ในรอบปีที่ผ่านมา บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ก็ได้ขยายสถานีฐานทุกคลื่นความถี่เร็วกว่าปกติถึง 2 เท่า โดยตั้งแต่ก.ค. 61-มิ.ย. 62 ดีแทคติดตั้งสถานีฐานไปแล้วถึง 21,146 สถานี

ส่วนหนึ่งคือรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกค้าที่นับวันมีแต่เพิ่มขึ้น โดยใช้งานเฉลี่ย 400-500 เมะไบต์ต่อคนต่อวัน ซึ่งดีแทคมียอดการใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดคือยอดใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 11-12 GB ต่อคนต่อเดือน

รวมทั้งเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวที่ดีแทคหมดสัมปทานคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1,800 MHzจึงต้องเร่งขยายสถานีฐานในคลื่น 2100 MHz และคลื่น 2,300 MHz ที่โรมมิ่งกับทีโอที และการรองรับการใช้งานคลื่นล่าสุด 700 MHz ที่จะเปิดใช้งานได้ภายในตุลาคมปีหน้า เพื่อเข้าสู่ยุค 5G

ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มองว่าแนวโน้มพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกค้าคงมีแต่จะเพิ่มขึ้น ทางดีแทคเองก็จะไม่หยุดขยายสถานีฐานและพัฒนาสัญญาณให้ครอบคลุมและสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีกับลูกค้า

ปูพรมขยายสถานีฐานอย่างต่อเนื่อง เข้าถึงทุกพื้นที่บริการ

ปัจจุบันดีแทคถือครองหรือมีคลื่นความถี่ให้บริการอยู่ 5 คลื่นด้วยกัน ได้แก่ 900 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz รวมถึงคลื่นย่าน 700 MHz ล่าสุด ซึ่งแต่ละคลื่นก็มีคาแรกเตอร์ที่ต่างกัน และสามาถนำไปใช้งานได้หลากหลาย

ประเทศ ตันกุรานันท์ อธิบายว่าแต่ละคลื่นมีข้อดีต่างกัน ยกตัวอย่างคลื่น 2300 MHzที่สามารถตอบสนองความเร็วในการใช้ดาต้าได้ดีมาก หรือแม้แต่คลื่น  2100 ก็มีแบนด์วิดท์ (ความกว้างของแถบคลื่นความถี่) สูงทำให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย ส่วนคลื่น 900 MHzเป็นคลื่นความถี่ต่ำ มีแบนด์วิชท์ไม่มากแต่ข้อดีคือสามารถส่งสัญญาณไปได้ไกล ก็จะเหมาะกับการเอาไปใช้งานในต่างจังหวัด โดยไม่ต้องลงเสาสัญญาณถี่

“การมีความถี่ในมือเยอะๆ ทำให้เราวางสถาปัตยกรรมการใช้คลื่นได้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่การใช้งาน สมมติว่าเรามีคลื่นความถี่สูงอย่าง 2100 MHzและ 2300 MHz แล้วเรามีคลื่นความถี่ต่ำอย่าง 900 MHzมาเสริม ในต่างจังหวัด เราก็อาจไม่จำเป็นต้องมีทุกคลื่นความถี่ ก็อาจจะใช้สถานีฐานที่เป็นคลื่นความถี่ต้ำอย่างเดียว เพราะการใช้งานอาจไม่สูงมากเท่าในเมือง แต่มีให้บริการครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างไกลมากขึ้น”

ดีแทคได้ขยายสถานีฐานเร็วมากกว่าอัตราการเติบโตของสถานีฐานประเทศไทยเป็น 2 เท่า ในรอบปีที่ผ่านมา ดีแทคได้ปูพรมสถานีฐานใหม่ไปแล้วมากถึง  21,146 สถานี (ก.ค. 61-มิ.ย. 62) โดยหลักๆ เป็นสถานีคลื่น 2100 MHzและ 2300 MHzเมื่อรวมกับสถานีฐานเดิมด้วยแล้ว ทำให้ดีแทคมีสถานีฐานปล่อยสัญญาณที่ครอบคลุมมากขึ้น

“เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยจากยุคสัมปทานมาเป็นยุคของใบอนุญาต เราต้องสร้างโครงข่ายใหม่บนคลื่นใบอนุญาตใบใหม่ ทำให้การเปลี่ยนผ่านก็ต้องเร็ว ถามว่าปกติมันจะเป็นอย่างนี้ไหม ก็คงไม่ คือมันก็แล้วแต่สถานการณ์ บอกเลยว่าไม่มีปีไหนทำเร็วกว่าปีที่ผ่านมาแล้ว”

แต่ความเร็วในการขยายสถานีฐานไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปวางตรงไหนก็ได้ ต้องมีการดูว่าลูกค้าพื้นที่ที่ให้บริการมีการใช้งานแบบไหน หรืออย่างไร วิเคราะห์จากพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าเป็นหลัก ถึงจะวางสถานีฐานได้อย่างเหมาะสม

ตอนนี้ถือว่าเน็ตเวิร์คเราเสถียรภาพแล้วนะ มันรองรับการใช้งานได้ดี อย่างหนึ่งที่เป็นเป้าหมายของเราคือการขยายพื้นที่บริการ เนื่องจากเราเป็นรายสุดท้ายที่ออกจากสัมปทาน แต่ช่วงที่ผ่านมาก็พยายามบริหารพื้นที่การให้บริการของเรา สเตปถัดไปคือขยายไปในพื้นที่ไกลมากแบบบนเขาบนดอย เพราะอย่างในกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมือง ชานเมืองต่างๆ ถือว่าไม่มีประเด็นตรงนี้แล้ว”

เสริมความแกร่งด้วยคลื่น 700 MHz และจุดเริ่มต้นของยุค 5G

ดีแทคได้ใบอนุญาตคลื่น 700 MHz จากกสทช. ซึ่งจะเริ่มใช้งานได้ตุลาคมปี 63 นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพัฒนาการสื่อสารไปสู่ยุค 5G ต่อไป ซึ่ง ประเทศ ตันกุรานันท์ บอกว่าดีแทคกำลังเตรียมความพร้อมในการขยายสถานีฐานคลื่น 700 MHz ซึ่งจะเป็นคลื่นสำคัญที่จะช่วยในการขยายสัญญาณการใช้งานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และถ้าเปิดใช้งานได้เมื่อไร ดีแทคก็พร้อมเปิดใช้งานได้ทันที

“มันเป็นหนึ่งในคลื่นความถี่ต่ำที่มีความกว้างถึง 10 MHz ช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น อีกอย่างที่สำคัญคือคลื่น 700 เป็นคลื่นหลักที่จะต่อยอดสู่ 5G ในอนาคต”

“แต่ขออธิบายก่อนว่าคนไทยมักมองว่า 5G เป็นมือถือสเตปถัดไป คือพอเป็น 5G แล้วจะต้องเร็วขึ้น ซึ่งจริงๆ มันถูกแค่มุมเดียว เพราะมันพัฒนามาจาก 4G เพื่อรองรับสิ่งที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ด้วยโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของ 5G ออกแบบให้มีการใช้งานที่ยืดหยุ่น ทำให้การส่งข้อมูลเร็วขึ้น และการที่เรามีโมบายเน็ตเวิร์ค สามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้ต้องการความเร็วสูงๆ อย่างการเชื่อมต่อตู้เย็น หม้อหุงข้าวอัจฉริยะ หรือชาวนาชาวไร่สามารถใช้ประโยชน์จาก 5G เพื่อพัฒนาคุณภาพของเกษตรกรรมได้ แทนที่เราจะต้องพึ่งฝนฟ้าอากาศ เราก็ใช้ประโยชน์จากตรงนี้มันก็ช่วยให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น หรือภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะได้ใช้บริการใหม่ๆ อีกมากมาย”

ผู้บริหารดีแทคเผยว่าตอนนี้ดีแทคมีความพร้อมสำหรับ 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดนมีการดำเนินการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไว้พร้อมแล้ว รอเวลาที่อีโคซิสเต็มส์เกิด ก็เปิดใช้งานได้อย่างเร็ว

เราค่อนข้างพร้อม มีการเปลี่ยนถ่ายชุมสายของเดิมเป็นของใหม่ โครงข่ายของดีแทคตอนนี้ อุปกรณ์ต่างๆ เรามีการ Virtualization เปลี่ยนฮาร์ดแวร์เป็นซอฟแวร์ เราปรับระบบสู่คลาวด์ เพราะฉะนั้นชุมสายของเราเป็น computer program ข้อดีของมันคือการอัปเกรด ขยายมันทำได้ง่าย บน โครงสร้างพื้นฐานเดิม”

จาก Voice สู่ Data การใช้งานที่เติบโตระดับ 10 GB

แนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือของคนไทยมีแต่จะมากขึ้น เฉพาะของทางดีแทคเองมียอดใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1/2560 มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 5.2 GB ส่วนล่าสุดในไตรมาส 2 /2562 มียอดใช้งานเฉลี่ย 11-12 GB ต่อคนต่อเดือน

ทุกวันนี้ลูกค้าใช้งานต่อเดือนเกิน 10 GB  เมื่อก่อนใครมาพูดถึงการใช้งานดาต้าระดับ GB ต่อเดือนบนมือถือ ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะว่าถ้าเป็นระดับนั้นต้องมีค่าบริการต้องแพงมาก แต่ทุกวันนี้ถูกสุดๆ คนไทยใช้งานดาต้าเยอะขึ้นมาก และส่วนหนึ่งที่ใช้เยอะคือวิดีโอ สตรีมมิง คือไม่ว่าเราจะใช้แอปอะไรก็ตาม แต่ความต้องการใช้ดาต้ามากที่สุดอยู่ที่การดูวิดีโอ เพราะว่าการดูวิดีโอต้องการ bit rate ที่ค่อนข้างสูง และคงที่ เน็ตเวิร์กต้องพร้อมตลอด พอเป็นเครือข่ายมือถือ ลูกค้าเราก็ต้องเข้าถึงได้ตลอด”

“ปัจจุบันหน้าจอหลักของคนไทยไม่ใช่ทีวี หน้าจอที่ได้จำนวนช่วงเวลาสายตามากที่สุดคือมือถือ โดยเฉลี่ย 9 ชั่วโมงกว่า โครงข่ายมือถือจึงเป็นโครงข่ายหลักของคนไทย การที่เราให้บริการคลื่น 2300 MHz ก็ทำให้เราเดลิเวอร์ความเร็วการใช้งานดาต้าได้เป็นอย่างดี”

การใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือของคนไทยที่สูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าคนไทยติดใช้งานโซเชียลมีเดีย และคนไทยใช้เวลาอยู่กับมือถือมากขึ้น เปลี่ยนแพลตฟอร์มการดูรายการหรือคอนเทนต์ต่างๆ จากทีวีสู่มือถือ

“คนในเอเชียในอินเทอร์เน็ตบนมือถือกันเยอะ อาจด้วเรามีนิสัยแบบไม่เครียดมาก ปัจจัยที่ทำให้คนไทยใช้เยอะเพราะคุณภาพของเน็ตเวิร์ค แล้วก็ราคาถูก”

ประเทศ ตันกุรานันท์ บอกว่าในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่หนักพอสมควรสำหรับดีแทค แต่ด้วยแนวคิดการทำงานที่ต้องใส่ใจกับลูกค้าเป็นอันดับแรก ตามปรัชญาการทำงานของอเล็กซานดรา ไรช์ ซีอีโอดีแทคคนปัจจุบัน ทำให้ดีแทคจึงไม่ยอมแพ้และพัฒนาเครือข่ายสัญญาณให้ที่ดีที่สุด เพื่อประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า

“เขามีส่วนในการปรับวิธีการทำงานของเรามาก ว่าต้อง customer-obsessed  คือเอาลูกค้าเป็นตัวตั้งตน พอปรัชญาการทำงานมันเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเราจะใช้สถิติเป็นหลักในการทำงานเน็ตเวิร์ค ก็จะมาดูว่าถ้าจุดต่ำ เราก็พัฒนาไปตามนั้น แต่คุณอเล็กซานดราบอกว่าให้ใช้มุมมองของลูกค้าเป็นหลัก แทนที่จะดูจากสถิติของเน็ตเวิร์ค เราก็เอาข้อมูลที่เป็นความรู้สึกของลูกค้า จุดที่ร้องเรียน เราไม่ได้พัฒนาเพื่อ KPI แต่เปลี่ยนมาพัฒนาเพื่อให้ลูกค้าเรามีประสบการณ์ที่ดีขึ้น ร้องเรียนเรื่องอะไรเราก็แก้ตรงนั้น”

ทุกวันนี้ทำให้จากผลสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าดีแทค (Net Promoter Soce – NPS) ที่มีต่อประสบการณ์การใช้งานบนโครงข่ายดีแทคในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

“เราสามารถลดปริมาณข้อร้องเรียนได้อย่างมาก อยู่ในจุดที่ค่อนข้างนิ่ง ทำให้ความมั่นใจของเรากลับมาดีขึ้น ลูกค้าก็ค่อนข้างสบายใจ เน็ตเวิร์คไม่ได้หายไปไหน สัญญาณดีขึ้น อินเทอร์เน็ตก็เร็วขึ้น” ประเทศกล่าวทิ้งท้าย

Tags: ,