ถึงแม้จะเป็นครั้งที่ 29 แต่ ‘ซีเกมส์’ มหกรรมกีฬาของชาวอาเซียน ก็ยังคงอบอวลไปด้วยปัญหาคาราคาซังเกี่ยวกับกลเม็ดเด็ดพรายที่ชาติเจ้าภาพนำมาใช้ เพื่อให้นักกีฬาของตนฉกฉวยความได้เปรียบให้ได้มากที่สุด

สำหรับซีเกมส์ครั้งที่ 29 ซึ่งจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 สิงหาคม 2560 เจ้าภาพมาเลเซียก็ยังคงเดินตามขนบแบบที่ชาติอื่นๆ ทำกันมา ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมการแข่งขันในหลายชนิดกีฬา ซึ่งไม่เป็นที่ถูกใจของหลายชาติ กว่าจะลงตัวถูกใจสำหรับทุกฝ่ายก็ใช้เวลาปรับแต่งอยู่นานพอสมควร

ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลหญิงมีตารางการแข่งขันระหว่างวันที่ 15-24 สิงหาคม โดยแข่งแบบพบกันหมด แต่นัดสุดท้ายวันที่ 24 สิงหาคม เจ้าภาพจัดตารางแข่งขัน 2 คู่ คู่ละเวลา คือทีมชาติไทยพบทีมชาติฟิลิปปินส์ เวลา 15:00 น. และทีมชาติมาเลเซียพบทีมชาติเวียดนาม เวลา 19:45 น. ซึ่งในมุมมองของ ‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย เห็นว่าตามหลักสากลแล้วต้องแข่งพร้อมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ เพราะนัดสุดท้ายมีผลต่อตำแหน่งแชมป์

นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าจะไม่มีการถ่ายทอดสดกีฬาที่เป็นความหวังของชาติอื่นๆ โดยมาเลเซียจะผลิตสัญญาณถ่ายทอดสดเฉพาะกีฬาที่ตัวเองมีความหวัง โดยกีฬายอดนิยมของชาวไทยอย่างวอลเลย์บอล ฟุตซอล เทนนิส และกอล์ฟ จะไม่มีการผลิตสัญญาณถ่ายทอดสด

แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้มหกรรมกีฬาของชาวอาเซียนมีความพิเศษแตกต่างคือไม่มีการจำกัดจำนวนชนิดกีฬาอย่างเป็นทางการ และชาติเจ้าภาพมีสิทธิ์กำหนดชนิดกีฬาที่จะทำการแข่งขัน โดยผ่านการอนุมัติของสมาพันธ์กีฬาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South-East Asian Games Federation) ซึ่งนอกจากชนิดกีฬาหลักที่ถึงอย่างไรก็ตัดออกไม่ได้ ชาติเจ้าภาพมีสิทธิ์ตัดหรือเพิ่มชนิดกีฬาได้ โดยมียุทธศาสตร์อยู่ที่การเพิ่มจำนวนเหรียญและโอกาสในการคว้าเหรียญของชาติเจ้าภาพ

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือชาติเจ้าภาพต่างพยายามคว้าเหรียญรางวัลให้ได้มากที่สุด โดยการตัดชนิดกีฬาที่ตัวเองมีโอกาสคว้าเหรียญน้อย และเพิ่มชนิดกีฬาที่ตัวเองได้เปรียบชาติอื่นๆ เข้ามาแทนที่
และนี่คือตัวอย่างชนิดกีฬาที่ผู้คนในบางประเทศอาจจะไม่คุ้นเคยหรือยังไม่มีความชำนาญ แต่ถูกบรรจุเข้าแข่งขันในซีเกมส์ รวมทั้งการเพิ่มหรือตัดชนิดกีฬาที่แข่งขันในซีเกมส์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ของการเพิ่มจำนวนเหรียญทองหรือความได้เปรียบให้กับชาติเจ้าภาพ

วูซู

วูซู (Wushu) เป็นศิลปะการต่อสู้ของชาวจีน และอยู่เคียงคู่กับประวัติศาสตร์การรบทัพจับศึกของชาวจีนมาโดยตลอด

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของกีฬาชนิดนี้น่าจะเกิดขึ้นในปี 1928 เมื่อรัฐบาลจีนจัดตั้ง Central Guoshu Institute ซึ่งเป็นสถาบันเกี่ยวกับวิทยายุทธส่วนกลางของประเทศ รวมทั้งจัดให้มีการแข่งขันและประลองยุทธระดับชาติ โดยมีทั้งวิชามวยประเภทต่างๆ อาวุธยาว/อาวุธสั้นประเภทต่างๆ การประลองยุทธ (แข่งขันต่อสู้) และมวยปล้ำ

ต่อมาในปี 1936 คณะวูซูจากจีนก็ได้เข้าร่วมแสดงในกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 11 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี หลังจากนั้น วิชาวูซูก็ได้รับการบรรจุเป็นบทเรียนอย่างเป็นทางการในสถาบันการศึกษาของจีน

เอาเป็นว่าถ้าใครอยากรู้จักกีฬาวูซูมากขึ้น (หรืออาจจะลองฝึกฝนดูก็ได้) ในเว็บไซต์ของสมาคมกีฬาวูซูแห่งประเทศไทยมีรายละเอียดให้อย่างครบครัน

เนื่องจากมีต้นกำเนิดจากจีน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เวียดนามจะเป็นพี่เบิ้มของกีฬาประเภทนี้ และในซีเกมส์ครั้งที่ 22 (2003) เวียดนามชาติเจ้าภาพก็เพิ่มจำนวนเหรียญทองให้นักกีฬาวูซูชิงชัยถึง 28 เหรียญ จาก 16 เหรียญในซีเกมส์ครั้งที่ 21 (2001) ที่มาเลเซีย และเวียดนามก็คว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในซีเกมส์ครั้งที่ 22 ไปครอง

สำหรับซีเกมส์ครั้งนี้ที่มาเลเซีย วูซูมีเหรียญทองให้ชิงชัย 17 เหรียญ

อาร์นิส

จากกีฬาสาธิตในซีเกมส์ครั้งที่ 22 ในที่สุด อาร์นิส (Arnis) ก็ถูกบรรจุเข้าแข่งขันในซีเกมส์ครั้งที่ 23 (2005) ที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนี่คือกีฬาประจำชาติและเป็นศิลปะการต่อสู้ของชาวฟิลิปปินส์

กล่าวโดยสรุป อาร์นิสคือศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวโดยการใช้อาวุธประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ มีด ดาบ และสิ่งของที่อยู่รอบตัว

 


ตัวอย่างสารคดีเรื่อง Fighting Sticks of Arnis

การที่อาร์นิสได้เป็นส่วนหนึ่งของซีเกมส์ครั้งที่ 23 (ฟิลิปปินส์คว้าไป 3 จาก 6 เหรียญทอง) อาจถือเป็นความสำเร็จของฟิลิปปินส์ชาติเจ้าภาพ (และฟิลิปปินส์ก็คว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองไปครอง) แต่มันก็แทบจะไม่ได้ทำให้ชนชาวอาเซียน (ยกเว้นผู้ที่สนใจศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัว) รู้จักกีฬาชนิดนี้มากขึ้น

สำหรับซีเกมส์ครั้งนี้ที่มาเลเซีย อาร์นิสไม่มีการแข่งขัน

 

ตะกร้อลอดห่วงสากล

สำหรับตะกร้อ กีฬาประเภทนี้คงไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติมสำหรับสามัญชนคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องในภาคอีสานที่คุ้นเคยเป็นอย่างดีกับการหวดลูกหวายและลูกพลาสติก และเซปักตะกร้อก็ถูกบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาซีเกมส์มาตั้งแต่ปี 1965 (กีฬาแหลมทองครั้งที่ 3) แต่ตะกร้อลอดห่วงสากลเพิ่งจะถูกบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาซีเกมส์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2007 ซึ่งในครั้งนั้น ทีมตะกร้อของมาเลเซียขอถอนทีมออกจากการแข่งขัน ด้วยเหตุผลเรื่องความไม่พอใจในประสิทธิภาพและมาตรฐานของลูกตะกร้อแบบใหม่ที่นำมาใช้ในซีเกมส์ครั้งนั้น

ไม่ต้องบอกก็คงจะเดากันได้ว่าเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 24 คือประเทศอะไร และในซีเกมส์ครั้งนี้ก็มีเหรียญทองจากเซปักตะกร้อให้ช่วงชิงถึง 8 เหรียญทอง ซึ่งทีมตะกร้อไทยก็คว้ามาครองได้ทั้งหมด ไล่เรียงมาตั้งแต่ทีมชุดชาย ทีมชุดหญิง ทีมเดี่ยวชาย ทีมเดี่ยวหญิง คู่ชาย คู่หญิง ลอดห่วงสากลชาย และลอดห่วงสากลหญิง

และแน่นอนว่าประเทศไทยก็ไม่พลาดตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง โดยนักกีฬาไทยทำผลงานได้ดีที่สุดนับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ และตำแหน่งเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ครั้งที่ 24 ก็ทำให้ไทยคว้าตำแหน่งนี้ได้มากที่สุดในภูมิภาค

สำหรับซีเกมส์ครั้งนี้ที่มาเลเซีย ตะกร้อลอดห่วงสากลไม่มีการแข่งขัน

 

ฟุตบอลหญิง

ก่อนซีเกมส์ครั้งที่ 26 (2011) จะเปิดฉากไม่นาน สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซียแจ้งต่อที่ประชุมสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (ASEAN Football Federation: AFF) ว่าซีเกมส์ครั้งนั้นจะไม่มีการแข่งขันฟุตบอลหญิง โดยให้เหตุผลว่าอินโดนีเซียไม่มีสนามแข่งขันที่ได้มาตรฐาน ทว่าฟุตบอลชายจะยังคงมีการแข่งขัน

นอกจากนี้ เจ้าภาพอินโดนีเซียยังลดจำนวนเหรียญทองในหลายชนิดกีฬา เช่น เทเบิลเทนนิส บิลเลียดและสนุกเกอร์ ยิงปืน ยิมนาสติกแอโรบิก เรือใบ และเปตอง ขณะเดียวกันก็เพิ่มกีฬาใหม่ 6 ชนิด ได้แก่ บริดจ์ ร่มร่อน โรลเลอร์สปอร์ต เคมโป ปีนเขา และโววีนัม ซึ่งทั้งหมดนี้มีเหรียญทองให้ชิงชัยถึง 73 เหรียญ และอินโดนีเซียก็คว้าไปได้ถึง 49 เหรียญ

อินโดนีเซีย เจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 26 ครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองแบบไม่ยากเย็น โดยทิ้งห่างไทย 73 เหรียญ

 

เคมโป

เคม​โป (Kempo) ​เป็นกีฬาที่มีรากฐานมาจากศิลปะการต่อสู้ประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น ​มีรากฐานมาจากมวยจีน เทควันโด ยูโด และคาราเต้ ได้รับ​ความนิยม​ในมา​เล​เซีย ​เวียดนาม ติมอร์-เลสเต ​และบรู​ไน ​โดย​ในอิน​โดนี​เซียมีคน​เล่นกีฬาชนิดนี้กว่า 400,000 คน

ซีเกมส์ครั้งที่ 26 ที่อินโดนีเซีย เคมโปมีเหรียญทองให้ชิงชัย 16 เหรียญ ซึ่งอินโดนีเซียคว้าไปได้ 8 เหรียญ

สำหรับซีเกมส์ครั้งนี้ที่มาเลเซีย เคมโปไม่มีการแข่งขัน


เทคนิคการใช้เคมโปป้องกันตัว

 

โววีนัม

โววีนัม (Vovinam) เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวจากเวียดนาม จัดอยู่ในรูปแบบมวยแข็งและมวยอ่อน ซึ่งรวมถึงการฝึกฝนทั้งทางร่างกายและจิตใจ โววีนัมใช้ได้ทั้งมือ ศอก และเท้า โดยมีเทคนิคการโจมตีที่หลากหลาย ทั้งการชก การเตะ การปล้ำ รวมถึงการใช้อาวุธอย่างดาบ พลอง ขวาน พัดด้ามจิ๋ว และอื่นๆ

โววีนัมได้รับการบรรจุเข้าแข่งขันครั้งแรกในเอเชียนอินดอร์เกมส์ 2009 ที่เวียดนาม และเป็นหนึ่งในหกชนิดกีฬาใหม่ที่ทำการแข่งขันในซีเกมส์ครั้งที่ 26 ที่อินโดนีเซีย ซึ่งเวียดนามกับอินโดนีเซียก็แบ่งกันชาติละ 5 เหรียญทอง จากทั้งหมด 14 เหรียญทอง

สำหรับซีเกมส์ครั้งนี้ที่มาเลเซีย โววีนัมไม่มีการแข่งขัน

 


การฝึกโววีนัมในเวียดนาม

 

ชินลง

พม่าคือเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 27 (2013) ซึ่งเว้นว่างจากการเป็นเจ้าภาพครั้งสุดท้ายถึง 44 ปี การเป็นเจ้าภาพซีเกมส์จึงเป็นโอกาสอันดีในการแสดงให้เพื่อนร่วมภูมิภาคเห็นว่าดินแดนแห่งนี้เจริญก้าวหน้าไปมากเพียงใด

ชินลง (Chinlone) ซึ่งเป็นกีฬาประจำชาติ จึงไม่พลาดสำหรับการปรากฏตัวในซีเกมส์ครั้งนี้เป็นครั้งแรก

วิกิพีเดียให้คำอธิบาย ‘ชีนโลน’ ไว้ว่า “เป็นการละเล่นหรือกีฬาดั้งเดิมของพม่า มีลักษณะผสมผสานระหว่างกีฬาและการเต้นรำ โดยทั่วไปเป็นการเล่นโดยไม่มีคู่แข่งหรือฝ่ายตรงกันข้าม นัยสำคัญของชีนโลนจึงไม่ใช่การแข่งขัน จุดเน้นไม่อยู่ที่การชนะหรือแพ้ หากเป็นความสวยงามของท่วงท่าลีลาที่นักชีนโลนจะเล่นในเกมลูกหวายมากกว่า”

คำบรรยายคงจะไม่เพียงพอสำหรับการถ่ายทอดความสวยงามของท่วงท่าลีลา ลองชมคลิปกันดีกว่า

พม่าคว้า 6 จาก 8 เหรียญทองสำหรับการแข่งขันชินลง และคว้าเหรียญทองรวมได้มากเป็นอันดับ 2 รองจากไทย

สำหรับซีเกมส์ครั้งนี้ที่มาเลเซีย ชินลงมีเหรียญทองให้ชิงชัย 4 เหรียญ

ล่าสุด (16 สิงหาคม) มาเลเซียคว้าเหรียญทองเหรียญแรกของซีเกมส์ครั้งนี้ จากการแข่งขันชินลง ประเภทอีเวนต์ 3

Tags: , ,