ตลาดพลู ชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ในเขตธนบุรีที่เก่าแก่ มีจุดเด่นตรงที่เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งของชาวไทย ชาวญวน ชาวจีน และศาสนาอย่างพุทธ และอิสลาม มาผสมผสานกันอย่างกลมกลืน และด้วยความที่เป็นที่ตั้งของศาสนสถานหลายแห่ง ทำให้ย่านนี้มีกิจกรรมงานวัดและงานรื่นเริงที่จัดกันอย่างคึกคักตลอดทั้งปี
แม้ชุมชนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่คนในชุมชนก็ยังคงให้ความสำคัญและการตระหนักถึงการอนุรักษ์ชุมชน อาคารบ้านเรือน ศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้สนใจและนักท่องเที่ยวให้ได้รู้จักชุมชนกันมากขึ้นนอกเหนือจากร้านอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ
หนึ่งในสถานที่ที่ช่วยสนับสนุนการสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ผ่านการได้พบปะของคนในชุมชนเพื่อถ่ายทอดความรู้และวิถีชีวิตต่อกันในช่วงวันหยุด คือ ห้องสมุดตลาดพลูรำลึก
สถานที่แห่งนี้เป็นจุดศูนย์กลางของการพักผ่อนหย่อนใจ อ่านหนังสือศึกษาข้อมูลต่างๆ พร้อมกับเป็นแหล่งสันทนาการจัดงานกิจกรรมของคนในชุมชนตลาดพลู แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่ก็มีหนังสือดีๆ ให้อ่านอยู่ไม่น้อย
ห้องสมุดตลาดพลูรำลึกตั้งอยู่ในพื้นที่สุดซอยเทอดไท 20 ข้างศาลเจ้าพ่อพระเพลิง จากบ้านไม้ที่ทรุดโทรมถูกปรับปรุงเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ จุดเด่นของสถานที่นี้ก็คือ มีอาคารสองชั้นที่ทำจากไม้สภาพเก่าแก่แต่ดูดี พร้อมกับประตูรั้วเหล็กทาสีเขียว ซึ่งในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์จะเปิดออกต้อนรับผู้มาเยือน ภายในมีโต๊ะอ่านหนังสือจำนวนมาก ด้านหน้ามีป้ายขนาด A4 น่ารักๆ ว่า ‘สถานที่อ่านหนังสือ (มีหนังสืออ่านฟรี)’
ลุงประพันธ์ ไตรรัตน์ หรือที่คนในชุมชนเรียกว่า ‘ลุงประพันธ์’ อายุ 75 ปี คือเจ้าของบ้าน และผู้ดูแลห้องสมุดตลาดพลูรำลึก ที่เปิดต้อนรับเหล่านักอ่าน เพื่อนสนิท คนในชุมชน นักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศได้มาพักผ่อน อ่านหนังสือ ศึกษาความรู้พืชผักสมุนไพรและพื้นที่ในชุมชน และแลกเปลี่ยนเรื่องราวทั้งทางด้านสุขภาพ อาหาร โรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงเรื่องราวชุมชนตลาดพลูในบรรยากาศที่เป็นมิตร อบอุ่น และประทับใจ
ประพันธ์ เป็นคนตลาดพลูมาตั้งแต่เด็ก หลังเกษียณจากงานราชการ ก็ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่สว่างคนิเวศนานกว่า 17 ปี ตลอดระยะเวลาดังกล่าวเพื่อนฝูงค่อยๆ ล้มหายตายจาก และเมื่อกลับมาพบกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดพลูจึงตัดสินใจกลับมาที่นี่อีกครั้งพร้อมกับนำเงินบำนาญที่สะสมไว้จำนวนหนึ่งมาซ่อมแซมบ้าน และตั้งใจเปิดบ้านเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน สำหรับนั่งพักผ่อนหรืออ่านหนังสือที่คุณลุงสะสมไว้ที่บ้านนี้ได้
‘ความมีอิสระ ไม่ผูกมัดหรือบังคับ’ คือคอนเซ็ปต์ของห้องสมุดแห่งนี้ที่เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน
จะเข้ามาอ่านหนังสือ พักผ่อนหย่อนใจ ไปจนถึงนั่งรับประทานอาหารขนมนมเนยหรืองีบหลับก็ได้ ลุงประพันธ์เล่าว่า จากการได้ไปใช้บริการห้องสมุดรูปแบบต่างๆ รวมถึงการศึกษากฎระเบียบของห้องสมุดในหลายแห่ง ตั้งแต่การใช้บริการ ไปจนถึงการยืมคืนหนังสือ จึงนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาสร้างห้องสมุดกลางแจ้งนี้ แม้จะมีหนังสือไม่มาก แต่เชื่อว่าจะตอบโจทย์ความเป็นอิสระของผู้ที่เข้ามาอ่านหนังสือได้อย่างเต็มที่
แหล่งเผยแพร่และแบ่งปันความรู้ที่ไม่จำกัด…
เมื่อเข้าไปยังด้านในจะพบกับพื้นที่กลางแจ้ง มีโต๊ะวางอยู่มากมาย เต็มไปด้วยหนังสือและนิตยสารเก่าๆ ที่มาจากของส่วนตัวของลุงประพันธ์ และผู้คนนำมาบริจาค ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่หนังสือเรียน, หนังสือติวข้อสอบ, หนังสือความรู้, นิทาน แม้จะยังไม่หลากหลายเท่าห้องสมุดจริงๆ แต่ก็สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย เมื่อคนรุ่นใหม่ได้ย้อนกลับมาอ่านหนังสือเก่า เรียนรู้สไตล์การเขียนของคนในสมัยนั้น และบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ในอดีต
แต่สิ่งที่น่าตื่นตามากที่สุดก็คือ นิตยสารเก่าๆ เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เช่น ใกล้หมอ ชีวจิต ที่เคยอ่านในสมัยเด็กๆ ได้กลับมาให้อ่านกันอีกครั้ง ประกอบกับทางลุงประพันธ์เองก็แนะนำหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ที่ลุงชื่นชอบ ให้ผู้สนใจได้อ่านกันด้วย เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ และการดูแลร่างกายให้มีสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง
ยังไม่หมดเท่านี้ ผู้เยี่ยมชมยังจะได้ศึกษาสารอาหารในพืชผักพื้นบ้านของไทย ว่าพืชผักพื้นบ้านชนิดไหนที่ให้สารอาหารมากน้อยแค่ไหน ผ่านแผ่นกระดานที่เผยข้อมูลสารอาหารในพืชผักสวนครัวว่าผักชนิดไหนให้สารอาหารมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ผู้สนใจได้มีข้อมูลในการเลือกซื้อ หรือเลือกปลูกผักไว้กินในบ้านได้อีกด้วย ซึ่งเป็นผลงานที่ทำร่วมกันระหว่างลุงประพันธ์ และทีมนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องมารวบรวม และเปรียบเทียบข้อมูลสารอาหารในผักสวนครัวพื้นบ้าน รวมไปถึงลุงประพันธ์ได้พาไปชมพืชผักสวนครัวของจริงที่ลุงได้ปลูกเอาไว้เป็นวิทยาทาน และสามารถนำไปรับประทานได้ เช่น ใบยอ, ใบเตย, อัญชัน เป็นต้น
นอกจากจะได้เพลิดเพลินกับหนังสือแล้ว ยังได้เพลิดเพลินกับการนั่งเอกเขนกอ่านหนังสือบนเก้าอี้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเก้าอี้นั่งธรรมดา, ม้านั่งหินแกรนิต, เก้าอี้นอน รวมไปถึงเก้าอี้หนังทรงโบราณ พร้อมกับบรรยากาศร่มรื่นด้วยต้นยอขนาดใหญ่ และเย็นฉ่ำด้วยพัดลมหลายๆ ตัว ซึ่งลุงประพันธ์มองว่า หากผู้อ่านรู้สึกผ่อนคลาย ก็จะช่วยให้อ่านหนังสือได้ดียิ่งขึ้น จึงจัดที่นั่งและพัดลมหลายๆ ตัว เพื่อมอบความสะดวกสบายสูงสุด
หัวใจสำคัญของการพัฒนาห้องสมุดตลาดพลูรำลึกนี้ นอกจากจะเป็นแห่งพบปะ อ่านหนังสือในช่วงวันหยุดแล้ว ลุงประพันธ์เล่าว่า ที่แห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับการเยียวยารักษา ทั้งกาย และใจ โดยกายนั้นก็คือความรู้ทางด้านแพทย์ สุขภาพ อาหารสมุนไพรต่างๆ ควบคู่กับการรักษาทางใจ ด้วยหนังสือธรรมะที่ช่วยเพิ่มพูนทั้งสติ ลดความทุกข์ ดับความโกรธ คลายความโศก เสริมสร้างกำลังใจ ควบคู่กับการอ่านหนังสืออย่างผ่อนคลายด้วยเก้าอี้นั่งรูปทรงต่างๆ ส่วนหนังสือเองก็สามารถที่จะยืมกลับไปอ่านที่บ้านต่อได้ง่ายๆ เพียงแค่เลือกหนังสือที่ต้องการ พร้อมลงบันทึกยืมคืนตามปกติ
นอกจากนี้ในระหว่างนั่งอ่านหนังสือ หรือนั่งพักผ่อน ยังได้ชมอาคารไม้ทรงโบราณ ที่ได้รับการซ่อมแซมจนมีสภาพดี แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถขึ้นชั้น 2 ได้เนื่องจากไม่มีบันได และสภาพไม้ที่เก่าแก่จนอาจจะไม่สามารถรับน้ำหนักได้มากนัก จึงได้ปิดตาย และแปรสภาพเป็นอาหารตาให้กับผู้เยี่ยมชม ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนและการถ่ายทอดการก่อสร้างอาคารในสมัยอดีตอีกด้วย
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ห้องสมุดตลาดพลูรำลึก ยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษจากสถาบันการศึกษา และทางเพจ ‘ถามสิ..อิฉันเป็นคนตลาดพลู’ ที่จะมาถ่ายทอดทั้งความรู้ และวิถีชีวิตผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ อาทิ การประกวดวาดภาพระบายสี, ฝึกอบรมด้านอาชีพ, จัดงานเสวนาต่างๆ อันเป็นการให้ผู้ร่วมงานได้รู้จักชุมชนตลาดพลูมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจก็สามารถนำหนังสือไปบริจาคเพื่อแบ่งปันความรู้ใหม่ๆ ให้กับชุมชนได้เข้ามาค้นคว้าความรู้ได้มากยิ่งขึ้น หรือจะบริจาคชั้นหนังสือทางลุงประพันธ์ก็ยินดีต้อนรับทุกเมื่อ เนื่องจากในห้องสมุดยังไม่มีชั้นหนังสือดีๆ มากพอที่จะทำการใส่หนังสือที่มีอยู่จำนวนมากและสร้างความสะดวกสบายแก่ผู้อ่านมากยิ่งขึ้น
ทางลุงประพันธ์ได้ฝากถึงแก่ผู้อ่านว่า หนังสือที่ทางห้องสมุดตลาดพลูรำลึกต้องการมากที่สุดจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับการแพทย์ และสุขภาพ ทั้งแพทย์แผนโบราณจนถึงแพทย์แผนปัจจุบัน ที่สร้างคุณประโยชน์แก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงหนังสือความรู้ที่อ่านได้ทุกเพศทุกวัย, หนังสือฝึกทักษะประกอบอาชีพต่างๆ, หนังสือศาสนา เพื่อนำเสนอความรู้ที่ดีที่สุดแก่คนในชุมชน
บทส่งท้าย…
ผู้เขียนเองรู้สึกตื่นเต้นที่ได้สัมผัสกับแหล่งองค์ความรู้ของชุมชน และได้เปิดโลกทัศน์แห่งใหม่ในชุมชนตลาดพลู จากเดิมที่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลที่หลายคนมองข้าม ประกอบกับห้องสมุดแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่อ่านหนังสือเงียบๆ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งพบปะของคนในชุมชนที่จะมาร่วมสันทนาการ นั่งเล่นบอร์ดเกมก็ยังได้ และแลกเปลี่ยนความรู้ในชุมชนที่สำคัญแห่งหนึ่งในชุมชนตลาดพลูในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. และปิดในวันธรรมดาเพื่อเป็นวันพักผ่อนอันแสนสงบของลุงประพันธ์
การมาของห้องสมุดตลาดพลูรำลึก นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและการอนุรักษ์ชุมชนไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลาแล้ว ยังเป็นเจตจำนงสำคัญของลุงประพันธ์ที่ต้องการรวบรวมผู้คนทุกเพศทุกวัยที่มีความรักต่อชุมชนตลาดพลูมาพบปะร่วมกันสร้างรอยยิ้มให้กับทุกๆ คนอีกครั้ง เสมือนการพบกันของเพื่อนสนิทที่จะไม่จางหายไปกับความทรงจำอีกต่อไป…
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก…
-
ลุงประพันธ์ ไตรรัตน์ และห้องสมุดตลาดพลูรำลึก
-
ทีมงานแอดมินแฟนเพจ ‘ถามสิ..อิฉันคนตลาดพลู‘
Fact Box
ผลงานเรื่อง “กระชับมิตรแบ่งปันความรู้แบบไม่จำกัดที่ห้องสมุดตลาดพลูรำลึก” โดย Mr. Leviathan คือ 1 ใน 5 บทความที่ชนะการประกวดและได้รับคัดเลือกเป็นบทความไลฟ์สไตล์ที่มีความโดดเด่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานอบรม ID Creator Workshop ที่ทาง TrueID In-Trend ร่วมมือกับสื่อพันธมิตรได้แก่ Wongnai และ The Momentum อ่านบทความนี้ใน TrueID ได้ทาง https://cities.trueid.net/bangkok/id-creator-workshop-กระชับมิตรแบ่งปันความรู้แบบไม่จำกัด-ณ-ห้องสมุดตลาดพลูรำลึก-14169