เวลาวงดนตรี ‘แจม’ (Jam) กัน มักหมายถึงการที่นักดนตรีด้นสด (improvise) เล่นไหลตามสัญชาตญาณหรือทดลองกับซาวด์อย่างอิสระ

มันจึงกลายมาเป็นชื่อ JAM ร้านที่ตั้งอยู่ตรงเจริญราษฎร์ซอย 1 ข้างทางด่วนสุรศักดิ์ ร้านเพิ่งฉลองวันเกิดหกขวบไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นระยะเวลาผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร นอกจากเป็นบาร์แล้วที่นี่ยังเป็นพื้นที่อิสระให้เหล่าศิลปินมาปล่อยของเหมือนชื่อของมัน

JAM เป็นพื้นที่จัดคอนเสิร์ตเล็กๆ จากศิลปินต่างชาติฝีมือเยี่ยม จัดฉายหนังหาดูยาก เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะสุดเหวี่ยงของศิลปินไทยสายอันเดอร์กราวด์ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ เป็นเวทีของวงดนตรีทดลองตั้งแต่สายนอยซ์ไปจนถึงอะไรที่พิศดารกว่านั้น บางครั้งก็ชวนคนมาร้องคาราโอเกะด้วยกันแบบบ้านๆ ง่ายๆ ไปจนถึงอีเวนท์อื่นๆ ซึ่งเป็นที่ไว้วางใจได้ในความสุดเหวี่ยง ไม่ว่าจะสำหรับคนไทยหรือชาวต่างชาติที่แวะเวียนมาสร้างซีนประหลาดที่นี่ (ในคืนนี้เคยเจอคู่รักที่ผู้ชายถูกมัดแล้วฝ่ายหญิงจูงเขาเข้ามาฟังเพลงในร้าน)

คงหาพื้นที่แบบนี้ได้ไม่ง่ายนัก เราจึงอยากพาไปทำความรู้จักกับสถานที่เล็กๆ อันแปลกประหลาดแห่งนี้สักหน่อย

เมื่อหลายปีที่แล้ว หลังเรียนจบด้านออกแบบอุตสาหกรรมในออสเตรเลีย ดีแอน (หรือบางคนเรียกไดยาน) โฮ (Dhyan Ho) ทำงานให้กับบริษัทไลท์ติ้งดีไซน์แห่งหนึ่งในซิดนี่ย์ หลังจากนั้นไม่กี่ปี เขาก็รู้สึกหมดความสนใจกับสิ่งที่ทำ และเข้าสู่ช่วงไม่รู้ว่าจะเอายังไงดีกับชีวิต (ดีแอนบอกว่าตอนนี้ก็เหมือนจะยังไม่รู้) เขาจึงออกเดินทาง และจากแผนแรกที่จะไปยุโรปกลับมาลงเอยที่กรุงเทพฯ ลองทำแมกกาซีนทำมือ ต่อด้วยเปิดร้าน JAM ร่วมกับเพื่อนอีกสองคน

JAM เริ่มต้นจากการเปิดเป็นคาเฟ่ขายกาแฟในเวลากลางวัน แต่พอเวลาผ่านไปพวกเขาเริ่มสังเกตว่าคนมักจะมาในเวลาเย็นๆ ค่ำๆ มากกว่า ร้านจึงเริ่มแปลงตัวเองเป็นบาร์ที่เปิดในเวลากลางคืน ในช่วงนั้นเอง ดีแอน ได้พบกับ เนย—นภนฤตย์ สวันตรัจฉ์ ผู้ซึ่งทำงานเป็นโปรดิวเซอร์กับแชแนลวีไทยแลนด์มาถึง 9 ปี และหลังจากเพื่อนๆ หุ้นส่วนของดีแอนแยกย้ายไปทำอย่างอื่น เนยก็ได้มาร่วมทำร้านด้วยกันจนถึงทุกวันนี้

ดีแอน โฮ เจ้าของร้าน

เนย (ด้านขวา) กับเพื่อนของเธอที่มาช่วยงานที่ร้าน

เมื่อเปิดเป็นบาร์แล้ว ร้านก็อยากหาอะไรมาเพิ่มเติมนอกเหนือจากการขายอาหารและเครื่องดื่ม ด้วยความที่ทั้งดีแอนและเนยต่างชื่นชอบศิลปะด้วยกันทั้งคู่ พวกเขาจึงลองเปิดโอกาสให้เพื่อนที่อยากแสดงงานมาใช้พื้นที่ นิทรรศการแรกใน JAM เป็นงานภาพวาดสามมิติที่คนดูสามารถใส่แว่นและเดินชมภาพได้ทั่วร้าน

ดีแอนเล่าว่าเขาไม่ได้มองตัวเองเป็นคิวเรเตอร์ แค่อยากสนับสนุนให้คนสร้างงานทำอะไรก็ได้ที่ชอบโดยไม่ตีกรอบใดๆ ด้วยไอเดียนี้เอง JAM จึงเป็นพื้นที่แห่งโอกาส ช่วยเปิดตัวศิลปินหน้าใหม่มากมายหลากหลายแนว วงดนตรีหลายวงได้มีโอกาสเล่นโชว์แรกที่ JAM ศิลปินบางคนได้จัดงานของตัวเองเป็นครั้งแรกที่นี่

จากกระแสปากต่อปาก และการชวนศิลปินที่น่าสนใจด้วยตัวเองจากทางร้าน ทำให้นิทรรศการอื่นๆ เริ่มตามมา จริงๆ จะเรียกว่านิทรรศอย่างเดียวอาจจะดูไม่ครอบคลุม ด้วยความที่แทบไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลย ทำให้งานที่มาจัดใน JAM มีตั้งแต่ดนตรีทดลองสุดโต่ง นิทรรศการภาพถ่าย ศิลปะแสดงสด (performance art) หรืองานอย่าง The No Mic Open Mic Poetry ที่เปิดให้คนมาท่องบทกวี

นิทรรศการศิลปะที่หมุนเวียนมาจัดแสดงอยู่ด้านบนของร้าน

ศิลปินรุ่นใหม่อย่าง เต้—ภาวิต พิเชียรรังสรรค์ เองก็เคยมาโชว์ live drawing ร่วมกับดนตรีทดลองของ Plern Pan Perth ในแบบที่เราไม่น่าจะได้เห็นที่อื่น Jeff Gompertz เพื่อนศิลปินคนหนึ่งของดีแอนเคยนิยามว่า JAM คือ “ลานผสมพันธุ์ทางความคิดสร้างสรรค์” (breeding ground for creativity) ซึ่งฟังดูจะเหมาะสมดีเหมือนกัน

นอกจากงานหลายแนวเปลี่ยนไปทุกสัปดาห์ JAM ยังมีงานประจำของทางร้านที่น่าสนใจอย่าง movie night ซึ่งจะจัดฉายหนังทุกวันพุธ โดยเปลี่ยนธีมไปเรื่อยๆ ทุกเดือน งานนี้มักจะอุดมไปด้วยหนังหาดูยากที่เลือกสรรโดยคนทำงานศิลปะน่าสนใจ หรือไม่ก็ซีเนไฟล์ที่เสพหนังเป็นปัจจัย 5

งาน 8-bit Bangkok ชวนคนมาเล่นเกมส์วินเทจพลางจิบเบียร์ หรือที่หลายคนติดใจอย่าง Bathroom Singing (ที่ปรากฏในภาพประกอบบทความนี้) งานร้องคาราโอเกะแบบสบายๆ เหมือนร้องในส้วมที่บ้าน ซึ่งงานนี้เนยเล่าว่าช่วงแรกๆ คนมักจะเขินไม่ค่อยกล้าขึ้นเวทีร้องเพลงกันจนเธอต้องเป็นคนเปิดฟลอร์อยู่เป็นประจำ แต่พอผ่านไปสักสองสามเพลงทุกคนจะเริ่มแย่งไมค์กันขึ้นไปโชว์พลังเสียงบนเวที

อีกสีสันหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ของ JAM คือโตฟู และ วัว หมาหนุ่มคู่รักตัวติดกัน มาสคอตประจำร้าน ทั้งคู่จะคอยต้อนรับแขก หรือบางทีก็ยึดโซฟาแล้วนั่งดูโชว์อย่างตั้งใจ กลายเป็นอีกเสน่ห์หนึ่งของที่นี่ที่บางทีคนก็ต้องยอมหลบทางให้หมาเดิน

ตอนนี้ JAM ยังเป็นผู้จัดงานหลักของเทศการหนังใต้ดินกรุงเทพฯ (Bangkok Underground Film Festival) อีกหนึ่งเทศกาลหนังที่น่าสนใจเพราะได้รวบรวมงานที่เรียกได้ว่าอาจจะอยู่นอกเหนือนิยามแค่ความเป็นหนังแมสหรืออินดี้ เทศกาลนี้จะเปลี่ยนสถานที่ฉายไปเรื่อยๆ บางครั้งก็มีกิจกรรมอื่นๆร่วมกับฉายหนังด้วย เช่น ตอนฉายหนังสารคดีเกี่ยวกับวงดนตรีพังค์ของพม่าเรื่อง My Buddha Is Punk ทางเทศกาลก็นำวงดนตรีในหนังมาเล่นกันสดๆ หลังฉาย

ทิศทางของ JAM น่าจับตามองว่าจนถึงตอนนี้มันขยายตัวเป็นอะไรที่มากกว่าแค่บาร์หรือแกลเลอรี่ แต่กลายเป็นเหมือนแบรนด์ที่ช่วยสนับสนุนคนทำงานศิลปะ ภายในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนทำงานศิลปะที่ค่อยๆ โตขึ้น และการ ‘แจม’ ในพื้นที่ง่ายๆ แบบนี้ อาจเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนวงการศิลปะให้สนุกขึ้น เพราะในความหลุดโลกเหล่านั้น พวกเขาตั้งใจกันมากจริงๆ

Tags: , , , , , ,