เครื่องปั้นดินเผาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เอเชียมาอย่างยาวนาน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราเอง ก็เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่ายเครื่องถ้วยชาม ยังมีเรื่องการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งและเครื่องเคลือบ ที่มีข้อยืนยันว่าไม่ได้รับเอามาจากภายนอกเสียทั้งหมด หากมีร่องรอยของการประดิษฐ์คิดค้นโดยคนพื้นถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลักฐานสำคัญก็พบอยู่ในประเทศไทย
ร่องรอยเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านผลงาน ‘ไม่มีชื่อ 2019’ โดย ติ้ว—วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ที่สร้างผลงานจากเครื่องปั้นดินเผาโดยการประยุกต์และตีความใหม่ทั้งรูปทรง ขนาด ลวดลาย สี ฯลฯ ผสมความร่วมสมัยเพื่อให้เข้ากับยุคปัจจุบันและคอนเซปต์ในนิทรรศการ จรัส Light Fest : เทศกาลศิลปะแสงกลางแจ้ง ที่จัดแสดงตรงบริเวณด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ อยู่ในขณะนี้
จรัส Light Fest: เทศกาลศิลปะแสงกลางแจ้ง เป็นหนึ่งในเทศกาลศิลปะของโครงการ จรัส: แสงสร้างสรรค์ คือนิทรรศการแสดงผลงานประติมากรรมศิลปะในรูปแบบแสง (Lighting Installations) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในใจกลางกรุงเทพฯ จัดโดยหอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พ.ศ. 2562 เพื่อสร้างความตระหนักให้คนทั่วไปเห็นถึงการใช้พลังงานทางเลือกโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ นิทรรศการนี้มีผลงานประติมากรรมและติดตั้งจำนวน 11 ชิ้นงานวางบริเวณด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ และอีก 1 ชิ้นงานวางอยู่บริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าชั้น 3 มีศิลปินรับเชิญ 4 ท่าน และศิลปิน 6 ท่านกับอีก 2 กลุ่มที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งข้อดีของการชมงานนิทรรศการนี้คือคนชมเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะทั้งหมดนี้ได้เต็มที่
วศินบุรี คือหนึ่งในสี่ศิลปินรับเชิญของนิทรรศการดังกล่าว อย่างผลงาน ไม่มีชื่อ 2019 ของเขาก็ตั้งต้นมาจากแนวคิดเรื่องพลังงานที่มีส่วนเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมมนุษย์ จึงเลือกใช้วัสดุอย่างภาชนะเครื่องปั้นดินเผา เพื่อสื่อถึงการกำเนิดของงานดินเผาที่ต้องใช้พลังงานความร้อนอย่างการเผาไหม้ เผาฟืน ฯลฯ ตรงนี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดมากที่สุดอย่างหนึ่งที่อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตมนุษย์
ส่วนที่มาของชื่อผลงานเขาเล่าว่า ไม่มีชื่อ 2019 เป็นชื่อที่ดูไม่มีชื่อแต่จริงๆ แล้วมีชื่อ สังเกตจากคนดูหลายครั้งจะมี ‘ช่องว่าง’ ระหว่างตัวคนดูกับตัวผลงาน แล้วบางครั้งการตั้งชื่อผลงานของศิลปินเหมือนไปจำกัดกรอบความคิดของคนดูในระดับหนึ่ง คนที่มาดูงานไม่ต้องเห็นร่วมหรือต้องมารู้สึกร่วมกับศิลปินก็ได้ ช่องว่างนี้อาจจะเป็นสิ่งที่สวยงามระหว่างงานกับคน หรือมีช่องว่างให้ลงไปจินตนาการ หรือจริงๆ อาจจะไม่มีตัวตนไปด้วยเลยก็ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่มีชื่อ คือการเว้นช่องว่างให้คนดูจินตนาการได้เองมากกว่า”
สำหรับงาน ไม่มีชื่อ 2019 วศินบุรีเลือกรูปทรงงานปั้นดินเผาที่เกิดจากทฤษฎีความเชื่อรูปแบบต่างๆ อันเป็นที่มาของการกำเนิดภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ได้แก่ รูปทรงที่เป็นภาชนะใช้เก็บสะสมหรือเตรียมอาหาร, รูปทรงที่สร้างจากวัสดุที่มีค่าอย่างเครื่องประดับ และรูปทรงที่ใช้ในพิธีกรรม ซึ่งงานปั้นดินเผาในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งนับว่าเป็นวัสดุที่มีค่าเพราะทำได้ยาก และมีคนทำได้ไม่กี่คนจึงนำมาทำเป็นเครื่องประดับต่างๆ ที่มีราคาสูง จากทั้งสามที่มานี้ เขานำรูปแบบงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผาไทย คือ บ้านเชียง สุโขทัย อยุธยา และงานรูปแบบร่วมสมัยผสมโรงเข้าไปด้วย ซึ่งมีความโดดเด่นและเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาในเมืองไทยมาเป็นแรงบันดาลใจที่จะประยุกต์ใช้และตีความขึ้นใหม่ อีกทั้งผลงานติดตั้งระบบควบคุมด้วยพลังงานไฮบริด (Hybrid) นั่นคือการใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กัน ส่วนผู้ชมแค่มีปฏิสัมพันธ์กับชิ้นงานด้วยวิธีการ ‘ส่อง’ เข้าไปดูผลงานที่อยู่ในภาชนะเครื่องปั้นดินเผาจำลองแต่ละชิ้นงานนั้นเอาเอง
ผลงานในนิทรรศการแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ชุด 5 ชิ้นงาน ประกอบด้วยโอ่งรูปทรงภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่มีลักษณะจำเพาะในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่ามนุษย์ในอดีตทำภาชนะเครื่องปั้นดินเผาขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันหรือเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาจริง หรืออย่างที่หนังสือเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบกับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของสยาม สรุปไว้ว่า
เครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทยนั้นเริ่มมีมาเมื่อประมาณเกือบ ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นยุคที่คนยังอาศัยอยู่ตามถ้ำตามป่าใกล้ธารน้ำที่อุดมด้วยอาหารตามธรรมชาติ ครั้นประมาณ ๕,๐๐๐ ปีลงมา ก็เกิดสังคมหมู่บ้านขึ้นในภูมิภาคต่างๆ แต่แหล่งสำคัญที่พบหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผามากที่สุดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เครื่องปั้นดินเผาที่พัฒนาขึ้นในยุคนี้มีทั้งประเภทที่ทำขึ้นเนื่องในพิธีกรรมโดยเฉพาะเป็นเครื่องบูชาบวงสรวงศพ และประเภทเพื่อการใช้สอย (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2550)
ซึ่งวศินบุรีเองนั้นให้ความสนใจกับทฤษฎีเครื่องปั้นดินเผาของสังคมเกษตรกรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์จนนำมาสู่ผลงานในที่สุด
“จุดกำเนิดของเครื่องปั้นดินเผามีหลายทฤษฎี แต่ทฤษฎีที่คิดว่าน่าเชื่อถือได้คือ ทฤษฎีสังคมเกษตรกรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์สมัยก่อนอาหารหมดก็จะย้ายถิ่นฐาน แต่เทคโนโลยีของการสร้างภาชนะเข้ามาก็รู้จักถนอมอาหาร เก็บรักษาธัญพืช กลายเป็นสังคมถิ่นฐาน พอกลายเป็นสังคมถิ่นฐานก็กลายเป็นการเติบโตทางสังคม แต่บางทฤษฎีบอกว่าเกิดจากพิธีกรรม แต่ก็เชื่อใน ‘ทฤษฎีการเกิดของสังคมเกษตรกรรม’ มากกว่า เห็นจากยุคแรกๆ ภาชนะตรงก้นจะมีรูปทรงมน กลม แคบต่างกัน มีการออกแบบฟังก์ชันการใช้งาน ซึ่งคนในยุคก่อนมีเหตุผลในการนำภาชนะมาใช้สอย จึงกลายเป็นรูปทรงหรือภาชนะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นด้วย”
อย่างเช่นผลงานชุดแรก เขาได้รับแรงบันดาลใจจากภาชนะเก็บธัญพืช ลักษณะคล้ายผลน้ำเต้าหรือคนโทภาชนะสำหรับใส่น้ำ พบบ่อยในภาชนะดินเผายุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ภาชนะด้านนอกถูกเคลือบด้วยสีเหลือบทอง ด้านในคือประติมากรรมชิ้นเล็กๆ สีทองเป็นรูปบ้าน ต้นไม้ ดูเรียบง่าย น่ารัก ไร้เดียงสา (naive) เปรียบเหมือนมนุษย์เร่ร่อนไปตั้งหลักแหล่งที่มั่นคงขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงอุดมคติของมนุษย์กับการค้นหาความหมายของความสุขรอบๆ ตัว
“ถ้าส่องเข้าไปจะเห็นรูปหมู่บ้านเล็กๆ นั่นเป็นคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของชุมชน หรืออาจจะแทนค่าด้วยความ ‘เรียบง่าย’ ที่วันหนึ่งคนอาจจะต้องการก็ได้ สุดท้ายแล้วคนเราอาจจะไม่ต้องการอะไรมากมายเลย อาจจะต้องการแค่ความสุขเล็กๆ ที่เรารู้สึกสบายใจที่จะอยู่กับมัน”
และผลงานชุดแรกนี้ยังมีที่มาจากประสบการณ์ในวัยเด็กซึ่งเขาบอกว่าเป็น ‘บาดแผลฝังใจ’ ที่ไม่ว่าจะนึกขึ้นมาครั้งไหนยังจำได้ดี
“ตอนเด็กผมเกลียดวิชาศิลปะมากๆ ตอนนั้นครูบอกให้วาดอะไรก็ได้ (รีบคว้าปากกาไปวาดบนกระดาษ) อะ…สมมติวาดบ้าน วาดต้นไม้ มีเมฆ มีนก แล้วก็มีเรือใบ อย่างเนี้ย…แต่ผมได้ศูนย์คะแนน! เพื่อนก็ขำเฮทั้งห้อง แต่สุดท้ายเป็นข้อดีที่ได้ศูนย์คะแนน เราไม่ต้องเริ่มต้นจากความทระนงหรืออะไรก็แล้วแต่ เรารู้สึกว่าเรา ‘เกลียด’ มันดื้อๆ นี่แหละ ถ้ามัวแต่ยึดติดกับคำชื่นชมเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำถูกต้อง แต่สิ่งที่เราทำมันก็ไม่ได้ผิดนะ มันยังมีวิธีตั้งหลายอย่างที่ถูก พอวันหนึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตัวเองชอบศิลปะ จนได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ ตั้งแต่โรงเรียนเทคนิคจนจบโทที่เยอรมนี อาจารย์ก็พาไปดูแกลเลอรี ดูพิพิธภัณฑ์ ชี้ให้ดูผลงานพร้อมอธิบาย ก็เลยคิคว่าทำไมบ้านเราไม่มีอย่างนี้บ้าง ซึ่งเอาเข้าจริงเราไม่ได้เกลียดศิลปะ เราแค่ยังไม่เจอสิ่งที่เราชอบเท่านั้นเอง” วศินบุรีเล่า
กลับมาที่ผลงานชุดที่สองของเขา ทั้งหมดมีสามชิ้นงาน โดยนำรูปทรงจากลูกปัดดินเผา โดยในยุคก่อน งานดินเผาคือวัสดุที่ไม่เน้นการใช้สอยโดยตรงนัก แต่กลับถูกมองว่าเป็นวัตถุที่มีคุณค่าและมีเกียรติ ผิวภาชนะเคลือบด้วยสีตามรูปแบบของยุคสมัยนั้นๆ เริ่มจากชิ้นแรกคือ โอ่งสีน้ำตาลเหลือบทอง (ที่เขาตั้งชื่อขึ้นว่า สีน้ำตาลไหล เกิดจากความผิดพลาดขณะเคลือบสี) รูปทรงเหมือนเครื่องถ้วยที่พบในยุคสุโขทัย ภายในบรรจุวิดีโอแบบจัดวางความยาว 75 วินาทีซึ่งแทนค่าเฉลี่ยมาตรฐานอายุคนไทย หากใครได้ดูวิดีโอชุดนี้แล้วจะได้ยินเสียงดังตึกๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เสียงดังตึกๆ เป็นจังหวะนั้นก็คือเสียงจังหวะการเต้นหัวใจของวศินบุรีถูกบันทึกด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่เรียกว่า ‘Echo Echocardiography Doppler Imaging’ พร้อมภาพกราฟิกรูปเรขาคณิตต่างๆ ลอยขึ้นมาแล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นตามอายุขัย โดยจะเริ่มขวบปีที่ 28 ของเขา นั่นก็คือช่วงที่กลับจากเยอรมนี จนถึงนาทีที่ 48 คืออายุปัจจุบัน จุดเล็กๆ นี้ก็จะค่อยๆ สลายไป คล้ายกับบันทึกบางสิ่งที่ยังคงเหลือไว้ในชีวิต ตัวเราเองเมื่อยืนดูวิดีโอนี้จนจบแล้วนึกถึงโปรเจกต์หนังเรื่อง Ten Years Thailand ตอน Planetarium ของผู้กำกับ จุฬญาณนนท์ ศิริผล มากทีเดียว
ชิ้นงานถัดมาถือเป็นไฮไลต์ในผลงาน ไม่มีชื่อ 2019 ก็ว่าได้ อย่างโอ่งสีดำด้าน อิงจากรูปทรงในยุคสุโขทัยและอยุธยา ภายในโอ่งเคลือบสีที่ใช้วัสดุจากแร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) คือแร่ที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ทั่วโลกและขุดพบได้ยาก ภายในเป็นรูปหัวกะโหลกสีขาวทำจากเม็ดดินเผาอัดแน่นขนาด 1 มิลลิเมตร ลูกเล่นของงานชิ้นนี้จะมีปุ่มกดสองปุ่ม หากกดปุ่มใดปุ่มหนึ่งด้านในโอ่งจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูและสีเหลืองสลับกัน เปรียบเสมือนการตั้งคำถามบนความจริง และสิ่งที่ไม่จีรังอย่างความตาย
วศินบุรีเล่าว่า “สีชมพูและสีเหลืองเป็นสีที่มาจากการทำธีสิสสมัยเรียนอยู่เยอรมนีเมื่อปี 1999 สองสีนี้เรียกว่าแร่แรร์เอิร์ธ ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างการผลิตชิปในโทรศัพท์มือถือ ไปจนกระทั่งขีปนาวุธ แต่แรร์เอิร์ธนำมาใช้ในงานศิลปะและหัตถกรรมได้ หรือสร้างสีที่แตกต่างไปจากเดิมได้ ทั้งยังมีคุณสมบัติพิเศษคือเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิแสง งานชิ้นนี้จะต้องกดปุ่มไฟสองปุ่ม โดยเลือกกดทีละปุ่มแล้วสังเกตสีที่เห็นในครั้งแรก แล้วปิดเพื่อเปิดอีกปุ่ม ซึ่งสีของชิ้นงานที่เห็นจะแตกต่างกัน งานชิ้นนี้ต้องการตั้งคำถามกับความหมายของความจริง ถ้าคนหนึ่งเปิดไฟแล้วเจอสีชมพูก่อน แล้วเปิดอีกครั้งเห็นเป็นสีเหลือง เท่ากับว่าสีชมพูก็คือความจริงของคนนั้นเพราะเปิดขึ้นมาก่อนครั้งแรก แต่หากอีกคนเปิดปุ่มที่ตรงกันข้ามกันคือปุ่มสีเหลือง ความจริงของคนนั้นก็คือสีเหลือง ส่วนสีชมพูก็คือสิ่งที่เริ่มแปรเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น เราอาจไม่มีความจริงที่จริงแท้ แม้กระทั่งความเชื่อหรือความคิด แต่ชิ้นงานหัวกะโหลกสีขาวที่นับว่าเป็นจุดศูนย์กลางภายในภาชนะจะไม่เปลี่ยนสีตามสภาวะแสงที่แตกต่าง หัวกะโหลกนี้อาจเป็นการแทนค่าของความจริงเช่นความตาย พูดง่ายๆ ว่า ‘ไม่มีความจริง’ อยู่บนบรรทัดฐานใดๆ ที่เกิดขึ้น บางทีเรื่องนี้อาจโยงไปเรื่องการเมืองก็ได้นะ (หัวเราะ)”
อีกผลงานคือ โอ่งสีน้ำเงินโคบอลต์ (Cobalt Blue) เป็นสีน้ำเงินโทนเข้ม ซึ่งปรากฏในเครื่องถ้วยหลายยุคสมัย เริ่มจากทางเปอร์เซีย แล้วจึงแพร่หลายไปทั่วโลก แต่วศินบุรีใช้วิธีเคลือบผิวภาชนะขึ้นใหม่ ภายในมีดอกไม้แห้งซึ่งจัดขึ้นในคืนก่อนนิทรรศการ ดอกไม้แห้งเหล่านี้เปรียบเสมือนความสวยงามที่ไม่ยั่งยืน รวมทั้งได้ซ่อนกล้องวงจรปิดไว้ภายในเพื่อบันทึกภาพตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของนิทรรศการอีกด้วย
สำหรับชุดที่สาม เป็นภาชนะรูปทรงโลงฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย รูปทรงคล้ายแคปซูล นำลวดลายศิลปะยุคบ้านเชียงช่วงสมัยปลายประวัติศาสตร์ หรือช่วง 2,300 ปีก่อนคริสต์ศักราช ภายในเป็นไฟนีออนดัดสีชมพูรูปโครงกระดูกมนุษย์ในยุคหินใหม่ เลียนจากลักษณะท่าทางแบบชันเข่าของวิธีการฝังศพที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ผลงานนี้สื่อถึงแนวคิดของการกระทำหรือเรื่องราวดีๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่หลังจากความตาย ดังนั้น จึงเลือกใช้ไฟนีออนดัดสีชมพูสดใสเสมือนตัวแทนของสิ่งที่หลงเหลืออยู่ให้เด่นชัดตลอดไป
อย่างไรก็ดี ลวดลายบนภาชนะเครื่องปั้นดินเผาก็นับว่ามีความสำคัญ อย่างเช่นเครื่องเคลือบในสมัยสำริดตอนปลาย 2,300 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือประมาณ 4,000 ปีมาแล้วของบ้านเชียง จ.อุดรธานี มักเป็นลายเส้นโค้ง ก้านขด ก้นหอย ลายสามเหลี่ยม ฯลฯ หรือลักษณะเป็นลายเรขาคณิต (Geometric Ornament) ลวดลายนี้ได้แนวคิดจากธรรมชาติ สิ่งที่พบเห็นรอบตัว ทั้งยังเป็นคตินิยม ความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเครื่องหมาย (Symbolic) บางอย่างในลวดลายบนภาชนะเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียง วศินบุรีนำมาดัดแปลงขึ้นเป็นลวดลายใหม่เช่นรูปดวงตาอย่างที่ปรากฏในผลงานชุดที่สามข้างต้น
นอกจากงานประติมากรรมเครื่องปั้นดินเผาทั้งสามชุดดังกล่าว ใกล้กันยังมีผลงานที่สร้างขึ้นตามแบบจำลองจากศาลพระภูมิซึ่งเหมือนจริงทุกประการ มีตุ๊กตาม้าลาย เด็กนุ่งโจงกระเบน กระถางปักธูป ฯลฯ วางตั้งบริเวณด้านหน้าศาลรวมถึงรอบๆ ไฮไลต์เด็ดอยู่ตรงที่ใช้มือเปิดประตูไม้จำลองขนาดเล็กเข้าไปแล้วกดปุ่มเล็กๆ ด้านหน้าศาลบนกระถางธูป จากนั้นตัวเลขสามหลักจะปรากฏขึ้นเป็นระบบดิจิทัลสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้เราไปตีเลขใบ้หวยกันตามใจชอบ แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่านี่คือการยั่วล้อทฤษฎีความเชื่อแบบไทยจ๋าได้อย่างน่าขบขัน และหากอ่านป้ายประกอบด้านขวามือจะยิ่งขันกับงานชิ้นนี้เข้าไปใหญ่ เมื่อเราถามถึงแนวคิด เขาเล่าทันทีว่า
“คิดว่าคนไทยเชื่อในบางอย่างที่มองไม่เห็น ซึ่งเราควรเชื่อในการตัดสินใจของตัวเอง เคยอ่านเจอประโยคหนึ่งทำนองว่า “โชคไม่ได้อยู่ในมือคุณ แต่การตัดสินใจของตัวเราเองต่างหากจะทำให้เกิดผล” คล้ายทุกสิ่งทุกอย่างมันคือการตัดสินใจของเรา ไม่ใช่สักแต่รอความหวัง เราต้องสร้างขึ้นมาเอง อย่างป้ายข้างศาลพระภูมิเขียนบอกว่า “โอกาสทุกสิ่งทุกอย่างเราควรจะเริ่มด้วยตัวเองมากกว่าที่จะไปรอความหวังจากใคร” และตัวเลขที่ติดตั้งอยู่ในศาลพระภูมิก็จะไม่หยุดนิ่งแม้วินาที นี่ก็ล้อกับความคิดแบบผิดๆ มากกว่า เพราะความเชื่อรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เมื่อไหร่ที่เราไปปักใจเชื่อในบางสิ่งบางอย่างที่มองไม่เห็น แล้วไปคาดหวังว่าจะได้อะไรกลับคืนมา คิดว่าเป็นความคิดที่ไม่ค่อยถูกเท่าไร”
ผลงานสนุกๆ ทั้งหมดของเขาเป็นเหตุผลให้เราหาคำตอบอยู่สองนานว่าภาชนะ ‘โอ่ง’ ที่วางจัดแสดงในนิทรรศการนี้เป็นเหมือน ‘โลกทั้งใบ’ ที่ดูเขาเต็มอกเต็มใจจะยกทั้งชีวิตให้อย่างนั้นเลย คล้ายให้สัจธรรมว่าคนเราหากมอดไหม้ไปก็กลายเป็นธุลีดิน และใช่, โอ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็ตั้งต้นมาจากดิน
__________________________
หมายเหตุ นิทรรศการจรัส Light Fest: เทศกาลศิลปะแสงกลางแจ้ง จัดแสดงถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และทางเชื่อมรถไฟฟ้าชั้น 3 นอกเหนือจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นที่จัดภายใต้โครงการจรัสโดยสอดคล้องกับคอนเซปต์เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกที่ยาวต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ติดตามข้อมูลได้ทาง https://www.bacc.or.th/event/2528.html หรือโทรศัพท์ 0–2214–6630–8 ต่อ 501–503
ขอขอบคุณ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ สำหรับบทสัมภาษณ์, ภาพถ่ายพอร์ตเทรตและนิทรรศการบางส่วน
ภาพถ่ายนิทรรศการโดย พิมพ์ใจ พิมพิลา
ดูเพิ่มเติม https://www.facebook.com/113578788715872/posts/3405869409486777/?vh=e&d=n
อ้างอิง:
- สังคโลก-สุโขทัย-อยุธยากับเอเชีย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. สมุทรปราการ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยจำกัด, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๕.
- เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบกับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของสยาม. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐.
- ประวัติศาสตร์เครื่องปั้นดินเผา เล่ม 1 ยุคโบราณและตะวันออกไกล เอกสารคำสอนประกอบรายวิชา ประวัติเครื่องเคลือบดินเผา (History of Ceramics) โดย เปี่ยมสุข เหรียญรุ่งเรือง
- วิวัฒนาการของแหล่งพลังงาน https://bit.ly/2RvtGXX
Fact Box
- วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ เป็นทายาทรุ่นที่สามของโรงงานปั้นโอ่ง ‘เถ้าฮงไถ่’ ในจังหวัดราชบุรี ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งหอศิลป์ดีคุ้น (dKunst) รวมถึงเทศกาลศิลปะชุมชน Art Normal ในจังหวัดราชบุรี จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้าน Fine Art จากเมือง Kassel เยอรมนี ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติโดยได้จัดแสดงผลงานในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำหลายประเทศ เคยได้รับคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมให้ไปจัดแสดงงานในมหกรรมศิลปะระดับนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ที่เมืองเวนิส อิตาลี ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาออกแบบ ในปี พ.ศ. 2553 รางวัลวัฒนคุณาธร ในปี พ.ศ. 2556 ทั้งรางวัลนักออกแบบแห่งปีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร แม้จะโดดเด่นในผลงานเซรามิกเครื่องปั้นดินเผา แต่วศินบุรีเป็นที่รู้จักจากงานประติมากรรมจัดวาง หรืองานภาพถ่ายด้วย
- นอกจากผลงาน ‘ไม่มีชื่อ 2019’ ในนิทรรศการจรัส Light Fest เขายังมีนิทรรศการภาพถ่าย ‘Fukushima’ เป็นเรื่องของการบันทึก ‘ความทรงจำ’ ในเมืองฟุกุชิมะผ่านผู้คนและสิ่งที่พบเจออย่างทัศนียภาพรอบตัว จัดแสดงบริเวณโถงชั้น 1 และ L ที่หอศิลปกรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 และจะมีการจัดงานอีกสองนิทรรศการที่ใกล้จะถึงนี้ โดยนิทรรศการแรกจัดแสดงในงาน Bangkok Design Week 2020 ที่เจริญกรุง ทำร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม เป็นการหยิบเอาอัตลักษณ์ของงานเซรามิกจากราชบุรีมาใช้ ส่วนอีกหนึ่งงานทำร่วมกับสถานทูตเยอรมนี เกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงหลังกำแพงเบอร์ลินถล่ม คอยติดตามผลงานของเขาได้ทางเฟซบุ๊ก : Wasinburee Supanichvoraparch และอินสตาแกรม : wasinburee