*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในหนังสือ แต่เชื่อว่าจะไม่ทำลายอรรถรสในการอ่านของท่านแต่ประการใด
ฤดูหนาวเมื่อเราพราก คือหนังสือที่พาเราไปรู้จักกับปีศาจ —มากกว่าหนึ่งตน ผู้เขียนค่อยๆ หลอกล่อเราไปรู้สึกรู้สากับเหล่าตัวละคร ก่อนจะพลิกกลับอย่างสั่นสะเทือนในครึ่งหลัง ราวกับว่าครึ่งแรกที่เราอ่านเป็นเพียงเรื่องเล่าของเด็กน้อยแสนไร้เดียงสา
“เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเข้าถึงแก่นแท้ของมนุษย์อีกคนหนึ่ง
นักเขียนหนุ่มเข้าไปสัมภาษณ์นักโทษประหาร อดีตตากล้องชื่อดัง ผู้ถูกตัดสินข้อหาเผาผู้หญิงทั้งเป็นจนเสียชีวิตสองคน หากยิ่งขุดค้นประวัติและพื้นฐานครอบครัว ความไม่ชอบมาพากลก็ปรากฏขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การเปิดเผยความจริงและการหักมุมที่คาดไม่ถึง”
สำนักพิมพ์ใบ้ให้เราเพียงเท่านี้ และโดยไร้คำนำสำนักพิมพ์ ผู้เขียนต้อนรับเราด้วยข้อความสั้นๆ บนหน้าคำอุทิศ “แด่ M.M มอบให้ J.I” ก่อนจะนำเราเข้าสู่เรื่องทันที
เรื่องราวก่อนจะถึงฤดูหนาวนั้นยาวนาน ผู้เขียนให้เวลากับเรื่องราวส่วนนี้เต็มที่ ไม่วอกแวก เราค่อยๆ ถูกพาดำดิ่งเข้าสู่ปริศนาเกี่ยวกับ ‘ยูได’ ช่างภาพหนุ่มมือรางวัล นักโทษประหารคดีฆาตกรรม การจุดไฟเผานางแบบทั้งเป็นนั้น หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเพื่อ ‘ถ่ายภาพ’ เขากำลังต้องการผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นใหม่ เพื่อลบคำสบประมาทว่าตนกำลังอยู่ในช่วงขาลง เพราะอันที่จริงแล้ว มีเพียงภาพเดียวที่นำเขาเข้าสู่แสงไฟ นั่นคือภาพร่างหญิงสาวลึกลับที่ถูกกลืนกินโดยฝูงผีเสื้อสีดำ แน่นอนว่าภาพหญิงสาวในกองเพลิง อาจจะพาเขาขึ้นสู่ยอดพีรามิดได้อีกครั้ง
แต่ปริศนาสำคัญคือ เขาลงทุนจุดไฟเผาผู้หญิงถึงสองคน แต่เหตุใดกลับไม่ถ่ายภาพเหล่านั้นเอาไว้
เขาลงทุนจุดไฟเผาผู้หญิงถึงสองคน แต่เหตุใดกลับไม่ถ่ายภาพเหล่านั้นเอาไว้
ยูไดรอความตายอยู่ในคุก ขณะที่เจ้าของเสียงเล่าคือนักเขียนที่เข้าไปสัมภาษณ์เพื่อจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับฆาตกรชื่อกระฉ่อนรายนี้ ผ่านบทสนทนาสั้นๆ โดยมีกระจกกั้น ผ่านปากคำจากคนรอบข้างทีละคน และจดหมายอันแสนกระบิดกระบวนของยูได ก็ทำให้เรา—ทั้งผู้เล่าเรื่องและผู้อ่าน รู้สึกถึงความลึกล้ำเหลือกำหนดที่ไหลเวียนอยู่ในตัวชายคนนี้ เราค่อยๆ รับรู้ถึงชีวิตวัยเด็กอันขาดวิ่น ความบิดเบี้ยว ความหมกมุ่นที่เริ่มตั้งแต่ผีเสื้อ ไปยังตุ๊กตาซิลิโคน และในที่สุดคือการถ่ายภาพ
เราค่อยๆ วิ่งตามยูไดซึ่งกำลังไขว่คว้าหาวิธีครอบครองบางสิ่งบางอย่างหรือใครบางคน เขาต้องการครอบครองผีเสื้อที่กำลังโบยบิน สมาคมนักสะสมผีเสื้อสตัฟฟ์จึงไม่ใช่ที่หมาย เขาขยับความต้องการมาที่ตุ๊กตาซิลิโคน ซึ่งเป็นจักรวาลที่ค่อนข้างใหญ่ในเรื่อง
โดยที่ ตุ๊กตา คือความก้ำกึ่งระหว่างชีวิตและไร้ชีวิต คือจินตนาการที่ถูกปั้นแต่งให้กลายเป็นรูปธรรม ผู้เขียนพาเราย้อนไปสู่ตำนานช่างทำตุ๊กตายุคโบราณ ผู้หมกมุ่นกับการทำตุ๊กตาจำลองภรรยาตนเอง ตามคำขอของเธอผู้เคยงดงามแต่กำลังจะตาย ในที่สุดก็ย้ายความรักความปรารถนาที่เคยมีต่อภรรยาไปที่ตุ๊กตาต้องคำสาปตัวนั้น จนภรรยาตรอมใจตายเพราะหึงหวง ไม่ใช่เพราะความป่วยไข้ที่เป็นอยู่
เรื่องยังพาเราไปสู่สตอล์กเกอร์หนุ่ม ที่เปลี่ยนจากการติดตามหญิงสาวคนหนึ่งไปสู่การสั่งทำตุ๊กตาของเธอ ตุ๊กตาที่เขาจะทำอะไรกับมันก็ได้ โดยที่หญิงสาวคนต้นแบบไม่มีโอกาสจะรู้ และในที่สุดเขาก็รักตุ๊กตานั้นสุดใจ ละทิ้งการติดตามหญิงสาวคนนั้นในชีวิตจริง มันอาจจะดีต่อทุกฝ่าย ยกเว้นแต่ว่า ตามตำนานนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ ผู้ที่ถูกนำไปสร้างเป็นตุ๊กตาจะถูกตุ๊กตานั้นช่วงชิงชีวิตและตายในที่สุด ภรรยาของช่างทำตุ๊กตา และหญิงสาวผู้เป็นต้นแบบตุ๊กตาของสตอล์กเกอร์ก็มีจุดจบอย่างเดียวกัน
แม้จะไม่ใช่ไคลแมกซ์สำคัญของหนังสือเล่มนี้ แต่เรื่องของ ‘ตุ๊กตา’ ยังคงตกค้างเวียนวนอยู่ในหัวเราอีกหลายวันหลังอ่านจบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตุ๊กตาที่ถูกปฏิบัติราวกับมนุษย์ หรือมนุษย์ที่ถูกปฏิบัติราวกับเป็นตุ๊กตายาง
เรื่องของ ‘ตุ๊กตา’ ยังคงตกค้างเวียนวนอยู่ในหัวเราอีกหลายวันหลังอ่านจบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตุ๊กตาที่ถูกปฏิบัติราวกับมนุษย์ หรือมนุษย์ที่ถูกปฏิบัติราวกับเป็นตุ๊กตายาง
ลองจินตนาการว่ามีใครสักคนสร้างตุ๊กตาที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเรา แล้วใช้ชีวิตกับตุ๊กตานั้นอย่างสุขสมซาบซ่าน บางคืนเขาอาจร่วมรักกับตุ๊กตานั้นอย่างวิปริต วันดีคืนดีเขาอาจจะจัดวางร่างนั้นอย่างอ้าซ่าจ้องมองแต่ละสัดส่วนก่อนจะจุดไฟเผา หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราควรรู้สึกอย่างไรดี? เราอาจจะขนลุก เย็นสันหลัง และไม่อาจใช้ชีวิตร่วมโลกกับใครคนนั้นได้อีก โทษฐานที่บังอาจทำให้ตัวเรากลายเป็นวัตถุถึงเพียงนั้น หรือไม่ เราอาจจะอนุญาตให้เขาทำอย่างนั้นต่อไป ตราบใดที่เขาไม่มาให้เราเห็นหน้าอีกเลยในชีวิต (ขณะที่เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเราลองถามดู —“คิดไปคิดมาก็อาจจะเซ็กซี่ดี” เธอบอก)
หรืออันที่จริงเราต่างก็มี ‘ตุ๊กตา’ เป็นของตัวเอง เพียงแต่มันมาในรูปแบบที่ดูซอฟต์ใสกว่า อย่างเช่นตัวตนของไอดอลที่เราเฝ้าจินตนาการถึง แต่ทำได้มากสุดเพียงจ่ายเงินเข้าไปจับมือในระยะเวลาสั้นๆ หรือตัวละครในชีวิตจริงที่ทำได้เพียงเดินผ่านกันแต่เราก็เฝ้าฝันถึงเขาไปต่างๆ นานา หรือกระทั่งหญิงสาวในหน้าจอโทรศัพท์ที่ชายหนุ่มจดจำเอาไว้ช่วยตัวเอง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเพียงมโนภาพที่ไร้ภัยคุกคาม แต่ถามว่าน่าขยะแขยงหรือไม่ คำตอบของแต่ละคนคงต่างกัน
แต่ในแง่หนึ่ง การมี ‘ตุ๊กตา’ เป็นของตัวเอง ก็อาจจะเป็นสิ่งที่พอจะบรรเทาเราจากความรู้สึกอันรุนแรง พาเราออกห่างจากชีวิตจริงของใครคนนั้น แทนที่จะกระโจนเข้าไปทำลายบรรยากาศในโลกของเขาเมื่อไม่ได้รับรักตอบ เราเองคงพอจะมีความสุขอยู่ได้ที่บริเวณใกล้กับเส้นแบ่งระหว่าง ‘มนุษย์ปกติ’ กับโรคจิต วิปลาส ปีศาจ หรือใดๆ ก็ตามที่เขาจะนิยามกัน
ตัวละครที่โลดแล่นในครึ่งแรกๆ รวมถึงยูไดเอง จึงเวียนวนอยู่กับตุ๊กตาเสียครึ่งค่อนเรื่อง เพื่อจะพบว่าท้ายที่สุด นี่อาจเป็นเพียงเส้นทางที่ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างความเป็นมนุษย์ขี้ขลาดกับปีศาจชั่ว เป็นเพียงอารัมภบทที่หากคุณมีจิตใจซึ่งผ่องใสหรือมืดมนกว่านั้น ก็อาจจะต้องเดินทางต่อไปสู่สิ่งอื่น
เราทราบกันในภายหลังว่ายูไดเปลี่ยนความหลงใหลในตุ๊กตามาสู่การถ่ายภาพ ที่มีลักษณะของการช่วงชิงชีวิตและการกักเก็บจินตนาการชั่วขณะนั้นมาเพาะปลูกเองต่อตามใจชอบ คล้ายกันกับตุ๊กตา และภาพสำคัญที่เขาพยายามถ่ายไว้ก็คือภาพพี่สาวของตัวเอง
ตามคำบอกเล่าของตัวละคนหนึ่ง ยูไดในวัยเด็ก ได้ดูหนังเกี่ยวกับรักอีโรติกของพี่สาวและน้องชาย และเรื่องราวทำนองนั้นก็ไหลบ่าเข้าท่วมท้นจิตใจอันว่างเปล่า เขาพยายามเก็บกักพี่สาวไว้ในรูปถ่าย ซึ่งเธอสารภาพว่ามันทำให้เธอกลัวและทำลายภาพถ่ายเหล่านั้นไปจนหมด ยกเว้นแต่ภาพเดียวเท่านั้นที่เธอเลือกเก็บไว้
ยูไดเปลี่ยนความหลงใหลในตุ๊กตามาสู่การถ่ายภาพ ที่มีลักษณะของการช่วงชิงชีวิตและการกักเก็บจินตนาการชั่วขณะนั้นมาเพาะปลูกเองต่อตามใจชอบ
ระหว่างทางที่ผู้เล่าเรื่องค่อยๆ ขุดลึกลงไปในความเป็นมนุษย์ของยูได ในระยะเวลาเดียวกันนั้นผู้เล่าก็ได้พบกับ ‘อาคาริ’ พี่สาวของยูไดคนนั้น หญิงสาวผู้ลึกลับแต่ดึงดูด ทั้งคู่มีเซ็กซ์กันในที่สุด ด้วยความปรารถนาที่ระเบิดออกจากความกระอักกระอ่วน เขาต้องการทะลุทะลวงเข้าไปข้างในตัวเธออีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
นี่คือสองพี่น้องปีศาจโดยสมบูรณ์ เพียงแต่มีวิธีสูบกลืนชีวิตผู้คนไม่เหมือนกัน แต่ทันทีที่ผู้เล่าเห็นภาพถ่ายภาพเดียวที่หลงเหลืออยู่ของพี่สาว เขาก็หมดสิ้นกามารมณ์ ผละออกจากเธอที่กำลังร้อนเร่าเศร้าสร้อย และมุ่งหน้าไปหาบรรณาธิการของเขาแทบจะทันที
แล้วเรื่องก็ดำเนินเข้าสู่ครึ่งหลัง เมื่อตัวผู้เล่าตัดสินใจไปหาบรรณาธิการ เพื่อยุติการสัมภาษณ์และทำหนังสือเกี่ยวกับยูได
กว่าจะรู้ตัวว่ามีผู้รับสารจากจดหมายของยูไดมากกว่า 2 คน ก็ผ่านไปกว่าครึ่งเรื่องแล้ว กว่าจะพบว่าคำแก้ตัวของยูไดดูจะมีน้ำมีเนื้อขึ้นมาก็ตอนที่ปีศาจตนอื่นๆ เพิ่งเปิดเผยตัว
จากนั้นเราถึงจะค่อยได้ทำความรู้จักนางแบบสาวที่ถูกเผาทั้งเป็น คนแรกเป็นสาวตาบอดที่ไม่เหมือนใคร เธอรักการอ่านผ่านอักษรเบรลล์ เธอต้องการออกเดินทาง เธอไม่ต้องการให้ใครมาเป็นห่วงเป็นใย เธอถูกรักโดยชายคนหนึ่งที่เป็นห่วงเป็นใยเธอจนไม่อาจหักห้ามตนเอง แต่รักของเขาก็ไม่สามารถปกป้องเธอจากไฟคลอกได้ อีกคนหนึ่งนั้นเป็นสาวสวยผู้เต็มไปด้วยปัญหา ยูไดเล่าว่าเธอเข้าหาเขาเอง และต้องการให้เขา ‘กระทำ’ กับเธอ
ในครึ่งหลังมีปีศาจตนใหม่รอเราอยู่ เรื่องทั้งหมดพลิกผัน หญิงสาวในกองเพลิงเป็นใครกันแน่ นี่คือฆาตกรรมโดยปีศาจหรือมนุษย์ผู้อ่อนแอ กองไฟที่แผดเผาไม่ได้ถูกก่อขึ้นเพียงในสตูดิโอของยูได และไฟนั้นก็ทำให้ใครบางคนละทิ้งความเป็นมนุษย์ในฤดูหนาวที่ว่า กลายเป็นความเย็นยะเยือก ซ่านเสียว และรวดร้าวในคราวเดียวกัน
ด้วยเทคนิกการเปลี่ยนตัวผู้เล่าอย่างแนบเนียน วิธีโยงใยข้อมูลและเลือกเปิดเผยความจริงทีละชั้นอย่างชาญฉลาด แม้จะดูโต้งๆ ไปบ้างในบางจังหวะ แต่ทั้งหมดค่อยๆ ตอบคำถามที่เราคาใจทีละข้อ ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องและวิธีเล่าของผู้เขียน ไปจนถึงเหตุผลของ male gaze อันโจ่งแจ้งชวนอึดอัดไร้การปิดบัง
ผู้เขียนทำได้สำเร็จ ในการทำให้เรารู้สึกว่าหนังสือเล่มที่เราเพิ่งอ่านจบและอยู่ในมือเรามาร่วมสองชั่วโมง คือของขวัญจากปีศาจร้ายถึงใครคนหนึ่ง และชวนให้เราย้อนกลับไปอ่านหน้าแรก
—“แด่ M.M มอบให้ J.I”
ป.ล. เราอ่านเรื่องนี้จบหลังจากที่ดู Burning มาหมาดๆ และอดไม่ได้ที่จะแทนใบหน้าตัวละคร ด้วยนักแสดงจาก Burning ที่บังเอิญมีความคล้ายคลึงกันอยู่บางๆ หลายข้อ เสียดายที่ยังไม่มีโอกาสได้อ่าน ‘มือเพลิง’ ของมูราคามิ จึงไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่าจะชอบเรื่องไหนมากกว่า แต่ถ้าเป็นไปได้ อยากให้อีชางดอง (ผู้กำกับ Burning) หยิบเอา Last Winter We Parted ไปทำหนังบ้างเสียจริง
Fact Box
ฤดูหนาวเมื่อเราพราก หรือ Last Winter We Parted คือผลงานของ ฟุมิโนริ นาคามุระ ผู้เขียน ‘นักล้วง’ แปลไทยโดยพรพิรุณ กิจสมเจตน์ สำนักพิมพ์กำมะหยี่ พิมพ์ครั้งที่ 1 มิถุนายน 2561