จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อตัวละครหญิงจากวรรณกรรมคลาสสิกของจีนจากสองยุคสมัยมาเจอหน้ากัน
เก๋งโบตั๋น (จากวรรณกรรมจีน หมู่ ตัน ถิง หรือ The Peony Pavilion) มีตัวละครหญิงสาว ชื่อ ‘ตู้ ลี่เหนียง’ ลูกสาวผู้ว่าการอำเภอ เป็นสาวงามแสนชาญฉลาด แต่กลับต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านเพื่อเย็บปักถักร้อยและเรียนคัมภีร์บทกวีโบราณของจีนกับอาจารย์ที่มาสอนถึงบ้าน ในบรรยากาศสังคมศักดินาที่มีข้อกำหนดควบคุมชีวิตสตรีอย่างเข้มงวด
เมื่อได้อ่านบทกวี เธอก็คิดฝันเพ้อถึงการมีความรัก และเมื่อได้ลองแอบเดินออกไปชมสวนหลังบ้านตามคำชวนของหญิงรับใช้คนสนิท เธอก็ได้พบความงามของดอกโบตั๋นและดอกไม้นานาชนิด ความงามอันแสนสดชื่นทำให้เธอรู้สึกเศร้าใจว่า วัยหนุ่มสาวนั้นเปรียบเหมือนฤดูใบไม้ผลิ หากผ่านเลยไปแล้วขณะที่ยังต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านก็น่าเสียดาย
ความเศร้านั้นตกค้างจนเธอถึงกับเก็บไปฝัน และได้พบชายหนุ่ม หลิ่ว เหมิ้งเหมย ที่พูดจาเข้าอกเข้าใจต่อความกังวลที่ว่านี้ของเธอ จนกระทั่งเธอตกหลุมรักเขา และเมื่อเธอถูกปลุกให้ตื่น เธอกลับยังติดอยู่ในรักนั้น เฝ้ารอวันที่จะได้พบชายหนุ่มในสวนในวันข้างหน้า แม้ชีวิตจะหาไม่แล้วก็ตาม
ส่วนเรื่อง ม่านประเพณี (จากตำนาน เหลี่ยงจู้ หรือ The Butterfly Lovers) เป็นเรื่องเกี่ยวกับตำนานคู่รักชาวจีนในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันออก ฝ่ายชายชื่อ เหลียงซานปั๋ว และฝ่ายหญิงชื่อ จู้อิงไถ่ หญิงสาวซึ่งปลอมเป็นชายเพื่อเข้าไปเรียนในหอบัณฑิตและมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับซานปั๋ว ทั้งสองรักกันแต่มีอุปสรรคที่ทำให้ไม่อาจครองรักและใช้ชีวิตคู่ด้วยกันได้ ความตรอมใจทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจฆ่าตัวตายไปด้วยกัน แล้วกลายไปเป็นผีเสื้อ
เก๋งโบตั๋น นิยมเอามาแสดงเป็นงิ้วหลายต่อหลายครั้ง ส่วน ม่านประเพณี นอกจากแสดงงิ้วแล้ว ก็มีการนำมาแสดงเป็นละครลงจอโทรทัศน์ ผลิตซ้ำหลายเวอร์ชัน จนทำให้คนไทยรู้จักกันดี
ขวงฉี ฝันนี้มี ‘เธอ’ (Kuang Qi) ละครเวทีโดย คณะ M.O.V.E. Theatre ของไต้หวัน ได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมจีนคลาสสิกทั้งสองเรื่อง แต่เป็นการหยิบเอาวรรณกรรมคลาสสิกมาตีความในรูปแบบใหม่ ทั้งการผสมผสานสองเรื่องเข้าด้วยกัน แถมยังบิดเนื้อเรื่องให้แปลกไปจากความคาดหวังเดิมของคนดู เพราะครั้งนี้ ตู้ ลี่เหนียง (ตัวละครเอกจาก เก๋งโบตั๋น) ไม่ได้ฝันถึง หลิ่ว เหมิ้งเหมย หนุ่มหล่อผู้เรียบร้อย แต่ฝันถึง จู้ อิงไถ (ตัวละครเอกหญิงจาก ม่านประเพณี) ผู้มาปรากฏตัวในเครื่องแต่งกายของบุรุษ
ใช่แล้ว การพบเจอนี้นำไปสู่ความสัมพันธ์ในแบบที่ทีมงานขวงฉี เรียกว่ามันคือละคร Y จากไต้หวัน ซึ่ง Y ในที่นี้หมายถึง Yuri ที่เราใช้นิยามความสัมพันธ์ตัวละครหญิงรักหญิง
ความพิเศษน่าติดตามของ ขวงฉี ก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่ M.O.V.E. Theatre ซึ่งโดยปกติทำการแสดงแบบ physical theatre (การแสดงที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายของนักแสดง) มาร่วมงานกับศิลปินงิ้วโบราณแบบคุนฉวี่ (Kunqu) ละครงิ้วที่ได้รับการพัฒนาและผสมผสานจังหวะเพลงทางใต้ที่ละมุนกับเพลงทางเหนือที่กระชับ จนกลายมาเป็นท่วงทำนองการร้องแบบ ‘หินลับน้ำ’ และมีองค์ประกอบภาษาถิ่นและดนตรีพื้นบ้านเป็นจุดเด่นในการร้องรำ จึงนำเอาความ ‘ใหม่’ และ ‘เก่า’ มาหลอมรวมเข้าด้วยกัน
และเพราะมีความโดดเด่นด้านดนตรี จึงทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ ขวงฉี จะนำมาแสดงในรูปแบบ music theatre ซึ่งให้ความสำคัญกับดนตรีมากพอกันกับเรื่องราวที่ดำเนินไปในละคร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Lin Kuei-ju ภาควิชาดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัย Shih-Chien ซึ่งเป็นผู้กำกับดนตรีประจำคณะ ได้ร่วมงานกับ Wu Cheng-han ทดลองนำเอาดนตรีงิ้วคุนฉวี่ที่ว่านี้ มาผสมกับเครื่องประกอบจังหวะของตะวันตก จนเกิดเป็นท่วงทำนองใหม่ที่สะท้อน ‘แรงปรารถนาของตัวละครซึ่งถูกบรรทัดฐานของสังคมตีกรอบ’ ได้เป็นอย่างดี
ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ หัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงเหตุผลที่ละคร ขวงฉี ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนจากไต้หวันมาจัดแสดงนอกประเทศเป็นครั้งแรกใน Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM) Showcase ว่า
“วงการศิลปะร่วมสมัยของไต้หวันปัจจุบันคึกคักมาก มีงานหลากเนื้อหาและหลายรูปแบบ การจะเลือกมา BIPAM เพียงหนึ่งงานจึงเป็นเรื่องยาก สุดท้ายแล้วเราก็เลือกงานแบบ ‘เรื่องเก่าเล่าใหม่’ ที่มีลักษณะการทำงานข้ามสาขา เป็นงานสร้างสรรค์ของคณะละครร่วมสมัย ซึ่งเนื้อหาสะท้อนบริบททางสังคมปัจจุบันของประเทศแรกในเอเชีย [ไต้หวัน] ที่คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย และรูปแบบของ music theatre ซึ่งคอดนตรีก็ฟังได้ และแฟนละครก็ดูดี ที่เราไม่ค่อยได้ชมกันในประเทศไทย ผมเชื่อมั่นว่า ‘งานหลายเด้ง’ แบบ ขวงฉี ฝันนี้มี “เธอ” น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะไหนๆ เราก็ชอบไปเที่ยวไต้หวัน และเพื่อนไต้หวันก็ชอบมาเที่ยวเมืองไทยกันอยู่แล้ว”
การจัดแสดงละครเวทีครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกระทรวงวัฒนธรรมประเทศไต้หวัน สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
ขวงฉี ฝันนี้มี “เธอ” ทำการแสดงที่ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็น รอบต่างๆ ดังนี้
วันพุธและพฤหัสบดีที่ 15 และ 16 พฤศจิกายน 2560 เวลา 19.30 น.
วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2560 เวลา 14.00 น. และ 20.00 น.
แสดงเป็นภาษาจีนและไทย และมีคำแปลภาษาอังกฤษฉายประกอบ
ราคาบัตร 600 บาท (นักเรียน นักศึกษา 300 บาท ศิลปินและผู้ชมอายุไม่เกิน 27 ปี 400 บาท)
จองบัตรที่ www.BangkokTheatreFestival.com หรือ 08 1559 7252 และ 0 2218 4802
อ้างอิง:
ข้อมูลและรูปจาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์การแสดงร่วมสมัยจากไต้หวันเรื่อง ขวงฉี ฝันนี้มี “เธอ”
http://mobile.thai.china.com
http://www.cim.chinesecio.com
FACT BOX:
นอกจากการแสดงต่างๆ ใน BIPAM แล้ว ยังมีกิจกรรมและการแสดงอื่นๆ ที่น่าสนใจในเทศกาลละครกรุงเทพฯ (Bangkok Theatre Festival) ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 2-19 พฤศจิกายนนี้อีกมากมาย หนึ่งในเรื่องที่คนจับตามองกันก็คือ ละครพูด บางกอกโน้ตส์ – สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่น
Tags: ไต้หวัน, ละครเวที, Kuang Qi, ละครเพลง, Taiwan, M.O.V.E. Theatre, BIPAM, Bangkok Theatre Festival, Theater, Culture