เหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีระดับน้ำสูงสุดในรอบ 17 ปีครั้งนี้ สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ภายใต้ภัยพิบัติครั้งนี้เราได้เห็นถึงการลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันอย่างแข็งขันของทั้งภาคประชาชน เอกชนห้างร้านต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี 

หนึ่งในองค์กรที่มีความสำคัญ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการช่วยเหลือประชาชนในภัยน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีครั้งนี้ก็คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยการนำของ รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีและ ผศ.ดร.กชกร เจตินัย ผู้ช่วยอธิการบดี ไม่ว่าจะเป็นการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประสานงานและให้ความช่วยเหลือ การตั้งศูนย์ความช่วยเหลือ และที่สำคัญก็คือการให้ข้อมูลข่าสารที่เป็นประโยช์แก่ประชาชน

โดยเฉพาะเว็บแอปพลิเคชัน #SaveUbon โดยมีทั้งในส่วนแผนที่ ที่คอยให้ข้อมูลอัปเดตพิกัดน้ำท่วม ถนนที่ปิดใช้งานไม่ได้ และถนนที่ใช้งานได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรและเฝ้าระวังได้ และเว็บแอปฯ #SaveUbon อันเป็นสื่อกลางข้อมูลการช่วยเหลือและบริจาคแก่ผู้ประสบอุทกภัยว่าในแต่ละพื้นที่ต้องการอะไร อยู่ที่ไหนในแบบเรียลไทม์ โดยมี ชัดชัย แก้วตา อาจารย์ประจำคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ สุรัตน์ หารวย อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ และ ดร.จารุณี อนุพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาภาษาอังกฤษ เป็นแกนนำหนัก

คืนวันที่ 8 กันยายน ในโซเชียลมีเดีย เต็มไปด้วยข่าวลือว่ามวลน้ำกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานีและอาจจะก่อให้เกิดน้ำท่วม ในกรุ๊ปไลน์ของคณาจารย์ มหาวิยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เต็มไปด้วยความกังวลและการปรึกษาหารือเพื่อเตรียมการรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น หนึ่งในนั้น คือ .ชัดชัย แก้วตา อาจารย์ประจำคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งนอกจากจะเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีเพราะเป็นสาขาวิชาที่สอนอยู่แล้ว ยังเป็นคนที่เสพข่าวจากโซเชียลฯ อยู่ตลอดเวลา 

ข่าวที่มีการแชร์กันมากในหมู่คนอุบลฯ ช่วงคืนวันที่ 8 กันยายน คือ ข่าวว่าสะพาน 100 ปีสมเด็จพระศรีนครินทร์ (ที่เชื่อมอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมือง) เริ่มจะท่วมแล้ว และด้วยความที่ไม่ชินเส้นทางประกอบกับบ้านของเขาอยู่ฝั่งอำเภอวารินชำราบแต่ต้องมาสอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ฝั่งอำเภอเมือง จึงทำให้ อ.ชัดชัยเริ่มปะติดปะต่อภาพข่าวน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีและนำมาปักหมุดลงบนแผนที่ของกูเกิลแมปเพื่อจะได้เห็นภาพรวมของสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังจะเกิดขึ้น

“มีคนแชร์มาว่าน้ำกำลังปริ่มขึ้นมาแล้ว สะพานจะท่วมแล้ว ผมเองไม่ชำนาญเส้นทาง เลยคิดว่าเราน่าจะเอาข่าวและภาพพวกนี้มาทำสารสนเทศให้คนอื่นได้มองภาพรวมทั้งอุบลฯ เหมือนที่อื่นๆ ผมก็เลยลองทำ Google Map ดู ทีแรกทำคนเดียว ปักหมุดไปตามข่าวที่มีอยู่ จากนั้นก็ประชาสัมพันธ์ออกไป ซึ่งได้รับความสนใจ ประกอบกับข้อมูลเริ่มมามากขึ้น ทำคนเดียวไม่ไหวครับ เลยเอาไปโพสต์ในกลุ่มไลน์ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เลยได้อาจารย์หลายท่านเข้ามาช่วย กลายมาเป็นทีมงานในการทำแมปและเว็บแอปฯ ครั้งนี้

ชัดชัย แก้วตา

“แจ้งในกรุ๊ปไลน์ไปว่าอยากหาคนมาช่วยปักหมุด อยากได้คนมาเป็นแอดมิน ที่สามารถจะเพิ่ม จะลบได้ เพราะถ้าเราเปิดให้ทุกคนเข้ามา ก็ไม่รู้ว่าข้อมูลจะถูกต้องหรือไม่ เลยขอเป็นคนที่รู้จักหรืออาสาสมัครจริงๆ เบื้องต้นผมไปโพสต์ในกลุ่มไลน์ของคณะ ก็ได้คนมาช่วยบ้าง บางคนก็อาจจะมาช่วยได้แค่ช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย บางคนก็ช่วยได้เต็มที่ครับ จนได้อาจารย์จารุณีจากสาขาภาษาอังกฤษมาเป็นแอดมินหลักในการทำงานครับ” ชัดชัย เล่า

หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญในการจัดการกับข้อมูลเรื่องน้ำและนำมาปักหมุดในแผนที่ในครั้งนี้ก็คือ ดร.จารุณี อนุพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาภาษาอังกฤษ เธอเล่าให้ฟังว่า

เราอยู่ในกลุ่มไลน์ของนักวิจัยจึงได้คุยกัน เหมือนตกกระไดพลอยโจนไปอยู่ในทีมโดยอัตโนมัติ (หัวเราะ) ซึ่งทีแรกเข้าใจว่าน่าจะมีคนสัก 20 คน มาช่วยกันทำตรงนี้ เพราะว่าข้อมูลเรื่องน้ำเยอะมาก แล้วก็มาหลายทางมาก ในที่สุดพอทำไปเรื่อยๆ ถึงพบว่าจริงๆ ทีมเรามีแค่ 3 คน และปัจจุบันก็ยังไม่เคยเห็นหน้ากันจริงๆ เลย อาศัยการไลฟ์คุยกัน

จารุณี อนุพันธ์

“อ.ชัดชัย กับ อ.สุรัตน์ เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ เขามองว่าเราน่าจะมีอะไรที่จับต้องได้ ใช้ง่ายทั้งคนที่เป็นแอดมิน ซึ่งอาจจะไม่ได้เก่งเรื่องเทคโนโลยีมากอย่างเรา แล้วก็ใช้ง่ายสำหรับคนทั่วไปที่สามารถเข้ามาดูข้อมูลด้วย จึงเลือกใช้กูเกิลแมป ที่เข้าถึงคนทั่วไปได้ไวที่สุด และง่ายที่สุดด้วยเพราะทุกคนมีมือถือ ตอนนั้นยังไม่มีข่าวจากจังหวัดเลย เรายังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ แต่มีภาพข่าวในโซเชียลฯ แล้วว่าน้ำกำลังจะท่วม เราจึงตัดสินใจทำแมปนี้ขึ้นมา”

สุรัตน์ หารวย

อย่างที่อาจารย์ทั้งสองคนได้เล่าไป การเลือกใช้กูเกิลแมปเพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดทั้งในการทำและเข้าถึง ที่สำคัญคือไม่มีเวลามากพอที่จะทำหรือตัดสินใจแล้ว เพราะในคืนนั้นน้ำกำลังจะท่วม โดยจารุณีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในส่วนนี้ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันเล่าให้ฟังถึงการทำงานในส่วนนี้ว่า

“ตอนแรกเราไม่รู้เรื่องระบบพวกนี้เลย ก็ถามอาจารย์ชัดชัยว่าให้คนไปปักหมุดเลยใช่ไหม ใครที่เจอน้ำท่วมตรงไหนก็ให้เขาปักเลยใช่ไหม เราเข้าใจว่าอย่างนั้น เพราะมันจะเร็วมากถ้าคนในอุบลช่วยกันปักหมุดได้ ถ่ายรูปแล้วก็ปักเลย คืนเดียวก็เสร็จ แต่อาจารย์ชัดชัยบอกว่า น่าจะต้องเป็นทีม เพราะเราไม่รู้ว่ามันเป็นข้อมูลจริงหรือไม่จริง มันต้องเช็กกลับไปกลับมา เราก็โอเค ก็เริ่มทำข้อมูล เช็กข้อมูล ปักหมุดพร้อมรูป อย่างเช่น จุดพักพิง จุดน้ำท่วม จุดสะพานขาด 

โดยข้อมูลต่างๆ ส่งมาจากทั้งในไลน์กรุ๊ปนักวิจัย เขาก็ส่งข้อมูลมาพร้อมภาพมาด้วย บางทีเราก็จะดูจากเพจอื่นๆ ในอุบลฯ มีคนส่งข้อมูลมาให้ด้วยเพราะแมปตัวนี้เริ่มกระจายไปในโซเชียลมีเดียวแล้ว จากนั้นเราก็กลายมาเป็นคนทำแมปนี้เป็นหลัก นั่งทำสามวันสามคืนติด เพราะอาจารย์ทั้งสองท่านต้องขยับไปทำเว็บแอปฯ SaveUbon แล้ว”

“เราต้องนั่งอยู่หน้าจอตลอด ไม่ได้กระดิกเลย เพราะว่าบางครั้งทางเปิดหรือทางปิดมันแวบเดียวเองค่ะ แล้วเรามองว่าบางเรื่องมันอันตรายมากนะ สมมติว่ามีภาพยืนยันจริงว่าทางเปิดแล้ว เราปักหมุดไปแล้ว แต่ไม่นานน้ำมาอีก ทางปิด ถ้าเราไม่ปักหมุดใหม่คนก็จะเข้าใจว่าทางเปิดแล้ว สัญจรได้ มันมีเรื่องหนึ่งที่สะท้อนใจเรา ก็คือมีนักศึกษาที่ขับมอเตอร์ไซค์ฝ่าน้ำเข้าไปโดยที่เป็นทางปิด แล้วโดนน้ำพัด เสียชีวิต เราเลยรู้สึกว่าข่าว-ข้อมูลมันควรจะชัดเจนกว่านี้ เราควรจะตระหนักมากกว่านี้ว่าน้ำแม้มันจะตื้น แต่มันแรงมากนะ

การทำงานในครั้งนี้ ชัดชัยเล่าให้ฟังว่าเป็นการทำงานแบบใช้ข้อมูลทั้งแบบ Cloud Sourcing คือมีคนส่งข้อมูลเข้ามายังเพจเฟซบุ๊ก ทั้งเพจส่วนตัว เพจเฉพาะกิจ เพจมหาวิทยาลัย พร้อมรูปและจุดที่น้ำท่วมหรือเกิดเหตุต่างๆ รวมไปถึงการลงพื้นที่จริงของหน่วยอาสาของมหาวิทยาลัยและส่งข้อมูลและภาพข่าวเข้ามา และการใช้ข้อมูลจากเพจต่างๆ ในอุบลราชธานีที่มีการแชร์ข้อมูลกันเป็นระยะๆ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาใช้ในการปักหมุดแมปตัวนี้ ทำให้เห็นภาพรวมทั้งจังหวัดว่าสถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละจุดเป็นอย่างไรบ้าง อันเป็นประโยชน์ทั้งต่อประชาชนทั่วไป และการเข้าไปช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเพียงวันแรกหลังจากมีการแชร์แมปตัวนี้ไปในโซเชียลมีเดียของชาวอุบลฯ ก็มีคนเข้ามาดูและใช้งานสูงกว่า 2 หมื่นครั้งเลยทีเดียว

ในช่วงแรกนั้นนอกจากการปักหมุดจุดน้ำท่วม จุดทางขาด ทางเปิด จุดพิกัดการเดินทางของน้ำต่างๆ แล้ว ยังมีการปักหมุดจุดพักพิง จุดให้ความช่วยเหลือ หรือขอความช่วยเหลือต่างๆ อีกด้วย แต่เมื่อทำไปสักระยะก็พบว่าตัวแผนที่ปักหมุดนี้ให้ประโยชน์เรื่องการบอกพิกัดน้ำท่วมหรือทางสัญจรมากกว่าในเรื่องศูนย์ให้ความช่วยเหลือ 

และนอกจากปัญหาน้ำท่วมในจุดต่างๆ แล้วปัญหาที่ตามมาก็คือการช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัยในจุดต่างๆ ซึ่งเริ่มมีข้อมูลจากทางอาสาสมัครที่ลงพื้นที่ส่งเข้ามาแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง แต่การจัดการนั้นยังไม่ทั่วถึงมากนั้น นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้ชัดชัยและสุรัตน์ผละจากการทำงานในด้านข้อมูลน้ำท่วมบนแผนที่กูเกิลแมปไปพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าเว็บแอปพลิเคชัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการบริจาคของและการขอความช่วยเหลือ โดยเว็ปแอปพลิเคชัน SaveUbon นี้จะเป็นตัวกลางด้านข้อมูลกับศูนย์ความช่วยเหลือต่างๆ ทั่วจังหวัดอุบลราชธานีว่าแต่ละศูนย์นั้นต้องการความช่วยเหลือด้านใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สิ่งของ ยารักษาโรค ฯลฯ โดยมีอาจารย์สุรัตน์เป็นผู้ดูแลหลัก

“หลักการก็จะเป็นคล้ายๆ ตัวแผนที่ครับ คือเราจะประสานงานกับหัวหน้าศูนย์ให้ความช่วยเหลือแต่ละศูนย์ให้ช่วยกรอกข้อมูล เพราะว่าหัวหน้าศูนย์เขาจะสื่อสารกับประชาชนในศูนย์นั้นได้ อย่างเช่นว่า ศูนย์ห้วยม่วงต้องการอะไร เขาก็ล็อกอินเข้ามากรอก ศูนย์ห้วยม่วงต้องการผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ไซส์  XL จำนวนเท่าไรก็กรอกไป จากนั้นกดบันทึก แล้วระหว่างกดบันทึก มันก็จะมีให้กดส่งข้อมูลไปที่ไลน์ คือเหมือนกับว่าถึงจะเป็นเว็บแอปฯ แต่มันก็เรียลไทม์เหมือนกัน 

พอเขาส่งข้อความมาปุ๊บ มันก็จะมาเด้งขึ้นที่ไลน์ของเรา เราก็ตรวจสอบ แล้วเราก็จะประชาสัมพันธ์ไปที่ศูนย์ของมหาวิทยาลัยว่า ศูนย์ห้วยม่วงต้องการผ้าอ้อมผู้ใหญ่จำนวนเท่าไร หรือในส่วนประชาชนทั่วไปเองก็สามารถเข้าดูเว็บนี้ว่าแต่ละศูนย์ต้องการหรือขาดเหลืออะไรบ้าง และเมื่อมีการส่งมอบของแล้วหัวหน้าศูนย์ให้ความช่วยเหลือที่เป็นคนล็อกอินมาแจ้งขอความช่วยเหลือว่าต้องการอะไรก็จะมาติ๊กที่แจ้งไว้ออกไป

“ผมว่ามันอาจจะไม่ใช่เทคโนโลยีที่ใหม่ คือมันก็เป็นเว็บ แต่เพียงแต่ว่ามันสามารถตอบโจทย์ในช่วงที่สถานการณ์เร่งด่วนได้ แล้วสามารถที่จะตอบโจทย์ชุมชนได้จริง ใช้จริงได้ ผมว่าอันนี้คือจุดเด่น แล้วก็อีกอย่างก็คือต้องขอบคุณประชาชนในแต่ละศูนย์ที่ให้ความร่วมมือ 

เราเข้าไปในแต่ละศูนย์ครั้งแรก เราจะพบว่าคนที่ทำงานในศูนย์ส่วนใหญ่จะเป็นคนอีกวัยหนึ่ง ซึ่งเป็นวัยที่ไม่เหมาะกับเทคโนโลยี คือมันต้องใช้มือถือน่ะครับ ไม่มีใครเปิดคอมพิวเตอร์หรอกในยามนี้ ก็เลยต้องหาเยาวชนที่อยู่ในโซนนั้นว่า ใครพอจะเป็นหัวหน้าศูนย์ในการทำเรื่องนี้ได้บ้าง

“เริ่มแรกที่เขียนแอปฯ นี้ขึ้นมา เขียนแบบอลังการมากครับ มีการทั้งรับสต๊อกและตัดสต๊อกนั่นนู่นนี่ ทีนี้พอมาดูแล้ว เอ๊ะ เราจะทำให้ชุมชนใช้เนี่ย ชุมชนเขาไม่ได้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีขนาดนั้น ก็เลยตัดหลายฟังก์ชันออก ให้เหลือแค่ฟังก์ชันง่ายๆ ตอบโจทย์ได้รวดเร็ว คือให้ผู้บริจาคกับผู้ที่ต้องการหรือว่าผู้ประสบภัยได้อุปสงค์อุปทานตรงกันครับ นี่คือหลักในการทำงานของเว็บแอปฯ ตัวนี้จริงๆชัดชัยเล่าที่มาที่ไปของเว็บแอปฯ SaveUbon

นอกจากนี้จารุณียังเล่าเสริมถึงปัญหาการทำงานที่เกิดขึ้นว่า 

“ผู้ประสานงานทุกคนไม่ใช่อยู่ในวัยอย่างพวกเรา ไม่ใช่วัยที่ชอบใช้แอปฯ หรืออาจจะใช้แอปฯ เล่นแค่ไลน์ การจะให้เขามานั่งอัปเดต บางทีเขาไม่มีเวลา เพราะว่าเขาทำงานกับชุมชนนะ หรือบางทีเขาเข้ามากรอกแล้วพอได้ของก็อาจจะลืมลบออก เราก็เลยให้ใช้ไลน์กรุ๊ปคุยกันกับผู้ประสานงานอีกทีหนึ่ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดค่ะ”

“สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกได้ถึงประโยชน์ของเว็บแอปฯ ตัวนี้ก็คือการทำงานของโรงพยาบาลวารินชำราบ เพราะว่าตัวโรงพยาบาลเองไม่มีงบประมาณสำหรับเรื่องวิกฤตฉุกเฉิน เมื่อมีเว็บแอปฯ ตัวนี้ ทำให้เขาได้มาลงข้อมูลในนี้ ว่าต้องการยาหรือสิ่งอื่นๆ ทำให้แพทย์พยาบาลสามารถมีของพายเรืออกไปให้บริการประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้ เพราะมันไม่ได้มีแค่เรื่องข้าวปลาอาหาร แต่ตอนนี้เริ่มมีเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาแล้ว และบางคนที่มีนัดพบหมออยู่แล้ว ไปโรงพยาบาลไม่ได้ ก็ต้องให้หมอพายเรือไปรักษาแทน”

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการทำกูเกิลแมปแผนที่น้ำท่วมและเส้นทางน้ำ พิกัดน้ำต่างๆ ในครั้งนี้ รวมไปถึงเว็บแอปฯ SaveUbon นอกจากการช่วยเหลือสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ยังเป็นการจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญที่จะนำไปสู่แผนฟื้นฟูและการสร้างโมเดลในการจัดการน้ำได้ในอนาคตเหมือนดังที่ชัตชัยเรียกมันว่า ‘อุบลโมเดล’ เพราะตลอดเวลาในการทำข้อมูลตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงเส้นทางน้ำทั้งหมดว่าเริ่มต้นมาจากไหน ท่วมตรงไหน ไปต่อตรงไหนบ้าง และแต่ละจุดมีสถานการณ์เป็นอย่างไร ในขณะเดียวกันตัวเว็บแอปฯ SaveUbon ก็สามารถนำไปพัฒนาได้อีกในอนาคต ไม่เพียงแค่การฟื้นฟูหรือแผนจัดการเรื่องน้ำท่วมเท่านั้น

“จริงๆ ได้คุยกับท่านผู้ช่วยอธิการฯ ไว้ ซึ่งท่านเป็นแม่ทัพหลักเลย ตอนนี้ คือเราจะถอดบทเรียนกันหลายๆ ด้านเลยครับ เพื่อทำให้มันเป็น ‘อุบลโมเดล’ ถ้าเกิดภัยอะไรต่างๆ ในอนาคตก็สามารถนำแอปฯ หรือกระบวนการนี้ไปใช้ได้ทันที เพราะถ้าไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้เราจะไม่รู้สถานการณ์จริงเลย คือคนพัฒนาโปรแกรมก็จะคิดแบบนี้ คนจะใช้งานก็คิดแบบนี้ มันไม่ตรงกัน ถือว่าในวิกฤตก็ยังมีโอกาส นั่นหมายความว่าเราได้โมเดล เราได้บทเรียนที่จะมาใช้ต่อในอนาคต หรือเพื่อที่จะไปใช้กับพื้นที่อื่น ผมมองว่าเทคโนโลยีพวกนี้มันสามารถพัฒนาต่อได้อีกเยอะมากครับ”

เราจะถอดบทเรียนกันหลายๆ ด้านเลยครับ เพื่อทำให้มันเป็น ‘อุบลโมเดล’ ถ้าเกิดภัยอะไรต่างๆ ในอนาคตก็สามารถนำแอปฯ หรือกระบวนการนี้ไปใช้ได้ทันที เพราะถ้าไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้เราจะไม่รู้สถานการณ์จริงเลย

“ผมว่าถ้าเราสามารถถอดบทเรียนออกมาได้ว่า น้ำมันมาอย่างไร มันไปที่ไหนบ้าง มวลน้ำขนาดไหนถึงจะท่วมจุดไหนได้บ้าง อันนี้คือประเด็นที่ 1 ประเด็นที่ 2 ลักษณะของการท่วม ท่วมระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ระยะที่ 3 พื้นที่ที่กระทบแต่ละพื้นที่ หรือว่าแต่ละจุดควรอพยพอย่างไรนะครับ และประเด็นที่ 3 สิ่งของที่จะต้องเข้าไปบรรเทาทุกข์ควรจะมีอะไรบ้าง คือเราจะต้องถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ นำเอาข้อมูลต่างๆ จากการทำงานมาสร้างเป็นองค์ความรู้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการจัดการหรือเทคโนโลยี

“เพราะโดยตัวแมปที่เราทำกันก็จะรู้ว่า น้ำมันเริ่มมาจากตรงไหน จุดไหนบ้างที่มีผลกระทบ ทั้งหมดนี้มันจะเป็นข้อมูลที่จะนำไปถอดบทเรียนเรื่องน้ำท่วมได้ หรือแม้แต่เว็บแอปฯ เรื่องของบริจาคก็สามารถนำเอาข้อมูลไปสร้างโมเดลในเรื่องของการขอบริจาคของแก่ผู้ประสบภัยได้ว่า ไม่ใช่แค่น้ำหรืออาหารนะ มันอาจจะมีอย่างอื่นด้วยไหม ในศูนย์มีเด็กเล็กไหม ต้องมีนมผงไหม

“ผมคิดว่าต้องมีหน่วยงานหลัก นั่งโต๊ะประชุมกันเลยจะถอดบทเรียนนี้อย่างไร จะสร้างเป็นอุบลโมเดลอย่างไร ถ้ามีเหตุการณ์ครั้งต่อไปไม่ว่าจะที่อุบลฯ หรือที่ไหน เราจะได้เอาโมเดลนี้มาใช้ได้อย่างทันท่วมที เหมือนเหตุการณ์หมูป่า สุดท้ายเขาก็มีการถอดบทเรียนออกมา ถ้ามีงานลักษณะแบบนี้เราจะประสานไปหน่วยงานไหนได้บ้าง ซึ่งทางเราพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำไปถอดบทเรียนและสร้างเป็นโมเดลต่อไป

จากนี้ในส่วนแผนการฟื้นฟูก็คงเป็นเรื่องของจังหวัด แต่โจทย์ของเราก็คือจะทำอย่างไร เราจะเอาข้อมูลพวกนี้มาวิเคราะห์ เพื่อส่งต่อให้ทางทางจังหวัดต่อไปอย่างไร เราจะเป็นคนซัพพอร์ตในเรื่องข้อมูลมากกว่า เพื่อให้แผนฟื้นฟูหรือการทำโมเดลป้องกันในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคืองานต่อไปของพวกเราครับ”

ชัดชัยกล่าวว่าเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้มากมาย ตั้งแต่กระบวนการคิด คิดให้เร็ว แล้วก็ให้มันตอบโจทย์มากที่สุด ใช้งานได้ดีที่สุด เหมือนดังเช่นการเลือกใช้สิ่งง่ายๆ อย่างกูเกิลแมป หรือการทำเว็บแอปฯ ที่ไม่ซับซ้อนแต่ใช้งานได้ง่ายและเป็นประโยชน์ รวมไปถึงการเห็นพลังของโซเชียลมีเดียที่ทำให้สิ่งที่กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีครั้งนี้ทำขึ้นสามารถใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์และกว้างขวางขึ้น เหมือนดังที่ชัตชัยพูดทิ้งท้ายว่า

“ผมมองว่าโซเชียลฯ มีความสำคัญมาก ถ้าเกิดว่าไม่มี ผมว่าอุบลฯ หนักกว่านี้ครับ

ในขณะที่จารุณี ผู้ซึ่งจับพลัดจับผลูเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมแต่กลายมาเป็นกำลังหลักในภายหลังกล่าวว่า แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะทำให้การทำงานในการรวบรวมข้อมูลน้ำท่วมในครั้งนี้เป็นภาพใหญ่และใช้ประโยชน์ได้จริง แต่ตลอดเวลาที่เธอนั่งทำงานอยู่นั้น พบว่ามีข่าวลือมากมายที่แชร์ว่อนโซเชียลมีเดีย ซึ่งถ้าไม่เช็กข้อมูลกลับไป ก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ เพราะฉะนั้นการเช็กข้อมูลเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงมากที่สุด ชัวร์ที่สุดจะทำให้เกิดการจัดการที่เป็นประโยชน์ได้มากที่สุดในการทำงานกับโซเชียลมีเดีย 

Tags: , , , , , ,