ไม่นานมานี้ คนอาจรู้สึกเบื่อกับวลีที่ว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” เพราะได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งจากการดูข่าว จากสเตตัสของเพื่อนในโซเชียลมีเดีย รวมถึงบทสนทนาในวงเหล้า จนทำให้เผลอตอบเพื่อนที่พูดประโยคนั้นว่า “กูรู้แล้วว่าการเมืองเป็นเรื่องของกู” เพื่อตอบตัดบทเพื่อให้จบประเด็นไป แต่ถึงอย่างนั้น การเมืองก็ยังฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ อยู่ในทุกที่ อยู่ในทุกการกระทำของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้

เป็นเรื่องตลกร้ายเมื่อคนที่ไม่สนใจวิกฤตการเมืองยังคงมองว่าบ้านเมืองของเราเป็นปกติสุข เป็นเรื่องตลกร้ายเมื่อวันเวลาผ่านไป คนที่ไม่สนใจการเมืองเริ่มได้รับผลกระทบ และอยากหาอะไรมาเสริมเติมความรู้ด้านการเมืองการปกครองให้กับตัวเอง ก่อนจะพบกับหนังสือที่ชื่อว่า ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่เน้นสาระสำคัญเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล และกองทัพ เพื่อให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยที่ควรรู้

หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมใจความสำคัญอันเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเอาไว้ โดยแบ่งแยกย่อยเป็น 5 บท เริ่มจาก ‘การตีกันของสองความคิด หลังเหตุการณ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475’ ต่อมาจึงพาไปเข้าใจถึง ‘ความสำเร็จของรัฐประหาร’ ว่าหากจะทำรัฐประหารให้สำเร็จลุล่วงจะต้องใช้ปัจจัยใดบ้าง จากนั้นจึงค่อยอธิบายหัวใจสำคัญอย่าง ‘การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’

ส่วนสองบทคัดย่อสุดท้ายนั้นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เมื่อเริ่มปรับตัวกับเนื้อหาที่หนักอึ้งได้แล้ว ถึงเวลารำลึกเหตุการณ์ ‘รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549’ ว่าคนไทยต้องพบเจอกับอะไรบ้าง ก่อนจะจบลงด้วยการตั้งคำถามถึงขอบเขตของการบังคับใช้ ‘กฎหมายมาตรา 112’ ในปัจจุบัน

 

การตีกันของสองความคิด หลังเหตุการณ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

การมอบข้อเท็จจริงควบคู่ไปกับส่วนที่ปิยบุตรเป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลจากหนังสือ ข่าว ตลอดจนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั่วโลกที่บอกเล่าเกี่ยวกับการเมือง รัฐประหาร รัฐธรรมนูญ และสถาบันกษัตริย์ ล้วนเต็มไปด้วยความน่าสนใจ ผู้เขียนเล่าถึงความแตกต่างของการตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพและคุณค่าของการได้ลงคะแนนเลือกตั้งระหว่างชาวยุโรปและชาวไทย เปรียบเทียบค่านิยมที่แตกต่างจากผลงานของ Pierre Rosanvallon (ปิแอร์ โคร์ซองวัลลง) กับหนังสือ Le sacre du citoyen (การเถลิงขึ้นของพลเมือง) ประวัติศาสตร์การเลือกตั้งทั่วไปในฝรั่งเศส

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ เรื่องสิทธิการเลือกตั้งเป็นของมีค่าในโลกตะวันตก เพราะสิทธิเลือกตั้งแบบเท่าเทียมเป็นสัญลักษณ์ เป็นภาพแทนการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของพลเมือง เป็นเครื่องหมายที่บอกว่าคุณเท่ากับฉัน เราเท่ากัน เราเป็นคนเหมือนกัน โดยไม่พิจารณาถึงชาติกำเนิด การศึกษา ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือสถานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งกว่าจะได้สิทธิเลือกตั้งนี้มาก็ต้องต่อสู้อย่างยากลำบาก ผ่านเหตุการณ์รุนแรง ผ่านการนองเลือด เต็มไปด้วยบทเรียนมากมาย เมื่อได้มาด้วยความลำบาก สิทธิในการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่มีค่า

ตรงกันข้ามกับบ้านเรา การปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มาง่าย ซึ่งอาจเรียกได้ว่า ‘ง่ายเกินไป’ จนทำให้รู้สึกว่าไม่มีค่า ขณะเดียวกัน เผด็จการอำนาจเริ่มยอมรับว่าฝ่ายกษัตริย์นิยมคงไม่อาจหลีกเลี่ยงประชาธิปไตยได้อีกแล้ว และคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยมีความเป็นกษัตริย์นิยมหลงเหลืออยู่ คู่กับการสร้างวาทกรรม ‘นักการเมืองเป็นสิ่งชั่วร้าย’ หรือ ‘ชาวบ้านโง่เขลาโดนเขาซื้อ’ สิทธิการเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นเครื่องยืนยันถึงความเท่าเทียมจึงกลายเป็นเหมือนของไร้ค่าไร้ราคา มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ใครมาพรากเอาไปก็รู้สึกเฉยๆ

ต้นกำเนิดรัฐสภาไทยคือการต่อสู้กับระบอบเก่า แต่กลับกลายเป็นสถานที่ซึ่งเป็นที่รวมตัวกันของกลุ่มผลประโยชน์ ถูกลดทอนคุณค่าให้กลายเป็นสภาที่มีแต่การเล่นการเมือง สาดโคลน ทุจริตฉ้อฉล ไม่มีมโนทัศน์ทางอุดมการณ์อีกต่อไป

ปิยบุตรอ้างอิงถึงผลงานเรื่อง กฎหมายมหาชน เล่ม 2 การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน-เอกชน และพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย ของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2537 แสดงจุดยืนชัดเจนว่าสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมของชาติ เป็นสถาบันเดียวที่แสดงถึงความต่อเนื่องของประเทศไทย เห็นได้จากช่วงหนึ่งของหนังสือที่ว่า

“ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราสอนกันตามฝรั่งว่า ประมุขของรัฐแบบพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงกระทำอันใด เว้นแต่ที่รัฐมนตรีกราบบังคมทูลและลงนาม รับสนองพระบรมราชโองการ ตามหลักของอังกฤษที่ว่า ‘The king can do no wrong’ ทำให้กษัตริย์อังกฤษเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติเท่านั้น แต่ศูนย์รวมของชาติที่มีบทบาททางสังคมอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาให้ราษฎรส่วนใหญ่ พระราชอำนาจทางกฎหมายเองก็ไม่เหมือนกัน เพราะพระมหากษัตริย์ไทยมีมากกว่าพระมหากษัตริย์อังกฤษมาก”

หรือในบางช่วงบางตอนของผลงานบวรศักดิ์ที่ระบุว่า เมื่อมีการรัฐประหารเลิกรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยที่เคยพระราชทานให้ปวงชนนั้นกลับคืนมายังพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของเดิมมาก่อน 24 มิถุนายน 2475 ส่วนคณะรัฐประหารไม่ใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตย เมื่อคณะรัฐประหารประสงค์จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อเสร็จแล้ว ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อลงพระปรมาภิไธย เท่ากับว่าพระมหากษัตริย์สละอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาที่ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง”

ปิยบุตรวิจารณ์การอธิบายของบวรศักดิ์ว่า แสดงถึงการไม่ได้มองว่ากษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมือง แต่กษัตริย์อยู่เหนือกาลเวลา เหนือสถานการณ์ เหนือรัฐประหาร เมื่อพิจารณาตามแบบประชาธิปไตยแล้ว คำอธิบายของบวรศักดิ์ที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลายแล้ว” แปลความได้โดยทันทีว่ากษัตริย์ไม่ได้เป็นเจ้าของและผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศอีกต่อไป และอำนาจสูงสุดของประเทศไม่มีวันกลับไปสู่กษัตริย์ได้อีก

ความคิดของบวรศักดิ์เรื่องอำนาจอธิปไตยย้อนกลับไปหากษัตริย์เมื่อเกิดรัฐประหาร นอกจากไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ยังไม่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ให้อยู่กับระบอบประชาธิปไตยอย่างสง่างาม และอาจส่งผลร้ายต่อสถาบันฯ อีกด้วย

เช่นเดียวกับในประกาศคณะราษฎรปรากฏข้อความว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิด ว่าประเทศของเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพื้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ากวาดรวบทรัพย์สมบัติไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรทั้งนั้น”

 

ความสำเร็จของรัฐประหาร

ปิยบุตรมองว่า รัฐประหารโดยตัวเองอาจไม่มีน้ำยาอะไร แต่รัฐประหารจะสำเร็จและดำรงอยู่ต่อไปได้ จำเป็นต้องมีปัจจัยสนับสนุนการลงมือทำรัฐประหาร มีกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นนับได้ 5 อย่าง ได้แก่

1. แรงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก แปรเปลี่ยนตามวัฒนธรรมทางการเมืองที่แตกต่างไปในแต่ละประเทศ บางประเทศประชาชนอาจเชื่อว่ารัฐประหารเป็นวิธีสุดท้ายในการแก้ปัญหาทางการเมือง ที่มีส่วนมาจากการโหมกระพือของปัญญาชนและสื่อสารมวลชนมาก่อนหน้านั้น เพื่อเร่งให้สถานการณ์เข้าขั้น ‘สุกงอม’ พอที่จะทำให้คณะรัฐประหารมั่นใจว่าทำแล้วจะไม่ถูกต่อต้านจากประชาชนจำนวนมาก

2. การใช้ความรุนแรงของรัฐบาลเผด็จการทหาร โดยเฉพาะกับประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร เช่น การจับกุมคุมขัง ปราบปราม ลอบสังหาร ปิดกั้นสื่อ หรือคำสั่งห้ามชุมนุม

3. การใช้กระบวนการทางกฎหมาย เช่น ตรารัฐธรรมนูญที่รับรองความชอบธรรมของกระบวนการรัฐประหาร โดยเฉพาะกับคำพิพากษาที่รองรับรัฐประหาร

4. การสนับสนุนของประเทศมหาอำนาจ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพจากการทำรัฐประหารหลายครั้งในประเทศแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ที่สหรัฐอเมริกามักให้การสนับสนุนการทำรัฐประหารแบบลับๆ อยู่หลายครั้ง

5. บุคคลผู้มากด้วยบารมีและมีวาจาสิทธิ์ในการรับรองรัฐประหาร

ปัจจัย 5 อย่างที่ส่งผลให้การทำรัฐประหารในหลายพื้นที่บนโลกประสบความสำเร็จ ซึ่งเมื่อมองในทางกลับกัน ‘หากรัฐประหารปราศจากคนมอบดอกไม้ ปราศจากสื่อสารมวลชนร่วมเชียร์ ปราศจากมาตรการรุนแรงของเผด็จการในการปราบปราม หรือหากมีผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งตัดสินว่ารัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลบล้างรัฐประหารและผลพวงลูกหลานรัฐประหาร หากบุคคลผู้มากบารมีและมีวาจาสิทธิ์แสดงต่อสาธารณะว่าตนไม่สนับสนุนรัฐประหาร รัฐประหารก็ไม่สำเร็จ และกลายเป็นความพยายามรัฐประหารหรือกบฏเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย ในยุคสมัยหนึ่งเคยมีรัฐประหารเกิดขึ้น 10 ครั้ง ส่วนสุภาษิตบทหนึ่งของเยอรมนีที่เคยได้ยินบ่อยๆ กล่าวไว้ว่า “ทหารที่ดีต้องคิดเพียงสามสิ่งเท่านั้น หนึ่ง กษัตริย์ สอง พระเจ้า สาม ไม่คิดอะไรเลย”

 

 การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’

ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับหลายประเทศบนโลกที่ยังคงมีทั้งสถาบันกษัตริย์ และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ควบรวมเป็น ‘การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ อาทิ สหราชอาณาจักร สเปน รวมถึงประเทศไทย คำว่ากษัตริย์ในบทนี้จะเป็นการพูดถึงประมุขของรัฐในหลายประเทศ หาใช่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายเหตุผลไว้อย่างละเอียดและเข้าใจง่ายว่าทำไมหลายดินแดนบนโลกถึงต้องการการปกครองแบบประชาธิปไตย

ในยุคที่คลื่นของความเปลี่ยนแปลงแผ่กระจายไปทุกพื้นที่ เกิดการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพ เรียกร้องเอกราช หวังให้ระบบการเมืองการปกครองไม่อยู่เพียงแต่ชนชั้นสูงเดิมเพียงอย่างเดียว ฝ่ายอำนาจบางดินแดนยังคงปรารถนาให้สังคมกลับไปใกล้เคียงกับระบอบเก่ามากที่สุด แต่พวกเขาตระหนักดีว่าหากเขียนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาในยุคศตวรรษที่ 21 คงเป็นไปได้ยากที่สังคมโลกจะยอมรับ เพราะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือเผด็จการรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่กระแสโลกสมัยปัจจุบันบังคับให้ทุกประเทศต้องเป็นประชาธิปไตย

โดยธรรมชาติ กษัตริย์เป็นสิ่งแปลกปลอมในระบอบประชาธิปไตย เมื่อรัฐเสรีประชาธิปไตยเห็นพ้องต้องกันว่าควรเก็บรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น รักษาประเพณี เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติ รัฐนั้นจะสร้างวิธีหลอมรวมเอา ‘สถาบันกษัตริย์’ เข้ากับ ‘ประชาธิปไตย’ โดยยกให้กษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐและไม่มีอำนาจทางการเมืองใดๆ

จึงกล่าวได้ว่า ในระบอบประชาธิปไตยเป็นตัวของประชาธิปไตยต่างหากที่อนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุข มิใช่กษัตริย์เป็นประมุขและมีประชาธิปไตยเป็นส่วนเสริม ซึ่งสถานะของสถาบันกษัตริย์จะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ

ในระบอบประชาธิปไตย กษัตริย์ไม่มีทางกระทำผิด (The King can do no wrong) เพราะกษัตริย์ไม่ทำอะไรเลย (The King can do nothing) ดังนั้นการอธิบายว่ากษัตริย์ก็เป็นมนุษย์ มนุษย์ก็สามารถผิดพลาดได้นั้น ฟังแล้วอาจซาบซึ้งว่ากษัตริย์มีน้ำใจ และประกาศว่าตนอาจทำผิดพลาดได้เหมือนคนทั่วไป แต่คำพูดเช่นนี้ผิดหลักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะหากบอกว่ากษัตริย์ทำผิดได้นั้น แสดงว่ากษัตริย์จะกระทำการเกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด 

หากพิจารณาเอาประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง และกษัตริย์เป็นสถาบันการเมืองหนึ่งที่อยู่กับประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ที่ดีหาใช่กษัตริย์ที่ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย หาใช่กษัตริย์ที่พูดต่อประชาชนอย่างจับใจ หาใช่กษัตริย์ที่มีจริยวัตรดีงาม หาใช่กษัตริย์ที่ฉลาดปราดเปรื่อง หาใช่กษัตริย์ที่เป็นนักรบ หาใช่กษัตริย์ที่มีจิตใจเมตตา

แต่กษัตริย์ที่ดีต้องเป็นกษัตริย์ที่เคารพรัฐธรรมนูญ

 

 รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549

สำหรับเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ปิยบุตรมองว่าเป็นการเหยียบย่ำสิทธิการเลือกตั้งทั่วไปอันเป็นเครื่องมือที่ระบุถึงความเท่าเทียม ขบวนการต่อเนื่องจากรัฐประหารครั้งนี้ประกาศซ้ำว่า ที่แห่งนี้ไม่อนุญาตให้มี ‘ความเสมอภาคทางการเมือง’ อีกต่อไป

รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 บอกกับทุกคนว่า ชนชั้นนำจารีตประเพณีไม่อนุญาตให้ประเทศนี้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ รัฐบาลไหนทำตัวสุภาพเรียบร้อย บริหารไปวันๆ เหมือนงานประจำวัน ก็จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในตำแหน่งได้ รัฐบาลไหนขึ้นมาดำเนินนโยบายมากมาย สร้างฐานมวลชน แย่งชิงฐานลูกค้าจากชนชั้นนำประเพณี ได้รับความนิยมสูงกว่าชนชั้นนำประเพณี รัฐบาลนั้นต้องมีอันเป็นไป

รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พรากเอาความเป็นพลเมืองไปจากประชาชน ลดสถานะพลเมืองให้กลายเป็นไพร่ กระบวนการต่อเนื่องรัฐประหารก็ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อตอกย้ำความเป็นไพร่ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ควบคู่กับการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้มั่นคงสถาพรตลอดกาล เพราะชื่อของคณะรัฐประหาร รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ก็บอกชัดเจนว่า ‘คณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’

บุคคลที่ครองอำนาจหรือดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แนวทางของรัฐบาลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ก็เป็นไปในทางฟื้นฟูพระราชอำนาจ แต่กลับใช้กฎหมายมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จัดการคนเห็นต่าง

ปิยบุตรระบุว่า ทหารไม่ได้มีหน้าที่ออกรบและเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ทหารไม่ใช่หุ่นยนต์ ไม่ใช่เครื่องจักร ไม่ใช่กลไกของผู้บังคับบัญชา แต่ทหารเป็น ‘พลเมืองที่ใส่เครื่องแบบทหาร’

ในกรณีไทย ลำพังกองทัพฝ่ายเดียวมีศักยภาพในการทำรัฐประหารให้ได้สำเร็จเด็ดขาดหรือไม่ ลำพังกองทัพฝ่ายเดียวเข้าสลายการชุมนุม มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แล้วเรื่องจะเงียบอย่างนี้ได้หรือไม่ ลำพังกองทัพฝ่ายเดียวฆ่าประชาชนแล้วไม่ต้องมีใครรับผิดชอบได้หรือไม่ ซึ่งไม่มีทางทำได้แน่นอนหากปราศจากอะไรค้ำยันหรือหนุนหลังกองทัพเอาไว้อยู่

 

กฎหมายอาญามาตรา 112

อีกหนึ่งสิ่งที่ถือเป็นไฮไลต์ของ ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป ว่าด้วยการรับฟังข้อคิดเห็นสองฝั่งอย่างมีวิจารณญาณ ในประเด็นว่าประเทศไทยควรแก้กฎหมายมาตรา 112 หรือไม่ ปิยบุตรนำทั้งข้อเท็จจริงของฝ่าย ‘อยากแก้กฎหมาย’ กับฝ่าย ‘ไม่อยากแก้กฎหมาย’ การปะทะกันของสองความคิดขั้วตรงข้าม อาจทำให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจความคิดที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงได้มากขึ้น

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ เรื่องการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สามารถสรุปได้ถึง 7 ประเด็น แต่ใจความสำคัญคือการเน้นย้ำว่า ความผิดมาตรา 112 ไม่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร สมมติมีผู้ใดหมิ่นประมาทกษัตริย์ การดำรงอยู่ของราชอาณาจักรไทยก็ไม่เสียไป ยังคงเป็นราชอาณาจักรไทยอยู่

ในสมัยก่อน การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ถือเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร เพราะรัฐหรือราชอาณาจักรคือกษัตริย์

ข้อความที่ว่า ‘กษัตริย์มิอาจถูกละเมิดได้’ ปรากฏมาอย่างช้านานตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่กษัตริย์ยังคงไว้ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ข้อความ ‘กษัตริย์มิอาจถูกละเมิดได้’ ที่เคยปรากฏในระบอบเก่าจะต้องถูกอธิบายใหม่ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและความเสมอภาค เมื่อเข้าสู่ระบอบใหม่ กษัตริย์แยกออกจากรัฐ เป็นเพียงผู้ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ การกระทำความผิดต่อกษัตริย์จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ ต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรอีกต่อไป

แม้บอกได้ว่าไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ทำไมความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กลับมีโทษสูงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอย่างนั้น

การรณรงค์แก้กฎหมายมาตรา 112 ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และการขอให้แก้ไข 112 ก็ไม่ได้ผิด 112 และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการล้มเจ้าแต่อย่างใด

 

ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล ไม่ใช่ ‘หนังสือล้มเจ้า’ แต่เป็นหนังสือที่จะทำให้คนอ่านได้รู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับ ‘เจ้า’ มากขึ้น 

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้สร้างความกระด้างกระเดื่อง แต่มุ่งนำเสนอข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่างสุภาพและมีเหตุมีผล เหมาะสำหรับผู้สนใจเรื่องการเมืองการปกครอง ตั้งแต่สถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลยุติธรรม กองทัพ รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ โดยหยิบยกประวัติศาสตร์น่าสนใจจากทั้งไทยและต่างประเทศ 

ลองเปิดใจอ่านดูสักครั้งโดยที่ยังไม่ต้องเชื่อทุกตัวอักษร เพราะทุกคนล้วนมีเสรีภาพในการพินิจพิเคราะห์ด้วยปัญญาของตัวเอง

 

Fact Box

  • ปิยบุตรจบการศึกษาชั้นปริญญาโทและปริญญาเอกจากประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • หลังรัฐประหารปี 2549 เขารวมตัวกลุ่มอาจารย์สอนกฎหมายในนาม ‘คณะนิติราษฎร์’ ออกเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112
  • ก่อนที่ในปี 2561 ปิยบุตรจะลาออกจากธรรมศาสตร์ แล้วก้าวเข้าสู่สนามการเมืองในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ 
  • ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป , ผู้เขียน ปิยบุตร แสงกนกกุล, สำนักพิมพ์ Shine Publishing House, ราคา 300 บาท
Tags: , , , , ,