‘สาว Y’ ‘คนจิตตก’ ‘อินเทอร์เน็ตเอ็กซ์พลอเรอร์ที่โหลดความรู้สึกช้า’
คือคำที่เธอใช้นิยามตัวเองในบทสนทนา
ในงานเขียน เธออาจเป็นทั้ง ‘จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท’ และ ‘ร เรือในมหาสมุท’
ผู้อ่านอาจนิยามเธอเป็น ‘นักเขียนนิยาย Y’ หรือไม่ก็ ‘นักเขียนดิสโทเปียผู้ดำดิ่ง’ แล้วแต่ว่าพลิกไปเจอเล่มไหน ด้วยนามปากกาใด
แต่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ได้มอบนิยามเพิ่มเข้ามาในชีวิตเธอ นั่นคือ ‘นักเขียนซีไรต์ ประจำปี 2560’ จากผลงานรวมเรื่องสั้น สิงโตนอกคอกตีพิมพ์ในเดือนเมษายน 2560 โดยแพรวสำนักพิมพ์
สื่อมวลชนต่อท้ายนิยามใหม่นี้ให้ทันทีว่า ‘ที่เด็กที่สุด’ และ ‘ที่เป็นผู้หญิง’
สำหรับหญิงสาววัย 25 ปีที่เริ่มเขียนนิยายเผยแพร่ออนไลน์มาตั้งแต่อายุ 12 ปี ทางเว็บไซต์ Dek-d.com และสร้างผลงานมาเรื่อยๆ จนได้รางวัลมาแล้วหลายเวที ไม่ว่าจะเป็นรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด รางวัลพระยาอนุมานราชธน เซเว่นบุ๊คอวอร์ดส์ รางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ และ Young Thai Artist Award เท่านี้คงไม่ทำให้เธอเป็นคนแปลกหน้านักในชุมนุมคนเขียนหนังสือและคนอ่าน
แต่การที่ชื่อ ลี้ – จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท โผล่เข้ามาในรายชื่อนักเขียนซีไรต์ ก็ยังไม่วายทำให้ใครหลายคนแปลกใจอยู่ดี
“ใครน่ะ” “ทำไมถึงได้” “เรื่องมันเกี่ยวกับอะไร”
แต่ก่อนจะไปถึงซีไรต์ เราเลือกที่จะทำความรู้จักเธอจากนิยามอื่นๆ ก่อน
…
“เนี่ย” เขาบ่น อันนี้คือคำเริ่มต้นก่อนจะพูดอะไรทุกอย่างในวันนี้เหรอครับ น่ารักดีครับ ผมแอบยิ้มในใจ “อานอนไม่ได้เลย”
…
“ทำไมนอนไม่ได้ล่ะครับ”
เขาหน้าย่น “เตียงมันกว้าง”
ผมหน้าแดง นี่คืออะไร ชวนผมนอนด้วยปะ
ทำไมถึงเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่อายุแค่ 12
ตอนเด็กเราอ่านหนังสือที่เราเจอในบ้าน ไม่รู้ว่า genre แต่ละอย่างมันคืออะไร อ่านเกือบหมด ทั้งวรรณกรรมเยาวชนแปล อย่างหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ จนกระทั่งคอลัมน์ของหลานเสรีไทย 136 ใน ลลนา ตอนสิบขวบ เราก็อ่าน ไม่รู้ทำไม ลี้ไม่เคยคิดว่าเด็กเป็นสิ่งมีชีวิตที่เขียนหนังสือได้ จนกระทั่งมันมีหนังสือ หัวขโมยแห่งบารามอส ซึ่งเป็นกระแสที่บูมมาก และมีหนังสือ ไวท์โรด ออกมา เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย เด็กคนอื่นเขาก็เขียนหนังสือได้ เราก็เลยเริ่มเขียนเรื่องออกมาก๊อกๆ แก๊กๆ ลงเว็บฯ ตอนอายุ 12
แต่เข้าใจใช่ไหม เรื่องที่เขียนมันก็เป็นเรื่องง้องแง้ง ไม่ได้มีคนชอบหรือเข้ามาคอมเมนต์ ถ้าเป็นตอนนี้ เราคงต้องเฟลแน่เลย แต่ตอนเด็ก เราไม่คิดมาก เราเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่า นี่ไง เราสนุก แค่ไม่มีคนอ่านเท่านั้นเอง มันเกิดขึ้นได้เฉพาะกับเด็กเท่านั้น
พอช่วงหนึ่งชอบการ์ตูน ก็เข้าไปเล่นบอร์ดการ์ตูน อายุประมาณ 17-18 เริ่มเขียนงานประเภทแฟนฟิกชันการ์ตูน (เรียกย่อๆ ในวงการว่า ‘ฟิก’) ซึ่งก็คือการที่เราเอาตัวละครจากการ์ตูนเรื่องที่เราชอบ มาจินตนาการต่อว่า เวลาเขาอยู่บ้าน เขาจะทำอะไรนะ ซึ่งพวกเด็กๆ ชอบเขียนกันและมีคนอ่านเยอะ แต่คนอ่านเขาไม่ได้เป็นแฟนของเราหรอก เขาเป็นแฟนการ์ตูนเรื่องนั้น
เห็นเสน่ห์อะไรในงานเขียนพวกนี้
มันสนุกตรงที่เราได้เพื่อน ตอนอยู่โรงเรียน อาจมีแค่เราคนเดียวหรือเพื่อนอีกแค่สองสามคนที่ชอบการ์ตูนเรื่องเดียวกันนี้ คุยกันไม่นานก็เบื่อ แต่พอมาเขียนฟิก มันเกิดคอมมิวนิตี้ มีทั้งคนที่มาวาดรูปจากการ์ตูน มีนัดมีตติ้งด้วยนะ เด็กหลายคนได้สกิลล์การเขียนหรือการวาดรูป หรือการแต่งตัวเป็นตัวการ์ตูน เพื่อนที่วาดรูปจริงจังเขาจะซื้อสีน้ำและปากกามาหัด ทุกวันนี้ก็เป็นอาจารย์ในคณะสถาปัตย์ฯ
ถามว่าช่วยในเรื่องการเขียนไหม มันช่วยได้เพราะมีพื้นที่ให้ฝึกเขียน แต่พอเป็นแบบนี้ เมื่อเราข้ามไปเขียนงานออริจินัล เราจะคิดตัวละครเองไม่เก่งเลยในช่วงแรก เพราะว่าเคยใช้ตัวละครที่มีอยู่แล้วมาเสมอ
คนที่อยู่ในสายวรรณกรรมเข้มข้น อาจจะมองว่าฟิกเป็นอีกระดับของงานประพันธ์ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
ต้องมองว่าการเขียนฟิกเป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเอาตัวละครของคนอื่นมาใช้ แต่ที่มีฟิกชันหรือโดจินชิ ซึ่งคือการวาดเป็นการ์ตูนของญี่ปุ่นมากมาย เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์มองว่าเราทำเพื่อความรัก ชอบงานของเขา แต่ถ้าเราทำเป็นการค้าขึ้นมา เขาอาจจะดำเนินการทางกฎหมาย ตรงนี้มากกว่าที่น่าจะเป็นจุดเปราะบางของวงการแฟนฟิก ที่ทำให้ไปตีพิมพ์ต่อไม่ได้ แต่การที่ใครจะมองว่าเป็นงานไร้สาระ มันเป็นคำพูดที่เก่าไปแล้วนะ โลกมันมาถึงจุดนี้แล้ว เป็นคำพูดที่เก่าและไม่ค่อยให้เกียรติผู้อื่น
แฟนฟิกส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องรัก เพราะในเมื่อเป็นงานที่เด็กเขียนเพื่อให้เด็กอ่าน มันก็ต้องเป็นเรื่องที่เด็กชอบ ส่วนลี้ชอบเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ทุกครอบครัวมีเรื่องเล่า ทุกคนเมื่อคิดถึงพ่อแม่พี่น้องของตัวเอง ก็มีความทรงจำทั้งที่ดีและไม่ดี เพราะฉะนั้นครอบครัวจึงเป็นเหมือนฉากที่ถ้าเราเข้าไปจับปั๊บ มันมีเรื่องให้เขียนและทัชความรู้สึกคนได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นแฟนฟิกชันหรือออริจินัล อย่างเรื่อง ชายใดเล่าจะแซบเท่าแฟนเก่าแม่ นี่ก็จะมีเรื่องของเด็กกับพ่อแม่
ชอบมีเด็กแชตมาบอกว่า พ่อแม่หนูก็เป็นแบบนี้ บางทีอ่านเรื่องที่เขาเล่าแล้วเราก็เศร้าตาม มันมีปัญหาที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กัน ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเมื่อคนเรามาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว
มาเขียนนิยาย Y ได้อย่างไร
Y เป็นคัลเจอร์ที่มาจากญี่ปุ่น คนที่ชอบแฟนฟิกชันหรือการ์ตูนญี่ปุ่น เขาก็จะชอบและรู้จัก Y อยู่แล้ว เพราะแฟนฟิกบางทีก็มาพร้อมกับความ Y ในเรื่อง พระเอกรักกับนางเอก แต่ที่แฟนฟิกเกิดขึ้นมา อาจจะเพราะผู้เขียนไม่พอใจ อยากให้พระเอกรักกับเพื่อนพระเอกมากกว่า ลี้คลุกคลีกับวัฒนธรรมตรงนั้นมา แล้วก็เริ่มเขียนนิยาย Y แต่ลี้ไม่ได้ตามดาราเกาหลีเลย บางทีอ่านฟิกดาราเกาหลีก็จะไม่ค่อยรู้เรื่อง บางเรื่องที่ดังมากจริงๆ ก็อ่าน อย่างเช่นเรื่อง กุเชอร์รี่ ในแอปฯ จอยลดา (แอปฯ ฟิกชันที่นำเสนอเรื่องราวออกมาเป็นรูปแบบบทสนทนาในแชตไลน์)
การที่สาว Y อย่างจิดานันท์ได้ซีไรต์ มีกระแสเขม่นบ้างไหม
ก็อาจจะมี บางคนเขาอาจจะมองว่ามันเป็นงานแนวไม่ขรึม แต่ว่า ฉันก็ไม่ได้ได้ซีไรต์ด้วยนิยาย Y หรือเปล่า…เอางี้ ถ้าคุณเป็นโรคเกลียดเกย์ มันก็เป็นเรื่องของคุณ ไม่ใช่เรื่องของฉันแล้ว และไม่ใช่เรื่องของโลกใบนี้แล้วด้วยนะ อย่าลืม
ทำไมใช้นามปากกา ‘ร เรือในมหาสมุท’ เกี่ยวอะไรกับชิปเปอร์ (กลุ่มคนที่ ‘จิ้น’ ให้ผู้ชายสองคนลงเอยกัน) หรือเปล่า
ไม่ใช่ๆ มาจากพ่อเราเอง สมัยพ่อเรียนมัธยมฯ เขาชอบเอาชื่อเพื่อนหรือบุคลิกของเพื่อนมาแต่งเป็นกลอน อ่านเล่นกับเพื่อน ใช้นามปากกาว่า ‘ส. เกียรติสมุท’ ซึ่งเราได้ไปอ่านกลอนเหล่านี้ในหนังสือรุ่นของพ่อซึ่งอยู่ในบ้าน
แต่พ่อไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเขียนเลย เป็นพ่อค้าธรรมดา ขายรองเท้าอยู่ในตลาด สมัยก่อนเราก็ชอบเอารองเท้าหนังใส่กล่องไปขายให้ครูที่โรงเรียน เป็นรายได้เสริม
พอมีเหตุให้เราต้องใช้นามปากกาภาษาไทย เราก็เลยตั้งชื่อคล้ายๆ พ่อแล้วกัน แต่เป็น ‘ร’ ซึ่งควรจะอยู่ท้ายนามสกุล แต่ไม่มี (เหลืองเพียรสมุท) มีคนชอบมาเติม ร เรือ มาให้ ไมโครซอฟต์เวิร์ดก็เติม เกียรติบัตรก็เติม เราเลยรู้สึกว่าตัวอักษรนี้เป็นอะไรบางอย่างในชีวิตเรา เลยนำมาขึ้นต้น แต่ไม่ได้ใส่จุด แค่เว้นวรรค
ในนิยาย Y เรื่องชายใดเล่าฯ พ่อของตัวละครเอกเป็นคนที่หนีเข้าป่าในช่วงคอมมิวนิสต์ ทำไมถึงเลือกโยงเรื่องนั้นเข้ามา เพราะดูเหมือนไม่ได้อยู่ในขอบข่ายความสนใจของคุณ
เราเคยเขียนเรื่องสั้นที่พูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลาฯ นะ แต่ทำได้ไม่ดีนัก เพราะเราไม่ได้ร่วมยุคร่วมสมัย มันเหมือนเป็นการเขียนของเด็กที่ ‘พยายาม’ เลยไม่ได้พัฒนาไปในแนวทางนั้นต่อ แต่สำหรับเล่มนี้ เราเขียนในช่วงที่เรากำลังมีปัญหาชีวิตหนักมาก (เน้นเสียง) เราเขียนด้วยความรู้สึกว่า ฉันไม่ต้องการเห็นปัญหาอะไรอีกแล้ว ต่างจากหนังสือ วันหนึ่งความทรงจำฯ ซึ่งถ่ายทอดความเศร้าออกมา แต่เล่มนี้ เราไม่ไหวแล้ว ปิดหูปิดตา ดีแอคทิเวตเฟซบุ๊กน่ะ จะเขียนเรื่องที่ไม่มีปัญหาอะไรเลย คนอ่านบางคนบอกว่า เล่มนี้ไม่มีคอนฟลิกต์ ก็เพราะสภาพจิตเราตอนนั้นไม่สามารถแตะความทุกข์ใดๆ ได้เลย แต่เราก็อยากจะเล่าความรู้สึกของความแก่กับเด็ก แล้วประเด็นความแก่ในฉากอีสาน มันมีสองประเด็นที่อยู่ตรงนั้น ในพื้นที่อุดรฯ-หนองบัวลำภู คือคอมมิวนิสต์กับทหารเวียดนาม
เขียนนิยาย Y ชายรักชาย แล้วตัวคุณเองมีประสบการณ์ความรักแบบมีเพศไหม
(หัวเราะคิกคัก เงยหน้ามองเพดาน) ขอคิดนิดนึง ถ้าเป็นเพื่อนจะตอบได้เลย
เอาอย่างนี้ เราชอบผู้หญิงได้นะ และเรารู้สึกว่าเราเป็นธรรมชาติกับการชอบผู้หญิงด้วย อย่างการที่คนแอดเฟซบุ๊กมาเยอะแยะ ด้วยความที่เราไม่ค่อยชอบเข้าสังคม เลยไม่ค่อยกดรับ แต่มีคนนึง อย่างสวยเลย เราก็กดรับ
เราชอบผู้หญิงได้ แต่เราก็เคยชอบผู้ชาย ผู้ชายที่เราชอบ เขาจะไม่ใช่ผู้ชายแบบแข็งกร้าว เคยเจอไหม ไม่ใช่ตุ๊ด ไม่ใช่เกย์ แต่เป็นผู้ชายที่เหมือนผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชายที่มาถึงก็ macho (มีความเป็นชาย) มากๆ เราชอบไม่ได้และไม่ชอบด้วย
แม้ว่าความจริงพระเจ้าจะไม่มีหน้าก็ตาม แต่ก็ถือว่าเราได้ละเมิดกฎข้อห้ามสำคัญของเมืองไปแล้ว
โทษทัณฑ์นั้นคือความตาย
ในหนังสือ วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย
ในหนังสือ วันหนึ่งความทรงจำฯ จะมีเรื่องคนที่เป็นโรคซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย หรือเรื่องเพศสภาพ ทำไมถึงโฟกัสเรื่องพวกนี้
เล่มนี้ค่อนข้าง personal บางบทเป็นไดอารี่ด้วยซ้ำ แล้วเราเอามาปรับ เช่น บทแรก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เสียงที่บอกว่า “เราจะเข้าสลายการชุมนุม” ก็เป็นสิ่งที่เราได้ยินจริงๆ
เรื่องโรคซึมเศร้าเราว่ามันอธิบายยากมาก แต่ละคนไม่เหมือนกันเลย ลี้ก็เคยมีความรู้สึกแบบนั้น ถึงได้เขียนเล่มนี้ได้ ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ คนชอบบอกว่า อย่าพูดว่า “สู้ๆ นะ” ได้ไหม เพราะดูว่า don’t care แต่ว่าสำหรับลี้ เราเป็นซึมเศร้าหนักเหมือนกัน แต่เราก็รู้สึกว่า “สู้ๆ นะ” มันไม่ถึงขั้นเป็นคำต้องห้าม เพราะเพื่อนบางคนไม่ได้เป็นนักเขียน อาจเป็นหมอฟันหรือพนักงานบัญชี มันเห็นเราเศร้าก็ไม่รู้จะประดิดประดอยคำอะไรมา สิ่งที่นางเพิ่งดูอาจจะเป็นซีรีส์เกาหลีเรื่อง Full House ซึ่งมันมีวลี “สู้ๆ นะ” โอเค คำมันอาจจะทำให้โมโหเล็กน้อย แต่ความรู้สึกของเขาที่ส่งมาว่า ฉันอยากให้คุณดีขึ้น เราได้ยินมัน
พูดยากเพราะแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย กลับบ้านไปแต่ละคนก็เจอเรื่องราวไม่เหมือนกัน พอพูดแล้ว บางทีเขาก็บอกว่าเราไม่เข้าใจ หรือตอนที่เราเป็น หลังจากที่พี่สาวเราหายจากซึมเศร้าแล้ว เขาก็พูดประมาณว่า ลี้ เชียร์อัปตัวเองหน่อย เราก็จะบอกว่า แกไม่เข้าใจอะ เวลาเราเศร้า อะไรก็ฉุดไม่อยู่ บางคนก็เกิดจากสารเคมีในสมองจริงๆ แต่อย่างของเราเป็นกรณีที่มีเรื่องทับถมหลายๆ เรื่อง เช่นความสัมพันธ์ งาน ฯลฯ
ส่วนเรื่องเพศสภาพในบทสุดท้าย มันเกิดจากลี้เขียนนิยาย Y ด้วย พี่นิวัต (นิวัต พุทธประสาท บรรณาธิการ สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม) บอกว่าอยากให้ลี้เขียนอีโรติกสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งแทนที่เราจะเขียนอีโรติกชาย-หญิงให้เขา เรากลับเขียนอีโรติกชาย-ชาย เพราะว่ามันเข้ากับตัวเรา แต่กลายเป็นว่าพี่เขาชอบ แล้วพอหนังสือจะไปอยู่กับสำนักพิมพ์เม่นฯ เราก็เลยอยากจะพูดเรื่องที่มันหนักหน่อย อย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลง การกดข่ม
ได้อ่านงานของคุณอุทิศ เหมะมูล (นักเขียนนิยายซีไรต์) ไหม ที่มีฉากร่วมรักของชาย-ชาย
อ่าน ลี้ชอบอารมณ์ในเรื่องของเขานะ แต่พอคิดว่าคนเขียนเป็นผู้ชาย เราก็จะรู้สึกเขินๆ หน่อย ถ้าอ่านเรื่องที่คนเขียนเป็นผู้หญิง เราจะคิดว่า อ้อ ก็สาว Y ด้วยกันไง (ทำเสียงเล็กๆ) แต่พอคนเขียนเป็นผู้ชาย จะแบบว่า…(ชะงัก) เขินน่ะ เขินพี่อุทิศด้วย
ในฐานะนักอ่าน คุณชอบนักเขียนไทยคนไหนเป็นพิเศษ
มีนักเขียนไทยคนโปรดอยู่คือ ฟ้า พูลวรลักษณ์ โปรดแบบ…เลิฟ และเราชอบวิธีการทำงานของ ปองวุฒิ (ปองวุฒิ รุจิระชาคร) เขาอยู่ในโลกความเป็นจริง ชอบมุมมอง และก็ชอบวิธีการทำงานของอุรุดา โควินท์ เราชอบคนที่เขียนงานต่อเนื่อง
รู้จักงานของฟ้าตอนไหน ทำไมถึงชอบ
เราเจอหนังสือของเขาตอนอายุ 18 เรียนอยู่สาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปรอพี่สาวในห้องสมุดคณะเภสัชศาสตร์ มช. ซึ่งที่นั่นจะเก็บแต่วิทยานิพนธ์หรือเปเปอร์วิทยาศาสตร์ แต่มีคนเอาโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกมาทิ้งไว้เล่มหนึ่ง แล้วเราก็หยิบมาอ่าน พยายามจะไปขอยืม แต่บรรณารักษ์บอกว่ายืมไม่ได้เพราะไม่ใช่ของห้องสมุด มันไม่มีเลขรหัส ซึ่งหมายความว่าเอากลับมาได้หรือเปล่า เพราะมีคนทิ้งไว้ แต่เราก็เอาไปเก็บไว้บนชั้นเหมือนเดิม แล้วก็ตามหาได้ยากมาก
ถึงแม้ว่าเวลาที่เราให้สัมภาษณ์ เราจะชอบพูดถึงเรื่องที่มัน practical อยู่กับความจริง ไม่’ติสต์ แต่พอบอกว่าเราชอบ ฟ้า พูลวรลักษณ์ ก็จะแบบ…คือเขาเป็นคน’ติสต์มาก เรารู้ แต่เวลาเขาอธิบายงาน มันมีพลัง หลายคนอ่านแล้วไม่เข้าใจ แต่เราเข้าใจ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราเข้าใจนั้นใช่สิ่งที่เขาต้องการจะบอกไหม มันมีเรื่องให้ขบคิด แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ ‘นิดเดียว’
ในขณะที่เวลาลี้จะเขียนถึงความรู้สึก เราจะขยี้อยู่กับมัน เศร้าๆๆๆ คนอ่านจะได้เศร้าตาม แต่ฟ้าแตะแค่นิดเดียว แล้วก็จะผ่านไป จะเห็นหรือไม่เห็นก็เรื่องของแก ประโยคสั้น แต่พอเราไปคิดต่อ โห…กว่ามันจะมาเป็นประโยคนี้ มันมีความคิดเบื้องหลังที่ทำให้เราคิดต่อออกมาได้เยอะมาก แสดงว่าเขาต้องคิดมาเยอะมาก แต่เขาก็ไม่ได้มาอวดว่า นี่ไง ฉันคิดมาแบบนี้ 1-2-3-4
คุณเรียนเอกรัสเซีย แล้วได้เรียนวรรณกรรมรัสเซียด้วยไหม
ลี้สนใจประเทศรัสเซียมากตั้งแต่มัธยมฯ อาจจะเพราะอิทธิพลจากหนังสือหรือการ์ตูนที่อ่าน ชอบหนังสือ ดาวหางเหนือทางรถไฟ ของทรงกลด บางยี่ขัน ที่นั่งรถไฟไปเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เล่มนั้นชอบมาก พาไปไหนมาไหนจนหนังสือเยิน แต่ในเอกรัสเซียมีเรียนวรรณกรรมตัวเดียว ซึ่งเราไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นปัญหานะ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ชอบวรรณกรรม เรื่องที่อ่านในวิชาก็เช่น งานของเชคอฟ นักเขียนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้สอนเล่มหลักถึงขนาดสงครามและสันติภาพ (ผลงานของ ลีโอ ตอลสตอย) เพราะมันคงสอนไม่ได้ภายในเทอมเดียว หรือแม้แต่ในสี่ปี
มีการเอ่ยถึงเล่มนี้ในหนังสือของคุณด้วย
อ๋อใช่ เราล้อเบาๆ ว่าไม่เคยหยิบออกมาอ่านจนกระทั่งแมลงสาบโผล่มา เราอ่านไม่ไหวหรอก เพราะเรามีจิตใจของคนรุ่นใหม่ที่สมาธิสั้นมาก ถ้าเห็นหนังสือหนาเราจะ โอยยย และเวลาลี้อ่านหนังสือ เราจะอ่านประโยคนึงย้ำไปย้ำมา อ่านเพื่อคิดว่าทำไมนักเขียนถึงเขียนประโยคนี้ วนไปมา จนบางทีทรมานตัวเอง
ตั้งแต่เรียนจบมา เขียนหนังสือเป็นอาชีพเลยหรือเปล่า
ก่อนหน้านี้เคยไปทำงานบริษัท ทำฝ่ายทรัพยากรบุคคล ดูแลเรื่องเงินเดือนพนักงาน ช่วงนั้นชีวิต ‘มัน’ ดีนะ เป็นคนไม่ชอบเจอคน แต่ทำงานที่ได้เจอคนเยอะมาก
มีเรื่องหนึ่งประทับใจ ผู้ชายฝรั่งคนหนึ่งลาออกแล้วเขาต้องมาคืนบัตร เราก็ต้องไปส่งเขาเก็บของ ด้วยความที่เขาเป็นคนหล่อ ผู้หญิงก็มารุมล้อม บาย ยู เทคแคร์นะ ซึ่งเรารำคาญเพราะเราจะกลับไปทำงาน แต่ว่าต้องรอเขา พอเราออกมาที่ลิฟต์ แล้วถามเขาว่าจะไปทำงานที่บริษัทไหนต่อเหรอ เขาตอบว่าเขากำลังจะไปอิรัก เราก็เลยอึ้ง แล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชั่วมากเลยที่ไปโมโหคนอื่นๆ ที่มาบอกลาเขา ก็เลยถามว่าต่อว่าทำไม พร้อมกับคาดหวังคำตอบที่มีอุดมการณ์กลับมา แต่เขาบอกว่า “อ๋อ มีคนจ้าง เงินดี ก็เลยไป” มีความหักมุมสองสเต็ป เป็นเรื่องหนึ่งในหลายๆ เรื่องจากการทำงานที่ทำให้เราอยากเอาไปเขียนเรื่องสั้น
ทำงานประจำไปหกเดือน พอสำนักพิมพ์ขอต้นฉบับแล้วเราเขียนได้ช้า เราเลยลาออกมาเขียนหนังสือ ตอนนี้อยู่ด้วยค่าต้นฉบับอย่างเดียวเลย เราอยู่เชียงราย ค่าครองชีพถูกมาก และเราก็ไม่ใช่คนใช้เงินเยอะ ก็พออยู่ได้ แต่ก็ต้องออกหนังสือตลอด…ตลอดจริงๆ งาน Y ช่วยเราเลยน่ะ เพราะวรรณกรรมพิมพ์น้อย
แต่ที่ยังเขียนวรรณกรรม เพราะบางเรื่องต้องเล่าในน้ำเสียงของวรรณกรรม แต่บางเรื่องมันต้องเล่าในน้ำเสียงของ Y เอาตรงๆ เราโคตรจะเป็นสาว Y เลย เพราะฉะนั้นเราไม่ได้มาเขียน Y เพราะมันแมสส์หรือมันทำงานได้ มันอยู่ในสายเลือด แต่งานวรรณกรรม บางครั้งมันเรียกร้องให้เราเขียน
แล้วงานสองสไตล์นี้จะมารวมกันไหมในอนาคต
ตอนนี้มันก็รวมกันอยู่นะ สิงโตนอกคอก น้องบางคนอ่านแล้วก็มาบอกว่า “โอ๊ย พระเอกหล่อจังเลย เพื่อนพระเอกก็หล่อ น้องมีความสุข” เราก็แบบ “น้อง เล่มนี้ได้ซีไรต์ น้องอ่านมันในฐานะงาน Y เหรอ” เขาก็บอกว่า “น้องชอบ เดี๋ยวน้องเขียนแฟนฟิก” (ยิ้ม) เราก็ โอเค เต็มที่ น้อง
…
คนหลายคนยืนยันก่อนถูกรุมสังหารว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลย…พวกผมคนดีย่อมไม่หลงเชื่อ
จากงานเขียนแฟนตาซี คุณกระโดดมาเป็นดิสโทเปียได้อย่างไร
เราแบ่งระดับความเข้มข้นออกมาแบบนี้ เริ่มจากสัจจนิยม-สัจจนิยมมหัศจรรย์-อาจจะต่อด้วยไซไฟก่อน-แล้วก็ไปเป็นแฟนตาซี มันเป็นเฉดของความสมจริงไม่สมจริง จากแฟนตาซีที่มีเจ้าหญิงเจ้าชาย พออยากจะจริงจังขึ้นก็ลดเฉดของมันลงมานิดนึง อย่างเล่ม วันหนึ่งฯ ก็ลดขีดแฟนตาซีลงมา ยังอยู่ในโลกของเรา เพียงแต่อาจจะมีบางอย่างไม่ปกติ เป็นสาวออฟฟิศในทองหล่อที่วันหนึ่งก็มองไม่เห็นแฟนตัวเอง ส่วนสิงโตนอกคอกจะอยู่ในโลกที่ไม่ได้เป็นโลกของเรา
มีหนังสือแนวดิสโทเปียที่ชอบไหม
พูดถึงหนังได้ไหม เรามีหนังดิสโทเปียที่ชอบเยอะมาก Snowpiercer (2013) Cloud Atlas (2012) ชอบ High-Rise (2015) ที่ทอม ฮิดเดิลสตันแสดง เพราะชอบบทโลกิที่เขาเคยแสดง เลยไปตามดูในเรื่องนี้ พอดูแล้วก็พบว่ามันเป็นเรื่องของตึกตึกหนึ่ง คนจนอาศัยอยู่ชั้นล่าง แล้วไล่ขึ้นมา ถ้าเป็นคนชั้นกลางก็จะอยู่สักชั้น 10-20 ถ้า 20 ขึ้นไปก็จะเป็นชั้นของคนรวย ซึ่งคนรวยก็จะทำอะไรแปลกๆ แต่งตัวแบบมารี อ็องตัวแนตต์ ทั้งที่เป็นโลกปัจจุบัน ส่วนพี่ทอมก็ใส่สูท แล้วจู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ เสบียงไม่พอ ทำให้คนรวยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารต้องหาทางออกว่าจะทำอย่างไรต่อ คนจนก็ลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน
ระหว่างที่ชนชั้นล่างไม่มีอะไรจะกิน คนชั้นบนก็กำลังตัดสินใจว่าจะให้อะไรพวกชนชั้นล่างดี ในเมื่อพวกเขายังติดสบายอยู่ แต่ระหว่างนั้นชนชั้นกลางอย่างพี่ทอมก็ทำเพียง…ทาสีห้องใหม่ดีกว่า เริ่มต้นทาสีอย่างจริงจังมาก ดูแล้วก็นึกถึงตัวเอง ประท้วงอะไรกันวุ่นวาย ส่วนฉันก็ทำเพียงหาร้านกาแฟชิคๆ อย่างจริงจังมาก
หนังสือชุด หัวขโมยแห่งบารามอส ที่คุณอ่านแต่เด็ก ส่งผลต่องานทุกวันนี้ของคุณมากแค่ไหน
’บารามอส ความจริงคนเขียนเขามีความคิดบางอย่างที่เหนือไปจากความแฟนตาซีอยู่นะ เขาเคยเล่าว่าเขาอ่านเรื่องเจ้าชายกับขอทาน แล้วคิดว่าน่าสนุกที่จะนำคนที่เป็นเจ้าชายกับคนที่เป็นขอทานหรือขโมย มาอยู่รวมกัน ลี้คิดว่า ถึงคนเขียนเขาจะเขียนเรื่องแนวร่าเริงหรือขำๆ แต่มันก็มีเรื่องชนชั้นเยอะ และ ’บารามอส เล่มหลังๆ ก็ค่อนข้างจะหนัก พอเขาไปเขียนอีกเล่ม เป็นเรื่องใหม่ซึ่งเขาพยายามพัฒนาให้มันซับซ้อนขึ้น คนอ่านหลายคนก็จูนไม่ติดเลย
เขามีอะไรในตัวที่เป็นเบื้องหลังของความแฟนตาซีและสดใส มีบางอย่างที่อยากจะเล่า ในวันนี้สิงโตนอกคอก ก็อาจจะเป็นแบบนั้น ฉากหน้ามีความแฟนตาซีมากๆ แต่มีเบื้องหลังเป็นเรื่องราวที่เราอยากจะบอก
ก่อนได้รางวัลซีไรต์ เคยคิดอย่างไรกับรางวัลนี้
ลี้ให้ค่าซีไรต์สูงมาตลอดนะ เราให้เกียรติคนที่ให้รางวัลมาตลอด เราเชื่อว่าเขาต้องเก่ง ถึงมาถึงจุดนี้ได้ และทุกวันนี้เราก็ยังให้เกียรติซีไรต์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่มันมีความขัดแย้งนิดนึงว่า แม้เราจะรู้สึกว่าพี่ๆ พวกนั้นเก่งมาก แต่เรากลับไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นกับตัวเองว่ะ เพราะมันเป็นตัวเรา มันเป็นธรรมดานะ
โอเค ถึงแม้เราให้ค่าและให้เกียรติซีไรต์ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่ใช่ว่าซีไรต์ต้องศักดิ์สิทธิ์ มันมีสิทธิอันชอบธรรมในการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใดๆ ในประเทศอันเสรี…ประเทศเสรีหรือเปล่า (หัวเราะแล้วเอนหลังพิงโซฟา)
หลายคนคงคิดว่าซีไรต์อาจหายไป ไม่ปีใดก็ปีหนึ่ง มันก็คงต้องการรางวัลทางวรรณกรรมอื่นที่แข็งแกร่งพอที่จะทำให้นักเขียนไม่ขาดเวที อย่างรางวัลปีศาจ เราไม่คิดว่ามันควรจะมีความรู้สึก “นี่คือพวกฉัน และนั่นไม่ใช่ หรือว่านั่นเป็นศัตรู” เราไม่เคยรู้สึกแบบนั้น และเราเชื่อว่าคนที่สร้างรางวัลวรรณกรรมอื่นๆ ก็คงมีจุดประสงค์อันดี เขาอาจจะเห็นประเด็นบางอย่างที่อยากให้มันมีพื้นที่เกิดขึ้น
เคยกลัวกระแสแอนตี้จากการได้รางวัลไหม ไม่ว่ารางวัลอะไรก็ตาม
ก่อนหน้านี้ได้รางวัลมาเยอะ แต่ไม่เคยมีกระแสอะไรเลยทั้งลบทั้งบวก เหมือนเป็นเรื่องเงียบ มีแค่ซีไรต์นี่แหละที่อึกทึกครึกโครมขนาดนี้
ที่ว่าเป็นเรื่องเงียบนี่ถือเป็นเรื่องดีไหม
ในความคิดของสำนักพิมพ์ เราไม่รู้ว่ามันดีไหม สำหรับเรา เรารู้สึกสบายๆ ดี แต่ซีไรต์ ก็กลัวกระแสเหมือนกัน เพราะลี้รู้สึกว่าลี้เด็กและเป็นผู้หญิง เป็นทุกอย่างที่จะโดนโจมตีได้
ทำไมเป็นผู้หญิงถึงโดนโจมตีได้
เราก็ไม่เคยคิด แต่มีคนพูดขึ้นมาว่าสิบปีนี้มีแค่สองคนนะที่เป็นผู้หญิง คือวีรพร นิติประภา (ปี 2558) กับจิดานันท์ เพียรเหลืองสมุท (ปี 2560) เราก็แบบ เฮ้ย จริงเหรอ ไม่รู้มาก่อนเลยว่ามีน้อย
คุณว่าวงการนักเขียน sexist ไหม
มันไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น เวลาที่เราไปรับรางวัล คนจะชอบมาถามว่าทำไมเขียนงานแนวนี้ มันไม่ใช่แนวผู้หญิงนะ ซึ่งเขาก็ไม่ได้พูดด้วยความเซ็กซิสต์ด้วย แต่ถามมาเพราะว่าคนที่ยืนรอรับรางวัลอยู่รอบๆ นั้นทั้งหมดคือผู้ชาย
ถามว่าวงการวรรณกรรมเซ็กซิสต์ด้วยความรู้สึกแบบ เหย ผู้หญิงเขียนหนังสือไม่เก่งหรอก ไม่มีนะ มันเป็นคำพูดที่ล้าสมัยเกินไปที่จะมีอยู่ แต่จะมีความรู้สึกว่า เป็นผู้หญิง ทำไมเขียนงานแนวนี้
ลี้เคยเจอพี่นักเขียนผู้ชายคนหนึ่งโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก จำไม่ได้แล้วว่าใคร พูดถึงพี่นักเขียนอีกคนหนึ่ง บอกว่า “แหม คนนี้เขียนเก่งมากเลยนะ บางทีเราก็ยังคิดเลยว่า โหย เป็นผู้หญิง ยังเขียนเก่งกว่าเรา” เขาพูดชมใช่ปะ “เก่งมากเลยนะ” แต่ “เป็นผู้หญิงยังเขียนเก่งกว่าเรา” ลี้คิดว่าเขาไม่ได้เหยียดหรอก เขาชม แต่ลี้ว่าลึกๆ ในแวดวงวรรณกรรม ยังมีความคิดแบบชายเป็นใหญ่อยู่ ซึ่งอาจไม่ได้เกิดจากวงการวรรณกรรมก็ได้ แต่อาจเกิดจากสังคมไทย มันมีเรื่องบางอย่างที่ผู้ชายเท่านั้นที่เขียนได้เหรอ (เลิกคิ้ว) มีเรื่องบางอย่างที่ผู้ชายเท่านั้นที่รู้แต่ผู้หญิงไม่รู้เหรอ เราว่ามี แต่ก็คงจะไม่มีหนังสือที่ไปหมกมุ่นครุ่นคิดกับเรื่องนั้น จุดเล็กๆ แบบนั้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการถูกกีดกันหัวข้อใดในทางวรรณกรรม
เอาจริงๆ ยังไม่เห็นการโจมตีเรื่องที่เป็นนักเขียนผู้หญิงที่ได้ซีไรต์ แต่เรื่องเป็นเด็กนี่ชัดสุดๆ สุด สุด…เราก็กลัว
คิดว่าอายุ 25 ได้รางวัลซีไรต์นี่ เร็วไปหรือ
ตอนส่งต้นฉบับไปที่แพรวสำนักพิมพ์ เราไม่คิดว่าเขาจะส่งซีไรต์ให้ด้วยซ้ำ เพราะเราเด็ก ตอบอย่างนี้ดีกว่า ตอนแรกเรากลัวแรงปะทะ แต่ตอนนี้มันก็ผ่านมาสักพักแล้ว เราคิดได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีแรงปะทะ ในเมื่อมันไม่มีทาง ยังไงก็ตามต้องมีคนบ่น เราก็แค่ยอมรับมัน
เราไม่รู้ว่าได้ซีไรต์มาแล้วจะรู้สึกยังไง แต่มันต้องมีอะไรเกิดขึ้นเยอะกว่าอย่างอื่นมากแน่เลย ดูสิ ขนาดไม่กี่วัน ยังขนาดนี้ ซีไรต์อาจทำอะไรบางอย่างต่อเรา หรืออาจจะไม่ทำก็ได้ สุดท้ายทุกคนอาจจะเลิก เลิกคุย
ไม่กลัวกระแสแผ่ว ไม่กลัวถูกลืม?
เพื่อผลประโยชน์ของสำนักพิมพ์ เราไม่อยากให้มันเงียบ ทุกคนที่แพรวสำนักพิมพ์ดีใจ ทุกคนที่แพรวสำนักพิมพ์ตอนนี้ทำงานหนัก เห็นไหม น้องเขาต้องทำงานตลอดเวลา (หันไปหาพีอาร์ของสำนักพิมพ์) พี่บรรณาธิการทำงานตลอดเวลา ถ้ามันเงียบ ก็เหมือนเราทำมันพัง เราอยากให้พวกเขาได้ในสิ่งที่ควรจะได้ แพรวสำนักพิมพ์ก็รอที่จะได้ซีไรต์ ส่วนเรา ไม่ว่าจะอย่างไรเราก็ทำงานของเราต่อไป
ดูคุณเป็นนักเขียนที่คิดถึงหัวอกสำนักพิมพ์มาก
เพราะเขาพิมพ์ให้เราไง เพราะเราเจอการปฏิเสธต้นฉบับมาเยอะมาก-เยอะ-เยอะ แล้วตอนนี้วงการสื่อสิ่งพิมพ์ก็ซบเซา การที่เขาควักเงินมาเป็นหมื่นหรือเป็นแสนมาพิมพ์หนังสือให้เรา เราก็ควรจะช่วยเหลือเขาในเรื่องที่เราช่วยได้ อย่างที่แพรวฯ มีคนมากมายทำงานเพื่อเรา แล้วเราจะมา’ติสต์ อย่างนี้ก็ไม่ได้ เพราะทุกคนพยายามกับงานนี้ ไม่ใช่แค่ซีไรต์ของเรา มันคือซีไรต์ของ บ.ก. มันคือซีไรต์ของสำนักพิมพ์
แต่ว่าจะพัฒนาตัวเองให้มั่นใจในตัวเองมากขึ้นได้ไหม ยังเต็มไปด้วยคำถาม เรากลับกลัวว่าจะยิ่งมั่นใจในตัวเองน้อยลงด้วย
แม้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็ถือเป็นเรื่องราวดีๆ
เรายังไม่มีเวลาว่างที่จะรู้สึกตื่นเต้นอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นมันก็ทำให้รู้สึกหวาดกลัวและไม่มั่นคง แต่ลี้เป็นคนที่รู้สึกช้า คือขนาดตอนที่ต้นฉบับหนังสือ Y ได้รับการตอบรับตีพิมพ์แล้ว ลี้ยังไปรำพึงกับเพื่อนว่า เอายังไงดีถ้าไม่ผ่าน คือความรู้สึกเรามันยังโหลดไม่เสร็จ ยังจับจดอยู่กับความรู้สึกว่ามันยังไม่ดีหรือเปล่า เหมือนเป็นอินเทอร์เน็ตเอ็กซ์พลอเรอร์
คิดว่าการเจอความสำเร็จเร็วจะทำร้ายตัวเองไหม
ก็ไม่แน่นะ มันมีตัวอย่างให้เห็น แต่ลี้ไม่รู้ว่ามันจะกระทำต่อเราในระดับไหน สมมติไม่ได้พูดถึงวงการนักเขียน นักแสดงเด็กอย่าง เอ็มมา วัตสัน (เฮอร์ไมโอนี่ จากเรื่อง Harry Potter) ก็ไปต่อได้ แต่แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ จากเรื่อง Harry Potter) อาจจะขลุกขลักหน่อย เราเองก็ไม่รู้ รอดูไปพร้อมๆ กันว่าชีวิตเราจะเป็นอย่างไรต่อไป
ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไร ถ้าจะไปขอคำแนะนำจากผู้ที่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน เราต้องไปคุยกับนักเขียนซีไรต์เหรอ ก็มีแค่ 38 คน แล้วเราก็ไม่ได้สนิทด้วย แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนก็ได้ตอนที่อายุมากพอสมควรด้วย (ชะงัก) พูดแบบนี้เหมือนจะบอกว่าฉันไม่สมควรหรือเปล่า
เห็นไหม มันมีอะไรที่พูดไม่ได้เยอะจัง เปราะบางเหลือเกิน
FACT BOX:
จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ เอกรัสเซีย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผลงานของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท และ ร เรือ ในมหาสมุท
- สิงโตนอกคอก, แพรวสำนักพิมพ์, 2560 (รางวัลซีไรต์ ปี 2560)
- วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย, สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม, 2560
- ชายใดเล่าจะแซบเท่าแฟนเก่าแม่, สำนักพิมพ์ everY, 2560
- จะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว, แพรวสำนักพิมพ์, 2558 (รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด)
ถ่ายภาพโดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย
Tags: Interview, นักเขียน, ซีไรต์, สิงโตนอกคอก, จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, ร เรือในมหาสมุท, book