นานมาแล้วที่สังคมรับรู้ทั่วกันว่าโลกนี้มีแค่สองเพศ จนกระทั่งความเชื่อเดิมถูกท้าทายด้วยแนวคิด ‘Non-binary’ หรือการละทิ้งบรรทัดฐานทางเพศของสังคม
แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond The Gender Binary) ผลงานของ อลก เวด-เมนอน (Alok Vaid-Menon) ศิลปินชาวอินเดียน-อเมริกา ชวนถกเถียงว่าทำไมเราจึงควรก้าวข้ามกรอบ ‘เพศทวิลักษณ์’ (Gender binary) ที่กำหนดว่าโลกนี้มีเพศเพียงสองเพศ นั่นคือ ‘ชายจริง ‘และ ‘หญิงแท้’ เสียที
ความเป็นหญิงความเป็นชายไม่ได้สร้างปัญหาให้เฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ แต่ไปไกลถึงเรื่องการสร้างตัวตน เพราะหากคนๆ หนึ่งขยับออกจากเส้นที่ขีดไว้ไปเพียงนิดเดียว สังคมจะดึงให้เขากลับมาอยู่ในร่องในรอยด้วยการยกเรื่องเพศมาเป็นข้ออ้าง แม้ว่านั่นจะเป็นตัวตนที่เขามีความสุขกับมันก็ตาม
หนังสือเล่มนี้จึงคล้ายกับการตีแผ่ระบบอำนาจค้ำจุนที่อยู่ในรูปของ ‘เพศทวิลักษณ์’ ระบบที่ยืนหยัดผลิตสร้างความบาดหมางในการแบ่งพรรคแบ่งพวก แทนที่จะเชิดชูสรรเสริญความสร้างสรรค์และความหลากหลายในสังคม ทั้งที่ความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนสำคัญยิ่งของการธำรงอยู่ของมนุษย์ ฉกเช่นสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกใบนี้
จงเป็นตัวของตัวเอง แต่…
“ฉันได้เรียนรู้ว่า อย่างหนึ่งที่เอาเราได้ถึงตายไม่ใช่กำปั้น หากแต่คือสายตา สิ่งที่คนอื่นเห็นและวิธีการที่พวกเขามองเราทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของอำนาจ”
หนังสือเริ่มด้วยการเล่าชีวิตประจำวันของอลกที่เพียงหยิบกระโปรงใส่เดินออกจากบ้านก็ถูกสายตาหลายคู่จับจ้อง บางคนถึงขั้นตะโกนว่าด้วยถ้อยคำเหยียดยามราวกับเป็นเรื่องสนุก การเป็นตัวของตัวเองอย่างที่พวกเขาอยากเป็น ถูกคนอื่นๆ ทำลายความมั่นใจไปจนหมดสิ้น เพราะ ‘อำนาจ’ บางอย่างที่คนเหล่านั้นกุมเอาไว้
อลกเล่าย้อนไปชีวิตวัยเด็กของตัวเองที่เติบโตขึ้นในเมืองคอลเลจสเตชัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางผู้อพยพชาวอินเดียคนอื่นๆ ตอนเป็นเด็กไม่ว่าเขาจะทำอะไรผู้ใหญ่มักมองว่าน่ารัก ไร้เดียงสา โดยยังไม่ได้ยัดเยียดกรอบคิดเรื่องเพศแบบทวิลักษณ์ให้ เขาจึงสามารถสนุกสนานกับการหยิบเสื้อผ้าลายดอกสีสันสดใสฉูดฉาดของแม่และน้องสาวมาใส่ได้เต็มที่ และสามารถร้องเล่นเต้นรำทำเพลงโดยได้รับเสียงปรับมือชื่นชมจากคนในครอบครัว แต่เมื่อสิ่งนี้ออกจากบ้านไปสู่สังคมภายนอกกลับถูกหัวเราะเยาะด้วยเหตุผลว่า ‘เด็กผู้ชายเขาไม่ทำกันอย่างนั้น’
เมื่อโตขึ้นมาหน่อย การแหกบรรทัดฐานทางเพศของสังคมก็ถูกต่อว่าเป็นเรื่อง ‘ไร้สาระ’ หัดโตเป็นผู้ใหญ่เสียที การโตเป็นผู้ใหญ่ในที่นี้ก็คือการมีชีวิตตามเพศทวิลักษณ์
กว่าอลกจะมายืนอยู่ในจุดที่โอบรับความเป็นหญิงตัวเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ เขาใช้เวลา 15 ปี เผชิญการกดปราบจากคนรอบข้าง ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างหนักด้วยการทำตัวเป็นผู้ชายทั้งที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกคุกคาม แต่สิ่งเลวร้ายที่สุดในช่วงเวลานั้นกลับเป็นความจริงที่ว่าเขาไม่สามารถเล่าเหตุการณ์นี้ให้กับใครฟังได้เลย เหมือนเขาโดนบังคับให้ให้เลือกระหว่างความเกลียดชังตัวเองกับการต้องโดนคุกคามจากผู้คน
“ฉันไม่มีแม้แต่อภิสิทธิ์ของการได้ ‘เป็น’ ตัวของตัวเอง ทุกอย่างที่คนอื่นเห็นล้วนตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า ฉันกำลัง ‘ทำ’ หรือแสดงอะไรสักอย่างอยู่ตลอดเวลา ราวกับว่าเพศสภาพของฉันคือ สิ่งที่ไป ‘ทำ’ อะไรสักอย่างบนหัวพวกเขา ทั้งที่เรือนร่างและการแสดงออกต่างๆ คือตัวตนของฉัน ไม่ใช่ของใครอื่น ฉันก็เพียงแค่ ‘เป็น’ ตัวของตัวเองเท่านั้นเอง”
ต่อให้คุณจะบอกว่าตัวเองไม่ใช่ LGBTQ+ แต่หลายครั้งในชีวิตเราเองก็ต้องซ่อนตัวตนแท้จริงของตัวเองเอาไว้เพื่อหลบหลีกการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมเช่นกัน แม้จะหลบการคุมคามพ้น สุดท้ายคนที่เราทะเลาะด้วยกลับกลายมาเป็นตัวเราเอง
กรอบคิดทางเพศแบบทวิลักษณ์จึงไม่เพียงมอบอำนาจให้ผู้อื่นมองเราด้วยสายตาแยกเหยียด แต่เลวร้ายกว่านั้นมันทำให้เรามองตัวเองในกระจกด้วยความรู้สึกแปลกแยกไม่ต่างกัน
หญิงชายไม่ใช่ธรรมชาติกำหนด เหล่านั้นล้วนคือ ‘การเมือง’
เคยนึกสงสัยกันไหมว่าการแบ่งแยกเป็น ‘หญิง’ หรือ ‘ชาย’ มีที่มาที่ไปจากอะไร ‘ธรรมชาติ’ หรือ ‘การเมือง’
ช่วงครึ่งหลังของหนังสือ อลกขยับจากการเล่าประสบการณ์ส่วนตัวมาสู่การถกเถียงประเด็นทางสังคม ส่วนใหญ่เป็นการหยิบยกข้อกล่าวหาที่ผู้มีความลื่นไหลทางเพศต้องพบเจออยู่บ่อยๆ มาตอบโต้ผ่านการใช้ข้อมูลอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผล
ประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากของหนังสือเล่มนี้คือ การพาไปเข้าใจ ‘แนวคิดแบบสองเพศ’ ในฐานะชีวการเมือง (Biopolitics) ซึ่งเข้ามากำกับเรือนร่างและหน้าที่ของพลเมืองในสังคมยุโรป โดย มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucaul) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส พูดถึงชีวการเมืองเอาไว้ว่า เป็นเทคโนโลยีที่รัฐใช้แบ่งแยกหน้าที่ของประชากรให้สอดคล้องกับกลไกการทำงานของระบบทุนนิยมตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา หนึ่งในระบบที่สถาปนาขึ้นคือ ‘เพศทวิลักษณ์’ ที่ขีดเส้นแบ่งประชากรออกเป็นชายและหญิง รวมถึงจัดแจงรูปแบบหน้าที่และลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างสองเพศนี้ด้วย จากนั้นความคิดบนฐานของระบบสองเพศซึ่งได้รับการหนุนนำด้วยคิดจะศาสนาก็เริ่มแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผ่านการล่าอาณานิคม และลัทธิจักรวรรดินิยม
ทั้งที่แท้จริงแล้ว หลักฐานการมีอยู่ของผู้คนที่มีความลื่นไหลทางเพศในประวัติศาสตร์ มีตั้งแต่ชนพื้นเมืองอินเดียนอเมริกันสองวิญญาณ (Two spirit), บรรดาฮิจรา(Hijra) ในเอเชียใต้, วารียาในอินโดนีเซีย หรือชาวมูเฌย์ (Muxe) ในเม็กซิโก นั่นหมายความว่าวิถีชีวิตที่พ้นกรอบชายหญิงมีมายาวแล้ว แต่วัฒนธรรมทวิลักษณ์ตะวันตกเข้ามาขีดเส้นกลบทับอัตลักษณ์ของพวกเขาไปจนหมด จากนั้นก็ทำให้ดูเหมือนว่าตัวเลือกบนโลกนี้เหลืออยู่แค่ชายจริงไม่ก็หญิงแท้
สิ่งเหล่านี้อลกอธิบายว่าล้วนเกี่ยวข้องกับ ‘อำนาจ’ และอำนาจก็คือความสามารถในการยกระดับทัศนคติหรือมุมมองจำเพาะใดๆ ให้กลายเป็นสิ่งสากล โดยอำนาจนั้นจะกระทำการผ่านกระบวนการของการบังคับควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเพื่อให้อำนาจสามารถดำรงอยู่ได้ ฉะนั้น ข้อถกเถียงต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิเสธบรรทัดฐานทางเพศของสังคมจึงล้วนเกี่ยวข้องกับการรักษาไว้ซึ่งอำนาจและกลไกควบคุมพฤติกรรมบางอย่างนั่นเอง เหมือนคำปรามาสประเภท “ไอ้เรื่องนอนไบนารี่หรือความลื่นไหลทางเพศนี่ก็เป็นแค่กระแสชั่วคราวบนอินเทอร์เน็ตของเด็กยุคใหม่เท่านั้นแหละ ยังไงมนุษย์ก็มีแค่ 2 เพศ” หรือ “ทำไมเอะอะก็ต้องลากทุกอย่างเข้าเรื่องเพศด้วยเงียบๆ เดี๋ยวปัญหามันก็หายไปเองแหละน่า” ซึ่งทำให้เห็นว่าแม้สภาพสังคมไทยและสหรัฐฯ จะต่างกัน พอเป็นเรื่องเพศ คำปรามาสประเภทนี้ถูกผลิตซ้ำทุกหนแห่งบนโลก
ยังมีอีกหลายส่วนในหนังสือที่ชี้ให้เห็นกลไกของอำนาจที่ทำงานล้อไปกับทัศนคติของคนในสังคม และสะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว วิธีคิดแบบชายหญิงทำร้ายพวกเราทุกคน ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง
“เมื่อไร้ซึ่งเพศทวิลักษณ์เราก็สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระ ผละออกจากกรงขังของนิยามเกี่ยวกับความเป็นชายและความเป็นหญิง รวมถึงหลุดพ้นจากกรอบว่าผู้ชายหรือผู้หญิงควรมีลักษณะอย่างไร ถึงตอนนี้สิ่งที่หลงเหลืออยู่มีเพียงคำนิยามของตัวคุณเอง อันเป็นหนึ่งในคำนิยามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศอีกมากมายบนโลกใบนี้”
อาจถึงเวลาแล้วที่เราควรโอบรับเพศภาวะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ปล่อยให้มนุษย์เป็นตัวเองแบบที่อยากเป็นได้อย่างสร้างสรรค์
Fact Box
- Beyond the Gender Binary, ผู้เขียน Alok Vaid-Menon , ผู้แปล มุกดาภา ยั่งยืนภราดร , ออกแบบปก juli baker and summer , สำนักพิมพ์ซอย
- อลก เวด-เมนอน (Alok Vaid-Menon) เป็นนักเขียนและศิลปินสัญชาติอินเดียน-อเมริกัน ผู้ผลักดันความลื่นไหลทางเพศและทลายกรอบแนวคิดเรื่องเพศทวิลักษณ์ที่สังคมประกอบสร้างขึ้น อลกทำงานในพื้นที่ทางศิลปะที่หลากหลาย เช่น งานออกแบบเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ต่างๆ งานเดินแบบในนิวยอร์กแฟชั่นวีก (New York Fashion Week) รวมถึงเป็นศิลปินผู้เข้าร่วมการปาฐกถาในการประชุมระดับโลกของนิวยอร์กไทมส์ (NY Times Global Assembly) และงานประชุมเดอะบิสสิเนสออฟแฟชั่นวอยซ์ (The Business of Fashion Voices Conference) ในปี 2019
- หนังสือ Beyond the Gender Binary หรือชื่อไทยว่า แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน เป็นหนังสือเล่มแรกในซีรีส์ ‘Damned Be Patriachy! พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย’ ของสำนักพิมพ์ซอย