เมื่อจิตรกรวาดภาพเหมือนไร้ชื่อตื่นขึ้นมาจากการงีบหลับ เขาพบว่าชายไร้หน้าผู้เคยพบกันแล้วครั้งหนึ่งมาขอให้วาดภาพเหมือนให้ ชายไร้หน้านำของชิ้นหนึ่งที่เขาเคยใช้แลกเปลี่ยนด้วยมาคืน ส่วนที่เป็นใบหน้าของชายไร้หน้ามีลักษณะเป็นกลุ่มหมอกขาว ศิลปินพยายามเริ่มต้นวาดรูป แต่ก็ไม่สำเร็จ ชายไร้หน้าจึงจากไปพร้อมกับของชิ้นนั้นโดยกล่าวว่าเขาจะกลับมาอีกครั้ง และบางที ถึงตอนนั้นศิลปินอาจจะสามารถวาดรูปของเขาได้

Killing Commendatore (พิฆาตขุนพล) นวนิยายเรื่องที่ 14 ของฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ปัจจุบันก่อนจะย้อนกลับไปเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเก้าเดือนของจิตรกรวาดภาพเหมือนไร้ชื่ออายุ 36 ปีคนหนึ่ง เมื่อถูกภรรยาทิ้ง เขาก็ออกจากบ้านที่อาศัยอยู่ด้วยกัน หยุดวาดภาพเหมือน และขับรถร่อนเร่ไร้จุดหมายไปตามท้องถนน จนกระทั่งรถของเขาสิ้นอายุการใช้งาน เขาจึงย้ายไปอยู่ที่บ้านบนภูเขาของพ่อเพื่อนสมัยเรียนคนหนึ่งซึ่งเป็นจิตรกรมีชื่อเสียง จิตรกรชราไม่ได้อยู่ที่บ้านหลังนั้นแล้วเพราะย้ายออกไปอยู่ในสถานพยาบาลผู้สูงอายุ

ในระหว่างนั้น เขาได้สอนศิลปะให้กับเด็กในโรงเรียนใกล้บ้าน มีความสัมพันธ์กับหญิงที่มีสามีแล้ว และค้นพบภาพวาดที่สวยงามมีเอกลักษณ์โดดเด่นชื่อ Killing Commendatore ของเจ้าของบ้านคนเดิมซึ่งไม่เคยถูกนำออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะมาก่อนเพราะถูกซ่อนไว้ในห้องใต้หลังคา

ขณะเดียวกัน เขาก็ได้พบกับเพื่อนบ้านผู้ร่ำรวยและมีเบื้องหลังอันลึกลับที่ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อให้เขาวาดภาพเหมือนให้จนเขายอมตกลงและทั้งสองเริ่มคุ้นเคยกัน

หลังจากการค้นพบภาพวาดและกลับมาวาดภาพเหมือนอีกครั้ง ในยามค่ำคืน จิตรกรไร้ชื่อก็ได้ยินเสียงเคาะระฆังกังสดาลลึกลับล่องลอยมาจากใต้พื้นดินในป่าข้างบ้าน เขากับเพื่อนบ้านตัดสินใจตามเสียงไปจนพบระฆังกังสดาลฝังอยู่ในหลุมลึกคล้ายบ่อ เมื่อเขานำระฆังกังสดาลที่ขุดพบกลับไปที่บ้าน ก็ได้พบกับสิ่งเหนือจริงในรูปลักษณ์ขนาดเล็กของขุนพลในภาพวาด Killing Commendatore ที่นิยามว่าตัวเองคือสิ่งที่เรียกว่า “มโนคติ” (Idea)

ในช่วงที่ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องราวเหนือจริง ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างเขากับเพื่อนบ้านก็เริ่มแน่นแฟ้นขึ้น เพื่อนบ้านผู้ลึกลับค่อยๆ เปิดเผยความจริงบางส่วนของชีวิตให้จิตรกรรับรู้ เขาย้ายมาอยู่ในละแวกนั้นเพื่อเฝ้าดูเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง และต้องการให้จิตรกรวาดภาพเหมือนของเด็กหญิงคนนั้น คำขอนี้คือจุดเริ่มต้นของการผูกปมใหม่เพื่อคลายปมเดิมที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเรื่องราวของแต่ละคน

ก่อนหน้าที่ Killing Commendatore ฉบับภาษาอังกฤษจะวางจำหน่าย เนื้อหาบางส่วนของเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเบื้องหลังและชีวิตในวัยเยาว์ของจิตรกรได้ถูกแยกออกมาตีพิมพ์เป็นเรื่องสั้นชื่อ The Wind Cave ในนิตยสาร The New Yorker มูราคามิได้พูดถึงสิ่งที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องว่าบาดแผลทางอารมณ์นั้นมีสามแบบ คือแบบที่หายได้อย่างรวดเร็ว แบบที่ต้องใช้เวลานานในการรักษา และแบบที่จะติดตัวไปจนตาย เขาคิดว่าหนึ่งในหน้าที่หลักของนวนิยายคือการลงลึกไปที่รายละเอียดของบาดแผลที่ไม่เลือนหายให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะแผลเหล่านั้นคือแผลเป็น ซึ่งไม่ว่าผลออกมาจะดีหรือร้าย มันก็คือการก่อรูปชีวิตของแต่ละปัจเจกบุคคล เรื่องราวที่มีประสิทธิภาพจะชี้ให้เห็นว่าบาดแผลนั้นอยู่ตรงไหน มีขอบเขตอย่างไร (โดยมากแล้ว ผู้คนที่มีบาดแผลจะไม่ค่อยรู้ว่ามันมีอยู่) และเริ่มทำงานเพื่อเยียวยามัน

แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น Killing Commendatore เยียวยาบาดแผลที่เกิดจากอะไร? และเยียวยาแบบไหน?

สิ่งที่เห็นได้ชัดเป็นอย่างแรกจากการเริ่มเรื่องที่เล่าย้อนไปข้างหลังคือการทบทวนย้อนคิดเพื่อประเมินชีวิตของตัวละครที่อยู่ในวัยกลางคน วัยที่ชีวิตผ่านการเลือกแล้วว่าจะเป็นอะไร วัยที่หวนกลับมาคิดพิจารณาอีกครั้งว่าสิ่งที่เลือกมาแล้วนั้นถูกหรือผิด มีคุณค่าหรือไม่ อย่างไรต่อชีวิตที่เหลืออยู่

มูราคามิเลือกใช้การยกย่อง The Great Gatsby ของเอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัล (F. Scott Fitzgerald) ซึ่งเป็นนวนิยายที่มีอิทธิพลต่อตัวเขาในวัยรุ่นเป็นจุดตั้งต้นในการสำรวจบาดแผลของวัยกลางคน เขาหยิบยืมภาพของนิค คาราเวย์ (Nick Carraway) และเจย์ แกตสบี้ (Jay Gatsby) มาวางสวมลงบนจิตรกรและเพื่อนบ้านลึกลับผู้มั่งคั่ง บาดแผลจากการสมรสและหย่าร้าง บาดแผลจากรักไม่สมหวังในอดีต บาดแผลของความหวั่นไหวในอัตลักษณ์ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลง บาดแผลที่เกิดขึ้นจากประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ถูกนำเข้ามาร้อยเรียงเข้าด้วยกันเป็นประเด็นหลักของนวนิยายส่วนใหญ่ของมูราคามิ นั่นคือ “สูญหายและค้นหา” ความเจ็บปวดที่น้อยครั้งจะปริปากของชายสองคนถูกผูกเข้าหากันด้วยภาพวาด เพื่อนำไปสู่การเล่าเรื่องที่เป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง

การเกลี่ยน้ำหนักด้วยบรรยากาศของเรื่องเล่าแบบมูราคามิทำให้อิทธิพลของ The Great Gatsby ค่อยๆ เลือนหายไปจนกลายเป็นเพียงฉากหลัง สิ่งที่พบได้ทั่วไปในตัวละครเอกของมูราคามิถูกระบายลงไปอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมทางดนตรี เสื้อผ้า การดื่มกิน บุคลิกที่แสวงหาความสันโดษของตัวละครได้เปิดประตูรับการเคาะเรียกของเรื่องราวเหนือจริงเพื่อค้นหาความหมายของชีวิตและจิตใจ

การพบกับสิ่งเหนือจริงอย่างมโนคติที่อยู่ในร่างของขุนพลในภาพวาดได้นำพาตัวจิตรกรเข้าสู่ขอบเขตของความคิดแบบใหม่ ขุนพลในภาพวาดทำหน้าที่เป็นทั้งที่ปรึกษาและเป็นปริศนาของเรื่องราวอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวจิตรกร ไม่ว่าจะเป็นอดีตของเจ้าของบ้านคนเดิม อดีตของเพื่อนบ้านที่นำมาซึ่งเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับเด็กหญิงอีกคน ทั้งหมดนี้ก็คือการเปิดแผลที่เกิดขึ้นในวัยกลางคนให้เห็นชัดๆ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนของการรักษา และยาดีที่มูราคามิเตรียมไว้และบอกใบ้กับเราล่วงหน้าก็คือ “บ่อ”  แต่บ่อที่มูราคามิเตรียมไว้ไม่ได้มีแค่บ่อที่เป็นรูปธรรมเพียงบ่อเดียวเหมือนใน บันทึกนกไขลาน หากยังมีบ่อในเชิงอุปลักษณ์ให้ขุดค้นอีกหลายบ่อในภาพวาดแต่ละภาพที่อยู่ในเรื่อง

สำหรับมูราคามิแล้ว การก้าวลงไปในบ่อคือการใช้จิตสำนึกดิ่งลงไปสู่จิตใต้สำนึกเพื่อหาความหมายที่ถูกละเลยอยู่ในความมืดมิด เพื่อที่จะเข้าใจความมืดมิดนั้น บางครั้งเราต้องละทิ้งตรรกะของแสงสว่าง เมื่อใดก็ตามที่ผัสสะของเราคุ้นชินกับความมืด เราจะพบว่ารอยแผลที่ Killing Commendatore พยายามจะเยียวยาคือรอยแผลเป็นอันไม่สามารถเลือนหายที่เรียกว่า “ความทรงจำ”

Fact Box

  • ในปี 2006 ฮารูกิ มูราคามิได้ทำตามความฝันของเขาที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมสำเร็จ นั่นคือการแปล The Great Gatsby เป็นภาษาญี่ปุ่น มูราคามิเคยกล่าวถึงอิทธิพลของ The Great Gatsby ที่มีต่อตัวเขาไว้ว่า
    “เมื่อมีคนถามว่า “หนังสือสามเล่มใดที่มีความหมายที่สุดสำหรับคุณ?” ผมสามารถตอบได้โดยไม่ต้องคิดเลยว่า The Great Gatsby, The Brothers Karamazov ของฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky) และ The Long Goodbye ของเรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) ทั้งสามเล่มสำคัญต่อผมมาก (ทั้งในฐานะของคนอ่านและคนเขียน) แต่ถ้าผมต้องถูกบังคับให้เลือกเพียงเล่มเดียว ผมจะเลือก Gatsby อย่างไม่ลังเล”
  • Killing Commendatore ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาญี่ปุ่นในชื่อ Kishidancho Goroshi เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2017 และตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2018 ในขณะที่เขียนบทความนี้ ฉบับภาษาไทยยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่เชื่อว่าสำนักพิมพ์กำมะหยี่คงไม่ปล่อยให้แฟนคลับของมูราคามิรอนาน
Tags: , ,