ตอนที่ตัดสินใจเข้าไปชมนิทรรศการ ‘THEY TALK’ นิทรรศการครั้งล่าสุดของ แป๋ง–ดุษฎี ฮันตระกูล ในแกลเลอรีชื่อคุ้นหู ‘บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่’ เรารู้สึกสบายใจตั้งแต่แวบแรก พื้นที่ดูเป็นกันเองกับคนเยี่ยมชมจนอยากกระโจนเข้าไปวิ่งเล่นกับผลงานตรงหน้า มันเป็นประติมากรรมเซรามิกร่วมสมัยรูปทรงแปลกตา คุมโทนสีไว้อย่างดี ถูกจัดวางบนฐานไม้อัดที่ออกแบบมาอย่างเหมาะเจาะเข้ากับชิ้นงาน เอาเข้าจริงก็ถือว่าแปลกพอตัวสำหรับคนชม (เช่นเราเอง) ที่ยังไม่คุ้นชิ้นกับงานศิลปะคอนเซปต์จัดๆ แต่หากใช้เวลาเดินดูไปเรื่อยๆ ก็สนุกใช่เล่น 

ดุษฎี ฮันตระกูล คือศิลปินร่วมสมัยที่น่าจับตามอง เขาทำงานด้านศิลปะมาอย่างหลากหลาย ทั้งจิตรกรรมและประติมากรรม แต่การปั้นเซรามิกคือสัญญะบอกความเป็นตัวเขามากที่สุด 

“ในโลกของศิลปะร่วมสมัย งานประติมากรรมเซรามิกจะไม่ได้เห็นกันง่ายๆ แทบไม่มีเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในภูมิภาคบ้านเรา” —เขากล่าว และด้วยความสนใจเฉพาะตัวที่ใส่ลงไปในงาน ผลงานของเขาจึงมีโอกาสได้ออกไปสื่อสารในหลายพื้นที่

ผลงานของดุษฎีได้รับการตอบรับจากสถาบันทางศิลปะหลายแห่ง ตั้งแต่ Mori Art Museum ประเทศญี่ปุ่น, Santa Monica Museum of Modern Art (SMMOA) สหรัฐอเมริกา, Palais de Tokyo ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงงาน Singapore Biennale 2013 และ 2019 นี้ โดยหลังจาก THEY TALK จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ แล้ว ผลงานประติมากรรมเซรามิกบางส่วนของดุษฎี จะเดินทางไปจัดแสดงต่อในงาน Singapore Biennale 2019 จำนวนทั้งหมด 16 ชิ้นด้วยกัน ได้แก่งานปั้นจำลองแบบเดิมจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง, งานปั้นผสมระหว่างการกำหนดรูปแบบขึ้นเองกับลอกเลียนแบบมาจากปิกัสโซ (Picasso) ซึ่งปิกัสโซเองก็ลอกเลียนแบบมาจากวัตถุโบราณอีกทอดหนึ่ง จนถึงงานเซรามิกที่มีรูปแบบเหมือนที่ใช้ในงานศพของประเทศในตะวันออกกลางอย่างชาวไซปรัส (Cypriot) ฯลฯ

นั่นคือบางส่วนที่จะได้เดินทางไปยังสิงคโปร์ และสำหรับที่ บางกอก ซิตี้ ซิตี้ แกลเลอรี เราจะได้โลดแล่นไปกับจินตนาการของเขาได้อย่างเต็มตาใน 2 โซนด้วยกัน 

ประติมากรรมเซรามิกหลากรูปทรง

ประติมากรรมเซรามิกชุด THEY TALK จัดแสดงภายในห้องนิทรรศการหลัก เป็นการรวมผลงานประติมากรรมเซรามิกจำนวน 23 ชิ้น ที่บางชิ้นมีชื่อเฉพาะเจาะจงคล้ายกำลังสื่อสารอะไรบางอย่าง

ประติมากรรมเซรามิกทั้งหมดล้วนมีลักษณะรูปทรงแปลกตา ทั้งรูปปั้นเพศหญิงสัดส่วนประหลาด อนุสาวรีย์ เด็กเล่นซ่อนแอบกันบนก้อนอึ ชายร่างอวบโชว์อวัยวะเพศ อนาคตของชาวนาที่ดูมืดบอด หรือบางชิ้นงานนั้นเรียกร้องการตีความอันหลากหลาย ทั้งหมดคุมโทนด้วยสีเทอร์ควอยส์ น้ำเงินสด แดงสด ดำ ขาว เหลือง ที่ไม่ได้เป็นเรื่องของความสวยงามเท่านั้น 

สีจะมีคุณค่าทางสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันทางปัจเจกและหน้าที่ทางสังคม เหมือนโดนสร้างโดยบริบททางสังคม ผมพยายามคุมโทน และพยายามทำให้ซีเรียสประมาณหนึ่ง แต่ก็มีความหวานอยู่ในตัวของมันเองด้วย อีกอย่างหนึ่งเราคุมโทนเพื่อให้สี ‘ทำงาน’ เพราะสีทำงานหลายๆ อย่างในชีวิตคนเรา หรือเป็นเรื่องของกาลเทศะ เพราะสีจะมีความสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตเยอะทีเดียว” เขาอธิบาย

งานปั้นทั้งหมดถูกจัดวางบนฐานไม้อัดที่ออกแบบและผลิตฐานโดย THINKK Studio และ FabCafe Bangkok ซึ่ง ลูกตาล–ศุภมาศ พะหุโล หนึ่งในผู้ก่อตั้งและภัณฑารักษ์แห่งบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ เล่าว่า ฐานวางชิ้นงานในห้องนิทรรศการหลัก คนที่มาดูงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติมักถามกันว่าทำไมถึงใช้ฐานแบบนี้ แล้วมีความหมายยังไง 

“เรื่องฐานวาง ศิลปิน (คุณแป๋ง) คุยกับ THINKK Studio บนคอนเซปต์เรื่องขนย้ายสะดวก มีความเป็นไปได้ที่จะมองเห็นมิติต่างๆ ของงาน การเลือกใช้วัสดุราคาประหยัด หาง่าย ถ้าผสมเรื่องเทคโนโลยีและงานฝีมือด้วยก็ดี จนได้แบบร่างออกมาประมาณสี่ห้าแบบ สุดท้ายเลยเลือกใช้ฐานไม้อัด หรือเรียกว่าประติมากรรมไม้ ในที่สุดมันคือหนึ่งเดียวกับตัวงานประติมากรรมเซรามิกด้วยซ้ำ” เธอเล่า

นอกจากนี้ ตั้งแต่หกโมงเย็นจนถึงทุ่ม ทางแกลเลอรีจะเพิ่มลูกเล่นด้วยการเปิดไฟสีม่วงในห้องจัดแสดงนิทรรศการหลัก เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกกับชิ้นงานได้มากขึ้นหรือต่างไปจากตอนกลางวัน “ตอนแรกเราคุยกันว่าจะเพนต์ผนังไหม เราจะใช้ไฟแบบไหน จริงๆ ลองมาหลายสีแล้วไม่เวิร์ก จนวันก่อนมีเด็กๆ จากศิลปากรมาคุยกัน เขารู้สึกว่าสีม่วงเป็นสีที่ดูลึกลับ เหมือนมีอะไรบางอย่างอยู่ในนั้น น่าจะเป็นเรื่องอารมณ์กับสีที่ทำงานด้วยกันได้” 

ภาพจากบางกอก ซิตี้ ซิตี้ แกลเลอรี

ภาพวาดไร้ทฤษฎี

เดินชมงานในห้องนิทรรศการหลักจนหนำใจ เลี้ยวขวาเปิดประตูเข้าไปในห้องหนังสือบริเวณด้านหน้าแกลเลอรีกันต่อ จะพบภาพวาดลายเส้นด้วยดินสอและดินสอสี เป็นภาพวาดที่ดุษฎีวาดด้วยกันกับครอบครัวและลูกชายของเพื่อน ลายเส้นเต็มไปด้วยจินตนาการของเด็กวัยกำลังเรียนรู้ ภาพวาดอวัยวะเพศกับก้อนอึทำเอาเราเผลอหลุดขำ ทั้งหมดแขวนเรียงตามผนังดูแล้วลงตัวกับห้องหนังสือไม่หยอก  

“ที่เห็นวาดเป็นเส้นไม่มีรูปร่างคือลูกผมวาด เด็กอายุหนึ่งขวบทักษะการวาดรูปเขายังไม่มี ตอนที่วาดประมาณสักขวบสองเดือน เลยทำให้เรากลับไปมองว่าข้อมูลที่เราใช้มีขั้นตอนเยอะมาก ไม่ใช่แค่คลังภาษา แต่เป็นคลังคำศัพท์ของสิ่งของแต่ละชนิดเพื่อจะวาดมันออกมา ลูกก็เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เห็นว่าคนหนึ่งมีคลังคำศัพท์ที่อยู่ในตัวออกมาใช้มากน้อยแค่ไหนในการดำรงชีวิตประจำวัน” เขาอธิบาย

ก่อนเข้าชมนิทรรศการ THEY TALK เรามีโอกาสได้พูดคุยกับศิลปินถึงแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังชิ้นงาน ดุษฎีเริ่มต้นจุดบุหรี่สูบมวนแรก เสียงกดไฟแช็กดังเป๊าะสองสามครั้งคล้ายสัญญาณบอกว่าพร้อมแล้วสำหรับบทสนทนาในนาทีข้างหน้า พร้อมกับ ลูกตาล–ศุภมาศ ที่มาร่วมวงสนทนาครั้งนี้ด้วย

THEY TALK คือ…    

“THEY TALK เริ่มมาจากการมองหาบทสนทนาจากคน จากหลายๆ สถานที่ เป็นการพูดถึงเซรามิก
แบบร่วมสมัย (Contemporary) ที่มีความสำคัญเชิงลึก ซึ่งเกิดมาตั้งยุคประวัติศาสตร์ ในงานนี้จะมีงานที่ทำขึ้นโดยมีต้นทางมาเป็นโบราณวัตถุบ้านเชียง จ.อุดรธานี มาจัดแสดงอยู่ด้วย (For future farmers, may you see the deepest blue, 2019) เพราะฉะนั้น THEY TALK คือเรื่องของการคุยกันผ่านบทสนทนาของมนุษย์ที่ผ่านกาลเวลามายาวนานในรูปแบบงานประติมากรรมเซรามิก งานเหล่านี้มีบทสนทนาของมัน เช่นงานเซรามิกที่เก่าที่สุดที่ถูกค้นพบเป็นรูปปั้นวีนัส อายุประมาณ 20,000 ปี อยู่ที่เบอร์โน สาธารณรัฐเช็ก รูปปั้นนั้นพูดถึงความสมบูรณ์ของผู้หญิง ความสมบูรณ์คือสามารถอยู่ได้ด้วยความสุขสบาย แล้วก็สืบพันธุ์ได้ ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้จะใช้การผลิตจากเซรามิก (ceramic-based) ส่วนที่บ้านเชียง เซรามิกก็เก่าแก่กว่ายุคกำเนิดพระพุทธศาสนาเป็นพันๆ ปี ” เขาเล่า 

For future farmers, may you see the deepest blue

“ที่สำคัญตอนทำ THEY TALK ผมไม่รู้หรอกว่า ‘เขา’ คือใคร มันผ่านขั้นตอนพอสมควรกว่าจะออกมาเป็นที่เราเห็นในนิทรรศการตอนนี้ พอทำเสร็จเราก็เริ่มมองเห็นว่าคุณคือใครกันแน่ เหมือนเป็นการที่เราคุยกับตัวมันนี่แหละ แล้วมันก็ตอบเรา ทำเสร็จแล้วมานั่งดูสักพักหนึ่งว่ามันคือใคร มาที่นี่ทำไม สักพักก็ อ๋อ คุณคือชื่อนี้ หมายความว่ามันจะต้องมีชีวิต จะต้องมีชื่อ มีหน้าที่ มีความหมายอะไรบางอย่าง พอมีขั้นตอนหรือมีความลึกซึ้งในชิ้นงานนอกจากตัวมันเองแล้วก็ต้องมีภาษามารองรับอีกที แต่ขั้นตอนเหล่านี้นอกจากทำในสตูดิโอของผมเองแล้ว ก็เป็นการคิดถึงประวัติศาสตร์ของการทำเซรามิกและบริบทของชิ้นงานในวาระต่างกัน แต่ส่วนใหญ่จะพูดถึงสังคมชนชั้นกลางที่ไม่ใหญ่มาก แคบกว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ลงมา ซึ่งวิธีการทำอย่างที่ผมทำมันไม่ได้เข้าไปจัดแสดงอยู่ในวังแวร์ซายส์ของฝรั่งเศสหรอกนะครับ หากเป็นระดับนั้นเขาไม่มีวิธีการทำงานแบบผมหรอก (ยิ้ม)” 

ขณะที่ศุภมาศเสริมว่า 

“ตอนคุยกัน แป๋งพูดคำว่า THEY TALK ขึ้นมา เรารู้สึกว่ามันดีมากเลย เราเห็นว่าของทุกชิ้นมันเป็นชิ้นงานที่ไม่มีชีวิต แต่มันน่ะมีชีวิตและกำลังคุยกับเรา พวกงานดีไซน์ โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ เรารู้สึกว่ามันกำลังคุยอยู่ อาจจะมีเสียงใครก็ไม่รู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้น เอาเข้าจริงเราก็อาจจะคุยกับเขาด้วยก็ได้ (หัวเราะ)”

ก่อนจะเป็น THEY TALK

“แป๋งน่าสนใจตรงที่เขามีประเด็นในพื้นที่จินตนาการค่อนข้างมาก เราชอบภาพกับเท็กซ์ของเขา
ลักษณะเหมือนดรอว์อิ้งที่เด็กวาดเล่น เส้นที่วาดดูไม่จริงจังมาก แล้วไปด้วยกันกับตัวเท็กซ์ เวลาเรามองงานนี้มันเหมือนเห็นวิธีการเล่าเรื่องหรือการแต่งเรื่อง เรารู้สึกว่าเป็นพื้นที่เปิดให้เราค้นหาในงาน ตัวเท็กซ์ของเขาเหมือนเป็นกวีร่วมสมัยที่แปลความหมายไม่ได้” ศุภมาศเล่า

อีกหนึ่งเหตุผล เธอเล่าเสริมว่า “ในขณะเดียวกันเขาเรียนด้านมานุษยวิทยา เขาจะสนใจเรื่องความสัมพันธ์ มนุษย์ สภาวะเวลา จะมีงานชิ้นหนึ่งในห้องแกลเลอรีหลัก ชื่อ We dance outside to reclaim
what belongs to the public, (2019) ที่เป็นเหมือนการตั้งคำถามว่าเราสามารถเต้นในพื้นที่สาธารณะได้จริงหรือเปล่า? คืองานชุดนี้มีลักษณะเป็นข้อเสนอโครงการสาธารณะ (Public Proposals) แน่นอนว่าถ้าเราย้อนกลับมาดูงานปั้นต่างๆ จะนำไปสู่คำถามต่อมาว่าความสำคัญของงานปั้นมีความหมายอย่างไร มันมีการสะท้อนอะไรกลับมาถึงช่วงเวลานั้นบ้าง”   

‘ความเปราะบางของมนุษย์’ และ ‘ข้อเสนอโครงการสาธารณะที่อยากให้เกิดขึ้น’

เมื่อศิลปินสนใจเรื่องของมนุษย์เป็นที่ตั้ง อย่างที่ศุภมาศเล่า นิทรรศการ THEY TALK จึงตั้งประเด็นอยู่บนความเปราะบางของมนุษย์และข้อเสนอโครงการสาธารณะที่อยากให้เกิดขึ้นจริงในบ้านเรา เหมือนเป็นการตั้งข้อสงสัยผ่านผลงานเหล่านี้ว่าจะเกิดเป็นความจริงได้มากน้อยแค่ไหน 

Possible Monument for Southeast Asia Clean Water

We dance outside to reclaim what belongs to the public

Possible Monument for Southeast Asia Clean Air

 “ผมว่าความเปราะบางของมนุษย์คือการมีชีวิตอยู่ ความเปราะบางคือมันไม่แข็งแรง อย่างน้อยที่สุดมันเป็นการพูดถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่เราอาจจะไม่ได้อยู่ในที่ที่สมบูรณ์ที่สุด ณ เวลานั้น มันแค่เปราะบาง แต่ยังไม่ปริแตก ส่วนข้อเสนอโครงการสาธารณะ มีสิ่งที่อยากเสนอเต็มไปหมด อย่างน้อยที่สุดการศึกษา ตอนนี้มันล้าหลังมาก ซึ่งทุกคนก็คงจะเห็นด้วย สมมติเด็กอนุบาลต้องการที่จะรู้ว่าต้นไม้ต้นนี้ มีเคมีลักษณะนี้ แล้วมันทำหน้าที่อะไรของมัน แล้วมันมีความสัมพันธ์อะไรกับเรา ต่อๆ กันไป ทั้งหมดนี้มันมีความสัมพันธ์ด้วยเคมีน่ะ สื่อสารกันด้วยเคมีในการจัดการกับสิ่งรอบตัวน่ะครับ” 

เขากำลังพูดถึงผลงานชิ้น Basic education is biochemistry and how it relates ซึ่งฟังแล้วก็พบว่าเราเองไม่เคยนึกถึงการเรียนการสอนเรื่องนี้กับเด็กอนุบาลเลยด้วยซ้ำ

“ผมก็เลยคิดว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่อนุบาลจนถึง ป. 1 ถ้าเราเรียนรู้จริงๆ จะพบว่าชีวิตทั้งหมดนี้มันมีความซับซ้อนของมันอยู่มากมายด้วยเคมี เพราะเรามาจากธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น ถ้าพูดถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เราอยู่ในขั้นตอนของการเฝ้าระวัง (Cautionary Process) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพูดถึงข้อเสนอสาธารณะ ซึ่งผมคิดว่ามีความสำคัญที่น่าจะเปลี่ยนอะไรได้หลายๆ อย่างทีเดียว” ดุษฎีอธิบาย 

Basic education is biochemistry and how it relates

นอกจากความเปราะบางฯ หรือข้อเสนอสาธารณะแล้ว จินตนาการและ ‘ลูก’ ก็เป็นอีกต้นขั้วสำคัญในการสร้างงานของเขา

“ถ้าดูผลงานโดยรวมแล้วจะมีรูปปั้นเป็นเพศแม่ อย่างเช่น Grandma Intestine (2019), Mother says we must participate in urban planning together (2019) ทั้งวัยรุ่นเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชาย Hey Suncat, rest here for a night and hear my tune out, (2019) มีตัวประหลาดๆ อย่าง คนล้างไส้ (2019)  หรือคนที่ไปเล่นกันอยู่ในป่า เก็บเห็ดไปทดลองว่าแต่ละชนิดมันมีเคมียังไง และมันมีผลยังไงกับชีวิต (Listening in on a conversation between a woman and a wolf and their rivers, (2019)) เราจินตนาการออกไปจากความรู้สึกของเรา จากชีวิตรอบข้าง จากลูกด้วย ลูกก็อายุขวบครึ่ง ว่าเราจะพูดถึงของอดีตกาลมนุษย์ เกี่ยวกับระบบนิเวศยังไง เป็นเรื่องของคน การแยกย้ายถ่ายเท การใช้ชีวิตของแต่ละชุมชน แต่ละความหมาย แต่ละค่านิยม แต่ละอุดมคติ”

  มีรูปปั้นหนึ่งคล้ายสิ่งมีชีวิตที่เป็น ape (A child and its ape like protector, 2019) มาจากสายพันธุ์ซึ่งทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า โฮโมเซเปียนส์ เผ่าพันธุ์ใกล้เคียงกับมนุษย์ มันเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ไม่เหมือนลิงบาบูน ลิงแสม แต่คำว่า ‘ape like’ มันพูดถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ที่มีความเป็น ‘ลิง’ ตัวที่ปกป้องเด็กคนนี้อยู่มันมีวิวัฒนาการที่ยาวนาน น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ของการคิดถึงคนน่ะ จริงๆ แล้วรูปปั้นนั้นก็อาจจะเป็น ‘ลูก’ นั่นแหละ แต่ตัวที่ปกป้องคุ้มครองอยู่คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่หลักฐานทางกายภาพ มันคือความคิด วิวัฒนาการของคนผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง วิธีการจัดการกับชีวิต หรือระบบนิเวศโดยรวม”  

A child and its ape like protector

“Your Sculpture Look Like Shit!” 

จากที่เรานั่งฟังดุษฎีเล่าถึงนิทรรศการนี้ พบว่าเขาหลงใหลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเซรามิก และยังเคยเรียนทางด้านการปั้นเซรามิกโดยตรงที่สหรัฐอเมริกาเมื่อหลายปีก่อน ความโดดเด่นอย่างหนึ่งของเขาคือการปั้นประติมากรรมที่มีรูปทรงอวัยวะเพศของมนุษย์และก้อนอึเป็นส่วนผสมในชิ้นงาน อย่าง ‘SUNSHOWER: Contemporary Art from Southeast Asia 1980’s to Now (2017)’ ที่เคยจัดแสดงที่ Mori Art Museum, ญี่ปุ่น หรือปีที่แล้วจัดแสดงที่ 100 Tonson Gallery, กรุงเทพฯ กับ There are More Monsoon Songs Elsewhere (2018) ที่เขาให้เหตุผลว่า “มันคือพลังงานชั้นดี ทำไมจะปั้นไม่ได้!” 

“ผมเรียนปริญญาโทกับอาจารย์สอนทำเซรามิกที่มีชื่อเสียงมาก ชื่อ ริชาร์ด ชอว์ (Richard Shaw) ผมก็ปั้นงานในส่วนประจำฐานของผม โชคดีที่ได้เจอแก แกก็เดินมาพูดว่า “Your sculpture looks like shit!” มันก็แปลได้สองอย่าง อย่างแรก ‘ทุเรศเหลือเกิน’ หรืออีกอย่างมันอาจจะ ‘Looks like shit!’ จริงๆ น่ะ ซึ่งมันเป็นคำชมด้วยซ้ำ ตอนแรกผมตีความที่เขาบอก ว่า sculpture ของผมดูทุเรศ แต่คำพูดเขาทำให้นึกถึงตอนผมเคยไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติที่เกาะลันตา ผมนั่งเล่นกับเพื่อน หยิบทรายขึ้นมาปั้นรูปขี้หมาแห้ง แล้วโชว์ให้เพื่อนดู เพื่อนก็บอกว่ามึงทุเรศมาก ก้อนขี้ที่ปั้นพอวางไปบนทรายปุ๊บมีแมลงวันมาเกาะปั๊บ ผมเลยคิดว่าการสื่อสารมันไปไกลกว่าเรา มันให้อิสรภาพที่ผมจะทำอะไรก็ได้ มันถอดโซ่ตรวนจากผมออกไปหมดเลย อาจารย์เรียกความมั่นใจของผมกลับคืนมา 

“แล้วตอนเด็กๆ ผมชอบไปเล่นซ่อนแอบ มีอยู่วันหนึ่งเข้าไปหลบใต้บันไดบ้านย่า ผมเลยเข้าไปอยู่ในดงขี้หมา มือเลยเปื้อนขี้หมา เหมือนเราได้สัมผัสของจริง มันเลยทำให้เราปั้นเหมือนมาก เพราะฉะนั้นที่ผมชอบปั้นอึเพราะผมมีประสบการณ์กับมัน จริงๆ มันคือพลังงานน่ะครับ มันเป็นการหักล้างและสร้างความสมัยใหม่ในเวลาเดียวกันอยู่ตลอดเวลา” เขาเล่า  

 

ขอขอบคุณ : 

คุณลูกตาล–ศุภมาศ พะหุโล, คุณแป๋ง–ดุษฎี ฮันตระกูล ตลอดจนทีมบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ที่คอย
ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี 

ติดต่อบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ได้ที่อีเมล [email protected] โทร.
08–3087–2725

 

Fact Box

  • ดุษฎี ฮันตระกูล จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านศิลปะจากมหาวิทยาลัย UCLA ลอสแอนเจลิส, แคลิฟอร์เนีย และปริญญาโท จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัย UC Berkeley แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพและมหาวิทยาลัยมหิดล 
  • ติดตามผลงานทั้งหมดของคุณแป๋งได้ที่ https://www.dusadeehuntrakul.com 
  • นอกจากนิทรรศการ THEY TALK จะแบ่งการจัดแสดงออกเป็นสองโซนของแกลเลอรีแล้ว ศิลปินและภัณฑารักษ์ยังมีไอเดียทำหนังสือ ‘GRANMA, I WANT A PENIS’ ต่อยอดจากนิทรรศการ THEY TALK ในครั้งนี้ เป็นหนังสือนิทานว่าด้วยเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ร้องขอให้ยายซื้ออวัยวะเพศชายให้เธอ กับหน้าปกสีส้มสดใส พิมพ์จำนวน 300 เล่ม ราคาเล่มละ 500 บาท ออกแบบรูปเล่มโดย ยีนส์–นภิษา ลีละศุภพงษ์ กราฟิกดีไซเนอร์ที่เคยทำโปรเจกต์หนังสือด้วยกันกับศุภมาศมาก่อนอย่าง ‘นักเล่าเรื่องก่อนรุ่งสาง ถูกตีพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลวิดีโอและศิลปะการแสดง Ghost (2561) 
  • เร็วๆ นี้ ลูกตาล ศุภมาศ จะมีโปรเจกต์ชิ้นใหม่ คือชวนคนรู้จักมาร่วมทำคอนเทนต์ด้วยการหยิบยกเรื่องราวอย่าง Urban Planning เกี่ยวกับการวางผังเมืองในอนาคต ภาพถ่าย หรือความหลากหลายทางชีวภาพ โดยโปรเจกต์นี้เชื่อมต่อจากงาน Singapore Biennale 2019 และปล่อยให้ดาวน์โหลดอ่านกันฟรีๆ
Tags: , , ,