สีทอง! สัญศาสตร์! สงคราม! สำนึกใต้สำนึก! เส้นโค้งดั่งงู สู่เรือนร่างสตรีแพศยา! ถ้าอยากรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ร้อยเรียงกันอย่างไร ในเบื้องหลังของงานศิลปะมาสเตอร์พีชสไตล์ ‘อาร์ต นูโว’ (แปลไทยตามตำราว่า ‘นวศิลป์’) ที่กำลังถูกนำเสนอใหม่ในนิทรรศการอินเทอร์แอคทีฟ Something Nouveau ของ River City Bangkok วันนี้เราจะขอบอกเล่าแง่มุมประวัติศาสตร์และเทคนิคของศิลปะแนวอาร์ตนูโว ที่น่าจะช่วยให้ผู้ที่จะไปดูโชว์นี้ ถอดรหัสที่อยู่ในลายเส้นและรูปทรงบนจอฉาย เป็นความรู้ควบคู่ประสบการณ์เสพย์ศิลป์แบบสามร้อยหกสิบองศาไปในตัว 

ที่สำคัญต้องบอกว่างานนี้ ‘เข้าถึงง่าย’ กว่าโชว์ที่ผ่านๆ มาของริเวอร์ซิตี้เยอะเลย 

ศิลปะสไตล์ใหม่ของโลกใหม่

ย้อนเวลากลับไปช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในประวัติศาสตร์ของยุโรป ในกลางศตวรรษที่ 19 ช่วงที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังแผ่ปีกกว้างไปทั่วทวีป เทคโนโลยีอย่างรถไฟไอน้ำกำลังพามวลชนเดินทางไปในที่ที่พวกเขาไม่เคยคิดฝันด้วยความเร็วสูง ในขณะเดียวกันโรงงานมากมายกำลังปล่อยควันพิษขึ้นท้องฟ้า เข้าสู่ปอดของทั้งชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลาง-เศรษฐีใหม่ที่เรียกกันว่า ‘บัวร์วาซี’ (bourgeoisie) ถนนเส้นเล็กที่เคยคดเคี้ยวในปารีส ถูกทุบทำลายทิ้งเพื่อสร้างเป็นเอเวนูกว้างขวางไว้รองรับการมาถึงของรถยนต์และห้างสรรพสินค้า อีกทั้งโรงละครและคาเฟ่ที่ผุดขึ้นเต็มไปหมด 

ทั้งหมดนี้เปลี่ยนวิถีชีวิตการกินอยู่ของชาวยุโรปไปอย่างก้าวกระโดด และไลฟ์สไตล์ใหม่นี้ย่อมต้องสะท้อนในศิลปะแบบ ‘ใหม่’ เช่นกัน เป็นที่มาของชื่อ Art Nouveau (Nouveau ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ‘ใหม่’) ที่ผุดขึ้นพร้อมๆ กันในหลายเมืองทั่วยุโรป ภายใต้หลากหลายชื่อ อาทิ Jugendstil ที่เยอรมนีและออสเตรีย, Stile Liberty ที่อิตาลี, Modernisme ในภาษาคาตาลัน หรือ Modern Style ที่อังกฤษ อย่างไรก็ตาม ทุกชื่อนั้นพูดถึงศิลปะแบบเดียวกัน โดยมีลักษณะเด่นที่การผสมผสานเส้นโค้งเว้าที่เลียนแบบทรงในธรรมชาติ เข้ากับนวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่ ตั้งแต่สิ่งพิมพ์, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องประดับ ยัน สถาปัตยกรรม มีจุดประสงค์เพื่อแหวกม่านความเคร่งขรึมในกรอบของศิลปะชั้นสูงแบบดั้งเดิม เข้าสู่โลกที่ทั้งวิจิตรสวยงามและร่วมสมัยไปพร้อมๆ กัน 

ในนิทรรศการ Something Nouveau นี้ ภัณฑารักษ์ได้เลือกพูดถึง 3 ศิลปินจาก 3 ประเทศ ที่มีช่วงชีวิตคาบเกี่ยวกัน แต่มีงานที่ทั้งคล้ายและแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ เรียกได้ว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงจุดเชื่อมโยงและความลื่นไหลของงานสไตล์นี้ไปพร้อมๆ กัน

หนุ่มน้อยอัจฉริยะผู้อื้อฉาว

อาจพูดได้ว่าอังกฤษเป็นประเทศแรกๆ ที่ประยุกต์สไตล์นี้ขึ้นมาในยุโรป โดยมีปูชนียบุคคล 2 ท่านคือ วิลเลี่ยม มอร์ริส (William Morris) ศิลปิน, นักเขียนและนักสังคมวิทยา บิดาแห่ง ‘Art and Craft Movement’ ผู้ประกาศกร้าวว่า ของทุกชิ้นที่เรามีในครอบครอง ควรมีทั้งประโยชน์ใช้สอย พร้อมด้วยความสวยงาม สอดคล้องกับอีกท่านคือ ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) สไตล์กูรูผู้ขับเคลื่อน ‘ลัทธิแห่งความงาม’ (Cult of beauty) ที่หยิบยกสุนทรียะมาเป็นแก่นสารสำคัญของการดำเนินชีวิต ไวลด์สร้างความอื้อฉาวในสังคมวิคตอเรียนที่เคร่งครัดอย่างมาก ด้วยงานเขียนที่มักจะเกี่ยวกับเพศวิถีสวิงสวาย จิกกัดวัฒนธรรมปากว่าตาขยิบของชนชั้นกลางและสูงอย่างร้ายกาจ อาทิ นิยาย The Picture of Dorian Gray, บทละคร The importance of being earnest เป็นต้น 

ในปี 1892 เมื่อไวลด์มีโปรเจกต์โบว์แดงที่จะดัดแปลงบทละครเรื่อง Salomé จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส เขาได้เลือกนักวาดภาพหนุ่มดาวรุ่งคนหนึ่ง มาวาดภาพประกอบบทละคร ชื่อของหนุ่มคนนั้นคือ ออเบรย์ เบียร์ดสลีย์ (Audrey Beadleys 1846–1932) เขาคือศิลปินคนแรกในโชว์นี้

เด็กชายเบียร์ดสลีย์เกิดมาพร้อมความอาภัพ เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคโดยพันธุกรรมทั้งแต่ 7 ขวบ ส่งผลให้เป็นคนที่ปวกเปียกกว่าเด็กชายรุ่นเดียวกัน เมื่อโตขึ้นเขาได้รับแรงบันดาลใจจากงานของ วิลเลี่ยม มอร์ริส และ เอ็ดเวิร์ด เบิร์น-โจนส์ อีกทั้งงานภาพพิมพ์อูกิโยะจากมาสเตอร์อย่าง ฮิโรชิเกะ และ โฮคุไซ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในยุโรปอย่างมาก ทำให้เขาหันมาสเก็ตช์รูปอย่างจริงจัง โดยรูปของเขามักจะจัดวางบนระนาบสองมิติ และให้ความสำคัญกับการตัดเส้นเหมือนงานญี่ปุ่นด้วย งานที่สร้างชื่อให้กับเขามีมากมาย ทั้งการวาดภาพประกอบนิยายเรื่อง Le Morte D’Arthur ที่เขาใช้ดอกไม้ในกรอบภาพช่วยเล่าเรื่องอย่างชาญฉลาด หรือการเป็นผู้กำกับศิลป์ของนิตยสาร Yellow Book 

How Sir Launcelot was Known by Dame-Elaine—Beardsley

How King Marke Found Sir Tristram—Beardsley

ไฮไลต์สำคัญของงานเบียร์ดสลีย์คือภาพประกอบบทละคร เขาวาดคาแรกเตอร์ผู้หญิงร้าย หรือ ‘Femme fatale’ ได้งดงาม ทั้งนางรำวายร้ายจากพระคัมภีร์อย่าง Salomé หรือตัวละครสตรีหัวขบถจากบทประพันธ์กรีก Lysistrata เบียร์ดสลีย์สามารถออกแบบพวกเธอให้ดูทั้งสวยและอันตราย  เขาใช้สีเพียงขาวดำอย่างเรียบง่ายและทรงพลัง ชุดของพวกเธอเป็นแฟชั่นที่ล้ำสมัย ในขณะเดียวกันก็ผสมรายละเอียดยั่วยวนและทะลึ่งชวนหัว น่าเสียดายที่เหล่านี้เป็นงานชิ้นท้ายๆ ของเขา ก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 1898 ด้วยโรคประจำตัวตอนอายุเพียง 25 ปี 

ดั่งที่ไวลด์กล่าวไว้ว่า เบียร์ดสลีย์เสียชีวิต “ในช่วงผลิบานดั่งดอกไม้”

Design for the Front is Piece to Plays—Beardsley

The Climax—Beardsley (1983)

The Kiss of Judas—Beardsley

The Peacock skirt —Beardsley (1893)

ศิลปินผู้วาดโรงละครจวบจนสงคราม

ศิลปินคนที่สองในโชว์นี้ก็โด่งดังจากงานที่เขาทำให้โรงละครเช่นกัน เรากำลังพูดถึง อัลโฟนส์ มูคา (Alphonse Mucha 1860-1939) หนึ่งในลูก 6 คนของเสมียนศาลผู้ยากจน เติบโตขึ้นในเมืองไอวานเซส อาณาจักรออสโตร ฮังกาเรียน หรือสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน มูคามีความสนใจศิลปะตั้งแต่เด็ก และถึงแม้เขาจะสอบเข้าโรงเรียนศิลปะของกรุงปรากไม่ได้ เขายังอุตสาหะไปเรียนพิเศษในโรงละครท้องถิ่นหลังเลิกงาน เขาทั้งเรียนร้องเพลง จากนั้นจึงวาดฉากละคร และยาวมาถึงการทำโปสเตอร์โฆษณาและบัตรเชิญ 

ในปี 1881 มูคาไปรับจ๊อบตกแต่งพระราชวังอิมมาคอฟของท่านเคาท์ คาร์ลคุน-บีลาสซี (Karl Kuen-Belassi) เขาประสบความสำเร็จจนได้รับการอุปถัมภ์ ถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนชื่อดังของกรุงปารีส แต่ยังไม่ทันไร ท่านเคาท์ก็ฆ่าตัวตาย ทิ้งให้ศิลปินของเราต้องทำงานเชิงพาณิชย์ทุกอย่างเพื่อหาเลี้ยงชีพ ทั้งวาดโปสเตอร์โฆษณาสินค้า, งานสิ่งพิมพ์, ปฏิทิน, เมนูอาหาร, นามบัตร, ฯลฯ (งานทุกชิ้นของเขาจะมีภาพของ ‘the new woman’ หรือผู้หญิงที่ดูอิสระเป็นตัวเอกเสมอ พวกเธอตัวแทนของวิถีชีวิตในโลกใหม่ที่รุ่มรวย และชวนฝัน)  

กระทั่งช่วงคริสมาสต์ ปี 1894 โชคชะตาปราณีเขาอีกครั้ง เมื่อนักแสดงหญิงดีวาชื่อ ซารา แบร์นาร์ต (Sarah Bernhardt) ปฏิเสธภาพสเก็ตช์สำหรับโปสเตอร์ของเธอที่โรงละครเรอเนสซองซ์นาทีสุดท้าย ทำให้ทีมงานต้องพัลวันวิ่งหานักออกแบบคนใหม่โดยด่วน แน่นอนว่าผู้ที่รับงานนี้ไปคือมูคา ภาพโปสเตอร์ของมูคามีลักษณะพิเศษคือความยาวที่ต้องใช้หินพิมพ์มากกว่าหนึ่งแท่นต่อชิ้น ทำให้ภาพเป็นทรงยาวอลังการ เขาใช้สีพาสเทลอย่างหรูหรา และใส่ใจรายละเอียดยิบย่อยที่บ่งบอกถึงเรื่องราวในละครนั้นๆ ตั้งแต่เครื่องแต่งกายยันออกแบบตัวอักษร และที่สำคัญ เขาวาดซาราออกมาสวยงามวิจิตรจนเธอระบุว่าต่อไปนี้ ผู้ออกแบบโปสเตอร์โชว์ทุกโชว์ของเธอจะต้องเป็นเขาผู้นี้เท่านั้น! ทำให้สไตล์อาร์ต นูโวของเขาได้ไปออนทัวร์กับละครของเธอในหลายประเทศ ข้ามไปถึงฝั่งอเมริกาด้วย

โปสเตอร์ที่เขาออกแบบในปี 1894

งานพิมพ์ของมูคาในปี 1897

Fruit—Alphonse Mucha (1897)

Dawn—Alphonse Mucha

อีกหมุดหมายสำคัญคืองานมหกรรม World Exhibition ที่จัดขึ้นในปารีสปี 1900 มูคามีส่วนร่วมในการตกแต่งพาวิลเลียนของประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา เป็นงานที่จุดประกายให้เขาสนใจรากเหง้าของตนในประวัติศาสตร์ของชาวสลาฟ และสร้างสรรค์งานเพนท์ติ้งชิ้นเอกในชีวิต The Slav Epic ในเวลาต่อมา ภาพนี้ใช้เวลากว่า 20 ปีจึงจะแล้วเสร็จ ทำให้การต่อสู้ในภาพของเขาสะท้อนสังคมที่เข้าสู่สงครามโลกโดยปริยาย 

ในปี 1939 การบุกรุกของกองทัพนาซีในเช็กโกสโลวาเกีย ทำให้มูคาสิ้นหวัง หมดเรี่ยวแรงในชีวิตและการงาน อีกทั้งเกสตาโป หรือตำรวจลับของรัฐยังเพ่งเล็งว่าเขาเป็นผู้ต่อต้าน และเรียกเขาไปสอบสวนหลายครั้ง เหตุการณ์รุนแรงต่างๆและการติดเชื้อในปอดทำให้เขาเสียชีวิตในปีแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง

มาสเตอร์ผู้ฉีกขนบเพื่อแสดงจิตใต้สำนึก

ศิลปินคนสุดท้ายเรียกได้ว่าสร้างงานที่ลึกซึ้งที่สุดในบรรดาทั้งสามคน เราเชื่อว่าผู้ชมหลายๆ คนคงคุ้นตาภาพผลงานของ กุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt 1862-1918) กับมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่อาจจะไม่ทราบความหมายที่อยู่เบื้องหลังงานของเขา เริ่มจากสีทองนั้นมีความหมายสำคัญสำหรับคลิมท์ เนื่องจากคุณพ่อของเขาเป็นช่างทอง พื้นเพเดิมมาจากเมืองโบฮีเมีย เขาเป็นบุตรคนที่สองในจำนวนลูก 7 คน 

วัยเด็กของคลิมท์มีแต่ความยากจนแต่เขายังสามารถแสดงออกถึงพรสวรรค์ด้านศิลปะอย่างชัดเจน ในปี 1876 คลิมท์เข้าโรงเรียนศิลปะชื่อดังของประเทศ โดยเรียนเอกจิตรกรรมสำหรับการตกแต่งสถาปัตยกรรม ไม่นานนัก เขาก็ได้รับเกียรติในการออกแบบและเพนต์สถานที่สำคัญอย่าง ผนังโรงละครบูร์กเธียเตอร์ และ เพดานเหนือบันไดของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ จนปี 1888 เขาได้รับรางวัล Golden Order of Merit จากจักรพรรดิ ฟรายซ์ โจเซฟที่ 1 เลยทีเดียว

จุดเปลี่ยนของคลิมท์คือความตายของทั้งบิดาและพี่ชายคนสนิทในปี 1892 ที่ผลักให้เขาละทิ้งนิยามความสวยแบบดั้งเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ คลิมท์หันมาสนใจการวาดภาพที่อ้างอิงถึงปรัชญาและสัญลักษณ์ที่มีความหมายเชิงจิตวิเคราะห์ อาจจะด้วยสภาวะสังคมออสเตรียขณะนั้น และการตีพิมพ์ Intepretation of Dreams ว่าด้วยการถอดรหัสในความฝันโดย ซิกมันด์ ฟรอยด์ ด้วย ภาพของคลิมท์เริ่มพูดถึงแรงขับทางเพศอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งการวาด Femme fatale ในรูปทรงของงู สื่อถึงการเลื่อนไหลของจิตใต้สำนึกและแรงขับเคลื่อน นำไปสู่ ความลุ่มหลงต่อสตรีเพศที่เป็นทั้งบ่อกำเนิดแห่งชีวิตและความตาย 

หลังจากที่งานขนาดใหญ่ของเขาถูกปฏิเสธโดยมหาวิทยาลัยเวียนนาด้วยข้อหา ‘อนาจาร’ ทำให้เขายิ่งถอยตัวออกห่างจากสถาบันศิลปะ แล้วก่อตั้งกลุ่มของศิลปินอิสระขึ้นมาในนาม ‘เวียนนา ซีเซสชั่น’ มีสัญลักษณ์ของเทพพี พัลลัสอธีนา ใส่หน้ากากพร้อมรบสีทองคำ เป็นนัยยะแห่งความปราดเปรื่องและยุติธรรม ถือเป็นครั้งแรกที่เขาใช้เทคนิคสีทอง (gold leaf) ในภาพอย่างโจ่งแจ้ง สิ่งนี้นำไปสู่ ‘ยุคทอง’ (Golden phase) ของคลิมท์ มีงานโดดเด่นอย่าง Lady in Gold (Portrait of Adele Bloch-Bauer I) และ The Kiss ที่ถือเป็นมาสเตอร์พีชของเขา เป็นยุคที่เขาใช้แพทเทิร์นในการประดับประดาทุกตารางนิ้วของภาพ ประหนึ่งการหล่อหลอมสัญลักษณ์จากโลกแห่งความฝันสู่องคาพยพของความจริง

Portrait of Adele Bloch-Bauer I —Gustav Klimt

Mada Primavesi—Gustav Klimt

Judith I —Gustav Klimt (1901)

The Kiss—Gustav Klimt

อาร์ต นูโว ในเมืองไทย

นอกจากในยุโรปแล้ว อิทธิพลของ อาร์ต นูโว ยังต่อยอดมาถึงเมืองไทยด้วยเช่นกัน โดยช่วงเวลานั้นเป็นรัชสมัยของ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งพระองค์เองได้เสด็จประพาสยุโรป ผ่านทั้งสามประเทศของทั้งสามศิลปิน และทรงพอพระทัยสไตล์ศิลปะและการตกแต่งของฝรั่งอยู่มาก เห็นได้จากสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยของพระองค์ อาทิ พระที่นั่งวิมานเมฆ, พระราชวังบ้านปืน, พระราชวังพญาไท ฯลฯ ล้วนมีการใช้เส้นโค้งสไตล์อาร์ต นูโวในการออกแบบทั้งสิ้น  แม้หลายพระที่นั่งจะไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม แต่สไตล์ของอาร์ต นูโว ก็ถูกยึดถือในสังคมไทยว่าเป็นมาตรฐานรสนิยมความรุ่มรวยสวยงามตามแบบสากล จวบจนทุกวันนี้

อ่านมาถึงตรงนี้ถ้าใครอยากจะเข้าชมนิทรรศการ Something Nouveau ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 16 เมษายน ส่วนใครอยากจะลงมือลองทำงานศิลปะด้วยตัวเอง ที่นิทรรศการนี้เขาก็ยังมีการจัดเวิร์กชอปที่มี ชื่อว่า The X Project River City Bangkok x Oat Montien Immerse Yourself with Something Nouveau เป็นการนำชม พร้อมด้วยเวิร์กชอปวาดภาพ 2 ชม.เต็ม อีกด้วย 

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/RiverCityBangkok/