1

“Man is born free, but he is everywhere in chains”

“มนุษย์เกิดมาอย่างเสรี แต่ทุกที่กลับเต็มไปด้วยโซ่ตรวนแห่งพันธนาการ”

ฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean Jacques Rousseau)

ปรัชญาสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชวนให้เราได้ขบคิดถึง ‘อิสระ’ ของมนุษย์ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางการเรียกร้องความเท่าเทียม การทวงคืนสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นบรรทัดฐานสังคม ค่านิยม ศาสนาความเชื่อ ครอบครัว และมนุษย์ผู้ร่วมโลก มนุษย์มีอิสระแค่ไหนท่ามกลางโซ่ตรวนเหล่านี้ 

โซ่ตรวนชื่อบรรทัดฐาน

โซ่ตรวนชื่อค่านิยม 

โซ่ตรวนชื่อสิ่งแวดล้อม

โซ่ตรวนชื่อศาสนาและความเชื่อ

โซ่ตรวนชื่อมนุษย์ผู้ร่วมโลก 

ฯลฯ

ตัวแปรแห่งพันธนาการเหล่านี้ ดึงรั้งปีกแห่งเสรีชนเราเอาไว้ 

ปรัชาญาของ ฌอง ฌากส์ รุสโซ เข้ากันได้ดีกับหนังสือ คนนอก หรือ คนแปลกหน้า บทประพันธ์ขึ้นชื่อของ อัลแบรต์ กามูส์ (Albert Camus) ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส แปลโดยอำพรรณ โอตระกูลมี หนังสือ คนนอก มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Stranger และ The Outsider แต่ไม่ว่าชื่อเรื่องจะถูกแปลเป็นแบบไหนก็ล้วนส่อความหมายถึงตัวละครเอกในเรื่องอย่าง เมอโซ (Meursault) ได้เป็นอย่างดี เพราะเขาดูเป็นคน ‘นอกคอก’ เป็น ‘อื่นๆ’ ในสังคมและโลกใบนี้

“ฉันไม่ใช่คนที่นี่ และไม่ใช่คนที่อื่นใดด้วย โลกเป็นเพียงทัศนียภาพแปลกตาซึ่งใจฉันไม่อาจยึดอิงเป็นที่พำนักพักพิงได้” เมอโซ

เมอโซเป็นปุถุชนทั่วไป ทำงานเป็นเสมียน เงินเดือนแค่พอยาไส้ เขาเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ลำพัง ส่วนแม่อาศัยอยู่บ้านพักคนชรา เมื่อแม่เสียชีวิตจึงเดินทางไปบ้านพักคนชราและทำพิธีศาสนาตามคำสั่งเสียของแม่

ภายในงานศพแม่ เมอโซดู ‘สงบ’ จนเกินไป ขัดกับมโนธรรมอันดีงามและบรรทัดฐานจากสังคมที่คาดหวังให้เขาแสดงความเศร้าโศกเสียใจมากกว่านี้ แต่เขาไม่แม้แต่จะดูศพแม่เป็นครั้งสุดท้าย ไม่ร้องไห้ ไม่มีการร่ำลาที่หลุมศพ และเขาไม่รู้แม้กระทั่งอายุขัยของแม่

ใครจะทราบได้ว่าอากัปกิริยาที่ ‘สงบ’ จนเกินไปในงานศพแม่ ได้นำเขาไปสู่ โทษประหารชีวิต…

2

หลังงานศพแม่จบลงได้หนึ่งวัน เขาพบกับหญิงสาวชื่อ ‘มารี’ ทั้งสองเจอกันขณะว่ายน้ำและดูหนังด้วยกันต่อ จนความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

หนังสือเล่มนี้คล้ายเป็นไดอารีประจำวันของเมอโซที่ดำเนินอย่างราบเรียบ ต่อมาเขาเป็นเพื่อนกับเรมอนด์ที่อยู่อพาร์ตเมนต์เดียวกัน บุคคลที่ถูกร่ำลือว่าเกาะผู้หญิงกิน แต่เรมอนด์บอกกับเมอโซว่าไม่ได้เป็นแมงดาอย่างที่คนอื่นนินทา เขาต่างหากที่เลี้ยงดูผู้หญิงอาหรับคนนั้น แต่ภายหลังเขาสงสัยว่าผู้หญิงนอกใจจึงลงไม้ลงมือตบตีหล่อน ส่งผลให้พี่ชายของเธอไม่พอใจอย่างมากจนมีเรื่องชกต่อยกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างเมอโซและมารีพัฒนาขึ้นเรื่อยมาพร้อมกับความสนิทสนมระหว่างเขาและเรมอนด์ ในวันหยุดพวกเขาจึงตัดสินใจไปทะเลเพื่อพักผ่อนที่บ้านเพื่อนของเรมอนด์ แต่วันดังกล่าวได้เปลี่ยนชีวิตของเมอโซไปตลอดกาล

พี่ชายของเมียเรมอนด์ได้นำพรรคพวกชาวอาหรับติดตามทั้ง 3 คนไปยังชายหาด ทำให้เกิดการปะทะระหว่างเรมอนด์ผู้มีอารมณ์รุนแรงกับกลุ่มเพื่อนของพี่เขยจนถูกมีดเฉือนเข้าที่แขนและปาก หลังทำแผลเสร็จเรมอนด์ถือปืนเดินกลับไปหากลุ่มอาหรับอีกครั้งพร้อมกับการติดตามของเมอโซ 

“ฉันจะยิงมันให้เกลี้ยงเลย”

“อย่าเลย สู้กันตัวต่อตัวดีกว่า เอาปืนมาให้ฉัน” 

ด้วยการที่รู้จักนิสัยเพื่อนเป็นอย่างดี เมอโซจึงห้ามปรามและนำปืนมาเก็บไว้ที่ตัวเอง การปะทะกันครั้งนั้นจบลงด้วยทั้งสองฝ่ายต่างเจ็บตัวแต่ไม่มีใครถึงขั้นเสียชีวิต

เวลาผ่านไปไม่นาน เมอโซออกไปเดินเล่นที่ชายหาดเพียงลำพังและเจอชายอาหรับอีกครั้ง อาจจะด้วยแดดแรงจ้า สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ด้วยร่างกายชุ่มเหงื่อ ทำให้เขามองเห็นแสงพระอาทิตย์สะท้อนกับใบมีดของชาวอาหรับ เมอโซจึงชักปืนออกมายิง 1 นัด และยิงซ้ำต่ออีก 4 นัด กระสุนทั้งหมดฝังเข้าร่างกาย เขาเปรียบว่าเสียงปืนทั้ง 4 นัดเหมือนเสียงเคาะประตูแห่งกรรมสั้นๆ 4 ครั้ง โดยที่เขาไม่มีเหตุผลอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

3

การพิพากษาเริ่มขึ้นแล้ว… 

แรกเริ่มการไต่สวนเป็นไปอย่างธรรมดาสามัญ เริ่มจากเรื่องราวชีวิต ประวัติส่วนตัว ตอนแรกเมอโซไม่คิดแม้แต่จะมีทนายด้วยซ้ำ แต่กฎหมายระบุไว้ว่าหากเขาไม่เลือกทนายเอง กฎหมายจะเป็นผู้เลือกทนายให้แทน

หลังจากที่เมอโซมีทนายประจำคดี ทนายแสดงความกังวลถึงเรื่องที่ลูกความของเขาไม่แสดงอาการทุกข์ร้อนในวันฝังศพแม่ 

“คุณคงเข้าใจนะว่าสิ่งนี้ออกจะตะขิดตะขวงใจอัยการ ผมต้องถามคุณเรื่องนี้ เพราะนี่สำคัญมาก เป็นข้อโจมตีใหญ่ของฝ่ายโจทก์”

ทนายอยากให้เมอโซตอบคำถามว่าวันนั้นเขามีความทุกข์ไหม?

เมอโซตอบกลับทนายว่า เป็นคำถามที่ยากจะตอบ แน่นอนว่าเขารักแม่มาก ทว่าไม่มีความหมายพิเศษอะไร เพราะมนุษย์ที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ย่อมคาดถึงการตายจากผู้ซึ่งเขารักไม่มากก็น้อย และอธิบายต่อว่าเขาเป็นคนที่ความต้องการทางร่างกายจะรบกวนความรู้สึกอยู่บ่อยๆ ในวันฝังศพเขาเหนื่อยมากและง่วงนอนจนไม่ได้ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่พูดได้เต็มปากคือ เขาปรารถนาให้แม่ยังมีชีวิตอยู่

“แค่นี้ยังไม่พอหรอก พอจะพูดได้ไหมว่าวันนั้นคุณสามารถฝืนความรู้สึกที่แท้จริงได้” ทนายถาม

“เปล่า ไม่เป็นความจริง” 

ความซื่อตรงต่อความคิดและความรู้สึกของเมอโซเสียดแทงความคาดหวังของสังคมเป็นอย่างมาก การพิพากษาคดีฆ่าคนตายกลับเต็มไปด้วยคำถามไถ่ว่าเมอโซรักแม่ไหม พร้อมกับเชิญพยานในงานศพมาให้การต่อศาล ผู้อำนวยการบ้านพักคนชรากล่าวว่า ค่อนข้างประหลาดใจที่เขาไม่แสดงความเศร้าเสียใจ ไม่ร่ำลาแม่ที่หน้าหลุมศพ และไม่รู้อายุของแม่

หลังจากนั้นพยานแวดล้อมต่างๆ ก็มาให้การเพิ่มเติมไม่ว่าที่งานศพเขาสูบบุหรี่หน้าศพแม่และดื่มกาแฟนม หลังงานศพเพียง 1 วัน เขาไปเที่ยวกับผู้หญิงและดูหนังตลก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สังคมมองว่าไม่ควรเกิดขึ้น เขาสงบจนเกินไป ทำตัวเป็นปกติมากเกินไป

“ในที่สุดผู้ต้องหาถูกกล่าวหาเรื่องฝังศพแม่ของเขา หรือเรื่องฆ่าคนตายกันแน่” ทนายของเขาเอ่ยถามอัยการ

“เห็นจะต้องเป็นคนเชื่องๆ ซื่อๆ อย่างทนายฝ่ายจำเลย จึงจะไม่รู้สึกว่ามีการเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้งระหว่างข้อเท็จจริงทั้งสอง เป็นการเกี่ยวข้องที่น่าสมเพชแต่สำคัญยิ่ง ใช่แล้ว ข้าพเจ้าขอกล่าวหาชายผู้นี้ว่าเขาได้ฝังศพแม่เขาด้วยจิตใจแห่งฆาตกร”

4

การพิพากษาครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของเมอโซ เขาเคยถูกพิพากษาจากสังคมบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งแม่ไปอยู่บ้านพักคนชราที่คนในสังคมมองว่าอกตัญญูทั้งที่แม่ก็เห็นดีเห็นงามด้วย รวมถึงอากัปกิริยาของเขาในงานศพแม่ซึ่งขัดกับมโนธรรมอันดีของมนุษย์ ขัดบรรทัดฐาน ขัดต่อความคาดหวังในสังคม 

แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่เคยขึ้นโรงขึ้นศาลสักครั้งในชีวิต แต่แน่นอนว่าข้าพเจ้าย่อมตกเป็นจำเลยสังคมและถูกพิพากษาไม่มากก็น้อยอยู่ดี

Fact Box

คนนอก (L'Étranger) ประพันธ์โดย อัลแบรต์ กามูส์ (Albert Camus) นักเขียนรางวัลโนเบลประจำปี 1975, แปลเป็นภาษาไทยโดย อำพรรณ โอตระกูล, สำนักพิมพ์ สามัญชน, จำนวน 160 หน้า, ราคา 175 บาท

Tags: , , , , , , , , , , ,