ปี 2562 นี้จะเป็นปีที่พิเศษและคึกคัก เพราะไทยจะหวนกลับมาเป็นประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ และพร้อมรับไม้ต่อตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2018

บทบาทของ ‘ประธานอาเซียน’ ไม่ใช่แค่การทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน แต่เราต้องกำหนดแนวคิดการประชุม หรือ ‘ธีม’ ในปีนั้นๆ และเสนอประเด็นที่อยากให้อาเซียนร่วมกันผลักดันให้สำเร็จ

ก่อนที่จะต้องไปทำหน้าที่เจ้าภาพอย่างขันแข็งเต็มเวลา สุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน มานั่งคุยกับเราเพื่อถ่ายทอดให้ทราบว่า การประชุมครั้งนี้สำคัญขนาดไหนกับไทยและอาเซียน และย้ำอีกครั้งว่าอาเซียนเป็นองค์กรที่พิเศษสำหรับพลเมืองทุกคนในภูมิภาค

“คนมักจะลืมว่าอาเซียนเกิดท่ามกลางสมรภูมิของสงครามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา ไม่ว่าจะเป็นสงครามในอินโดจีน หรือความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธกันระหว่างประเทศ” สุริยากล่าว เขาตั้งข้อสังเกตว่า สำหรับคนยุคนี้ที่ไม่เคยผ่านสงคราม อาจมองว่าการรวมตัวของอาเซียนเป็นเรื่องปกติที่อย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น แต่สำหรับบริบทในตอนนั้น ถือว่าอาเซียนทำได้เกินความคาดหมาย

มาทบทวนกันอีกครั้งว่า เมื่อไทยได้เป็นตัวตั้งตัวตีในก่อร่างสร้างอาเซียนขึ้นมาในปี 2510 หรือเมื่อเกือบ 52 ปีที่แล้ว บรรยากาศของภูมิภาคนี้แปรเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน และจังหวะการเดินไปอย่างช้าๆ ของอาเซียนเป็นอุปสรรคของการเติบโตหรือเปล่า และปีหน้านี้ ไทยเราจะผลักดันเรื่องอะไรเป็นพิเศษ

ทำไมจึงต้องตั้งอาเซียนขึ้นมา เปรียบเทียบกันได้ไหมว่าก่อนและหลังมีอาเซียน ภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปอย่างไร

อาเซียนเป็นแนวคิดที่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประเทศในภูมิภาค เพราะคิดว่าคงหนีไม่พ้นแล้วที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อหยุดสงครามที่มีระหว่างกัน อาเซียนตั้งขึ้นมาเพื่อขจัดเรื่องความขัดแย้ง เพื่อจะให้แต่ละประเทศสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของตัวเอง และพัฒนาประชาชนตามแบบอย่างที่แต่ละประเทศต้องการโดยไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน

นี่ก็คือเหตุผลจริงๆ ที่ว่า ทำไมอาเซียนตั้งขึ้นมา อาจจะมีหลายคนให้เหตุผลต่างๆ กัน แต่เหตุผลที่ผมได้จากการสัมภาษณ์ ดร. ถนัด คอมันตร์ (1914-2016) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศไทยที่ริเริ่มแนวคิดเรื่องอาเซียน คือ ท่านตั้งขึ้นมาเพื่อจะเปิดทางเลือกให้กับไทยมากขึ้น เปิดทางเลือกให้ภูมิภาคสามารถร่วมมือกันอย่างยั่งยืน แม้ว่าช่วงนั้นจะอยู่ในบริบทสงคราม ทั้งสงครามร้อนในอินโดจีน หรือสงครามเย็นซึ่งเป็นสงครามด้านอุดมการณ์ แต่ก็มองว่าในที่สุดแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านของเราและไทยก็ต้องร่วมมือกันในที่สุด

แต่จะเห็นได้ว่า ตอนต้นของอาเซียนจะเน้นไปด้านเศรษฐกิจและสังคม ความร่วมมือในลักษณะ win-win ยังไม่เข้มข้นในเรื่องการเมืองและความมั่นคง อย่างถ้าไปดูปฏิญญากรุงเทพฯ ซึ่งก่อตั้งอาเซียน จะเห็นชัดเลยว่าไม่ได้พูดเรื่องความมั่นคงชัดเจน เพราะว่าเราพยายามจะดึงอาเซียนออกมาจากบริบทความขัดแย้ง เพื่อจะปูทางให้ก้าวไปสู่อนาคตอันใหม่ที่ไม่ได้มีเรื่องความขัดแย้งมาเป็นปัจจัยสำคัญ

พอตั้งอาเซียนมาแล้ว เกิดเป็นจุดเปลี่ยนอะไรที่ชัดเจนเลยไหม

เรื่องอาเซียน ทุกอย่างมันค่อยเป็นค่อยไป ปีที่ตั้งอาเซียนขึ้นมา คนทั้งในอาเซียนเองและภายนอก ก็ไม่ได้มีใครที่คิดว่าอาเซียนจะเป็นองค์การระหว่างประเทศหรือองค์การภูมิภาคที่มีความสำคัญ เพราะในอดีต ก็มีตัวอย่างการตั้งกลไกหรือองค์การระหว่างภูมิภาคไว้สองสามโครงการ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ

แต่พออาเซียนตั้งขึ้นมา แล้วมันก็ค่อยเป็นค่อยไป เขามักจะพูดกันว่า อาเซียนเป็น ‘evolving story’ หรือ เรื่องราวที่ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น จากสมาคม 5 ประเทศ พอมาถึงปี 2015 ก็กลายมาเป็นประชาคม 10 ประเทศ วิวัฒนาการนี้มันค่อยๆ พัฒนามา

ถามว่า ถ้ามองบริบทในภาพกว้าง ตลอดระยะเวลา 52 ปีนี้ อาเซียนเปลี่ยนไปเยอะไหม ก็เปลี่ยนนะครับ อาเซียนได้สร้างหลายต่อหลายอย่าง ซึ่ง 50 ปีที่แล้วไม่มีใครคิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ นี่เป็นคุณลักษณะพิเศษของอาเซียนจริงๆ ที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่ (เน้นเสียง) ยึดความปรองดอง ความเข้าใจกันระหว่างประเทศต่างๆ แล้วก็สร้างโมเมนตัมในการพัฒนาซึ่งจะยั่งยืน

อาเซียนเป็น ‘evolving story’ หรือ เรื่องราวที่ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น จากสมาคม 5 ประเทศ พอมาถึงปี 2015 ก็กลายมาเป็นประชาคม 10 ประเทศ วิวัฒนาการนี้มันค่อยๆ พัฒนามา

บทบาทของไทยที่อยู่ในอาเซียนเป็นอย่างไร เราสำคัญแค่ไหน

นอกเหนือจากที่เราเป็นผู้ตั้ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่เบื้องหลังวิวัฒนาการสำคัญต่างๆ โดยใช้คุณลักษณะพิเศษของไทย ก็คือการเป็นประเทศที่ทุกคนสามารถคุยด้วยได้อย่างสบายใจ เพราะฉะนั้น เราก็อยู่ในจุดที่ได้เปรียบ ในแง่ของการเป็นตัวเชื่อมท่าทีของประเทศต่างๆ

ยกตัวอย่างการตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AFTA (ASEAN Free-Trade Area) เมื่อปี 1992 ประเทศไทยก็มีส่วนสำคัญ และถือเป็นผู้ริเริ่มด้วยซ้ำ นี่เป็นจุดสำคัญเพราะทำให้คนมองเห็นว่า อาเซียนจะต้องมีมากกว่าแค่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ต้องมีความร่วมมือทางการค้า การลดภาษี ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ กลายเป็นต้นตำรับของ AEC (ASEAN Economic Community) หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

หรืออย่างตอนที่เรามองว่าประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนในภูมิภาค เราก็ตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นี่ก็เป็นข้อริเริ่มของไทย

ในข่าวปัจจุบันก็คงได้ยินเรื่อง The Belt and Road Initiative ของจีน ซึ่งเป็นความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ แต่ก่อนที่จะมีโครงการของจีน อาเซียนก็มียุทธศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนมาก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยอยู่เบื้องหลังตอนที่เราเป็นประธานเมื่อสิบปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า วิวัฒนาการอาเซียนในจุดสำคัญๆ ตลอด 52 ปี ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อน

แต่แน่นอน เราไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยตัวเราเอง เพราะในอาเซียนมันต้องร่วมมือกัน ก้าวไปด้วยกัน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นี่คือปรัชญาที่ประเทศไทยพยายามผลักดันเพื่อให้เป็นประชาคมที่ยั่งยืน ไม่ใช่ว่าตั้งกันมาแล้วจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ

มาถึงทุกวันนี้ อาเซียนยังมีส่วนใดบ้างที่ต้องพัฒนาให้ดีกว่าเดิม

โอ้! มีอีกหลายอย่างในอาเซียนที่เราอยากจะพัฒนา สิ่งที่อาเซียนทำ ท่านเชื่อไหมว่า อาเซียนเป็นเศรษฐกิจอันดับ 6 ของโลก คือ 10 ประเทศรวมกันเป็นอันดับ 6 แต่มีสถาบันการเงินระหว่างประเทศหลายสถาบันวิเคราะห์แล้วว่า ถ้าอาเซียนสามารถ ‘ปฏิบัติตาม’ ความตกลงทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เราได้ลงนามกันไปแล้ว คือยังไม่ต้องทำอะไรใหม่เลย แค่ปฏิบัติตามสิ่งที่เรารับปากว่าจะทำ เรามีศักยภาพที่จะเป็นเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลกได้ภายใน 10 กว่าปี เพราะฉะนั้น ศักยภาพของอาเซียนมีสูงมาก นี่คือจุดแข็งของอาเซียน

แต่ตอนนี้อาเซียนยังมีจุดอ่อนเยอะ และเราต้องยอมรับ เพราะว่าถ้าเราไม่ยอมรับจุดอ่อนของเรา ก็ไม่มีทางแก้ได้ จุดอ่อนอันหนึ่งคืออาเซียนใช้เวลานานในการตัดสินใจ บางทีกว่าจะได้ฉันทามติก็ต้องคุยกันสักพัก บางทีคนบอกว่ามันไม่ทันต่อโลก

อีกเรื่องหนึ่งคืออาเซียนยังพึ่งพาการค้ากับโลกภายนอกมาก รู้ไหมว่าสัดส่วนของการค้าระหว่างอาเซียนกับโลกภายนอกนี่ คิดเป็น 75% ของการค้าทั้งหมดในอาเซียนนะ การค้าภายในอาเซียนกันเองมีเพียง 25% เอง เปรียบเทียบกับสหภาพยุโรป กลับกันเลย การค้าระหว่างกันมีถึง 75% การค้ากับโลกภายนอก 25% มันบ่งบอกอะไร? มันบ่งบอกว่าเขาขจัดปัญหาระหว่างกันได้ค่อนข้างเยอะ ซึ่งทำให้ค้าขายระหว่างกันได้มาก คือพึ่งตลาดภายในได้

ตลาดภายในของอาเซียนอาจจะยังไม่เข้มแข็ง หรืออาจจะมีการกีดกันทางการค้าด้วยมาตรการต่างๆ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยการค้ากับโลกภายนอก ในช่วงที่ไม่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามีวิกฤตเศรษฐกิจที่โน่นที่นี่ซึ่งทำให้เราไม่สามารถพึ่งพาตลาดภายนอกภูมิภาคได้ เราเริ่มมีปัญหาแล้ว

สิ่งที่อาเซียนต้องพยายามแก้ไขก็คือทำยังไงถึงจะพัฒนา single market หรือตลาดเดียวภายในอาเซียนให้เข้มแข็ง เพื่อให้เป็นทางเลือก นอกจากแค่การค้านอกภูมิภาค เป็นการสร้างดีมานด์ สร้างงาน และสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค เพื่อทำให้ประชาคมอาเซียนซึ่งมีเสาเศรษฐกิจเป็นเสาสำคัญ สามารถบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง คือนำมาซึ่งความเจริญเติบโตและความผาสุกของประชาชน นี่คือสิ่งที่เราต้องการ

สิ่งที่อาเซียนต้องพยายามแก้ไขก็คือทำยังไงถึงจะพัฒนา single market หรือตลาดเดียวภายในอาเซียนให้เข้มแข็ง เพื่อให้เป็นทางเลือก นอกจากแค่การค้านอกภูมิภาค เป็นการสร้างดีมานด์ สร้างงาน และสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค เพื่อทำให้ประชาคมอาเซียนซึ่งมีเสาเศรษฐกิจเป็นเสาสำคัญ สามารถบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น ปัญหามี แต่เรารู้และพยายามแก้ไข แต่แน่นอน อาเซียนไม่ใช่มีแค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว อาเซียนมีสามเสา เสาเศรษฐกิจเป็นเสาที่ทุกคนรู้จักกันดี แต่ยังมีเสาการเมือง-ความมั่นคง และเสาสังคม-วัฒนธรรม ซึ่งความสำคัญเท่าเทียมกันเลย

ทำไมเสาการเมือง-ความมั่นคงถึงสำคัญ เพราะถ้าไม่มีความเชื่อใจระหว่างประเทศ ไม่มีความเชื่อมั่นว่าเราจะไม่ก่อสงครามระหว่างกัน การพัฒนาเศรษฐกิจมันก็จะพัฒนาไปยาก

ส่วนเสาสังคม-วัฒนธรรมเป็นเรื่องของการสร้างอัตลักษณ์และความเข้าใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน มันเป็นเรื่องการเคารพความหลากหลายของ 10 ประเทศในอาเซียน อย่าลืมว่าอาเซียนประกอบด้วยประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก (อินโดนีเซีย) ประเทศโรมันคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก (ฟิลิปปินส์) และประเทศไทยซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ เพราะฉะนั้นมันจึงหลากหลายมาก ภูมิภาคอื่นๆ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ อาจจะมีความหลากหลายก็จริง แต่เป็นความหลากหลายที่ใกล้เคียงกัน อย่างสหภาพยุโรป แม้จะมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของศาสนาคริสต์และระบบอารยธรรมของกรีก-โรมันเป็นหลัก แต่ในอาเซียนนี้ 10 ประเทศเรามีความหลากหลายมาก นี่คือคุณลักษณะพิเศษของอาเซียน เพราะฉะนั้น จะสำเร็จก็ต่อเมื่อเข้าใจกันแล้วก้าวไปด้วยกัน

ความหลากหลายของทั้งวัฒนธรรมและระบอบการปกครอง เป็นอุปสรรคของอาเซียนไหม เวลาที่คิดจะทำอะไรร่วมกัน

ไม่ใช่อุปสรรค เรามองว่า ในแง่หนึ่งมันเป็นความเข้มแข็ง เราใช้ประโยชน์จากความหลากหลายนี้ ยกตัวอย่าง เวลาที่อาเซียนจะต้องผลักดันท่าทีอะไร ในเมื่อเรามีประเทศมุสลิมสามประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ถ้ามีเรื่องใดที่ต้องติดต่อกับโลกมุสลิม ก็ให้สามประเทศเหล่านี้ออกไปเป็นหลัก บางประเทศอาจมีความสนิทสนมกับประเทศยุโรปบางประเทศ ก็ใช้ประเทศนั้นเป็นหลัก มีประเทศในภูมิภาคเราที่เป็นประเทศฟรังโกโฟน (francophone) หรือประเทศที่พูดภาษาฝรั่งเศส เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมื่อมีอะไรเกี่ยวข้องกับประเทศฟรังโกโฟนก็ให้สามประเทศนี้ไปเป็นหลัก เพราะฉะนั้นความหลากหลายของอาเซียนมันช่วยให้เรามีช่องทางการติดต่อในหลายทิศทาง ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็ง

แต่แน่นอน ความหลากหลายนี้ ถ้าเราบริหารจัดการไม่ดี มันอาจจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ง่าย ดังนั้นอาเซียนจึงพยายามสร้างวัฒนธรรมของการหารือและการร่วมมือบนผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน และบนพื้นฐานที่ว่าประเทศทั้งสิบนี้ไม่ใช่ศัตรูกัน

ใครๆ มักจะนึกว่าเป็นเรื่องง่ายนะครับ คนยุคปัจจุบันไม่เคยประสบเหตุการณ์ที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในสภาวะสงคราม ในปี 1967 ประเทศสมาชิกอาเซียน 3-4 ประเทศมีการใช้กำลังทหารระหว่างกัน พอตั้งอาเซียนขึ้นมา ความขัดแย้งทางทหารที่ใหญ่โตก็ไม่เคยเกิดขึ้นเลย แน่นอน มีการกระทบกระทั่งกันบ้างตามชายแดน เหมือนลิ้นกับฟัน แต่ส่วนใหญ่แล้วมีสันติภาพ มีเสถียรภาพ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไปได้ไกล

เรามีประเทศมุสลิมสามประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ถ้ามีเรื่องใดที่ต้องติดต่อกับโลกมุสลิม ก็ให้สามประเทศเหล่านี้ออกไปเป็นหลัก บางประเทศอาจมีความสนิทสนมกับประเทศยุโรปบางประเทศ ก็ใช้ประเทศนั้นเป็นหลัก มีประเทศในภูมิภาคเราที่เป็นประเทศฟรังโกโฟน (francophone) หรือประเทศที่พูดภาษาฝรั่งเศส เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมื่อมีอะไรเกี่ยวข้องกับประเทศฟรังโกโฟนก็ให้สามประเทศนี้ไปเป็นหลัก

แล้วอาเซียนได้ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของแต่ละประเทศอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง

ถ้าพูดเรื่องอาเซียนแล้วคนก็อาจจะไปมองสถิติบางอย่าง แต่เราลองตั้งสมมติฐานว่าโลกเราไม่มีอาเซียน สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร อย่างแรก เมื่อไม่มีการตกลงลดกำแพงภาษีระหว่างกัน ทุกคนเก็บภาษีกันและกัน การค้าขายระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะมีกำแพงภาษีที่สูง สินค้าต่างๆ จะแพงขึ้น

ประการที่สอง ถ้าไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศเพื่อนบ้านด้วยกัน แนวโน้มก็คือทุกคนต้องสะสมกำลังทางทหารและอาวุธ เพราะฉะนั้นงบประมาณทางทหารน่าจะพุ่งขึ้นสูง เพราะเราไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เราเลยต้องเผื่อไว้

ประการที่สาม ปัจจุบันมีเครือข่ายสาธารณสุขที่เฝ้าระวังโรคระบาด อย่างโรคอีโบลา ซิการ์ ฯลฯ เชื่อมระหว่าง 10 ประเทศ บวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ถ้าไม่มีอาเซียน แต่ละประเทศดูแลตัวเอง แชร์ข้อมูลลำบาก มันต้องไว้ใจกัน หรือปัจจุบัน คนเราเดินทางถือพาสปอร์ต ไทยสามารถเดินทางได้ 10 ประเทศนี้โดยไม่ต้องมีวีซ่าเพราะเราเป็นครอบครัวเดียวกัน ถ้าไม่มีอาเซียนอาจจะต้องทำวีซ่าตลอด การเดินทางจะขลุกขลัก รอวีซ่า ตรวจลงตราหนังสือเดินทาง อาจจะเป็นอาทิตย์

สุดท้ายก็คือ แล้วประเทศนอกภูมิภาคจะคิดกับเราอย่างไร โอ้ แทนที่เขาจะมอง 10 ประเทศด้วยความเกรงใจ เขาก็จะแค่มองเป็นรายประเทศ อำนาจต่อรองของไทยหรือของมาเลเซียจะลดน้อยลง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นถ้าเราไม่มีอาเซียน แต่มีอาเซียนแล้ว เรามีความก้าวหน้าเรื่องการพัฒนาอย่างไร ผมขอให้สถิติอันหนึ่งนะครับ หลังจากอาเซียนได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1967 รายได้ต่อหัวของประชาชนในอาเซียนเติบโต 33 เท่าตัว ในระยะเวลาเกือบ 52 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขนี้บ่งบอกว่าอาเซียนคงเป็นประโยชน์นะ และการที่เราเป็นภูมิภาคที่เชื่อมโยงกันแล้ว มีการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน มันก็เป็นรายได้สำคัญสำหรับไทย นี่คือสิ่งที่อาเซียนให้กับเรา คู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยไม่ใช่สหรัฐฯ ไม่ใช่ญี่ปุ่น ไม่ใช่จีนหรือสหภาพยุโรป แต่คืออาเซียน

เพราะฉะนั้น เพียงแค่มองตัวเลขสถิติพื้นฐานแบบนี้ ก็เห็นชัดว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาชนไทย มันขึ้นอยู่กับอาเซียนพอสมควร

ผมยังไม่พูดถึงความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม ที่ทำให้ภูมิภาคเราเคารพความหลากหลายมากยิ่งขึ้น หรือความร่วมมือต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นการค้ายาเสพติดหรือการค้ามนุษย์ เรื่องพวกนี้สำคัญ มันไม่ใช่อะไรที่ตูมตาม อาเซียนอาจจะไปแล้วช้ากว่าภูมิภาคอื่น แต่ไปแล้วมันมีความแน่นอน

หลังจากอาเซียนได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1967 รายได้ต่อหัวของประชาชนในอาเซียนเติบโต 33 เท่าตัว ในระยะเวลาเกือบ 52 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขนี้บ่งบอกว่าอาเซียนคงเป็นประโยชน์นะ และการที่เราเป็นภูมิภาคที่เชื่อมโยงกันแล้ว มีการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน มันก็เป็นรายได้สำคัญสำหรับไทย นี่คือสิ่งที่อาเซียนให้กับเรา คู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยไม่ใช่สหรัฐฯ ไม่ใช่ญี่ปุ่น ไม่ใช่จีนหรือสหภาพยุโรป แต่คืออาเซียน

พอพูดถึงองค์การระหว่างประเทศ คนจะชอบนำอาเซียนไปเทียบกับสหภาพยุโรป

อ้า! สหภาพยุโรป ผมชอบมากเลย แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ไม่ได้บอกว่าอันไหนดีกว่านะ พูดถึงแค่พื้นฐานสองประเด็นนะครับ ไม่เชิงวิชาการแต่เพื่อความเข้าใจ

สหภาพยุโรปหรือ European Union เป็นองค์การเหนือรัฐ ถ้าภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Supranational organization กล่าวคือเมื่อตั้งขึ้นมาแล้วก็มีอำนาจเหนือรัฐสมาชิก

ส่วนอาเซียน ตรงกันข้าม คือเป็นองค์การระหว่างรัฐ รัฐเท่าเทียมกัน องค์การอาเซียนไม่สามารถสั่งประเทศไทย สั่งฟิลิปปินส์ สั่งอินโดนีเซีย ให้ไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ สั่งไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ต่างกันแล้วนะ

อันที่สอง ในสหภาพยุโรป กฎหมายที่ออกโดยคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ที่บรัสเซลส์ มีผลกระทบหรือใช้บังคับทันที และมีผลโดยตรงกับรัฐสมาชิกทุกรัฐสมาชิก (direct effect) และอิงหลักการ Primacy of EU law หรือ กฎหมายอียูเหนือกว่ากฎหมายรัฐของแต่ละประเทศ

หมายถึงอะไรครับ สมมติผมเป็นประชาชนชาวฝรั่งเศส พอคณะกรรมาธิการยุโรปออกกฎหมายว่าด้วยเรื่องการกำหนดมาตรฐานสินค้า เช่น แป้งสาลีต้องเป็นอย่างนี้ๆๆ ไม่ต้องรอให้รัฐสภาฝรั่งเศสออกกฎหมายลูก กฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้ทันที และกฎหมายของรัฐสมาชิกก็ต้องปรับไปตามให้ตรงกัน

แต่ถ้าเป็นอาเซียน… ไม่ได้ พอมีความตกลง 10 ประเทศ ลงนามเสร็จปั๊บ แต่ละประเทศก็ต้องเอาเข้าไปในรัฐสภาของตัวเอง ถึงจะมีผลบังคับใช้

ตัวอย่างที่สาม นโยบายเรื่องการค้าหรือนโยบายต่างประเทศ สหภาพยุโรปมีนโยบายการค้าเหมือนกันหมด กำหนดมาเลยจากกรุงบรัสเซลส์ เช่น จะมีกำแพงภาษีกับประเทศอื่นอย่างไร รัฐสมาชิกทำตามอย่างเดียว แต่ของอาเซียนไม่ใช่ สมาชิกมีนโยบายทางเศรษฐกิจและการต่างประเทศของตัวเองได้

เพราะฉะนั้นเราต่างกันมาก ดังนั้นอาเซียนจะพัฒนาอย่างไรก็ต้องคำนึงถึงเอกลักษณ์หรือคุณลักษณะพิเศษของภูมิภาค ไม่จำเป็นต้องทำตามองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ สหภาพยุโรปก็เหมาะสำหรับยุโรป อาเซียนก็เหมาะกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การที่อาเซียนไม่ได้มีอำนาจเหนือรัฐ จะทำให้แต่ละประเทศมีนโยบายกระจัดกระจาย ไม่ทำตามก็ได้หรือเปล่า

ไม่ๆ อาเซียนค่อนข้างจะเป็นองค์การภูมิภาคที่ยึดมั่นในกฎกติกาพอสมควร เรามีกฎบัตรอาเซียน เราก็จะประสานนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ไม่ใช่จะมีกระทรวงการต่างประเทศร่วมกัน ไม่ใช่ เราไม่ไปถึงขนาดนั้น เพราะเราเชื่อในความหลากหลายของแต่ละประเทศ

พูดง่ายๆ เราประสานงานกัน แต่ไม่ได้เหมือนกันทุกอย่าง คือจุดแข็งของอาเซียนก็ว่าได้

สังเกตว่าอาเซียนจะแสวงหาความร่วมมือจากประเทศอื่นๆ เช่น เกิดเป็น ASEAN +1 หรือ ASEAN +3 มีขึ้นเพื่ออะไร

มันสืบเนื่องจากอาเซียนต้องพึ่งพาตลาดโลกภายนอก เลยจำเป็นจะต้องมีหุ้นส่วนกับประเทศนอกภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนผลประโยชน์ร่วมกันในหลายสาขา ไม่ใช่แค่การค้า แต่รวมถึงการเมือง ความมั่นคง สังคม วัฒนธรรมด้วย หรือประเด็นปัญหาอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเรียกว่า problem without passport หรือปัญหาที่ไม่มีพาสปอร์ต กระทบได้ทุกประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาพวกนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกับภายนอก ยกตัวอย่าง อาเซียนกับสหรัฐฯ อาเซียนกับจีน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก

และที่พูดว่ามี  ASEAN + 1 ASEAN+3, ASEAN+8 หรือ ASEAN+17 ที่เรียกอีกอย่างว่า ASEAN Regional Forum (ARF) เป็นเวทีความมั่นคง ที่รวมเอเชียแปซิฟิกหลายประเทศ มีอาเซียน 10 ประเทศ บวกกับ 17 ประเทศ ซึ่งก็มีเกาหลีเหนืออยู่ด้วย ทั้งหมดนี้คือกรอบความร่วมมือที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพและเงื่อนไขที่จะทำให้มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ความร่วมมือเหล่านี้จะไปเพิ่มการพึ่งพาของอาเซียนต่อประเทศอื่นๆ หรือไม่

มันเป็นลักษณะของการพึ่งพากันและกัน เพราะเราอยู่ในโลกที่ค่อนข้างมี interdependence การพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี สิ่งที่อาเซียนคงต้องพยายามเน้นในการพัฒนาความสัมพันธ์กับโลกภายนอกก็คือ ความเชื่อมโยง เช่น ความเชื่อมโยงทางด้านดิจิทัล ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และความเชื่อมโยงทางด้านกฎหมาย เพื่อที่จะไม่ให้มีปัญหาหรืออุปสรรคระหว่างเราค้าขายระหว่างกัน

นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน จะกระทบความมั่นคงในอาเซียนไหม

ไม่ เรามองว่าการเชื่อมโยงระหว่างจีนกับอาเซียนและกับเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด น่าจะถือว่าเป็นเรื่องที่ดี มันจะได้สร้างโอกาสระหว่างกัน แน่นอนว่าก็ต้องมีความร่วมมือเพื่อจะบริหารจัดการบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ที่อาจจะใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด เช่นการค้าขายสินค้าผิดกฎหมาย หรือดำเนินการเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ แต่โดยภาพรวมแล้ว BRI (The Belt and Road Initiative) ของจีน รวมทั้ง การลงทุน Quality Infrastructure ของญี่ปุ่น หรือว่า ‘Act East’ ของอินเดีย ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่ออาเซียนทั้งนั้น สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของอาเซียนกันเองให้ได้ พูดง่ายๆ คือ ‘ต้องเชื่อมโยงความเชื่อมโยง’ ของประเทศต่างๆ เหล่านี้ ให้มีประสิทธิภาพ ให้เกิด synergy ที่แท้จริง

วิสัยทัศน์ของไทยในการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้าของไทย จะเป็นอย่างไร

ท่านนายกรัฐมนตรีได้ประกาศ  theme ในการเป็นประธานอาเซียนของไทยที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนแล้ว นั่นคือ ร่วมแรง ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability) มีสาระที่เกี่ยวกับการเพิ่มเสน่ห์และคุณค่าของอาเซียนในสายตาของประชาคมโลก เนื่องจากคำว่า Partnership นอกจากหมายถึงความร่วมมือภายในอาเซียนจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมแล้ว ยังครอบคลุมถึงภาคีภายนอกซึ่งให้ความสนใจที่จะร่วมมือกับอาเซียน และความร่วมมือภายในประเทศ โดยการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยจะเน้นให้มีความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืนในเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ (strategic trust) ความยั่งยืนของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยและอาเซียนควรเน้นย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (solidarity) ภายในอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นเอกภาพ (unity) และจะส่งเสริมความเป็นแกนกลางหรือบทบาทนำ (centrality) ของอาเซียนต่อไป

การเป็นประธานอาเซียนถือว่าเป็นทั้งเกียรติและหน้าที่และเป็นภารกิจที่สำคัญ ไม่ใช่แค่สำหรับประเทศไทย ท่านลองคิดดูว่าอีก 9 ประเทศฝากประเทศไทยให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าในฐานะประธาน จำนวนการประชุมทั้งในระดับผู้นำและระดับเจ้าหน้าอาวุโสในประเทศไทยอย่างน้อยก็ 170 ครั้งแล้ว ก็คือทุกสองวันจะมีการประชุม นี่เป็นโอกาสที่เราจะขับเคลื่อนสิ่งที่เราจะให้ความสำคัญ

เพราะฉะนั้นปรัชญาของประเทศไทย คือการยึดการก้าวไปด้วยกันทั้ง 10 ประเทศ เราจะไม่ทำตัวเองโดดเด่น เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เน้นการสร้างประชาคมอาเซียนทั้งสามเสา สร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งในอาเซียนและโลกภายนอก และทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน

มีภารกิจอะไรที่ตั้งเป้าไว้ในลิสต์ว่าจะต้องทำให้ได้ในปีหน้า

แน่นอน มันคงหนีไม่พ้นประเด็นสำคัญ เช่น ทำอย่างไรเราถึงจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ดีขึ้น ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ให้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ทำอย่างไรเราจะแก้ไขอาชญากรรมข้ามชาติที่มีอยู่ค่อนข้างเยอะ โดยมีระบบบริหารจัดการชายแดนที่ดีระหว่างทั้ง 10 ประเทศ

ทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรเราจึงจะขยายตลาดภายในอาเซียนจาก 25% ขึ้นไปได้ไหม ทางสังคม-วัฒนธรรม จะทำอย่างไรเราถึงจะจัดการภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าจะทำ

แต่มันจะไม่เป็นแค่คำพูด มีเพียงประกาศหรือเอกสารที่สวยงาม แต่จะเป็นการสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม มีแนวคิดที่จะสร้างศูนย์ต่างๆ เช่น ศูนย์อาเซียนว่าด้วยการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นศูนย์อาเซียนนะครับ ตั้งในประเทศไทย

ทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรเราจึงจะขยายตลาดภายในอาเซียนจาก 25% ขึ้นไปได้ไหม ทางสังคม-วัฒนธรรม จะทำอย่างไรเราถึงจะจัดการภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าจะทำ

เมื่อกี้ผมพูดถึงภัยพิบัติใช่ไหมครับ เราจะมีคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียน ตั้งอยู่ที่ จังหวัดชัยนาทที่จะให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นกับประเทศที่อยู่ในอาเซียนกรณีเกิดภัยพิบัติ ซึ่งจะเชื่อมกับระบบของทั้งภูมิภาค จะมีการตั้งศูนย์เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าไปสู่สังคมสูงอายุ ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุข แต่รวมไปถึงเรื่องการศึกษา เพื่อให้ประชาชนที่สูงอายุสามารถมี life-long learning และมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประชาคมอาเซียนได้ตลอด

อีกศูนย์คือศูนย์ไซเบอร์ สร้างศักยภาพของอาเซียนว่าด้วยเรื่องไซเบอร์ เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ (cyber-attack) ที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาค ทำไมถึงสำคัญ เพราะเรากำลังจะเป็น digital ASEAN มากขึ้น ต้องมีส่วนนี้รองรับ

เพราะฉะนั้นจะเกิดศูนย์หลายศูนย์ ทั้งหมดนี้คือศูนย์อาเซียน หมายถึงว่าประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็ต้องยอมรับและส่งคน ผู้บริหารมาช่วยรัน และมีนโยบายร่วมกัน

Tags: ,