ยองเจ มิงยูร์ ริมโปเช (Yongey Mingyur Rinpoche) นับเป็น ‘rising star’ ในหมู่ธรรมาจารย์สายทิเบต นอกเหนือจากความเป็นเลิศในสายปริยัติ ท่านยังผ่านการฝึกปฏิบัติมาอย่างเข้มข้น เริ่มเข้าจำศีลปลีกวิเวกสามปีตั้งแต่อายุเพียง 13 ปี นอกจากนี้ยังสนใจเรียนรู้แนวคิดและทฤษฎีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างลึกซึ้ง ทั้งทางด้านจิตวิทยา ฟิสิกส์ และจักรวาลวิทยา ธรรมบรรยายของท่านจึงมักหลอมรวมปรัชญาพุทธศาสนาสายทิเบตกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้าด้วยกัน ในแบบที่คนต่างสายความคิดและวัฒนธรรมเข้าถึงได้ และนำไปปฏิบัติได้หากต้องการ

ยองเจ มิงยูร์ เกิดเมื่อปี 1975 ในเมืองนูบรี ประเทศเนปาล เป็นบุตรของตุลกู อูร์กเยน ริมโปเช ธรรมาจารย์สายปฏิบัติ เมื่ออายุได้สามขวบ ท่านถูกระบุตัวอย่างเป็นทางการว่าเป็นยองเจ มิงยูร์ รินโปเช ที่ 7 พุทธบัณฑิตสายกรรมฐานจากศตวรรษที่ 17 กลับชาติมาเกิด (ตามขนบพุทธทิเบต ธรรมาจารย์ผู้บรรลุความรู้แจ้งสูงสุดจะกลับมาเกิดใหม่เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น)

เมื่อไตสิตู ริมโปเช เจ้าอาวาสอารามเชรับลิงในอินเดีย ยอมอนุญาตให้ท่านเข้าจำศีลปลีกวิเวกสามปี ยองเจ มิงยูร์ถือเป็นหนึ่งในศิษย์อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์พุทธทิเบตที่เข้าฝึกปฏิบัติแบบเข้มข้นเช่นนั้น หลังออกจากการจำศีลปลีกวิเวก ท่านยังได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์ดูแลการปลีกวิเวกครั้งต่อไปทันทีทั้งที่มีอายุเพียง 17 ปี ต่อมา ยองเจ มิงยูร์เข้าศึกษาพุทธธรรมที่วิทยาลัยสงฆ์ซองซาและเป็นครูสอนที่อารามเชรับลิงไปพร้อมกัน

ด้วยความสนใจในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่จุดประกายขึ้นจากการพูดคุยกับนักประสาทวิทยาชาวชิลี ฟรานซิสโก วาเรลา ผู้เป็นศิษย์ของบิดา ในปี 2000 มิงยูร์ ริมโปเชได้เข้าร่วมการประชุมของสถาบันจิตและชีวิต ที่จัดขึ้นที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย และที่สถาบันเอ็มไอที สหรัฐอเมริกา ในปี 2003

ในปี 2002 เมื่อมีการศึกษาทดลองที่ห้องปฏิบัติการไวส์แมน มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มิงยูร์ ริมโปเชเป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนามายาวนาน 8 คนที่เข้าร่วมการทดสอบตรวจวัดกิจกรรมทางไฟฟ้าในสมองด้วยเครื่อง fMRI (จับภาพการทำงาน ต่างจาก MRI ทั่วไปที่จับภาพเชิงกายวิภาค) และ EEG ริชาร์ด เดวิดสัน ผู้อำนวยการสถาบันทดลองไวส์แมน ให้สัมภาษณ์นิตยสาร ไทม์ ถึงผลการทดสอบด้วยคำพูดที่ระมัดระวังว่า “มันน่าตื่นเต้น…เราไม่ได้คาดคิดว่าจะเห็นอะไรที่น่าเหลือเชื่อเช่นนั้นเลย”

กว่าสิบปีที่ผ่านมา ยองเจ มิงยูร์ ริมโปเช เดินทางแสดงธรรมไปทั่วโลก พร้อมกับดูแลกิจกรรมของอาราม Terger ในพุทธคยา ประเทศอินเดีย และ Terger Osel Ling ในกาฏมัณฑุ ประเทศเนปาล

หนังสือของท่านที่เขียนร่วมกับอีริค สแวนสัน ชื่อ ชีวิตที่เบิกบาน ไขรหัสสู่ศาสตร์แห่งความสุข (The Joy of Living – Unlocking the Secret & Science of Happiness) กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับของ นิวยอร์ก ไทม์ส และมีลิสต์คำนิยมที่น่าประทับใจจาก โชเกียล รินโปเช ริชาร์ด เจ. เดวิดสัน ริชาร์ด เกียร์ รวมทั้ง ลู รีด อดีตนักร้องนักแต่งเพลงวง Velvet Underground

ในโอกาสที่ท่านเดินทางมาบรรยายธรรมในหลักสูตรฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาของมูลนิธิยองเจ (Tergar Asia Foundation) The Momentum ได้มีโอกาสสนทนากับท่านถึงประสบการณ์กว่าสี่ปีในช่วงรอนแรมปลีกวิเวก (wandering retreat) และท่ามกลางชีวิตที่ ‘ปกติทุกข์’ เราจะพบความสุขได้อย่างไรบ้าง…

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ทราบมาว่าท่านเคยเผชิญกับความกลัวชนิดที่ควบคุมไม่ได้อยู่นานหลายปี เล่าให้เราฟังได้ไหมคะ

ถ้าเรียกแบบตะวันตก สิ่งที่เราเป็นตอนเด็กก็คือโรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) ตั้งแต่ตอนอายุ 7-8 ขวบ เรากลัวเวลามีพายุหิมะ ฟ้าแลบฟ้าร้อง รวมถึงคนแปลกหน้า เวลาเป็นขึ้นมาท้องไส้จะปั่นป่วน แสบร้อน วิงเวียน เวลาเดินรู้สึกพื้นโคลงเคลง บางครั้งรู้สึกจุกในคอหอย หายใจไม่ออก หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อแตกกราน

เราเกิดในเทือกเขาหิมาลัยในเนปาล ใกล้กับหมู่บ้านของเรามียอดเขาที่สูงเป็นอันดับแปดของโลกชื่อ Manaslu เป็นภูเขาที่สวยมาก บางครั้งเราจะขึ้นเขาไปสูงๆ แต่ความตระหนกความกังวลต่างๆ นานาก็ยังตามขึ้นเขาไปด้วย บางทีจะเที่ยวลึกไปในหุบเขา ความตื่นกลัวก็ตามไปด้วย หรือแม้แต่หลบเข้าไปอยู่ในถ้ำ มันก็ยังตามมาหลอกหลอน

มันเกิดจากอะไรคะ

การรับความรู้สึกของเด็กจะไว แจ่มชัด และอ่อนไหวเป็นพิเศษ เมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้องฟ้าลั่น เรากลัว ไม่ชอบเลย ยิ่งเวลามีพายุหิมะบ้านจะสั่นไปหมด ก็ยิ่งตื่นกลัว แล้วก็พานไม่ชอบความรู้สึกนั้น พยายามต่อสู้หรือหนี เป็นความไม่อยากมีไม่อยากเป็น อยากพ้นๆ ไปจากภาวะบางอย่าง ซึ่งก็ทุกข์ทรมานไปอีกแบบ และยิ่งหนีมันก็เหมือนยิ่งวิ่งไล่

แล้วท่านรับมือกับมันอย่างไร

ตอนสักเก้าขวบ เราคิดว่าน่าจะฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนา เพราะในครอบครัวเรานั้น พ่อและปู่ย่าตายายฝึกปฏิบัติกันทุกคน พ่อเองเป็นครูสอนสมาธิภาวนา เราก็อยากเรียนกับพ่อบ้าง จึงบอกแม่ และท่านก็สนับสนุน ทีแรกก็เขิน ไม่กล้าบอก กลัวพ่อไม่ยอมสอน กลัวพ่อคิดว่าเรายังเล็กไป ในที่สุด แม่ก็ถามพ่อให้ พ่อดีใจมากและเริ่มสอนสมาธิภาวนารูปแบบต่างๆ

พูดถึงแนวคิด เราชอบสมาธิภาวนา แต่ไม่ชอบฝึกเพราะรู้สึกว่าน่าเบื่อ ไม่อยากทำทุกวัน วันไหนที่ฝึกก็จะรู้สึกดี วันไหนไม่ได้ฝึกความวิตกกังวลก็มาหลอกหลอนอีก เข้าทำนองสามวันดีสี่วันไข้ จนกระทั่งอายุ 13 ปี เรามาศึกษาอยู่ที่อารามเชรับลิงในอินเดีย และเขากำลังจะมีการจำศีลปลีกวิเวกสามปี จึงบอกพ่อว่าอยากเข้าร่วม พ่อจึงขออนุญาตเจ้าอาวาสให้

ช่วงเดือนแรก อาการตื่นกลัวของเราหนักข้อมาก ก็คิดว่าทำไงดี แค่เดือนเดียวก็แย่แล้ว สามปีจะรอดไหม ก็ค่อยๆ ตั้งสติและระลึกขึ้นว่าเวลาเรากลัว กังวล หรือไม่ชอบสิ่งใด การต่อสู้และพยายามยับยั้งมัน มีแต่จะทำให้ความรู้สึกนั้นแรงกล้าขึ้น เหมือนคุณอยากกินต้มยำกุ้ง แต่พยายามหักห้ามใจ อย่าไปนึกถึงมัน อย่าคิดถึงต้มยำกุ้ง ต้มยำกุ้งก็จะยิ่งมา ใช่ไหม อาจารย์ที่ดูแลการปลีกวิเวกในตอนนั้นสอนว่า อย่าวิ่งหนี แต่จงเป็นเพื่อนกับมันซะ

อาจารย์ที่ดูแลการปลีกวิเวกในตอนนั้นสอนว่า อย่าวิ่งหนี แต่จงเป็นเพื่อนกับมันซะ

ท่านทำใจเป็นเพื่อนกับความตื่นกลัวอย่างไร

ปกติเวลาฝึกสมาธิภาวนา เราจะวางจิตไว้ที่ลมหายใจ รับรู้ว่ากำลังหายใจเข้าหายใจออก ทำนองเดียวกัน แทนที่จะเป็นลมหายใจก็เปลี่ยนมาเป็นความตื่นกลัว แค่มองดู และเมื่อดูไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่าความตื่นกลัวนั้นประกอบด้วย 4 สิ่ง คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย ภาพ เสียง และตัวความเชื่อความคิด ถ้าไม่ได้นั่งดู มันจะแข็งแกร่งเหมือนก้อนหินพร้อมจะโถมทับเราได้ แต่พอดูไปเรื่อยๆ มันก็เหมือนโฟมโกนหนวดที่เต็มไปด้วยฟองเล็กๆ หนำซ้ำความรู้สึก ภาพ เสียง และความเชื่อก็เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ความตื่นกลัวที่เคยถาโถมเข้ามาก็ค่อยๆ อ่อนแรงไป มีโผล่มาบ้างประปราย แต่มาแล้วก็ไป ดังนั้น เวลาฝึกสมาธิภาวนา บางทีเราก็ใช้ลมหายใจเป็นวัตถุแห่งการภาวนา บางทีก็ใช้ความตื่นกลัว อาการก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

มีคำกล่าวว่าถ้ามองเห็นสายน้ำแสดงว่าท่านไม่ได้อยู่ในสายน้ำ ถ้าท่านยังอยู่ในสายน้ำย่อมมองไม่เห็นมัน ฉะนั้นทันทีที่มองดูจนเห็นมันแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องหยุดกระแสน้ำที่ไหลอยู่ ก็แสดงว่าท่านไม่ได้อยู่ในสายน้ำนั้นแล้ว หลังเฝ้าดูอยู่สองสามสัปดาห์ เรากับความตื่นกลัวก็กลายเป็นเพื่อนกัน แต่เรื่องนี้ไม่แฮปปี้เอนดิ้ง เป็นเพื่อนกันได้ไม่กี่สัปดาห์ ความตื่นกลัวก็หายหน้าไปไม่กลับมาอีกเลย

ไม่ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตราบนานเท่านาน

(หัวเราะ) บางทีก็คิดถึงเขาเหมือนกัน

ในการศึกษาทดลองที่ห้องปฏิบัติการไวส์แมนเมื่อปี 2002 ท่านเป็นหนึ่งในแปดนักปฏิบัติสมาธิภาวนาที่เข้ารับการทดสอบ อยากทราบว่าผลการทดสอบครั้งนั้นทำให้พบอะไร

เขาพบว่าสมองของผู้ที่ปฏิบัติสมาธิภาวนามายาวนานมีระดับคลื่นแกมมาสูงกว่าคนทั่วไป และสามารถควบคุมได้ เช่นสมองของคนทั่วไปอาจมีคลื่นแกมมาระดับต่ำๆ ปรากฏให้เห็นครึ่งหรือหนึ่งวินาที แล้วก็หายไป ในคนที่เคยฝึกสมาธิภาวนา คลื่นแกมมาอาจปรากฏอยู่นาน 4-5 นาที มีระดับสูงอย่างเห็นได้ชัด และควบคุมได้ เมื่อออกจากสมาธิคลื่นแกมมาก็จะลดลง เป็นต้น

แล้วมันหมายความว่าอะไรคะ

ปกติแล้วคุณไม่อยากวิตกกังวล แต่ความกังวลก็เกิดขึ้นอยู่ดี คุณควบคุมไม่ได้ แต่คนที่ฝึกสมาธิภาวนาควบคุมได้ ถ้าไม่อยากกังวลเขาก็ไม่กังวล จิตมีความยืดหยุ่นและสั่งการได้ ซึ่งจิตปกติจะตรงกันข้าม บอกว่าเลิกคิดถึงต้มยำกุ้งมันก็ยิ่งคิด แต่พอบอกให้วางแผนงานตรงหน้า ถึงเวลาต้องคิดกลยุทธ์ใหม่ๆ ทางการตลาดแล้ว มันกลับกลวงโบ๋ คิดไม่ออก เวลาบอกว่า เอ้า งั้นเลิกคิด รีแล็กซ์ก่อน ทุกเรื่องทุกความวิตกกังวลก็จะมากันครบองค์ประชุม แบบนี้คือภาวะที่ควบคุมจิตไม่ได้

สิ่งสำคัญที่พวกเขาค้นพบจากการศึกษาทดลองครั้งนั้นคือ neuroplasticity สมองของเราเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งยี่สิบปีก่อนหน้านี้ นักประสาทวิทยาไม่เคยคิดว่าสมองคนเราเปลี่ยนแปลงได้ ใครเกิดมาเจ้าทุกข์ ขี้วิตก ก็จะเป็นแบบนั้นไปตลอดชีวิต แต่ตอนนี้เขารู้แล้วว่าเปลี่ยนได้ คนเจ้าทุกข์ก็กลายเป็นคนที่มีความสุขได้

อะไรทำให้ท่านสนใจวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และยินดีเข้าร่วมการทดลองครั้งนั้น

ตอนอายุ 9 ขวบ มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเดินทางมาเรียนสมาธิภาวนากับพ่อ ตอนนั้นเองที่ได้รู้จักกับ ฟรานซิสโก วาเรลา เขาอธิบายหลายเรื่องให้เราเข้าใจ และเล่าเกี่ยวกับสมองว่า สมองทำให้เรารู้สึก แต่สมองเองไม่มีความรู้สึก ลำพังการผ่าตัดสมองคุณไม่ต้องใช้ยาสลบ ถ้าทำมีดบาดมือคุณย่อมรู้สึกเจ็บ แต่ถ้าเอามีดกรีดสมองคุณจะไม่รู้สึกเจ็บ อย่างนั้นแล้ว ‘ใคร’ กันล่ะที่รู้สึกเจ็บ เรื่องนี้ทำให้เราประหลาดใจมากและสนใจวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้น

การฝึกฝนมาในฐานะชาวพุทธช่วยให้ท่านเข้าใจวิทยาศาสตร์ง่ายขึ้นหรือไม่

มีส่วนอยู่มาก เพราะพระพุทธเจ้าสอนหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับทฤษฎีฟิสิกส์ไว้ตั้งแต่ 2,500 ปีก่อน เมื่อเทียบกับความรู้ทางฟิสิกส์ สิ่งที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้คือ อะตอมไม่ใช่สิ่งที่เล็กที่สุดเดี่ยวโดดที่คงตัวแน่แท้ถาวร ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าอะตอมคือสิ่งที่เล็กที่สุด ไม่มีอะไรเล็กย่อยลงไปได้อีก และเชื่อว่าอะตอมไม่เปลี่ยนแปลง กระทั่งเมื่อหกสิบปีก่อน เขาจึงค้นพบอนุภาคย่อยของอะตอม อย่างโปรตรอน อิเล็กตรอน โฟตอน แต่พระพุทธเจ้าได้พูดถึงอนุภาคย่อยของอะตอมไว้ 8-9 อนุภาค โดยใช้คำเรียกที่ต่างไป วิธีอธิบายต่างไป แต่พูดถึงสิ่งเดียวกัน และพระพุทธเจ้าไม่ได้เห็นผ่านกล้องจุลทรรศน์หรือสมการคณิตศาสตร์ แต่เห็นและอธิบายสิ่งเหล่านี้จากการทำวิปัสสนา

นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบอีกด้วยว่า อะตอมไม่ได้คงตัวและคงที่อย่างที่เข้าใจ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น อนุภาคที่เล็กที่สุดก็หาไม่พบ เมื่อแยกย่อยลงไปทุกอย่างกลายเป็นศูนย์ ดังที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าความว่างหรือสุญญตา ท้ายที่สุดเราก็หาอะตอมไม่เจอ ชี้บอกไม่ได้ว่านี่ไงอะตอม แต่ ‘หาไม่เจอ’ ไม่ใช่ ‘ไม่มี’ ดังนั้นความว่างคือความเป็นไปได้ ทุกอย่างเป็นไปได้และมีศักยภาพ ในพุทธศาสนามันเป็นสิ่งเดียวกัน ‘ว่างเปล่า’ แต่ ‘ปรากฏ’ (empty yet appear) แต่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถเข้าใจสิ่งนี้ได้ ถ้าว่างเปล่าแล้วตัวฉันคือใคร วิทยาศาสตร์สมัยใหม่กำลังค่อยๆ ประจักษ์ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เมื่อกว่าสองพันปีก่อน

แต่มันหมายถึงอะไรกันแน่ เมื่อเราบอกว่าหาไม่เจอแต่ใช่ว่าไม่มี ว่างเปล่าแต่มีอยู่

เหมือนขวดน้ำในความฝันไง มันไม่ได้มีอยู่ในความเป็นจริง แต่ในความฝันคุณเห็นมันชัด คว้าขวดขึ้นมายกดื่มก็ได้ และน้ำในขวดนั้นก็แก้กระหายได้จริง…ในฝัน

พระพุทธเจ้าสอนว่าโลกทั้งหลายไม่ได้ตั้งอยู่จริงแท้ตายตัว แต่ขึ้นกับผู้รู้ ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มมองเห็นอะไรทำนองนั้น

จะบอกได้ไหมว่าที่ว่า ทุกสิ่งไม่ได้ตั้งอยู่จริงแท้ ตายตัว เพราะทุกสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ขึ้นกับเหตุปัจจัย

ถูกต้อง ในขณะเดียวกันเมื่อแยกย่อยลงไป เช่นโต๊ะนี้ (ชี้ไปที่โต๊ะไม้ตรงหน้า) เราก็แยกได้ว่ามันคือขาสี่ขา แผ่นไม้ สี มันคือโครงสร้างทำด้วยไม้ทาสี ‘โต๊ะ’ เป็นแค่คอนเซปต์ สิ่งที่ดำรงอยู่จริงๆ คือชิ้นส่วนต่างๆ และชิ้นส่วนนั้นก็แยกย่อยลงไปได้อีกจนถึงระดับอะตอม ในอะตอมเองก็มีอนุภาคอยู่มากมาย เมื่อแยกย่อยลงไปเรื่อยๆ เราก็หาอะไรที่เล็กที่สุดไม่เจอ…zero (ท่านเคาะลงไปที่โต๊ะ เหมือนจะบอกว่า แต่นี่ไงโต๊ะ มันก็ยังตั้งอยู่) เพราะว่างเปล่า ทุกอย่างจึงเป็นไปได้และมีศักยภาพ เหมือนอวกาศ เพราะว่างเปล่าดวงดาวและโลกจึงโคจรอยู่ได้

ก่อนออกพเนจรปลีกวิเวก ท่านมีความตั้งใจอยู่นานแล้วหรือตัดสินใจแบบปุบปับ

ความคิดนี้มีมาตั้งแต่อายุยังน้อย แม่ชอบอ่านเรื่องราวในชีวิตของมิลาเรปะ (โยคีและกวีคนสำคัญของทิเบต) ให้ฟัง ที่เล่าว่ามิลาเรปะพเนจรไปในหุบเขาอย่างไร เล่าถึงการจำศีลปลีกวิเวิกอยู่ตามถ้ำของเขา เราชอบฟังมาแต่เด็ก บางทีเวลาแม่อ่าน ยายที่นั่งฟังอยู่ด้วยจะร้องไห้ เราก็ร้องด้วย แม่ก็พานร้องไปอีกคน เราสามคนร้องไห้กันหมด (หัวเราะ) เรื่องนี้อยู่ในใจมาตลอด ต่อมาเมื่อได้ไปจำศีลปลีกวิเวก และศึกษาเล่าเรียนในวิทยาลัยสงฆ์อีก 9 ปี ในใจก็ยังคิดอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่งจะขอรอนแรมไปตามลำพังเหมือนอย่างมิลาเรปะ ถือเป็นการปลีกวิเวกอย่างหนึ่ง เป็น wandering retreat ไม่ได้อยู่ที่ใดที่หนึ่งเหมือนการปลีกวิเวกทั่วไป

ตอนที่ท่านหายตัวไปจากวัดในอินเดียและทิ้งจดหมายไว้เพียงฉบับเดียว หนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน ของอังกฤษ พาดหัวว่า ‘Mingyur Rinpoche, the millionaire monk who renounced it all’ ท่านเคยคิดว่าตัวเองเป็นเศรษฐีหรือเปล่า

เป็นสิ วัดเราทั้งที่อินเดียและเนปาลเป็นวัดใหญ่ มีที่ดิน มีรถยนต์ มีทรัพย์สินเยอะนะ (พูดแล้วก็หัวเราะ) เขาเขียนกันไปเอง คงคำนวณจากว่าเราเป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่ มีศูนย์ปฏิบัติธรรมหลายแห่งทั่วโลกในความดูแล รวมสินทรัพย์ของวัดและศูนย์เหล่านั้น คนที่เป็นหัวหน้าหรือเจ้าของก็เทียบได้กับมหาเศรษฐี แต่ในความเป็นจริง สินทรัพย์อะไรเหล่านั้นไม่ได้เป็นของเรา

ท่านพรางตัวอย่างไร ถึงเล็ดลอดสายตาคนที่พุทธคยาไปได้ คนแถวนั้นน่าจะรู้จักท่านดี

ในคืนที่หลบออกมา เราเดินทางออกจากพุทธคยาทันที และไม่กลับไปที่นั่นอีกเลย ส่วนใหญ่จะขึ้นเหนือไปอยู่แถบเทือกเขาหิมาลัย ฤดูร้อนขึ้นไปอยู่แถบหิมาลัย ฤดูหนาวลงมาอยู่แถวเนปาล และอินเดียตอนเหนือ

เดินทางอย่างไรคะ แล้วมีปัญหาเวลาข้ามพรมแดนไหมในเมื่อไม่มีหนังสือเดินทาง

ในความเป็นจริง ชาวบ้านข้ามไปมาระหว่างเนปาล-อินเดียได้เป็นเรื่องปกติ จะอยู่นานเท่าไรก็ได้ ‘multiple entries, unlimited stay’ (หัวเราะ) ไม่ต้องมีวีซ่าหรือพาสปอร์ตหรอก การเดินทางบางช่วงก็นั่งรถไฟชั้นสาม บางช่วงก็โบกรถ ขอติดไปกับรถกระบะที่บรรทุกของขึ้นเขา

ในอินเดียหรือแม้แต่เนปาล ภิกษุสงฆ์และนักบวชไม่ได้ออกบิณฑบาตกันเป็นปกติเหมือนเมืองไทย แล้วนักบวชโยคีในอินเดียก็มีอยู่มาก การขออาหาร-ดีไม่ดีก็ถูกคนตะเพิดเอาได้ง่ายๆ ช่วงที่ท่านรอนแรมแล้วต้องขออาหารเป็นครั้งแรก รู้สึกอย่างไร

รู้สึกอาย ทีแรกมีเงินติดตัวไปสองสามพันรูปี พอเงินหมดก็ต้องขออาหารเขา ทำใจอยู่พักใหญ่ ในชีวิตไม่เคยต้องขออาหารแบบนั้น ครั้งแรกเลยตอนอยู่ที่เมืองกุสินารา ตอนแรกที่ยังมีเงินเราจะไปกินอาหารที่ร้านแห่งหนึ่ง เมื่อเงินหมดก็ไปถามเขาว่ามีอาหารเหลือไหม ถ้ามีเก็บไว้ให้เราด้วย เขาบอกให้มาตอนค่ำๆ พอค่ำๆ เราก็ไปที่นั่นเพื่อรับอาหาร ทำแบบนั้นได้พักหนึ่งก็ล้มป่วย เรียกว่าเฉียดตาย แต่พอรอดตายมาได้และฟื้นตัว ความอายก็หายไปหมด รู้สึกว่าข้างถนนคือบ้าน ก่อนหน้านั้นรู้สึกว่ามันสกปรก หมาจรจัดเต็มไปหมด และดูไม่ปลอดภัย

ท่านนอนข้างถนนแบบคนจรจัดเลยหรือ

(พยักหน้า)

ตอนนั้นท่านป่วยเป็นอะไร

ท้องร่วงอาเจียนติดต่อกันหลายวัน

เล่าประสบการณ์ช่วงที่ป่วยให้ฟังหน่อยสิคะ

เราเพียงแต่เฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้น วันแรก วันที่สอง วันที่สาม จนกระทั่งวันที่สี่ ราวๆ เที่ยง เราเริ่มรู้สึกกลัว คิดว่าอาจจะถึงคราวตายจริงๆ แล้ว ควรจะกลับวัดหรือปล่อยวาง ก็ตัดสินใจว่าปล่อยวาง อะไรจะเกิดก็อยู่กับสิ่งนั้น และนำน้อมนำการภาวนามรณสติมาใช้ เราอยู่ในการภาวนาจนกระทั่งการรู้แจ่มชัดมาก แม้ว่าร่างกายจะเป็นอัมพาตไปหมดแล้ว เราไม่เห็น ไม่ได้ยินเสียงใดๆ แต่การรู้แจ่มชัด อยู่เหนือเวลา ไม่มีบนล่าง ไม่มีข้างนอกข้างใน เป็นภาวะที่สันติมาก เราเป็นอย่างนั้นตลอดทั้งคืน มารู้สึกตัวราวแปดหรือเก้าโมงเช้า แรกสุดคือได้ยินเสียง แล้วลองขยับนิ้วมือ เมื่อขยับได้ ก็ลืมตา ทุกอย่างรอบตัวดูสดใหม่สวยงามไปหมด ต้นไม้ ฝูงนก สายลมที่พัดอยู่อ่อน อากาศตอนนั้นร้อนทีเดียวแต่เรารู้สึกชื่นบาน ข้างถนนที่เคยมองว่าสกปรก กลับรู้สึกว่าบัดนี้มันคือบ้าน ตอนนั้นรู้สึกระหายน้ำมาก ใกล้ๆ นั้นมีปั๊มน้ำแบบโยก จึงลุกขึ้นไปจะดื่มน้ำ เดินไปสองสามก้าวก็หมดสติล้มลง มารู้ตัวอีกทีที่โรงพยาบาล ที่แขนมีสายน้ำเกลือ วันรุ่งขึ้นก็ขออนุญาตหมอออกจากโรงพยาบาล ทีแรกเขาไม่ยอม แต่ในที่สุดก็ยอม

ประสบการณ์ครั้งนั้นเหมือนทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น ทำให้ท่านเบิกบานกับทุกสิ่งได้อย่างแท้จริง คนเราจะพบกับประสบการณ์แบบนั้นบ้างโดยไม่ต้องเฉียดตายได้ไหม

ในชีวิตทุกวันนี้ เราต่างก็พบประสบการณ์เดียวกันนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ตัวอย่างเช่น เวลาที่คุณอายุ 18-19 ปี คุณต้องเริ่มยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง บางคนต้องหางานทำเพื่อเลี้ยงตัวเอง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับที่เราออกจากวัดมารอมแรมอยู่ข้างถนน มันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต อาจเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างตอนสอบใบขับขี่ ตอนเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง ตอนเริ่มงานใหม่ ตอนถูกไล่ออกจากงาน หรืออกหัก เหล่านี้เป็นโอกาสดีที่คุณจะได้เติบโต เพราะปกติชีวิตเราจะวนลูปอยู่กับสิ่งที่เราคุ้นเคย เราชอบเก็บตัวอยู่ในรังไหมที่ปลอดภัย น่าสบายใจ ถ้าไม่รู้จักแหวกรังไหมออกมาคุณก็จะไม่ได้เติบโตหรือเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และโอกาสที่ดีที่สุดที่จะแหวกรังไหมออกมาก็คือตอนที่คุณต้องประจันหน้ากับสิ่งไม่คาดหมาย เช่น ตกงาน อกหัก ธุรกิจล้ม แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องระลึกรู้และเท่าทัน ยอมรับและมองมันเป็นการเรียนรู้ เป็นการเติบโต ไม่จำเป็นต้องรอให้ชีวิตเฉียดตาย ต้องหนีออกจากบ้าน ขึ้นไปอยู่ตามป่าตามเขา ไม่จำเป็น (หัวเราะ)

ยอมรับเฉยๆ กับยอมรับแล้วทำอะไรสักอย่าง ไม่เหมือนกันใช่ไหมคะ

ยอมรับเฉยๆ ไม่ทำอะไรก็คือยอมแพ้ จงยอมรับแต่อย่ายอมแพ้ การปล่อยวางคือการยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าชีวิตเหมือนคลื่นในมหาสมุทรที่ขึ้นลงตลอดเวลา เหมือนตลาดหุ้นที่มีขึ้นมีลง และการที่มันขึ้นๆ ลงๆ ถือเป็นเรื่องดี เพราะเราได้เรียนรู้ ได้เติบโต ได้ผจญภัย และนี่คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีสีสัน

อย่างตลาดหุ้นถ้ามันไม่มีขึ้นลงเลย ซื้อเมื่อวานบาทหนึ่งพรุ่งนี้ขายก็บาทหนึ่ง ก็ no business ใช่ไหม แล้วอีกแง่หนึ่งเราบอกว่ามันขึ้นเพราะมันลงไปแล้วไง ถ้าไม่มีลงมันก็ไม่มีขึ้น ชีวิตก็เหมือนกัน เพราะมีขึ้นมีลง เราถึงจะโต

อย่างที่ท่านบอกไว้ตอนต้นว่า เวลาอยู่ในสายน้ำเราก็มองไม่เห็นสายน้ำหรอก แต่คนเราเช่นแค่เจอเรื่องอกหักขึ้นมา เหมือนอะไรก็เอาไม่อยู่

นั่นคือเหตุผลที่ต้องฝึกภาวนา สิ่งสำคัญสามสิ่งคือ ทัศนะ (view) สมาธิภาวนา (meditation) และการนำมาใช้ (application)

ทัศนะคือความเชื่อ ถ้ารู้และเข้าใจว่าสรรพสิ่งไม่เที่ยงแท้ถาวร ทุกสิ่งประกอบขึ้นจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่มีอะไรตั้งอยู่เองโดยไม่เปลี่ยนแปลง เข้าใจว่าชีวิตเหมือนตลาดหุ้น เหมือนคลื่นในมหาสมุทร การเข้าใจเรื่องเหล่านี้คือการมีทัศนะที่ถูกต้อง ส่วนการภาวนาเริ่มได้จากลมหายใจ เมื่อเรารู้ว่าลมหายใจมีเข้าออก ความรู้สึกเปลี่ยนแปลง การรู้นี้จะช่วยให้ทัศนะที่ตั้งไว้ดีแล้วหยั่งลึกไปสู่หัวใจ ทีนี้เมื่อเจอปัญหา คุณก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ ฉะนั้นคุณควรฝึกปฏิบัติ ไม่เช่นนั้น เวลาเผชิญหน้ากับปัญหาอะไรก็ตาม คุณก็จะคอยคิดว่าปัญหานี้สาหัสที่สุดใหญ่หลวงที่สุดในโลก

ถ้าทัศนะถูกต้อง แต่ไม่ฝึกภาวนา ช่วยอะไรได้บ้างไหม

อืม…นิดหน่อย แต่มันก็เป็นแค่ความคิด

ในหนังสือ ชีวิตที่เบิกบาน ท่านอธิบายว่าเซลล์ประสาทของเรา (neurons) เป็นเซลล์ที่ชอบสังคม การเชื่อมต่อของมันคล้ายมิตรภาพของกลุ่มเพื่อนเก่า ชวนให้เห็นภาพว่าเวลาเจอเพื่อนเก่า เรามักจะมีเรื่องคุยกันรวมถึงเรื่องให้ตัดสินหรือนินทาแบบเดิมๆ เราจะออกจากวังวนเหล่านี้ได้อย่างไร

เวลาที่เผชิญกับสิ่งไม่คาดหมายคือโอกาสที่จะเติบโต เช่นเดียวกัน นิวรอนเหมือนกลุ่มเพื่อนเก่าที่ชอบคุยกันเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ส่งข่าวถึงกัน จนถึงจุดหนึ่งมันจะกลายเป็นนิสัย เป็นแบบแผน จะออกจากวังวนนั้นได้ทางหนึ่งก็เมื่อสิ่งที่ไม่คาดหมายเกิดขึ้น อีกทางที่เปลี่ยนได้แน่นอนคือทัศนะ สมาธิภาวนา และนำไปใช้

ทัศนะเป็นการปรับเปลี่ยนที่การรู้คิด สมาธิภาวนาทำงานกับความรู้สึก ส่วนการนำไปใช้เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ครั้งหนึ่งเราได้คุยกับนักจิตวิทยา เขาบอกว่าถ้าอยากเปลี่ยนแปลงเรื่องใดต้องเปลี่ยนด้วย a b c ทีแรกก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไร เขาก็อธิบายว่า a คือ affection ความรู้สึก b คือ behavior แบบแผนพฤติกรรมหรือนิสัย c คือ cognition การรู้คิด ความเชื่อ การให้เหตุผล หรือปัญญา ซึ่งวิธีบำบัดในโลกตะวันตกแรกสุดจะเริ่มจากการสร้างนิสัยใหม่ ทำซ้ำๆ บางทีปัญหาก็หมดไป ต่อมานักจิตวิทยาก็เข้าใจว่า โอ้ คนเราไม่ใช่สุนัขนะ การให้เหตุผลเป็นเรื่องสำคัญด้วย จึงมีการบำบัดในระดับ cognitive therapy ที่ทำงานกับความเชื่อและการให้เหตุผล แต่จนถึงทุกวันนี้ เขายังไม่สามารถเข้าใจและบำบัดในเรื่องอารมณ์ความรู้สึกได้เท่าไรนัก แต่ในทางพุทธเรามี นั่นคือทัศนะ สมาธิภาวนา และนำไปใช้ ผ่านสามสิ่งนี้เราเปลี่ยนแปลงได้ ก้าวหน้าได้

ที่สำคัญคือต้องเท่าทันก่อนใช่ไหมคะ

ถูกต้อง ถ้าไม่เท่าทัน ไม่ระลึกรู้ว่า เอ…เพื่อนกลุ่มนี้ชักจะคุยกันแต่เรื่องเดิมๆ ออกไปทางซุบซิบนินทาจนกลายเป็นนิสัย คุณก็คงไม่เริ่มต้นมองเห็น เหมือนกับเวลาโกรธ ถ้ารู้ตัวปุ๊บ ความโกรธมันจะเบาบางลง แต่ถ้าไม่รู้ตัวก็จะยิ่งเป็นฟืนเป็นไฟ ควบคุมตัวเองไม่ได้

การปฏิบัติธรรมน่าจะเปรียบเสมือนภูมิคุ้มกันใจ แต่ไม่ใช่ภูมิคุ้มกันโรค เพราะบางทีเมื่อใครสักคนป่วย เราก็อาจจะได้ยินการตั้งคำถามทำนองว่า เขาปฏิบัติธรรมมาขนาดนี้ ทำไมยังป่วยยังเป็นมะเร็งอีกนะ เราควรมีท่าทีอย่างไรต่อทัศนะทำนองนี้

ในทางพุทธศาสนา สิ่งที่เกิดกับเราในชีวิตนี้มีสองปัจจัย ปัจจัยหนึ่งคือกรรมในชาติที่แล้ว อีกปัจจัยคืออุปสรรคเฉพาะหน้า ถ้าสิ่งนั้นเกิดจากอุปสรรคเฉพาะหน้า สามารถปลดเปลื้องได้ด้วยการภาวนา ด้วยการกระทำของตัวเรา แต่ถ้ามาจากผลกรรมในชาติที่แล้ว แม้บุคคลผู้นั้นจะก่อกรรมดี ก็อาจจะเปลี่ยนไม่ได้ง่ายๆ เช่นเดียวกับปัญหาโลกร้อน ต่อให้ปีนี้ทุกคนลดการก่อคาร์บอน แต่ภาวะโลกร้อนก็จะยังเลวร้ายลง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้และอนาคตใกล้ๆ เป็นผลจากสิ่งที่สั่งสมมาตลอด 60 ปี ฉะนั้น สิ่งที่เราทำในปีนี้ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ทันตาเห็น ผลพวงทำนองนี้เป็นเรื่องระยะยาว มันอาจไม่เห็นผลทันตา แต่พึงระลึกว่าสิ่งที่เราทำวันนี้คือการยับยั้งเรื่องเลวร้ายไม่ให้ต่อสายไปสู่อนาคต ฉะนั้น อย่ายอมแพ้

ตอนที่ท่านรอนแรมปลีกวิเวก คงได้เห็นชีวิตทางโลกใกล้ชิดขึ้น ท่านเห็นด้วยไหมว่าในชีวิตฆราวาส การฝึกปฏิบัติทำได้ยากกว่านักบวชหรือคนอยู่วัด

ในแง่หนึ่งอาจจะจริงที่ว่าชีวิตฆราวาสมีเรื่องเข้ามาปะทะอยู่ตลอดเวลา อาจจะบ่อยกว่ามากกว่าคนอยู่วัด แต่ความทุกข์มันไร้พรมแดน (Suffering is international.) มันตามมนุษย์ไปได้ทุกหนทุกแห่ง อย่าคิดว่ามันข้ามธรณีสงฆ์ไม่ได้ อย่างเราเอง บ่อยครั้งเคยรู้สึกขี้เกียจ แต่เมื่อรู้ตัวก็ต้องค่อยๆ ขัดเกลาไป

ในอีกแง่หนึ่ง ชีวิตฆราวาสมีบทตอนที่สามารถใช้เป็นโอกาสในการฝึกปฏิบัติได้มากกว่า เพราะชีวิตมีขึ้นลง มีเรื่องงาน ความอยู่รอด ชีวิตรัก มาให้ฝึกปฏิบัติ มองในแง่นี้ก็ถือว่าได้เปรียบคนอยู่วัดนะ

ฉะนั้น ยอมรับ ปล่อยวาง แต่อย่ายอมแพ้ และฝึกปฏิบัติ!

Fact Box

  • หนังสือ The Joy of Living - Unlocking the Secret & Science of Happiness ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศกว่า 20 ภาษา สำหรับภาษาไทยจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ในชื่อ ชีวิตที่เบิกบาน ไขรหัสสู่ศาสตร์แห่งความสุข แปลโดย พินทุสร ติวุตานนท์ บรรณาธิการโดย พจนา จันทรสันติ หนังสือรวมธรรมบรรยายของมิงยูร์ ริมโปเชเล่มอื่นๆ ได้แก่ Joyful Wisdom: Embracing Change and Finding Freedom และ Turning Confusion into Clarity: A Guide to the Foundation Practices of Tibetan Buddhism รวมถึง Ziji and the Very Scary Man และ Ziji The Puppy Who Learned to Meditate ที่เป็นหนังสือสำหรับเด็ก
  • ติดตามกิจกรรมธรรมบรรยายของท่านยองเจ มิงยูร์ ริมโปเช ได้ที่ www.tergarasia.org
Tags: , , , , ,