‘น้ำ’ คือปัญหาหนึ่งที่ประเทศไทยประสบมาเป็นระยะเวลานาน หลายฝ่ายพยายามแก้ไข แต่ก็ยังไม่เกิดประสิทธิผลที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นน้ำแห้งในหน้าแล้งหรือน้ำหลากในหน้าฝน ปัญหานี้ส่งผลกระทบมาเป็นลูกโซ่ยังภาคส่วนต่างๆ

จากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน ระหว่างมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต ภายใต้โครงการรักน้ำของบริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด พยายามหาทางช่วยกันแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในชุมชนที่โคคา-โคลาใช้ผลิตเครื่องดื่มจำนวนทั้งสิ้น 6 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครสวรรค์ สุราษฏร์ธานี และปทุมธานี

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำโดยรวมในปีนี้ว่า แม้ปริมาณฝนในประเทศมีค่าเป็นกลาง เพราะไม่ได้รับอิทธิพลจากเอลนีโญและลานีญาอย่างปีก่อนๆ แต่กลางปีที่ผ่านมาก็ยังเกิดปัญหาน้ำท่วม เช่น จังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่ประสบปัญหาเป็นประจำเกือบทุกปี นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคมปีนี้มีฝนมากอีกครั้ง หลายฝ่ายจึงต้องเตรียมเฝ้าระวัง

ดร.รอยล จิตรดอน

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ ดร.รอยลอธิบายถึงการแก้ไขปัญหาน้ำที่แล้วมาว่ามักมองจากมุมวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ขาดมุมมองด้านสังคมศาสตร์ มูลนิธิอุทกพัฒน์จึงพยายามแก้ปัญหานี้โดยทำงานผสมสานวิทยาศาสตร์เข้ากับหลักสังคมศาสตร์ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีลักษณะแตกต่างกัน

ดร.รอยลอธิบายว่ามันคือการ ‘คิดแมคโคร (Macro) ทำไมโคร (Micro)’

คิดแมคโครคือต้องมีข้อมูลน้ำทั้งประเทศ ส่วนทำไมโครหมายถึงการทำศูนย์ศึกษาขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นแนวทางที่มูลนิธิทดลองทำกับพื้นที่ทิ้งร้างจนประสบความสำเร็จมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องเข้าใจธรรมชาติ ศึกษา และติดตามธรรมชาติ

นอกจากการนำแนวคิดทางสังคมศาสตร์เข้ามาผสมผสานกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ดร.รอยลยังสะท้อนว่าปัญหาหนึ่งของการจัดการน้ำที่ผ่านมานั้นเกิดจากการทำงานแบบบนลงล่าง (top-down) ในเรื่องนี้ วันเพ็ญ โล่ห์เลิศพิภพ ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงการทำงานภายใต้พันธกิจการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (water stewardship) ว่าโครงการรักน้ำทำงานในรูปแบบของสามเหลี่ยมความร่วมมือ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ เช่น มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และทำงานร่วมกับคนในชุมชน ซึ่งหากชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่สานต่อการบริหารจัดการ ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้

วันเพ็ญ โล่ห์เลิศพิภพ

วันเพ็ญยกตัวอย่างชุมชนที่โครงการรักน้ำเข้าไปทำงานด้วย เช่น ชุมชนบ้านลิ่มทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่อยู่ไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติและระบบชลประทาน ทั้งยังมีปัญหาน้ำแล้งและน้ำหลาก ต้องแก้ปัญหาด้วยการขุดสระแก้มลิง ทำคลองส่งน้ำ และถนนน้ำเดิน ขณะที่ชุมชนบางเคียน จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ที่ถึงแม้จะมีคลอง หนองน้ำสาธารณะ และประตูควบคุมระดับน้ำจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถบริหารจัดการได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะคลองและหนองน้ำตื้น ประตูควบคุมระดับน้ำชำรุด จึงต้องแก้ไขด้วยการพัฒนาหนองสาธารณะเพื่อกักเก็บน้ำสำรอง และซ่อมแซมประตูควบคุมระดับน้ำให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์มากกว่าคนในชุมชนคือคนในเมือง เพราะน้ำที่เคยหลากเข้าท่วมเมืองก็มีปริมาณน้อยลง

อีกพื้นที่หนึ่งคือลุ่มน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และบ้านแม่ตาลน้อย จังหวัดลำปาง ที่มีปัญหาเรื่องป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม ต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำในลำห้วยและลำธารบริเวณที่เป็นต้นน้ำ เพื่อกักเก็บตะกอนดินและทราย ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไป

นอกจากนี้ บางพื้นที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น ชุมชนบ้านท่าสวรรค์และบ้านโนนข่า จังหวัดขอนแก่น ซึ่งต้องแก้ปัญหาด้วยการทำระบบประปาแสงอาทิตย์เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร

ดร.รอยลอธิบายเพิ่มเติมว่าแนวทางการทำงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์อ้างอิงมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 “ในหลวงรับสั่งกับผมว่า บริหารถนนก็เหมือนบริหารน้ำ ยิ่งเราสร้างถนน รถก็ยิ่งติด เหมือนกับสร้างไฮเวย์ แต่ไม่มีถนนซอย รถมันก็ยังจะติดเหมือนเดิม น้ำท่วมเหมือนเดิม แต่ถ้าเรามีถนนซอย เวลาน้ำเยอะ มันก็แบ่งออกไปได้ ถ้าเราไม่สร้างทางลัดให้เขา สร้างที่พักให้เขา เรายังมองแต่ไฮเวย์ นั่นคือการมองจากส่วนกลาง มองจากกรุงเทพฯ ถามว่าวันนี้กรุงเทพฯ จะแก้ปัญหาอย่างไร ให้ย้อนกลับไปดูปี 2554 มันแก้ที่กรุงเทพฯ ได้ไหม ไม่ได้ ต้องแก้ที่นครสวรรค์ ต้องแก้ที่ลำปาง ต้องแก้ที่รังสิต มันต้องมี green belt แก้ปัญหาโลกร้อน ต้องเป็นกันชน”

ระหว่างการดำเนินงาน วันเพ็ญเล่าให้ฟังถึงอุปสรรคบางอย่างที่ต้องเผชิญ ซึ่งสุดท้ายแล้วกลายมาเป็นความประทับใจ ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงพื้นที่ชุมชนบางเคียน จังหวัดนครสวรรค์ ที่ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าคนที่เข้าไปไม่ได้มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา เมื่อแรกที่โครงการรักน้ำลงไปยังพื้นที่จึงเกิดความคิดว่าจะเข้าไปหลอกเขาแน่ๆ และมูลนิธิอุทกพัฒน์คงไม่ทำจริง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครแก้ปัญหาได้จริงๆ แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป หากมีใครมาบอกว่าโครงการน้ำไม่มีประโยชน์ ชาวบ้านจะเป็นคนที่ขึ้นมาพูดแทนองค์กรต่างๆ ด้วยตัวเอง เพราะทำแล้วได้ผลจริง

สำหรับคนในเมืองที่อยากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำ จะช่วยอะไรได้บ้าง? ตัวแทนภาคประชาชนอย่าง ติ๊ก-เจษฏาภรณ์ ผลดี ให้ตัวอย่างที่เราทำกันได้ง่ายๆ เช่น ในฐานะคนที่ใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม ควรคำนึงเสมอว่าการกระทำใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการขยะในชีวิตประจำวัน หรือการไปท่องเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติ ล้วนสร้างผลกระทบเชื่อมโยงต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัว

“ผมอยากให้เรามองทุกอย่างว่าเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันหมด เรามักได้ยินวลี ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ ในฐานะคนกรุงเทพฯ เราสามารถสร้างแรงบันดาลใจและแรงผลักดันได้”

ปัญหาน้ำเป็นปัญหาระดับประเทศที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง การแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืนจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หรือที่เรียกว่า ‘สามเหลี่ยมความร่วมมือ’ อันได้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคน

ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างเป็นเรื่องยากและไม่สามารถทำได้ในทันที แต่หากมุ่งการแก้ไขและการพัฒนาไปที่ระบบย่อยหลายระบบรวมกัน ย่อมส่งผลให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

Tags: ,