“ยูริ กาการินเป็นมนุษย์คนแรกในอวกาศก็จริง…แต่สิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ได้เห็นโลกจากอวกาศคือหมา”
Minetaro Mochizuki เปิดเรื่อง Isle of Dogs ได้เหงาจับใจ ด้วยการบรรยายเสียงรำพึงของ ‘อาตาริ’ เด็กกำพร้าวัย 12 ปี ถึงความรู้สึกของ Laika สุนัขที่เหินขึ้นสู่อวกาศกับยานสปุตนิก 2 ของรัสเซีย เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 1957 ว่า
“ในความอ้างว้างเกินเข้าใจของอวกาศ…มันคงไม่สนว่าโลกเป็นสีฟ้า แต่คงนึกว่าฉันมาทำอะไรอยู่ตรงนี้”
Isle of Dogs ฉบับมังงะเป็นผลงานของ มิเนทาโร่ โมชิซูกิ นักวาดการ์ตูนที่วงการการ์ตูนญี่ปุ่นเรียกขานว่า ‘cult icon’ ซึ่งดัดแปลงจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นในชื่อเดียวกันของ Wes Anderson โดยออกมาพร้อมกับภาพยนตร์เมื่อกลางปี 2018 แต่เพิ่งได้รับการแปลและจัดพิมพ์ในภาษาอังกฤษโดยสำนักพิมพ์ Dark Horse เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เวส แอนเดอร์สัน เคยให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของ Isle of Dogs ว่า “หลายปีมาแล้วที่ผมอยากทำแอนิเมชั่นด้วยเทคนิกสต็อปโมชั่นอีกสักเรื่อง เกี่ยวกับหมาจ่าฝูงกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่แถวกองขยะ ชื่อ ดุ๊ก ชีฟ คิง บอส และก็อยากจะทำหนังเกี่ยวกับญี่ปุ่น ผมเล่าให้เจสัน ชวาร์ตซ์แมน และโรมัน คอปโปล่า ฟัง แล้วพวกเราก็รวบไอเดียนี้เข้าด้วยกัน”
ผลก็คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมกาซากิซิตี้ เมืองสมมติของญี่ปุ่นในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งปกครองโดยนายกเทศมนตรีโคบายาชิ ผู้ฉ้อฉลและทรงอำนาจ เมื่อเกิดการระบาดของไข้สุนัขซึ่งไม่มีใครรู้ว่ารุนแรงแค่ไหนและติดต่อสู่คนได้หรือไม่ นายกเทศมนตรีก็ฉวยโอกาสผดุงอำนาจของตนด้วยการสร้างภาพที่น่าหวาดกลัวของโรคดังกล่าวและใช้หมาเป็นตัวรับบาป ประกาศมาตรการเนรเทศหมาไปยัง Trash Island เกาะสำหรับทิ้งขยะนอกชายฝั่งเมกาซากิ
มันจึงกลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา เมื่อหลานบุตรธรรมของนายกเทศมนตรีโคบายากิวัย 12 ปีชื่ออาตาริ ซึ่งกำพร้าพ่อแม่ และมีหมาบอดี้การ์ดชื่อสป็อตส์เป็นเพื่อนรัก ขโมยเครื่องบินเพื่อไปตามหาสป็อตส์ที่แทรชไอส์แลนด์ ส่วนเรื่องราวต่อจากนั้นเป็นอย่างไร สป็อตส์จะรอดชีวิตจากสถานการณ์หมากินหมาบนเกาะแห่งนั้นได้หรือไม่ พวกหมาจ่าฝูงจะปฏิบัติต่ออาตาริเช่นไร แฟนๆ ของเวส แอนเดอร์สัน คนชอบสต็อปโมชั่น และชมรมคนรักหมาที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้คงทราบเรื่องราวกันดี
ในภาพยนตร์ Isle of Dogs นอกจากองค์ประกอบภาพแบบสมมาตร ตัวละครพูดกับกล้อง พาเลตต์สีจัดจ้าน และอารมณ์ขันขื่นที่เป็นลายเซ็นของ เวส แอนเดอร์สัน เรายังสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นที่ใส่เข้ามาชนิดจัดเต็ม นับจากดนตรี พร็อพ ฉาก และการแพนกล้องเล่าเรื่องคล้ายภาษาภาพในภาพเขียนม้วนของญี่ปุ่นที่เรียกว่า emaki ซึ่งนักวิจารณ์บางคนมองว่ามากไปจนแทบจะกลายเป็นหนังโฆษณาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่หากมองด้วยใจเป็นกลางแล้ว เวส แอนเดอร์สันยอมรับแต่ต้นว่า ความเป็นญี่ปุ่นที่เขารู้จักมาจากผลงานของศิลปินญี่ปุ่น 4 คน ได้แก่ อากิระ คูโรซาวะ ฮายาโอะ มิยาซากิ คัตสึชิกะ โฮกูไซ และอูตางาวะ ฮิโรชิเงะ และก็ดูเหมือนว่าภาพพิมพ์แกะไม้สมัยเอโดะของโฮกูไซและฮิโรชิเงะ นัยหนึ่งคือศิลปะภาพอูกิโยะ (picture of the floating world) ซึ่งมักจะถ่ายทอดโมงยามอันน่ารื่นรมย์ผ่านภูมิทัศน์ ละครคาบูกิ ไปจนถึงสตรีในสถานเริงรมย์ มีอิทธิพลสำคัญต่อพาเลตต์สีและองค์ประกอบภาพในฉากที่เล่าถึงชีวิตผู้คนในเมืองเมกาซากิ ซึ่งตรงกันข้ามกับบรรยากาศชวนหดหู่ โดดเดี่ยว เหม็นเน่าของแทรชไอส์แลนด์ที่บรรดาหมาๆ ถูกมนุษย์ส่งไปทิ้ง
สำหรับ Isle of Dogs ฉบับมังงะฝีมือของโมชิซูกิ แม้จะคงเส้นเรื่องเดียวกับภาพยนตร์ แต่ได้ลดทอนเรื่องราวลงจนมีลักษณะคล้ายเรื่องสั้น อารมณ์คล้ายกับการที่ผู้กำกับภาพยนตร์บางคนเชิญศิลปินหรือผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่มาสร้างสรรค์บทเปิด (opening sequence) หรือเครดิตท้าย ที่มีอาร์ตไดเร็กชั่นหรือการตีความเฉพาะตัว
เหตุผลที่เวส แอนเดอร์สัน เลือกให้โมชิซูกิมาเขียน Isle of Dogs ฉบับมังงะ น่าจะเป็นเพราะว่าโมชิซูกิเป็นนักเขียนที่มีฐานแฟนโดยเฉพาะชาวยุโรปเหนียวแน่น ผลงานของเขานับจาก Dragon Head, Chiisakobee, Maiwai และ Tokyo Kaido ได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และไทย (ดราก้อนเฮด สำนักพิมพ์ทูมอโรว์ คอมมิคส์, พ.ศ. 2546-2548)
นอกจากนี้ ผลงานของเขายังได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 3 เรื่อง ได้แก่ Dragon Head กำกับฯโดย Jôji Iida, Shark Skin Man and Peach Hip Girl กำกับฯโดย Katsuhito Ishii และ Bataashi Kingyō หรือ Swimming Up Stream กำกับฯโดย Matsuoka Joji
อย่างไรก็ตาม เราจะไม่ได้เห็นกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นเหล่านี้ใน Isle of Dogs ภาคมังงะ เว้นจากชื่อตัวละคร ชื่อเมือง และหนังสือพิมพ์ที่บอกความเป็นญี่ปุ่น Isle of Dogs ของโมชิซูกิเรียกได้ว่าเกิดขึ้นในยุคสมัยและสถานที่สมมติโดยแท้ แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาอย่างลึกซึ้งคือมิติของเพื่อนและความเหงาที่สื่อผ่านภาพกายวิภาคของหัวใจหมา
“หัวใจของหมาเต้นเร็วกว่าของมนุษย์…ตึก-ตึก-ตึก-ตึก…การได้ยินเสียงเต้นรัวนั้นทำให้ผมเจ็บปวดอย่างบอกไม่ถูก”
หัวใจที่เต้นเร็วกว่า ไม่เพียงแต่หมายถึงจังหวะชีวิตที่รุดหน้า หมาที่เป็นเพื่อนรักวัยเด็กตอนนี้ อาจจะกลายเป็นพ่อหมาในอีกไม่กี่เดือนต่อมา แต่จังหวะเต้นที่รัวระทึกยังอาจหมายถึงความรู้สึกอ่อนไหว ตื่นตระหนก หวาดกลัวที่เข้มข้นชนิดที่มนุษย์ไม่อาจเข้าใจ
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียมีแผนการจะส่งสุนัขขึ้นไปกับยานอวกาศ พวกเขาเลือกจับสุนัขจรจัดจากถนนในมอสโกมาฝึก ด้วยความเชื่อว่าสุนัขจรจัดทานทนความหนาว ความเครียด และชีวิตที่แร้นแค้นได้ดี ไลก้าเป็นหนึ่งในสุนัขที่ถูกจับมาเพื่อการนี้ มันถูกฝึกให้กินอาหารที่อยู่ในรูปของเจลลี่ และอยู่ในกรงแคบๆ นานคราวละ 15-20 วัน หลังจากไลก้าทะยานขึ้นสู่อวกาศในยานสปุตนิก 2 ได้ไม่นาน ทางการรัสเซียก็แจ้งว่ามีปัญหาทางเทคนิกบางประการที่พวกเขาไม่สามารถแก้ได้ทันการณ์ การเดินทางสู่อวกาศครั้งแรกของสิ่งมีชีวิตจากโลกครั้งนั้น—จึงเป็นตั๋วเที่ยวเดียว
จากก่อนหน้านี้ที่เชื่อกันว่าไลก้ามีชีวิตในอวกาศอย่างน้อย 4 วัน และได้เห็นว่าโลกเป็นสีฟ้า (แม้ว่าเฉดสีฟ้าที่สุนัขเห็นไม่เหมือนกับตาของมนุษย์ก็ตามที) แต่สี่ทศวรรษต่อมา พิพิธภัณฑ์อากาศและอวกาศแห่งชาติรัสเซียได้จัดแสดงรายงานการขึ้นสู่อวกาศของยานสปุตนิก 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไลก้าหายใจอยู่ตลอดการทะยานขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และเข้าสู่วงโคจรขณะที่ยังมีชีวิต แต่หลังจากนั้นไม่เกิน 5 ชั่วโมงก็ไม่ปรากฏสัญญาณชีพของไลก้าอีกต่อไป
โลงศพของไลก้าโคจรรอบโลกต่อไปอีก 2,570 รอบ และเผาไหม้ขณะหลุดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเมื่อวันที่ 2 เมษายน 1958 การตายของไลก้าน่าจะมาจากความร้อนและความเครียด
จาก Dragon Head ผลงานชิ้นเอกเกี่ยวกับโลกหลังเหตุการณ์วิปโยคที่เต็มไปด้วยแอ็กชั่นและบรรยากาศเหนือจริงชวนสะพรึงที่ทำให้โมชิซูกิได้รับฉายาว่า ‘cult icon’ ในผลงานต่อๆ มา โดยเฉพาะ Chiisakobee กล่าวได้ว่าภาษาภาพของโมชิซูกิหนักแน่นขึ้น หวือหวาน้อยลง จนเรียกได้ว่าเรียบง่ายและเหมือนจริง แต่ดูเหมือนว่าภาษาภาพที่เรียบง่ายและเหมือนจริงใน Isle of Dogs นี้เอง ที่ส่งให้เสียงเต้นของหัวใจเด็กชายและมวลหมาดังชัดยิ่งขึ้น
ทั้งในยามที่อ้างว้างและอุ่นใจ
Tags: Isle of Dogs