ปลายปีที่แล้ว ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ ส่งข้อความเข้ามาทางเฟซบุ๊กผม ถามว่าได้เขียนเรื่องสั้นเก็บไว้ หรือกำลังจะเขียนอะไรอยู่รึเปล่า เขามีแผนจะรวมเรื่องสั้นของนักเขียนรุ่นพี่และรุ่นใกล้ๆ กันตีพิมพ์อีกครั้ง

นอกจากเป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่มีน้ำเสียงและเรื่องเล่าเฉพาะตัว หลายคนอาจรู้จักภู่มณีในฐานะบรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์ตำหนัก สำนักพิมพ์อิสระขนาดเล็กถึงเล็กมาก ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ สำนักพิมพ์ของเขามุ่งเน้นพิมพ์งานวรรณกรรมร่วมสมัยของนักเขียนไทย (ที่ไม่ได้อยู่ในกระแส) ซึ่งมีพิมพ์ทั้งในฟอร์แมทของหนังสือทำมือ (ถ่ายเอกสารและเย็บเล่มด้วยเชือก) กับฟอร์แมทหนังสือไสสันทากาวตามกระบวนการโรงพิมพ์ปกติ หากก็ผลิตออกมาในจำนวนไม่มาก เน้นรูปเล่มที่แบบบางกะทัดรัด (เกือบทุกเล่มหนาไม่เกินหนึ่งร้อยหน้า) โดยจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และฝากขายตามร้านหนังสืออิสระในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ

ฟังดูเป็นสำนักพิมพ์ที่ทำเพื่อสนองความบันเทิงส่วนตัวอย่างไม่หวังกำรี้กำไรล้วนๆ ซึ่งไม่ต้องสงสัย ก็เป็นเช่นนั้นแหละครับ (แน่ล่ะ, ลำพังการพิมพ์วรรณกรรมไทยร่วมสมัยของนักเขียนกระแสหลักก็ลุ้นกันเยี่ยวเหนียวแล้ว การลงทุนพิมพ์หนังสือให้กับนักเขียนกระแสรอง ตัดความกังวลด้านความเสี่ยงไปได้เลย) กระนั้นบทความนี้ไม่ได้พูดถึงโมเดลการทำสำนักพิมพ์ของภู่มณี จึงขอหยุดเรื่องดังกล่าวไว้เพียงเท่านี้

ผมแชทตอบนักเขียนรุ่นพี่ท่านนี้ไปว่าไม่มีเรื่องสั้นเก็บไว้เลย และแม้จะมีวัตถุดิบเก็บไว้ในหัว แต่ก็ขาดวินัยพอที่จะแปรรูปออกมาเป็นเรื่องแต่ง จึงปฏิเสธและขออภัยเขาไป จากนั้นก็ไม่ได้พูดคุยอัปเดตอะไรกับภู่มณีอีก จนเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจึงเห็นหนังสือเล่มนี้

ขอศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมา คือรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ล่าสุดของสำนักพิมพ์ตำหนัก ซึ่งเป็นรวมผลงานของเจ้าสำนักเอง กิตติพล สรัคคานนท์ ภู กระดาษ นิติพงศ์ สำราญคง และวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ชื่อหนังสือเหมือนจะพิมพ์ตก ยอ.ยักษ์ ยิ่งพิจารณาจากปก ตำแหน่งการวางชื่อ ก็ดูเหมือนย้ำว่าเป็นความเลอะเลือนของบรรณาธิการผู้ผลิตหนังสือ แต่พอได้อ่านเนื้อหาข้างใน หรือแม้จะยังไม่ได้อ่าน แต่หากใครพอเคยผ่านตางานของนักเขียน 5 คนนี้อยู่บ้าง ก็อาจเห็นภาพเดียวกัน นี่ไม่ใช่ชื่อที่ถูกตัดตก หากเป็นความกวนตีนยันหน้าปก และเป็นเช่นนั้นจริงๆ   

นี่คือหนังสือที่ทั้งกราฟิกหน้าปก (ที่ดูเหมือนมนุษย์ร่างสีน้ำเงินกลืนไปกับภูเขา กำลังแบกก้อนหินสีแดงขึ้นไปเบื้องบน โดยมีฉากหลังเป็นท้องฟ้าสีเหลือง) และคำโปรยปกหลังที่ว่า “เราถูกจำกัดความคิด เขาถูกลิดรอนเสรีภาพ” รวมไปถึงคำโปรยหน้าสุดท้าย (และคำอธิบายในการขายผ่านช่องทางออนไลน์) ระบุว่า “รายได้ทั้งหมดหลังหักค่าจัดส่ง มอบให้กองทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงอุบลราชธานี” เผยเจตนาค่อนข้างชัดว่านี่คือวรรณกรรมการเมือง กระนั้นเมื่อผมทยอยอ่านเนื้อหาภายใน ก็กลับพบว่านี่ไม่ใช่วรรณกรรมที่มีเป้าประสงค์เพื่อเรียกร้องทางการเมืองให้แก่คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดแต่อย่างใด

คำโปรยปกหลังที่ว่า “เราถูกจำกัดความคิด เขาถูกลิดรอนเสรีภาพ”เผยเจตนาค่อนข้างชัดว่านี่คือวรรณกรรมการเมือง

ราวกับเป็นคำนำ หรือปาฐกถาเปิดเล่ม ‘ทารุณนิทาน’ ของกิตติพล สรัคคานนท์ เล่า (ด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่งและเกือบจะเป็นทางการ) ถึงบทสรุปการทดลองนำทาสมาขังไว้ในห้องใต้ดิน ก่อนที่ผู้เล่าจะให้การศึกษาทาสเหล่านั้นให้เป็นผู้มีวัฒนธรรมตามแบบเบ้าของอารยชน กระทั่งทาสที่เพิ่งได้รับการศึกษาเหล่านั้นเริ่มมีความคิดแข็งข้อ และทวงถามถึงความเสมอภาคจากเจ้านาย

กิตติพลยั่วล้อความเป็น ‘คนดี’ ด้วยการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้ที่อยู่ชั้นบนสุดของพีรามิดชนชั้น แสร้งทำตัวเหมือนเป็นผู้มีความอาทรเห็นอกเห็นใจ และคล้ายกับเป็นการจุดประกายความหวังต่อผู้คนที่อยู่ในสถานะทางชนชั้นที่ตำ่กว่าถึงอนาคตที่สดใสเสมอภาค แต่ทั้งหมดก็ล้วนเป็นความบันเทิงส่วนตัวของผู้ทดลอง ความบันเทิงที่ไม่มีอะไรไปมากกว่าการตอกย้ำอำนาจอันล้นพ้นที่ตัวเองมี พร้อมไปกับการเพิ่มน้ำหนักในการกดทับไพร่ทาสเหล่านั้นให้มีสำนึกถึงความสูงส่งของเส้นขอบฟ้า ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มีเส้นขอบฟ้าด้วยซ้ำ เพราะเรื่องทั้งเรื่องถูกจำกัดบริเวณทดลองอยู่แค่เพียงห้องใต้ดิน

‘ในวันที่หมี่ผัดฮกเกี้ยนช่วยชีวิต’ ของภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ เล่าถึงกวีไส้แห้งที่บทกวีชิ้นหนึ่งของเขาเพิ่งชนะเลิศการประกวดกวีมา และได้รับคำเชิญมาอ่านบทกวีที่ผับกึ่งร้านอาหารแห่งหนึ่ง กวีเล่าถึงบรรยากาศก่อนขึ้นเวที และเรื่องราวเบื้องหลังบทกวี ที่ว่าด้วยช่วงชีวิตระหว่างตกงาน ขอเงินภรรยาใช้ และประทังชีวิตด้วยการกินผัดหมี่ฮกเกี้ยนถุงละ 25 บาท วันละหนึ่งถุงตลอด 30 วัน เรื่องสั้นตลกลึกเจือกลิ่นไอเพื่อชีวิตที่ภู่มณีพยายามสะท้อนภาพของชายหนุ่มผู้มีสำนึกทางการเมือง หากก็ถูกทั้ง ‘ความจน’ และบางสิ่งบางอย่างบีบคั้นให้เขาไม่อาจพูดสิ่งที่คิดได้อย่างตรงไปตรงมา และสุดท้ายเรื่องที่ตัวละครเล่าออกมาก็กลับไม่มีคนเข้าใจ หรือแม้แต่จะให้ความสนใจ       

กิตติพลยั่วล้อความเป็น ‘คนดี’ ด้วยการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้ที่อยู่ชั้นบนสุดของพีรามิดชนชั้น แสร้งทำตัวเหมือนเป็นผู้มีความอาทรเห็นอกเห็นใจ

‘ความคืบหน้าในคดีความของโยเซฟ คา และการปรากฏตัวของต่อหัวเสือตัวหนึ่ง’ ภู กระดาษ เขียนเหตุการณ์ต่อของ นวนิยาย คดีความ (The Trial) ของฟรานซ์ คาฟคา (นวนิยายเล่าถึงโยเซฟ คา นายธนาคารที่จู่ๆ วันหนึ่งก็ถูกจับกุมและขึ้นศาลดำเนินคดีที่เขาไม่อาจรู้ได้ว่านั่นคือคดีความอะไร) โยเซฟ คา เดินทางมาหาตัวละครที่อาศัยอยู่ในบ้านกลางหุบเขา หนึ่งชั่วโมงก่อนที่ต่อหัวเสือจะบินเข้ามาในบ้าน ท่ามกลางป่ายูคาลิปตัสที่เจ้าของบ้านบอกว่ามีดวงตานับล้านๆ คู่คอยจับจ้องสังเกตการณ์อยู่

ภู กระดาษ อิมโพรไวซ์ความ absurd และความอปกติจากนิยายของคาฟคา สู่บทสนทนาของตัวละครทั้งสอง อันฉาบเคลือบด้วยความรู้สึกอึดอัด หวาดหวั่น อลหม่าน เรื่อยไปจนถึงความเดือดดาลที่โยเซฟ คา มีต่อศาลสถิตยุติธรรมที่แผ่อำนาจแห่งความไร้เหตุผลมาคุกคามเขากระทั่งในบ้านกลางป่า และราวกับจะสะท้อนภาพความบิดเบี้ยวเกินเยียวยาของกระบวนการยุติธรรมที่ควรจะเป็นที่พึ่งพาของคนตัวเล็กๆ ทุกผู้ทุกคนในสังคม หากความยุติธรรมนั้นก็กลับมาเล่นงานผู้คนเหล่านั้นเสียเอง

‘คลื่นเหียน’ ของนิติพงษ์ สำราญคง เปิดเรื่องด้วยบทสนทนาถึงหนังสือนิยายขนาดสั้นระหว่างผู้เขียน (นิยายเล่มนั้น) และเพื่อนผู้ที่กำลังจะเปิดอ่าน/ ตัดภาพไปยังช่วงเวลาที่นิติพงษ์คล้ายจะถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวของเขาเองที่ถูกหน่วยรักษาความมั่นคงเชิญตัวไปปรับทัศนคติที่ค่ายทหาร (จากการชวนเพื่อนนักเขียนไปยืนชูสามนิ้วแสดงสัญลักษณ์ต้านเผด็จการในพื้นที่สาธารณะ) และเกิดความรู้สึกวิงเวียนคลื่นเหียนคล้ายจะเมารถ/ ก่อนตัดแปะด้วยบทสัมภาษณ์, อรรถาธิบายของอาการคลื่นเหียน และรายงานข่าว/ และตัดจบไปยังภาคผนวก ซึ่งเป็นบางส่วนตอนของนิยายขนาดสั้นอันเป็นตัวบทจริงๆ ของนิยาย ซึ่งดูจะไม่เกี่ยวอะไรกับเหตุการณ์ตัดสลับก่อนหน้าทั้งหมด

ราวกับนิติพงษ์ตั้งใจผูกเรื่องซ้อนเรื่อง ตลบแล้วตลบเล่าให้ชวนวิงเวียน เพื่อสะท้อนความรู้สึกคลื่นเหียนที่เขาและเราหลายคนในประเทศนี้กำลังประสบ อาการคลื่นเหียนที่ไม่ได้เกิดจากอาการเมารถของตัวละครในเรื่อง แต่หากเพราะถูกยัดเยียดด้วยโฆษณาชวนเชื่อ การขู่บังคับ และคำมั่นสัญญาลมๆ แล้งๆ ถึงอนาคตที่ก้าวหน้ากว่าเดิมโดยผู้กุมอำนาจในขณะนี้ อย่างที่ไม่รู้ตัว (หรือแสร้งว่าไม่รู้ตัว) ขณะที่พวกเขาบ่นพล่ามไป เขาก็กำลังฉุดคนฟังให้ก้าวถอยหลังทีละน้อยทีละน้อย ล่วงพ้นจากจุดเดิมมาแสนไกล

และ ‘หนังโป๊’ ของวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ที่เยียบเย็นและเศร้าสร้อยกว่าใครเพื่อน องค์ประกอบที่หลายคนคุ้นชินอันเป็นลายเซ็นของผู้เขียน – ความชื้นอับ ข้นเหนียว และแสงสว่างที่ไม่เพียงพอในเรื่องเล่า (หากกลับทำให้เรารื่นรมย์ในการดำดิ่งอยู่กับความไม่น่าพิศมัยเหล่านั้นไม่สิ้นสุด) เรื่องราวของหญิงสาวฟิลิปปินส์ที่อพยพออกจากประเทศของตัวเองในวันที่โรดรีโก ดูแตร์เต ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี (ผู้เขียนไม่ได้ระบุชื่อดูแตร์เต – แต่จากองค์ประกอบเรื่องก็พอจะชี้ไปที่เขา ไม่ใช่ใคร)

หญิงสาวย้ายมาใช้ชีวิตในเมืองเมืองหนึ่งของประเทศประเทศหนึ่ง ที่ขณะนั้นเพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่เรียกว่าความตายอันยิ่งใหญ่ ความตายของบุคคลสำคัญที่แผ่ขจายความเศร้าไปทั่ว และความเศร้าที่พลอยทำให้ผู้คนอื่นๆ ทยอยกันล้มตายตามกันไปอย่างไร้ที่มา และราวกับเป็นเทศกาล นี่คือเรื่องราวอันเรียบง่ายที่ผู้เล่าบรรยายถึงการนัดพบกับหญิงสาวคนดังกล่าวผ่านทินเดอร์ เพื่อมีเซ็กซ์ และถ่ายคลิปวิดีโอบันทึกไว้ ฉากร่วมรักอันไม่น่าพิสมัยท่ามกลางบรรยากาศของความหม่นเศร้า การย้อนระลึกถึงชะตากรรมอับเฉาในอดีต และความเยียบเย็นของความตาย

ความตายของบุคคลสำคัญที่แผ่ขจายความเศร้าไปทั่ว และความเศร้าที่พลอยทำให้ผู้คนอื่นๆ ทยอยกันล้มตายตามกันไปอย่างไร้ที่มา และราวกับเป็นเทศกาล

ในขณะที่กิตติพลยั่วล้อสถานะของคนที่อยู่ชั้นบนสุดทางอำนาจ ภู กระดาษ เสียดสีความบอดมัวของกระบวนการศาล เรื่องสั้นของภู่มณี นิติพงษ์ และวิวัฒน์ ก็สะท้อนผลกระทบเศร้าสลด น่าหงุดหงิด และชวนคลื่นเหียนจากอำนาจเผด็จการที่มีต่อปัจเจกบุคคลได้อย่างเฉียบคม

แต่อย่างที่บอกตอนต้น นี่ไม่ใช่วรรณกรรมการเมือง กล่าวให้ชัด นี่คือรวมเรื่องสั้นที่ร่วมกันสะท้อนความล้มเหลว (หรือผลพวงจากความล้มเหลว) ของการเป็นมนุษย์: มนุษย์ที่ควรมีตรรกะเหตุผล มีเสรีภาพ หรือมีอิสระมากพอที่จะแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา

ดูเหมือนว่านี่คืออีกหนึ่งความพยายามทางศิลปะและวรรณกรรมที่ตั้งใจจะบอกว่า ความเป็นมนุษย์จะไม่มีความหมายใดๆ เลย หากพวกเรายังคงเซื่องซึม เมินเฉย หรือหลอกตัวเองไปวันๆ ภายใต้ซากปรักของเหตุผล ในดินแดนที่ถูกปกครองอย่างเคร่งครัด, ด้วยกฎหมา

Tags: , , , , , , , , ,