ความปรารถนาของเธอคือตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา อย่างที่กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) เคยประกาศไว้เมื่อเดือนมกราคมปี 2019 ต่อหน้าสมาชิกพรรคเดโมแครตราว 20,000 คนที่เมืองโอคแลนด์ เมื่อครั้งเปิดตัวเป็นผู้สมัครลงแข่งขันการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดี มีใครหลายคนเรียกขานเธอว่าเป็น ‘บารัก โอบามา เพศหญิง’ เกือบยี่สิบเดือนต่อมาเธอสามารถฟันฝ่ามาได้…เกือบถึงจุดหมายที่ฝัน มายืนเคียงข้างโจ ไบเดน ในฐานะรองประธานาธิบดี
นั่นคือตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงสุดสำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่สามารถพลิกประวัติศาสตร์ 244 ปีของการเมืองอเมริกัน ผู้หญิงสามคนแรกเคยมีชื่อเข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ได้แก่ โทนี นาธาน (Tonie Nathan) จากพรรคลิเบอแทเรียน เมื่อปี 1972 เจอรัลดีน เฟอร์ราโร (Geraldine Ferraro) จากพรรคเดโมแครต เมื่อปี 1984 และซาราห์ พาลิน (Sarah Palin) จากพรรครีพับลิกัน เมื่อปี 2008 แต่ทั้งสามคนทำไม่สำเร็จ รวมถึงฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ที่เคยลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรกเมื่อสี่ปีก่อน
และพรรคเดโมแครต มีส่วนทำให้แฮร์ริสได้รับโอกาสเข้าสู่วุฒิสภา เมื่อสี่ปีที่แล้ว
แฮร์ริส—นักกฎหมายวัย 56 ปีมีความสนใจใฝ่รู้รอบด้าน มีความหลักแหลม แต่ก็อ่อนโยนและเห็นอกเห็นใจผู้คน เธอร่าเริง ตลก อ่อนไหว มีจินตนาการ และมักกระตือรือร้นกับการทดลองทำอาหารเป็นงานอดิเรก ส่วนรสนิยมด้านดนตรีนั้น เธอชอบฟังเพลงแนวฮิป–ฮอป และแร็ป
สามีชาวนิวยอร์กของเธอ—ดักลาส เอ็มโฮฟฟ์ (Douglas Emhoff) ทนายความวัย 56 ปีนั้น มีคำอธิบายสั้นๆ ว่าเธอเป็นเสมือนยาถอนพิษ ‘สำหรับผู้ชายเป็นพิษ’ อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ เขาเป็นคนตลก น่ารัก อดกลั้น และชื่นชอบอาหารจากรสมือของภรรยา ทั้งสองรู้จักกันจากการ ‘นัดบอด’ ที่เพื่อนสนิทจัดให้ หลังจากนั้นก็คบหาและแต่งงานกันเมื่อปี 2014 โดยที่เอ็มโฮฟฟ์มีลูกที่โตแล้วติดมาด้วยสองคน
กมลา แฮร์ริส เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1964 ในแคลิฟอร์เนีย เป็นบุตรสาวของศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจเชื้อสายจาไมกา—โดนัลด์ แฮร์ริส (Donald Harris) และนักวิจัยด้านมะเร็งเต้านม—ชยามาลา โกพาลาน (Shyamala Gopalan) ผู้เป็นแม่มีเชื้อสายทมิฬจากเมืองมาดราสของอินเดีย อพยพมาอยู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1960 ทุกวันนี้พ่อวัย 82 ปีกลายเป็นศาสตราจารย์ผิวดำคนแรกของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
ในวัยเด็ก กมลา แฮร์ริสเติบโตที่เบิร์กลีย์ในบริเวณอ่าวซาน ฟรานซิสโก หลังจากที่พ่อแม่หย่าร้างกันในปี 1971 เธอต้องโยกย้ายตามแม่และน้องสาว–มายา (Maya) ไปอยู่ที่มอนทรีอัล แคนาดา
กมลามีความยืดหยุ่นในเรื่องความเชื่อทางศาสนา แม้เธอจะสืบทอดนิกายแบปทิสต์ แต่ก็ถือปฏิบัติในศาสนาฮินดูตามผู้เป็นแม่ที่เสียชีวิตไปในปี 1998 ในโลกส่วนตัวเธอใฝ่ฝันอยากเป็นแม่ครัว และมักคิดค้นเมนูแปลกใหม่อยู่เรื่อยๆ
สำหรับเธอ การทำอาหารสำหรับเธอแล้วเป็นการรับมือกับความเครียด เธอชอบเดินตลาด อ่านตำราทำอาหาร ทำอาหารให้คนใกล้ตัวได้ลิ้มลอง และเธอโชคดี ที่คนใกล้ตัวชอบอาหารที่เธอทำ
ใครที่ติดตามเธอทางโซเชียลมีเดียจะรู้ว่า นอกจากเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองแล้ว แฮร์ริสยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมนูอาหาร รวมถึงคำแนะนำต่างๆด้วย
…..
เส้นทางอาชีพของเธอมักเต็มไปด้วยการก้าวกระโดด หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโฮเวิร์ด มหาวิทยาลัยชื่อดังของคนผิวสีในวอชิงตัน ปี 1990 เธอก็ได้รับใบประกอบวิชาชีพทนายความ ช่วงเวลานั้นเธอมีสัมพันธ์รักอยู่กับนักการเมืองพรรคเดโมแครต—วิลลี บราวน์ (Willie Brown) เดือนพฤศจิกายน 2010 เธอเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นอัยการสูงสุดของซาน ฟรานซิสโก
แฮร์ริสคอยให้คำปรึกษาด้านกฎหมายให้กับคณะรัฐบาลในซาคราเมนโต เนื่องจากเธอต่อต้านโทษประหาร ต้องการให้กฎหมายเข้มงวดเรื่องอาวุธปืน และเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของคู่สมรสเพศเดียวกัน เธอจึงจัดอยู่ในแนวร่วมฝ่ายซ้าย (เสรีนิยม) แต่ความจริงแล้วเธอไม่ใช่คนดุดัน และค่อนข้างยืดหยุ่น
เจ็ดปีต่อมาเธอได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรียุติธรรมหญิงคนแรกของรัฐแคลิฟอร์เนีย ระหว่างนั้นแฮร์ริสได้รู้จักกับโจ ไบเดน เนื่องจากเธอต้องทำงานใกล้ชิดกับโบ—ลูกชายที่เสียชีวิตไปแล้วของไบเดน คำถามที่เฉียบคมของเธอเกี่ยวกับหน่วยสืบราชการลับ ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เงินงบประมาณ และความยุติธรรมทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ต้นปี 2019 แฮร์ริสลาออกจากตำแหน่งเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งที่มีเส้นชัยอยู่ที่ทำเนียบขาว เธอสอบผ่านทุกการดีเบตทางทีวี แต่มาหยุดชะงักในการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2019 เนื่องจากการสำรวจไม่ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่องและขาดเงินสนับสนุนแคมเปญของเธอ จนกระทั่งโจ ไบเดนยื่นข้อเสนอให้เธอเป็น ‘Running Mate’ ของเขา
ระหว่างการหาเสียง แฮร์ริสมักถูกนักการเมืองพรรครีพับลิกันโจมตีว่าเธอเป็นสังคมนิยมฝ่ายซ้าย ที่คอยเป็นหุ่นให้โจ ไบเดนเชิด ข้อกล่าวหาเหล่านั้นดูเหมือนจะมีประเด็นให้ใครๆ ขบคิดต่อได้ว่า จริงๆ แล้วแฮร์ริสอยู่ขั้วไหน รวมถึงคำถามว่าเธอจะทำหน้าที่รองประธานาธิบดีได้ราบรื่นไหม และเพราะวัยของไบเดนที่ชราภาพ เป็นคำถามต่อมาว่าบทบาทผู้นำรัฐบาลจะตกทอดมาถึงแฮร์ริสหรือไม่
นอกจากนั้นการเข้าทำเนียบขาวของเธอยังมีคำถามอื่นๆ อีกตามมา เช่นว่า ดักลาส เอ็มโฮฟฟ์—สามีของเธอจะถูกเรียกว่า ‘สุภาพบุรุษหมายเลขสอง’ ตามสถานะ ‘สุภาพสตรีหมายเลขสอง’ ของเธอ หรือจะเป็น ‘สุภาพบุรุษหมายเลขหนึ่ง’ เพราะมันยังว่างอยู่
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2021 เป็นต้นไป หน้าประวัติศาสตร์จะบันทึกว่ามี ‘Madame Vice President’ ครั้งแรกของสหรัฐอเมริกา
อ้างอิง:
https://kurier.at/politik/ausland/die-erste-vizepraesidentin-heisst-kamala-harris/401090205
Tags: กมาลา แฮร์ริส