ขณะที่เด็กทั่วไปเล่นสนุกตามช่วงวัย พ่อแม่นักกฎหมายพาเขาลงพื้นที่ไปเจอปัญหาของชาวบ้าน
ขณะที่เด็กมัธยมทั่วไปใช้เวลากับเพื่อนฝูง เขาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ขณะที่นักศึกษาทั่วไปอยู่กับตำราในห้องเรียน เขาคือหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือ ‘กลุ่มดาวดิน’ ที่ลงพื้นที่ไปทำงานกับชาวบ้าน
ก่อนการรัฐประหาร 2557 ชีวิตของ ‘จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา’ หรือ ‘ไผ่-ดาวดิน’ เป็นแบบนั้น
หลังจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารมาบริหารประเทศ แน่นอนว่าหลายคนดีใจที่ความขัดแย้งยุติลง แต่หลายคนไม่พอใจสิ่งที่เกิดขึ้น บางส่วนลุกขึ้นส่งสัญญาณต่อต้านในที่สาธารณะ ซึ่งไผ่คือหนึ่งในนั้น เหตุการณ์ที่เป็นภาพจำคือ เขาและเพื่อนกลุ่มดาวดินแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านการ ‘ชูสามนิ้ว’ ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะกล่าวบนเวทีที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557
ด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลานั้น ไผ่-เด็กหนุ่มจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องมีหลายคดีติดตัว ต้องติดคุกมาแล้วหลายครั้ง ทั้งคดีการเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารกับเพื่อนขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน (ติดคุก 12 วันที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ) คดีการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ (ติดคุก 12 วันที่เรือนจำภูเขียว) และคดีการชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร (ติดคุก 5 วันที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น) เรียกได้ว่า เขาถูกจับตาเป็นเบอร์ต้นๆ ก็ว่าได้
“ตอนนั้นคุณติดคุกรวมแล้วประมาณหนึ่งเดือน เคยคิดไหมว่าตัวเองจะติดคุกนานเป็นปี” ผมลองถาม
“ไม่เคยคิดเลย” เขาตอบทันที
ปลายปี 2559 เขากดแชร์ข่าวจากเฟซบุ๊กของสำนักข่าวบีบีซีไทยเรื่องพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 เป็นบทความที่มีคนแชร์มากกว่าสองพันคน อัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี
บนทางแยกที่ต้องเลือกระหว่างสู้คดีเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง หรือรับสารภาพให้โทษลดลงเพื่อความสบายใจของครอบครัว เขาจำเป็นต้องเลือกอย่างหลัง โทษจึงลดเหลือกึ่งหนึ่ง คือ 2 ปี 6 เดือน และด้วยการอภัยโทษในช่วงท้ายเล็กน้อย รวมแล้วเขาอยู่ในเรือนจำทั้งหมด 870 วัน
จากเด็กน้อยที่ลงพื้นที่ด้วยความสนุก เด็ก ม.ปลาย ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยความเชื่อแรงกล้า นักศึกษาที่เริ่มต้นอุดมการณ์ประชาธิปไตย และอดีตผู้ต้องขังที่ถูกจองจำยาวนาน 870 วัน (ขณะอยู่ในเรือนจำ เขาได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึกแห่งประเทศเกาหลีใต้) หากมองช่วงเวลาตั้งแต่เด็กจนโต เป็นการเดินทางระยะยาว ระหว่างทางของ ‘ไผ่-ดาวดิน’ เต็มไปด้วยการเรียนรู้ที่ค่อยๆ เปิดใจเปลี่ยนความคิดให้กลายเป็นเขาในปัจจุบัน
บทสนทนาข้างล่าง คือการย้อนไปมองบทเรียนต่างๆ ในชีวิตของเด็กหนุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาหลายปี และเพิ่งออกจากเรือนจำมาได้เพียงเดือนเศษ
ในอดีต-เขาเคยคิดและรู้สึกอย่างไร และในอนาคต-เขามองเส้นทางข้างหน้าไว้แบบไหน
ความทรงจำแรกๆ ของคุณที่ลงพื้นที่ไปกับพ่อแม่ คือเรื่องอะไร
ผมไปกับพวกเขาตลอดนะ หลายพื้นที่ หลายปัญหา เริ่มตั้งแต่ประถมเลย ช่วงรณรงค์รัฐธรรมนูญปี 2540 ผมไปเขียนชื่อด้วย เด็กไปไหนก็สนุก พอไปบ่อยๆ เลยได้เห็นบรรยากาศ การโตมาในที่แบบไหน เราก็เป็นคนแบบนั้น
เริ่มเข้าใจสิ่งที่ทำว่ามันมีควาหมายมากกว่าแค่ความสนุกตอนไหน
เอาจริงๆ คือตอนมหาวิทยาลัยเลย (หัวเราะ) สมัยมัธยมก็คิดบ้าง ผมเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตลอด เวลาอยู่บ้าน ก็กินข้าวกัน ดูข่าวกัน ด่าทักษิณ แล้วช่องที่เปิดคือ ASTV ผมเลยไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำ ตอนนั้นก็ออกมาไล่กับกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย
จุดตัดที่คนบางส่วนไม่เห็นด้วยคือการเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน ตอนนั้นเด็ก ม.ปลายเข้าใจเหตุการณ์แค่ไหน
ไม่รู้เรื่องหรอก ก็ไปต่อ ดีใจกับชัยชนะ ดีใจกับการรัฐประหารครั้งนั้น (2549) ผมเลยเชื่อในการเรียนรู้ไง คนเราพัฒนาได้ เปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ว่าใครคิดแตกต่างแล้วเราไปตีหน้าเลย ไม่เปิดโอกาสให้กัน
ตอนนั้นอุดมการณ์ทางการเมืองของคุณเป็นอย่างไร
มันเป็นสำนึกทางการเมือง ผมโตมากับบรรยากาศแบบนั้น ดู ASTV รู้เรื่องว่าทักษิณ ชินวัตร คอร์รัปชันยังไง ก็อิน ต้องรวมพล ต้องเสียสละ ต้องออกไป เลยไม่ได้ฉุกคิดมาก พอเกิดการรัฐประหาร (เงียบคิด) ด้วยความเป็นเด็กน่ะ เลยรู้สึกว่าได้รับชัยชนะ หลังจากรัฐประหาร 2549 เกิดคนเสื้อแดง เพื่อนสนิทเป็นเสื้อแดง เขาเอาธงสีแดงมา ผมเอาธงไปทิ้งเลยนะ มันถึงขั้นนั้น ไม่ได้ต่อยกันหรอก แต่เห็นไม่ได้เลย ธงแดงคือความไม่ถูกต้อง เรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง แกนนำ 5 คนในตอนนั้นคือไอดอลของผมเลยนะ ผมมีลายเซ็นทุกคน มือตบรุ่นคลาสิกสีเหลืองดำ ผมมี อุปกรณ์เยอะ ตอนมีการสลายการชุมนุมที่ทำเนียบ ผมก็อยู่ในเหตุการณ์ ตอนนั้นมองว่าปัญหาคือทักษิณ ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ทักษิณ ซึ่งเหมือนกับทุกวันนี้แหละ ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ทักษิณ
ตอนนั้นคำว่า ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ เป็นตรรกะขนาดไหน หรืออารมณ์ล้วนๆ เลย
ไม่มีหรอก ผมรับข้อมูลเรื่องคอร์รัปชันมา เลยไม่ชอบทักษิณ ตอนหลังค่อยมาเรียนรู้ว่า โกงยังไงก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ รัฐประหารเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ตอนนั้นดีใจกับรัฐประหาร ล้มทักษิณได้ เป็นยังไงล่ะ มาเจอด้วยตัวเองเลย (หัวเราะ)
คุณดูเขินๆ ที่จะเล่าถึงเรื่องนี้ไหม
ไม่นะ ผมภูมิใจ การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญ อย่างน้อยผมก็ไปตลอด
จากคนเกลียดทักษิณมากๆ คุณเริ่มมา เอ๊ะ! ตอนไหน
ตอนเข้ามหาวิทยาลัย เราเติบโตขึ้น ได้ศึกษาหาความรู้ เรื่องการเมือง ประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์ ทั้งอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังนักวิชาการ พูดคุยแลกเปลี่ยนกับรุ่นพี่ ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ เริ่มเอ๊ะแล้ว เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ อ้าว กูทำไม่ถูกต้องเหรอวะ
คุณสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ด้วยเป้าหมายอะไร อยากเป็นผู้พิพากษาไหม
อยากเป็นนะ พ่อเป็นทนาย แล้วเป็นทนายไม่เหมือนคนอื่น เขาจนไง (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นเราอยากรวย เลยอยากเป็นผู้พิพากษา ผมไม่เคยคิดหรอกว่าชีวิตควรเป็นยังไง วัยรุ่นในต่างประเทศนะ พอจบไฮสคูล เขามีเวลาหนึ่งปีให้เดินทางเพื่อหาตัวเอง รวมไปถึงบรรยากาศในการได้คิดด้วย เขาเลยรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ผมอยากเรียนหลายอย่างเลย แต่สุดท้ายด้วยบรรยากาศที่บ้าน เรียนกฎหมายละกัน อาชีพก็ผู้พิพากษาละกัน เพราะเงินเดือนเยอะไง
ตอนเด็กๆ เรียนเก่งไหม
พอได้อยู่ เป็นเด็กที่เรียนด้วย ดื้อด้วย มึนด้วย ผมเคยเถียงกับอาจารย์เรื่องห้างโลตัสจะมาตั้งที่บ้าน เราก็เถียงว่า “มันไม่ดีครับ ร้านโชห่วยจะอยู่ไม่ได้” เป็นคนแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว คิดไม่เหมือนคนอื่น คิดแล้วกล้าพูด พร้อมแลกเปลี่ยนกันหรือทะเลาะ ถ้าครั้งแรกเถียงแพ้ ผมจะกลับไปหาข้อมูลแล้วมาเถียงใหม่ คนอื่นไม่เห็นด้วย เขาอาจนั่งนิ่งๆ แต่ผมเป็นคนดื้อๆ มึนๆ
คุณบอกว่ามา เอ๊ะ! ตอนมหาวิทยาลัย ความคิดเปลี่ยนได้อย่างไร
ประมาณปีสอง เมื่อก่อนเราลงพื้นที่แบบเด็กน้อย แต่รอบนี้ไปแบบนักศึกษา ตอนนั้นผมเข้ากลุ่มดาวดินแล้ว รุ่นพี่ก็ชวนคุย ครั้งแรกพาลงพื้นที่ที่อุดรธานี เรื่องเหมืองโปแตสเซียม เราชอบกินเหล้าไง รุ่นพี่ก็เอามาล่อ “เฮ้ย ไปเที่ยวกัน” เอ้า ไปก็ไป เป็นจังหวะไหล (หัวเราะ)
เป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น บริษัทจ้างคนอื่นมายกมือให้โครงการผ่านตามกระบวนการ ชาวบ้านในพื้นที่เลยไปค้าน ผมเมาๆ เข้าไปในพื้นที่ วันนั้นได้เห็นชาวบ้านผู้หญิงโดนตำรวจตีหัวโน เฮ้ย มันเกิดอะไรขึ้นวะ หลังจากเหตุการณ์วันนั้น ผมก็ยังเป็นวัยรุ่นทั่วไป เมาเหมือนเดิม มีเพื่อน มีสังคม ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น เพียงแค่บางช่วงเราคิด พูด และทำเรื่องของคนอื่น สละเวลานิดๆ หน่อยๆ ในชีวิต ไม่ได้ทำตลอดเวลาหรอก ความเห็นใจคนอื่นเริ่มพัฒนามาเรื่อยๆ ผมเลยเชื่อว่ามนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ อยู่ที่ว่าชีวิตเจออะไรมา
ช่วงนั้นเป็นยุคประชาธิปไตย ตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้วมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผมเดินสายล้มเวทีเลย เราเติบโตมาในยุคประชาธิปไตย (เงียบคิด) ไม่เชิงเบ่งบาน แต่ยังทำอะไรได้อยู่ ทำแล้วไม่โดนจับ พอลงพื้นที่ไปบ่อยๆ พบว่าทุกที่เจอปัญหาเหมือนกัน คือรัฐและทุนเอาเปรียบชาวบ้าน ความยุติธรรมอยู่ตรงไหนวะ ทำไมชาวบ้านปกป้องทรัพยากรไม่ได้วะ ทำไมออกมาแล้วโดนตีวะ
ตอนนั้นผมอ้วนๆ ตุ้ยๆ เลย ออกไปค้านโครงการเสาไฟฟ้าแรงสูงที่อุดรฯ เสาไฟฟ้าแรงสูงมาจากลาว เสาใหญ่ๆ เลยนะ อุตสาหกรรมจะย้ายฐานการผลิตมาอีสาน แล้วต้องการน้ำและไฟฟ้า ก็ทำเขื่อน แล้วเอาไฟฟ้ามา แล้วที่ตั้งเสาตรงนั้นเป็นที่ของชาวบ้าน พอที่ของนายทุนเป็นสวนยาง เสาไฟฟ้าหลบออกหมดเลย ชาวบ้านไม่ยอม ตอนนั้นผมคิดว่า ตั้งก็ตั้ง แต่ขยับออกไปได้ไหม ขอแค่นี้ ผมอยู่กับชาวบ้าน ก็พูดๆๆ ด่าๆๆ ตำรวจชูนิ้วกลางใส่ ผมเลยด่ากลับ คุณเป็นเจ้าหน้าที่ ต้องทำเพื่อประชาชน มาทำแบบนี้ได้ยังไง
ตอนนั้นเรียกตำรวจว่า ‘คุณ’ หรือ ‘มึง’
(เงียบคิดนาน) ไม่รู้ จำไม่ได้ น่าจะมึง (หัวเราะ) วันนั้นบริษัทรีบทำมาก เขาเอารถแบคโฮมาเตรียมขุด อยู่ๆ ชาวบ้านวิ่งเข้าไปขวาง แม่งโคตรใจเลย เราก็เข้าไปด้วย คนขับรถแบคโฮเลยลงมา ไม่ทำต่อแล้ว ขณะที่นายทุนสั่งว่า ต้องทำต่อ กูจ้างมึงมา สุดท้ายระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เขาต้องรู้สึกบางอย่าง อยู่ที่ว่าจะทำต่อไหม
ตอนนั้นผมโดนตำรวจอัด โกรธมาก อยากอัดกลับ เขาชูนิ้วกลางมา ก็อยากชูกลับ แต่ด้วยแนวทางของกลุ่ม ผมอัดกลับไม่ได้ มันคือความสวยงามของสันติวิธี แต่พอทำอะไรไม่ได้ก็อึดอัดมาก เราคนเหมือนกัน สุดท้ายร้องไห้ออกมาเลย แล้ววันนั้นติดคุกด้วย เป็นครั้งแรกที่ติดคุก ประมาณสี่ทุ่มก็ได้ออกมา
จากการเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ คุณเริ่มมาเคลื่อนไหวกับการเมืองภาพใหญ่ได้อย่างไร
พวกผมทำมาตลอด รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เคยไปยื่นหนังสือ ตอนเรื่อง ม.นอกระบบ แต่เวลาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ถ้านโยบายไหนไม่ดี เราจะสู้เฉพาะเรื่อง ล้มเป็นโครงการไป ไม่ได้ล้มรัฐบาล พวกผมทำมาตลอด แต่ผมเริ่มเป็นที่รู้จักตอนเคลื่อนไหวเรื่องเหมือง (การเคลื่อนไหวคัดค้านกรณีขอประทานบัตรเหมืองทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย) เพราะภาพถ่ายมันได้ ตอนนั้นได้รางวัลเยาวชนต้นแบบด้วย (รางวัลเยาวชนต้นแบบ ในงานประกาศผลรางวัล ‘คนค้นฅน อวอร์ด’ ครั้งที่ 5)
แต่พอออกมาชูสามนิ้ว คุณถูกมองอีกแบบไปเลย
หลังจากเหตุการณ์นั้น ผมกลายเป็นทรชนต้นแบบ (หัวเราะ) แต่ตลอดการเคลื่อนไหว ผมไม่ได้นิยามว่าการกระทำไหนดีหรือไม่ดี
ถ้าไม่นิยามด้วย ‘ความดี’ คุณนิยามสิ่งที่ตัวเองทำว่าอะไร
มันคือสิ่งที่ต้องทำ ชาวบ้านที่ไหนไม่รู้กำลังโดนกระทำแบบนี้ ถ้าเราเป็นเขาจะทำยังไง ถ้ามันเกิดขึ้นกับเขาได้ วันหนึ่งก็เกิดกับเราได้ ไม่ต้องรอให้เกิดขึ้นกับเราหรอก เกิดขึ้นกับใครก็ทำได้เลย
ความตั้งใจว่าอยากเป็นผู้พิพากษาหายไปแล้วเหรอ
หายไปนานแล้ว ผมผิดหวังตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ผมชอบดูหนัง มีเรื่องหนึ่งที่ตัวเอกขี่รถไปในป่า ลงชุมชนทำเพื่อชาวบ้าน แต่ผมเข้ามหาวิทยาลัยไป เจอ ‘ไก่ย่างถูกเผา’ ต้องเต้น ต้องทำห่าอะไรก็ไม่รู้ สันดานผมเป็นกบฏอยู่แล้ว โซตัสมันเล่นหนักนะ ด่าพ่อ ด่าแม่ บิ๊วรุ่นน้อง ผมเป็นคนใจร้อน เลยท้าตีกับรุ่นพี่ “มึง เหี้ยอะไรนักหนา มึงเดี่ยวกับกูไหมพี่” แม่งเอ๊ย กูร้องเพลงเต็มที่แล้ว อยากให้รุ่นน้องรักกันก็พูดกันดีๆ ดิวะ โซตัสมันระบบของทหาร คนไม่ต้องคิด สั่งอะไรต้องทำ แต่ผมอยู่แบบนั้นไม่ได้ พอทำแบบนั้นไป ผมเลยเกิด พี่ดาวดินเลยรู้จัก เด็กคนนี้ลูกของทนายอู๊ด (วิบูลย์ บุญภัทรรักษา) เรียกเข้าไปเจอกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เข้ากลุ่มดาวดิน
การเข้ากลุ่มดาวดิน ทำให้เห็นโลกกว้างขึ้น ผู้พิพากษาไม่เท่แล้วว่ะ คุณค่าของชีวิตไม่ใช่เงินเดือนเป็นแสน เริ่มมาทางเช เกวารา ไปทางนักปฏิวัติแล้ว เชเสียสละ ไม่ทำอาชีพหมอต่อ ทั้งที่ทำแล้วรวย ทำไมมึงเท่จังวะ ไม่ได้แล้วว่ะ ก็เลยมาทางนี้เลย ช่วงนั้นผมแทบไม่เข้าเรียนเลย ลงไปพื้นที่ตลอด
ตอนรัฐบาลทหาร คุณไม่ได้เคลื่อนไหวเรื่องโครงการแล้ว มาเป็นเรื่องประชาธิปไตยแทน?
หลังรัฐประหารก็ลงพื้นที่เหมือนเดิม แต่เจอเจ้าหน้าที่ตรวจค้น ต้องขออนุญาต ห้ามเข้าพื้นที่ เฮ้ย มึงเป็นใครวะ กูทำงานกับชาวบ้านมาหลายปี ถ้าการรัฐประหารไม่ส่งผลกระทบ ก็ไม่เกิดการเคลื่อนไหวหรอก เราเคลื่อนไหวเรื่องของชาวบ้าน ก็เห็นปัญหาโครงสร้างทางการเมือง ทำให้ต้องเข้าไปแตะ ผมถึงพูดอยู่ตลอดว่า ชีวิตเราเกี่ยวกับการเมือง เราไม่ยุ่งกับมัน มันก็ยุ่งกับเรา ไม่มีใครหลุดพ้นจากการเมืองได้
ตั้งแต่ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ออกมา พวกผมคือกลุ่มแรกๆ ที่เคลื่อนไหว สุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาแบบนี้ เรามองว่านำไปสู่การรัฐประหาร เลยออกแถลงเกรียน ฉบับที่ 0 อู อู อู หนาว พอศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการเลือกตั้ง (2 กุมภาพันธ์ 2557) เป็นโมฆะ เราก็ฟ้องศาลปกครอง เราทำมาตลอด แต่ตอนนั้นหลายคนไม่เชื่อ แล้วทำยังไงได้ล่ะ ทุกวันนี้คนด่ารัฐธรรมนูญกันแล้ว มันคงเป็นกระบวนการเรียนรู้ของคนด้วย
ตอนเคลื่อนไหวกับชาวบ้าน คนจำนวนมากชื่นชม พอออกมาค้านรัฐบาลทหาร หลายคนกลับไม่ชอบใจ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
เมื่อก่อนคนก็มองว่า ประชาธิปไตย คือ ทักษิณ พูดถึงประชาธิปไตย ก็ติดภาพทักษิณ เราเข้าใจนะ รับรู้ตลอด เราพยายามอธิบายว่า กูไม่ใช่ทักษิณเว้ย แต่คนไม่เชื่อยังไงก็ไม่เชื่อ ผมค้านเผด็จการ ตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ออกไปยื่นหนังสือ
เราไม่ได้เกลียดตัวบุคคล
ใช่ แต่บุคคลมันเชื่อมโยงไปที่หลักการไง
คุณมองว่าตัวเองเสื้อสีอะไร
พวกผมเลือกข้างความยุติธรรมว่ะ เสื้อสีอะไร ฝ่ายทักษิณหรือไม่ มันเชยแล้วว่ะ ยุคก่อนใช้ได้นะ ความขัดแย้งแบบสีเสื้อไม่เหมาะกับยุคนี้แล้ว ปัจจุบันคือ มึงสีอะไรก็ตาม เออ กินเหล้ากันได้
ตอนรัฐประหารใหม่ๆ ทำไมคุณจึงออกไปชูสามนิ้ว
ตอนนั้นประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมาอีสาน แล้วพูดว่าตัวเองประชาชนรักใคร่ ไปที่ไหนก็ได้ พูดอย่างนี้เหมือนตบหน้ากัน เขาจะมาขอนแก่น พวกผมเลยออกไปปฏิบัติการ ต้องบอกว่าในทุกการเคลื่อนไหว เรามีกลุ่มเพื่อนด้วยนะ คนมักมองว่าผมเป็นฮีโร่ แต่ถ้าไม่มีพวกเขา ผมคงไม่ได้ออก คงไม่ได้เป็นไผ่อย่างทุกวันนี้
ครั้งแรกที่ติดคุก มันแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่คุณยังเคลื่อนไหวมาเรื่อยๆ เคยคิดไหมว่า อาจต้องติดคุกหลายวันหรือเป็นเดือน
ตอนรัฐบาลประชาธิปไตย ผมไม่คิดเลย มองว่าตัวเองทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำไมต้องติดคุกด้วย แต่พอมารัฐบาลเผด็จการ ก็คิดเหมือนกันนะ บรรยากาศมันต่างกัน เราทำอะไรไม่ได้เลย มันเลยเป็นเหตุจำเป็นที่ต้องล้มเผด็จการก่อน
ครั้งแรกที่คุณเข้าคุกอย่างเป็นทางการ คือเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 12 วันในคดีการเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร เล่าถึงวันนั้นให้ฟังหน่อย
แค่เข้าไปก็สูญเสียความเป็นมนุษย์แล้ว ร่างกายไม่ใช่ของเรา ต้องแก้ผ้า เปิดไข่ เปิดตูด ถูกคลำตัว นึกดูละกัน ถ้าเป็นคุณจะรู้สึกยังไง พอเข้าไปก็ตื่นเต้น สับสน โกรธว่าโดนเหรอวะ แต่ครั้งนั้นเคลื่อนไหวกันเยอะ อยู่ด้วยกันหลายคนเลยดึงๆ กันไป คึกอยู่นะ ใจได้ ฟีลได้ เพื่อนได้ เลยมีพลัง
ครั้งต่อมาคดีการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ติด 12 วันที่เรือนจำภูเขียว และคดีการชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร ติด 5 วันที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น
ตอนเข้าไปก็โดนเหมือนเดิมเลย ไม่ชิน ไม่ชอบ ไม่มีใครชอบหรอก ครั้งที่สองผมอดอาหารด้วยนะ อดทุกวันเลย กินน้ำเปล่า กินนม กินกาแฟ สู้กับตัวเองมากนะ เหี้ยเอ้ย ใจคานธีทำด้วยอะไรวะ ตอนไม่ทำไม่รู้นะ ผมอ่านหนังสือมา คานธีไม่กินข้าว ก็เรื่องเล็กๆ เอง แต่พอมาทำเองโคตรยิ่งใหญ่เลย กูหิว จะกินก็ได้ แต่ไม่กิน มันสู้กันระหว่างความคิดกับความรู้สึกจริงๆ มันทรมาน เราทำแบบนั้นเพื่อไปสู่ความเชื่อบางอย่าง ทั้งที่จริงๆ ไม่ทำก็ได้
ตอนนั้นคุณติดคุกรวมแล้วประมาณหนึ่งเดือน เคยคิดไหมว่าตัวเองจะติดคุกนานเป็นปี
ไม่เคยคิดเลย ผมไม่ได้กลัวคุกนะ ครั้งแรกที่ติด พวกเราไม่ประกันตัวเอง เลือกที่จะยืนหยัด กูไม่ผิด กูไม่ประกัน ต้องสู้กับตัวเองมาก กูอยากออกไปว่ะ แต่ต้องสู้ พอเขาปล่อยออกมาก็โอเค ครั้งที่สองก็สู้กับตัวเองเรื่องอดอาหาร ตั้งแต่หลังรัฐประหารแล้ว เคยมีคนบอกว่า อย่าไปทำอะไร เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก ผมไม่เชื่อ มีคนบอกอีกว่า ถ้าทำแบบนี้จะโดนจับนะ ผมไม่เชื่ออีก ทำเหมือนเดิม ถ้าตอนนั้นฟังคนอื่น ผมไม่ติดคุกหรอก
เข้าใจว่าในบางการเคลื่อนไหว คุณคงประเมินบ้างว่า ทำแบบนี้คงโดนเล่นงาน ทำไมถึงยังทำต่อ
เพราะไม่มีใครทำไง ถ้ามีคนทำ ผมไม่ทำหรอก มาเป็นคนร่วมแทน
วันที่โดนคดี 112 คุณกำลังเข้าร่วมขบวนธรรมยาตราที่จังหวัดชัยภูมิ อยู่ๆ ก็มีตำรวจเข้ามาจับกุม อยากรู้ว่าเขาเข้ามาพูดอย่างไร
เขาเข้ามาถามว่า “ใช่ ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ไหมครับ” / “ใช่ครับ” / “ทางตำรวจได้รับแจ้งความจาก พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี…” แล้วก็บอกว่าคดีอะไร ตอนนั้นช็อกนะ ฉิบหายแล้ว ถ้าคดีอื่นผมไม่กลัวนะ เรายังพูดอะไรได้ แต่คดีมาตรา 112 คือจบเลย จบทุกอย่าง ตอนที่ผมแชร์ข่าว มีคนมาเตือนว่า “มึงลบโพสต์ไหม” ผมตอบกลับไปว่า “เฮ้ย ทำไมวะ ผมแค่แชร์ข่าวนะ” เราไม่ได้เอะใจว่าจะเกิดอะไร ตอนนั้นเช้ามาก โทรหาก็ไม่มีใครรับ ผมเลยไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กเพื่อบอกให้ทุกคนรับรู้
หลังจากนั้นขั้นตอนมั่วไปหมด เวลาเขาจะจับใครก็ต้องแจ้งสิทธิ์ใช่ไหม ทำเหมือนในหนังฝรั่ง “คุณมีสิทธิ์ที่จะไม่พูด เพราะคำพูดของคุณจะใช้การในชั้นศาล คุณสามารถติดต่อทนายได้นะ” แต่เคยเห็นตำรวจไทยทำไหม ไม่มี ทั้งที่มีในตัวบทของกฎหมายของไทย แล้วเวลาพนักงานสอบสวนบันทึกก็จะบอก “แจ้งสิทธิ์แล้ว” แต่จริงๆ ไม่ได้แจ้งหรอก ตอนนั้นผมไม่ยอมรับคำให้การ มันไม่ใช่ คุณไม่ได้แจ้งสิทธิ์ผม เลยไม่เซ็น
เขาจะพาไป สภ.เมืองขอนแก่น ผมก็บอกคนอื่น มันเป็นสิทธิที่จะบอกญาติพี่น้องหรือทนาย คนไปรอกัน พอขึ้นรถก็ยึดโทรศัพท์แล้ว อยู่ๆ ก็เปลี่ยนเส้นทาง ผมเลยบอกว่า “เฮ้ย พี่ ทำแบบนี้ได้ยังไง ผมมีสิทธิที่จะแจ้งให้คนอื่นรู้” ก็เถียงๆๆ แต่เขาไม่ยอมให้แจ้ง เปลี่ยนไปศูนย์ฝึก (ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 4) ตำรวจเตรียมทนายมาให้ ผมไม่เอา ถ้าทำแบบนี้ ผมไม่ให้การอะไรทั้งนั้น ตำรวจเต็มเลยนะ ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งนั้น สุดท้ายเขาถึงยอมให้บอกทนาย นึกดูนะ ถ้าเหตุการณ์ที่เล่าคนโดนไม่ใช่ผม ไม่รู้เรื่องกฎหมาย ไม่แข็งพอ เริ่มมาก็เสียแล้ว อาจยอมให้การเพื่อให้เสร็จๆ ไป
ภายนอกคุณกำลังยืนยันสิทธิ์ของตัวเอง ภายในความรู้สึกเป็นอย่างไร
ผมโกรธ ทำไมทำแบบนี้วะ
แน่นอนว่าการโดนคดี 112 คงแตกต่างจากทุกคดีที่ผ่านมา ตอนนั้นคุณรู้สึกอย่างไร
(เงียบคิด) ที่ผ่านมาเหมือนผมเข้าไปเรียนรู้ชีวิต ไปทัศนศึกษา แต่ตอนนั้นรู้สึกว่ากำลังจะเป็นนักโทษจริงๆ
คำว่า ‘นักโทษ’ สิ่งที่ตามมาคือ คุณต้องทำความผิดอะไรสักอย่าง ตอนนั้นมองว่าตัวเองทำผิดอะไรไหม
ไม่ ผมไม่เคยมองว่าตัวเองทำผิด ตอนเข้าไปอยู่ในเรือนจำ วันเยี่ยมญาติใกล้ชิดจะมีกระบวนการให้ขอโทษพ่อแม่ ผมไม่ขอโทษนะ บอกพ่อแม่ไปว่า “ผมไม่ขอโทษนะ ไม่ได้รู้สึกว่าทำอะไรผิด” พวกเขาก็บอกว่า “เออ ใช่ ไม่ต้องขอโทษ” ผมไม่ได้ติดคุกเพราะความผิด แต่ติดเพราะความไม่ยุติธรรม มันเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นก็ได้
ทุกครั้งที่เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณา มันเป็นเรื่องฮานะ การกระทำความผิดคือ ชูสามนิ้ว ฮาไหมล่ะ มันใช่เรื่องที่ต้องติดคุกเหรอ เจ้าหน้าที่ที่ให้การก็หัวหงอกแล้ว ยศใหญ่โตเลย ต้องมาพูดว่า ชูสามนิ้วคือเครื่องมือกระทำความผิด ป้ายผ้าคือเครื่องมือกระทำความผิด เสื้อที่มีคำว่าไม่เอารัฐประหารคือเครื่องมือกระทำความผิด มันเกิดอะไรขึ้นวะ เขาทำให้เรื่องไร้สาระเป็นเรื่องมีสาระ ผมต้องเข้าสู่พิธีกรรมในชั้นศาล ยืนให้การ พูดสาบานตน พวกมึงทำอะไรกันวะ
เล่าให้ฟังหน่อยว่า หนึ่งวันในเรือนจำต้องทำอะไรบ้าง
ต้องตื่นตีห้าครึ่งมาสวดมนต์ แล้วเก็บที่นอน เป็นผ้าห่มสามผืนบนสามแผ่นกระเบื้อง พับๆๆ รอผู้คุมมาเปิด นับยอดจนครบ หกโมงครึ่งถึงเจ็ดโมงออกจากห้องขัง สูบยา กินกาแฟ แต่ตอนหลังออกนโยบายว่าห้ามสูบยาแล้ว แปดโมงก็เคารพธงชาติ สวดมนต์ นับยอดอีก แล้วก็กินข้าวเช้ากัน แล้วคนที่มีสถานะนักโทษก็แยกย้ายไปกองงาน เช่น สานอวน ทำงานไม้ พานพุ่ม แต่ช่วงแรกผมยังไม่มีอะไรทำ เพราะศาลยังไม่ตัดสิน ก็ตื่นเต้น เขาทำอะไรกันวะ ชีวิตเป็นยังไง ดูเขาทำนั่นทำนี่ แล้วก็อ่านหนังสือ ความแตกต่างคือ ถ้าคดีสิ้นสุด นักโทษจะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ชั้น ได้วันลดโทษ ได้อภัยโทษ แต่ถ้าอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ก็มีโอกาสได้กลับตลอด อาจยกฟ้องก็ได้ ซึ่งผมเคยมีโมเมนต์นั้นในช่วงแรก
กองงานเสร็จเที่ยง กินข้าว นับแถวอีก นับยอดทั้งวัน ก็ทำงานต่ออีก ถึงบ่ายสองก็กินข้าวมื้อเย็น บ่ายสามถึงบ่ายสามครึ่งต้องอาบน้ำเสร็จแล้ว เพราะสี่โมงต้องขึ้นเรือนนอนแล้ว แล้วหกโมงร้องเพลงสรรเสริญ สวดมนต์ 15 นาที เสร็จแล้วก็ดูหนังดูซีรีส์ในห้องนั้นเลย เอาไฟล์ใส่แฟลชไดรฟ์มา ทั้งคุกดูเหมือนกันหมด สามทุ่มก็ปิดทีวี คนจะนอนก็นอน คนจะอ่านหนังสือก็อ่าน ไม่มีปิดไฟ อยู่ในนั้นไม่เคยเจอความมืดเลย
ช่วงแรกที่เข้าไปในเรือนจำ คุณยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาที่อาจได้รับการประกันตัว เวลาผ่านไปเรื่อยๆ จนรู้ว่าไม่ได้ประกันตัว จนคดีสิ้นสุด จนคุณตัดสินใจรับสารภาพ อยากรู้ว่าความรู้สึกในแต่ละช่วงเป็นอย่างไรบ้าง
ต้องบอกก่อนว่า ผมก็เหมือนกับคนทั่วไป มีสุข มีทุกข์ มีเศร้า มีดีใจ คนชอบพูดกันว่า “จิตใจมึงทำด้วยอะไร ทำไมถึงกล้าหาญขนาดนี้” ไม่ใช่เลย ผมก็คนธรรมดา ช่วงแรกๆ หวังว่าจะได้ประกันตัวออกไป พอยื่นหลายครั้งแล้วไม่ได้ออก ก็เปลี่ยนมาเตรียมสู้คดี ออกไปให้การที่ศาล สืบๆๆๆ ไปจนครบทุกปาก ถ้าผลออกว่าไม่ผิด ช่วงนั้นก็ถือว่าติดฟรีไป ซึ่งควรได้รับการประกันตัวมาสู้คดีไง แต่ผมไม่ได้ เหตุผลเดียวที่ใครสักคนจะอยู่ในคุก คือคดีนั้นมีคำพิพากษาแล้ว
ตอนนั้นแม่อยากให้ผมรับสารภาพ คดีจะได้จบๆ ไป พ่อยังไงก็ได้ ถ้าสู้ก็โอเค รับสารภาพก็ไม่เป็นไร แต่เราอยากสู้ พอบอกแม่ไปแบบนั้น เขากลัวลูกต้องติดนาน ก็เฟล ทำไมไม่ยอมฟังกัน ถึงขนาดว่าหนีออกจากบ้านเลย บรรยากาศในบ้านแตกสลาย สุดท้ายผมเลยตัดสินใจรับสารภาพ ทั้งที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดอะไร
ผมอ่านหนังสือโสเครติส เตรียมข้อมูลเพื่อจะสู้ เหมือนนักมวยเตรียมตัวไปชก แต่จังหวะกำลังจะชกจริง พี่เลี้ยงกลับโยนผ้า เรายังไม่ได้ขึ้นเวทีเลย เข้าใจฟีลไหม (เงียบ) เป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดอีกครั้งในชีวิต ยากกว่าการออกไปชูสามนิ้วอีกนะ ยากกว่าทุกเรื่อง มันสู้ระหว่างอุดมการณ์ของตัวเองและความรักของครอบครัว ตอนนั้นข้างในแตกสลายเลย เฟล น้ำตาไหล
วันที่รับสารภาพ กลับมาเรือนจำด้วยความรู้สึกอย่างไร
ผมร้องไห้ตั้งแต่อยู่ศาลแล้ว ร้องแบบเสียทรงเลย ไม่มีความเป็นผู้ใหญ่ เราอยากสู้ แต่ทำไม่ได้ มืดมนไปหมด ก็ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมไม่คุยกับใครไปสักพักเลย ไม่อยากตอบคำถามคนข้างใน มันอธิบายยากนะ ทำไมถึงรับสารภาพ ทุกคนงงกันหมด “มึงแชร์ข่าวแล้วโดนสองปีหกเดือนเหรอวะ” มันเท่าคดียาบ้า 80 เม็ด เท่าคดีพยายามฆ่าเลย
มันเป็นเหตุผลที่อธิบายยาก
ใช่ ผมยังอธิบายกับตัวเองไม่ได้เลย คนแชร์ข่าวสองพันกว่าคน เราโดนคนเดียว อธิบายเรื่องนี้ยังไงวะ แล้วเราจะบอกเพื่อนในเรือนจำยังไง ความผิดคืออะไร
เนื้อหาตามข่าวคือ คุณทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการแชร์ข่าวของ BBC ที่มีอีกสองพันกว่าแชร์ หลายคนเลยเกิดคำถามว่า ทำไมถึงเป็นความผิด ชาวเน็ตบางคนเข้ามาคอมเมนต์ว่า “ไม่จริงหรอก เขาไม่ได้ทำแค่นั้น มันมีอะไรมากกว่าที่เห็นในข่าว” เอาจริงๆ มันมีอะไรมากกว่านั้นไหม
ไม่มี ประเด็นไม่ใช่ว่าแชร์อะไรหรอก แต่ประเด็นคือใครเป็นคนแชร์ ในฝ่ายความมั่นคง ผมคือเบอร์หนึ่ง (เงียบคิด) เอาง่ายๆ ว่า ผมโดนเล่นมาหลายคดีแล้ว แต่ไม่หยุด ไม่กลัว และทำต่อไป มันไปจี้จุด โดนหลายคดีแล้วยังไม่หยุด ก็สมควรแก่เวลา (หัวเราะ) มึงแชร์ใช่ไหม โดนอันนี้ไป แล้วกฎหมายมาตรานี้ก็อย่างว่าแหละ
คุณเคยเล่าว่า เพื่อนๆ ในเรือนจำก็ตั้งคำถาม ชูสามนิ้วคืออะไรวะ ทำไปทำไมวะ ทำแล้วได้อะไรวะ จนต้องกลับมาถามตัวเองว่า เออ กูได้อะไรวะ
มันเป็นคำถามง่ายๆ แต่ตอบยากนะ คนในนั้นคือคนทั่วไป ทำงานให้ได้เงิน ซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่งงาน มีครอบครัว การชูสามนิ้วไม่เมคเซนส์ว่ะ เขาแค่อยากเข้าใจ ถามด้วยความใสซื่อ ผมตอบไปว่า “เออ กูเคลื่อนไหวทางการเมืองว่ะ สู้กับเผด็จการ” ค่อยๆ อธิบายไป พอมาคำถามว่า “ทำแล้วได้อะไรวะ” ช่วงแรกๆ ก็อธิบายยาว “ทำเพื่ออุดมการณ์ คิดว่าชีวิตต้องดีกว่านี้” ช่วงหลังๆ ถามเยอะ ผมเลยตั้งคำถามกับตัวเอง เออ กูทำแล้วได้อะไรวะ ไม่ได้อะไรสักอย่าง ชีวิตไม่ได้ดีขึ้น สังคมไม่ได้เปลี่ยนแปลง เลยตอบไปว่า “ก็ไม่ได้อะไร แค่ได้ทำว่ะ”
เพื่อนในนั้นสนิทกับใครบ้างไหม
ผมสนิทหลายคน
คนแบบไหนที่มักสนิทด้วย
ผมสนิทกับทุกแบบ ตอนเข้าไป คนในนั้นรู้จักผมกันอยู่แล้ว อยู่ไปประมาณหนึ่งปี บางคนเพิ่งอ่านหนังสือแล้วเจอข่าวผม ก็มาถามอีกว่า “ชูสามนิ้วคืออะไรวะ” ผมต้องอธิบายว่า เป็นสัญลักษณ์ที่มาจากภาพยนตร์ แล้วคนมักเข้าใจว่าชูสามนิ้วตามนางเอก แต่จริงๆ ไม่ใช่ ความเท่ของมันคือ พอนางเอกชูสามนิ้วแล้วโดนจับ แต่หลังจากนั้นก็มีคนชูตามแล้วโดนจับ แล้วก็ชูอีก ชูอีก ชูอีก เป็นการชูสามนิ้วที่โคตรได้ใจ
คุณใช้ชีวิตกับเพื่อนในเรือนจำเป็นปีๆ เห็นอะไรบ้าง
ผมเห็นความหลากหลาย เราอาจเข้าใจว่านักศึกษาคือปัญญาชน คนที่เข้าใจการเมืองต้องเรียนในระบบ เพื่อนในเรือนจำมาลบภาพนั้นเลย คนในคุกไม่ได้เรียนจบปริญญาเลย ทั้งหมดพันกว่าคนมีคนจบปริญญาตรีแค่ไม่กี่คน ซึ่งผมเป็นหนึ่งในนั้น (เขาสอบผ่านวิชาสุดท้ายและได้รับปริญญาตอนอยู่ในเรือนจำ) แต่บางคนสนใจการเมืองมาก อ่านหนังสือ เป็นตัวชี้วัดเลยว่า ถึงแม้ว่าเป็นนักโทษ พวกเขาก็เหมือนคนข้างนอกแหละ ทั้งคนฉลาด คนโง่ คนมึน คนดื้อ คนขี้เกียจ
ส่วนใหญ่โดนคดีอะไร
ยาเสพติด ทั้งเสพและขาย แล้วก็ลักทรัพย์ ความผิดต่อร่างกาย พยายามฆ่า คดีการเมืองก็มี
ถ้ามองแบบผิวเผิน คนในคุกคือคนไม่ดีอยู่ ทั้งยาเสพติด ลัก วิ่ง ชิง ปล้น คุณมองคนเหล่านั้นเป็นคนไม่ดีไหม
ไม่นะ ผมไม่รู้สึกแบบนั้นเลย มันไม่ได้น่ากลัวเท่ากับพวกใส่สูทแล้วไปหลอกคนอื่น พวกเขาเคยอยู่ในสังคมมาก่อน ไม่ได้ชั่วตั้งแต่แรก แต่ด้วยสภาพสังคมทำให้พวกเขาต้องเข้าไปในนั้น เลยถูกมองเป็นคนต่างออกไป หรือบางคนควรเข้ากลับไม่เข้า อย่างประยุทธ์เนี่ย ทำผิดกฎหมาย แต่ยังเชิดหน้าชูตาได้ เราเคยแจ้งความข้อหาล้มล้างการปกครอง แต่เขานิรโทษกรรมตัวเองไง ทำให้ไม่มีความผิด แบบนี้ก็ได้เหรอวะ ขณะที่คนในคุกนิรโทษกรรมตัวเองได้ไหม
คุณโลกสวยไปหรือเปล่า ในนั้นไม่มีคนเลวเลยเหรอ
มี คนเลวก็มี แต่พวกเขาไม่ได้เลวโดยกำเนิดไง แล้วคำว่า ‘โลกสวย’ ผมมองเป็นเรื่องที่ดีนะ ทำไมวะ โลกก็โหดร้ายอยู่แล้ว เราต้องทำให้มันสวยงามสิ มึงมองโลกแย่ ชีวิตเลยแย่ไง ผมเจอคนที่จบปริญญา ภายนอกภูมิฐานมาก แต่โดนคดีฆ่าคนตาย เหตุเกิดจากพี่สะใภ้ด่าๆๆ กดดันมาตลอด สุดท้ายเลยฆ่า (เงียบคิด) เข้าใจว่ามันคือความสูญเสีย มีคนได้รับผลกระทบ แล้วผมไม่ได้บอกว่าสิ่งนั้นถูกต้อง ไม่ต้องขังคุกใคร แต่ผมพยายามจะบอกว่า กฎหมายต้องมีหัวใจ ชาวเน็ตมองเหตุการณ์ต่างๆ ต้องใช้หัวใจ ใจเขาใจเรา อารมณ์ชั่ววูบเกิดขึ้นได้กับทุกคน ผมเลยมองว่า มนุษย์มีความชั่ว-ความดีอยู่ในตัวเอง อยู่ที่สังคมรอบตัวจะพาไปแบบไหน
ชีวิตในคุกมีความสุขไหม
ทั้งสุขและทุกข์ปนกันไป สนุกสนานกับเพื่อน ตอนจัดโครงการให้ความรู้เรื่องเอดส์กับคนในเรือนจำ เชิญวิทยากรข้างนอกมาพูด พวกผมช่วยจัดสถานที่ การได้ทำอะไรเป็นการวาร์ปวันเลยนะ ถ้าไม่ได้ทำอะไร มันคิดเยอะ อยากออกไปข้างนอก พอได้ทำอะไร แป๊บๆ ทำกิจกรรม แป๊บๆ เข้านอน แป๊บๆ ดูหนัง แป๊บๆ หลับ แป๊บๆ เช้า
เคยนึกย้อนถึงชีวิตการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตัวเอง แล้วคิดว่า ‘กูไม่น่าทำเลยว่ะ’ บ้างไหม
เคยแวบๆ ไม่ทำก็ไม่เป็นไรนี่หว่า แต่ผมทำเรื่องนี้มานาน มโนธรรมสำนึกยังเข้มแข็งอยู่ ผมมองว่าความคิดของมนุษย์สู้กันอยู่ตลอด จะทำแบบนี้ดีไหม ต้องทำว่ะ ไม่น่าทำเลยว่ะ ทำถูกแล้วว่ะ ออกไปจะทำอีกไหม ยังต้องทำต่อว่ะ
เหมือนมีแองเจิ้ล กับเดวิล สู้กันข้างใน
ใช่ๆๆ
ปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนั้นไหม
ใช่ ผมบอกตลอดว่า วันนี้ยังพูดได้ เพราะผมยังเป็นแบบนี้ ยังทำแบบเดิมอยู่ แต่ในอนาคตอาจเปลี่ยนไปก็ได้ ผมไม่รู้หรอก มันเป็นเรื่องของอนาคต
ตั้งแต่ออกมาจากเรือนจำ (10 พฤษภาคม 2562) คุณทำอะไรมาบ้าง
ผมไปไล่ตามชีวิตวัยรุ่นที่หายไป เจอเพื่อน กินเหล้า เที่ยว สังสรรค์ อ้วนขึ้นเป็นสิบกิโล ไม่ได้กินเหล้ามาสองปีกว่า เลยกินเหล้าอย่างปีศาจเลย เมาเหล้า เมาความรัก เมาชีวิต สุขๆ ทุกข์ๆ ปนกันไป
ถ้าตามการกระทำ คุณแค่แชร์ข่าวเช่นเดียวกับสองพันกว่าคน ตอนออกมาจากเรือนจำ คุณโกรธแค้นใครไหม
โกรธนะ
คุณโกรธใคร เห็นหน้าคนเลยไหม ทหารคนที่ฟ้อง ตำรวจที่จับกุม ผู้พิพากษาที่ตัดสิน
ผมไม่ได้โกรธบุคคล แต่โกรธกระบวนการ โกรธระบบ โกรธวิธีคิด
คำที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองพูดอยู่เสมอ เราจะสู้! คำว่า สู้ สู้ สู้ คุณมองว่าทุกวันนี้เรากำลังสู้อยู่กับอะไร
เราสู้กับวิธีคิดแบบเผด็จการ ตอนเติบโตมาในรัฐบาลประชาธิปไตย ก็ต้องสู้ มารัฐบาลเผด็จการ ก็ต้องสู้ ชีวิตเกิดมาต้องสู้ เมื่อก่อนสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ สู้กับระบบการศึกษา สู้กับทุกอย่าง การต่อสู้ไม่ได้หมายถึงการตีกัน เพื่อนของผมบางคนไม่จบมหาวิทยาลัย แพ้จากระบบ แต่ก็ต้องสู้ต่อไป ทุกคนไม่ได้ชนะตลอด เช่นเดียวกัน ทุกคนไม่ได้แพ้ตลอด
วิธีคิดแบบเผด็จการมีปัญหาอย่างไร
สิ่งที่เผด็จการทำสำเร็จ คือทำให้ประชาชนกลัว ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาต้องการคอนโทรลคน ถ้าควบคุมไม่ได้เขาจะรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่รัฐบาลประชาธิปไตยมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ยิ่งลักษณ์จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง คนก็ออกมาต่อต้าน แต่ถามว่าประยุทธ์ทำ คนจะออกมาได้ไหม ไม่ได้ บรรยากาศทางการเมืองต่างกัน มึงใช้ปืน ใช้อำนาจ ใช้กฎหมาย ใช้ทุกอย่าง เขาไม่ได้อยู่ในสังคมของเหตุผล แต่เป็นสังคมแห่งการใช้อำนาจ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือยุทธศาสตร์ทาสเลยนะ ทำไมวะ คนรุ่นใหม่ออกแบบสังคมของตัวเองไม่ได้เหรอ ออกแบบโลกที่อยากเห็นไม่ได้เหรอ ออกแบบชีวิตตัวเองไม่ได้เหรอ เวลาพูดถึงประเทศ ก็เริ่มจากตัวคน ชาติเกิดจากเขตแดนใช่ไหม แต่ที่สำคัญกว่านั้น มันเกิดจากประชากร
ความฝันสูงสุดของผม คือชีวิตต้องดีขึ้น สังคมที่ทุกคนเท่ากัน ระบบการศึกษาดี สวัสดิการดี คมนาคมดี เราพูดถึงชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าวันนี้เผด็จการไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น อาจดีขึ้นแบบหลอกๆ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดจากประชาชนไง แล้วเอาจริงๆ มนุษย์ที่คิดต่างกันก็อยู่ด้วยกันได้ แต่เราถูกชนชั้นนำใส่สีตีไข่ให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เอาจริงๆ สีแดง สีเหลือง กปปส. หรือคนไม่เอาเผด็จการ พวกเราคือพวกเดียวกัน
หลังจากออกจากเรือนจำ นิสัยของคุณที่เปลี่ยนไปคือเรื่องอะไรบ้าง
มุมมองต่อมนุษย์เปลี่ยนไป แต่ก่อนเรามองคนผ่านแว่นแบบหนึ่ง ตอนนี้แว่นก็หลากหลาย เข้าใจโลกมากขึ้นนะ แต่ก่อนทำๆๆ ก็คาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ทำๆ ไปค่อยพบว่า ต้องรอให้คนในสังคมพร้อมด้วยว่ะ ผมทำอะไรก็มีกระบวนการคิดวิเคราะห์มากขึ้น
การเข้าไปในเรือนจำสองปีกว่าให้อะไรกับคุณบ้าง
เยอะเลย เมื่อก่อนผมพูดแต่เรื่องการเมือง ไม่เคยพูดเรื่องชีวิต ไม่เข้าถึงเรื่องนี้ เราไปยัดเยียดคนอื่น คิดว่าความคิดมันเจ๋ง แต่ถึงที่สุดมันไม่ใช่ใครเจ๋ง แต่มึงเข้าใจกูไหม รับฟังกูไหม เปิดใจกับกูไหม ไม่ใช่มาถึงก็พูดเรื่องรัฐประหารเลย แต่คุยกันด้วยว่า ลูกเป็นยังไง ทำงานอะไร แล้วค่อยมาพูดเรื่องการไม่เอารัฐประหาร แต่ก่อนเอาเป้าหมายมายิงใส่หัว ตอนนี้ใส่ใจก่อน แล้วค่อยมาที่หัว ยังไม่พร้อมใช่ไหม ก็ทนไปด้วยกันนี่แหละ โอเค มึงอยู่ได้ กูก็อยู่ด้วย แต่เราไม่ได้อยู่แบบผิดหวังนะ เราทำได้เท่านี้ ก็ต้องยอมรับความจริง
ปัจจุบันคุณทำอาชีพอะไร
ผมเพิ่งเริ่มงานเป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษาและประสานงานสิทธิมนุษยชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เป็นงานประจำที่แรกเลย
ใช่ ผมตั้งใจฝึกภาษาอังกฤษเพื่อไปเรียนต่อ อยากเรียนต่อด้านปรัชญา
คุณเรียนจบด้านกฎหมายมา ไม่ได้อยากเรียนต่อสายเดิมเหรอ
ผมว่าศาสตร์พวกนี้ยังใช้ไม่ได้กับสังคมไทย ผมจบนิติศาสตร์มา แต่ชีวิตจริงๆ ก็ใช้ไม่ได้ เช่น หลักการว่าผู้ต้องหาคือผู้บริสุทธิ์ ควรได้รับการประกันตัวมาต่อสู้คดี กฎหมายมีบัญญัติไว้ แต่ผมไม่ได้รับการปฏิบัติแบบนั้น เจอแต่กฎหมายที่มากระทำ เลยรู้สึกว่าเรียนกฎหมายไม่เห็นช่วยอะไรได้ อยู่ดีๆ ทหารอยากฉีกรัฐธรรมนูญ ก็ฉีก ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศด้วยซ้ำ
ผมเลยไม่เรียนต่อสายนี้ แต่ไม่ได้หยุดนะ ผมอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมาย เริ่มตั้งแต่การมีส่วนร่วมของประชาชน คุยกันว่าจะอยู่ร่วมกันยังไง แล้วออกกฎหมาย มันจะมีความศรัทธา เราจะอยู่ร่วมกันแบบนี้ อันนี้เรื่องการออกกฎหมายนะ แล้วเนื้อหาก็ต้องพัฒนาชีวิตคนไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เอากฎหมายหลายปีก่อนมา โลกเปลี่ยนไปแล้ว กฎหมายต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย กฎหมายต้องทำให้ชีวิตดีขึ้น บ้านเรามันวนเวียน รัฐประหารกลับมา ชีวิตเลยไม่ได้ดีขึ้น ถ้าเป็นต่างประเทศ พอมีสิทธิเสรีภาพ สิ่งที่พัฒนาต่อคือเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องเพศ มันจะแอดวานซ์ไปเรื่อยๆ แต่บ้านเรายังไม่เคารพหลักการพื้นฐานเลย เรามีแผลฝังใจ เราเรียน รับรู้ และเจอด้วยตัวเอง เราเห็นปัญหา เลยอยากเปลี่ยนมัน
ตั้งใจเอาปรัชญามาใช้ในการเคลื่อนไหวในอนาคต
ปรัชญาเป็นศาสตร์แห่งความรู้ที่เข้าถึงหมด เข้าทางวิทย์ก็ได้ คณิตศาสตร์ก็ได้ มันกว้างกว่า หลากหลายกว่า เป็นความรู้ เป็นการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ ผมคิดว่าสังคมไทยต้องตั้งคำถามเยอะๆ แลกเปลี่ยนเยอะๆ การสร้างองค์ความรู้ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน บางคนเคยอยู่กับ กปปส. วันหนึ่งก็เลิก แต่บ้านเราไม่ยอมรับความหลากหลาย ไม่มีพื้นที่ให้กันและกัน คุณคิดแบบนี้ ผมคิดแบบนี้ แต่เราอยู่ด้วยกันได้ ถ้ามีโอกาสได้เรียนต่ออยากเรียนปรัชญา ผมอาจใช้การตั้งคำถามเพื่อหาความสมบูรณ์ของมนุษย์ในยุคนี้ก็ได้
เหมือนคุณมองว่า ปัญหาในสังคมไทยเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เป็นการเคลื่อนไหวในระยะยาว เลยอยากเรียนต่อปรัชญาเพื่อกลับไปสู่รากของปัญหา เส้นทางไม่ใช่ห้าปีสิบปี แต่อาจเป็นหลายสิบปีด้วยซ้ำไป
ผมอยากเปลี่ยนในเจเนอเรชั่นตัวเอง แต่ถ้าเพื่อนไม่พร้อม วัยรุ่นทั้งหลายไม่พร้อม จะทำยังไงล่ะ ก็ต้องมองระยะยาว มองถึงการตั้งคำถามถึงรากเหง้าของปัญหา บ้านเราที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เพราะการกดขี่แนบเนียนมากขึ้น หลายคนเลยไม่รู้ตัวว่ากำลังโดนกดขี่
เราไม่เคยคิดว่ารัฐที่ดีเป็นยังไง ชีวิตที่ดีเป็นยังไง ถ้าบรรยากาศทางการเมืองดี สังคมดี การศึกษาดี ธรรมชาติที่ดี คมนาคมที่ดี เป็นยังไง เราไม่เคยเจอแบบนั้น ชีวิตเลยวนอยู่แบบนี้ ทำให้ไม่เกิดความหวังต่อสังคมใหม่ สังคมที่ดีขึ้น ก็อยู่ของกูได้ ไม่สนใจอะไร เท่าที่ผมเห็น ความสมบูรณ์ของมนุษย์หยุดแค่ มีบ้าน มีรถ มีครอบครัว มีลูก แล้วก็อยู่อย่างมีความสุข ผมไม่ได้ปฏิเสธสิ่งเหล่านั้น แต่ผมกำลังตั้งคำถามว่า เราเกิดมาทำไมวะ การกระทำของรุ่นนี้ ก็ส่งต่อไปถึงรุ่นหน้า ถ้าเราไม่สามารถทำให้เผด็จการหายไป คนรุ่นลูกก็ต้องเจอสิ่งนี้เหมือนเดิม
Tags: รัฐประหาร 2557, กระบวนการยุติธรรม, ไผ่ ดาวดิน, จตุภัทร บุญภัทรรักษา