เคยสงสัยไหมว่า เหตุใดคนไทยบางกลุ่มจึงมีความเชื่อใน ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ มากมายเหลือเกิน ยิ่งไปกว่านั้น ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงยกย่องให้วัตถุอย่างต้นตะเคียน ปลัดขิก หรือแม้กระทั่งบ่อน้ำที่ผุดขึ้นมาจากพื้นดินแล้วถูกปลุกเสกโดยพระสงฆ์เกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งหลาย สุดท้ายกลายเป็นวัตถุมงคลที่เชื่อว่าจะช่วยปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยให้หายได้

ถ้าเราให้เหตุผลว่าเป็นความเชื่อทางศาสนา คำถามที่ตามมาคือ แล้วศาสนาประจำชาติอย่าง ‘พุทธนิกายเถรวาท’ ได้มีการบัญญัติไว้เช่นนั้นจริงๆ หรือ?

เมื่อหลักคำสอนของศาสนาพุทธไม่ค่อยเป็นไปตามกับแนวทางปฏิบัติของคนไทย แม้ในยุคศตวรรษ 21 ที่เราสามารถพิชิตห้วงอวกาศอันแสนกว้างใหญ่ได้แล้วก็ตาม แต่ความเชื่อเหล่านั้นก็ยังไม่จางหายไปจากสังคมไทยที่นิยามตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ แต่กลับเชื่อว่าทวยเทพผีสางเทวดาคอยปกปักรักษาชีวิตของพวกเขาอยู่

ศาสนาไทยมีศาสนาผีเป็นแกนกลาง มีพุทธและพราหมณ์เป็นเปลือกห่อหุ้มภายนอก

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับศาสนาไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า “เขามีความเห็นตรงข้ามกับนักวิชาการทั่วไป ที่ถือเอาพุทธศาสนาเป็นแกนกลางของศาสนาไทยโดยมีผีและพราหมณ์ เป็นเปลือกห่อหุ้มอยู่บ้าง แต่แท้จริงแล้ว เราอาจจะทำความเข้าใจศาสนาไทยได้ดีกว่า หากเรามีแนวคิดว่า ศาสนาไทยมีศาสนาผีเป็นแกนกลาง และมีพุทธ และพราหมณ์เป็นเปลือกห่อหุ้มภายนอก”

ศาสนาไทยจึงอาจถูกนิยามได้อย่างสั้นๆ ไว้ว่า ‘ตั้งตนเป็นพุทธ เชื่อแบบพราหมณ์ แต่ทำแบบผี’ หากรู้เช่นนี้แล้วก็คงจะไม่แปลกใจหากเราเห็นคนไทยมีความเชื่อที่เอนเอียงไปทาง ‘ผี’ เสียมากกว่า โดยหลักการปฏิบัตินั้นถูกพร่ำสอนไว้ว่าการประพฤติผิดหลักจารีตประเพณี จะนำมาซึ่งคราวเคราะห์ร้ายแก่ตัวเองและครอบครัวซึ่งเป็นศีลธรรมที่เกรงกลัวอำนาจที่มาจาก ‘ภายนอก’

แต่เปลือกของศาสนาพุทธที่ได้ช่วยมาเติมเต็มแนวคิดการสร้างศีลธรรมจากภายในกลับกลายเป็นการสอนให้คนรู้จัก ‘ปลง’ ต่อการจัดการความทุกข์ที่เกิดขึ้นจาก ‘ภายใน’ เพียงเท่านั้น นอกจากนี้การใช้เทพ เทวดา ยักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในวรรณคดีที่ได้รับอิทธิพลมาจาก ‘พราหมณ์-ฮินดู’ เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวของคนไทยที่มีพื้นฐานมาจาก ‘ศาสนาผี’ ก็ได้โอบรับไว้อย่างง่ายดาย

รากเหง้าของความเชื่อศาสนาแบบไทยๆ นี้เองที่ยังคงฝังรากหยั่งลึกอยู่ในสังคม รวมไปถึงตัวกลางทางศาสนาอย่างพระหรือเกจิอาจารย์ใดๆ ก็ตาม ก็ยังคงใช้พิธีกรรมทางศาสนาที่เน้นบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่นอกเหนือวิธีคำสอนของชาวพุทธดังที่ควรจะเป็น

การศึกษาประวัติศาสตร์ของการหยิบยืมทางศาสนาไทย

การศึกษาต้นตอรากเหง้าผ่านหลักการเช่นนี้ของหนังสือ ผี พราหมณ์ พุทธ ในศาสนาไทย นอกจากจะทำให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้ที่เชื่อในศาสนาไทย ยังทำให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ไทยให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นว่า แต่ละพิธีกรรม ประเพณี และความเชื่อเหล่านั้นได้ถูกหยิบยืมและครอบด้วยความ ‘พุทธ’ ในรูปแบบใด

ยกตัวอย่างเช่น ในบทหนึ่งของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ที่ได้กล่าวถึงกวีเอกในยุครัตนโกสินทร์อย่างพระสุนทรโวหาร หรือ สุนทรภู่ ผู้ประพันธ์วรรณคดีที่กลายมาเป็นแบบเรียนในวิชาภาษาไทยอย่าง ‘พระอภัยมณี’ โดยการออกแบบตัวละครอย่าง ‘ผีเสื้อสมุทร’ ที่ถูกตีความว่าเป็นยักษ์ขมูขี แต่ทำไมคำว่า ‘ผีเสื้อ’ อันหมายถึงแมลง จึงถูกยกมาใช้กับยักษ์ขมูขีเช่นนั้น

แท้จริงแล้วรากศัพท์ของคำว่า ‘ผีเสื้อสมุทร’ ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาผี คำว่า ‘ผีเสื้อ’ เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า ‘ผีเชื้อ’ ซึ่งแปลว่าผีบรรพชนในศาสนาผีพื้นเมืองสุวรรณภูมิ เช่นเดียวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประจำอยู่ที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ อย่าง ‘พระเสื้อเมือง’ ก็มีรากศัพท์มาจากคำว่า ‘พระเชื้อเมือง’ ที่แปลว่าผีบรรพชนของเมืองเช่นกัน

แต่การพรรณนาลักษณะของตัวผีเสื้อสมุทรนั้นกลับได้รับอิทธิพลมาจาก ‘รากษส’ จาก ‘รามายณะ’ ของศาสนาพราหมณ์ อมนุษย์ที่เป็นตัวแทนของความโกรธเกรี้ยวโหดร้ายซึ่งมักถูกเล่าขานว่าเป็นผู้เข่นฆ่าจับวัวและนักบวชกินสดๆ ทั้งสองสิ่งนี้ในศาสนาพราหมณ์ถือเป็นตัวแทนของพาหนะของพระอิศวรและผู้ที่อยู่ในวรรณะชนชั้นสูง ซึ่งลักษณะเหล่านี้กลายมาเป็นตัวตนของผีเสื้อสมุทรนี่เอง

ศาสนาแบบไทยๆ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ ‘ชาวบ้าน’ แต่ยังรวมไปถึง ‘กษัตริย์’

อีกความเชื่อที่น่าสนใจของวัฒนธรรมฝั่งเอเชียอาคเนย์ คือการเถลิงพระนามใหม่หลังการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ผู้ปกครอง หลายคนเข้าใจผิดว่าการสรรเสริญความดีของผู้ปกครองที่ล่วงลับไปแล้วผ่าน ‘ชื่อ’ แท้จริงก็คือหนึ่งในพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น

เนื่องจากในอดีตมีความเชื่อว่า หลังจากที่คนได้ตายไป วิญญาณของพวกเขาจะถูกรวมกับวิญญาณของบรรพชนที่สามารถให้คุณให้โทษกับสังคมได้ ดังนั้นยิ่งเป็นบุคคลสำคัญก็ยิ่งต้อง ‘เผาให้ดี พลีให้ถูก’ เพื่อให้วิญญาณบรรพบุรุษมาปกปักรักษาบ้านเมืองสืบไป

ทว่าด้วยการมาถึงของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทำให้วิญญาณของบรรพบุรุษถูกเปลี่ยนไปให้อยู่ในรูปแบบของเทพฮินดู เช่น พระนารายณ์ พระอิศวร หรือพระพุทธเจ้า ขึ้นอยู่ว่าตอนมีชีวิตอยู่ของผู้ปกครองผู้นั้นนับถือเทพองค์ใด พีธีดังกล่าวถูกเรียกว่าพิธี ‘ศราทธะ’ หรือพิธี ‘สารท’ ของไทยนั่นเอง

ยกตัวอย่างของไทยเราก็ได้คือพระนามของ ‘สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก’ และ ‘สมเด็จพระเลิศหล้านภาลัย’ ไม่ใช่พระนามของท่านทั้งสองขณะที่มีชีวิตอยู่ แต่เป็นพระนามที่รัชกาลที่ 3 ทรงถวายให้กับพระพุทธรูปทรงเครื่อง 2  องค์ในอุโบสถวัดพระแก้วมรกต สำหรับรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2

อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้คือการทำความเข้าใจของ ‘พุทธไทย’ เพื่อที่จะสามารถมีทางเลือกในการนับถือศาสนาที่มากกว่า พุทธแบบไทย หรือการเชื่อมั่นในศาสนาผี สำหรับชาวพุทธที่ต้องการตามหาความพุทธที่แตกต่างไปจากเดิม

Fact Box

ผี พราหมณ์ พุทธ ในศาสนาไทย / เขียนโดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, วิจักขณ์ พานิช, ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ / สำนักพิมพ์นาตาแฮก / ราคา 320 บาท

Tags: