“ใครก็ตามสามารถใช้ห้องสมุดนี้ได้ ไม่เหมือนห้องสมุดอื่นที่ต้องจ่ายเงินถึงจะเข้าได้” ฆัสรา มุกดาวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือมิวเซียมสยาม เริ่มคุยกับเราด้วยประโยคนี้

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ที่มิวเซียมสยามนั้น นอกจากตัวพิพิธภัณฑ์ที่แสดงงานหลัก และพื้นที่แสดงนิทรรศการชั่วคราวแล้ว ยังมีห้องสมุดชื่อ ‘คลังความรู้’ ที่เปิดให้บริการอยู่ที่ชั้น 2 ของอาคารสำนักงานด้วย

สุภาณี เลิศจิระประเสริฐ บรรณารักษ์อาวุโส เล่าว่า ด้วยสภาพทางกายภาพที่อยู่แยกกันกับตัวมิวเซียม ทำให้กลายเป็นว่ามักมีแต่เจ้าหน้าที่มาใช้งาน แต่พอช่วงปี 2559-2560 ที่มีการปรับปรุงห้องสมุดใหม่ มีแนวคิดที่อยากจะทำให้เป็นศูนย์การเรียนรู้มากขึ้น และเริ่มจัดทำระบบสมาชิก เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถยืมหนังสือได้ด้วย  

วันที่ 10 เดือน 10 ปี 2561 นี้ จะเป็นวันแรกที่เปิดให้มีการสมัครสมาชิก โดยมีค่าสมัคร 1,000 บาทต่อสองปี โดยจะได้สิทธิเข้าถึงฐานข้อมูลออนไลน์ต่างๆ อาทิ สมิธโซเนียน มติชน และยังสามารถจองใช้ห้องประชุมขนาด 8-10 คนได้ เดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 ชม. ได้ส่วนลด 10% สำหรับการซื้อของที่ระลึกหรือใช้บริการร้านอาหาร ส่วนคนที่อยากจะยืมหนังสือ ก็มีค่าประกันหนังสือ 1,000 บาท

มีอะไรในห้องสมุดมิวเซียม

เมื่อถามว่า ห้องสมุดที่นี่แตกต่างจากห้องสมุดอื่นๆ อย่างไร สุภาณี บอกว่า สิ่งที่โดดเด่น จะเป็นสิ่งพิมพ์หรือทรัพยากรด้านพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีโดยเฉพาะ รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องในศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ นำเสนอในรูปแบบคอลเลกชั่น ฐานข้อมูล หรือบริการที่เฉพาะด้าน ทั้งยังมีความท้าทายที่ผู้บริหารองค์กรกำหนดไว้ว่า จะต้องมีสิ่งพิมพ์หรือคอลเลกชันที่ห้องสมุดอื่นไม่มี ซึ่งบรรณารักษ์ก็ต้องทำงานหาคำตอบตรงนี้มา

“ของบางอย่างมันไม่ได้มีขาย แต่มาจากความสัมพันธ์หรือการทำงานร่วมกัน เช่น เวลาที่เราไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น เกาหลี หรือเยอรมนี บางอย่างมันจะมีแต่หนังสือที่ขายในพิพิธภัณฑ์นั้น หรือบางอย่างก็ไม่ได้ขาย คุณจะไปหาไม่ได้ จะสั่ง Amazon ก็ไม่มี แต่ที่นี่มี” ฆัสราเล่า

วัฏจักรของข้อมูล

มารุตพงศ์ กาแก้ว นักจัดการความรู้ (บรรณารักษ์) เล่าว่า เวลาภัณฑารักษ์จะทำนิทรรศการหรือจะตอบคำถามบางอย่างในตัวนิทรรศการ จะมาหาข้อมูลจากที่นี่ หรือหากที่นี่ไม่มีข้อมูล บรรณารักษ์ก็จะช่วยประสานงานติดต่อ ไปยืม หรือแนะแหล่งอื่นๆ ให้ ทั้งจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ธรรมศาสตร์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) TCDC หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุ หรือฐานข้อมูลต่างๆ  เมื่อได้ข้อมูลจนได้ตัวงานออกมาแล้ว ข้อมูลต่างๆ จะถูกนำกลับมาเก็บในงานจดหมายเหตุ

“มันเป็นกระบวนการที่วนกลับมาเป็นวงกลม เพราะเวลาทำนิทรรศการชิ้นหนึ่ง ไม่ใช่อยู่ๆ ภัณฑารักษ์ผุดขึ้นมา ต้องมีงานวิจัยที่เริ่มจากงานสืบค้นพวกนี้

ห้องสมุดจะอยู่ตั้งแต่ระดับของการทำงานวิจัย จนกระทั่งถึงระดับของการทำนิทรรศการ ระหว่างนั้น บางครั้งเวลาเขาจัดกิจกรรมก็มาใช้ห้องสมุด หลังจากนั้นพอมันจบแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็จะวนกลับมาเก็บเป็น archive ให้สืบค้นได้ที่นี่” ฆัสราเสริม

สุภาณี บอกว่า เจ้าหน้าที่เองก็สืบค้นหาความรู้ได้ บุคคลภายนอกที่อยากรู้ว่านิทรรศการที่ทำเรื่องแรกตั้งแต่ปี 2551 มีกระบวนการอย่างไรบ้าง เขาก็สามารถมาคลิกดูจากคลังจดหมายเหตุนี้ โดยจะมีตั้งแต่ตัวแรก คือ ‘เรียงความประเทศไทย’ ที่เป็นนิทรรศการถาวร มีทั้งนิทรรศการชั่วคราว นิทรรศการเคลื่อนที่ จะมี virtual exhibition ที่ถ่าย 360 องศาของนิทรรศการแต่ละเรื่อง

“มิวเซียมสยามเหมือนเป็นห้องแล็บการทดลองความคิดด้านพิพิธภัณฑ์ของการทำนิทรรศการ

ดังนั้น ในแต่ละนิทรรศการ มันออกแบบมาด้วยวิธีคิดที่มันไม่เหมือนกัน วิธีที่ทำงานก็ไม่เหมือนกัน บางอย่างก็เน้นสตอรี่ล้วนๆ บางอย่างก็เน้นเล่นด้วยละคร ปลูกข้าว ทำนา หรืออย่างประเด็น LGBT เรื่อง ชายหญิงสิ่งสมมุติ ก็ crowdsourcing ทีนี้ ถ้ามันเก็บได้ทั้งหมด คนรุ่นหลังก็จะได้เข้าใจว่ามันออกมาเป็นอย่างไร practice กับ knowledge ต้องไปด้วยกัน”

“สังคมมันต้องโต”

ส่วนกลุ่มเป้าหมายของห้องสมุดนั้นไม่ได้จำกัด ฆัสราบอกว่า อยากให้มีคนเข้ามามากที่สุด

“คนอาจจะมองว่าค่อนข้างแย้งกันสักหน่อยรึเปล่า เพราะหนังสือมันค่อนข้างเป็นหนังสือผู้ใหญ่ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือหนังสือมิวเซียม นี่คือหลักๆ ของทรัพยากรของเรา แต่เราก็คิดว่า สังคมมันต้องโต สังคมมันไม่ควรหน่อมแน้มใช่ไหม สังคมที่มีปัญญา คือพี่คิดว่าหนังสือมันช่วย cultivate คน เพียงแต่จุดของเราก็คือ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็มาได้ มีน้องจากท่าเตียนมานั่งอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ความเปิดของมันคือตรงนี้” ฆัสรา

เธอบอกว่า ทุกวันนี้ human interaction สำคัญ จึงอยากเป็นห้องสมุดที่เป็นมิตร จะนั่งกินกาแฟก็ได้ เย็นๆ มีคุณลุงป้ามานอนรอรับลูก ไม่ต้องเข้ามาแล้วเกร็ง

ส่วนจะใช้ให้คุ้มอย่างไรได้มันก็มีหลายแบบ อาจจะคุ้มที่มันมีคนมาใช้พื้นที่ในลักษณะต่างๆ เช่น จัดเลคเชอร์ 80 คน จัดเสวนาทุกเดือนเรื่องต่างๆ ที่เชื่อมโยงจากตัวหนังสือ เป็นการ cultivate คนแบบค่อยเป็นค่อยไป

Service Beyond Expectation

แม้ว่าตอนนี้ ในอินเทอร์เน็ตจะเป็นเหมือนคลังความรู้ขนาดมหึมา แต่สุภาณีมองว่า เรื่องที่ห้องสมุดแบบกายภาพนี้จะมีเหนือกว่า คือ ประสบการณ์ของบรรณารักษ์ ที่จะช่วยแนะนำหรือชี้แหล่งให้ผู้มาหาข้อมูลไปถึงปลายทางที่ต้องการ

“เขาเข้ามาหาข้อมูล ABC แต่เราทราบว่ามันมีข้อมูลเชิงลึกหรือที่จะเติมเต็มได้ คุณอาจจะหาในอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่าหนังสือหมวดนี้ อยู่ตรงนี้ แต่เราบอกว่า นอกเหนือจากหนังสือที่คุณเลือกมาแล้ว มันมีอยู่ในหนังสืออื่นๆ ด้วย เรามี DEFG” สุภาณีกล่าวว่า ในฐานะที่ทำฐานข้อมูลของหนังสือต่างๆ ก็จะรู้ว่า ทรัพยากร คอลเลกชั่นของตัวเอง มีอะไรที่จะแนะนำให้ผู้ใช้ดึงมาใช้ได้บ้าง เพราะมันมีบางอย่างที่ผู้ใช้ก็ไม่รู้ หรือคนอื่นๆ ทั่วไปก็อาจจะมองข้ามไป เป็นเหมือน service beyond expectation มันเป็นสิ่งที่เราหรือผู้ใช้เองก็ไม่ได้คาดหมายแต่มันบังเอิญเกิดขึ้นมา

ครั้งหนึ่ง เธอต้องทำงานร่วมกับภัณฑารักษ์ในการหาข้อมูลเรื่องความเป็นไทย ภายใต้ความคิดความเชื่อ คตินิยมประเพณีของคนไทย สำหรับจัดทำนิทรรศการถอดรหัสไทย ซึ่งเป็นโจทย์ที่กว้างเอามากๆ ก็ปรากฏว่าไปได้ข้อมูลเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับผีกระสือมาจากหนังสืองานศพเล่มหนึ่ง ที่ก็ไปเจอได้เพราะผ่านตาจากงานบรรณารักษ์ที่ต้องทำสารบัญ ทำเนื้อหา รวบรวมสกัดสิ่งที่มีในหนังสือต่างๆ ออกมานั่นเอง

ที่พักใจ

นอกเหนือไปจากเรื่องของทรัพยากรอย่างหนังสือแล้ว บรรณารักษ์อีกคนอย่างมารุตพงศ์บอกกับเราว่า อยากจะชวนให้ทุกคนเข้ามาใช้พื้นที่ของห้องสมุดในฐานะพื้นที่สาธารณะ

“คือคุณอาจจะมาแค่พักผ่อนหลังจากเดินดูมิวเซียม มาเดินดู หรืออาจจะมานั่งทำการบ้าน คุยงานพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ ก็อยากให้มาแล้วมีความสุข ทำอะไรก็ได้ เสียงดังหน่อยๆ แกล้งกันได้ หลับได้ หรือทำอย่างอื่นได้ พรุ่งนี้อยากมาอีก มะรืนก็อยากมาอีก มันเป็นความรู้สึกอย่างนั้น ไม่ใช่ต้องฝืนใจมา เราไม่ได้น้อยใจว่าหนังสือหรือทรัพยากรอื่นๆ จะต้องมาก่อน ผมบอกตัวเองเสมอว่าบรรณารักษ์ไม่ใช่ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ที่ฉันจะแตะอะไรไม่ได้ คุณจะนั่งตรงไหน ก็ได้ มาแล้วรู้สึกสบายใจ แม้แต่คนที่อ่านหนังสืออะไรก็แล้วแต่ ถ้ารู้สึกไม่สบายใจก็คงอ่านไม่เข้าหัว มันเริ่มจากความสบายใจ ดังนั้น ในฐานะผู้ให้บริการ อยากให้มาลองใช้พื้นที่ดูก่อน แล้วสิ่งอื่นๆ จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ”

Fact Box

  • ห้องสมุด ‘คลังความรู้’ เปิดให้บริการ ตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ เวลา 9.30-17.30 น.
  • ใช้บริการได้ฟรี
  • กรณีสมัครสมาชิก มีค่าใช้จ่าย 1,000 บาท ต่อสองปี ค่ามัดจำหนังสือ 1,000 บาท และค่าบัตร 30 บาท สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลออนไลน์ได้ และใช้เป็นส่วนลดร้านค้าที่ระลึกและร้านอาหารในมิวเซียมสยาม 10% รวมถึงได้สิทธิจองใช้ห้องประชุม เดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 ชม.

Tags: ,