เพิ่งมาทบทวนว่าตัวเองอ่านวรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์ (science fiction) ของนักเขียนไทยเล่มสุดท้ายเมื่อไหร่ จำได้ลางๆ ว่า น่าจะเป็นเซ็ตหนังสือ ‘เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว’ ของวินทร์ เลียววารินทร์ และ ‘อมตะ’ ของวิมล ไทรนิ่มนวล ซึ่งนั่นก็สิบกว่าปีมาแล้ว ตอนแรกคิดว่าอาจเป็นเพราะเราเองที่ไม่ได้ติดตามงานแนวนี้ แต่เอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะเมื่อมานั่งพิจารณา ขณะที่ทั้งภาพยนตร์และซีรีส์ต่างประเทศขยันผลิตงาน sci-fi ออกมาให้เราดูไม่หวาดไม่ไหว แต่ในโลกวรรณกรรมภาคภาษาไทย ช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ เรากลับหาอ่านงานแนวนี้ได้ไม่มากนัก
เช่นนั้นแล้ว การปรากฏตัวในโลกวรรณกรรมร่วมสมัยของ ‘จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท’ กับผลงานรวมเรื่องสั้น สิงโตนอกคอก จึงน่าสนใจยิ่ง ในแง่ที่ว่าเรื่องสั้นทั้งเก้าเรื่องล้วนชัดเจนในทิศทางของงานแฟนตาซีกึ่งวิทยาศาสตร์ ที่ผูกเรื่องได้สนุกน่าติดตามเป็นระบบ เปี่ยมไปด้วยสัญลักษณ์ที่ไม่ยากต่อการตีความ รวมทั้งการหยิบองค์ประกอบของนิทานโบราณและการจำลองโลกดิสโทเปียมาใช้วิพากษ์สังคม ซึ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่พบได้ไม่บ่อยในงานของนักเขียนรุ่นใหม่ (ที่ระยะหลังๆ มักจะพบแต่ประเด็นของตัวละครในเมืองใหญ่ที่จมจ่อมอยู่กับความเปลี่ยวเหงาเสียเยอะ)
แต่นั่นล่ะ เมื่ออ่านทั้งเก้าเรื่องจบ เราก็กลับพบ ‘ข้อน่าเสียดาย’ บางประการ โดยเฉพาะในด้านอารมณ์หลังอ่านจบ ที่คล้ายผู้เขียนจูงมือเราไปอยู่ท่ามกลางมวลเข้มข้นของตัวบท หรือพาเราลงไปสำรวจห้องหับอันมืดดำที่ใช้แทนภาพสังคมมนุษย์ ก่อนที่เธอจะนึกขึ้นได้ว่ายังทำอะไรค้างคาไว้ (หรืออาจอยากแกล้งเราเล่น) จึงกดสวิตซ์ไฟให้ห้องนั้นสว่างจ้าขึ้นมาเสียดื้อๆ และบอกเล่าบทสรุปให้ทุกคนในห้องได้ทราบอย่างกระจ่างแจ้งก่อนจะขอตัวไปทำธุระอื่น… จากการเดินทางที่ทั้งน่าประทับใจและน่าติดตามในหลายๆ เรื่อง จึงจบลงด้วยความรู้สึกที่ ‘ไปไม่สุด’ ไปเสียได้
เรื่องสั้นเรื่องที่ 2 ของเล่ม ‘ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี’ เรื่องที่ 6 ‘ซินเดอเรลล่าในเมืองหุ่นยนต์’ และเรื่องรองสุดท้าย ‘สมาชิกในหลุมหลบภัย’ เป็นตัวอย่างของข้อน่าเสียดายที่อ้างถึง
‘ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี’ เล่าถึงโลกที่มีระเบียบใหม่ วัดผลความดีของประชาชนผ่านสีของไพ่ประจำตัวที่มีเพียงขาวและดำ ทันทีที่ไพ่ของใครกลายเป็นสีดำ แสดงว่าบุคคลนั้นมีความเลวร้ายอยู่ในตัว ประชาชนไพ่สีขาวคนอื่นๆ จะมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการรุมทำร้ายเจ้าของไพ่สีดำจนถึงแก่ความตาย ผู้เขียนสรุปเหตุการณ์ทั้งหมดให้อยู่ในห้องสมุดที่มีตัวละครเอกเกิดความสงสัยต่อระบบการวัดมาตรฐานทางคุณธรรมของไพ่ จึงมาค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อจะพบกับบรรณารักษ์ที่ไม่เชื่อในระบบดังกล่าวและคอยช่วยเหลือชาวไพ่ดำอยู่ลับๆ ด้วยการเปลี่ยนไพ่ปลอมให้
‘ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี’ เล่าถึงโลกที่มีระเบียบใหม่ ไพ่ของใครกลายเป็นสีดำ แสดงว่าบุคคลนั้นมีความเลวร้ายอยู่ในตัว ประชาชนไพ่สีขาวคนอื่นๆ จะมีสิทธิ์อันชอบธรรมใน
การรุมทำร้ายเจ้าของไพ่สีดำจนถึงแก่ความตาย
จิดานันท์หยิบบรรยากาศแบบภาพยนตร์ดิสโทเปียร่วมสมัยมาใช้เล่าถึงความเคยชินของผู้คนภายใต้อำนาจรัฐที่กดทับหนักแน่นเสียจนประชาชนไม่กล้าตั้งคำถามหรือมีความคิดเป็นของตัวเอง รวมทั้งการวิพากษ์ทัศนคติแบบซ้ายสุดทาง-ขวาสุดโต่งได้อย่างน่าติดตาม แต่ก็เป็นเธอเองที่ทำลายอรรถรสของเรื่องเล่าด้วยการปล่อยให้องค์ประกอบเหล่านี้จบลงด้วยบทสนทนาเชิงปรัชญาอันยืดยาวต่อประเด็นลักลั่นของความดี อำนาจ และความเป็นมนุษย์ ประหนึ่งการยัดเยียดข้อคิดที่นักเขียนมอบแด่ผู้อ่านอย่างตรงไปตรงมา และลืมองค์ประกอบแพรวพราวที่เธออุตส่าห์ปูเรื่องมาไปสิ้น
เช่นเดียวกับโลกดิสโทเปียอีกใบใน ‘ซินเดอเรลล่าในเมืองหุ่นยนต์’ ที่เล่าถึงสังคมเผด็จการที่หุ่นยนต์เข้ามาปกครองมนุษย์ด้วยความทารุณ โดยมีครอบครัวมนุษย์สามพี่น้องที่พยายามจะเอาชีวิตให้รอดจากการกดขี่นั้น จนนำไปสู่การที่พี่สาวคนโตแอบเข้าไปลอบสังหารรัฐมนตรีคนสำคัญ กระนั้นเป็นอีกครั้งที่ผู้เขียนจบเรื่องอย่างซื่อๆ ด้วยการเล่าบทสรุปผ่านปากตัวละครจนคล้ายจะเป็นข้อคิดสอนใจ และ ‘สมาชิกในหลุมหลบภัย’ ที่เล่าถึงครอบครัวสองครอบครัวที่หนีสงครามไปใช้ชีวิตอยู่ในหลุมหลบภัยเป็นเวลาหลายสิบปี โดยมีพ่อผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวที่กำหนดกฎเกณฑ์สมาชิกในหลุมหลบภัยทั้งหมดและเชื่ออย่างฝังหัวว่าสงครามด้านบนจะไม่มีวันจบสิ้น จิดานันท์เปรียบเปรยภาพ ‘กะลา’ ที่คุมวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศตอนนี้ได้อย่างแสบสันต์ หากทว่าก็เป็นอีกครั้งที่เธอจบเรื่องอย่างตรงไปตรงมา และสาสน์ในเรื่องเล่าก็หาได้แตกต่างจากหลายๆ ภาพยนตร์ดิสโทเปียที่เราเคยผ่านตามาสักเท่าไหร่
นอกจากโลกดิสโทเปีย ลักษณะร่วมอย่างเห็นได้ชัดในหนังสือเล่มนี้ก็คือบทบาทของความเป็น ‘พ่อ’ ต่อการจัดการอำนาจ รวมไปถึงการวิพากษ์ระบอบปิตาธิปไตย (เช่นเรื่อง ‘สมาชิกในหลุมหลบภัย’ ที่กล่าวไปแล้ว) ทั้งนี้ เรื่องสั้นเรื่องแรกของเล่ม ‘จะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว’ สะท้อนลักษณะดังกล่าวอย่างเด่นชัดที่สุด จิดานันท์เซ็ตอัปเรื่องนี้ไว้ที่ดินแดนอันหนาวเหน็บประหนึ่ง Winterfell ใน Game of Thrones ฤดูกาลหนาวอันยากแค้นบีบคั้นให้ชาวเมืองต้องกินเนื้อสมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิตไปก่อนหน้า หากสภาพอากาศก็ไม่ปรานี จนสุดท้ายการตัดสินใจครั้งสำคัญต้องตกมาอยู่ที่ผู้นำหมู่บ้านหนุ่ม ที่ต้องเลือกระหว่างการนำหนังสือซึ่งเป็นมรดกทางปัญญาที่ศาสนจักรมอบหมายให้หมู่บ้านนี้เก็บรักษาไว้ มาเผาเพื่อสร้างความอบอุ่นต่อชีวิตผู้คนในหมู่บ้าน หรือการเลือกจะรักษาหนังสือไว้และปล่อยให้ชาวบ้านหนาวตาย ในมิติของการเป็นผู้นำที่ต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจครั้งใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ผู้เขียนยังสอดแทรกบทบาทของความเป็นพ่อที่มีต่อลูกชายได้อย่างชวนตั้งคำถาม ก่อนพาผู้อ่านไปส่งถึงบรรทัดสุดท้ายได้อย่างงดงาม และถือเป็นเรื่องสั้นที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเล่ม
การออกแบบตัวละครที่เป็นผู้นำผู้สามารถเชื่อมโยงอำนาจกับเทพเจ้าและใช้สิทธิพิเศษนั้นในการปกครองและครอบงำความเชื่อของประชาชน ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่อาจสลัดหลุดการเมืองเรื่องพ่อ
‘อดัมกับลิลิธ’ เป็นอีกเรื่องที่ผู้เขียน ‘เล่นพ่อ’ ได้อย่างร้าวรานและโรแมนติก โดยเล่าผ่านความสัมพันธ์ของคู่รักชาวรัสเซียขนานไปกับตำนานรักสามเส้าของอดัม ลิลิธ และอีฟในคัมภีร์ไบเบิ้ล และ ‘กุหลาบย้อมสี’ ที่แม้ไม่ได้จงใจเล่นพ่อเสียทีเดียว แต่การออกแบบตัวละครที่เป็นผู้นำผู้สามารถเชื่อมโยงอำนาจกับเทพเจ้าและใช้สิทธิพิเศษนั้นในการปกครองและครอบงำความเชื่อของประชาชน ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่อาจสลัดหลุดการเมืองเรื่องพ่อที่จิดานันท์ตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ของการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จและมีหน้าที่ชี้ว่าอะไรขาวหรือดำ โดยไม่ปล่อยให้ลูกๆ ได้ไตร่ตรองด้วยตัวเองแต่ประการใด
‘โอนถ่ายความเป็นมนุษย์’ และ ‘รถไฟเที่ยงคืน’ เป็นเรื่องสั้นที่ถูกวางต่อกัน (เรื่องที่ 3 และ 4) ได้อย่างกลมกล่อม แม้รายละเอียดทั้งสองจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเรื่องแรกตั้งคำถามถึงสถานะของ ‘การมีอยู่’ ในความลักลั่นของสถานะความเป็นมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ (ในฉากที่จิดานันท์วางไว้ไกลถึงบนยานอวกาศนอกโลก) ขณะที่เรื่องถัดมาพูดถึง ‘การหลุดพ้น’ ผ่านขบวนรถไฟลึกลับที่ผู้เขียนเชื่อมโยงไปถึงแนวคิดพุทธศาสนาที่ว่าด้วยการบรรลุนิพพาน เป็นสองเรื่องที่ผู้เขียนตั้งคำถามเชิงปรัชญาได้อย่างคมคายทีเดียว
เรื่องสุดท้ายของเล่มที่นับว่าแพรวพราวและเปี่ยมด้วยชั้นเชิงที่สุดคือ ‘สิงโตนอกคอก’ เล่าถึงทหารหนุ่มที่หนีสงครามมาหลบในบ้านร้างหลังหนึ่งและพบหนังสือบันทึกความสัมพันธ์ของเด็กชายและหญิงที่เล่านิทานสอนใจเกี่ยวกับสิงโตนอกคอก เป็นเรื่องซ้อนเรื่องแบบสามซ้อนที่ผู้เขียนร้อยเรียงได้อย่างเข้าใจง่าย และแทนภาพรวมของเรื่องสั้นทั้งหมดในเล่มออกมาได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งแน่นอนประเด็นของเรื่องยังคงจดจ่ออยู่กับชะตากรรมของผู้คนตัวเล็กภายใต้การกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมโดยรัฐ และการยอมจำนนจนผู้คนส่วนใหญ่คุ้นชินกับความไม่ชอบธรรมในสังคม ผ่านเทคนิคและจังหวะการเล่าที่กระชับ รวดเร็ว และเลือกใช้สัญลักษณ์อย่างตรงไปตรงมาเพื่อทำให้เรื่องเล่าเข้าไปกุมใจผู้อ่านอย่างไม่ยากเย็น (เรื่องนี้ยังทำให้เรานึกถึงบรรยากาศแบบการอ่านงานเรื่องสั้นยุคแรกๆ ของวินทร์ เลียววารินทร์ ผ่านน้ำเสียงและเรื่องเล่าเฉพาะตัวของจิดานันท์เอง)
เอาเข้าจริง เราจะชอบรวมเรื่องสั้นเล่มนี้มากๆ หากจิดานันท์เลือกที่จะไม่ประนีประนอมต่อบทสรุปในเรื่องสั้นบางเรื่อง รวมทั้งการใส่อารมณ์ขันร้ายเพื่อเสริมความมีชีวิตชีวา (รวมทั้งความกวนตีน) มากกว่านี้ แต่นั่นล่ะ นี่อาจเป็นทางที่ผู้เขียนพึงใจ และสามารถตอบโจทย์ต่อผู้อ่านกลุ่มใหญ่ได้ดี
เป็นรวมเรื่องสั้นแนวแฟนตาซี sci-fi ที่อ่านสนุกและที่สำคัญคือหลังจากที่ผู้เขียนพาเราเดินทางไกลไปนอกจักรวาล ไปต่างประเทศ หรือในดินแดนเร้นลับตามแต่จินตนาการอันพรึงเพริศของเธอแล้ว ในท้ายที่สุดเมื่อเรากลับสู่โลกหลังปิดหนังสือ เราก็ได้แต่ตระหนักว่าสังคมอำนาจนิยมและบรรยากาศแบบดิสโทเปียในเรื่องเล่าของจิดานันท์ หาได้อยู่ไหนไกลจากชีวิตจริงในดินแดนที่ผู้คนใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่เลยแม้แต่น้อย
Tags: วรรณกรรมไทย, ซีไรต์, SEA Write, สิงโตนอกคอก