กรณ์ จาติกวณิชอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในยุคหนึ่ง และอดีตขุนคลังในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (..2551 — 2554) ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 จากนั้นไม่นาน กรณ์ได้จัดตั้งพรรคการเมืองแนวสตาร์ตอัพในนามพรรคกล้าที่เพิ่งจดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ไม่นาน

ครั้งนี้ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจติดลบหนักหน่วงทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย The Momentum ได้โอกาสสนทนากับกรณ์ที่อยากบอกเล่าถึงแนวความคิดของพรรคกล้ากับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘soft power’ ที่เขานิยามว่าพลังสร้างสรรค์

หากเขากล้าเอ่ยปากพูด เราก็ควรกล้ารับฟัง ส่วนจะฟัง(หรืออ่าน)แล้ว มีความคิดเห็นคล้อย หรือเห็นค้าน จะเห็นว่าแนวทางน่าสนใจ หรือไม่มีอะไรใหม่เลยย่อมสุดแท้แต่วิจารณญาณของผู้เสพสารแต่ละท่าน

อานุภาพแห่งพลังสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม

ไม่มีใครอาจปฏิเสธได้ว่า อิทธิพลของวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี (K-Pop) ที่ถือเป็น soft power ได้รับความนิยมและมีอิทธิพลต่อคนไทยอย่างมาก โดยเฉพาะวงบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป หรือซีรีส์เกาหลี ซึ่งสร้างความชื่นชม ชวนติดตาม และอยากเลียนแบบ กลายเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่เกาหลีใต้ส่งออกไปทั่วโลกอย่างเป็นล่ำเป็นสันตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

ในบ้านเรา นับจากซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกๆ อย่างสงครามแห่งความรัก’ (All About Eve) ‘รักนี้ชั่วนิรันดร์’ (Autumn in My Heart) หรือแดจังกึม’ (Dae Jang Geum) กับอีกมากมายนับไม่ถ้วนจนถึงทุกวันนี้ หรือภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง ‘Parasite’ ที่ก้าวไกลไปถึงระดับภาพยนตร์เอเชียเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (2019) รวมถึงรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย และแน่นอน ขาดไม่ได้คือบรรดาวงเคป๊อปทั้งบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป จากยุคของดงบังชินกิ’ ‘Girls’s Generation’ ไปจนล่าสุดเช่นวง ‘BTS’ และสี่สาวจาก ‘Blackpink’ ล้วนแต่เป็นสื่อทางวัฒนธรรมที่คนไทยอ้าแขนรับอย่างเต็มใจ

วัฒนธรรมบันเทิงที่นอกจากจะเป็นสินค้าส่งออกที่สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจและสร้างรายได้ภายในประเทศนั้นแล้ว มันยังมีส่วนส่งผลทางจิตวิทยาเชิงชาตินิยมให้แก่ชนในชาตินั้นไปในตัว

พลังสร้างสรรค์ส่งเสริมเศรษฐกิจ จากมุมมองของพรรคกล้า

พรรคน้องใหม่อย่างพรรคกล้า ที่วางสถานะไว้ว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ เล็งเห็นถึงการส่งเสริมพลังสร้างสรรค์หรือ soft power ว่าจะสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจในระยะยาวและสร้างความภูมิใจในความเป็นไทย จึงได้กำหนดประเด็นนี้เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของพรรค

ก่อนหน้านี้ทางพรรคได้จัดระดมความเห็นคนทำงานในวงการสื่อภาพยนตร์ไปแล้ว เพื่อสรุปเรียบเรียงเป็นนโยบายเบื้องต้น  มีประเด็นที่น่าสนใจจากการระดมความเห็นครั้งนั้น คือหากเราต้องการเงิน 1,000 ล้านบาท เราไม่จำเป็นต้องผลิตรถยนต์เพื่อขาย 1,000 คัน แต่หนังเรื่องหนึ่งก็สามารถสร้างมูลค่าระดับนั้นได้

นั่นหมายถึงถ้าหากภาพยนตร์เรื่องนั้นจุดกระแสติด สร้างความนิยมถล่มทลาย กลไกทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าเชิงการท่องเที่ยว (เช่น การตามรอยโลเคชั่นในภาพยนตร์) การขายสินค้า ฯลฯ ก็จะขับเคลื่อนตามมา

กรณ์ จาติกวณิช เล่าถึงแนวคิดการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยพลังสร้างสรรค์ของพรรคกล้าว่า

ตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เราก็เริ่มจะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัว อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเทียบกับเพื่อนบ้านต่ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียน โควิดมาก็ยิ่งชัดว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ยังไม่ตอบโจทย์ต่อการสร้างความมั่งคั่งหรือมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ในเศรษฐกิจยุคศตวรรษที่ 20 เราได้ผลประโยชน์มา 30-40 ปี จากเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องเกษตรกรรมไปอุตสาหกรรม เราแข่งขันได้เพราะเรามีปัจจัยสำหรับการแข่งขันเพื่อการเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เรามีแรงงาน มีทรัพยากรธรรมชาติ มีแหล่งทุน และการเปลี่ยนแปลงของโลกก็เอื้อต่อเรา  เช่น ต้นทุนการผลิตในญี่ปุ่นสูง เขาก็ต้องหาแหล่งที่เป็นฐานการผลิตใหม่ ซึ่งต่างชาติก็หลั่งไหลมาลงทุนในไทย

แต่พอถึงวันนี้ก็ชัดว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆ มันเปลี่ยนไป จากเศรษฐกิจยุคที่เน้นเรื่องการผลิตระดับมวลชน คือใครผลิตได้มากที่สุดด้วยต้นทุนต่ำที่สุดชนะ พอเปลี่ยนมาสู่ศตวรรษที่ 21 ผู้บริโภคเริ่มที่จะแสวงหาสินค้าและบริการที่แตกต่าง เริ่มต้องการเห็นความสร้างสรรค์ มีรสนิยมและจินตนาการเรื่องการใช้ของใหม่ของแปลกที่มีคุณภาพ ผมมองว่าไทยเราจึงควรจะต้องปรับสู่ระบบเศรษฐกิจที่ต้องเติมปัจจัยใหม่เข้าไป นั่นคือเรื่องความสร้างสรรค์  ลำพังปัจจัยเดิมมันไม่พอ เพราะเรามีคู่แข่งมากขึ้น ซึ่งการเติมความสร้างสรรค์เข้าไป จะเห็นได้ว่ามันทำให้บางประเทศเศรษฐกิจเขาเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ อย่างเกาหลีใต้หรือไต้หวัน เขาเติมเข้าไปผ่านเนื้อหาเรื่องราวต่างๆ ที่ สร้างความสนใจได้”  

พลังสร้างสรรค์: ยุทธศาสตร์หลักใหม่ที่ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมบันเทิง

กรณ์ระบุว่าความสร้างสรรค์ที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่ม คือ soft power ซึ่งผมขอนิยามเป็นคำไทยว่าพลังสร้างสรรค์มันควรจะเป็นยุทธศาสตร์หลักในวันนี้ด้วยซ้ำ เพื่อนำมาเสริมพลังให้เศรษฐกิจเดิมของเราคือภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าเพิ่ม 

แต่พลังสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่เรื่องของเนื้อหาสื่อบันเทิง หนัง ละคร แต่มันคือการใช้ไอเดียเปลี่ยนในทุกมิติ อย่างเช่นการจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร อาหาร เราก็ออกแบบดีไซน์ผลิตภัณฑ์ที่ดูดี หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งเราต้องเริ่มจากการสร้างสังคมที่สร้างสรรค์ก่อน แล้วมาไล่ดูเป็นหมวดๆ ว่า  เราควรจะส่งเสริมกิจกรรม กิจการประเภทไหนบ้างที่บ้านเราถนัดเป็นทุนเดิม

ผมมองว่าความสร้างสรรค์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ที่ใช้การบังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ มันต้องมีความเสรี  เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความสร้างสรรค์ได้ ผมเชื่อว่าคนไทยมีความสร้างสรรค์สูงอยู่ในดีเอ็นเอของเราอยู่แล้ว แต่ยังขาดกลไกที่จะดึงตัวนั้นออกมาให้มีผลทางเศรษฐกิจ 

สิ่งแรกที่เราต้องทำก่อนคือระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการคิดอย่างสร้างสรรค์  ไม่ใช่การศึกษาที่เป็นการเรียนรู้ในสิ่งเดิมๆ ที่คนอื่นเคยคิดและประดิษฐ์มาก่อนแล้ว  ต่อมาคือเราต้องตระหนักถึงอิทธิพลของสื่อดิจิทัล ถ้าคนไทยยังเข้าถึงไม่พอก็ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ยาก ต้องส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนเข้าถึงสื่ออินเทอร์เนตให้มากที่สุด ปัจจุบันตัวเลขผู้เข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารอินเทอร์เนตในไทยมีประมาณ 70% ควรจะเพิ่มแล้วมันจะพัฒนาไปถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือการคิดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาผู้คิดด้วย  

พลังสร้างสรรค์จะต้องใช้ให้เกิดผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง  เมื่อมันใช้สร้างเศรษฐกิจได้ สร้างความภูมิใจได้ มันก็สร้างความสามัคคีการรวมพลังทางสังคม และสร้างความมั่นคงได้ตามมา

บางตัวอย่างจากอังกฤษ

พลังสร้างสรรค์เป็นยุทธศาสตร์ที่หลายประเทศนำมาใช้ ไม่ใช่แค่เกาหลีใต้ อย่างที่ยกตัวอย่างไปแล้วในตอนต้น อีกประเทศเช่นอังกฤษ พลังสร้างสรรค์ก็มีอิทธิพลมาตั้งแต่ในอดีต  เห็นได้จากวงวรรณกรรมหรือวงการละคร กวีเอกอย่างเชคสเปียร์ก็ยังมีอิทธิพลอยู่จนถึงปัจจุบัน 

ในฐานะศิษย์เก่าอ็อกซ์ฟอร์ด กรณ์เล่าถึงพลังสร้างสรรค์ของอังกฤษว่าสำหรับอังกฤษ ยุครุ่งเรืองของเขามันผ่านไปตั้งแต่หลังล่าอาณานิคม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เขาสามารถรักษาสถานะประเทศมหาอำนาจได้นานมาก เป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อความคิดของชาวโลก สำหรับประเทศที่มีประชากร 70 ล้านคน แต่มีพื้นที่น้อยกว่าเรา เขาสามารถครองพื้นที่ความคิดของคนจำนวนมากในโลกได้ และได้ส่วนแบ่งทางการตลาดสูงมาก

กรณ์ยกตัวอย่างหมวดกีฬาเช่นฟุตบอล เทนนิส ที่มีการแข่งขันเป็นฤดูต่อเนื่อง กอล์ฟก็ไปสกอตแลนด์ หรือเรื่องของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ไปจนถึงผลงานศิลปินต่างๆ อาทิ The Beatls หรือ Elton John  กระทั่งกิจกรรมประเภทการแสดงสดต่างๆ คอนเสิร์ตต่างๆ ละครเวที คุณจะเห็นว่ามันครองพื้นที่ความคิดของชาวโลกไว้มาก มีทั้งความสร้างสรรค์ของคนยุคอดีตที่สร้างมา และคนยุคปัจจุบันก็สร้างต่อ ทั้งหมดมันมีคุณค่าที่ส่งเสริมต่อเนื่องกัน

ผมมองว่าพลังสร้างสรรค์ของอังกฤษนั้นมาจากนโยบาย เช่น มาจากการสร้างลีกส์การแข่งกีฬาที่กลายเป็นแบรนด์ของอังกฤษ อย่างเช่นฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่มีมูลค่าสูง คนติดตามมาก ทั้งที่ไม่ใช่ว่าอังกฤษเตะฟุตบอลเก่งกว่าประเทศอื่น  อังกฤษชนะฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายเมื่อ 54 ปีที่แล้ว ผมพูดได้เป๊ะเลย เพราะมันเป็นเวลา 2 ปีหลังปีเกิดของผม (หัวเราะ) หรือเทนนิสวิมเบิลดันก็เริ่มที่อังกฤษ  มันเป็นเรื่องทุนเดิมที่บวกกับการบริหารจัดการที่ดี ทำให้กลายเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ

ส่วนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยนั้น กรณ์บอกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีอยู่แล้วและอยู่ในหมวดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประมาณสิบปีที่แล้ว ผมเคยเห็นตัวเลขคิดเป็น 11% ของจีดีพี อย่างภาพยนตร์ อาหาร การแสดง และว่ากันตามจริงคือมันขยายตัวได้สูงอีก

‘กล้า’ กับ ‘เศรษฐกิจสีรุ้ง’

กรณ์มองว่าสินค้าทางศิลปะวัฒนธรรมของไทยถือว่ามีต้นทุนอยู่ อยู่ที่จะทำอย่างไรในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ พรรคกล้ามองหมวดหมู่ของพลังสร้างสรรค์ที่จะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ คือ

1 งานบันเทิง 2 การท่องเที่ยว 3 อาหาร 4 กีฬาและ Esports 5 ศิลปะ 6 แฟชั่น 7 การบริการด้านสุขภาพ 8 Rainbow Economy

ข้ออื่นๆ นั้นคงไม่ต้องขยายความ เชื่อว่าทุกคนจะวาดภาพออก แต่สำหรับ ‘Rainbow Economy’ หรือเศรษฐกิจสีรุ้งนั้น อาจฟังดูใหม่สักหน่อย ซึ่งมาจากสังคมไทยในปัจจุบันที่เปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ กับกลุ่ม LGBT (กลุ่มหลากหลายทางเพศ) หากเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก

กรณ์กล่าวว่าคนกลุ่มนี้รู้ว่าประเทศไทยปลอดภัยสำหรับเขา เขาก็อยากมาเที่ยว มาอยู่ที่นี่มากขึ้น กลุ่มนี้เป็นตลาดที่ใหญ่มาก กำลังซื้ออยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลกต่อปี ส่วนของประเทศไทยก็สูง น่าจะประมาณ 20% ของส่วนแบ่งตลาดการท่องเที่ยวไทย สมมติเราทำให้การท่องเที่ยวของกลุ่ม LGBT ของเราสูงถึง 5% ของตลาดทั่วโลก ก็จะทำให้มีเงินเข้ามาเฉพาะตลาดนี้เท่านั้นถึง 1.5 ล้านล้านบาท คนกลุ่มนี้เวลาเข้ามา บริโภคอะไร ก็บริโภคสินค้าวัฒนธรรมต่างๆ ที่กล่าวมาตอนต้น

แต่ผมคิดว่าเราต้องไม่มองภาพของ LGBT เป็นผู้บริโภคอย่างเดียว การจะส่งเสริมตลาดนี้ เราต้องชัดเจนเรื่องความเท่าเทียม เรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่โฆษณาชวนเชื่อหวังว่าให้พวกเขามาเที่ยวประเทศเรา เราต้องแสดงให้เห็นว่า ในเรื่องสิทธิความเท่าเทียม เราเองก็ล้ำกว่าหลายๆ ประเทศ สำหรับพรรคกล้าเราส่งเสริมเรื่องสิทธิการสมรสเท่าเทียมคู่ชายหญิง  สิทธิการเข้าถึงประโยชน์ต่างๆ ของ LGBT  เราต้องจริงใจ สิทธิต้องมาก่อน แล้วถึงจะสร้างเศรษฐกิจได้ 

ขณะนี้มีการออกกฎหมายเพื่อสิทธิสมรสเท่าเทียม คือร่าง ...คู่ชีวิต .….และร่าง ...แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ .….ในส่วนของสิทธิการสมรสเพศเดียวกันให้เท่าเทียมชายหญิง ซึ่งก็ยังถกเถียงกันว่าอะไรดีกว่ากัน  ซึ่งส่วนตัวผมไม่ได้มองว่า ความต่างเรื่องการสมรสต่างเพศแล้วตั้งครรภ์ได้เป็นเรื่องสำคัญกว่าสิทธิการสมรสเท่าเทียม ถ้าให้เลือก ผมก็อยากให้สมรสอยู่ในกฎหมายเดียวกันดีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีสองกฎหมายกำลังจะเข้าสภา ก็ให้ถือว่าเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งก่อน

‘กล้า’ จะเดินหน้าขับเคลื่อนพลังสร้างสรรค์ได้อย่างไร

ลำพังการวางนโยบายจะไร้ประโยชน์ หากไม่มีการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง ก้าวที่สำคัญของพลังสร้างสรรค์คือการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจ (eco –system) เพราะความสร้างสรรค์จะเกิดได้เมื่อมีศูนย์รวม (hub) หรือมีกลุ่ม (cluster) ที่เชื่อมโยงกัน ให้ความคิดสร้างสรรค์หนึ่งต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มไปยังอีกผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่น

กรณ์ยกตัวอย่างแบรนด์ข้าวอิ่มโครงการส่งเสริมข้าวหอมมะลิของหมู่บ้านหนึ่งในมหาสารคามให้มีราคา ที่มีเขาเป็นเจ้าของโครงการและดำเนินการมาแล้วในระยะเวลาหนึ่งว่าเราเน้นคุณภาพข้าว แต่เราใช้พลังสร้างสรรค์ด้านแฟชั่นมาออกแบบผลิตภัณฑ์ เอาผ้าทอตามวิถีชุมชนมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์  คือการสร้างมูลค่าด้วยการเชื่อมกับแฟชั่น  เราเอาดีไซเนอร์อย่างแบรนด์ ASAVA เข้ามาช่วยออกแบบตัวบรรจุภัณฑ์  เพื่อที่ตัวแพคเกจนี้เอาไปใช้ต่อได้ในรูปแบบอื่นๆ ได้อีก อย่างเรื่องออกแบบบรรจุภัณฑ์นี่ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาเข้ามาเพิ่มมูลค่าด้วย

ผมมองว่าสิ่งที่เราคุยกัน และรัฐต้องมีส่วนร่วมก็คือการเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมข้อมูลทางแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ว่าคนกำลังนิยมอะไร กระแสคืออะไร เพื่อประมวลภาพในอนาคตว่า  สินค้าประเภทไหนจะถูกจริตต่อกระแส การเก็บฐานข้อมูลเหล่านี้ต้นทุนสูง ไม่มีผู้ประกอบการเจ้าใดเจ้าหนึ่งเข้าถึงได้ ดังนั้นรัฐต้องเป็นเจ้าภาพ และบทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งของรัฐ คือการดูแลแก้ไขเรื่องกฎหมายระเบียบต่างๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์  อย่างเรื่องหนัง ละคร ก็ควรส่งเสริมเสรีทางความคิดมากกว่าการเน้นตรวจสอบควบคุม จำกัดเนื้อหา หรือเรื่องการสร้างสรรค์สุราท้องถิ่น ที่ตอนนี้บอกว่าผิดกฎหมาย ผมว่าต้องหาดุลที่เหมาะสมให้ได้ เพราะมันเป็นภูมิปัญญาและเศรษฐกิจชุมชน

ปัญหาสำคัญคือ ขณะนี้เรื่องกลไกขับเคลื่อนพลังสร้างสรรค์ยังไม่ชัดเจนว่า หน่วยงานไหนจะเป็นเจ้าภาพ  ยังคุยกันว่า เราอยากเปลี่ยนกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงพลังสร้างสรรค์ให้ชัดไปเลย ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ให้ความสำคัญกับประเพณีวัฒนธรรมเดิม แต่ทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นพลังทางเศรษฐกิจของประเทศได้ พอมีหน่วยงานขับเคลื่อนชัดเจน หลายอย่างจะตามมา 

พลังสร้างสรรค์ไม่ได้มีแค่เศรษฐกิจ แต่มันรวมถึงสังคมและความมั่นคงด้วย  ผมว่ากระทรวงวัฒนธรรมควรเป็นกระทรวงเกรดเอ  เพื่อสร้างความรักความภูมิใจในความเป็นชาติ  ผลที่ตามมาคือคนจะมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อชาติ เพราะพลังจะพัฒนาต่อไปได้ยาก ตราบใดที่ยังมีความแตกแยกทางความคิด 

การสร้างความภูมิใจในความเป็นไทยเป็นสิ่งสำคัญ มันต้องยอมรับจริตของคนแต่ละคน ผมเชื่อว่าทุกคนรักชาติ แต่รักชาติของเขาอาจมีมิติและการแสดงออกต่างกัน เราไม่มีสิทธิบังคับว่าใครต้องแสดงออกความรักชาติด้วยวิธีนี้เท่านั้น อีกทั้งความเป็นไทยมีวิถีชีวิตบางอย่างที่ฝรั่งบางครั้งก็ไม่เข้าใจ แต่ก็โกรธเราไม่ลง มันทำให้เรามีเสน่ห์ต่างจากประเทศที่ระเบียบมันเป๊ะๆ แต่เราก็ต้องรับรู้ในข้อบกพร่องของเราด้วย เช่น เรื่องวินัย และต้องมีการปรับแก้

ทั้งนี้มันไม่ใช่แค่การส่งเสริมความแข็งแรงของพลังสร้างสรรค์ทางเนื้อหา หรือเสรีภาพทางความคิด มันยังรวมถึงการส่งเสริมทางเงินทุน การเจรจาเปิดตลาดหาคู่ค้า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการดูแลความเป็นอยู่ของคนในแวดวงเหล่านี้ก็สำคัญ รัฐควรต้องเข้ามาให้การสนับสนุน

อย่างทุกวันนี้ คนในวัยทำงานของบ้านเรามีอยู่ 40 ล้านคน เป็นคนทำงานนอกระบบ 25 ล้านคน เป็นฟรีแลนซ์อีก 10 ล้านคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมพลังการสร้างสรรค์ เราก็ต้องให้การดูแลพวกเขาด้วย คนเหล่านี้สร้างมูลค่านอกระบบจีดีพีเยอะมาก เราควรทำให้เขาเข้าสู่ระบบ และส่งเสริมให้เขาอยู่ดีกินดีในระบบได้จริงๆ รวมถึงสวัสดิการและการดูแลจากรัฐอย่างทั่วถึง ยกตัวอย่างช่วงโควิด-19 คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมถ่ายหนัง 70% ไม่อยู่ในระบบเงินเดือน พอเจอโควิดเข้าก็เจอปัญหา เบิกอะไรไม่ได้ ไม่มีอะไรรองรับการทำงานหรือความเป็นอยู่ของพวกเขาเลย ยังไม่ต้องพูดถึงการที่เขาจะมีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

นโยบายและแนวทางของพลังสร้างสรรค์เหล่านี้ เมื่อทางพรรคกล้า— ‘กล้าคิด —‘กล้าบอกแล้ว ต้องดูว่า —‘กล้า’ ทำ หรือฝ่าฟันอย่างไรให้เกิดขึ้นจริงและกลายเป็นความยั่งยืนทางเศรศฐกิจ

เพราะท่ามกลางสภาพการณ์เศรษฐกิจทรุดหนัก ที่หลายคนอาจมองว่าคุณค่าของพลังสร้างสรรค์ ดูเป็นเรื่องไกลตัวเสียเหลือเกิน หากเทียบกับการมีข้าวลงท้องให้อยู่รอดในวันๆ หนึ่ง– –ประเด็นเหล่านี้จึงนับเป็นเรื่องท้าทาย และมันอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน

Fact Box

  • กรณ์ จาติกวณิช อดีตขุนคลังสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2551 —2554) และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขาลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 (บางคนอาจจะจำภาพเขาถือไมค์ร่ำน้ำตาคลอกับเพลงรักเธอเสมอของอัสนี-วสันต์ โชติกุล ในงานเลี้ยงอำลาแบบไม่เป็นทางการนั้นได้)
  •  กรณณ์ออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่แนวสตาร์ตอัพ ในนามพรรคกล้าที่เพิ่งจดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ไม่นาน
  • ก้าวต่อไปของกรณ์และพรรคกล้าเกี่ยวกับยโยบายของ soft power ก็คือทีมกล้าจะนำเรื่องเหล่านี้มากำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งเราต้องการสร้างบรรยากาศการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ด้วย  ทางพรรคมีโครงการคน GEN กล้าจัดเวิร์คชอปเพื่อส่งเสริมพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ และวันที่ 27 สิงหาคมนี้ เราจะจัดการประชุมระดมความคิดสร้างสรรค์ทุกหมวดให้ละเอียดยิ่งขึ้น
  • ติดตามรายละเอียดการดำเนินการและโครงการต่างๆ ของพรรคกล้าได้ที่ fb: พรรคกล้า — KLA Party
Tags: ,