1.
รอบปีที่ผ่านมา ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ หลายเล่ม จากหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ Moments of Silence ของ ธงชัย วินิจจะกูล ไม่ว่าจะ ‘จากคุกถึงคุก’ อัตชีวประวัติ และบันทึกขนาดย่อของ อารมณ์ พงศ์พงัน ผู้นำแรงงาน ที่โดนรัฐเหมาว่าเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ จนต้องติดคุกไปด้วย และต้องเสียชีวิตไปด้วยวัยเพียง 30 เศษๆ เพราะในคุกไม่สามารถรักษาพยาบาลได้ดีพอ กระทั่งถึงเล่มล่าสุด ‘เกิดเดือนตุลาฯ’ บันทึกของผู้นำนักศึกษา ศัตรูหมายเลข 1 ของรัฐในเวลานั้น ล้วนพากันเล่ามุมมองที่ต่างกันออกไป
เกิดเดือนตุลาฯ เป็นหนังสือเก่าเมื่อปี 2545 ตีพิมพ์ในช่วงที่สุธรรมเพิ่งพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย ก่อนจะปรับปรุงเล็กน้อย เพื่อพิมพ์ใหม่อีกรอบ เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้คนเริ่มกลับมาพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มากขึ้น และกลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง จากการเติบโตของกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย ของคนรุ่นใหม่ และคงเป็นด้วยเหตุบังเอิญ ตลอดสัปดาห์นี้ 6 ตุลาฯ ก็กลับมาอยู่ในกระแสหลักอีกครั้ง เมื่อ ทมยันตี คุณหญิง วิมล ศิริไพบูลย์ หนึ่งใน ‘ฝ่ายขวา’ คนสำคัญ เสียชีวิต ซึ่งก็พอดิบพอดี กับช่วงเวลาที่ผมหยิบเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน
คำถามสำคัญที่หลายคนอยากรู้ก็คือ เรื่องที่ ‘บ่มเพาะ’ ให้เกิดการสังหารหมู่ที่โหดเหี้ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และในฐานะเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้ซึ่งสามารถสั่งให้ ‘ยุติการชุมนุม’ ได้ ตั้งแต่คืนวันที่ 5 ตุลาคม ก่อนที่ลูกระเบิดเอ็ม79นัดแรก จะถูกยิงเข้าไปกลางสนามฟุตบอลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลายเรื่อง ก็ตรงกับเหตุการณ์วันนี้ อีก 45 ปีให้หลัง 6 ตุลาฯ อย่างน่าประหลาดใจ…
2.
หลังจาก จอมพล ถนอม กิตติขจร บวชเณรกลับมาจากสิงคโปร์ ในวันที่ 19 กันยายน 2519 ก็เริ่มมีปฏิกิริยาแปลกๆ ในเวลาต่อมา กลุ่มอันธพาลกวนเมืองเริ่มถูกจัดตั้งขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ผ่านการให้ท้ายของ ‘คนมีสี’ ที่พร้อมทุกเมื่อในการขว้างระเบิดใส่กลุ่มนักศึกษา ที่เวลานั้น ขบวนการเริ่มใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จากการชุมนุมต่อต้านพระถนอม
บังเอิญว่าเวลานั้น รัฐบาล หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช เริ่มไม่เป็นที่พอใจของกองทัพ บังเอิญว่าเวลานั้น ภายในรัฐบาลเริ่มมีความขัดแย้งอย่างรุนแรง ระหว่างฝ่ายซ้าย กับฝ่ายขวา ในคณะรัฐมนตรี
สุธรรมบอกว่า 2 เดือน ก่อนจะเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เขาและผู้นำนักศึกษาคนอื่นๆ ได้รับการติดต่อจาก ‘ผู้หวังดี’ ให้เดินทางไปต่างประเทศ โดยพร้อมให้การสนับสนุนด้านเงินทอง ตลอดจนที่อยู่อาศัย ภายใต้เงื่อนไขเดียว คือไม่ให้ต่อต้านการ ‘รัฐประหาร’ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่เมื่อเขาและเพื่อนเลือกที่จะไม่ไป ก็ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องมี ‘เงื่อนไข’ บางอย่างที่นำไปสู่การรัฐประหาร เงื่อนไขบางอย่าง ที่ทำให้เกิดการยั่วยุ เกิดความรุนแรง และทำให้เห็นว่ารัฐบาลคุมไม่อยู่
23 กันยายน 2519 จึงเกิดเหตุการณ์แขวนคอ 2 ช่างไฟฟ้าที่จังหวัดนครปฐม เชือดไก่ให้ลิงดูว่า หากยังต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม จะเผชิญกับชะตากรรมอย่างไร
แต่ในเมื่อ 1 สัปดาห์หลังจากนั้น การชุมนุมยังดำเนินต่อไป กลุ่มอันธพาลเริ่มรุนแรงมากขึ้น วิทยุยานเกราะ และ ‘ฝ่ายขวา’ เริ่มโหมกระหน่ำเรื่องคอมมิวนิสต์รุนแรงขึ้น ชะตากรรมต่อมาก็หลีกเลี่ยงไม่ได้
3.
“ผู้ชุมนุมในหลายเรื่องหลายกรณีถูกอันธพาลกวนเมืองขว้างระเบิดใส่หลายครั้งหลายหนจนบาดเจ็บเสียชีวิตไปนับสิบนับร้อยคน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถทำอะไรพวกนี้ได้ แม้ว่าบางครั้งเหตุเกิดจากกรมตำรวจไม่เกิน 200 เมตร หลายครั้งมีการกระทำผิดซึ่งหน้า หรือต่อหน้าต่อตา เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่กล้าจับกุม บ้านเมืองตอนนั้นไม่มีขื่อไม่มีแปเสียแล้ว”
ตัดภาพมาที่คืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 1 วันก่อนหน้าการล้อมปราบ ภาพของการ ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้กลุ่มอันธพาลเกิดความฮึกเหิม ในการจัดการนักศึกษาที่อยู่ในธรรมศาสตร์ สุธรรมยอมรับผ่านหนังสือว่าทำได้ดีที่สุดคือการชี้แจง และพบประชาชน ผ่าน ‘สื่อมวลชน’ ในคืนวันที่ 5 ตุลาคม และยังหวังว่า นายกฯ หม่อมเสนีย์ ซึ่งก็ประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่ในเวลาใกล้เคียงกัน จะส่งคนเข้ามาช่วยคุ้มครองความปลอดภัยให้กับนักศึกษา
แต่สุธรรมคิดผิด คืนเดียวกันนั้น เสียงเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ และเสียงปืน จากฝั่งสนามหลวงกลับดังขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าอย่างไร อันธพาลเหล่านี้ก็บุกเข้ามาในมหาวิทยาลัยแน่ๆ… และเช้าวันนั้น ทุกอย่างที่เหลือ ก็กลายเป็นเรื่องในประวัติศาสตร์ ที่ไม่มีใครอยากจำเท่าไรนัก
4.
เรื่องที่ผู้สนใจ 6 ตุลาฯ รู้กันดีก็คือ สุธรรมนั้น อยู่ไม่ถึงช่วงเวลาจบเหตุการณ์ภายในมหาวิทยาลัย หากแต่ตัวเขา ถูกจับนอกมหาวิทยาลัย ระหว่างที่ไปพบ นายกฯ เสนีย์ ในฐานะตัวแทนนักศึกษา เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีหยุดการล้อมปราบ แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้ก็คือ รถคันนั้น แล่นไปถึงบ้านของ ‘หม่อมเสนีย์’ แล้ว ไม่ได้เปลี่ยนจุดหมายปลายทาง ส่งทุกคนเข้าเรือนจำทันที
แน่นอน หากอ่านบันทึกของ พระสุรินทร์ มาศดิตถ์ เขียนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็จะเป็นอีกเรื่อง เช้าวันนั้น นายกฯ ไม่ได้อยู่ในบ้านพักที่ซอยเอกมัย แต่อยู่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล กระนั้นเอง สุธรรมก็เล่าผ่านหนังสือว่าต้องใช้เวลาติดต่อนานเกิน 2 ชั่วโมง กว่าจะได้ขึ้นรถที่นายกรัฐมนตรีส่งมารับเขา และกลุ่มที่แสดงละคร ที่โดนข้อหาหมื่นฯ ทั้งหมด
ในมหาวิทยาลัย เหลือแกนนำหลัก 3 คน ชื่อว่า ชวลิต วินิจจะกูล ธงชัย วินิจจะกูล และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คอยคุมเวที ซึ่งสุดท้าย ทั้ง 3 คน ก็ถูกจับกุมทั้งหมดในเวลาต่อมา
ตัดกลับมาที่รถของสุธรรม เมื่อเปิดประตูเข้าบ้านพักนายกฯ แล้ว และทั้ง 6 คน เดินลงจากรถแล้ว แต่กลับถูก “ซ้อนแผน” ด้วยการบอกให้เปลี่ยนเส้นทางไปพบกับ พลตำรวจเอก ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจ แทน และเขาก็ยอมพบแต่โดยดี เพื่อหวังว่าอย่างน้อย ตำรวจก็อาจหยุดเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ หรือตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการล้อมปราบได้
ทว่า สุธรรมกลับคิดผิด อธิบดีกรมตำรวจจับพวกเขาด้วยข้อหาหนักทุกข้อทันที และไม่ได้ออกจากคุกอีกเลย จนกว่าจะอีก 2 ปี ถัดมา
5.
ครึ่งหลังของหนังสือ เล่าเรื่องใน ‘เรือนจำบางขวาง’ สถานที่คุมขังนักศึกษา จำเลยคดี 6 ตุลาฯ ไว้ ที่น่าสนใจก็คือการจับกุม ‘กบฏ 26 มีนาคม 2520’ หรือ ‘กบฏนายทหารนอกราชการ’ ซึ่งนำโดย พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ ไว้รวมกลุ่มกับนักศึกษาคดี 6 ตุลาฯ ด้วย
กบฏครั้งนี้ มีความน่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ มีการ ‘หักหลัง’ กันเอง ระหว่างคนในกองทัพ พลเอกฉลาดนั้นใช้อาวุธปืนยิงพลตรี อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 เสียชีวิต ระหว่างที่พลตรีอรุณพยายามเข้าแย่งปืน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งทำให้การก่อรัฐประหารครั้งนี้พ่ายแพ้
หลังจากนั้น พลเอกฉลาดเจรจากับรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร พยายามขอลี้ภัย ไปยังไต้หวัน ซึ่งธานินทร์รับปากว่าจะดูแลให้ แต่ผลสุดท้าย รัฐบาลกลับจับกุมผู้ก่อการทั้งหมดบนเครื่องบิน และส่งไปคุมขังทันที
“แกนนำหรือผู้นำอย่างลูกๆ ลุงจะเอามาร่วมทำงานใกล้ชิด ใกล้ตัว ให้เป็นที่ปรึกษาคอยแนะนำติติงอะไรๆ ที่ลุงอาจจะทำไม่เข้าท่า หรือไม่ลุงก็จะส่งไปเรียนเมืองนอกทั้งหมด ให้เอาวิชาความรู้มาพัฒนาประเทศ
“ถ้าลุงได้เป็นรัฐบาลฯ ลุงจะทูลเกล้า ถวายตำแหน่งให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นเจ้ากรมรักษาดินแดน เพื่อให้มีโอกาสใกล้ชิดนักศึกษามากยิ่งขึ้น – ปัญหาเหล่านี้แก้ไม่ยากหรอกลูก” พลเอกฉลาดพูดคุยกับสุธรรม ในคุก
นายพลนอกราชการ ยังยืนยันด้วยว่า เหตุที่ยิงพลตรีอรุณนั้น เป็นการป้องกันตัว ระหว่างถกเถียงกันเรื่อง ‘นายกฯ’ ที่จะมาเป็นแทนธานินทร์ โดยฝ่ายหนึ่ง จะเอา หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช และอีกฝ่ายหนึ่งเลือก ประภาสน์ อวยชัย เมื่อเถียงกันไม่ได้ ก็เลยมีทีท่าไม่ดี พลเอกฉลาดเลยใช้ปืนยิงพลตรีอรุณเสียชีวิต…
หลังจากนั้น สุธรรม ก็บรรยายฉากการประหารชีวิตพลเอกไว้อย่างน่าสนใจ วันที่ 21 เมษายน 2520 ข่าวปล่อยเข้ามาสู่ ‘แดนพิเศษ’ มากมาย บ้างก็ว่า นายกฯ ธานินทร์ จะเข้าเยี่ยม บ้างก็ว่า ผู้ใหญ่ในกรมราชทัณฑ์มาเยี่ยม แต่สุดท้าย กลับมีคำบรรยายเดียวจากผู้บัญชาการเรือนจำ คือให้ญาติพลเอกฉลาดเข้าพบได้ และวันนี้ พลเอกฉลาดจะได้รับประทานอาหารมากกว่าปกติ
แต่นั่นกลายเป็นมื้อสุดท้ายของพลเอกฉลาด หลังจากนั้นไม่นาน การพบญาติ คือการ ‘ยิงเป้า’ ประหารชีวิตพลเอกฉลาด เป็นการใช้อำนาจตามคำสั่งนายกฯ ธานินทร์ ตามมาตรา 21 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
และเป็นการยิงเป้า ทั้งที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม ยังไม่มีการไต่สวน ยังไม่มีการพิจารณาคดี แต่ก็เลือกที่จะใช้วิธีประหารชีวิต
ทหาร ‘หักหลัง’ กันแรงจริงๆ
6.
บทสรุปของ ‘เกิดเดือนตุลาฯ’ ยังไม่มีท่อนจบที่ชัดเจนนัก ส่วนหนึ่ง เพราะผู้ที่ก่อเหตุทั้งหมดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ไม่มีใครต้องรับโทษแม้แต่คนเดียว จากกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมาภายหลัง
เช่นเดียวกัน อำนาจรัฐตลอด 45 ปี หลัง 6 ตุลาฯ ก็ยังกระทำกับประชาชนอย่างรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่ไม่มีใครต้องรับผิด คนเดือนตุลาฯ ที่สู้มาแล้ว 40 กว่าปี จนถึงวันนี้ ก็ยังต้องสู้อยู่ต่อไป ด้วยความหวังว่าสักวัน จะต้องเปลี่ยนแปลงสังคม อยากเห็นบ้านเมืองที่ดีงาม แบบที่ใฝ่ฝันให้ได้
ส่วนคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ก็คือ ไม่รู้ต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน ต้องใช้อีกกว่า 40 ปี หรือต้องใช้เวลาอีกชั่วอายุคน ถึงจะได้เห็นวันนั้น…
“อยากให้ทุกคนทุกฝ่าย รำลึกไว้เสมอว่า
ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้
และมนุษยชาติใช่หมายถึงควายวัว จะกั้นรั้วรอนสิทธิทุกทิศทาง
สรรพสิ่ง เมื่อมีจุดเริ่มต้น ก็ย่อมต้องมีจุดจบเป็นธรรมดาสากลโลก”
สุธรรมบันทึกไว้ตอนท้ายเล่ม
Fact Box
เกิดเดือนตุลา, เขียน: สุธรรม แสงประทุม, สำนักพิมพ์แสงดาว, จำนวน 253 หน้า, ราคา 250 บาท