‘ลูกเกด’ – ชลธิชา แจ้งเร็ว คือใคร?

เธอคือผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวของกลุ่มอดีต 14 นักศึกษาในนาม ‘ขบวนการประชาธิปไตยใหม่’ ที่ออกมาแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ในวาระครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร จนถูกจับกุมคุมขังนาน 12 วัน

เธอคือสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group: DRG) และทีมเจรจากับตำรวจเพื่อเปิดพื้นที่การชุมนุมให้กับ ‘คณะราษฎร’ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

หรือ…

“อีกะหรี่ขายชาติ”

“อีผีไม่รักเจ้า”

“อีคนติดยา” ฯลฯ

สารพัดถ้อยคำหยาบคายลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนถึงการปล่อยเฟกนิวส์เพื่อหวังทำลายชื่อเสียงอีกมากมายนับไม่ถ้วน ยังไม่นับการถูกขู่ข่มขืน ขู่ฆ่า ท้าตบในที่สาธารณะ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ชลธิชาได้รับจากการออกมาเรียกร้อง ‘ประชาธิปไตย’ ในประเทศที่เรียกตัวเองว่า ‘รักสงบ’ 

ล่าสุด เธอถูกโจมตีว่าเป็นคนขายชาติ รับเงินจากสหรัฐอเมริกาเพื่อบ่อนทำลายประเทศไทย โดยมีการสร้างแชตปลอมระหว่างเธอและเฮนรี เร็คเตอร์ (Henry Rector) เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา ที่หลายคนกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของม็อบราษฎร 

ตลอดระยะเวลาการต่อสู้ที่ใกล้จะครบ 7 ปี รัฐประหาร คสช. เธอที่เติบโตมาในครอบครัวทหาร แวดล้อมไปด้วย ‘อำนาจนิยม’ ต้องต่อสู้ทั้งศึกในและศึกนอก เพื่อเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย และผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จนถูกญาติผู้ใหญ่ในตระกูลบังคับให้เปลี่ยนนามสกุล 

อะไรที่ทำให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ยืนหยัดต่อสู้มานานกว่า 7 ปี เราชวนลูกเกด ชลธิชา ย้อนคุยถึงตัวตน จุดเริ่มต้นของการสู้ไม่ถอย ที่เธอยืนยันหนักแน่นว่า ขอทุ่มเทหมดหน้าตัก เท่าที่ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งจะทุ่มเข้าไปได้

อะไรคือจุดเริ่มต้นในการออกมาเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

สารภาพเลย ไม่เคยคิดว่าจะมาได้ขนาดนี้เหมือนกัน (หัวเราะ) เกดว่ามันเริ่มต้นจากพื้นฐานครอบครัว เพราะเราเติบโตมาในครอบครัวทหาร จึงแวดล้อมไปด้วยสภาพที่เป็นอำนาจนิยม จนเรารู้สึกว่าหลายๆ ครั้ง โอกาสในการกำหนดหรือโอกาสในการเลือกมันไม่ได้มาจากเรา แต่มักมาจากผู้ใหญ่ มาจากครูบาอาจารย์ในโรงเรียน และเราอยู่แบบนี้มาตลอด จนเราตั้งคำถามว่า ‘ทำไมคนรุ่นเรา คนที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นกำลังหลักของประเทศ ถึงไม่ถูกสอนให้เห็นความสำคัญของสิทธิในการเลือกหรือการไม่เลือกด้วยตัวเองนะ’

จากการตั้งคำถามมันเลยกลายเป็นเหตุผลที่พอมีรัฐประหารเกิดขึ้น เราจึงรู้สึกว่าไม่ได้การแล้ว ที่ผ่านมาถูกจำกัดแค่ครอบครัว สถานศึกษา แต่พอเป็นรัฐประหารก็รู้สึกว่าโอกาสในการเลือกมันยิ่งริบหรี่ไปทุกที ก่อนหน้านี้เราเคยมีโอกาสไปเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตก่อนรัฐประหารของ คสช. นั่นหมายความว่าสิทธิในการหย่อนบัตรเลือกตัวแทนมันหายไป นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการออกมารวมตัวกับกลุ่มเพื่อนเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง

ตอนนั้นเราอายุประมาณ 19-20 ปี ก็คิดง่ายๆ เลยว่า ฉันขอแค่โอกาสในการเลือก เลือกที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เลือกผู้นำของตัวเอง แค่นั้นเอง

ตอนนี้คุณคิดว่าตัวเองกำลังต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในบทบาทไหน

ตอนนี้ทำงานอยู่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group: DRG) ซึ่งเป็นองค์กรที่เราตั้งขึ้นมาเองภายหลังจากเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งตอนนั้นมีเกด มีโรม (รังสิมันต์ โรม) และเพื่อนในทีมประมาณ 2-3 คน องค์กรนี้เกิดขึ้นเพราะพวกเรารู้สึกว่า เราทุ่มเทต้นทุนที่ตัวเองมีน้อยนิดไปกับการเคลื่อนไหวค่อนข้างเยอะ ทั้งถูกจับติดคุก ถูกจับขึ้นศาลทหาร รู้สึกว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยมันต้องใช้เวลาแน่นอน เราเลยต้องยืนหยัดพร้อมสู้ในระยะยาว จึงกลายเป็นกลุ่มนี้ขึ้น

หลักๆ การทำงานขององค์กรเราคือการทำแคมเปญรณรงค์ต่างๆ แต่อีกขาหนึ่งเราทำเวิร์กช็อป จัดอบรม สนับสนุนกิจกรรมนักศึกษาทั่วประเทศ ที่เรียกได้ว่าน้องๆ นักศึกษาคนไหนอยากให้เราจัดอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนเบื้องต้น เราก็จะรีบวิ่งไปจัดอบรมให้เขา

มีคำครหาว่า งานที่คุณทำอยู่เป็นการปลุกปั่น ยุแยง ขายชาติ ช่วยอธิบายสิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยหน่อยได้ไหม

เราโดนโจมตีมาตลอดด้วยคำว่า ‘ขายชาติ’ เรารู้สึกว่าคำนี้มันเจ็บใจมาก เพราะการที่คุณบอกว่าเราเป็นคนขายชาติ มันหมายความว่าเกดต้องได้ผลประโยชน์อะไรสักอย่างในการขายชาติบ้านเมือง แต่สิ่งที่เราได้กลับมาคือคดีความ ถูกคุกคาม ถูกคุมขัง สิ่งเหล่านี้มันเทียบไม่ได้เลยกับการขายชาติ การขายชาติมันน่าจะเป็นพวกที่ทำนโยบายเอื้อผลประโยชน์ให้ต่างชาติมากกว่า เช่น การปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาเช่าพื้นที่ในประเทศไทย สร้างผลกระทบในประเทศ แบบนั้นถึงจะเข้าเกณฑ์ และอีกสิ่งหนึ่งที่เรามักถูกโจมตีคือวลี “ถ้าคุณรักประเทศจริงๆ ต้องไม่เอาเรื่องแย่ๆ ของบ้านเราไปพูด” คำนี้ก็มันเป็นคำที่ติดใจเรามากๆ

งานที่เราทำหลักๆ ในกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยคือการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และการสร้างการรับรู้ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง เมื่อเราก้าวมาทำงานในเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชน มันจึงหลีกหนีการทำงานร่วมกับต่างประเทศไม่ได้ 

ขอสารภาพเลยว่า ตอนแรกเริ่มที่กระโดดมาทำงานด้านนี้ เรารู้สึกว่าประเทศไทยก็ดีนะ มีการเรียกร้องสิทธิสตรี เปิดรับเรื่อง LGBTQ+ แต่เมื่อเปิดโลกการทำงานกับต่างชาติมากขึ้น ก็รู้เลยว่ามันดีได้มากกว่านี้ เลยมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องสร้างให้สิทธิมนุษยชนในทุกๆ ประเทศเดินไปในมาตรฐานเดียวกัน อันไหนเป็นต้นแบบที่ดี สามารถปรับใช้ในประเทศเราได้ก็นำมาใช้ อันไหนไม่เหมาะสมก็ต้องเรียนรู้กันไป มันไม่ควรเป็นเพียงประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือสิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ ถ้าคุณรักประเทศคุณจริงๆ คุณต้องกล้ายอมรับปัญหา ไม่ใช่กลัวการจะหยิบยกปัญหามาพูด แล้วทำให้บ้านตัวเองดูแย่ เราว่ามันไม่ใช่

 

ทำไมคุณยืนหยัดต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาต่อเนื่องกว่า 7 ปี

มันเหมือนกับว่าคุณกำลังเล่นพนัน และสิ่งที่เราใช้เป็นต้นทุนในการเล่นพนันคืออนาคตของตัวเอง ว่าสุดท้ายแล้วอนาคตของเราจะดีขึ้นหรือไม่มันขึ้นอยู่กับการเดิมพันครั้งนี้จริงๆ มันเลยทำให้ถึงจุดที่บอกว่า เรารู้สึกว่าเราทุ่มหมดหน้าตักเท่าที่ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งจะสามารถทุ่มเข้าไปได้ ทั้งถูกคุกคาม ถูกดำเนินคดีกว่า 30 คดี ถูกจับขังในเรือนจำ เพราะฉะนั้น เวลามีคนมาบอกให้เราเลิกเล่นเกมนี้ ในขณะที่เรายังไม่ชนะ ขณะที่คุณภาพชีวิตเรายังไม่ดีขึ้น ก็คงเป็นไปไม่ได้

30 คดีที่ว่านี้มีคดีอะไรบ้าง

ถ้าเยอะที่สุดเป็น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พรก.ฉุกเฉิน แต่เรามีคดี ม.112 กับ พ.ร.บ.คอมฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กเขียนราษฎรสาส์นถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้มีการปฏิรูปสถาบัน นอกจากนี้ยังมีคดี ม.116 ยุยงปลุกปั่นฯ รวมๆ แล้วเกือบ 30 คดี ชีวิตตอนนี้มันเลยเหมือนกับว่าขาข้างหนึ่งของเราเข้าไปอยู่ในคุกแล้วเกือบ 30 ปี

นี่คือครึ่งหนึ่งของชีวิต ตอนนี้เราไม่เห็นอนาคตตัวเองแล้ว เห็นแค่ปลายทางคือเรือนจำที่รออยู่ เพราะฉะนั้น ถึงบอกว่าถ้าจะให้เราหยุดเคลื่อนไหวแล้วยอมรับความพ่ายแพ้ คงทำไม่ได้ ตอนนี้เลยคิดถึงสิ่งที่มันต้องเกิดขึ้นเท่านั้นคือ 1. คนรุ่นฉันต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 2. คนรุ่นหลังต้องไม่มาต่อสู้เพื่อเรื่องพื้นฐาน อย่างเช่น ประชาธิปไตยหรือสิทธิในการเลือกตั้งอีก คนรุ่นหลังควรออกมาเรียกร้องประเด็นอื่นมากกว่า เช่น คุณภาพชีวิต การพัฒนาประเทศ นี่จึงเป็นเหมือนไฟ เป็นเหมือนแรงขับเคลื่อนที่ไม่ว่าอย่างไรต้องเดินหน้าต่อ

กังวลกับข้อหา ม.112 หรือเปล่า

ยอมรับเลยว่ากังวล จริงๆ ไม่ใช่แค่คดี ม. 112 แต่ทุกคดี เพราะเรามีต้นทุนที่ต้องเสีย ทั้งค่าเดินทางในการต่อสู้คดี เวลา รวมถึงโอกาสที่สูญหายไป แต่เมื่อมันเป็นคดี ม.112 ซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นกฎหมายที่มีปัญหา เป็นกฎหมายที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมันขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ

สิ่งที่พูดมาทั้งหมดมันหมายความว่า เราไม่สามารถคาดหวังความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมได้เลย ไม่มีสิทธิแม้กระทั่งฝัน เรารู้กันอยู่แล้วว่าที่ผ่านมาผู้พิพากษาไทยไม่ได้มีกระดูกสันหลังอะไร มีผู้พิพากษาจำนวนน้อยมากที่ยังคำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง แล้วให้สิทธิการประกันตัวขั้นพื้นฐาน 

  ยอมรับว่ากังวลมาก เพราะเราเห็นแนวโน้มคดี ม.112 ที่เมื่อถูกจับขังอยู่ในเรือนจำแล้ว มักถูกบังคับให้รับเงื่อนไขห้ามออกมาพูดพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง และพวกเราที่ถูกกระทำทั้งหมดยังไม่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดหรือไม่ แต่การที่ศาลตั้งธงไว้แบบนั้น การไม่ให้สิทธิในการประกันตัว การที่ต้องยอมรับเงื่อนไข มันหมายถึงคุณตัดสินไปแล้ว พิพากษาไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่ถึงกระบวนการสืบพยาน หรือพิสูจน์หลักฐานใดๆ 

นี่จึงเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องกังวล ไม่ใช่เพียงแค่เกดหรือแกนนำ เพราะการกระทำแบบนี้มันหมายความว่าหลักนิติรัฐบ้านเรามันพังไปแล้ว ผู้พิพากษาไม่มีอิสระในการตัดสินคดี หรือรัฐเองที่มักใช้กฎหมายกระบวนการยุติธรรมปิดปากประชาชน มันจึงแสดงให้เห็นว่าประเทศนี้ไม่มีอะไรเป็นเครื่องการันตีได้เลยว่า เมื่อเกิดเหตุจำเป็นที่ต้องเรียกร้องเรื่องความยุติธรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นคดีทางการเมือง เช่น คดีทำร้ายร่างกาย เราไม่สามารถคาดหวังอะไรได้เลย ถ้ายังปล่อยให้มาตรฐานกระบวนการยุติธรรมมันตกต่ำขนาดนี้

 

ช่วยเล่าความรู้สึกตอนถูกกุมขัง 12 วัน เมื่อปี 2558 ให้ฟังอีกครั้งได้ไหม

ตอนที่เข้าไปอยู่เรือนจำหญิง มันเป็นแผลเป็นในใจมาตลอด ก่อนหน้านี้เราก็เป็นเพียงคนคนหนึ่งที่เติบโตมาในสังคมที่รู้สึกว่าสามารถคาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมได้ คาดหวังว่ารัฐจะดูแลปกป้องคุ้มครองเราได้ ในฐานะที่เราเป็นประชาชน เป็นเจ้าของประเทศ เป็นคนที่เสียภาษีจ่ายเงินเดือนให้เขาดูแลชีวิตเรา ณ ตอนนั้นเราคิดแบบนี้จริงๆ เรียกได้ว่าโลกสวย (หัวเราะ)

แต่พอเข้าไปในคุกมันดับฝันหลายอย่าง มันผิดปกติตั้งแต่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร และถูกบังคับให้ขึ้นศาลตอนตีหนึ่งตีสองเพื่อขอฝากขัง ศาลบ้าอะไรเปิดทำการตอนตีหนึ่งตีสองเพื่อจะนำนักศึกษาจำนวน 14 คน เข้าเรือนจำ นี่เป็นจุดแรกที่รู้สึกว่าพัง จุดต่อมาคือสโลแกนของเรือนจำที่เขียนติดตรงกำแพงประตูทางออกว่า ‘คืนคนดีสู่สังคม’ ขอบอกเลยว่า ถ้าคุณมียางอายบนใบหน้าบ้าง ควรจะดึงมันออก เพราะสิ่งที่คุณทำมันตรงข้ามกับการคืนคนดีสู่สังคม มันเหมือนนรกดีๆ นี่เอง

ตอนเราอยู่ในเรือนจำเป็นช่วงปี 2558 อันดับแรกที่เราเจอคือการถูกบังคับให้แก้ผ้า ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ลูบไล้ตามร่างกายเพื่อตรวจค้น เราสงสัยว่าทำไมถึงไม่ใช้เครื่องสแกน หรือหากใช้ไม่ได้ก็ขอให้ตรวจค้นในพื้นที่ปิดได้หรือไม่ ซึ่งตอนที่เราโดนกระทำมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 5-6 คน มารายล้อมยืนดูเราเหมือนเป็นสัตว์หรือตัวตลกอะไรสักอย่าง 

ต่อมาคือการที่เราถูกบังคับขึ้นขาหยั่ง ลองนึกภาพเด็กอายุ 19-20 ปี ตอนนั้นเราไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าขาหยั่งคืออะไร แต่ถูกบังคับให้ขึ้นไปโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่อธิบายอะไรทั้งนั้น เราไม่รู้อะไรเลย จนกระทั่งเขาสอดนิ้วเข้ามาในอวัยวะเพศเพื่อตรวจค้นว่าเราซ่อนสิ่งของมาหรือเปล่า ตอนนั้นตกใจมาก เราก็ร้องกรี๊ดออกมาพร้อมกับร้องไห้ แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พูดกลับมาคือ “มึงอย่าสำออยได้ไหม แค่นี้เอง” 

นี่คือการคุกคามครั้งแรกในชีวิต โดยไม่มีการยินยอมจากเรา นี่คือการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือ เราถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่ใครอื่น เลยกลายเป็นว่าความไว้วางใจที่เรามีกับรัฐไทยมันหายไปหมดเลย เราไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เราไม่เชื่อมั่นในระบบการทำงานของเรือนจำที่บอกว่าคืนคนดีสู่สังคม ณ วันนั้นเราเชื่อเลยว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ในเมื่อคุณไม่ได้ปฏิบัติกับคนเป็นคนที่เท่าเทียมกัน

จำได้ว่าตอนนั้นคุณได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ อาการบาดเจ็บส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในเรือนจำไหม 

ก่อนเข้าไปอยู่ในเรือนจำเราได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจช็อตไฟฟ้า ส่งผลให้เส้นประสาทไขสันหลังอักเสบ เหมือนมันช็อตไปเลย เกดถูกเจ้าหน้าที่กระชากแรงมาก ซึ่งเป็นการกระชากที่เราไม่ได้ตั้งตัว จึงทำให้เส้นประสาทพัง มันเลยส่งผลให้เกิดอาการชา บางช่วงถ้าแบกของหนักก็ชา และไม่ได้ชาแค่ช่วงแขน แต่ชาไปทั้งตัว คือร่างกายซีกซ้ายไม่ค่อยดี บางทีเดินก็จะล้มไปเลย

พอต้องเข้าเรือนจำหลังจากการสลายการชุมนุม เราก็เดินไม่ได้ พยายามขอสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาล แต่มันยากมาก นอกจากนั้นไม่พอ เรายังถูกกลั่นแกล้งให้เดินขึ้นเดินลงหลายรอบ ทั้งที่เขาก็รู้ว่าเราเดินไม่ได้แต่ก็ให้เราคลานแทน จนท้ายที่สุด คดีเริ่มเป็นจุดสนใจของมวลชนถึงได้รับการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล แต่มันก็ช้ามากอยู่ดี

อาหารการกินก็แย่เรียกได้ว่า ‘ผักหนึ่งไร่ ไก่หนึ่งตัว’ ลองนึกภาพต้มจับฉ่ายหม้อใหญ่ๆ มีผักเยอะมากแต่มีแค่ซี่โครงไก่ เกดเรียกมันว่าซี่โครงเพราะหาเนื้อไม่ได้ ก็ต้องแย่งกันกิน ยังไม่รวมถึงการที่เราถูกแกล้งจากผู้คุมด้วยการเรียกใช้งานจนหมดเวลากินข้าว ตอนแรกคิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญแต่มันกลับเป็นแบบนี้ตลอด 3-4 วัน มันเลยทำให้เห็นคุณภาพชีวิตที่แย่มาก ไม่รวมถึงวัฒนธรรมอำนาจนิยมข้างในเรือนจำที่ปลูกฝังให้คนที่อยู่ข้างในรู้สึกต่ำต้อยกว่าเขา 

เวลาอยู่ในเรือนจำ เราถูกบังคับให้ต้องคลานเข่าเดิน ถูกบังคับให้นั่งกับพื้น สมมติเรานั่งคุยกัน เจ้าหน้าที่เรือนจำจะได้นั่งบนเก้าอี้ ส่วนเกดต้องนั่งคุกเข่า แล้วเราโดนเรียกไปด่าหนักมาก เพราะตอนนั้นเป็นกระแสของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาด้วย 

ในเมื่อจุดเริ่มต้นแนวคิดในเรือนจำบ้านเราเป็นแบบ Top-Down ใช้อำนาจนิยมในการจัดการ มันเลยไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาเรื่องอาชญากรรมได้ เพราะไม่ได้ปฏิบัติกับนักโทษเหมือนมนุษย์ ไม่ได้เสริมสร้างคุณค่าให้ประชาชนเห็นความสำคัญของตัวเองหรือโอกาสในการดำรงชีวิตใหม่ เลยไม่มีทางที่เขาจะหนีออกจากชีวิตเหล่านี้ได้ สุดท้ายก็วนอยู่ในวัฏจักรเดิมๆ เมื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมไม่ได้ ก็หมายความว่าคุณภาพชีวิตประชาชนในประเทศก็จะไม่ปลอดภัยไปด้วย

อะไรที่เรารู้สึกโดนกระทำร่วมเหมือนแกนนำที่ถูกคุมขังตอนนี้บ้าง

พวกเรายังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิดแต่กลับถูกจับขัง แน่นอนว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพและละเมิดสิทธิในการประกันตัว ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีก็หายไป เพราะเมื่ออยู่ในห้องขังก็ไม่มีโอกาสที่ใช้เวลาปรึกษาคดีกับทนาย หรืออ่านเอกสารเพื่อเตรียมสู้คดี ยิ่งตอนนี้มีโควิด-19 อีกจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก

เราเคยพูดคุยกับน้องรุ้งหลังการติดคุกครั้งแรกของเขา รุ้งบอกว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกพังคือความคาดหวังว่าจะได้ประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และเขาควรได้รับสิทธินี้ รุ้งก็รอทุกวัน แต่ก็ถูกปฏิเสธทุกวัน มันเลยเหมือนเป็นการทำลายความหวังและความฝันไปเรื่อยๆ 

แต่เกดแตกต่างกับน้องรุ้งตรงที่เราปฏิเสธการเข้ารับกระบวนการยุติธรรม ไม่ยื่นประกันตัว แต่มันมีครั้งหนึ่งที่รู้สึกพังเหมือนรุ้ง คือวันครบรอบฝากขัง วันนั้นศาลทหารพิพากษาปล่อยตัวชั่วคราวพวกเราโดยไม่ต้องฝากขัง โดยธรรมเนียมแล้วต้องปล่อยตัวในเย็นวันนั้นเลย ลองนึกภาพตามว่า เย็นวันนั้น ครอบครัวเรา ญาติพี่น้อง เพื่อนนักกิจกรรม รวมถึงนักข่าวมายืนรอพวกเราทั้ง 14 คน หน้าเรือนจำ แต่เรือนจำกลับไม่ยอมปล่อยตัว

เรานอนร้องไห้ทั้งคืนว่าเกิดอะไรขึ้น ศาลเปลี่ยนคำพิพากษาเหรอ จนประมาณตี 4 ของวันถัดมา ผู้คุมเดินเข้ามาในห้องขังแล้วบอกให้แต่งตัว จะพาเราไปส่งบ้าน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงเพื่อไม่ให้เราเจอนักข่าว ไม่ให้มีภาพเราถูกปล่อยตัวออกไป แต่นี่คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเรานะ

การที่คุณทำงานทั้งแนวหน้าและแนวหลังของการชุมนุม บางครั้งก็ไปเป็นตัวแทนเจรจากับตำรวจ หน้าที่แต่ละบทบาทมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง 

บอกก่อนเลยว่า จริงๆ เกดไม่ได้อยากเป็นแกนนำ (หัวเราะ) เราเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูงมาก หมายถึงยังอยากมีอีกชีวิตหนึ่งที่สามารถทำอะไรก็ได้ เพราะการเป็นบุคคลสาธารณะมันมีอีกภาระที่ต้องแบกรับ แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ เราก็ไปอยู่ข้างหน้าได้ ให้สัมภาษณ์นักข่าวได้ 

การเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นมีหลายขา ตอนที่พลิกผันกลายเป็นทีมเจรจากับตำรวจคือเราโดนคดี พ.ร.บ.สาธารณะฯ เยอะมาก พอโดนเยอะต้องอ่านเยอะเลยรู้เรื่องนี้เป็นพิเศษ รู้แม้กระทั่งว่าตำรวจนำมาตรานี้มาใช้ แต่คุณไม่มีอำนาจในการใช้มาตรานี้ด้วยซ้ำ มันเลยกลายเป็นภาพที่เราไปอยู่ข้างหน้าเพื่อด่าตำรวจ (หัวเราะ) ไปชี้แจงกับตำรวจว่า คุณกำลังบังคับใช้กฎหมายที่ผิดอยู่ แต่ไม่ว่าจะทำงานอยู่เบื้องหน้าหรือเบื้องหลังก็โดนคดีความอยู่ดี เราเลยมองว่าตอนนี้ไม่ว่าจะทำงานอยู่จุดไหนก็มีค่าเท่ากัน

 

นอกจากการต่อสู้คดีความต่างๆแล้ว ยังต้องต่อสู้กับ Hate Speech และ Fake News ด้วย

ต้องยอมรับเลยว่า เมื่อเกิดการโจมตีในแง่นี้ มันสะท้อนให้เห็นว่า อีกฝ่ายไม่ได้มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริง เมื่อคุณสู้ด้วยข้อเท็จจริงไม่ได้ คุณเลยหันมาลดทอนข้อมูลของเราด้วยการสร้างข้อมูลเท็จออกมา และเมื่อคุณใช้ข้อมูลปลอมเมื่อไหร่มันหมายความว่าคุณหมดหนทางสู้

สิ่งที่คนธรรมดาอย่างเราได้รับคือการถูกคุกคามในทุกรูปแบบ และมันไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่หมายถึงครอบครัวด้วย สิ่งที่เราต้องการคืออยากให้ทุกคนตั้งสติ เช็กข้อมูลก่อนที่คุณจะหลงเชื่อหรือกดแชร์ เพราะทุกครั้งที่คุณแชร์มันอาจทำลายชีวิตคนคนหนึ่งไปเลยก็ได้ อยากให้คุยกันด้วยหลักการและเหตุผล เกดเชื่อว่านักกิจกรรมทุกคนต้องการแค่ให้ประเทศดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พอโดนโจมตีแบบนี้มันไม่ส่งผลดีกับเรื่องไหนเลย มันยิ่งสร้างค่านิยมผิดๆ ในการรับข้อมูลข่าวสารตรงนั้นด้วย

ถูกโจมตีครั้งไหนหนักหนาสาหัสที่สุด

เยอะมาก (หัวเราะ) เพราะเราถูกโจมตีค่อนข้างมากและโดนมาตลอด ช่วงที่โดนหนักมากคือช่วงสวรรคตของรัชกาลที่ 9 มีภาพผู้หญิงใส่เสื้อสีส้มไปลงนามไว้อาลัยแล้วถูกใส่ความว่าผู้หญิงคนนั้นคือเกด ซึ่งไม่ใช่เราเลย มันเห็นชัดเจนมากว่าเป็นภาพตัดต่อ สิ่งนี้ไม่เรียกว่าการใช้สิทธิเสรีภาพ แต่มันคือการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อทำลายชีวิตคนคนหนึ่ง ส่งผลให้เราถูกล่าแม่มดหนักมาก มีการส่งข้อความไปถึงพ่อแม่ บอกว่า ‘เตรียมซื้อโลงศพให้ลูกสาวมึงเลยนะ’ หรือบางทีเดินอยู่ในที่สาธารณะ มีคนจำหน้าได้ก็มาชี้หน้าด่าหรือถุยน้ำลายใส่ ถามว่า ‘มึงไม่รักในหลวงเหรอ’ ทั้งหมดนี้เลยทำให้เรารู้สึกว่า ทั้งที่เราเป็นคนไทย แต่ทำไมเวลาเดินในประเทศของตัวเองถึงรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อเทียบกับการเดินในต่างประเทศ ทั้งที่เราเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเขา 

อีกช่วงที่โดนหนักคือการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เกดถูกโจมตีด้วยการนำรูปร่างหน้าตาและอัตลักษณ์เราไปโจมตี เช่น หน้าตาเหมือนคนติดยา เหมือนผี ด่าเราว่าอีผีไม่รักเจ้า อีกะหรี่ขายชาติ แล้วมันไม่ได้อยู่แค่ในโลกออนไลน์มันอยู่ในชีวิตจริงด้วย ซึ่งมันกระทบต่อสภาพจิตใจเราแน่ๆ และเมื่อโดนโจมตีในโลกออนไลน์มากๆ ส่งผลให้คนจำหน้าได้ พอมีคนจำหน้าได้ ก็โดนชี้หน้าด่า ครั้งหนึ่งไปกินข้าวแถวพระราม 8 มีครอบครัวหนึ่งจำหน้าเราได้ ก็เดินมาท้าตบในร้านอาหาร 

หรือกรณีล่าสุดอย่างแชตปลอมกับเฮนรี เร็คเตอร์ (ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง จากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย) ตอนแรกยังโพสต์ขำๆ อยู่เลยว่า ถ้าจะปลอมแชต ครั้งต่อไปขอรูปที่สวยๆ หน่อยแล้วกัน แต่เราประเมินสังคมผิดไป คิดว่าคนไทยคงมีวิจารณญาณในการรับฟังข้อมูลข่าวสาร ปรากฏว่ามันมีคนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นแชตจริง ซึ่งในแชตปลอมมันมีความตั้งใจเขียนประมาณว่า เรากับเฮนรีเป็นกิ๊กกัน นี่เป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่ผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาทำงานทางการเมืองต้องมาโดนโจมตีในเรื่องนี้

การที่เราเป็นผู้หญิงส่งผลให้ถูกคุกคามง่ายขึ้นหรือเปล่า

ใช่ เกดมองว่า ไม่ว่าจะนักกิจกรรมหญิงหรือชาย ผู้ชายมักถูกโจมตีจากสิ่งที่เขาทำ แต่พอเป็นผู้หญิง ไม่ใช่แค่นักกิจกรรมแต่รวมถึงนักการเมืองหญิง คุณจะโดนลากไปถึงรูปลักษณ์ หน้าตา หรือเพศสภาพ พอมันกลายเป็นการโจมตีด้วยอัตลักษณ์ หลักๆ เลยเขาต้องการโจมตีเพื่อลดทอน ทำให้เรารู้สึกไม่มีคุณค่า ไม่มีความสามารถที่จะทำงานการเมือง ก็รู้สึกว่าจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว เราเลยตั้งปณิธานว่า จะทำอย่างไรให้พื้นที่ทางการเมืองเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน เป็นเส้นทางที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องสู้หนักขึ้นเพื่อเดินบนเส้นทางนี้ 

เพราะฉะนั้น เมื่อเรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศที่มันไม่ได้มีแค่ผู้ชาย ไม่ได้มีแค่ผู้หญิง แต่เราอยู่ในประเทศที่มันต้องอยู่ร่วมกัน ดังนั้นก็ไม่ควรที่จะให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้นำ ทุกคนต้องนำไปด้วยกัน

อะไรคือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจในวันที่เจอวิกฤตหนักๆ

เมื่อเรารู้สึกท้อหรือไม่ไหวก็จะหนีไปเที่ยวหรือจัดค่าย ให้โอกาสตัวเองได้พักเพื่อค้นหาสิ่งใหม่ๆ ไปเก็บเกี่ยวแง่มุมอีกมิติหนึ่งเพื่อมาเป็นพลังให้ตัวเอง เปิดโอกาสให้เจอคนใหม่ๆ ออกไปพบปะชาวบ้าน แล้วเราก็จะเห็นความหวัง ความเป็นไปได้ในสังคมนี้ เห็นคุณค่าในตัวเองว่าเราไม่ได้เป็นแบบที่คนเหล่านั้นพูด เราก็มีประโยชน์

ขอฝากถึงทุกคนที่โจมตีเราเรื่องเพศหรือรูปลักษณ์ภายนอกมาตลอดว่า มันไม่ได้ผลกับฉันแน่ๆ ทุกครั้งที่ถูกโจมตีด้วยเรื่องเหล่านี้กลับยิ่งทำให้ต้องทำงานหนัก ต้องสู้มากกว่าเดิม ไม่ใช่สู้แค่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองอย่างเดียว แต่เราจะเปลี่ยนยันรากเหง้าค่านิยมที่มันบิดเบี้ยวผิดปกติ มันต้องถูกรื้อออกให้หมด

 

เห็นว่าคุณตัดสินใจดำเนินคดีทางกฎหมายกรณีแชตปลอม 

จริงๆ เราอยากแจ้งความหลายครั้งมาก แต่ไม่มีโอกาส นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เรียนรู้ว่าการแจ้งความดำเนินคดีทางกระบวนยุติธรรมมีเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายเยอะมาก ทั้งค่าทนาย การเลือกข้อกฎหมายในการฟ้อง ซึ่งตอนนี้เกดสวมหมวกนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอยู่ ซึ่งเป็นบทบาทที่ทั่วโลกยอมรับ ยกเว้นประเทศไทย เมื่อเรานิยามว่าตัวเองเป็นนักสิทธิมนุษยชนแล้ว ก็ต้องคอยคำนึงว่าเราได้กระทำอะไรที่มันละเมิดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานหรือเปล่า

เกดเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันว่าการใช้เสรีภาพในการแสดงออกไม่ควรมีโทษจำคุก เช่น เขาด่าว่าเราขายชาติก็ไม่ควรมีโทษจำคุก เราก็ต้องมาดูว่ามีกฎหมายอะไรบ้างที่จะหยิบมาใช้เป็นกรณีๆ ไป 

อีกอย่างคือ เราต้องการสร้างบรรทัดฐานการต่อสู้ให้ทั้งคนที่ตกเป็นเหยื่อแบบเกดเอง และบรรทัดฐานของทุกคนในสังคมไทยว่า เราเห็นต่างได้ไม่ผิด แต่ในความเห็นต่างต้องอยู่บนหลักของเหตุและผล อยู่บนข้อเท็จจริง

ในฐานะที่คุณสวมหมวกนักสิทธิมนุษยชน มองเรื่องการอดอาหารเพนกวิน รุ้ง และคนอื่นอย่างไร

ก่อนอื่นต้องบอกว่าเราเคารพทุกการตัดสินใจของน้องๆ และทุกคนที่อดอาหาร มันสะท้อนให้เห็นเลยว่า คนที่จะเป็นอนาคตของประเทศเขาสู้จนหมดตัว หมดหน้าตัก จนใช้ชีวิตเขาเป็นเดิมพัน เพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงประเทศนี้ 

แต่สิ่งที่มันไม่ปกติเอามากๆ คือ ทำไมผู้ที่มีอำนาจถึงยังมองข้ามเรื่องนี้ ทำไมไม่เริ่มกลับมาคำนึงถึงว่าบ้านเมืองเรามันมีปัญหาจริงๆ ใช่ไหม ถึงทำให้เด็กอายุยี่สิบกว่าปีต้องใช้ชีวิตตัวเองเป็นเดิมพันเพื่อให้ประเทศเปลี่ยนแปลง 

ท่ามกลางความสิ้นหวัง อะไรที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นความหวังของคุณ

เกดคิดว่าประเทศเรายังไม่สิ้นหวังเสียทั้งหมด แม้ว่าที่พูดมาทั้งหมดจะดูสิ้นหวังก็ตาม แต่เกดคิดว่ามันยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังฝันได้ ลองคิดดูว่าเมื่อปีก่อนเราไม่สามารถพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้เลย แต่ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน มันกลายเป็นฉันทามติร่วมของคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทย ซึ่งเกดเชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยที่มองว่าเรื่องนี้ต้องถูกแก้ไข นี่เป็นชัยชนะเมื่อปีที่ผ่านมาของเรา แม้ว่ามันยังไม่ได้พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี สถาบันพระมหากษัตริย์ยังไม่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิรูปปรับปรุงตัวเองอย่างไรบ้าง ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่พูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ หรือไม่มีแม้แต่พรรคการเมืองใดด้วยซ้ำที่ทำนโยบายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจัง แต่การที่มีฉันทามติร่วมกันแล้วว่า สถาบันกระมหากษัตริย์ต้องปฏิรูป ถือเป็นแนวโน้มที่ดี

สิ่งที่เราต้องคิดต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้ทุกองคาพยพในบ้านเรามองว่านี่คือปัญหา แล้วมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุและผล เพราะเราไม่มีอะไรในมือ ไม่มีอำนาจ ไม่มีทรัพยากร ไม่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือ ไม่มีอาวุธ มีเพียงข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่านั้น เพื่อขยายแนวร่วมในสังคมไทย เรายังยืนยันให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ได้ แม้จะถูกโจมตี ถูกคุกคาม ขู่ฆ่า ล่าแม่มดสักกี่ครั้ง ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 กี่คดีก็ตาม ก็ไม่สามารถหยุดยั้งเรื่องนี้ได้ เพราะถ้าไม่แก้ตอนนี้ มันจะสะสมส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนี้แล้ว มันควรจะจบแล้ว จบที่รุ่นเรา

Fact Box

  • ‘ลูกเกด’ - ชลธิชา แจ้งเร็ว คือหนึ่งใน 14 นักศึกษาที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการทำรัฐประหารของ คสช. เมื่อปี 2557 
  • เธอเคยถูกกุมขัง 12 วัน ภายหลังการออกมาแสดงสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐประหาร ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวาระครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร คสช. ปี 2558 
  • ปัจจุบัน ลูกเกดทำงานเคลื่อนไหวอยู่ในกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group: DRG) และเป็นทีมเจรจาตำรวจให้ม็อบราษฎร
Tags: , , , , ,