1

ปัญหาสำคัญในระยะหลังของวงวิชาการไทย กระทั่งวงสื่อมวลชนก็คือ จะนิยามระบอบการปกครองตลอด 7 ปี นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันนี้ ซึ่งมีรัฐธรรมนูญ 2560 มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่มีนายกรัฐมนตรีคนดีคนเดิมอย่างพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าอย่างไร

เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นเผด็จการอำนาจนิยม หรือเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถูกต้องตามอย่างที่รัฐธรรมนูญ 2560 เขียน แล้วเราจะใช้อะไรอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จะใช้เรื่อง ‘ระบอบประยุทธ์’ แบบที่ประจักษ์ ก้องกีรติ พยายามเรียก หรือจะใช้ทฤษฎี ‘รัฐพันลึก’ ที่เออเชนี เมริโอ พยายามเสนอ แล้วเรื่องทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์อะไร

โอลด์รอยัลลิสต์ดาย ผลงานล่าสุดของ ‘วาด รวี’ พยายามหาคำตอบของปรากฎการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไล่เรียงประวัติศาสตร์การเมืองของ ‘ชนชั้นนำ’ ไทย โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบรรดาขุนทหารและ ‘รอยัลลิสต์’ ในช่วง 20 ปีให้หลัง นับตั้งแต่การเกิดขึ้น และตั้งอยู่ของทักษิณ ชินวัตร

เอาง่ายๆ ในฐานะคนที่สนใจการเมืองไทยอย่างผม วาด รวี พยายามเสนอประเด็นใหม่ที่น่าสนใจอยู่ 2-3 เรื่อง นับตั้งแต่บทแรกๆ ที่ว่าด้วย ‘คลิปถั่งเช่า’ คลิปเสียงหลุดของคน ‘เสียงคล้าย’ ทักษิณ ชินวัตร และเสียงคล้ายพลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในเวลานั้น ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์เมื่อกลางปี 2556

หากฟังผิวเผินก็จะพบประเด็นปลีกย่อย โดยเฉพาะเสียงของคนคล้ายทักษิณที่บอกว่า “ไว้ใจ ไว้ใจไอ้ตู่มาก” การวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำเหล่าทัพในเวลานั้นแบบเรียงคน และการพยายามต่อสายกับบรรดาชนชั้นสูงเพื่อหาทางกลับบ้านของทักษิณ

แต่ วาด รวี บอกว่า สัญญาณสำคัญของคลิปถั่งเช่าคือการบอกว่า การที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงมาคุมกระทรวงกลาโหมแทน และตั้งพลเอกยุทธศักดิ์มาเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ คือการเพิ่มอำนาจต่อรองในสภากลาโหมให้เรื่องการ ‘นิรโทษกรรม’ ทักษิณและคนอื่นๆ เริ่มต้นจากการเป็นกฎหมายความมั่นคง โดยมีผู้นำเหล่าทัพ รวมถึงพลเอกประยุทธ์ และอาจจะคนที่เหนือกว่าพลเอกประยุทธ์ รู้เห็น-รับทราบด้วยตั้งแต่ต้นทาง เพื่อกรุยทางให้ทักษิณได้กลับบ้านแบบเท่ๆ อย่างที่เขาเคยเปรยไว้

แต่ในที่สุด เกิดกระบวนการ ‘หักดีล’ กันบางอย่าง กฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งทักษิณเชื่อว่าชนชั้นนำ-เหล่าทัพและทุกคนที่มีอำนาจตัดสินใจ เห็นด้วยกันทั้งหมดแล้ว ถูกเสนอผ่านรัฐสภาแทน แบบแก้หลักการทั้งหมด 3 วาระรวด และผ่านภายในคืนเดียว โดยที่ทักษิณคิดว่าตกลงได้ เคลียร์ได้ แต่ทุกอย่างก็กลับตาลปัตรหมด กลายเป็นเรื่องวุ่นวายมาจนถึงวันนี้

“เรื่องมันซับซ้อน” คือสิ่งที่ทักษิณพูดไว้สั้นๆ ในคลับเฮาส์ไม่กี่วันก่อน เมื่อมีคนถามถึงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

 

 2

อีกประเด็นที่น่าสนใจที่ โอลด์รอยัลลิสต์ดาย ยกขึ้นมา คือการเกิดขึ้นและความต่อเนื่องของทหารกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ ว่ามีปัจจัยอะไรอยู่เบื้องหลังบ้าง

วาด รวี ย้อนกลับไปในยังการรัฐประหารครั้งก่อนหน้า 19 กันยายน 2549 ที่นำโดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ว่าในเวลานั้น ‘บูรพาพยัคฆ์’ ซึ่งนำโดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังแทบไม่ได้มีบทบาทอะไร และก็เป็นที่รู้กันภายหลังว่า ตัวพลเอกสนธิก็ไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องนี้ กลายเป็นคำพูดทีหลังที่พลเอกสนธิยอมรับเอง เมื่อพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ถามถึงผู้อยู่เบื้องหลังว่า “คำถามบางประการ ถึงตายแล้วก็ตอบไม่ได้”

แล้วบูรพาพยัคฆ์กับ ‘บิ๊กป้อม’ เข้าสู่อำนาจได้อย่างไร โอลด์รอยัลลิสต์ดาย วิเคราะห์ว่า ช่วงการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบกในปี 2550 หลังจากพลเอกสนธิเกษียณอายุราชการ มีความพยายามของพลเอกสนธิในการแต่งตั้งทหาร ‘รบพิเศษ’ อย่างพลเอก มนตรี สังขทรัพย์ พวกเดียวกับพลเอกสนธิ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อ

แต่สุดท้ายก็เกิดการ ‘เปลี่ยนโผ’ กะทันหัน มีการทูลเกล้าชื่อทหารรบพิเศษขึ้นไปจริง แต่สุดท้ายกลับเปลี่ยนคน กลายเป็นพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งเหลืออายุราชการอีกนานหลายปี ตั้งแต่ปี 2550-2553 และเป็น ‘บูรพาพยัคฆ์’ ตัวจริง เพราะผู้มีอำนาจเหนือพลเอกสนธิเห็นว่าน่าไว้ใจกว่า และมีเครือข่ายที่พรั่งพร้อมมากกว่าสาย ‘รบพิเศษ’

ในเวลาต่อมา เราได้รู้กันว่า การขึ้นสู่ตำแหน่งของพลเอกอนุพงษ์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 นั้น สามารถ ‘พลิกประวัติศาสตร์ได้จริง’ โดยเฉพาะการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร 1 ปีหลังจากนั้น ที่ทำให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแม้จะไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง การล้อมปราบคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน 2553 ไปจนถึงการเลือกพลเอกประยุทธ์ขึ้นมาเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อ

การขึ้นสู่ตำแหน่งของไลน์บูรพาพยัคฆ์อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ได้ทำให้กองทัพเป็นเอกภาพ ไม่ได้มีคลื่นใต้น้ำเหมือนในยุคสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ การจัดสรรกำลังล้วนแล้วแต่เป็นเครือข่ายที่บูรพาพยัคฆ์สามารถคุมได้ จัดการได้ทั้งหมด และในเวลาที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ขึ้นครองอำนาจนั้น กลับกลายเป็นว่า เป็น ‘ขุนทหาร’ เหล่านี้ ที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะในห้วงเวลาการจัดการกับคนเสื้อแดง โดยที่นายกฯ อภิสิทธิ์ไม่มีอำนาจทำอะไร เพราะเขาเหล่านี้มีบุญคุณ อุ้มอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ กับมือ

 

 3

คำถามสำคัญอีกอย่างที่ โอลด์รอยัลลิสต์ดาย ยกขึ้นมาก็คือ เป้าประสงค์ของการรัฐประหาร 2557 นั้นคืออะไร และพยายามจะสร้าง ‘ระบอบใหม่’ อะไรขึ้น

สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การรัฐประหารเกิดขึ้นท่ามกลางความหวาดวิตก ว่าด้วยช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านรัชสมัย และในระหว่างนั้น พระราชอำนาจหลายประการถูกเพิ่มขึ้นภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ว่าจะเป็นการจัดการข้าราชการในพระองค์, การแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, การแก้ไขพระราชบัญญัติสงฆ์ ไปจนถึงการแก้ไข ‘รัฐธรรมนูญ 2560’ แม้จะผ่านประชามติจากประชาชนแล้วก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ขณะเดียวกัน ในห้วงเวลาเดียวกับการเพิ่มพระราชอำนาจเหล่านี้ ซึ่งนับเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากคณะราษฎร ก็ได้เห็น ‘รอยัลลิสต์’ หลายคนที่มีอิทธิพลทางความคิดในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ค่อยๆ เงียบหายไป ด้วยสาเหตุที่แตกต่าง หลากหลาย อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือ โอลด์รอยัลลิสต์ดาย

วงวิชาการมีการตั้งคำถามเป็นวงกว้างว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงในประเด็นเหล่านี้ แท้จริงแล้ว คสช. มีอำนาจจริงหรือไม่ และมีอะไรที่เกี่ยวพันอยู่เบื้องหลังบ้าง สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรียกระบอบนี้ว่า ‘ระบอบหลังประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เรียกว่า ‘ระบอบที่ยังตั้งชื่อไม่ได้’ ชัยธวัช ตุลาธน เรียกว่า ‘ระบอบตามพระราชอัธยาศัย’ ขณะที่ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เรียกว่า ‘ระบอบที่ใหญ่กว่าประยุทธ์’

บทสรุปของ โอลด์รอยัลลิสต์ดาย ได้ชี้ให้เห็นว่า การดำรงอยู่ของประยุทธ์ไม่อาจอยู่ได้ด้วยตัวเอง หากแต่อยู่ภายใต้การเกาะเกี่ยวกับอำนาจที่เหนือกว่า โดยมีกลุ่มทุน ชนชั้นนำ และนักการเมืองที่ได้รับผลประโยชน์จากระบอบนี้ ร่วมกันอุดหนุน สร้างระบอบใหม่ที่มี ‘หลายชื่อ’ นี้ขึ้นมา

แน่นอนว่าถ้าไม่มีการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีการเกิดขึ้นของการชุมนุมประชาชน นักเรียน นักศึกษา เมื่อปี 2563 ระบอบใหม่นี้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีใครกล้าต่อกร

ทว่าปฏิกิริยาโต้กลับเหล่านี้ เกิดขึ้นโดยใช้เวลาไม่นานนัก เป็นเพราะรอยัลลิสต์รุ่นเก่านั้นล้มหายตายจากไปหมดแล้ว และรอยัลลิสต์รุ่นใหม่ต่างก็เกาะเกี่ยวกับระบอบใหม่นี้ด้วยผลประโยชน์ ปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’ เปลี่ยนจากโลกออนไลน์มาสู่โลกออฟไลน์ จากการถกเถียงกันทางวิชาการ กลายเป็นพูดกันทั่วไปบนท้องถนน

คำถามสำคัญที่ยังคงอยู่ก็คือ แล้วระบอบใหม่นี้จะจีรังยั่งยืนหรือไม่ และปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบอบใหม่นี้เพียงใด

จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้

แต่สิ่งที่ทุกคนทุกฝ่ายน่าจะเห็นตรงกันก็คือ จนถึงวันนี้ ไม่อาจหยุด ‘การเปลี่ยนแปลง’ ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมาได้อีกแล้ว…

 

Fact Box

โอลด์รอยัลลิสต์ดาย, ผู้เขียน วาด รวี, สำนักพิมพ์ Shine Publishing House, ราคา 300 บาท

Tags: , , , , , ,