ถ้าอยากรู้ว่าพื้นที่หนึ่งๆ มีขนาดเท่าไร มีสภาพอย่างไร ทั้งเพื่อคำนวณแผนการทำเกษตรกรรม หรือจัดการงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องพื้นที่ แต่ก่อนเราอาจต้องวิ่งเร่ไปถามหากรมที่ดิน ซื้อ GPS ราคาแพง หรือค้นข้อมูลดาวเทียมซึ่งยังค้นหายากและไม่ได้มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่สะดวกนัก แต่ล่าสุด มีแอปพลิเคชั่น LING หรือ ลิง ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น

“แอปลิงเป็นแอปสำหรับวัดขนาดพื้นที่ เช่นเวลาที่เกษตรกรจะจ้างคนไถคนหว่าน แอปนี้ก็เป็นเหมือนเครื่องคิดเลขว่าขนาดพื้นที่มีเท่าไร ถ้าจะจ้างคนมาเกี่ยวข้าว” โจ—นำพล เลปวิทย์ ซีอีโอของแอปพลิเคชั่นลิง เล่าถึงฟังก์ชั่นพื้นฐานของแอปพลิเคชั่นที่เขาค่อยๆ พัฒนามาตั้งแต่ปี 2017

“ข้อมูลน้ำท่วม ประเภทคุณภาพของดิน ภูมิอากาศ หรือปริมาณการผลิต ข้อมูลพวกนี้อยู่ในภาครัฐมานานแล้ว แต่มันไม่มีช่องที่ไปสู่คนเป็นล้านคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเกษตร” นำพลจึงลองพัฒนานวัตกรรมที่แปลงข้อมูลให้ใช้ประโยชน์ได้ง่าย

 

ชิมลางมาเยอะ ก่อนจะพัฒนาเป็นแอปลิง

หากย้อนไปที่จุดเริ่มต้น นำพลเล่าถึงที่มาที่ทำให้พัฒนาแอปลิงขึ้นมาว่า เป็นเพราะเขาเคยรับงานทำซอฟต์แวร์ สร้างแอปพลิเคชั่นให้หน่วยงานรัฐมากมาย และเห็นปัญหาว่า ภาครัฐลงทุนกับแอปพลิเคชั่นไปมาก แต่ด้วยข้อจำกัดของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ไม่สามารถใช้เทคนิคใหม่ๆ หรือพัฒนาการออกแบบที่คำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้ (User Experience Design)

ก่อนหน้านี้นำพลเคยทำแอปพลิเคชั่นมา 4-5 ตัวแล้ว ซึ่งล้วนใช้ข้อมูลแผนที่เป็นหลัก (map base applications) โดยเขาบอกกับตัวเองว่า นอกเหนือไปจากการสร้างแอปที่ขับเคลื่อนนำร่องไปโดยการประมูลงานภาครัฐแล้ว เขามีภารกิจในใจว่าอยากจะแอปที่ตอบโจทย์ตลาด มีฟังก์ชั่นที่ประชาชนต้องการด้วย

เขาเคยทำแอปชื่อ Pop Pie สำหรับคำนวณจำนวนประชากรในทำเลต่างๆ หรือพูดง่ายๆ คือเอาไว้ดูทราฟฟิกจำนวนคน เช่นหากอยากจะตั้งร้านกาแฟบนทำเลหนึ่งๆ ก็สามารถเข้าไปดูได้ว่า มีประชากรละแวกนั้นผ่านไปมาจำนวนเท่าไร ขนาดของตลาดเป็นอย่างไร เพื่อให้ประโยชน์ในการเลือกโลเคชั่นที่เหมาะสมกับธุรกิจ หรืออีกแอปพลิเคชั่นหนึ่งที่ชื่อ Buffer เอาไว้ใช้วางแผนพื้นที่โฆษณาแบบเอาท์ดอร์ที่จะให้ข้อมูลว่า หากจะมีป้ายโฆษณาบิลบอร์ดขนาดใหญ่ วางตรงไหนจะผ่านสายตาผู้คนได้มากน้อยเพียงใด

และมาถึงแอป ‘ลิง’ ซึ่งก็เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำงานกับแผนที่ โดยถือเป็นแอปพลิเคชั่นที่ใช้ง่าย มียอดผู้ใช้สูงสุดในบรรดาแอปพลิเคชั่นที่เขาชิมลางมา

“เรามีหน้าที่สร้างเทคโนโลยีอยู่ข้างหลัง แล้วเคลือบด้วยดีไซน์ในการใช้งานที่ง่าย” นำพลเล่าถึงสิ่งที่แอปลิงทำขึ้น

แอปพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้

นำพลบอกเหตุผลที่ตั้งชื่อแอปว่า ‘ลิง’ นั่นเพราะเขาอยากเน้นการใช้แอปนี้ในภาคเกษตร และต้องการให้ชื่อจำง่าย  

“เราเอาชื่อที่มันจำง่าย แล้วมีความรู้สึกเหมือนมันเป็นผู้ช่วยมนุษย์ และก็ฉลาดพอสมควร ซึ่งลิงเป็นแบบนั้น ก็เลยตั้งชื่อว่า ‘ลิง’” นำพลกล่าว

ข้อมูลดิบที่ใช้นำมาจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่มีฐานข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่น กรมชลประทาน ด้วยเทคโนโลยี GIS (Geographic Information System) การเชื่อมข้อมูลที่ภาครัฐมี ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลภัยธรรมชาติ เช่นกรณีน้ำท่วมและภัยแล้งในหลากหลายจังหวัดได้

แอปลิงคำนึงถึงการใช้งานที่แตกต่าง เช่น การใช้ที่ดินในเขตเมือง (urban) การใช้ที่ดินนอกเขตเมือง (rural) และพื้นที่ธรรมชาติ (natural resource) ฟังก์ชั่นพื้นฐานว่าด้วยการวัดพื้นที่แบบนี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้หลากหลาย ตั้งแต่ดูข้อมูลการบุกรุกพื้นที่ วัดพื้นที่เมื่ออยากจะซื้อขาย จนถึงวัดพื้นที่แบ่งมรดก

“เราไม่ได้ดีไซน์แอปไปช่วยเรื่องการปลูกมันสำปะหลัง เราไม่ใช่แอปที่ไปช่วยเรื่องอุตสาหกรรมไข่นกกระทา เราไม่ได้ไปทำอย่างนั้น มันเป็นแพลตฟอร์มที่เปิด เป็น Universal Design แต่มันขึ้นอยู่กับคุณว่าเข้าไปลองใช้แล้วได้ผลอะไร” นำพลกล่าว

นอกจากนี้ แอปลิงยังค่อยๆ เสริมด้วยข้อมูลที่ทันสมัย ผนวกข้อมูลแผ่นที่กับภาพถ่ายที่ได้จากการถ่ายโดรน เพื่อให้เห็นสภาพของสถานที่ทางกายภาพตามจริงด้วย โดยค่อยๆ สะสมภาพตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง

“เกษตรกรที่กำลังจะซื้อขายที่ และกลุ่มที่จะเริ่มพัฒนาทำคันกั้นน้ำ จะขุดบ่อโดยให้ผู้รับเหมาเริ่มมาพัฒนาปรับปรุงที่ จะคำนวณว่าจะถมเท่าไร เมื่อเขาอยากเห็นภาพปัจจุบัน เช่นถ้าจะสร้างประตูน้ำแล้วอยากรู้ว่าจะวางระบบน้ำอย่างไร เราก็ไปบินโดรนถ่ายภาพมา”

ด้วยเหตุนี้ แอปลิงจึงมีฟังก์ชั่นหลากหลาย ตั้งแต่การช่วยวางแผนการผลิตแบบง่ายๆ ให้เกษตรกรรายย่อย ทำให้เกษตรกรสร้างข้อมูลเอาไว้ใช้เองได้อย่างง่ายๆ ว่าแปลงงานของตัวเองอยู่ตรงไหน จะวางแผนจัดการพื้นที่อยากไร และอีกส่วนหนึ่งคือ มีฟังก์ชั่นที่รองรับการบันทึกและแชร์ข้อมูลของเกษตรกร ว่าปลูกสิ่งใดจำนวนเท่าไร และจะตั้งราคาขายเท่าใด เผื่อให้ชุมชนสามารถมาคุยแลกข้อมูลกันได้

ทำอย่างไรให้คนใช้งานเยอะๆ และอยู่ได้อย่างยั่งยืน

จากสถิติการใช้งานของแอปลิง ทุกวันนี้มีผู้ใช้แอปเฉลี่ยสองแสนรายต่อเดือน ความท้าทายของนำพลคือ จะทำอย่างไรให้คนใช้งานมากขึ้น ซึ่งนอกจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแล้ว เขาต้องหันมาคิดเรื่องความต้องการของผู้ใช้ให้มากขึ้นกว่าเดิม

นับแต่ลิงเริ่มต้นเปิดบริการนี้มาเมื่อสองปีก่อน มีคนดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นนี้แล้วถึง 1.4 ล้านครั้ง และเมื่อเขาเข้าร่วมโครงการของดีแทคแอคเซอเลอเรท ก็ทำให้มีคนรู้จักและใช้งานแอปมากขึ้น ทุกวันนี้เฉลี่ยต่อเดือนมีผู้ใช้งานราวสองแสนคน และเฉลี่ยเวลาที่ใช้งานแต่ละครั้งอยู่ที่ราวห้านาที

“เราได้ attention ห้านาทีจากคนสองแสนคน ในแง่ของการตลาดและการโฆษณา  มันเอาไปทำอะไรได้นะ คนที่ใช้เวลาห้านาทีกับแอปที่เกี่ยวกับที่ดิน มันก็มีศักยภาพด้านธุรกิจอยู่เหมือนกัน” 

นำพลกล่าวถึงทิศทางว่า ช่องทางทำรายได้ตอนนี้ คงเป็นโมเดลการหาโฆษณาไปก่อน เขามองว่า เทคโนโลยีแบบ GIS มีประโยชน์มาก แต่ยังต้องการดึงดูดให้คนมาใช้งานและใส่ข้อมูลเข้ามาในระบบ และเชื่อว่า ถ้ายิ่งทำให้สาธารณะเข้าถึงได้ง่าย ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้การพัฒนาแอปพลิเคชั่นได้ด้วยเช่นกัน

 

Fact Box

แอปพลิเคชั่นลิง (LING) เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2017 โดยได้ทุนตั้งต้นจาก Siam Innovation District ภายใต้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ TED Fund ก่อนจะเข้าร่วมโครงการดีแทคแอคเซอเลอเรท (dtac Accelerate) และได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสี่ทีมงานที่ได้รางวัล Best Performing Startup ของ Batch 7

Tags: , , , ,