ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองใหญ่ซึ่งถดถอยในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอย่างไม่มีชิ้นดี สรุปง่ายๆ ก็คือประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งจนได้ ส.ส. เป็นอันดับหนึ่งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2535 จากนั้นมา ก็เป็นพรรคที่ได้ ส.ส. มากเป็นอันดันสองในปี 2538-2554 และตกลงมาเป็นพรรคที่ได้ ส.ส.อันดับสี่ในปัจจุบัน
แม้การเป็นอันดับสองคือ “รองแชมป์” แต่ไม่มีพรรคไหนอยากเป็นรองแชมป์ตลอดกาล และสิ่งที่ไม่มีใครต้องการที่สุดก็คือการถดถอยจากรองแชมป์ที่มี ส.ส. ราว 160 และมีคนเลือกทั้งประเทศ 11 ล้าน กลายเป็นพรรคที่มี ส.ส. 52 คน จากคนเลือก 4 ล้าน หรือผู้สนับสนุนลดลง 3 เท่าตัว
ภายใต้ความถดถอยด้านคะแนนนิยมจากประชาชน จำนวนเขตเลือกตั้งหรือพื้นที่ซึ่งเคยเป็น Safe Seat ที่ส่งใครก็ชนะพลันหดหายไปด้วย ประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งภาคใต้บางเขต ทั้งที่เคยมีคำพังเพยว่า “ส่งเสาไฟยังได้” ส่วนกรุงเทพฯ ที่เคยเลือกผู้ว่าฯ ของพรรคมาทั้ง 50 เขต คราวนี้กลับไม่ชนะสักเขตเลย
พรรคการเมืองคือหนทางเข้าสู่อำนาจรัฐผ่านประชาชน ในเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คุกคามพรรคเพื่อไทยจนพรรคประชาธิปัตย์คล้ายจะเป็นพรรคใหญ่ที่อยู่รอดเพียงพรรคเดียว ความพยายามมีอิทธิพลเหนือพรรคผ่านตัวละครอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ, หม่อมอุ๋ย-ปรีดิยาธร เทวกุล, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรฯลฯ จึงมีสูงมาก ซึ่งเรื่องแบบแบบนี้แทบไม่เกิดขึ้นเลยในสถานการณ์ที่พรรคขาลง
หลังจากคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาคำพูดและลาออกเพื่อรับผิดชอบที่พรรคได้ ส.ส. ไม่ถึง 100 คน การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการเพื่อหาคณะผู้บริหารพรรคชุดใหม่ก็เกิดขึ้น ผลเลือกตั้งคือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ชนะผู้ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรครายอื่นแบบขาดลอย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ทิศทางของพรรคที่อาจเปลี่ยนแปลงไป
ประชาธิปัตย์กับจุดยืนประชาธิปไตย
ในมุมมองของคนทั่วไป ผู้ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอย่างคุณจุรินทร์ คุณกรณ์ (จาติกวณิช) คุณอภิรักษ์ (โกษะโยธิน) และคุณพีระพันธุ์ (สาลีรัฐวิภาค) เป็นคนวัย 55-63 ไม่ใช่นักการเมืองสายบู๊จนใครชนะก็ไม่น่าสนใจพอกัน แต่ในแง่การเมืองภายในประชาธิปัตย์เอง ผลเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้คือจุดเปลี่ยนของหลายเรื่องในพรรค ที่จะมีผลต่อประเทศอย่างแน่นอน
หนึ่งในปัญหาของประชาธิปัตย์คือคนจำนวนมากเห็นว่าพรรคเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ “ประชาธิปไตย” ซึ่งเกิดจากการที่พรรคตรวจสอบรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่ยุคทักษิณจนถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทั่งคนมองว่าพรรคล้มล้างนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยต่อเนื่องจนเป็นศัตรูกับ “เสียงส่วนใหญ่” ทุกกรณี
นอกจากวิธีที่พรรคทำงานกับสภาและองค์กรอิสระจะสร้างปัญหาอย่างที่กล่าวไป ท่าทีของพรรคต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในช่วงรัฐประหาร 2549 ที่ต่อมา แกนนำพันธมิตรฯ ได้เป็น ส.ส. ในการเลือกตั้งปี 2550 หรือการที่ ส.ส. พรรคร่วม “ล้มเลือกตั้ง” กับ กปปส. ก็ทำให้คนเห็นพรรคเป็นฝ่ายตรงข้ามประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน
ถ้าประชาธิปัตย์จะฟื้นฟูให้พรรคชนะเลือกตั้งจนมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล การทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าประชาธิปัตย์เป็นเรื่องเดียวกับประชาธิปไตยคือสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด ไม่อย่างนั้น ทุกนโยบายและทุกผู้สมัครของพรรคก็มีโอกาสอยู่นอกสายตาคนส่วนใหญ่จนยากจะชนะได้ ต่อให้เนื้อหาจะดีแค่ไหนก็ตาม
ชัยชนะของจุรินทร์บอกอะไรเกี่ยวกับประชาธิปัตย์ยุคใหม่?
สื่อจำนวนมากรายงานแล้วว่า คุณจุรินทร์ชนะเลือกตั้งจนเป็นหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน แต่สิ่งที่ไม่มีคนพูดถึงนักก็คือ ที่ประชุมเลือกคุณจุรินทร์เหนือผู้ชิงตำแหน่งคนอื่นๆ ที่มีความใกล้ชิดกับ กปปส. หรือถูกสงสัยว่าใกล้ชิดทั้งหมด และการที่ที่ประชุมพรรคไม่โหวตให้คุณพีระพันธ์และคุณกรณ์ ก็เป็นสัญญาณของการปฏิเสธทิศทางบางอย่างที่พรรคเคยเป็นด้วยเหมือนกัน
คุณพีระพันธ์เป็นอดีต ส.ส.ที่คนจำไม่ได้ว่ามีบทบาทอะไร ผลงานที่คุณพีระพันธ์ทำในช่วงเลือกหัวหน้าพรรค คือการเขียนจดหมายด่าสถานทูตว่าแทรกแซงกิจการภายในของไทยในกรณีที่ส่งผู้แทนไปสังเกตการณ์วันธนาธรรับทราบข้อหา คสช. ในคดี “ยุยงปลุกปั่น” ซึ่งแสดงให้เห็นความเชื่อว่า ทำแบบนี้แล้วจะมีผู้ชื่นชม
แต่เมื่อผลออกมาว่า ที่ประชุมพรรคลงมติไม่เลือกคุณพีระพันธ์ ก็อาจจะพอบอกได้ว่า พฤติกรรมสุดโต่งไม่ทำให้คุณพีระพันธ์เป็นที่ยอมรับจากคนในพรรคมากมายนัก ท่านใหม่ – พลเอกหม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ซึ่งสนับสนุนคุณพีระพันธ์เพราะความสุดโต่งจึงไม่พอใจผลเลือกตั้งนี้ แต่ผลนี้ก็ชี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์เลือกจะไม่ทำการเมืองแนวที่ท่านใหม่โปรดด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ คุณพีระพันธุ์แสดงออกโดยเปิดเผยว่าชิงหัวหน้าพรรคโดยมีคุณถาวร เสนเนียม อยู่เบื้องหลัง ความพ่ายแพ้ของคุณพีระพันธ์อาจบอกได้ว่า เสียงส่วนใหญ่ในพรรคปฏิเสธแนวทางการเมืองแบบคุณถาวร หรือยิ่งกว่านั้นคือ ชัยชนะของคุณจุรินทร์เป็นสัญญาณว่า ประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ หรือพล.อ.ประยุทธ์โดยไม่มีเงื่อนไข
คุณกรณ์เป็นผู้ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกรายที่พ่ายแพ้คุณจุรินทร์ มิหนำซ้ำในขณะที่คุณจุรินทร์ชนะคุณพีระพันธ์ด้วยคะแนน 135 กับ 82 คุณกรณ์กลับได้คะแนนเพียง 14 ซึ่งต่ำมากจนน่าตระหนก ต่อให้คุณกรณ์จะเน้นสื่อสารกับสังคมว่า ตัวเองมีผู้สนับสนุนนอกพรรคมากกว่าคุณจุรินทร์และผู้สมัครท่านอื่นก็ตาม
ในกรณีคุณกรณ์ ข่าวที่ปรากฎช่วงเลือกตั้งคือ ในการปาฐกถาที่หอการค้านครศรีธรรมราช คนแสดงความเห็นต่อคุณกรณ์เรื่องอยากให้พรรคร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ กปปส. อย่างคุณจิตรกรก็หนุนคุณกรณ์เป็นหัวหน้าพรรค กปปส. อย่างคุณจั๊ดบอกว่าคุณกรณ์ต้องนำพรรคเป็น “ขวาใหม่” ฯลฯ ภาพคุณกรณ์จึงเป็น กปปส.จนเผชิญปัญหาไปด้วยทันที
แม้คุณกรณ์จะใช้โซเชียลขยายความเห็นจากผู้สนับสนุนถึงจุดเด่นด้านการคลังและการทำงานเพื่อเกษตรกร แต่การอ้างรางวัลรัฐมนตรีคลังโลกไม่ช่วยให้เห็นว่า คุณกรณ์ทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นเมื่อเทียบกับความน่าสงสัยเรื่อง กปปส. ที่สร้างปัญหาให้คุณกรณ์ยิ่งกว่า ไม่ว่าคุณกรณ์จะชี้แจงอย่างไรก็ตาม
พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสเป็นได้ทั้งตัว “ต่อรอง” ขอเก้าอี้รัฐมนตรีกับพปชร. หรือจะไม่โหวตหนุนคุณประยุทธ์ หรือโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ มาจากพรรคอื่น แต่ที่แน่ๆ คือ การโหวตเลือกคุณจุรินทร์เป็นสัญญาณว่าพรรคมีทิศทางเปลี่ยนไป และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคที่จะทำทุกทางเพื่อร่วมรัฐบาลทหารอย่างที่เครือข่ายหนุนทหารอยากให้เป็น ส่วนการไม่โหวตให้คุณพีระพันธ์และคุณกรณ์ก็เป็นหลักฐานว่า ที่ประชุมพรรคไม่เห็นด้วยกับทิศทางการเมืองแบบแกนนำ กปปส. ที่จะนำพรรคไปประเคนให้หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกฯ โดยหนุนพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลในทุกกรณี
ความพ่ายแพ้ของเครือข่าย กปปส. ที่เกาะพรรคประชาธิปัตย์
เพื่อฉายภาพความเปลี่ยนแปลงในประชาธิปัตย์ชัดเจนขึ้น นอกจากผู้มีสิทธิลงคะแนนของพรรคจะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในทิศทางที่กล่าวไป พรรคยังเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ จากสมาชิกที่ไม่พัวพันกับการล้มเลือกตั้งปี 2557 จนเลยเถิดเป็นหางเครื่องรัฐบาลทหาร หรือน่าสงสัยว่าจะยึดพรรคไปหนุนคุณประยุทธ์ในบั้นปลาย
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกรองหัวหน้าพรรคชุดนี้ คือความพ่ายแพ้ของเครือข่าย กปปส.ทั้งหมด แม่เลี้ยงติ๊ก – ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู แพ้ในการชิงตำแหน่งรองหัวหน้าภาคเหนือ อิสระ สมชัย ชิงตำแหน่งรองหัวหน้าอีสานก็แพ้อีก ชินวรณ์ บุณยเกียรติ แพ้ตำแหน่งนี้ของภาคใต้ และอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี แพ้การชิงตำแหน่งนี้ใน กทม.
คู่ขนานไปกับการเลือกหัวหน้าพรรคที่จบด้วยความพ่ายแพ้ของผู้ที่มีภาพพัวพันกับแกนนำ กปปส. การเลือกรองหัวหน้าพรรคก็มีทิศทางปฏิเสธคนที่เป็นแกนนำขบวนการล้มเลือกตั้งปี 2557 และอาจสนับสนุนการสืบทอดอำนาจหัวหน้าคณะรัฐประหารในปัจจุบัน
ในสมาชิกซึ่งไม่ถูกเลือกทั้งสี่คน คุณอิสระคือ 1 ใน 9 แกนนำ กปปส. ที่อัยการส่งฟ้องคดีกบฎและอีก 25 ข้อหา, แม่เลี้ยงติ๊กร่วมก่อตั้ง กปปส. กับคุณถาวรและคุณอิสระ, คุณชินวรณ์คุมเวทีหลักในการยึดกรุงเทพฯ ที่ศาลาแดงและสวนลุม ส่วนคุณอรรถวิชช์คือขาประจำเวทีกปปส. จนถูกสดุดีเป็นดาวไฮด์ปาร์กของผู้ชุมนุม
แม้จะมีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ล้มเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์ใจ แต่นักการเมืองระดับ “แกนนำ” นั้นมีเหตุให้สงสัยว่า ตั้งม็อบเพราะคาดการณ์ได้ถึงแผนรัฐประหารของ คสช. โดยเฉพาะคุณสุเทพที่เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557 ว่าคุยกับคุณประยุทธ์ก่อนยึดอำนาจ จนคุณประยุทธ์ระบุว่า จะรับภารกิจ กปปส. ไปทำต่อด้วยซ้ำไป
ท่ามกลางผู้ไม่ถูกเลือกเป็นหัวหน้าซึ่งมี “วาระ” ที่อาจนำพรรคหนุน คสช. ผู้ที่ไม่ถูกเลือกเป็นรองหัวหน้าบางคนก็มีปัญหาทำนองเดียวกันนี้ คุณอรรถวิชช์คืออดีต ส.ส. ที่หนุนพรรคร่วมรัฐบาลกับคุณประยุทธ์มานานแล้ว ส่วนคุณชินวรณ์ถึงกับส่งน้องไปสังกัดพลังประชารัฐ แม้จะมีเหตุจากการเมืองท้องถิ่นบ้างก็ตาม
อันที่จริง นอกเหนือจากฝั่งที่ไม่ถูกเลือกเป็นผู้บริหารพรรคจะมีความคล้ายคลึงกันเรื่องความใกล้ชิดกับแกนนำ กปปส. คนกลุ่มนี้ยังมีจุดร่วมกันเรื่องท่าทีต่อการนำพรรคร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐในการหนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือแม้กระทั่งท่าทีต่อการยอมรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช.
ไม่กี่วันก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. คุณอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประกาศ “ไม่รับ” เพราะกระบวนการผิด, แก้โกงไม่ได้, ไม่กระจายอำนาจ ฯลฯ เช่นเดียวกับคุณจุรินทร์, คุณองอาจ, คุณสาธิต, คุณนิพิฎฐ์ ฯลฯ ส่วนคุณอรรถวิชช์ประกาศรับพร้อมสดุดีเป็นรัฐธรรมนูญสุดยอดปราบโกง
หากมองผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยเชื่อมโยงกับการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์หลังปี 2557 สิ่งที่เกิดขึ้นในประชาธิปัตย์วันนี้ แยกไม่ออกจากการที่อดีตเลขาฯ พรรคอย่างคุณสุเทพต้องออกไปตั้งพรรครวมพลังประชาชาติปี 2561 ส่วนคุณณัฐพลและคุณพุทธิพงษ์ออกไปอยู่พรรคพลังประชารัฐช่วงไล่เลี่ยกัน
ภายใต้ผลการเลือกตั้งที่ดูเหมือนไม่มีอะไร ประชาธิปัตย์กำลัง “กระชับพื้นที่” สมาชิกพรรคกลุ่มที่มีบทบาทหลักในการล้มเลือกตั้งปี 2557 สนับสนุนการยึดอำนาจของ คสช. รวมทั้งผลักดันให้หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกฯ ต่อในปี 2562 ถึงขั้นไม่มีแกนนำ กปปส. คนไหนคุมกลไกพรรคแล้วในปัจจุบัน
“การเมือง” ในประชาธิปัตย์อาจดูคล้ายการไม่ให้พื้นที่แก่สมาชิกที่เอียงข้าง กปปส. และรัฐบาล คสช. แต่ที่จริง บทบาทพื้นฐานของพรรคการเมืองคือการคัดกรองผู้สมัครที่พรรคจะนำเสนอให้ประชาชน การ “กระชับพื้นที่” ลักษณะนี้จึงไม่ใช่ปัญหา โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สมาชิกพรรคมีอุดมการณ์แตกต่างจากพรรคจนน่ากังวล
ยุคทองของประชาธิปัตย์ คือสมัยต่อต้านเผด็จการ รสช.
ผลการเลือกตั้งสภาผู้แทนปี 2562 ชี้ให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ยุคนี้ถดถอยที่สุดในรอบหลายปี แต่ความถดถอยเกิดจากการเปรียบเทียบกับความสำเร็จในอดีต และยุคสมัยที่ประชาชนนิยมประชาธิปัตย์จนเลือกผู้สมัครของพรรคเข้าสภาผู้แทนสูงสุดในปี 2535 ซึ่งตอนนั้น พรรคต่อต้านการสืบทอดอำนาจของพลเอกสุจินดา คราประยูร
ประวัติศาสตร์ของประชาธิปัตย์ชี้ว่า พรรคเติบโตที่สุดในยุคต่อต้านเผด็จการ เพราะเผด็จการคือระบอบที่คนกลุ่มเดียวเป็นใหญ่เหนือประชาชน การต่อต้านเผด็จการจึงทำให้พรรคอยู่เส้นทางเดียวกับคนส่วนใหญ่เสมอ แม้กระทั่งพรรคอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็คือเพื่อไทยที่ชูธงต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ
ไม่มีใครรู้ชัดๆ ว่าประชาธิปัตย์ยุคคุณจุรินทร์จะหนุนหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ แต่ภายใต้บทเรียนที่พรรคควรเรียนรู้จากความสำเร็จยุคปี 2535 และความเสื่อมถอยในปัจจุบัน การปฏิเสธร่วมขบวนการสืบทอดอำนาจคือเส้นทางที่ประชาธิปัตย์มีโอกาส “เกิดใหม่” มากที่สุด ไม่ใช่เป็นลูกสมุน คสช.
จริงอยู่ว่าประเทศไทยในปี 2562 อยู่ใน “สถานการณ์พิเศษ” ซึ่งทำให้เกิด “การเมืองพิเศษ” จนยากที่จะร่วมรัฐบาลกับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” แต่การไม่ร่วมฝั่งนี้ไม่ได้แปลว่าต้องหนุนหัวหน้าคสช. เพราะต่อให้ไม่มีประชาธิปัตย์ จำนวนวุฒิสมาชิก, พรรคเล็กและพลังประชารัฐก็ทำให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้อยู่ดี
ประชาธิปัตย์ยุคคุณจุรินทร์คือโอกาสสูงสุดของการล้างมลทินที่มัวหมองเพราะเรื่องล้มเลือกตั้งมาหลายปี พรรคไม่เคยมีโอกาสฟื้นฟูสถานะเท่าวันนี้ แต่พรรคก็เสี่ยงจะตกต่ำลงไปกว่าวันนี้ด้วยหากตัดสินใจร่วมสืบทอดอำนาจจนเป็นหางเครื่องของคนกลุ่มน้อยที่ตามก้นพลังประชารัฐกับ กปปส. ที่หมดสภาพในปัจจุบัน
และคงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากความพยายามสร้างพรรคจะจบด้วยความว่างเปล่า เพียงเพราะความปรารถนาสายสะพายจากตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลที่เป็นสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจบาตรใหญ่ การใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในยุคที่ผู้นำทำทุกวิถีทางเพื่อสืบทอดอำนาจ
Tags: กรณ์ จาติกวณิช, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ประชาธิปัตย์, กปปส., จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน, ประยุทธ์ จันทร์โอชา