ปัญหาน้ำท่วมภาคอีสานในปีนี้รุนแรงกว่าที่ผ่านมา และน่าแปลกที่ เพราะก่อนหน้าที่น้ำจะท่วมมิดหลังคาบ้านเรือน ฝังทรัพย์สินตลอดจนชีวิตของประชาชนให้จมอยู่ใต้สายน้ำ ภาคอีสานกำลังประสบกับปัญหาภัยแล้งขั้นรุนแรง และถึงแม้ว่าตอนนี้ ในขณะที่น้ำสุดลูกหูลูกตาราวอยู่กลางมหาสมุทร หลายฝ่ายยังออกมาเตือนว่า เมื่อสิ้นช่วงน้ำท่วมแล้ว ภัยแล้งจะเผยตัวตามมาอย่างติดๆ
สถานการณ์น้ำท่วมเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า สถานีวัดระดับน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย ระดับน้ำอยู่ที่ระดับ 115.85 ม.รทก.(ม. คือเมตร และ รทก. คือระดับน้ำทะเลปานกลาง วัดจากเกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) อัตราการไหล 5,085.00 ลบ.ม./วินาที
ในวันที่ 16 กันยายน 2562 The Momentum ติดต่อสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ คำพอง เทพาคำ อดีตข้าราชการ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ถึงสถานการณ์ ปัญหา การดำเนินการต่างๆ และแผนการฟื้นฟูเยียวยาระยะสั้น-ยาว ที่เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาอุทกภัย ในจังหวัดอุบลราชธานี
คำพองกล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานีปีนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา แม้ตอนนี้น้ำเริ่มลดลง 2-3 เซนติเมตรแล้ว อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ในปีนี้พื้นที่น้ำท่วมกินบริเวณทั้งหมด 25 อำเภอ มีประชาชนได้รับผลกระทบทั้งหมด 30,000 ครัวเรือน กระทบประชากรราว 100,000 คน และระดับน้ำขึ้นเร็วกว่าเดิมมาก โดยในช่วงวันที่ 1-13 กันยายนนั้น บางวันน้ำเพิ่มสูงขึ้นร่วมเมตร จนทำให้ประชาชนที่เข้าไปเก็บข้าวของเสียชีวิตแล้วทั้งหมด 8 ราย
คำพองมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจาก 4 ปัจจัย ประการที่หนึ่ง การขยายตัวของความเจริญ อาทิ การถมที่สร้างศูนย์การค้า บ้านจัดสรร ทำให้พื้นที่รับน้ำมีน้อยลง และทำให้ทางน้ำไหลมีขนาดแคบลง รวมถึงหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่รับน้ำ ที่ต่างยกพื้นให้สูงขึ้น จึงทำให้น้ำไหลลงสู่พื้นที่ชุมชนอย่างเต็มที่
ประการที่สอง การบริหารจัดการของภาครัฐ คำพองกล่าวว่า แม้ภาครัฐมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการน้ำมากหลายหน่วยงาน ทั้งกรมเจ้าท่า กรมชลประทาน หรือแม้กระทั่งเขื่อนปากมูล แต่หน่วยที่รับผิดชอบในการเปิด-ปิดการระบายน้ำก็กลับเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งต่างคนต่างดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของตน ไม่นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจึงได้แต่ยืนมอง
ในเรื่องนี้ เว็บไซต์ Green News สัมภาษณ์ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เห็นว่า ปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก แผนการจัดการน้ำที่ไม่เหมาะสม เน้นการลงทุนในโครงการชลประทานขนาดใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในเชิงระบบนิเวศและธรรมชาติของลุ่มน้ำ
เมื่อถามถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี คำพองมองว่า หน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่บริหารจัดการน้ำในระดับชาติ ไม่มีความเกี่ยวโยงกับพื้นที่ ท้องถิ่น ทั้งมีการใช้อำนาจแบบรวมศูนย์
คำพองเน้นว่า รัฐควรกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น ให้องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และหน่วยงานต่างๆ ได้บริหารจัดการในพื้นที่ของตน ให้สามารถประกาศเตือนภัยได้เลย ไม่ต้องรอส่วนกลาง เพราะบ่อยครั้งที่มัวแต่รอการตัดสินใจจากส่วนกลาง ทำให้ปัญหาบานปลาย และทำให้ท้องถิ่นสามารถใช้งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สั่งการบุคคลากรได้ด้วยตัวเอง เพราะแต่ละพื้นที่แตกต่างกันในหลายด้าน ซึ่งส่วนกลางควรมอบอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นจัดสรรเอง รวมถึงกรณีรัฐประกาศเยียวยาให้เทศบาลละ 5 ล้านบาท คำพองมองว่า เงินจำนวนนี้ไปไม่ถึงบางพื้นที่ได้รับผลกระทบ และบางพื้นได้รับผลกระทบรุนแรงกว่ามาก การเยียวยาวิธีนี้จึงอาจจะไม่ได้ผลนัก
ประการที่สาม การประชาสัมพันธ์และการข่าวของภาครัฐ คำพองเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้สัญญาณเตือนภัยที่ติดตั้งอยู่ที่สะพานเสรีประชาธิปไตยในอำเภอเมืองใช้ไม่ได้ ไม่มีประสิทธิภาพ ภาครัฐไม่มีการติดตามระดับน้ำ ไม่มีการวิเคราะห์คาดการปัญหาล่วงหน้า จึงทำให้การประกาศภัยพิบัติล่าช้าเกินควร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีประกาศภัยพิบัติเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งที่จริงควรประกาศตั้งแต่วันที่ 27 หรือ 28 สิงหาคม จึงทำให้มีข้าวของพังเสียหาย รวมถึงผู้เสียชีวิต
ประการสุดท้าย การตัดสินใจระบายน้ำในเขื่อนช้า ตามปกติแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตัดสินใจเปิดเขื่อนตั้งแต่ช่วงเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม แต่ในปีนี้ ช่วงดังกล่าวมีปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้ชาวบ้านและภาครัฐถกเถียงกันว่าควรทำอย่างไรดี ฝ่ายชาวบ้านมองว่าให้เปิดเขื่อนเพื่อให้ปลาวางไข่และขยายพันธุ๋ ระบายน้ำและแร่ธาตุ แต่ฝ่ายรัฐกังวลถึงปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเรื้อรัง ทำให้ถึงวันที่ 28-29 สิงหาคมก็ยังไม่มีข้อตกลงที่แน่ชัด จนแล้ววันที่ 31 สิงหาคม จังหวัดอำนาจเจริญน้ำท่วมกลายเป็นทะเลไปแล้ว ค่อยตัดสินใจเปิดเขื่อน ซึ่งมันสายไปแล้ว น้ำจากหลายพื้นที่ ไหลลงมารวมกันที่อุบลราชธานี สมทบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นแอ่ง ทำให้การระบายน้ำช้า ภาครัฐจึงมีการใช้เครื่องผลักดันน้ำ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะช่วยดันน้ำได้จริง หรือยิ่งไปขวางทางระบายน้ำมากกว่าเดิมกันแน่
เช่นเดียวกับ ดร.ไชยณรงค์ ที่มองว่า ต้นเหตุหลักของอุทกภัยในครั้งนี้เกิดจากเขื่อนทดน้ำห้าตัว บนแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ที่นอกจากจะไม่ช่วยป้องกันอุทกภัยแล้ว ซ้ำร้ายยังเปิดประตูระบายน้ำช้ากว่าที่ควรจะเป็นมาก โดยเขื่อนทั้ง 5 ตัว ได้แก่ เขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนปากมูล
มองไปข้างหน้า แผนระยะสั้นระยะยาว
คำพองเสนอว่า รัฐควรแบ่งการจัดการภัยพิบัติทั้งในระยะสั้น-ยาว โดยในระยะสั้น การช่วยเหลือทางด้านสาธารณูปโภค ข้าวสาร อาหารแห้ง ถุงยังชีพ ที่พักอาศัย และระบบจัดการขยะอยู่ในเกณฑ์ดี มีความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายเข้ามามากมาย แต่เขามั่นใจว่า ปัญหาจะเกิดขึ้นอีกรอบในช่วงช่วยเหลือเยียวยา จึงเสนอให้รัฐควรยกเลิกระเบียบบางอย่าง ใช้รูปแบบการเหมาจ่ายแทนการเยียวยา หรือมอบอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งอาจจะพอบรรเทาปัญหาได้
ทั้งนี้ ในระยะสั้น ต้องเร่งดูแลด้านสาธารณูปโภค เพราะน้ำน่าจะท่วมอีกร่วม 1-2 เดือน ต้องดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เพราะในระยะเวลาขนาดนี้ น้ำท่วมก็จะเปลี่ยนเป็นน้ำเน่า ขยะจะเริ่มมา และโรคภัยไข้เจ็บจะตามติดเป็นเงา
ส่วนในระยะยาว คำพองยังยืนยันว่า ภาครัฐต้องกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นสามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนได้เอง ไม่ต้องรอส่วนกลาง ซึ่งบ่อยครั้งอืดอาดและเทอะทะ รวมถึงหน่วยงานที่จัดการเรื่องน้ำทั้งหมด ควรนำข้อมูลมาแบ่งปัน เปิดหน้าเข้าหากัน ถกเถียงพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ควรจัดตั้งคณะกรรมการกลางที่ประสานระหว่างหลายส่วนให้เข้ามามีอำนาจในการตัดสินใจ โดยเฉพาะตัวแทนของชุมชนและนักวิชาการ
ขณะที่ ดร.ไชยณรงค์ เสนอว่า ในระยะสั้น ภาครัฐควรเร่งจัดทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ และต้องแก้ไขผังเมืองไม่ให้ขยายตัวอย่างไร้ระเบียบ จนขวางทางน้ำไหล และในระยะยาว ต้องคำนึงถึงการพัฒนาการจัดการน้ำที่ยั่งยืน ต้องปลดระวางเขื่อนในลุ่มน้ำชี – มูล สภาพระบบนิเวศแม่น้ำให้กลับมามีชีวิต เพื่อให้ธรรมชาติช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัย น้ำท่วม – น้ำแล้ง
สำหรับความช่วยเหลือเร่งด่วนในเวลานี้ คำพองกล่าวว่า ความช่วยเหลือเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย จึงไม่ค่อยมีปัญหาอะไรนัก แต่ถ้าหากใครมีจิตอาสาก็แนะนำให้บริจาคแก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หรือโรงพยาบาลในพื้นที่ ทั้งนี้ ปัญหาที่จะตามมาเร่งด่วนที่สุด คือ การฟื้นฟู เยียวยา ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
คำพอง เสนอว่าภาครัฐควรใช้แผนการฟื้นฟูเยียวยาด้วยนโยบาย ผ่อนปรนแนวทางการใช้กฎหมาย และระเบียบของกระทรวง โดยคำพองยืนยันว่า ภาครัฐสามารถทำได้และเคยทำมาแล้วเมื่อช่วงน้ำท่วมปี 2545 โดยทีมงานของเขาและกลุ่มชาวบ้านจะลงพื้นที่ในทันทีที่น้ำลดเพื่อตรวจสอบและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งกับบ้านเรือน ที่ดินทำกิน ตลอดจนพืชผลทางการเกษตร และจะพยายามหาช่องทางเพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากหากรอให้ภาครัฐลงมาสำรวจเองคงล่าช้า และกว่าผู้เสียหายจะได้รับเงินชดเชยคงจะล่วงไปถึงเดือนมีนาคมของปี 2563
คำพองคาดว่าอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์น่าจะเริ่มคาดการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้บางส่วน ทั้งนี้ คำพองแสดงความคิดเห็นว่า การประเมินความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นของภาครัฐ เช่น ประตูบ้านไม้ราคาเท่านี้ กลอนประตูราคาเท่านี้และจ่ายเงินชดเชยให้ บางครั้งผู้เสียหายได้รับเงินชดเชยไม่สมเหตุผลกับความเสียหายนัก เขาจึงมองว่า หากรัฐบาลใช้การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย และเหมาจ่ายเป็นรายครอบครัวน่าจะช่วยเหลือเยียวยาได้ดีกว่า
ทั้งนี้ ภายหลังน้ำท่วม ทีมงานของเขาและเครือข่ายต่างๆ จะประชุมสรุปบทเรียนและสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ว่า มีอะไรบ้างที่ควรปรับปรุง มีอะไรบ้างที่ต้องเร่งแก้ไข ก่อนจะเสนอให้ภาครัฐพิจารณา และตัวเขาในฐานะ ส.ส. ก็จะเสนอเรื่องนี้เข้าที่ทำการของพรรค เพื่อเปิดกระทู้อภิปรายในสภาต่อไป หรือในอีกทางหนึ่งคือ เสนอให้คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัยยื่นเรื่องถึงรัฐบาลต่อไป
ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 18.25 น. ของวันที่ 16 กันยายน 2562 ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า รัฐบาลยืนยันจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย จะเร่งสำรวจคลามเสียหายและจ่ายเงินชดเชยตามระเบียบราชการ โดยหากมีผู้เสียชีวิตจะชดเชยรายละ 50,000 บาท บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 200,000 บาท เสียหายบางส่วนช่วยเหลือตามจริง 15,000-70,000 บาท รวมทั้งยังมีการช่วยเหลือจากสถาบันเฉพาะกิจต่าง ๆ เช่น ธ.ก.ส., ธอส.
อ้างอิง:
https://workpointnews.com/2019/09/16/the-government-press/
ภาพ: Krit Phromsakla Na SAKOLNAKORN / THAI NEWS PIX / AFP
Tags: น้ำท่วมอีสาน, อุบลราชธานี, น้ำท่วม