ที่ผ่านมาสื่อบันเทิงมักไม่ค่อยกล่าวถึงการปฏิวัติสยาม 2475 ในมิติอื่น นอกเหนือจากในเชิงประวัติศาสตร์กระแสหลัก ที่บอกเล่าถึงความชั่วร้ายของคณะปฏิวัติ โดยอาศัยวาทกรรม ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ อันว่าด้วยความไม่พร้อมของคนไทยกับประชาธิปไตย อีกทั้งในสื่อโดยมากก็มักจะอ้างอิงเรื่องราวผ่านบุคคลสำคัญของคณะปฏิวัติอย่าง ปรีดี พนมยงค์ หรือจอมพล แปลก พิบูลสงครามเท่านั้น
แต่จะเป็นอย่างไรหากตัวละครหลักในช่วงปฏิวัติสยามเป็นผู้หญิง และยังเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญที่หวังจะใช้ปากกาด้ามเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก
2475 นักเขียนผีแห่งสยาม Graphic Novel ผลงานการวาดจากนักเขียนการ์ตูนไทย ภูมิ-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ หรือ นามปากกา ‘สะอาด’ ที่เคยฝากผลงาน ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต, การศึกษาของกระป๋องมีฝัน และชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง ซึ่งในเรื่องนี้ธนิสร์และพชรกฤษณ์ โตอิ้ม ได้บอกเล่าเรื่องผ่าน ‘นิภา’ ที่เบื้องหน้าเธอคือนักพิสูจน์อักษรหญิง แต่หลังฉากเป็นนักเขียนผี (Ghost Writer) และเธอได้จับพลัดจับผลูเข้าไปมีส่วนพัวพันกับคณะปฏิวัติในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้คณะราษฎรจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้า ทว่ามีเพียงเหล่าคณะปฏิวัติชายเท่านั้นที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ ในขณะที่บทบาทของเพศหญิงไม่ได้ถูกสังเกตเห็น ทั้งในหน้าประวัติศาสตร์หรือแม้แต่สื่อใดเท่าไรนัก
ทำให้ 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม ก้าวข้ามขนบเดิม ด้วยการพาผู้อ่านโลดแล่นผ่านเรื่องแต่งอิงประวัติศาสตร์ โดยเลือกใช้ฉากหลังเป็นคณะราษฎร แต่เนื้อแท้กล่าวถึงการต่อสู้ของผู้หญิงธรรมดาในสังคม ดังนั้นความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือ การหยิบประวัติศาสตร์มาพลิกมุมเล่าว่า หากยุคสมัยการปฏิวัติขับเคลื่อนด้วยเพศหญิง จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ค่านิยมของความเป็นหญิงในช่วงยุคก่อนการปฏิวัติ
แม้ว่าในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้หญิงจะมีบทบาทมากขึ้น แต่พวกเธอก็ยังมีตัวตนเพียงฐานะภรรยา และถูกคาดหวังให้เป็นคู่คิดของสามีมากกว่าสถานะอันเป็นเอกเทศของตัวเอง เรื่องนี้ธนิสร์เคยเล่าว่า เขาพยายามค้นหาเรื่องราวของผู้หญิง ในแวดวงสื่อช่วงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งก็พบหลักฐานที่ไม่โดดเด่นแต่อย่างใด
แต่ในมุมของผู้เขียนกลับมองว่า การที่ธนิสร์พบเรื่องราวของผู้หญิงในวงการสื่อเพียงน้อยนิด ไม่ได้แปลว่าเรื่องราวของพวกเธอไม่สลักสำคัญอะไร แต่อาจเป็นเพราะผู้หญิงอาจไม่ถูกอนุญาตให้มีบทบาทเท่าไรนัก เช่นเดียวกับนิภาที่แม้ว่าเธอจะมีความสามารถมาก แต่ด้วยเพศสภาพ จึงทำให้สถานะของเธอเป็นได้เพียงนักเขียนผีดังที่ปรากฏภายในเรื่อง
ธนิสร์สะท้อนประเด็นดังกล่าว โดยยกคำกล่าวของบรรณาธิการสำนักพิมพ์บางกอกนิวส์ภายในเรื่องที่บอกไว้ว่า หากเขาบอกคนอื่นว่า คนแก้บทบรรณาธิการคือพิสูจน์อักษรหญิง เห็นทีทุกคนจะไม่เชื่อ หรือแม้กระทั่งในคำดูแคลนของหนึ่งในคณะปฏิวัติภายในเรื่องที่ว่า หากผู้หญิงทำการใหญ่ได้จริง โลกนี้คงไม่ได้มีแต่เพียงนักปฏิวัติชาย ทั้งที่ความเป็นจริงในอดีตอาจมีตัวละครอย่างนิภาเกิดขึ้น เพียงแต่พวกเขาจำต้องหลบอยู่ในฉากหลังของหน้าประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
เรื่องราวของผู้หญิงที่ ‘เพิ่ง’ ได้พูดถึง
ช่วงก่อน 2475 ผู้หญิงเริ่มได้รับการศึกษาจากการเรียนพยาบาลมากขึ้น แม้หลายคนจะไม่ได้มีความคิดอยากเป็นพยาบาล แต่สิ่งนี้เป็นทางเลือกเดียวที่จะทำให้ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาได้ เพราะค่านิยมที่มองว่า งานพยาบาลเป็นงานของผู้หญิงเท่านั้น เพราะมองว่ามีเพียงผู้หญิงที่จะทำงานละเอียดได้ดีกว่าผู้ชาย ซึ่งก็เป็นผลพวงของการวางหน้าที่ให้ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน แกะสลัก เย็บปักถักร้อย ตามคุณสมบัติกุลสตรี อันจะมีประโยชน์อะไรก็ไม่ทราบได้ นอกจากสร้างความพึงพอใจให้ผู้ชาย แต่จะเอาอะไรกับพวกคุณสมบัติกฎเกณฑ์ต่างๆ เพราะแม้แต่สุภาษิตสอนสตรี ผู้ชายก็ยังเป็นคนเขียนเสียเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้หญิงสามารถประกอบอาชีพได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้มีอำนาจทางการเงินพอจะสามารถซื้อของตามรสนิยมตัวเอง หนึ่งในนั้นคือหนังสือ ซึ่งทำให้พวกเธอมีอิสระทางความคิด อันก่อให้เกิดผู้หญิงสมัยใหม่ ที่หลุดออกจากรอบการเป็นผู้หญิงตามแบบจารีตเดิมๆ
ซึ่งหลักฐานช่วงก่อนปฏิวัติเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง ปรากฏผ่านนิตยสารเกี่ยวกับผู้หญิง เช่น สุภาพสตรีและหญิงสยาม ซึ่งเป็นการใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อสร้างพื้นที่ในการเรียกร้องความเท่าเทียมแก่สตรี
เพื่อบันทึกเรื่องราวของผู้หญิงลงไปในหน้าประวัติศาสตร์ ธนิสร์จึงหยิบเรื่องราวดังกล่าวมาบอกเล่าผ่านตัวละครนิภา ที่ทำงานภายในสำนักพิมพ์ ณ ช่วงเวลานั้น
และหากมองถึงบริบทของสังคมไทย ที่ขาดเรื่องราวของผู้หญิงในช่วงเวลานั้นจริงๆ การมีอยู่ของ 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม จึงเป็นสื่อบันเทิงที่ทำหน้าที่ในการสร้างภาพจำลองว่า หากจะมีการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของสตรีสมัยใหม่ในช่วง 2475 นั้น จะมีภาพร่างหรือหน้าตาเป็นเช่นไร
ทว่าถึงจะเป็นหนังสือที่ตัวละครหลักเป็นผู้หญิง แต่มิติเรื่องเพศของนิภาก็ยังมีน้ำหนักน้อยไปเมื่อเทียบกับยุคที่หญิงสมัยใหม่กำลังค่อยๆ เกิดขึ้นมา ดังนั้นหากเลือกเล่าเรื่องผ่านตัวละครหญิงในยุคชายเป็นใหญ่ ที่สิทธิเสรีภาพเรื่องเพศกำลังค่อยๆ ถูกพูดถึง การต่อสู้ในฐานะผู้หญิงจึงสำคัญตามไปด้วย แต่ในเรื่องนิภาไม่ได้แสดงออกในมุมนี้อย่างเด่นชัดเท่าไร ซึ่งหากหนังสือเล่มนี้ได้สอดแทรกประเด็นดังกล่าวลงไป ก็อาจช่วยขับให้นิภาเป็นตัวละครที่มีมิติอยู่ไม่น้อย เพราะเธอมีความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ในตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อีกทั้งยังช่วยให้หนังสือมีความเป็นสตรีนิยมประมาณหนึ่ง รวมถึงหากผู้เขียนได้เห็นนิภาตีฝีปากถกเถียงกับเหล่าเจ้าขุนมูลนายเรื่องเพศ ก็อาจเป็นความบันเทิง และความสาแก่ใจส่วนตัวของผู้เขียนไม่น้อย
ผู้หญิงกับการถูกจองจำทางความคิด
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจใน 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม คือการพูดถึงคอลัมน์ส่งเสริมสิทธิสตรีที่กลับยิ่งกดทับความเป็นหญิง ซึ่งธนิสร์ถ่ายทอดความย้อนแย้งได้ด้วยวิธีการอันแสบสัน อย่างการเล่าถึงนิภาที่ถูกสั่งให้เขียนคอลัมน์ส่งเสริมสิทธิสตรี ทว่ามันกลับเป็นเรื่องบทบาทของสาวชาววังภายในเรื่อง
ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เป็นกลุ่มผู้หญิงที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพมากที่สุด เพราะในแง่มุมหนึ่ง วังได้ตีกรอบและสร้างบรรทัดฐานของความเป็นหญิงเอาไว้ชัดเจน ทำให้หญิงที่อาศัยอยู่ภายในต้องถูกจำกัด และประพฤติตัวตามแบบแผนที่ถูกวางเอาไว้เท่านั้น จึงจะถือได้ว่ามีคุณค่าในตัวเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่ในยุคสมัยนั้นต่างคาดหวังให้ลูกหลานเข้าวัง เพื่อฝึกฝนวิชาการบ้านการเรือน อันจะเป็นทักษะให้หาสามีได้ ซึ่งปลายทางก็คือการตอบสนองความต้องการของผู้ชาย
อย่างไรก็ตามตัวละครสาวชาววัง กลับเป็นอีกหนึ่งในตัวละครที่ผู้เขียนรู้สึกชอบเป็นพิเศษ เพราะแม่พลอยสาวชาววังผู้รับหน้าที่ดูแลนิภาในวังแสงอักษร เป็นตัวละครที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอถูกภาพของแม่พลอย จากเรื่องสี่แผ่นดิน วรรณกรรมชื่อดังของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซ้อนทับอยู่จนแยกกันไม่ขาด ซึ่งทั้งแม่พลอยในสี่แผ่นดินหรือแม้แต่ในหนังสือเล่มนี้ ก็เป็นตัวแทนของความเชื่องต่อระบบ ไม่สงสัย ไม่ตั้งคำถาม ไม่เรียกร้องต่ออะไรทั้งสิ้น จะเกิดเรื่องอะไรขึ้นก็ไม่สน ขอรักชาติ และโอบกอดระบบศักดินาที่กำลังค่อยๆ ล่มสลายไปตามกาลเวลาอย่างเดียว
ความน่ากลัวของผู้ที่ถูกผลิตเป็นสาวชาววัง คือการที่พวกเธอเหล่านั้นถูกจองจำ ทั้งทางความคิดและตัวตน หนึ่งในฉากที่ตลกร้ายของเรื่องคือ ตอนที่สาวชาววังคนหนึ่งทำของตก เธอร้องไห้ อาจเพราะความกลัวที่จะถูกลงโทษ หรืออาจเป็นเหตุผลอื่นที่ไม่อาจทราบได้ แต่ความขำขื่นในตอนนี้คือแม่พลอยกล่าวกับนิภาว่า ที่สาวชาววังคนนั้นร้องไห้เป็นเพราะทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ สิ่งที่ตลกคือ แม่พลอยหายใจเข้าออกกลับมีแต่เรื่องของเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งนำมาสู่ความน่าสยดสยองที่ว่า นอกจากพวกเจ้านาย แม่พลอยก็ไม่ได้มองเห็นปัญหาความทุกข์ยากของคนอื่นเลย หากอิงจากวรรณกรรมสี่แผ่นดิน แม่พลอยในเรื่องเติบโตมาในวังตั้งแต่เด็ก ถูกกระบวนการล้างสมองครอบงำความคิดของเธออย่างสมบูรณ์แบบโดยที่เธอไม่รู้ตัว และหลงคิดว่าตัวเองมีอิสรภาพดีอยู่ในวังที่เนื้อแท้แล้ว แทบไม่ต่างจากสถานที่จองจำผู้คนอย่างคุกเท่าไรนัก
หากพิจารณาโดยรวมแล้ว 2475 นักเขียนผีแห่งสยามถือเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งวงการหนังสือ เพราะที่ผ่านมาน้อยครั้งที่สื่อจะเลือกหยิบยกประวัติศาสตร์ช่วงนี้ มาปรุงแต่งเป็นวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดี อีกทั้งวงการหนังสือการ์ตูนไทยก็ยังไม่ได้มีหนังสือเล่มไหน ที่จัดจ้านในด้านอุดมการณ์ทางการเมืองเท่าเล่มนี้
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหนังสือเล่มนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาท่ามกลางความเคลื่อนไหวช่วงปี 2563 ที่มีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมือง จึงทำให้บริบทในปัจจุบันถูกซ้อนทับลงไปในประวัติศาสตร์ช่วง 2475 ที่แม้จะล่วงเลยมาถึงเกือบหนึ่งศตวรรษ ก็ยังสร้างแรงกระเพื่อมทางความคิดต่อผู้อ่านได้
ซึ่งตัวละครหลักอย่างนิภาก็ยังถือเป็นตัวแทนของผู้หญิงสมัยใหม่ ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เป็นภาพแทนอันทำให้บทบาทของผู้หญิงที่ถูกมองข้ามในอดีต กลับมาโลดแล่นสู่สายตาคนในปัจจุบันผ่านงานเขียน
ในขณะเดียวกันการเลือกใช้ตัวละครผู้หญิง อันเป็นเพศที่ถูกหลงลืมในประวัติศาสตร์แห่งยุคการเปลี่ยนผ่านของสยาม เป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่อง เป็นการสร้างความแปลกใหม่ที่ผู้เขียนหวังว่าจะได้เห็นตัวละครอย่าง ‘นิภา’ มีพื้นที่ในสื่อบันเทิงจนกลายเป็นความปกติธรรมดาในอนาคต
อ้างอิง
ชานันท์ ยอดหงษ์ (2021). หลังบ้านคณะราษฎร: ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง. กรุงเทพฯ: มติชน.
Tags: ปฏิวัติ 2475, สะอาด, ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์, Lost in Thought, การ์ตูนไทย, 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม, 2475 Graphic Novel, ผู้หญิงใน 2475, นักเขียน, ปฏิวัติสยาม 2475, คณะราษฎร