เป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบการตรวจสอบ และอำนาจองค์กรอิสระถูกตั้งคำถามจากประชาชนมากขึ้น นับตั้งแต่การเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากคสช. ‘มีเอี่ยว’ กับการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคน และด้วยเหตุบังเอิญ บรรทัดฐานทางกฎหมาย ก็มักจะ ‘เป็นใจ’ ให้ฝ่ายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคสช. ต้อง ‘รอดพ้น’ จากเงื่อนไขที่ผิดรัฐธรรมนูญไปทุกคดี

The Momentum ขอย้อนรอยเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ‘ไม่รับคำร้อง’ และ ‘ไม่เอาผิด’ กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ รวมถึงบรรดา ‘องคาพยพ’ ที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้เห็นว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศนี้มีอยู่จริง และมักจะอยู่ข้างพลเอกประยุทธ์เสมอมา

 1. รัฐมนตรี คสช. ถือหุ้นสัมปทานรัฐ

เมื่อเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา วินิจฉัย ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 4 ราย ได้แก่ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม,และนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรณีตัวเอง คู่สมรสและบุตร เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัญญา หรือรับสัมปทานจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้าม ห้ามรรัฐมนตรีถือครองหุ้นที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ เพื่อป้องกันการขัดกันทางผลประโยชน์ระหว่างหน้าที่ราชการกับธุรกิจ หากใครถือหุ้นดังกล่าวจะมีผลต้องพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา186 ประกอบกับมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)

หม่อมหล่วงปนัดดา ถูกกล่าวหาว่า ตัวเอง คู่สมรส และบุตรเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสัมปทานหรือคู่สัญญานกับรัฐ ด้านนายสุวิทย์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท แฟมิลี่ บิสสิเนส โซไซตี้ จำกัด ส่วนนายไพรินทร์ ถือหุ้นในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และมีคู่สมรสถือหุ้นในบริษัทที่ลงทุนธุรกิจโทรคมนาคม เป็นคู่สัญญากับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนบุตรถือหุ้นในบริษัท วิจิตรภัณฑ์ ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการสัมปทานจากรัฐเข้าเป็นคู่สัญญามีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน และนายแพทย์ธีระเกียรติ มีคู่สมรสถือหุ้นในบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือที่ได้รับประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรม

 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า การกระทำอันเป็นการต้องห้ามตาม มาตรา 186 ประกอบกับมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) ไม่รวมการถือหุ้นก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งหม่อมหลวงปนัดดา และนายไพรินทร์ ได้ถือครองหุ้นก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของทั้งสองคนจึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ส่วนกรณีของนายธีระเกียรติ ได้ถือครองหุ้นก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐธรรมนูญ แต่คู่สมรสเป็นผู้ถือหุ้นที่ได้รับสัมปทานภายหลังการเข้ารับตำแหน่งรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม ความเป็นรัฐมนตรีของนายธีระเกียรติจึงสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) มีผลนับตั้งแต่วันที่นายธีรเกียรติลาออกจากตำแหน่งเอง (9 พฤศจิกายน 2562) กรณีของนายสุวิทย์ ได้มีการจดทะเบียนบริษัทก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เหลือเพียงการชำระบัญชีที่ยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของนายสุวิทย์จึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)

2. ไม่รับคำร้อง พลเอกประยุทธ์ ถวายสัตย์ไม่ครบ

วันที่ 27 สิงหาคม 2562 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นด้วยกับคำร้องของนายภานุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมยื่นคำร้องและความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วนไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา161 อันเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันบังคับใช้ไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียน 

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 ศาลมีมิติเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213  ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47(1) เพราะเป็นการถวายสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด นอกจากนี้การกระทำของพลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 ประกอบ มาตรา 3 วรรคสองและเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5

3. พลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

วันที่ 26 มิถุนายน 2562 ที่รัฐสภาชั่วคราว  สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค ร่วมยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อ สมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวน 101 คน ให้กับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นการขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งการดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ทำให้ความเป็นนายกัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15)

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ศาลมีคำวินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหน้าคสช. มาจากการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ ที่เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ดังนั้นการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นเพียงการเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยเพียงเท่านั้น นอกจากนี้การดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการแต่งตั้งที่ไม่ได้ขึ้นกับกฎหมาย ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และการทำงานของรัฐ จึงไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 16 (6) พลเอกประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้

4. สมาชิก สนช. 5 คนถือหุ้นสัมปทาน

วันที่ 12 มิถุนายน 2560 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบสมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 5 ราย (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้แก่  พลเอกฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง สว.) , พลเอกชาตอุดม ติตถะสิริ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง สว.), พลเอกไตรรัตน์ รังคะรัตน, นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง และนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง สว.) ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ระบุว่าห้ามสมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงคู่สมรสและบุตร เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัญญา หรือรับสัมปทานจากหน่วยงานรัฐ เพื่อป้องกันการขัดกันทางผลประโยชน์ระหว่างหน้าที่ราชการกับธุรกิจ หากใครถือหุ้นดังกล่าวจะมีผลต้องพ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทันที  ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 263 วรรคสอง ประกอบมาตรา 101(7) และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม)

คู่สมรสของ พลเอกฉัตรเฉลิม ได้ถือครองหุ้นบริษัท การบินกรุงเทพจำกัด (มหาชน), บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ส่วนพลเอกชาตอุดม ถือครองหุ้นบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ด้านพลเอกไตรรัตน์ ถือครองหุ้นบริษัท อินทัช โอลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), ถือครองหุ้นทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ด้านนายภัทรศักดิ์ ถือครองหุ้นในบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน), ถือครองหุ้นบริษัทวีนิไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) และคู่สมรสของนายมหรรณพ ถือหุ้นในบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน), ถือหุ้นบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน), ถือหุ้นบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ถือหุ้นบริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ศาลมีคำวินิจฉัยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(7) ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะยื่นคำร้องต่อศาล ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

5. ส.ส.รัฐบาล 32 คนถือหุ้นสื่อ

วันที่ 4 มิถุนายน 2563 พรรคอนาคตใหม่ ยื่นเอกสารคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาคุณสมบัติ 42 สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคร่วมรัฐบาลถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้าม เนื่องจากสสมาชิกผู้แทนราษฎรดังกล่าวเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้สสมาชิกผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดลง  ตามรัฐธรรมนุญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) คดีดังกล่าวมีผู้ถูกร้อง 42 ราย ยกคำร้องไปแล้ว 9 ราย ระหว่างไต่สวนมี สมาชิกผู้แทนราษฎร พ้นสมาชิกภาพไปแล้ว 3 ราย ได้แก่ พลตำรวจโทไวพจน์ อาภรณ์รัตน์, หม่อมราชวงศ์จตุมงคล โสณกุล, นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ จึงสั่งจำหน่ายคดี คงเหลือผู้ถูกร้อง 29 ราย

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ศาลวินิจฉัยว่า พยานหลักฐาน เอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดังกล่าว ไม่พบว่าบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดของผู้ถูกร้อง 29 ราย ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ดังนั้น สมาชิกผู้แทนราษฎร ทั้ง 29 รายไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

Tags: , , ,