136 กิโลเมตร คือระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปยังโรงละครทิฟฟานี่โชว์ พัทยา

ส่วน 365 วัน คือตัวเลขของวันเปิดการแสดงแบบไม่หยุดพักของโรงละคร ทุกพื้นที่เต็มไปด้วยแสงสีตระการตาและเสียงเชียร์ แต่ยามนี้เหลือเพียงความเงียบงัน ไฟทั้งโรงละครถูกปิดมืด น้ำพุหน้าโรงละครหยุดเคลื่อนไหว นักแสดงต่างแยกย้ายลงจากเวทีเพื่อเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ให้ได้

The Momentum ใช้เวลาเดินทางราวหนึ่งชั่วโมงเศษ ไปยังโรงละครพัทยา เพื่อพบกับ ‘จ๋า’ – อลิสา พันธุศักดิ์ ทายาทรุ่นที่สองของธุรกิจทิฟฟานี่โชว์ ผู้จัดงานประกวดมิสทิฟฟานี่ยูนิเวิร์ส (Miss Tiffany’s Universe) และมิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน (Miss International Queen) ที่ตอนนี้เธอยังคงดูแลธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในพัทยา เมื่อย้อนนึกดูแล้ว งานของอลิสาล้วนเกี่ยวข้องกับผู้คนและการท่องเที่ยว เธอจึงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไม่น้อยกว่าใคร

 

รัฐไม่ช่วยอะไรเลย

อลิสาเริ่มต้นบทสนทนาว่าประเทศไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมานานมาก ทิฟฟานี่โชว์ถือกำเนิดขึ้นพร้อมพร้อมกับการเปิดเมืองพัทยา ตั้งแต่สมัยที่ยังมีโรงแรมแค่สองแห่ง ธุรกิจของเธอคือบริการทางเลือกด้านสถานบันเทิง ในฐานะผู้ประกอบการมายาวนานกว่า 40 ปี ต้องยอมรับว่าแทบไม่เชื่อเหมือนกันว่าจะเกิดอะไรแบบนี้ขึ้นได้

“ก่อนการระบาดของไวรัส เรามีพนักงานเกือบ 600 คน ตอนนี้เหลือประมาณ 400 คน ตั้งแต่ระลอกแรกเขาก็ลาออกกันไป ถามว่าอยากจะให้ลูกน้องไปไหม ไม่อยากให้ไปเลย เพราะในธุรกิจท่องเที่ยวช่วงปกติมีคนไม่พออยู่แล้ว กว่าจะเทรนมาได้แต่ละคนค่อนข้างยาก เนื่องจากธุรกิจของเราเกี่ยวข้องกับการแสดง อาหาร และบริการ ที่จะต้องขายให้กับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ จึงได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะพนักงานด้านบริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว”

แรกเริ่มเดิมที ทิฟฟานี่โชว์เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของ สุธรรม พันธุศักดิ์ ผู้เป็นพ่อ ก่อนอลิสาจะมารับช่วงต่อ แม้จะผ่านอุปสรรคใหญ่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว กับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคซาร์ส แต่พอมาเจอโควิด-19 เธอรับรู้ได้ทันทีว่าครั้งนี้หนักหนาสาหัสกว่าคราวก่อนมาก

“ตอนโรคซาร์สระบาด ช่วงนั้นเกิดขึ้นแค่บางประเทศไม่ได้กระจายไปทั่วโลกเหมือนครั้งนี้ ฮ่องกงเจอหนักมาก และเขาก็เป็นตลาดที่ใหญ่มากของประเทศไทย ตอนนั้นหยุดชะงักไป 3 เดือน ถึงค่อยควบคุมโรคได้ คนก็ยังเดินทางระหว่างประเทศได้ ก็คิดว่าสุดๆ แล้ว พอผ่านมาได้ก็คิดว่าเราเจอมาแล้ว มีประสบการณ์แล้ว

“แต่พอมาวันนี้ รู้สึกว่าทำไมมันถึงยาวนานขนาดนี้ ธุรกิจหยุดไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 กับการระบาดระลอกแรก ทั้งที่รัฐบาลยังไม่ประกาศให้ปิดโรงละคร แต่เราปิดก่อนเลยเพราะกลัวนักแสดงที่ต้องลงจากเวทีไปพบผู้ชม หลายปีที่ผ่านมาที่นี่เปิดตลอด 365 วัน ตอนนั้นโรงละครถูกใช้ทำหลายอย่างเช่น จัดงานประกวด ถ่ายละคร แล้วก็ถูกยกเลิกเยอะไปพอสมควรเนื่องจากคนบินมาเที่ยวไม่ได้ แถมมาแล้วจะต้องกักตัว 14 วันอีก เราพลาดโอกาสอย่างเพราะโควิด-19 พลาดเพราะความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาด เอาจริงๆ ก็อยากให้ทุกคนรู้สึกกลัวไวรัสนี้ เพราะถ้าคนกลัว ก็จะสามารถคุมควบโรคได้”

แม้ทิฟฟานี่โชว์เปิดทุกวันไม่เคยหยุดพัก แต่โควิด-19 สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับทิฟฟานี่โชว์ ด้วยการทำให้การแสดงที่ไม่เคยหยุด ต้องปิดยาวอย่างเลี่ยงไม่ได้

“วันนี้กลับรู้สึกว่า การติดเชื้อระลอกสองน่าจะเป็นเพราะรัฐควบคุมไม่ถูกต้อง ตรงนี้สร้างปัญหากับเรามากๆ สมมติว่าตอนนี้รัฐควบคุมโรคได้แล้ว ไม่มีการติดเชื้อเพิ่ม วัคซีนได้ผล เราอาจมีอีเวนต์ในประเทศให้พออยู่ได้ไปก่อน เพราะกว่าคนจะเริ่มเดินทางข้ามประเทศกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง ก็ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่มากกว่า 6 เดือน ที่คนจะกล้าเดินทาง แต่ตอนนี้รัฐบาลกลับทำอะไรไม่ได้เลย”

ช่วงที่ทิฟฟานี่โชว์ไม่สามารถจัดแสดงได้ รัฐบาลไทยช่วยอะไรบ้างไหม

“ไม่ช่วยอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย มีช่วยแค่ช่วงเดียวคือโควิด-19 ระลอกแรกที่ทุกคนต้องหยุดอยู่บ้าน รับเงินประกันสังคม 62% มีเท่านั้นจริงๆ ตอนนี้เราเป็นกรรมการสมาคมโรงแรมไทย พยายามผลักดันโค-เพย์ หรือการจ่ายค่าจ้าง 50% ระหว่างรัฐและเจ้าของธุรกิจ

“สมมติปกติพนักงานเงินเดือน 12,000 บาท แต่ตอนนี้ได้แค่ 6,000 บาท เขาไม่มีทางอยู่ได้ในสภาพความเป็นจริง ส่วนเราที่เป็นเจ้าของธุรกิจก็เจอปัญหาเงินเฟ้อจากค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายแต่ไม่มีรายได้เข้า ถ้าบอกว่าจีดีพีกว่า 20% ของไทยมาจากการท่องเที่ยว รัฐก็ควรจะใช้นโยบายโค-เพย์ พยุงการท่องเที่ยวไม่ให้พังไปกว่านี้ เมื่อไหร่ที่สถานการณ์ดีขึ้น ได้เงยหน้าแข่งกับประเทศเพื่อนบ้าน แข่งกับเวียดนาม แข่งกับที่อื่นที่ราคาถูกกว่าแต่คุณภาพธรรมชาติดีกว่าเรา ส่วนจุดแข่งที่ไทยจะแข่งได้คือเรื่องของคน เพราะคนไทยในธุรกิจท่องเที่ยวทำงานด้านนี้มานาน มีคุณภาพ รัฐจะต้องช่วยไม่ให้เราสูญเสียคนเหล่านี้ออกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว”

‘พนักงานบริการ’ ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย อลิสาแสดงความกังวลว่า หากไม่มีใครดูแลหรือเยียวยาคนเหล่านี้ แล้วธุรกิจการท่องเที่ยวในอนาคตจะเดินต่อไปอย่างมั่นคงได้อย่างไร

“เราเทรนคนนานกว่า 8 ปี ถึงจะเอาเขามายืนเป็นตัวนำแสดงได้ อาชีพนี้ไม่น่ามาเสียหายเพราะโควิด-19 ไวรัสอาจทำให้พวกเราหยุดในเรื่องรายได้ไป 2-3 ปี แต่ถ้าเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจ ไวรัสหยุดเราไม่ได้ ตอนนี้พยายามทำให้ลูกน้องไม่เหงา ให้มาเจอกัน 7 วันบ้าง 13 วันบ้าง มากินข้าวร่วมกัน มาคุยกัน

“ในมุมมองที่มีกับลูกจ้าง ตอนนี้เขาทุกข์เพราะไม่มีรายได้ เราต้องมานั่งคิดว่าทำอย่างไรให้เขามีงานทำ ถ้าไม่ได้ทำงานเขาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าไหม เพราะพวกเราสร้างคุณค่าให้ตัวเองกันทุกวันมาตลอด ทั้งเสียงปรบมือ เสียงเชียร์จากคนดู พอวันหนึ่งไม่ได้ขึ้นเวทีอีกและเกิดความรู้สึกสับสนในใจ เชื่อว่าเด็กๆ ของเราทุกคนเป็นแบบนั้น แล้วช่วงเวลาที่จำเป็นต้องหยุด เราต้องนั่งคิดต่อว่าอนาคตจะเอาอย่างไรดี เพราะไม่อยากให้พวกเขาเสียกำลังใจ”

 

เริ่มต้นจาก ‘ความแตกต่าง’ กว่าจะมาเป็นทิฟฟานี่โชว์ในวันนี้

อลิสาย้อนเล่าถึงความทรงจำเมื่อครั้งทำทิฟฟานี่โชว์ในช่วงบุกเบิกว่า คนกลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มย่อยลงไปอีกที่สังคมเรียกว่า ‘กะเทย’ มักจะมีแต่ภาพจำเชิงลบมากกว่าภาพดี หลายสิบปีก่อนสื่อมักเน้นเรื่องเพศของพวกเขามากกว่าชายหรือหญิง อย่างเช่นข่าวอาชญากรรมสมัยก่อนจะพาดหัวว่า ‘กะเทยฆ่า’ หรือ ‘กะเทยทำ’ เพื่อตอกย้ำว่าผู้ก่อเหตุเป็นเพศที่ถูกสังคมมองว่าแปลกแยกแตกต่าง

ในห้วงเวลานั้น การเป็นเพศที่สามเลือกอะไรไม่ได้เลย ซ้ำยังถูกสร้างคำจำกัดความ สร้างความแตกแยกในสังคมโดยไม่จำเป็น เมื่อต้องเริ่มสานต่อธุรกิจของพ่อ อลิสาจึงอยากนำเสนอกลุ่มที่สังคมเรียกว่า ‘กะเทย’ ให้ทุกคนได้รับรู้ว่า พวกเขามีมิติที่มากกว่าความแตกต่างทางเพศเพียงอย่างเดียว เหนือสิ่งอื่นใด เพื่อให้สังคมรับรู้ว่า ‘ทิฟฟานี่โชว์’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘กะเทยโชว์’

“ทิฟฟานี่โชว์เกิดขึ้นจากการที่เราอยากเล่าถึงศักดิ์ศรี เล่าถึงความเท่าเทียม เริ่มต้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ มองว่าจะทำอย่างไรให้คนในประเทศเข้าใจกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศแบบที่เราเข้าใจ สมัย 20 กว่าปีที่แล้ว ลำบากมาก คนไม่อยากเอาสินค้ามาโฆษณากับกลุ่มกะเทย เราก็ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ขาดทุนไม่เป็นไร แต่อยากสื่อสารกับคนอื่นๆ ให้มากขึ้น”

“จากที่เคยมีสปอนเซอร์เจ้าเดียว ทุกวันนี้แบรนด์สินค้าเริ่มเข้ามามากขึ้น มีโฆษณาจากประกันชีวิต มีแบรนด์สายการบิน แต่สิ่งที่เราให้ความสำคัญเสมอคือการสร้างความเข้าใจ สร้างความเข้าใจให้คนอื่นไม่รู้สึกว่าพวกเขาแตกต่าง ให้มองเห็นคุณค่าของคนมากกว่าการสนใจถามว่าเป็นเพศอะไร

“เราเป็นรุ่นที่สองในการทำธุรกิจทิฟฟานี่โชว์ สิ่งที่พยายามมากที่สุดคือจะต้องสร้างศักดิ์ศรีให้เกิดขึ้นให้ได้ ศักดิ์ศรีที่ว่าคือการแสดงจะต้องออกมาดีที่สุด จนทุกคนไม่สามารถพูดว่า ไม่เห็นมีอะไรเลย’ กับงานของพวกเรา เมื่อก่อนนักแสดงในทิฟฟานี่โชว์จะถูกเรียกว่า ก็แค่นางโชว์’ บางคนพูดว่า ก็แค่กะเทยโชว์’ เราทำบางสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับโลกนี้ ทำให้โลกได้เห็นมากกว่าเดิม สร้างศักดิ์ศรีให้กับอาชีพและชีวิตตัวเอง แล้วมันจะออกมาทางผลงาน แล้วสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลต่อตัวเองในอนาคต”

การทำงานกับกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศเมื่อหลายสิบปีก่อนไม่ง่ายเหมือนวันนี้ แม้กระทั่งอลิสาที่เป็นผู้หญิง ก็ยังไม่พ้นกับคำครหาว่า ทำงานเต้นกินรำกิน หากินกับพวกแปลกแยก ภาพลักษณ์ดูไม่ดีเพราะคลุกคลีอยู่กับกะเทย กว่าสังคมไทยจะค่อยๆ ก้าวเดินมาเป็นเช่นวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ตอนมาทำงานนี้ใหม่ๆ ก็เคยถูกเหยียดหยามว่าทำงานกับกะเทย คำพูดเหล่านี้ทำให้มองเห็นว่าจิตสำนึกหรือความเข้าใจร่วมกันของบางคนในประเทศที่ยังแก้ไม่ได้ เขามองว่าทำงานกับกะเทยจะต้องเป็นงานไม่ดี ทำงานกลางคืน แต่โชว์ของเราเริ่มตั้งแต่หกโมงถึงสี่ทุ่ม เราทำงานครีเอทีฟ ทำงานในโรงละคร ทำโชว์แบบมืออาชีพ เราจึงพยายามสร้างความเข้าใจมานานพอสมควร ตอนนี้คิดว่าทิฟฟานี่โชว์ประสบความสำเร็จแล้ว เพราะเราเห็นคุณค่าของตัวเองที่จะทำให้คนอื่นว่าอะไรเราไม่ได้”

 

‘การแสดงที่มีคุณภาพ’ คือหัวใจสำคัญของทิฟฟานี่โชว์

ทิฟฟานี่โชว์คือโชว์อะไร? 

ทิฟฟานี่โชว์ตามความเข้าใจร่วมของสังคมส่วนใหญ่ หมายถึงการแสดงคณะคาบาเรต์ การแสดงในรูปแบบอลังการทั้งแสง สี เสียง นำโดยนักแสดงสาวประเภทสองมาร้อง เต้น เล่นละคร สร้างความบันเทิงแก่ผู้ชม สวยงามและสร้างสรรค์ ทิฟฟานี่โชว์ของไทยก็ได้สะสมเพิ่มพูนความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน แต่การจะก้าวมาเป็นดังวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแปลกหรือเริ่มก่อนใคร ทว่าอยู่ที่ ‘หัวใจสำคัญของทิฟฟานี่โชว์’ ที่อลิสาเน้นย้ำมาตลอดมากกว่า

“เราเป็นเจ้าแรกของประเทศ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแสดง และเราเชื่อว่าหัวใจสำคัญคือคุณภาพของการแสดง มันเริ่มต้นจากการช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง ช่วยกันทำ ตั้งเป้าว่าจะต้องมีผลงานที่อยู่ในระดับโลก พนักงานทุกคนทำงานด้วยใจรัก ทิฟฟานี่โชว์เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่กล้าพูดว่าถ้าไม่รักทำไม่ได้ คุณจะต้องเป็นคนที่รักการแสดง รักการอยู่บนเวที และเข้าใจความคิดสร้างสรรค์ที่จะต้องออกมาอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ไม่หันไปดูข้างหลังเลย เดินไปข้างหน้าอย่างเดียว”

สิ่งที่ทำให้อลิสามั่นใจว่าทิฟฟานี่โชว์แตกต่างจากโชว์ประเภทเดียวกันของเจ้าอื่น นั่นคือการไม่หมกมุ่นกับคู่แข่ง แล้วไปต่อโดยไม่ต้องสนใจใคร

“เราคิดใหม่ตลอด ไม่เสียเวลาหันกลับไปดูข้างหลัง บางทีคนอาจว่อกแว่กเพราะแข่งกับคนอื่น มันไม่จำเป็นเลย แค่หาเป้าหมายที่ต้องการให้เจอแล้วเดินไปหาเป้าหมายนั้น ต้องสู้กับความต้องการของคนดู สู้กับความสุขของคนดู หากตั้งราคาบัตรไว้ระดับหนึ่ง ต้องมาดูว่าทำเกินราคาแล้วหรือยัง แต่ถ้าราคาสูงแล้วคนดูบอกว่า ‘การแสดงแบบนี้มันไม่น่าจะแพงนะ’ อันนี้จบเลย เราก็ต้องมาคิดใหม่ สู้กันใหม่ ซึ่งเราจะไม่ยอมให้เป็นแบบนั้น”

 

 ‘กะเทย’ ถ้าไม่สวยก็ต้องตลก ถ้าไม่สวยก็ต้องโดนล้อ

ทิฟฟานี่โชว์ที่เห็นผ่านตาส่วนใหญ่มักเป็นคนสวย หุ่นดี มีรอยยิ้มที่สามารถทำให้ผู้ชมยิ้มตามได้ นอกจากนี้การจัดประกวดนางงามทรานส์เจนเดอร์ (กลุ่มคนข้ามเพศ) ทั้งมิสทิฟฟานี่ยูนิเวิร์สและมิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน ทุกเวทีจะเต็มไปด้วยคนรูปร่างหน้าตาดีตามสมัยนิยม

ประเด็นนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกพูดถึงบ่อยๆ จนทำให้บางคนตั้งคำถามว่า ทิฟฟานี่โชว์กับการจัดประกวดนางงามก็คงไม่ต่างอะไรกับการสนับสนุน ‘Beauty Privilege’ (สิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี) ให้พวกเธอมีที่ยืนในสังคมมากกว่าคนอื่นหรือเปล่า?

“เราย้ำเสมอว่าทิฟฟานี่โชว์คือการนำเสนอบางสิ่งผ่านการแสดงที่มีคุณภาพ การทำงานอย่างมืออาชีพจะทำให้ทุกคนยอมรับในตัวของพวกเขาเอง มิสทิฟฟานี่อาจถูกมองว่าเป็นสังคมของคนสวย แต่ต้องถามต่อว่านอกจากสวยแล้วมีดีอะไรบ้าง สมัยก่อนคนจะชอบบอกว่า ‘จ๋าสร้างค่านิยมคนสวย’ แต่มันมีมุมมองมากกว่านั้น กะเทยบางคนบอกกับเราว่าเขาเกิดมาไม่สวยแต่เขาเป็นคนเก่ง เขาก็ไม่สามารถมายืนบนเวทีนี้ได้ เราไม่ได้ห้าม เข้ามาได้หมด แต่เราจำเป็นต้องเริ่มจากความสวยเพราะมันคือสิ่งที่ทุกคนมองเป็นอย่างแรก”

อลิสาย้ำว่าอยากให้ทุกคนเข้าใจการทำงานของทิฟฟานี่โชว์และการประกวดนางงามอย่างแท้จริง เพราะบางครั้งหลายคนก็ไม่สนใจว่าศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศคืออะไร ซึ่งในช่วงเริ่มต้นคนที่ไม่แม้แต่จะมองก็ไม่เปิดช่องว่างทางสังคมให้กลุ่มที่แตกต่างได้แทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งได้เลย อลิสาต้องการให้สังคมมองกลุ่มเพศที่สามจากความสามารถ เธอรู้วัตถุประสงค์ของสิ่งที่ทำอยู่

“วันนี้ได้มานั่งสัมภาษณ์ ก็จะพูดต่อไปว่าเรายังคงรู้จุดประสงค์ตัวเอง เราไม่ได้อยากจำกัดมุมมองใคร แต่การจะเล่าเรื่องของคนคนหนึ่งที่แตกต่างในเวลาหลายสิบปีก่อน เล่าว่าเขาเก่งเรื่องอะไร ทำอาชีพอะไร มีความสามารถอะไร เรื่องทั้งหมดจะตามมาหลังคนเห็นความสวยที่ทำให้พวกเขาสนใจ ประเด็นต่างๆ จะถูกสอดแทรกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ว่ากลุ่มคนที่สังคมมองว่าไม่สวยจะไม่ได้อะไรเลย เราทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้คนทั้งกลุ่มถูกมองว่าแปลกแยกจากสังคม เวทีประกวดแค่ใช้ความสวยมาเป็นกลยุทธ์ ซึ่งมันมาบรรจบกับทิฟฟานี่โชว์ ต้องถามตรงๆ ว่า ถ้าทิฟฟานี่โชว์ไม่สวยจะขายของได้เหรอ แล้วสิ่งที่เรามีไม่ใช่แค่คนสวย แต่มีทั้งคนเก่ง คนมีความสามารถหลากหลาย

“เราอยู่กับความหลากหลาย ทำงานด้านนี้มานานแต่ไม่เคยเป็นกรรมการเลยเพราะทำไม่ได้ เราเลือกคนที่สวยที่สุดไม่ได้ มองไม่เป็นว่าแบบไหนสวยที่สุด แต่จะมองพวกเขาแล้วบอกได้ว่าคนนี้ต้องแสดงบทนี้ คนนั้นต้องได้อีกบทหนึ่ง ไม่ได้มองว่าคนนี้สวยกว่าอีกคนก็เลยให้คนสวยกว่ามาแสดงบทนี้”

 

เราไม่ได้ร้องขอการยอมรับจากสังคม เพราะเราก็คนเหมือนกัน

จากประสบการณ์คลุกคลีอยู่กับความแตกต่างหลากหลายมาหลายสิบปี  อลิสาบอกว่าสังคมไทยเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อผู้หลากหลายทางเพศในทิศทางที่ดีขึ้น

“คิดว่าเปลี่ยน เรื่องความหลากหลายทางเพศกลายเป็นสิ่งที่ธรรมดามากขึ้น เป็นเรื่องปกติมากขึ้น แต่อาจจะไม่ใช่แค่ในสังคมไทย แต่เป็นสังคมโลกที่เปลี่ยนด้วย แม้จะยังมีปัญหามากมายที่พบเจอได้บ่อยๆ ทั้งเรื่องการถูกมองเชิงลบ โดนกลั่นแกล้งให้อับอาย คำว่า ‘อีตุ๊ด’ ‘อีแต๋ว’ ยังใช้ลดทอนคุณค่าของคนอื่น การถูกเลือกปฏิบัติในสังคม การถูกรังแกในสถานศึกษา การสมัครงาน ความไม่สะดวกในการเดินทางต่างประเทศเพราะหน้าตา คำนำหน้าไม่ตรงกับพาสปอร์ต หรืออำนาจรัฐกับเพศที่สามในเรื่องของการเกณฑ์ทหาร จับใบดำใบแดง ถูกแยกออกจากการเกณฑ์ทหารด้วยการตราหน้าว่าเป็น ‘โรคจิตเภท’ ทุกคนก็ไม่ได้อยากถูกตีตราว่าเป็นโรคหรอก”

ปัจจุบันชาว LGBTQ+ โดยเฉพาะกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ ยังต้องเจอกับความไม่เท่าเทียมหลายประการ พวกเขาไม่สามารถเลือกอะไรได้เลย เพศที่สามจะถูกกำหนดว่า ‘คุณเกิดมาเป็นกะเทย’ แล้วจบประเด็นนี้ไป โดยไม่รับฟังปัญหาหรือความต้องการของพวกเขา

“บางเรื่องมันก็ไม่ใช่แค่ปัญหาที่จะเจอในกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ ไม่ว่าเพศอะไรก็มีโอกาสเจอเรื่องแบบนี้ได้ สังคมไทยต้องทำความเข้าใจกันอีกเยอะ และการสร้างความเข้าใจจะต้องสอดแทรกไปกับการกำหนดนโยบายของรัฐ การสร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกกลุ่ม ต้องดูกันยันรายละเอียดของกฎหมาย รัฐธรรมนูญบอกว่าส่งเสริมความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร วัยไหน แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เสมอภาค กฎหมายลูกไม่ได้ทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราก็ทำอะไรไม่ได้”

อลิสาย้ำว่าสิ่งที่กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศยังไม่ได้รับ และกำลังเรียกร้องเพื่อให้ได้มา จะต้องครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

“ไม่ใช่แค่เรา LGBTQ+ ถ้ามองว่าสังคมมีความไม่เท่าเทียมจริงหรือไม่ ให้ดูเรื่องของคนพิการด้วย กฎหมายระบุว่าจะต้องสร้างสาธารณูปโภคเพื่อคนพิการ แต่ก็สร้างไม่ได้ กลายเป็นว่าคนพิการต้องถูกจำกัดด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย มันคือเรื่องเดิมๆ ถ้าอยู่ในประเทศที่ใส่ใจกับคนพิการ ใส่ใจคนแก่ เด็ก ผู้แตกต่างทางเพศ เหมือนกันหมดเมื่อไหร่ เขาก็จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม เพราะรัฐไม่ได้เลือกว่าทำให้กลุ่มไหน

“ต้องย้อนกลับมาถามอีกครั้งว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มเดียวหรือเปล่า เกิดความรู้สึกหวงอำนาจไหม หรือกลัวเสียเวลาที่จะมาอำนวยความสะดวกให้กับคนกลุ่มอื่นๆ เราจึงพยายามสร้างทุกอย่างให้เป็นเรื่องปกติในสังคม ทั้งทิฟฟานี่โชว์ มิสทิฟฟานี่ ให้เป็นภาพที่ชินตาและไม่แปลกแยก”

 

หยุดพักเพื่อรอวันเฉิดฉายอีกครั้ง

ตอนนี้นักแสดงทิฟฟานี่บางส่วนจำต้องแยกย้าย บ้างไปขายของออนไลน์ ขายยำ ทำร้านอาหาร โดยใช้ผู้ติดตามที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ผนวกกับนำวิชาบนโรงละคร การดึงดูดผู้คน และเรื่องของคอสตูมไปใช้เรียกลูกค้า พวกเขาใช้ความเป็นดาวเด่นบนเวทีมาเป็นจุดดึงดูดให้คนที่ติดตามพากันไปอุดหนุน

“หลายครั้งนักแสดงที่ออกไปทำธุรกิจของตัวเองจะยินดีมาก เมื่อมีโชว์นอกสถานที่แล้วเรียกเขามาช่วย รู้สึกว่าทุกครั้งเขาจะมาด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่เรื่องของเงินเป็นตัวตั้ง นักแสดงจะให้กำลังใจตลอดเพราะรู้ว่าเราก็อยากเจอเขา อยากดูโชว์ของเขา นักแสดงสู้มากและไม่เคยทำให้เราผิดหวัง เวลาโรงละครปิด น้องๆ ก็มาห้อยโหนอยู่บนห่วง ออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อเพราะกลัวว่าหยุดพักนานตัวจะแข็ง โรงละครเปิดเมื่อไหร่จะได้แข็งแรงเหมือนเดิม ได้ยินแค่นี้ก็ชื่นใจแล้ว”

อลิสาเล่าว่านักแสดงไปขายยำกันเยอะมาก ร้านยำคือต้องกะเทยขาย ถ้าไม่ใช่กะเทยขายก็ไม่ใช่แล้ว ก่อนหัวเราะเป็นการทิ้งท้ายว่าการทำอาหารก็ต้องลงรายละเอียด และเป็นศิลปะไม่ต่างกับการแสดง

เมื่อถามอลิสาว่า หากนักแสดงหลายคนไปรอดกับการค้าขาย บางคนทำรายได้วันละเป็นหมื่นบาท อาจสร้างความเป็นไปได้สูงว่าพวกเขาจะไม่กลับมาเป็นนักแสดงทิฟฟานี่โชว์อีกแล้ว เธอยืนกรานว่าไม่มีทาง ยังต้องมีคนที่อยากกลับมายืนบนเวทีอีกครั้งแน่นอน

เราไม่เชื่อ เพราะทิฟฟานี่โชว์คือความรัก แต่การค้าขายคือรายได้ ถ้าเขาแบ่งเวลาได้ ก็คิดว่าเขายังอยากเป็นนักแสดงบนเวทีมากกว่า อันนี้ถ้าจัดการเวลาได้นะ แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องเอาเงินก่อนถูกแล้ว

“มีน้องคนหนึ่งจบเภสัชกร กลางวันเปิดร้านขายยา กลางคืนก็มาโชว์ที่โรงละคร แต่ในโลกแห่งความจริงไม่ใช่ทุกคนจะหาโอกาสที่สองและประสบความสำเร็จได้ แล้วคนที่ยังไม่ได้เป็นซูเปอร์สตาร์ในโลกโซเชียลฯ เขาก็เดือดร้อนมาก รายได้หลักของเขาคือการแสดงบนเวทีกับเรา”

บทเรียนสำคัญที่อลิสาได้จากการหยุดพักไปชั่วเวลาหนึ่ง เธอพบว่าคนในความดูแลของเธอมีความสามารถมากกว่าที่คิด ทุกคนล้วนมีสิ่งที่ซ่อนอยู่และรอวันได้นำสิ่งเหล่านั้นออกมาใช้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทุกคนต่างช่วยพยุงซึ่งกันและกัน

“ก่อนเจอโควิด-19 เรามัวแต่เสียเวลาประเมิน เสียเวลาวางแผน ต้องรอคนนั้นก่อน รออันนี้ให้เสร็จก่อน มีขั้นตอนแบบแผนชัดเจนและจะลัดขึ้นตอนไม่ได้ เราอยู่แบบคนรวย ใช้คำนี้เลยได้ใช่ไหม ยึดติดกับรากฐานยิ่งใหญ่ แต่พอเจอโควิด-19 ถึงได้เข้าใจว่าขั้นตอนที่ตั้งไว้มันสามารถลัดได้หมดเลย ทำอะไรที่หาเงินง่าย หาเงินไว ก็ให้ทำก่อนเพื่อให้ลูกน้องรอด แล้วก็พบว่าคนในองค์กรทำทุกอย่างได้หมด เราพยายามหาทางอยู่เสมอ เพราะถ้าหัวหน้าคิดไม่ได้ ทั้งหมดก็ไปต่อกันไม่ได้ ขอแค่ว่าอย่าเพิ่งขาดใจกันก่อน”

สถานการณ์ของทิฟฟานี่โชว์จะเป็นอย่างไรต่อ ไม่มีใครตอบได้ชัดเจนแม้แต่ตัวของอลิสาเอง แต่เธอยืนยันว่าทิฟฟานี่โชว์มีความพร้อมในทุกเรื่อง โควิด-19 ทำให้หยุดได้ แต่ในห้าปี สิบปีต่อจากนี้ไป ทิฟฟานี่โชว์จะกลับมาแข็งแรงมากกว่าเดิม

ไม่รู้ว่าระยะทางระหว่างที่เจออุปสรรคในวันนี้ กับความสำเร็จในวันข้างหน้าจะห่างไกลกี่กิโลเมตร แต่เราเชื่อมั่นว่าอีกไม่นานเกินรอ โรงละครจะเปิดอีกครั้ง ผู้คนจะได้ยินเสียงเพลงบนเวที เห็นรอยยิ้มเปี่ยมสุขของนักแสดง เคล้าเสียงปรบมือโห่ร้องของผู้ชม กึกก้องอยู่ในโรงละครทิฟฟานี่โชว์พัทยาอีกครั้งอย่างแน่นอน

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,