คำถามเบื้องต้นเมื่อเกิดงานเทศกาลที่มีจุดอ้างอิงเป็นหนึ่งใน literary icon ของวรรณกรรมตะวันตกในศตวรรษที่ 20 อย่างฟรานซ์ คาฟกา คือการเดินทางข้ามบริบทจะสามารถเปิดทางให้บทสนทนาถูกสร้างใหม่โดยสัมพันธ์กับพื้นที่และผู้คนที่นี่อย่างไร รวมถึงเรื่องที่ว่า นี่เป็นประเด็นของผู้จัดงานตั้งแต่แรกบ้างหรือไม่

ใช่ว่าลำพังรสนิยมทางวรรณกรรมจะไร้ความชอบธรรมต่อการให้น้ำหนักของงาน แต่เมื่อประเด็นหนึ่งถูกเสนอผ่านองค์กรทางศิลปะวัฒนธรรม จึงหนีไม่พ้นนัยวาระขององค์กร การยึดโยงทางความคิดกับสาธารณะ (ที่เป็นพหูพจน์) ความคิดเบื้องหลัง และมุมมองต่อกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ‘ผู้ชม’ ว่าควรถูกคลี่ออกเพื่อเปิดทางต่อบทสนทนา ที่ควรไปไกลกว่าการ ‘เผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรม’ (และสุนทรียศาสตร์)

เช่นเดียวต่อกรณี Unfolding Kafka Festival 2017 ที่จัดโดยสถาบันเกอเธ่ประเทศไทย ควรเป็นพื้นที่ของการสำรวจเรื่องเล่าและความรู้ทางศิลปะในหลากมิติ โดยตั้งต้นคำถามจากฝั่งผู้ชมบนนิยามกว้างที่สุด และ ‘ผู้ชม’ ที่ว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นภาชนะรองรับข้อมูลโน่นนี่อย่างว่าง่าย โดยเฉพาะบนเงื่อนไขที่ควรระลึกว่าข้อมูลถูกคัดกรองผ่านการเมืองของมันเสมอ

แม้ว่าจะยังไม่ค่อยปรากฏให้เห็นในไทย แต่การถ่ายโอนความคิดและแบบปฏิบัติของศิลปะต่างแขนงไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น การออกนอกครรลองของเส้นตรงทางประวัติศาสตร์ การไม่ถูกฟูมฟักอยู่ในความบริสุทธิ์ของศาสตร์สาขา และไม่หมกหมุ่นอยู่กับการนิยามเรียกชื่อหรือแปะป้ายคือความสามัญของ ‘contemporary art’ ส่วนแรงบันดาลใจจากงานต้นฉบับก็เป็นน้ำพุที่ไม่แห้งเหือดของงานสร้างสรรค์

แต่คำถามสำคัญคือ แรงบันดาลใจนั้นเข้าสู่กระบวนการโยงมิติทางเวลาและพื้นที่จนกระทั่งกลายเป็นงานชิ้นใหม่หรือสร้างเรื่องเล่า/การตีความใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างไร? และมันเกิดขึ้นจริงหรือไม่? เพราะการถามหาวิธีคิด คือจุดสำคัญที่จะช่วยสร้างทางให้กับการทำงานความรู้ของสถาบันส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม ที่ควรถูกคาดหวังไม่ให้เป็นเพียงทูตวัฒนธรรมในมโนทัศน์แบบชาตินิยม

‘จิตติ ชมพี’ ริเริ่ม Kafka Festival ร่วมกับสถาบันเกอเธ่ประเทศไทยด้วยแรงบันดาลใจจากการดูงาน ‘Der Bau’ (2014) โดย Isabelle Schad และ Laurent Goldring ที่ Tanzplattform ผลงานที่ตีความจากข้อเขียนในชื่อเดียวกันของฟรานซ์ คาฟกา นั่นคือจุดเริ่มต้น Kafka Festival ในประเทศไทยปี 2015 ผลงานชื่อ ‘The Silence of Insects’ เกิดขึ้นโดยการทำงานร่วมกันระหว่างจิตติ ชมพี และโยโกะ เซยามะ (Yoko Seyama)

ผ่านมาสองปี Unfolding Kafka Festival 2017 เริ่มอีกครั้งด้วยตัวละครเดิม มีส่วนประกอบงานเพิ่มเติมเข้ามาใหม่อย่างการคัดเลือกภาพยนตร์ Kafka Went to Movies (Kafka geht ins Kino) และ K: Kafka in KomiKsการ์ตูนจาก

วรรณกรรมของคาฟกา มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการในพื้นที่โดยรอบสถาบันเกอเธ่

ตัวอย่างงานเหล่านี้จะเป็นทางตั้งต้นสำรวจการตีความงานของคาฟกา (อย่างไร? และทำไม?) หาความเชื่อมโยงทั้งภายในตัวงานนิทรรศการและตัวบท จนถึงการคลี่ดูจุดอับหรือจุดบอดของเทศกาลที่ผู้เขียนได้พบเจอ

 

 

เมื่อโรงหนังถาวรก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในกรุงปรากในปี 1907 การนั่งจ้องแสงจ้าในห้องมืดยังเป็นประสบการณ์ที่สดใหม่ การอยู่กับความกระวนวายหรือความหรรษาของการดำเนินเรื่องคงช่วยเพิ่มพูนมิติของชีวิตประจำวันอย่างมีนัยสำคัญ คาฟกาเขียนบันทึกและจดหมายหลายฉบับเล่าประสบการณ์และความคิดต่อภาพยนตร์ในมุมที่สดใสกว่างานเขียนเรื่องแต่งของตัวเอง Kafka geht ins Kin (คาฟกาไปดูหนัง) คือคอลเลกชันภาพยนตร์ที่อ้างอิงจากหนังสือชื่อเดียวกันของ Hanns Zischler ที่บรรยายถึง ‘ทิวทัศน์จากชีวิตและโลกแห่งความฝัน’ ซึ่งปรากฏต่อผู้ชมภาพยนตร์ในช่วงเวลานั้น ถูกคัดสรรโดย Stefan Droessler จากพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ในเมืองมิวนิค จนกลายเป็นหนึ่งโปรแกรมภาพยนตร์ที่จัดฉายใน Unfolding Kafka Festival 2017

การนั่งชมภาพยนตร์ที่คาฟกาเคยดูในอีกพื้นที่หนึ่งช่วยประกอบเวลา (ของภาพยนตร์) ลงบนพื้นที่ใหม่ผ่านสายตาของผู้กระทำอื่น เพื่อเข้าสู่ทางบรรจบของเวลา พื้นที่ และความทรงจำ คือวิธีการที่น่าสนใจในเทศกาล Unfolding Kafka Festival 2017 เมื่อ A Tram Ride through Prague (1908) ฉายภาพตัวเมืองปรากในยุคก่อนสงครามโลกปะทุ ผ่านสะพานบ้านเรือนการแต่งกาย ‘พื้นที่’ เมืองในอดีตไม่ได้แค่ข้ามเวลาสู่สายตาและไขว้สู่บริบทอื่นที่ผู้ชมอาจไม่สามารถยึดโยงทางประวัติศาสตร์ แต่ความเข้าใจเกิดได้จากการเคลื่อนย้ายความสัมพันธ์ตรงนี้ ที่อาจเรียกว่าเป็น ‘การอพยพและไถ่ถอนของภาพเพื่ออุบัติใหม่’

ดังเช่นเกรเกอร์ แซมซา (Gregor Samsa) ใน Metamorphosis ที่เคลื่อนย้ายตัวการกระทำและความทรงจำจากร่างหนึ่งสู่อีกร่างเพื่อมองกลับมาเห็นความจำเจของชีวิตในสายตาที่เป็นอื่น ครั้งหนึ่งทีโอดอร์ อดอร์นโน (Theodor Adorno) เคยบรรยายนวนิยายของคาฟกาว่าเป็น “ตัวบทสุดท้ายอันยึดโยงอยู่กับภาพยนตร์เงียบที่ยังเหลืออยู่” ดังเช่นที่ Metamorphosis ประกอบไปด้วยตัวละครที่เราพบได้ในงานภาพยนตร์ยุคแรก ดังเช่นที่แซมซาท่องไปในห้องนอนของเขาในเช้าวันนั้น และความสั่นสยองเมื่อครอบครัวของเขามาเคาะประตูห้อง

สำหรับคาฟกา ภาพยนตร์ทำงานคล้ายยาถอนพิษให้กับเขาในฐานะนักเขียนหนุ่ม ในช่วงเวลาอันปั่นป่วนและรู้สึกติดกับดักงานราชการอันจำเจ แต่การฉายภาพยนตร์ในเทศกาล Unfolding Kafka Festival 2017 กลับติดกับดักความเฉื่อยเนือยของระบบการทำงานด้วยตัวมันเอง ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับภาพยนตร์ควรถูกสื่อสารออกมาในทางใดทางหนึ่งอย่างกระตือรือร้นมากกว่านี้ เพราะการจัดฉายหนังในเทศการไม่ใช่แค่การวางตารางภาพยนตร์ แต่คือการต่อมิติที่เชื่อมโยงกับภาพยนตร์และตัวอ้างอิงให้อุบัติตัวออกมาเป็นภาพใหม่สำหรับผู้ชมในพื้นที่อื่น ดูเหมือนว่าการเคลื่อนย้ายอพยพของข้อมูลและภาพไม่ได้ทำงานแปลงกายได้อย่างมีชีวิตในเทศกาลเลย

งาน performance สองชิ้นในวันเปิดเทศกาล Red Peter โดย 18 Monkeys Dance Theatre และ Bio-erosion โดย Satoshi Kudo ณ บางกอกซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี อาจจะเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่คึกคักที่สุดของเทศกาล ทว่า Red Peter โดยการกำกับของจิตติ ชมพี เหมือนจะไม่ได้พูดหรือเชื่อมโยงอะไรกับการอพยพความคิดหรือภาพของคาฟกา ประเด็นอีกอย่างที่ควรถกคือ ความคิดต่อการ ‘ตีความ’ งานตามขนบเพื่อมาไขว้กับงานร่วมสมัยในการแสดง Red Peter ดูจะไปไม่เกินรูปแบบของ ‘ขนบ’ และ ‘ความร่วมสมัย’ ที่แปะติดอยู่ตรงเครื่องแต่งกายและสัญลักษณ์ดาษดื่นอย่างหัวโขนหรือชฎา ขณะที่พลังของการแสดงไม่ได้พาคนดูไปต่อ นอกจากความรู้สึกของการดูมหรสพชวนขำ (ขื่น) ต่อความเบาบางทางความคิด เมื่อเปรียบเทียบกับ Bio-erosion ที่แสดงต่อกัน งานชิ้นนี้กลับแข็งแรงกว่าในความคิดและองค์ประกอบต่างๆ การแปลความเพื่อให้ภาพอุบัติขึ้นในความคิดของคนดู ทำงานคล้ายกับกระบวนการของงานเขียนที่แตะขอบโลกของการสร้างภาพ(ยนตร์)ในมโนคติ เหมือนกับที่ ดับเบิลยู. จี. เซบาล (W.G. Sebald) เรียกว่า “cinematographic conception of writing” ที่มีผลงานวรรณกรรมของฟรานซ์ คาฟกา เป็นต้นแบบ

แต่การแสดงทั้งสองชุดคลี่ให้เห็นปัญหาของงานที่ทับซ้อนกับนิทรรศการจัดวาง SAIYAH #2.3 ของโยโกะ เซยามะ (Yoko Seyama) ที่เปิดแสดงก่อนหน้าในพื้นที่แกลเลอรีตั้งแต่เริ่มต้นเทศกาล งาน Red Peter เองที่เหมือนพยายามจะเล่นกับงานจัดวางก็ไม่ได้พางานที่มีอยู่แล้วไปไกลกว่าการแสดงในเชิงเทคนิคของแสง ส่วนช่วง Bio-erosion ต้องเคลียร์ผลงานออกจากห้อง การเห็นภาพศิลปิน (โยโกะ) ต้องขนงานติดตั้งตัวเองออกชั่วคราวทีละชิ้น ชวนสะกิดว่านี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วรึเปล่าในการจัดการผลงานและเพื่อความเป็นธรรมต่อศิลปินเจ้าของงาน

 ผลงานส่วนที่เป็นนิทรรศการ K: Kafka in KomiKs ติดตั้งรายรอบภายในและภายนอกตัวอาคารของสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย การจัดนิทรรศการไม่ได้มีอะไรน่าสนใจเกินไปกว่าฉบับการ์ตูนที่อยู่ในรูปหนังสือ แต่มีสิ่งที่สะดุดใจที่สุดคือเสาต้นหนึ่งในบริเวณโรงอาหารกับประโยคว่า “ผมรู้สึกว่าตัว K น่ารังเกียจ”

แน่นอนว่า K หนีไม่พ้นการอิงกลับไปหาคาฟกา (Kafka) หรือกระทั่งตัวละครในงานเขียนของคาฟกาเองที่มีชื่อว่า K (Joseph K) แต่ว่าทำไม ‘K’ ถึงน่ารังเกียจ? เป็นเพราะ ‘เสียง’ หรือเพราะ ‘ภาพ’ ของตัวอักษรเคที่เป็นคำหนักในภาษาเยอรมันที่เปล่งราวกับออกมาจากคอหอยซึ่งไม่ใช่ภาษาของถิ่นกำเนิด หรือภาพ K ที่มีสองขายื่นออกมานอนแผ่อยู่บนกระดาษ? หรือบางทีอาจจะเป็นการอุบัติซ้ำของความสับสนของคาฟกา นักเขียนชาวเช็กที่เขียนงานในภาษาเยอรมัน และการที่บางครั้งผลงานของ K กลับถูกโยกย้ายกลายมาเป็นผลงานวรรณกรรมเยอรมัน ในขณะที่ชาวเช็กเองอาจไม่ค่อยได้อ่านงานหรือชื่นชมงานของ K? แม้แต่ในเทศกาล Unfolding Kafka Festival 2017 ก็สนับสนุนโดยสถาบันของเยอรมัน และแทบตลอดทุกช่วงของการเอ่ยนาม K(afka) เราแทบจะไม่ได้ยินว่าก่อนหน้า K กลายร่างและอพยพมาจากพื้นที่ใด

ท้ายสุดการไถ่ถอนและอพยพควรมีเพื่อกลับคืนความคิดที่ภาพสามารถอุบัติขึ้นใหม่เพื่อกลายเป็นปัจจุบัน จึงไม่ใช่แค่ภาพหรือนาม (คาฟกา) ที่ควรถูกแปล แต่เวลาที่วนขดหรือขยายออกควรผ่านการสำรวจมิติรายรอบตัวงานที่ช่วยให้ผู้ชมในเทศกาลไม่ได้เป็นแค่ผู้ชมที่ไร้การโต้ตอบทางความคิด แต่เพียงเพิ่มตามแต้มจำนวนที่เทศกาลวางไว้

นี่อาจเป็นความท้าทายของเทศกาล Kafka ในปีต่อไป ว่าทำอย่างไรให้การไถ่ถอนและกลับมากลายเป็นภาพที่อุบัติอย่างมีชีวิตชีวา

 

 

FACT BOX:

Unfolding Kafka Festival 2017 จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 3-22 พ.ย. 2017 และจัดที่เชียงใหม่ วันที่ 24-25 พ.ย. 2017 ติดตามรายละเอียดได้ที่ http://www.unfoldingkafkafestival.com/programme/bangkok

Tags: , , , , , , , , ,