเล็กๆ ชาวต่างชาติตัวใหญ่ก้มหัวเดินเข้าประตูบานน้อย ดูขัดกับขนาดของที่ทำการขายตั๋ว พี่สาวด้านในนั่งพิมพ์ยุกยิกอยู่ก่อนจะเงยหน้าขึ้นมาถามเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “นาโอชิมะใช่มั้ยคะ?” 

“ใช่ค่ะ ไปนาโอชิมะ” เราเดินทางออกจากท่าเรือเล็กๆ เล็กจนไม่อยากจะเชื่อว่าจุดหมายของเราคือแหล่งรวบรวมศิลปะระดับโลกอยู่หลายชิ้น 

หลังจากเช็คอินเข้าที่พักใกล้ท่าเรือฮอนมุระวันแรก เราเดินลัดเลาะในชุมชนริมเนินเขา ร้านรวงที่นี่มีเพียงร้านสหกรณ์ ร้านชำที่มีแมวง่วงนอนเฝ้าร้าน คาเฟ่น้อยๆ ที่ปิดตอนพระอาทิตย์ตกดิน และร้านอาหารที่มีเพียงร้านเดียว เปิดจนดึกพอจะฝากท้องได้ แต่หารู้ไม่ ท่ามกลางชุมชนเหงาๆ และบ้านเก่าๆ เหล่านี้ มีพิพิธภัณธ์ของสถาปนิกระดับโลกอยู่ นั่นก็คือ Ando Museum หรือพิพิธภัณฑ์ทาดาโอะ อันโดะ สถาปนิกผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลกเช่น Omotesando Hills และ Pulitzer Arts Foundation รวมไปถึงแลนด์มาร์กของเกาะนี้ นั่นก็คือ Chichu Museum และ Benese Artsite รวมถึง Benese Hotel 

เนื่องจากชุมชนนี้เคยเป็นชุมชนประมงที่เฟื่องฟู แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนที่เคยอยู่อาศัยย้ายออกไป ทำให้เกิดบ้านร้างหลายหลัง Art House Project จึงเป็นโครงการที่นำบ้านหรืออาคารที่ถูกทิ้งร้างมาจัดเป็นสถานที่แสดงผลงานศิลปะขึ้นมา การมาเดินดู Art House Project เลยเป็นเหมือนการเล่นซ่อนหา บ้านนี้จะมีผลงานแอบซ่อนอยู่มั้ยนะ ในขณะที่บางหลัง ดูจากท้ายซอยก็รู้ว่าในนี้มีผลงานศิลปะอยู่จริงๆ และบางหลังก็ซ่อนตัวได้แนบเนียนจนไม่กล้าเดินเข้าไป เพราะกลัวว่าจะไปรบกวนเจ้าบ้าน แต่ทีม Setouchi Triennale ก็ไม่ได้ใจร้ายเกินกว่าจะไม่มีแผนที่และแสตมป์ให้เช็คว่าเราไปบ้านไหนมาแล้วบ้าง โดยจะมีจุดขายตั๋วพร้อมแผนที่และของชำร่วยรวมอยู่ที่ใกล้ๆ ศูนย์ราชการของท่าเรือ เป็นเลาจ์นให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจมีของที่ระลึกขายด้วยตามแบบฉบับสถานที่ท่องเที่ยวญี่ปุ่น 

Photo: Osamu Watanabe © 2019 Setouchi Triennale Executive Committee

Gokaisho ต่อลมหายใจให้บ้านเก่า

เดินออกจากที่พักไปสี่ก้าว หน้าปากซอยมีสถานที่จัดแสดงแอบซ่อนอยู่ในทางเข้าแคบๆ หลังหนึ่งชื่อ Gokaisho โดยศิลปินโยชิฮิโระ สุดะ (Yoshihiro Suda) เป็นบ้านญี่ปุ่นโบราณเล็กๆ สองหลัง หันหลังเข้าหาทางเข้านั้น ส่วนหน้าหันเข้าสวนหินโล่งๆ ตรงกลางปลูกต้นคามิเลียหนึ่งต้น ด้านในหลังหนึ่งมีดอกซึบากิ หรือดอกคามีเลียแกะสลักจากไม้ห้าดอก อีกหลังเป็นบ้านโล่งๆ คามีเลียเป็นดอกไม้บานและที่ร่วงโรยในฤดูหนาว ความพิเศษของดอกคามิเลียคือดอกไม้นี้จะร่วงทั้งดอก ไม่ได้ร่วงทีละกลีบอย่างดอกไม้ดอกอื่นๆ ดอกไม้แกะสลักมีอายุยาวนานและไม่เปลี่ยนแปลง ต่างกับต้นคามิเลียที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะออกดอกตรงตามฤดูหรือไม่ และดอกไม้จะร่วงหล่นเมื่อใด 

เดิมทีอาคารหลังนี้เป็นสถานที่เล่นเกมโกะของชาวบ้าน ความว่างเปล่าของบ้านอีกหลัง ต่างจากบ้านที่มีดอกไม้แกะสลัก ก็มาจากการเล่นเกมโกะ ที่เมื่อถูกล้อมรอบและ ตัวหมากจะ “หมดลมหายใจ” และถูกหยิบออกนอกกระดาน เกมโกะจึงเป็นเกมกระดานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ขึ้นอยู่กับการมีอยู่ และการไม่มีอยู่ เช่นเดียวกับดอกคามิเลียบนต้นไม้กลางสวนหินนั้นที่ถูกเอามาเปรียบเทียบกับดอกคามิลเลียแกะสลักห้าดอกในบ้าน

 

© 2019 Setouchi Triennale Executive Committee

Minamidera บ้านดำของพ่อมดแสง

จากอันโดะมิวเซียม เยื้องออกมาอีกหน่อย เดินไปเรื่อยๆ จะมีบ้านสีดำมหึมา ขนาดสูงกว่าบ้านทั่วไป ทั้งหลังไม่มีหน้าต่าง และมีทางเข้าปูนรายล้อมตัวบ้าน ดูแล้วก็รู้เลยว่า ที่นี่น่าจะมีผลงานศิลปะแอบซ่อนอยู่แน่นอน ด้านในเมื่อเดินเข้าไป สตาฟจะบอกให้เราปิดเครื่องมือสื่อสาร หรืออุปกรณ์ที่ทำให้เกิดแสงทั้งหมด เพราะแสงเพียงนิดเดียวจะรบกวนประสบการณ์ชมงานของเราและผู้ชมอื่นๆ ไปเลย 

ที่เซนซิทีฟขนาดนี้ เพราะงานในบ้านหลังนี้คือผลงาน ‘Backside of the Moon’ ของพ่อมดแห่งแสงอย่างเจมส์ เทอร์เรล (James Turrel) ทางเดินในบ้านมืดสนิท สตาฟพาเราเดินในความมืดทึบ และให้เรามานั่งในห้องหนึ่ง ทุกอย่างเป็นสีดำ ไม่มีเสียงใดนอกจากเสียงหายใจ และเพื่อนร่วมเดินทางของฉันที่กระซิบว่า “เขาให้เรามาดูอะไรวะ” เรานั่งสงสัยกันอยู่สักพัก ไม่มีใครรู้ว่าเวลาผ่านไปนานแค่ไหน ในใจได้แต่ถามว่าจะมีผีโผล่มาแฮ่ใส่แบบในบ้านผีสิงหรือไม่ แต่ผิดคาด ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยแม้แต่อย่างเดียว สิ่งเดียวที่เกิดคือดวงตาของเราค่อยๆ ปรับเข้าหาความมืด รูม่านตาเราค่อยๆ ขยาย เช่นเดียวกับที่เราค่อยๆ มองเห็นสิ่งต่างๆ ในเวลากลางคืน

ห้องนี้ทำให้ดวงตาของเราปรับรูม่านตามองหาแสงอย่างช้าๆ และจะค้นพบว่า แท้จริงแล้ว ในห้องนี้ไม่ใช่ห้องว่างๆ แต่สามารถเดินตรงไปเรื่อยๆ เพื่อพบแหล่งแสงขนาดเล็ก(เล็กม้ากกกกก) ด้านหน้า เมื่อเราเดินเข้าหาแสงแล้ว เราก็หันกลับไปมองสภาพโดยรอบของห้องทั้งหมด จากการรับรู้ตอนแรกว่าห้องนี้มืดมิด แหล่งแสงเพียงนิดเดียวทำให้เรามองเห็นสภาพห้องทั้งหมด ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เรารู้สึกเวิ้งว้าง ว่างเปล่า เหมือนไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นดินใดๆ วิทยาศาสตร์แบบเดียวกับเมื่ออยู่ในพายุหิมะแล้วเกิดอาการ White Out ทำให้ไม่เห็นทิศทางใดๆ 

Go’O Shrine มุดดินไปแตะฟ้า

หนึ่งในบ้านที่เราประทับใจมาก หลังนี้ไม่ใช่บ้านค่ะ แต่เป็นศาลเจ้า Go’O Shrine ที่ศิลปินผนวกผลงานตัวเองเข้ากับโครงสร้างของศาลเจ้าเก่าได้อย่างแนบเนียน ศาลเจ้าตั้งอยู่บนเนินเขา ใช้เวลาเดินจาก Ando Museum ประมาณ 10 นาที ก็จะเห็นตัวศาลเจ้า ศิลปินหล่อบันได ลักษณะเป็นก้อนอิฐ ทำจากแก้วที่เชื่อมจากอาคารหลักลงไปใต้ดิน สตาฟที่ดูแลสถานที่จะมอบไฟฉายให้เรา ก่อนที่เราจะเดินอ้อมไปด้านหลังศาลเจ้า

ด้านล่างเป็นเนินเล็กๆ มีช่องปูนแคบๆ ให้เราค่อยๆ เดินเข้าไปในความมืด เพื่อพบกับส่วนที่บันไดแก้วเชื่อมลงมาด้านล่าง ซึ่งเป็นบ่อน้ำที่ขังอยู่หลังจากที่ดินบริเวณศาลเจ้าด้านบนได้ไหลลงมา ก้อนบันไดแก้วสะท้อนแสงไฟฉายของเราเป็นประกายเล็กๆ ในความมืด ขัดกับบันไดด้านบนที่สะท้อนแสงอาทิตย์วิบวับ แม้จะต่างกันราวกลางวันกลางคืน บันไดแก้วก็เชื่อมโลกใต้ดินอันมืดมิด คับแคบ น่ากลัว เข้ากับพื้นที่ปลอดโปร่งด้านบนของศาลเจ้า ซึ่งเป็นที่ประทับของทวยเทพผู้ปกปักรักษาดินแดนมนุษย์ พื้นที่ ‘ด้านล่าง’ กับ ‘ด้านบน’ ทั้งในเชิงกายภาพและจิตวิญญาณถูกเชื่อมเข้าหากันด้วยผลงานศิลปะที่มีลักษณะคล้ายวัตถุทางศาสนา 

© 2019 Setouchi Triennale Executive Committee

Haisha บ้านหมอฝัน

เดินต่อไปบนถนนหลัก เราจะเจอบ้านสูงหลังหนึ่งที่โดดเด่นออกมาจากบ้านหลังอื่น ตัวบ้านบุด้วยไม้เก่าสีขาวและฟ้าอมเขียวลอกหลุดลุ่ย ด้านบนเป็นสังกะสีขึ้นสนิมลายทางตามอายุการใช้งาน แต่ไม่วาย หน้าต่างตรงกลางบ้านมีแสงไฟนีออนสดใสส่องออกมา เรารู้ทันทีเลยว่าที่นี่คือบ้าน Art House จากสิ่งแปลกปลอมที่แพลมออกมา 

Haisha แปลว่าหมอฟัน ซึ่งตรงกับประวัติศาสตร์ของบ้านนี้เป๊ะๆ เพราะบ้านนี้เมื่อก่อนเคยเป็นบ้านและที่ทำงานของคุณหมอฟันในเมืองนี้ค่ะ ชินโระ โอทะเกะ (Shinro Ohtake) ศิลปินเลยสร้างบ้านนี้ทั้งหลังให้กลายเป็นผลงานศิลปะ ชื่อ Dreaming Tongue/BOKKON NOZOKI หรือลิ้นฝัน ที่เหมือนกับว่าเมื่อเราเอาอะไรใส่ปากแล้วลิ้นพยายามจะจดจำกลิ่นและรสของสิ่งนั้นเอาไว้ ผลงานภายในบ้าน ก็เลยเหมือนกับเข้าไปในฝันที่สับสนอลหม่าน 

มีรูปปั้นเทพีสันติภาพโผล่มากลางห้อง บางห้องก็เป็นสีดำๆ มืดๆ ทั้งห้อง พื้นยุบๆ พองๆ เดินลำบาก ส่วนห้องน้ำก็บุผนังด้วยนิตยสารเก่า ความฝันเป็นสิ่งที่ประหลาดเพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมากมายในฝันก็ตาม แต่เมื่อตื่นมาก็แทบจะลืมไปหมด บางอย่างก็ดึงภาพกลับมาได้ไม่หมด นี่คือสิ่งที่ผลงานในบ้านหมอฟันกำลังเล่นกับเรา ความเยอะแยะอลหม่านจนจำไม่หวาดไม่ไหวว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นประสบการณ์ที่เหมือนหลับฝันไป พอเดินออกจากบ้านก็เหมือนตื่นจากฝันไปเสียแล้ว

Photo: Norihino Ueno https://cdn.cnn.com/cnnnext/dam/assets/140416165255-naoshima-dots-art-project-horizontal-large-gallery.jpg 

Kadoya ทะเลเวลาของทุกคนบนเกาะ

บ้านหลังนี้เป็นตัวเริ่มจุดประกายให้เกิด Art House Project ทั้งหมดขึ้นมา นับว่าเป็นบ้านหลังแรกในโครงการนี้ บ้านได้ถูกรีโนเวทให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมแบบเมื่อสองร้อยปีก่อน มีการบุไม้และทำหลังคาใหม่ ผลงานในนี้มีความพิเศษต่างจากผลงานอื่นๆ คือ เป็นผลงานที่ชาวเกาะนาโอชิมะมีส่วนร่วมในผลงาน Sea of Time ของศิลปินทัตสึโอะ มิยาจิมะ (Tatsuo Miyajima) เมื่อเดินเข้าบ้านมา เราจะเห็นบ่อน้ำสีดำอยู่ตรงกลาง ในบ่อมีแสงหลากสีกระพริบๆ ในจังหวะที่แตกต่างกัน เมื่อเรานั่งลงที่ริมบ่อ จะสังเกตว่าแสงเหล่านั้นคือตัวเลขนับหนึ่งถึงเก้า บางจุดวิ่งอย่างช้าๆ นับตามได้ บางจุดวิ่งในความเร็วปานกลาง และบางจุดก็วิ่งอย่างรวดเร็วจนนับไม่ทัน ตัวเลขแต่ละตัวนี้ ศิลปินให้ชาวเกาะแต่ละคนเป็นคนกำหนดความเร็ว ดังนั้นตัวเลขหนึ่งจุด จึงเป็นเหมือนตัวแทนของชาวเกาะหนึ่งคน ที่มีเวลาในชีวิตที่แตกต่างกัน  เหมือนเป็นทะเลเวลาที่รวมคนในเกาะเข้าไว้ด้วยกัน 

_____________

หัวใจของ Art House Project คือการเย็บโยงประวัติศาสตร์ของชุมชน ของบ้านและอาคารเก่า เข้ากับการสร้างผลงานศิลปะชิ้นใหม่ โดยไม่ทิ้งที่มาของอาคารที่ผลงานศิลปะเหล่านี้พักพิงอยู่ เกิดเป็นบทสนทนาของชุมชนกับศิลปะ การมีอยู่ของผลงานศิลปะ แม้จะเป็นสิ่งใหม่ แต่ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกแปลกปลอมต่อชุมชน เพราะอาคารทุกหลังถูกสร้างด้วยความเคารพต่อประวัติศาสตร์ของชุมชน อาคารศิลปะไม่ทำตัวข่มบ้านหลังเล็กหลังน้อย แต่ถูกออกแบบมาให้กลมกลืนกับบ้านเรือนโดยรอบ แม้แต่ศาลาว่าการที่ถูกออกแบบอย่างเรียบร้อยหมดจด ก็ทำหน้าที่ศาลาว่าการ ที่ผนวกกิจกรรมของคนในชุมชนเข้าไป การเดินดู Art House Project ในชุมชน จึงเป็นเหมือนการดูผลงานศิลปะขนาดเท่าอำเภอหนึ่งที่อยู่ร่วมกันกับคนในเกาะอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย และภาคภูมิใจในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่

Tags: ,