มีสตาร์ตอัพหลายรายที่ไปต่อไม่ได้เพราะ pre-mature scaling หรือโตเร็วเกินไป
หลังจากมีโอกาสรับฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ก่อตั้งและซีอีโอสองท่านในโครงการ Career Launcher โดย Careervisa Thailand ผู้เขียนก็เห็นภาพชัดเจนขึ้นมาก
ท่านแรกคือ คุณต่อ-ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท กล่องดินสอ จำกัด
เมื่อไม่กี่ปีก่อน คุณต่อเห็นว่าผู้หญิงหลายคนรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะนั่งแท็กซี่ที่มีผู้ชายเป็นคนขับ จึงเริ่มสตาร์ตอัพให้บริการรถแท็กซี่ที่มีผู้หญิงเป็นคนขับ
“ผมเริ่มธุรกิจแรกคือ Lady Taxi เป็นแท็กซี่ของผู้หญิง เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ตอนนั้น Grab ยังไม่เข้ามา วันหนึ่ง ผมไปกินข้าวกับเพื่อน ตอนกลับก็แยกย้ายกันกลับ มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นผู้หญิง บ้านอยู่ไกลมาก ไม่มีใครไปส่ง พอนั่งแท็กซี่กลับ เราก็เป็นห่วง แท็กซี่ทะเบียนอะไร ก็โทร.ถามตลอดว่าเป็นยังไง พอผมกลับถึงบ้านก็เปิดทีวี เจอแท็กซี่ที่รับส่งสุนัขและสัตว์เลี้ยง ก็เลยคิดว่าถ้าแท็กซี่รับส่งสัตว์เลี้ยงได้ ทำไมแท็กซี่จะรับส่งผู้หญิงไม่ได้ เป็นแท็กซี่ที่รับเฉพาะผู้หญิง ผมก็เลยรู้สึกว่ามี niche market อยู่ตรงนี้”
หลังจากนั้น คุณต่อจึงติดต่อกับอู่แท็กซี่ โดยเสนอว่าจะเก็บเงินเพิ่มขึ้นจาก 30 บาทเป็น 50 บาท แล้วแบ่งรายได้กับอู่
เมื่ออู่สนใจ จึงตกลงกันว่าจะเริ่มต้นด้วยแท็กซี่ 7 คัน
3 เดือนต่อมา ช่อง 3 ก็ติดต่อให้ไปออกรายการ ผู้หญิงถึงผู้หญิง ซึ่งเขาตอบตกลง
“วันนั้นเป็นวันที่ตัดสินใจผิดพลาดมาก เพราะพอออกรายการ หลังจากคุณกาละแมร์บอกว่าจดไว้เลยนะคะเบอร์นี้ เท่านั้นแหละครับ มีคนโทร.เข้ามาตลอด จนผมต้องถอดแบตฯ มือถือออก คือมันเยอะมากๆ แล้วเรามีรถแค่ 7 คัน คนโทร.มาเรียก ไม่มีรถ รถเต็ม คนโทร.มาเรียกอีก ไม่มีรถ รถเต็ม เขาก็ไม่โทร.มาแล้วครับ เพราะแบรนด์ของคุณมันเสียไปแล้ว
“เรารู้สึกว่าเรายังไม่พร้อม เราโตเร็วเกินไป เรายังไม่มีระบบหลังบ้าน แล้วลูกค้าก็เต็มไปหมดเลย เมื่อเราไม่พร้อม เราก็เลยปิด อยู่ดีๆ ก็ปิดเลย ผมก็บอกว่าผมเลิกแล้ว”
หลังจากนั้นคุณต่อก็ตระหนักได้ว่าตัวเองไม่มี passion เกี่ยวกับแท็กซี่ ถึงแม้จะเป็นคนคิดไอเดียธุรกิจตั้งแต่ต้น และดูจะไปได้สวยก็ตาม
“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าไม่อยากตื่นเช้ามาทำ เคยเป็นไหม มี mentor คนหนึ่งบอกผมว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของการเป็น entrepreneur คือการทำสิ่งที่ไม่อยากทำ เพราะการเริ่มอะไรก็ตาม คุณต้องอยู่กับมันอย่างน้อยห้าปี กว่ามันจะอยู่ตัว แล้วคุณหาคนมาทำแทนได้ ห้าปีในชีวิตมันสำคัญมากๆ ดังนั้น ถ้าคุณเริ่มทำอะไรแล้วรู้สึกไม่อยากอยู่กับมันไปห้าปี คุณเลิกทำเถอะ”
หลังจากนั้นคุณต่อจึงผันตัวมาช่วยเหลือคนพิการผ่านการก่อตั้งบริษัท กล่องดินสอ จำกัด ในรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคมจวบจนปัจจุบัน
“ห้าปีในชีวิตมันสำคัญมากๆ ดังนั้น
ถ้าคุณเริ่มทำอะไรแล้วรู้สึกไม่อยากอยู่กับมันไปห้าปี คุณเลิกทำเถอะ”
ท่านที่สองคือ คุณเบล-พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟรชเก็ต (Freshket) ตลาดออนไลน์สำหรับร้านอาหารและซัพพลายเออร์ของสดแห่งแรกในประเทศไทย
คุณเบลเล่าว่าก่อนจะมาทำเฟรชเก็ต เคยทำสตาร์ตอัพอีกบริษัทมาก่อน โดยได้รับเงินจากนักลงทุนจีนถึง 10 ล้านบาท
“ด้วยความที่มี mindset มี background การทำงานแบบ traditional business มาโดยตลอด เราเลยไม่เข้าใจวิถีการเดินแบบสตาร์ตอัพ ดังนั้น เราก็เลยใช้เงินเหมือน corporate เริ่มจากออฟฟิศสวยๆ รู้สึกว่าความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องจำเป็น จ้างพนักงานให้ครบ ดำเนินงานแล้วจะได้ไม่มีปัญหาตั้งแต่แรก
“mindset ไม่ได้ผิด แต่มันไม่ใช่วิถีของสตาร์ตอัพ อย่างการใช้เงินจ้าง outsource ต่างๆ เช่น จ้างเอเจนซี่โฆษณา การทำผลิตภัณฑ์ที่จะต้องดีและสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก เลยจ้างคนออกแบบ UX (user experience) จากอเมริกา”
ผลปรากฏว่าเงินลงทุน 10 ล้านบาท หายไปภายใน 6 เดือน หลังจากทดสอบผลิตภัณฑ์ได้เพียงเดือนเดียว
คุณเบลเล่าว่าตอนไป Google Launchpad ที่สหรัฐอเมริกา เป็นช่วงที่ได้ทำความเข้าใจเรื่อง lean startup อย่างถ่องแท้ ลีนสตาร์ตอัพคือการทดลองไปเรื่อยๆ เวลาคิดจะทำแอปฯ ยังไม่ต้องเขียนแอปฯ เริ่มจาก landing page ก่อนก็ได้ (สร้างเว็บเพจง่ายๆ ที่มีแบบฟอร์มให้ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์กรอกข้อมูล) เพื่อทดลองว่าไอเดียจะเวิร์กหรือไม่ และยังไม่ต้องลงทุนมากมายตั้งแต่แรก ขณะเดียวกันก็ต้องมี key metrics กล่าวคือ เวลาทำการทดลองต้องกำหนดตัวชี้วัดเพื่อบอกได้ว่าอะไรเวิร์ก อะไรไม่เวิร์ก เช่น จำนวนคนที่เข้ามาใน landing page ภายในระยะเวลาที่กำหนด และต้องใช้หลักการ build, measure, and learn ซึ่งก็คือการสร้าง วัดผล และเรียนรู้จากผลที่ได้ เพื่อใช้เป็นความรู้ประกอบการตัดสินใจต่อไป ถ้าเรียนรู้ว่ากลุ่มลูกค้าสนใจไอเดียน้อยกว่าที่คาดไว้ ก็อาจต้องเปลี่ยนกลุ่มลูกค้า หรือปรับเปลี่ยนไอเดียเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเดิม
หลังจากนั้น เมื่อก่อตั้งบริษัทเฟรชเก็ต ออฟฟิศสวยๆ และพนักงานจำนวนมากจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น ส่วนเรื่องการตลาดก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำ แต่ควรทำผลิตภัณฑ์ให้ได้เสียก่อน
สำหรับการตอบแทนทีมก่อตั้งเฟรชเก็ต คุณเบลใช้การให้หุ้นเพียงอย่างเดียวในช่วงแรก
“เวลาสร้างทีม ถ้าคนที่จะเป็น co-founder ถามว่าให้เงินเดือนเขาเท่าไร นี่แปลว่าอะไร มันแปลว่าถ้าเราไม่มีเงินจ่ายเขา เขาจะไม่อยู่กับเราใช่ไหม เพราะฉะนั้น บอกเลยว่าไม่มีเงินเดือนจะให้นะ เรามาคุยกันเรื่องหุ้น เขาจะได้รู้สึกเป็นเจ้าของด้วย แต่ก่อนที่เขาจะตกลงปลงใจ เขาต้องซื้อไอเดีย ต้องมี passion ต้องเชื่อในสิ่งที่เรากำลังจะทำ โดยเราก็ต้องบอกเขาให้ชัดเจนว่าวิสัยทัศน์ของเราคืออะไร สุดท้ายแล้วเราต้องการ deliver value อะไร ถ้าเขาซื้อตรงนี้แล้ว เรื่องเงินก็ไม่ใช่ปัญหาในช่วงแรก”
คุณเบลแนะนำด้วยว่าเมื่อสตาร์ตอัพจะ scale ทีมผู้ก่อตั้งก็ต้อง scale ด้วย ทั้งในแง่ของทักษะและกรอบความคิด ในฐานะซีอีโอ คุณเบลต้องให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา และช่วย co-founder พัฒนาตัวเองซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น แนะนำหนังสือให้อ่าน และให้เขาไปพัฒนาทีมของตัวเองต่อ
“พี่เบลชอบคนที่มี growth mindset ในสตาร์ตอัพ ทุกอย่างเป็นไปได้ บางอย่างมันดูเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ต้องหาวิธีที่มันเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนที่อนุรักษนิยมมากๆ ไอ้นั่นก็กลัว ไอ้นี่ก็กลัว เขาจะไม่ใช่คนที่วิ่งไปพร้อมเรา แต่เราต้องลาก ซึ่งเราจะเหนื่อย”
เฟรชเก็ตคว้ารางวัลดีแทค แอคเซอเลอเรท 2016 และทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างแหล่งรวมซัพพลายเออร์ของสดสำหรับร้านอาหาร
“ในสตาร์ตอัพ ทุกอย่างเป็นไปได้
บางอย่างมันดูเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ต้องหาวิธีที่มันเป็นไปได้”
จากประสบการณ์ของคุณต่อและคุณเบล จะเห็นได้ว่าการที่สตาร์ตอัพถูกพูดมากหรือออกสื่อตั้งแต่ในช่วงแรก อาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป การได้รับเงินลงทุนจำนวนมากก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จ การ scale เป็นสิ่งที่ทำได้ดีเมื่อสตาร์ตอัพถึงจุดที่มีความพร้อม
ที่สำคัญ การเรียนรู้และการไม่จมอยู่กับความผิดพลาดในอดีต จะนำไปสู่ความสำเร็จในไม่ช้า
ผู้เขียนหวังว่าเรื่องเล่าทั้งสองเรื่องจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน โดยเฉพาะสตาร์ตอัพที่กำลังจัดการกับการตัดสินใจที่ผิดพลาด
FACT BOX:
โครงการ Career Launcher โดย Careervisa Thailand คือโครงการพัฒนาความพร้อมทางด้านอาชีพให้กับนักศึกษา ดูรายละเอียดของโครงการได้ที่ http://careervisathailand.com/
Tags: สตาร์ตอัพ, ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล, พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์, Freshket, Career Launcher, Careervisa Thailand