จากคนที่อ่านหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น (The Nation) มาตั้งแต่วัยเรียน ‘สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี’ ก็ไม่รู้หรอกว่า ต่อมาที่แห่งนี้จะกลายเป็นบ้านอีกหลังที่เขาทำงานต่อเนื่องมาเป็นเวลา 18 ปี ก่อนจะรับตำแหน่งสุดท้ายในฐานะบรรณาธิการบริหาร และอยู่กับมันจนถึงวันสุดท้ายของการตีพิมพ์
หนังสือพิมพ์รายวันระดับชาติที่เป็นภาษาอังกฤษ อย่างเดอะ เนชั่นร่วมผ่านเหตุการณ์ต่างๆ กับสังคมไทยมา 48 ปีแล้ว ในยุครุ่งเรืองเคยมียอดพิมพ์สูงสุดถึง 50,000 ฉบับต่อวัน มาถึงปัจจุบันที่คนซื้อหนังสือพิมพ์ลดลง ยอดขายต่อวันก็ลดลงหลายเท่า แต่ในพื้นที่ออนไลน์ของเดอะ เนชั่นยังมีฐานคนอ่านอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ถึงอย่างไรก็ดี จากอดีตที่เคยมีทีมงานกว่า 100 คนก็ต้องผ่านการเลย์ออฟไปหลายรอบ จนถึงวันนี้ลดเหลือ 47 คน
ในยุคที่ทุกคนเชื่อว่าอะไรๆ ก็ล้วนแต่อยู่ในโลกออนไลน์ ผู้บริหารชุดใหม่ของเครือเนชั่นจึงตัดสินใจเลิกพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษ โดยฉบับวันที่ 28 มิถุนายน 2562 จะเป็นหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่นฉบับสุดท้าย คงเหลือแต่สื่อบนพื้นที่ออนไลน์ ผ่านการรีแบรนด์ใหม่และใช้ชื่อว่า The Nation Thailand
แต่การยกเลิกหนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษแล้วย้ายไปอยู่บนพื้นที่ออนไลน์ของเนชั่น ไม่ใช่เป็นแค่การย้ายแพลตฟอร์ม เพราะระบบนิเวศของสื่อที่เปลี่ยนไป ก็นับเป็นโจทย์อันท้าทายสำหรับคนทำงานที่จะต้องประคองสื่อนั้นไว้ให้ยังคงอยู่รอดได้อย่างมีคุณภาพ
และนั่นก็ดูเหมือนเป็นโจทย์ใหญ่ ที่คนหนังสือพิมพ์อย่างสุภลักษณ์ต้องรับมือ
เขาผ่านมรสุมของวงการมาหลายครั้ง จากคนที่เคยทำงานในยุครุ่งเรืองของเครือผู้จัดการ ได้ทำงานกับสนธิ ลิ้มทองกุล ก่อนจะย้ายมาเครือเนชั่นและร่วมงานกับสื่อมวลชนรุ่นครูอย่างสุทธิชัย หยุ่น จนกระทั่งสุทธิชัยลาจากเครือเนชั่นไปแล้ว เขาก็ยังรักษาหน้าที่ที่เดอะ เนชั่นไว้ ตามมาตรฐานและจริยธรรมของคนข่าว
คงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า ‘คนข่าวตัวจริง’ ที่ยืนระยะในวงการได้นานและยังรักษามาตรฐานของวิชาชีพนี้ไว้ได้อย่าง ‘สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี’ อาจจะหาได้น้อยเต็มทีในยุคนี้
ได้ชื่อว่าเป็นนักข่าวมาตลอดชีวิต คุณสุภลักษณ์เริ่มต้นประสบการณ์งานข่าวมาอย่างไร
ตั้งแต่เด็กๆ เราไม่ได้ตั้งใจมาเป็นนักข่าวหรอก เราสนใจปัญหากัมพูชา ตอนปี 1985 มันเป็นปีสันติภาพโลก และตอนนั้นปัญหากัมพูชาเป็นเรื่องที่ร้อนแรงมากในภูมิภาคนี้ เพราะเขมรแดงฆ่าคนไป 1.7 ล้านคน หนังสือพิมพ์เนชั่นกลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่เราอ่านตั้งแต่เด็ก หัดอ่านเลย เพราะเนชั่นก็เป็นฉบับเดียวที่มีคนอย่างพี่กวี (จงกิจถาวร) คุณสุทธิชัย (หยุ่น) ที่ก็สนใจข่าวประเภทนี้มาก
และปีนั้นนักกิจกรรมก็เอาหนังเรื่อง The Killing Fields มาฉายในมหาวิทยาลัย สตอรี่นั้นคือเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชาที่มันเกิดข้างบ้านเราเอง หนังเรื่องนั้นถ่ายทำในประเทศไทย พระเอกในเรื่องก็เป็นนักข่าว เราดูแล้วเราก็สนใจปัญหาเรื่องกัมพูชามาก สมัยเด็กเราก็มีญาติพี่น้องที่เขาอยู่ชายแดน เหตุการณ์บ้านน้อยป่าไร่เรายังจำได้ เขมรฆ่าคนในหมู่บ้านที่อยู่ชายแดน ไทยรัฐก็ลงข่าว หนังสือพิมพ์อะไรก็ลง เราไปค้นแล้วก็สนใจว่าอาชีพนักข่าวมันรู้อะไรเยอะดี อาชีพนี้น่าสนใจมาก
แต่ก็ไม่เชิงคิดว่าจะทำอาชีพนี้หรอก ตอนแรกอยากเป็นนักวิชาการมากกว่า แบบแหม…อาจารย์เกษียร (เตชะพีระ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์) มาอภิปราย เท่มาก พี่ธง (ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์) เขาก็ไปเรียนออสเตรเลียกลับมา การเรียนหนังสือในระดับสูงของเขาทำให้เราสนใจ แต่ว่าเราก็ขี้เกียจจะเรียนกฎหมาย พอเรียนจบแล้วตอนนั้นปี 1988 ก็หางานทำ ไปสมัครหนังสือพิมพ์หลายครั้ง แต่มันไม่ค่อยเวิร์กเท่าไร เราก็ไปอยู่กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองกับอาจารย์โต้ง (ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ) พันศักดิ์ (วิญญรัตน์) ไปทำงานกับเขา
ไม่ค่อยเวิร์ก หมายถึงอะไร
คือมันไม่มีโต๊ะต่างประเทศ ตอนนั้นภาษาอังกฤษเราก็ไม่ค่อยดีแต่ก็อยากทำข่าวต่างประเทศ อยากทำเรื่องเขมรแดง เรื่องเขมร เรื่องเวียดนาม เราก็ไปเสนอเขา หนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่เราไปสมัครคือที่กรุงเทพธุรกิจนะ ก็แปลข่าวต่างประเทศ แต่ก็แปลไม่ดี
ตอนหลัง พอมาอยู่กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ ก็ยังทำกิจกรรมให้ สนนท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) อยู่ ตอนนั้นมีประชุม World Student Union ที่มอสโก เราก็ไป ตอนนั้นแฟนอยู่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เขาก็ว่าไหนๆ ชอบเขียนแล้ว เขียนอะไรมาให้สักอย่างสิ ประเทศโซเวียตไม่เคยมีใครเคยเห็นเลย หน้าตามันเป็นอย่างไร เราก็เขียนเรื่องส่งไปลงประชาชาติธุรกิจ ตอนนั้นเขาก็ชอบมาก เลยถามเราว่าอยากมาทำงานหนังสือพิมพ์ไหม ก็เห็นว่าถ้าอะไรประมาณนี้เป็นงานหนังสือพิมพ์ได้ เราก็ไป สมัครทำโต๊ะต่างประเทศที่ประชาชาติธุรกิจ
แรกๆ เราก็แปลข่าวแหละ เรื่องเขมรเราก็ยังสนใจ แต่ไม่กล้าบอกใครว่าเราสนใจ ก็พยายามเขียนบทความไปลงมติชน ผ่านทางสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ แล้วสถาบันเอเชียฯ ก็ส่งมาลงมติชน คนในประชาชาติเห็นเขาก็ว่า แกก็เขียนบทความได้ ทำไมแกต้องอ้อมตั้งหลายชั้นขนาดนี้วะ
คุณสนใจเรื่องเขมรแต่ไม่กล้าบอกให้ใครรู้ เพราะอะไร
คือเราไม่ค่อยมั่นใจว่า ถ้าหากเราต้องไปทำข่าวในเขมรจริงๆ แล้วเราไหวหรือเปล่า และถ้าเขาส่งไปโดยที่เรายังไม่พร้อม เราก็รู้สึกลังเล ก็เลยลองเขียนดูก่อน
พอดี บ.ก. เขาถามว่าสนใจเรื่องนี้เหรอ ก็บอกว่าใช่ เราสนใจมานานแล้วและก็อยากจะไปมาก ตอนที่สีหนุเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก พี่เขาก็บอกว่า พรุ่งนี้เธอไปเขมรเลยนะ—ไปอย่างไร ไม่มีตั๋ว ไม่มีอะไรเลยนะ เขาบอกว่าอาจารย์ช้าง ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นเพื่อนของหมอเสริฐ (ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์) ตอนตีห้าให้ไปรอที่เคาน์เตอร์สายการบินบางกอกแอร์เวย์ ที่ดอนเมือง บอกแค่นี้นะ อ้าว—ไปก็ไป
ไปถึงแล้วบอกว่า ผมมาจากประชาชาติ–มติชนครับ เคาน์เตอร์ก็ถาม—แล้วตั๋วคุณล่ะ ไม่มี เขาก็โทร.เข้ามาออฟฟิศคุณขรรค์ชัย แล้วเลขาฯ ที่ชื่อพี่แดงก็โทรไปหาหมอเสริฐ เขาก็บอกออกตั๋วให้มันใบหนึ่ง แล้วก็ขึ้นเครื่องไปเลย ไปคนเดียว
โชคดีก็คือไปเจอพี่กวี พี่กวีเป็นคนพาทำข่าวในเขมรครั้งแรกในชีวิต ตอนนั้นพี่กวีเป็นหัวหน้าโต๊ะเนชั่น รู้สึกจะเปิดออฟฟิศที่พนมเปญแล้วด้วย เนชั่นเขาไปไกลแล้วตอนนั้น
ตอนนั้นเรายังอยู่ประชาชาติธุรกิจ แล้วก็พี่กวีก็บอก หนังสือพิมพ์ธุรกิจนี่มันจะไปเขียนเรื่องสันติภาพมันก็ไม่ค่อยเข้า เขาก็เลยพาไปหาแบงก์ไทยพาณิชย์ ตอนนั้นก็เปลี่ยนเป็นกัมพูชาพาณิชย์นะ ทางแบงก์ไปลงทุนที่นั่น คนที่เป็นผู้จัดการที่นั่นก็ใจดีมาก ก็เล่าเรื่องการเงินว่าเขมรมาแลกเงินอย่างไร เขาพิมพ์เงินอย่างไร คือเรื่องมันน่าสนใจมาก เราก็เลยเขียนเรื่องพวกนี้แหละ
มันเหมือนเป็นครั้งแรกที่ได้เติมเต็มความฝันที่เราอยากเป็น นี่ประเทศที่เราเห็นในหนัง โอ้โฮ เราไปเขมรครั้งแรก พอลงจากเครื่อง เราแทบวางกระเป๋าลงแล้วออกไปเดินในเมืองเลยนะ มันเปิดโลกอีกแบบหนึ่งของการทำงานนอกประเทศที่เราไม่คุ้นเคย ไปในที่ที่เราไม่เคยรู้จัก มันต้องทำอะไรเยอะมาก คุณต้องรู้จักใคร คุณต้องไปหาใคร
แล้วทำไมหลังจากนั้นจึงย้ายไปเครือผู้จัดการ
ตอนนั้นไปเจอพี่รุ่งมณี (เมฆโสภณ) แกก็รู้ว่าเราสนใจเรื่องเขมร ไม่ใช่สนใจแบบธรรมดา คือเราคลั่งไคล้ เราเขียนบทความลงวารสารโน่นนี่นั่น แล้วพี่รุ่งมณีก็บอกว่า ฉันจะตั้งศูนย์อินโดจีนให้เธอ เธอจะมาทำหรือเปล่า
คือมันยกระดับมาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการคู่แข่งกับเนชั่นนะ ตอนนั้นเนชั่นเปิดออฟฟิศที่ฮานอยแล้ว ผู้จัดการก็เลยคิดว่าต้องทำบ้าง จริงๆ แล้ว คุณสนธิเขามีวิสัยทัศน์เรื่องพวกนี้มาก แต่เขาคิดมิกซ์กันหลายอย่าง เขาไม่ใช่แค่นักหนังสือพิมพ์อย่างเดียว เขามีเครือข่าย ดึงพวกอดีตฝ่ายซ้ายเก่ามา เราก็จับพลัดจับผลูนะ ไม่รู้อะไร หนีคนพวกนี้ไม่พ้น คนแรกที่เป็นหัวหน้าเราก็คือ ปรีดี บุญซื่อ สมาชิกสภาหน้าโดม คนที่สองที่ย้ายมาอยู่ผู้จัดการก็พี่อรรถวิบูลย์ ศรีสุวรนันท์ ก็สมาชิกสภาหน้าโดม ก็เป็นเพื่อนกัน แล้วคนที่เป็น adviser ใหญ่ให้คือ คุณพันศักดิ์ วิญญรัตน์
คนพวกนี้เขาไม่ได้เป็นแค่นักหนังสือพิมพ์ เขาเป็นแอคทิวิสต์มาก่อน เราก็เป็นแอคทิวิสต์มาก่อน เพราะฉะนั้นมันก็แมตช์กัน
แล้วอุดมการณ์ของการตั้งโต๊ะอินโดจีนขึ้นมาของเครือผู้จัดการในยุคนั้นคืออะไร
จริงๆ พูดแค่เรื่องสันติภาพและความเป็นมนุษย์ แค่นั้นนะ ชะตากรรมของคนที่อยู่ในประเทศที่แร้นแค้น อย่างกรณีเขมรนี่มันเป็นแพชชั่นสำหรับหลายคนมาก ที่มาพูดถึงชะตากรรมที่โหดร้าย ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในเวียดนามกำลังเปิดประเทศใหม่ๆ ตอนนั้นสงครามเย็นมันใกล้ๆ จะสิ้นสุดแล้วแหละ เราเข้ามาเป็นนักข่าวตอนสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ เรื่องอินโดจีนมันบูมมาก นโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้านี่น่าสนใจมาก
ดังนั้นในสมัยที่เป็นแอคทิวิสต์ เราก็บอกว่า เฮ้ย เราโปรคอมมิวนิสต์ เราชอบสังคมนิยม แต่พวกนี้มันจะเปลี่ยนเป็นทุนนิยมแล้ว แต่คุณพันศักดิ์นี่แหละเป็นคนให้คำอธิบายเรา เปิดกะโหลกเราว่า เลิกล็อกความคิดตัวเองอยู่กับความคิดเดิม คิดดูนะว่าถ้าพวกเขาไม่ค้าขาย ไม่วางระบบเศรษฐกิจ คนในเวียดนามคงอดข้าวตาย จากประเทศที่เคยผลิตข้าวได้เยอะ การเมืองที่ผิดปกตินี่ทำให้ประเทศชาติยากจนได้ เพราะฉะนั้นต้องอนุญาตให้กลไกตลาดมันผ่าน คุณพันศักดิ์เขาก็อธิบายแบบนั้น เพราะฉะนั้นจะต้องปล่อยให้ทุนมันทำงานก่อน คาร์ล มาร์กซ์ไม่ค่อยพูดหรอกว่าสังคมนิยมมันเป็นแบบไหน เราก็บอก เออใช่ มาร์กซ์ไม่เคยพูดเรื่องสังคมนิยม มาร์กซ์พูดแต่เรื่องทุนนิยมเว้ย คนที่เก่งเรื่องทุนนิยมคือมาร์กซ์ แล้วสังคมนิยมใครเก่ง ไม่มีใครเก่งเรื่องสังคมนิยม เพราะว่าไม่มีใครรู้ว่า สังคมหลังจากนั้นมันเป็นอย่างไร
อยู่ที่ผู้จัดการนั้นดีอย่างหนึ่ง เราเจอคนพวกนี้ เขาเป็นปัญญาชน เป็นนักอ่าน เขาไม่เคยพูดอะไรเปล่าๆ หรือสั่งให้เราไปทำข่าวโดยไม่มีคำอธิบาย เหมือนอย่างตอนวิกฤติเศรษฐกิจ ตอนนั้นเราจะจากกันแล้ว บริษัทก็เรียกเรามาบอกว่า เราคงจะต้องจากกันแล้ว เขาบอกว่าปัญหาของประเทศไทยคือว่ามันพึ่ง firm ขนาดใหญ่มาก พอเวลาพวกนี้มันแตก เศรษฐกิจเราพังเลย สิ่งที่เขาบอกคือ เราจะต้องหาอะไรที่มันเล็กๆ small and medium size สนับสนุนให้คนพวกนี้คิด ให้ทุนมันเข้าไปถึงคนเหล่านี้ ให้เขาควบคุมทุนได้ อย่าให้ทุนควบคุมเขา คือมันเป็นคำที่แบบ very convincing สำหรับการออกมาแล้วคิดอะไรต่อว่าแล้วเราจะทำข่าวแบบไหน ก็ทำข่าวคนเล็กๆ ไง ลื้อทำเรื่องคนตัวเล็กๆ อย่างนั้นก็ดีแล้ว แต่ต้องคิดด้วยว่า มันไม่ใช่อยู่ในค่ายอพยพแล้วชีวิตนี้จะให้ใครมาเลี้ยง ให้ UN เลี้ยงเหรอ มันเลี้ยงได้ที่ไหน เราคิดว่า เออว่ะ เวลาทำข่าวมันก็ต้องมีอย่างนี้นิดหน่อยว่า เวลาเราพูดเรื่องผู้อพยพ เราต้องพูดว่าผู้อพยพจะกลับไปบ้าน จะส่งกลับ เขาจะไปทำมาหากินอะไร อะไรอย่างนี้นะ
เพราะฉะนั้นของพวกนี้จะอยู่ใน favor ของการเขียนข่าวของเราตลอดเวลาเลยนะ เราไม่ได้แค่เขียนข่าวเพราะมันเป็นข่าว ความคิดที่มาเป็นนักข่าว ไม่ใช่ว่าเพื่ออยากจะเป็นนักข่าว เราไม่ได้อยากเป็นนักข่าวแบบนั้น เราอยากเป็นนักข่าวเพื่อที่จะทำให้มันเข้าถึงข้อมูลข่าวสารความรู้ จริงๆ เราอยากเป็นนักวิชาการมาก มากกว่าอยากจะเป็นนักหนังสือพิมพ์นะ
ในยุคหนึ่ง เครือผู้จัดการก็เป็นแหล่งผลิตนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญจำนวนไม่น้อย และเป็นค่ายสื่อที่ถือว่ามีวิสัยทัศน์ทันสมัย
คุณสนธิชอบใช้คำว่า เขียนข่าวคุณต้องรู้ป่าทั้งป่า อย่าเขียนต้นไม้ต้นเดียว the big picture คุณต้องดูภาพใหญ่ ต้องรู้ให้หมดก่อนแล้วค่อยลงมือเขียน อย่าได้แค่ 3 บรรทัด แล้วส่งมาแบบข่าวปิงปอง ทำตัวเป็น comment seeker อย่างนั้น คุณไม่มีทางได้ลงตีพิมพ์ในผู้จัดการ เขาไม่สอนคุณแบบนั้น
ตอนตั้งศูนย์อินโดจีน 3-4 เดือนแรก ไม่ได้ทำอะไรเลยนะ นอกจากนั่งอ่าน พี่พันศักดิ์เขาเข้ามาออฟฟิศ 11 โมง เขาก็ชวนไปนั่งฟังเขาเลกเชอร์ประมาณชั่วโมงหนึ่ง กินข้าวเที่ยงกัน นอนกลางวัน 15 นาที มีนอนกลางวันด้วย siesta club
ฟังดูเป็นชีวิตชนชั้นสูงมาก
มัน highly intellectual แล้วบางทีเขาได้เพลงคลาสสิกมาใหม่ หรือซื้อเครื่องเสียงมาใหม่ เฮ้ยๆ ลื้อเข้าไปห้องอั๊ว ไปฟังเพลงกัน บางทีก็ได้หนังมา หนังแต่ก่อนเขามีแข่งกันระหว่าง Laser Disc กับ Compact Disc คุณพันศักดิ์เขารสนิยมวิไล เขาบอกเขาต้องดูเลเซอร์ดิสก์ ภาพเสียงคมชัด แล้วถ้าเขาซื้อมาใหม่เขาจะเรียกเราไปลอง แต่ว่าไม่ได้ลองเรื่องเทคนิคหรอก เขาก็จะสอนวิธีดูหนัง คุณตีความอะไรจากหนัง แกบอกว่าดูหนังอย่าดูแค่สองตา ให้หาตาที่สามมาดูด้วย ตอนนั้นหนังเรื่องอินโดจีนเข้าพอดี ตั้งศูนย์อินโดจีน มีหนังอินโดจีน คาราวานออกเพลงอินโดจีน โอ้โฮ – มันเหมือนโรงเรียน เราอยู่ที่นั่น 6 ปี เราเอ็นจอยมาก เราก็ทำงานแบบนั้น ลืมวันลืมคืนเลย
มีความเป็นกรรมกรข่าวไหมคะตอนนั้น
No ไม่ๆ เป็น intellectual ที่ผู้จัดการไม่ได้สอนให้คุณเป็นกรรมกรข่าว No
แต่ถึงอย่างไรงานก็ต้องมีเดดไลน์ ถูกไหมคะ
ถูก แต่ว่าเราข้ามเดดไลน์ตลอดเวลา (ยิ้มกริ่ม)
อ้าว แล้วอย่างนั้นคุณเอาอะไรไปลงหนังสือพิมพ์
เราไม่ได้ทำหนังสือพิมพ์รายวันไง ศูนย์อินโดจีนเป็นเหมือนเป็น In-House News Agency กระทั่งชื่อ เรายังไม่เรียกศูนย์ข่าวเลย เราเรียกศูนย์ข้อมูล ไม่ใช่แค่ฟีดข่าวให้ แต่ที่ทำมากกว่าคือข้อมูล ความรู้ เป็น think tank สำหรับอินโดจีน เราผลิตงานเป็นบทความ เป็นบทวิเคราะห์ ข่าวรายวันนี่เราทำน้อยมาก
ฟังดูเป็นอะไรที่รุ่มรวยมาก
ใช่ คือคุณต้องได้นายทุนแบบคุณสนธินะ เขายินดีที่จะจ่ายเพื่อให้คุณนั่งอ่านหนังสือ เราสั่งซื้อหนังสือไม่รู้กี่ตู้ ซื้อหนังสือเกี่ยวกับอินโดจีนเยอะมาก แล้วนักข่าวของเราต้องอ่านหนังสือก่อนแล้วถกเถียงกัน ดูหนังก็ต้องดูหนังแนวนี้ ฟังเพลงก็ต้องฟังเพลงแบบนี้ ดูหนังเรื่องอินโดจีน หนังอย่าง The Lover อย่าดูแต่ฉากคนเอากัน ดูฉากอื่น หรือต่อให้ฉากคนเอากัน ก็ต้องคิดว่า message ของมันคืออะไร
จากนั้นศูนย์อินโดจีนดำเนินต่อไปจนถึงจุดไหนคะ
ศูนย์อินโดจีนมีอายุอยู่ 6 ปี ในช่วง 4-5 เดือนแรก แม้แต่ปีแรกแทบไม่ทำงานกัน นั่งอ่านหนังสือ เมาท์กันอย่างเดียว อยู่แบบพวกทำตัวเป็น intellectual เราไม่เคยเจอที่ไหนที่ทำงานแบบนี้เลยนะ คุณสนธิใช้จ่ายเงินแต่งออฟฟิศสวยงาม ซื้ออุปกรณ์ทุกอย่าง แล้วใช้ฟิล์มสไลด์ปีเดียว 400 ม้วน ฟิล์มสไลด์เมื่อก่อนแพงมากนะ คุณพันศักดิ์สั่งว่า เราไปทริปเวียดนาม ขนฟิล์มไปเลย ในฟิล์มหนึ่งม้วนมี 36 รูป แกบอกว่าขอแค่ 4 รูปที่คุณคิดว่าเด็ดที่สุด บางที 4 รูปนั่นเรายังไม่ผ่านสักรูป เพราะฉะนั้นอย่าเสียดายทรัพยากร ต้องทำงานให้ได้
อย่างเราไปลาว ไม่มีเอกสารเดินทางเลย ตอนนั้นประเทศเขาปิด เอกสารชิ้นเดียวที่เราใช้คือแบงก์ US dollar ไปทำงาน 2 คนหมดไปหนึ่งแสนบาท ไปอาทิตย์หนึ่งแล้วก็เขียนเรื่อง ตอนนั้นเขาเปิดหนังสือพิมพ์ Asia Times ข่าวเรื่องจีนสร้างเขื่อนที่เมืองซือเหมา แล้วสร้างท่าเรือที่เมืองจิ่งหง สองอันนี้มันขัดแย้งกัน เราก็เขียนข่าวบอกว่าสองเมืองนี้กำลังแข่งขันกันเพื่อที่จะสร้างของสองสิ่งซึ่งขัดแย้งกัน เขื่อนจะกักน้ำไว้ แล้วท่าเรือมันจะเดินเรืออย่างไรถ้ามันไม่มีน้ำ เราก็เขียนเรื่องมา เขาก็ชอบมากเลย ให้ sub-editor พาดหัว Too many cooks spoil the soup. Too many projects spoil the growth. โอ้โฮ เราก็ชอบมากเลย วิธีเขียน วิธีทำ คุณต้องคิดให้มันตกผลึกขนาดนี้ คุณใช้เวลาเท่าไร ถึงจะคิดขนาดนี้
เพราะฉะนั้นข่าวเขาลงทุนเยอะมาก โทรศัพท์หาก็ 3 บาท ลงทุนชิ้นหนึ่งน่าจะหลายหมื่นบาทต่อชิ้นถึงจะทำ feature ได้ พักหลังๆ คือเขาลงทุนแล้วเขาก็ต้องรีบใช้ใช่ไหม ธรรมดานายทุน เราก็เริ่มผลิตงานมากขึ้น เราในฐานะที่อยู่ศูนย์อินโดจีนซึ่งผลิตงานให้ทุกๆ สื่อในเครือ ก็พยายามจะ maximize ให้ได้มากที่สุด เช่น ลงหนังสือพิมพ์รายวัน เขียนให้ Manager Magazine ซึ่งเป็นรายเดือน หนังสือพิมพ์ Asia Times ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ และเขียนให้ทุกอย่างแตกต่างกันด้วย เพราะฉะนั้น คุณไปทริป 1 ทริป ถ้าได้มาน้อยกว่า 7 เรื่องก็ไม่คุ้ม คุณจะต้องทำให้ต้นทุนมันลดลงมา เราเคยคำนวณนะตอนนั้น แสนหนึ่งเราได้ข่าวรายวันอยู่ 2 ชิ้น ได้ข่าวรายเดือนอีกชิ้นหนึ่ง ตกแล้วชิ้นหนึ่งก็หลายหมื่นบาท
จนกระทั่งมันเกิดวิกฤติเศรษฐกิจนั่นแหละ
แสดงว่าสภาพองค์กรไปแย่เอาตอนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
พอวิกฤติเศรษฐกิจ ทุกอย่างมันก็พัง คุณสนธิเขามีหนี้สินมากมาย เนื่องจากกู้เงินมา เราไม่เคยรู้เลยว่าเขากู้เงินมา แล้วมันก็พ่วงกับการลงทุนด้วย เนื่องจากเราทำข่าวเราก็หาข้อมูล แล้วก็ทำในส่วนที่มันตอบโจทย์การลงทุนของเขา เช่นมีนักลงทุนไทยอยู่เท่าไร ในเซ็กเตอร์นี้มีศักยภาพอะไร ยุคนั้นมันไม่มีข้อมูล ตั้งศูนย์ข้อมูลอินโดจีนมาก็เพื่อการนี้ ซึ่งเราก็มารู้ทีหลังหรอกว่าจริงๆ เขาก็มีวาระนี้อยู่
คุณสนธิเขาเป็นคนประเภทหมดเท่าไรก็หมดกัน เพื่อให้คุณเข้าไปถึงสิ่งนั้น เราเคยเปรียบเทียบสองคน ระหว่างคุณสนธิกับคุณสุทธิชัยนะ เขาต่างกันจริงๆ ในแง่สไตล์ เป้าหมาย
ตัวอย่างเช่น สมมติมีงานเลี้ยง มีงานครบรอบ อะไรอย่างนี้ สไตล์คุณสนธิจะบอกว่า คุณซื้อตั๋วเข้าไปนั่งกินด้วย แล้วกลับมาเขียนบอกว่าอาหารอร่อยหรือเปล่า เขาพูดเรื่องอะไรกัน ในนั้นมีใครเมาท์อะไรกันบ้าง นั่นคือสไตล์ของคุณสนธิ ในขณะที่คุณสุทธิชัยจะบอกว่า คุณไปรอหน้าห้อง ถามคนที่ออกมาซิ ว่าอาหารอร่อยหรือเปล่า
นี่คือสไตล์ที่เราพบว่ามันแตกต่างกันมาก ทำไมถึงทำให้ข่าวผู้จัดการมันอินไซต์มาก เพราะคุณเอาตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวในเรื่องนั้นเลย คุณต้องไปให้ถึง
เรียกว่าสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม
เออใช่ๆ คำนี้ถูกต้อง participatory report ก็ว่าได้นะ เพราะคุณต้องไปตรงนั้น ทำไมเราไม่แปลข่าวอินโดจีนจาก wire service เพราะมันไม่ได้ตรงกับความสนใจของคนไทยและนักลงทุนไทย
ตอนเราไปลาวที่บอกหมดไปแสนนึง คุณพันศักดิ์สั่งเราว่า ตอนนั้นมันมีการค้ารถ มีคนไทยซื้อรถจากดูไบขับขึ้นไปขายที่จีนตอนใต้ ที่คุนหมิง ตอนนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนยังกะปลกกะเปลี้ยมาก แต่คนเริ่มรวย อยากได้รถหรู ก็มีพ่อค้าไทยหัวใสค้ารถขับขึ้นไป คุณพันศักดิ์บอกว่าให้ไปหาทีว่าใครเป็นพ่อค้ารถ นั่งรถไปกับเขา เขียน feature เริ่มต้นจากข้ามเรือ ถ้านั่งรถไปจากเชียงของก็ต้องไปค้างที่หลวงพระบาง พอข้ามตรงนี้มามันก็คือของเถื่อน แล้วแม่น้ำโขงในฤดูน้ำหลาก น้ำจะแรงมาก มีรถตกแม่น้ำโขงลงไปเพราะว่าใช้แพ เพราะฉะนั้น ทำข่าวที่เป็นข่าวของเถื่อน ข่าวเสี่ยงภัย คุณต้องไป คุณต้องทุ่มเท มันไม่ใช่การทำงานแค่รับเงินเดือน คุณต้องทุ่มเท คุณต้องรู้สึกสนุกกับมัน
คีย์สำคัญของเรื่องนี้ก็คือ บริษัทซึ่งทุ่มเทให้กับการเป็นนักข่าวโดยที่ไม่มายด์เรื่องต้นทุนในยุคนั้นมีจริง เราพิสูจน์แล้วว่ามันมีจริง แต่มาถึงยุคหลัง อย่างเนชั่น ตั้งแต่อยู่มา 18 ปี เราเคยไปทำข่าวด้วยเงินของเนชั่นน่าจะไม่เกิน 3-4 ครั้งเท่านั้น ที่เหลือไปกับกระทรวงการต่างประเทศซึ่งสปอนเซอร์ให้
แล้วพอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ศูนย์อินโดจีนตอนนั้นเป็นอย่างไร
วันที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เราอยู่ในสีป้อ ไปตามหาเจ้าก้านยอด ไปรอเขาอยู่อาทิตย์หนึ่ง วันนั้นรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทตอนปี ’97 พอกลับมาโทรศัพท์ก็ถูกตัด อะไรก็ถูกยึดเป็นเงินหมด จริงๆ บริษัทก็เริ่มเลย์ออฟคนมาก่อนหน้านั้น แต่เรายังไม่รู้ตัวนะ เรายังเอนจอย ยังขอเบิกเงินเดินทาง ทริปสุดท้ายคือไปนอนรอเจ้าก้านยอดอยู่ในป่าสีป้อ โรงแรมแบบโรงเตี๊ยมเน่าๆ เหม็นๆ แล้วตักน้ำในตุ่มในบ่อมาอาบ พอกลับมาปุ๊บ คุณสนธิก็บอกว่าบริษัทเรา collapse แล้ว ศูนย์อินโดจีนเป็นศูนย์แรกที่ใช้เงินมากที่สุด จริงๆ ตอนนั้นก็เริ่มต้องลดๆ การพิมพ์ Asia Times ก็จะหยุดพิมพ์ จะไปออนไลน์ ซึ่งจริงๆ เราก็ทดลองระบบออนไลน์ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่มันก็ไม่ทำเงินอย่างที่ว่า เหมือนเนชั่นตอนนี้แหละ
สุดท้ายก็คือจบ ก็ออก หางานทำใหม่ เราไปสมัครสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง สุดท้ายที่ที่รับก็คือสำนักข่าวเกียวโด ที่เขาต้องการมากคือเป็นผู้ช่วยนักข่าว หรือเป็น fixer ตอนเราไปสมัคร เพื่อนที่ทำอยู่ที่นั่นก็บอก เฮ้ย พี่จะมาได้เหรอ พี่เป็นหัวหน้าข่าวแล้วนะ เราบอก ตอนนี้อะไรก็ได้ที่ทำให้เรามีชีวิตรอด ให้เราทำเถอะ เงินเดือนไม่เอามากเท่าเดิมแน่นอนเลย ได้เงินเดือนน้อยกว่าเดิม เรายอม downgrade ตัวเอง แต่ก็ขอเขียนในเรื่องที่ตัวเองสนใจ
แล้วงานที่สำนักข่าวเกียวโดเป็นอย่างไร
ไปที่เกียวโดเรายังคงทำเรื่องอินโดจีนอยู่ เขาก็มีคนทำเรื่องไทย เรื่องที่เราทำแล้วโด่งดังที่สุด ที่สร้างชื่อให้เกียวโดสมัยเราอยู่คือ กวาวเครือ สมุนไพรกวาวเครือเพื่อเสริมอึ๋ม ก็คนญี่ปุ่นเขาสนใจอะไรบ้าๆ บอๆ อย่างนี้ใช่ไหม แต่เราคิดว่าอันนี้ทำเพื่อความอยู่รอดของชีวิต ก็ต้องทำข่าวอะไรก็ได้
แต่ที่เกียวโดก็เป็นที่ที่ชุบชีวิต เพราะทำให้ยังคงทำงานเป็นนักข่าวต่อไปได้ มันเป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่า ความเป็นนักข่าวมันเรียกร้องว่าคุณต้องรู้ทุกเรื่อง คุณไปทำแต่เรื่องที่คุณสนใจอย่างเดียวไม่ได้แล้ว
เพราะฉะนั้น กับเรื่องกวาวเครือ ถ้าลองคิดแบบเรา กวาวเครือมันอาจจะไม่เสริมอึ๋มอย่างเดียวนะ มันอาจเป็นพิษไหม ก็หาในแง่มุมผู้บริโภค มันต้องทดลองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ถูกไหม เราก็เลยไปหาหมอวิชัย โชควิวัฒน์ แกก็เลกเชอร์ เรื่องการ Clinical Trial แกถามคำถามว่า คุณรู้หรือเปล่าอวัยวะเพศชายแข็งตัวได้อย่างไร—ก็ blood flow มั้งครับ เส้นเลือดดำหรือแดง—ไม่รู้ แกบอก คุณอย่าพูดเรื่องกวาวเครือส่งเดช สิ่งที่กวาวเครือทำมันอาจมีพิษตกค้าง เราก็เขียนข่าวชิ้นนี้ ตอนนั้นทำหลายมุมมาก ไม่น่าเชื่อว่าเราทำข่าวกวาวเครืออยู่ได้หลายเดือน นั่งรถไปหาบริษัทที่ตลาดแถวสี่มุมเมืองว่ามีขายกวาวเครือไหม ขายอย่างไร ไปสัมภาษณ์เพื่อนผู้หญิง คุณคิดว่านมโตมันบอกอะไรกับคุณบ้าง ทำไมคุณถึงอยากมีนมโต เราก็พบว่า เออว่ะ ถ้าเราคิดแบบนักข่าว เราต้องคิดประมาณนี้
ทุกวันนี้เรื่องกัญชาเราก็บอกนักข่าวเราในออฟฟิศ ว่ามันไม่ใช่ทุกอย่าง อะไรที่เป็นสมุนไพรไม่ใช่มันดีหมดนะ อย่ามองด้านเดียว เพราะฉะนั้นเวลาทำข่าว สมัยก่อนคุณพันศักดิ์ใช้คำว่า ‘พวกม้าลำปาง’ คุณมองตรงไปแค่นี้ ข้างๆ คุณไม่มองเลย ไม่เห็นอะไรมากไปกว่านั้น
งานสำนักข่าวต่างประเทศก็น่าสนุกดี แล้วทำไมถึงไปทำงานที่เดอะ เนชั่น
เนชั่นมีคนลาออก เขาอยู่โต๊ะ region เขาก็มาชวนว่าขาดคน เนชั่นเป็นที่ที่อยากจะไปแต่แรก แต่แล้วก็ไม่ได้ไป คลาดกันอยู่หลายครั้ง
ตอนนั้นภาพลักษณ์ของเนชั่นในสนามข่าวเป็นอย่างไร
ดีมาก แต่มันก็ช่วงขาลงแล้วล่ะนะ เพราะมันหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ก็เป็นเครือที่รอดจากวิกฤติเศรษฐกิจ เขาปิดออฟฟิศที่พนมเปญและที่ต่างๆ แล้ว แต่ก็ยังทำข่าวในประเทศภูมิภาคกันอยู่ ก็เกาะกระทรวงต่างประเทศกันเป็นส่วนใหญ่
ตอนนั้นสเตรทไทม์ส สิงคโปร์เพรสโฮลดิงส์ ถือหุ้นที่เนชั่น วอลสตรีตก็ถือหุ้นที่เนชั่น ดูเป็นอะไรที่อินเตอร์มาก หนังสือพิมพ์วอลสตรีตเองก็จ้างให้เนชั่นพิมพ์และเผยแพร่ในประเทศไทย ตอนหลังก็มาแชร์คอนเทนต์กัน ก็เป็นอะไรที่ยังดูดีอยู่
ทุกวันนี้รูปแบบการทำข่าวมันกับสมัยก่อนอย่างไรบ้าง
มันเปลี่ยนไปเยอะ ทุกวันนี้สื่อกระแสหลัก แม้แค่เป็น gatekeeper ก็ยังทำไม่ได้
กับเนชั่น สถานการณ์ทางการเงินมันเปลี่ยนไป มันถูกแรงกดดันจากสองสิ่ง หนึ่งคือ การเงิน แล้วก็ technology disruption มันเปลี่ยนบทบาทใหม่ของสื่อมวลชน เราสูญเสียการผูกขาดข้อเท็จจริง ความจริงเขาเรียก monopoly of truth เราสูญเสียสถานะนี้ไปน่าจะสักเป็นสิบๆ ปีแล้วล่ะ เพราะหลังจากที่ทุกคนสามารถรายงานข่าว อย่างข่าวพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) เสียชีวิต เราพึ่งสื่อกระแสหลักหรือเปล่า—เปล่า เราดูเฟซบุ๊กใครก็ตามที่แชร์เรื่องนี้ขึ้นมา อาจจะเป็นนักข่าวมืออาชีพแชร์เรื่องนี้ หรืออาจเป็นนายทหารที่ใกล้ชิดเปรม หรือเป็นญาติพี่น้อง โดยที่เราไม่ต้องรอหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น เราไม่ต้องรอทีวีประกาศ การคอนเฟิร์มข่าวทำโดยคนธรรมดา ไม่จำเป็นจะต้องมีเป็นสื่อมวลชนก็ได้
ฉะนั้นสื่อมวลชนก็เลยสูญเสียบทบาทของการผูกขาดข้อเท็จจริง — ความจริง ไม่รู้จะใช้คำไหน เมื่อก่อนเราเคลมว่า เรารายงานความจริง แต่ในความจริงนั้น ตอนหลังเราก็รู้แล้วว่าความจริงถูกผลิตขึ้น มันเป็นวาทกรรมมากกว่าจะเป็นเรื่องจริงๆ จริงไม่จริงบางทีมันก็ไม่ใช่ประเด็นมากเท่ากับว่า เรื่องนี้ถูกปล่อยออกมาทำไม
เพราะฉะนั้น วิถีชีวิตการทำงานของสื่อมวลชนจึงเปลี่ยนไปมากๆ เลย ยกตัวอย่างส่วนตัวก็ได้ เมื่อถูกภาวะทางการเงินรุมเร้าแบบนี้ เราก็ต้องเปลี่ยนวิถีของการทำงาน รายได้เป็นวัตถุประสงค์หลักขององค์กรสื่อ ทุกวันนี้ข่าวอย่างที่เราเล่าก่อนหน้านี้ว่า เราเป็นนักข่าว เช็กข่าว คอนเฟิร์มข่าว ข่าวผิดเรารับผิดชอบ จึงไม่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ภาวะกดดันทางการเงินทำให้บริษัทที่ทำอุตสาหกรรมสื่อต้องมุ่งหารายได้เพื่อความอยู่รอดมากๆ เพราะฉะนั้น ก็จะผ่อนคลายเนื้อหาที่มี favor ของวารสารศาสตร์ลงมากๆ ด้วย
อย่างที่เรากำลังดีเบตกันในออฟฟิศว่า ปัจจุบันเนชั่นที่เป็นหนังสือพิมพ์มันจบภารกิจ เพราะความเป็นหนังสือพิมพ์มันถูกการพิมพ์กำหนดว่าต้องตรวจสอบก่อนพิมพ์ และสื่อของเราจะต้องแตกต่างจากสื่อกระแสหลักทั่วไป เราก็สรุปว่าความจริงที่สุดอยู่ที่นี่ สิ่งที่คุณเห็นบน social media อาจไม่จริง นี่คือสิ่งที่เราเคลม แต่เมื่อมันไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว เราจะเคลมจากอะไร
เราก็กลับมาทำออนไลน์ everything’s online, everything’s digital. ฉะนั้นอะไรคือความแตกต่าง มันไม่ยากเลยระหว่างการสวิตช์จากเฟซบุ๊ก มาเป็นทวิตเตอร์ มาเป็นเว็บไซต์ ความต่างอยู่ตรงไหน แทบไม่มีความต่าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเคยเคลม มันก็ไม่ได้
ส่วนสื่อที่เปลี่ยนมาจากสื่อกระแสหลักก็มีภาระมาก ถ้าเปรียบเหมือนยานอวกาศชนิดหนึ่งหรือเครื่องบิน เวลาเราอุ้มคนจำนวนมากเอาไว้ อันเก่ามันพังแล้ว ไม่ไหวแล้ว เราจะต้องสร้างยานลำใหม่ แต่ว่ายานลำใหม่ เราสร้างใหญ่เท่าเดิมไม่ได้ เพราะหนึ่ง ต้นทุนแพง สอง มันไม่ powerful ในแง่ของธุรกิจ มันสร้างรายได้ไม่ได้เยอะ
ช่วงที่อยู่เนชั่น ในวิชาชีพงานข่าวคุณเจอวิกฤติมากี่ครั้ง
คือเนื่องจากเราสนใจออฟฟิศน้อยมากนะ ตอนที่คุณสมพร จึงรุ่งเรืองกิจเข้าถือหุ้น คุณสุทธิชัยก็ปลุกม็อบใหญ่เลย เป็นการสู้กันทางธุรกิจ
ตอนนั้น กลุ่มนั้นอยากจะขอมีที่นั่งในบอร์ดบริหารด้วย เพราะว่าหุ้นเขากว่า 60% เยอะกว่ากลุ่มคุณสุทธิชัยที่มีรวมกันทั้งกลุ่มก็ราว 11% น้อยมาก แต่บริหาร 100% จนกระทั่งเกิดการสู้กันกับกลุ่มใหม่นี้ คุณสุทธิชัยก็เลยปลุกม็อบพนักงาน บอกว่านายทุนจะยึดเนชั่น ช่วงนั้นเราไม่ได้ค่อยสนใจมาก เราคิดว่าในที่สุดคุณสุทธิชัยก็คงชนะ แล้วเขาก็ชนะจริงๆ
ตอนนั้นความกังวลของคุณสุทธิชัยคืออะไรคะ
มันมีเรื่องทักษิณด้วย เพราะนามสกุลจึงรุ่งเรืองกิจ แต่ที่จริงคุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กับคุณสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เขาไม่ได้ทำธุรกิจอะไรด้วยกัน และการซื้อหุ้นตอนนั้นมัน friendly มาก ก็คือคุณธนาชัย (ธีรพัฒนวงศ์) เป็นคนเอาไปเสนอเอง แต่ว่าเขาขอเข้ามานั่งในบอร์ดบริหาร ซึ่งทางนี้ก็ไม่อยากจะเสียศูนย์กลางการควบคุมบริษัท สุดท้ายคุณสมพรก็ยอมทิ้งหุ้นแล้วก็ไปเอาหุ้นมติชนแทน
พอเนชั่นฉบับหนังสือพิมพ์กำลังจะปิดตัวไป คงไว้แต่สื่อออนไลน์ ซึ่งดูจะต้องปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจใหม่ที่เข้ามาดูแลด้วย ตอนนี้ เดอะ เนชั่นจะวางยุทธศาสตร์อย่างไร และจุดยืนของกองบรรณาธิการยังคงเดิมไหมคะ
ตอนนี้ก็ยังหารือกันอยู่ว่าจะอย่างไร ไอเดียเรา—ซึ่งถูกปัดตกไปแล้ว ว่าเราจะทำ premium content เช่น ข่าววิเคราะห์หนักๆ (hard news analysis) ข่าวที่มีแง่มุมเชิงลึก เหมือนอย่างเดอะ นิวยอร์กไทม์ส เรายกโมเดลนี้ขึ้นมาเพราะมันประสบความสำเร็จมากในการรักษาคุณภาพของเนื้อหาเอาไว้ แล้วก็ใช้ระบบ subscription (สมัครสมาชิก)
เขาบอก subscription ก็อาจจะมีปัญหา คือคนที่อยู่กับเนชั่น อ่านออนไลน์ฟรีมาตลอดชีวิต จนในวันที่เราคิดว่าเขาจะต้องจ่ายเงิน เขาก็ไม่คิดจะจ่ายแล้ว เมื่อเขาไม่จ่าย อ่านฟรีเรายังได้แค่ 15,000 คน ถ้าเก็บเงินนี่จะได้ถึง 5,000 ไหม มันก็ยังไม่โน้มน้าวใจเท่าไร ทีนี้ก็เหลือแต่ว่า เราจะจัดสัดส่วนสำหรับเนื้อหาซึ่งเป็น hard news ซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา กับส่วนอื่นๆ เช่น soft news หรือแม้แต่ sponsored content อย่างไร
อันนี้กำลังดีเบตกันในออฟฟิศอย่างใหญ่หลวง เพราะว่าหลังจากประกาศปิดหนังสือพิมพ์แล้ว รายได้จะหายไป 90% และเราก็ยังไม่มีแผนชัดเจนว่า เราจะหาอะไรมาทดแทน 90% นั้น
เวลาหารือเรื่องเหล่านี้ร่วมกัน กองบรรณาธิการได้คุยกันมากน้อยแค่ไหน สไตล์การทำงานของคนข่าวเดอะ เนชั่นเป็นอย่างไร
เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผู้บริหาร แต่เดิมมันเหมือนมองตาก็รู้ใจ เราก็ทำกันมาแบบนี้ พี่เทพชัย หย่อง คุณสุทธิชัย หยุ่น แนวมันเป็นแบบนี้
แต่ผู้บริหารทีมใหม่ เขามาแนวเน้นเรื่องธุรกิจ ทุกครั้งที่ประชุมกอง บ.ก. ไม่ได้พูดเรื่องเนื้อหาเท่าไร พูดเรื่องว่ารายได้เราตกลงเท่าไร แล้วเราควรจะทำรายได้เท่าไร เพราะฉะนั้น มันก็จะเกิดการปะทะกันระหว่างกอง บ.ก. กับฝ่ายบริหาร ฝ่ายการตลาด
สมัยเรามารับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารวันแรก (ช่วงเดือนมีนาคม 2018) มีบทความชิ้นหนึ่งคนดูเยอะมาก 40,000 เพจวิว แต่ปรากฏว่า คสช.สั่งห้ามออนไลน์บทความที่คนคนนี้เขียน เขาก็เลยปลดบทความนั้น เราโมโหมาก บอกว่าเราขอให้มีการสืบสวนว่าใครแอบปลดบทความเรา ทุกคนก็บอกไม่มีใครรู้ มันเป็นไปไม่ได้ที่ไม่มีใครรู้ คือกอง บ.ก. ไม่ได้คอนโทรลหลังบ้าน แต่เป็นฝ่ายเทคนิค ซึ่งเขาก็ไม่ยอมสืบสวนกัน เราก็เลยไปสืบๆ มา พอรู้แล้วว่าใครทำ เขาบอกว่าโดนสั่งมา คสช.ขอมา
แล้วมีครั้งหนึ่งซึ่งประหลาดมาก คือสถานทูตเกาหลีเหนือขอมา มีกรณีจับชาวเกาหลีเหนือที่เชียงรายที่กำลังข้ามแม่น้ำโขง เราก็ขึ้นข่าวไปแล้วเป็นเบรคกิงนิวส์ ปรากฏว่าสถานทูตเกาหลีเหนือโทรมา แล้วก็มีการสั่งช่างเทคนิคที่ดูหลังบ้านให้เรา เขาก็ถอดบทความนั้นออกไปเฉยๆ เราก็ไปถามว่า คุณถอดออกไปโดยที่ผมไม่รู้เรื่อง นี่ผมเป็น บ.ก. เขาบอกว่า ผู้ใหญ่ขอมาพี่
เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นเยอะมากในช่วงแรกๆ ที่เรารับตำแหน่ง
คุณสุภลักษณ์เองได้สัมผัสการทำงานทั้งกับคุณสนธิสมัยอยู่ผู้จัดการ และคุณสุทธิชัยตอนอยู่เนชั่น ที่ต่างก็มีอุดมการณ์ของนักวารสารศาสตร์ แต่ตอนนี้ทั้งคู่ก็ไม่อยู่ที่งานหนังสือพิมพ์แบบเดิมแล้ว ทุกวันนี้เนชั่นยังมีอุดมการณ์แบบนักวารสารศาสตร์ไหม
เนชั่นเปลี่ยนไป เพราะว่าการเข้ามาของกลุ่มผู้บริหารใหม่ เขาไม่มีประสบการณ์ในเชิงคอนเทนต์แบบนี้มาก่อน เขาเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตรงไปตรงมา
ทำไมการปรับตัวครั้งนี้ จึงเปลี่ยนชื่อจาก The Nation มาเป็น Nation Thailand
เขาบอกว่าชื่อ Nation มันไปซ้ำกับหลายที่ทั่วโลก มี The Nation ในสหรัฐฯ มี The Nation ในพม่า และในหลายๆ ที่ ทุกวันนี้เราเวลาเราค้นกูเกิล หาหนังสือพิมพ์ The Nation เรามักจะเจอ The Nation ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของฝ่ายซ้ายในสหรัฐฯ เราก็เลยอ่านแต่อันนั้นตลอดเวลา (หัวเราะ) มันก็เข้าท่าเหมือนกันนะ
แล้วคิดว่ามองเห็นทางออกด้าน Business Model ของการปรับเปลี่ยนไปสู่ออนไลน์หรือยัง
ยังไม่มีอะไร promising นะ ตอนนี้ ในโลกนี้ที่ประสบความสำเร็จเท่าที่เราเห็นก็มีอยู่ 2 เจ้า คือ เดอะ นิวยอร์กไทม์ส ที่ใช้ระบบสมัครสมาชิก กับโมเดลของเดอะ การ์เดียน ซึ่งใช้พลังการบริจาค
แล้วอย่างเนชั่น เราไปเลียนแบบเขาได้ไหม คือพูดตามตรงมันเสี่ยง สิ่งที่คุณกนก รัตน์วงศ์สกุลพูดไว้ในทีวี คนไม่ได้จำเฉพาะทางทีวีเนชั่นนะ เขาหมายถึงหนังสือพิมพ์ด้วย ไม่มีใครแยกเราออกเลย
ความรู้สึกของคนในเนชั่นเป็นอย่างไร เมื่อสื่ออื่นในเครือมีจุดยืนและอุดมการณ์ที่ต่างกัน
มันแย่มาก เหมือนเราต้องปะทะกันเองตลอดเวลา เช่น ข่าววันนั้นที่เราเล่น (ข่าวของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต่อว่าเนชั่นทีวีออกกลางอากาศ กรณีเผยแพร่คลิปเสียงตัดต่อ) เราก็ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานว่าจะเอาสิ่งที่ทีวีเนชั่นแก้ตัวขึ้น หรือจะเอาสิ่งที่ธนาธรพูดขึ้น ในที่สุดเราก็ต้องยอมกลืนเลือด โอเค เรายอมทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน สิ่งที่ทีวีเนชั่นพูด เราคิดว่าไม่ convince ไม่สามารถ justify ได้ แม้เขาบอกว่าไม่ได้พาดพิงชื่อใคร เราบอกนั่นมันเป็นการแถ มองจากมุมไหนก็รู้ แม้เราอยู่บริษัทนี้ เราจะไม่ปิดบังสิ่งเหล่านี้ เราพูดว่า สิ่งที่ธนาธรกล่าวต่อว่าเนชั่นทีวี นั่นเป็นประเด็นข่าวซึ่งคนทั่วไปอยากอ่าน เราก็ต้องทำอยู่แล้ว
ก่อนที่จะเล่นข่าวนี้ก็หารือกัน ตอนแรกเขาก็มีข้อเสนอว่า เราไม่เล่นข่าวนี้ได้ไหม เพราะว่ามันทำลายชื่อเสียงของเครือ เราบอกว่า ที่เราจะต้องทำคือ การควบคุมความเสียหาย (damage control) ทำให้ชื่อเสียงในฐานะนักวารสารศาสตร์ของเรายังคงอยู่ ความเป็นอิสระของเดอะ เนชั่นจำเป็นจะต้องอยู่ เพราะฉะนั้น นี่คือจุดยืน ผมบอกในฐานะ บ.ก. เราต้องรับผิดชอบ ถ้าผู้บริหารมีปัญหา เรายินดีจะเถียง เรายินดีจะสู้ สุดท้ายก็ออกมาเป็นข่าวนั้น
เราก็ยืนยันว่า ผมอยู่ได้เพราะชื่อเสียงแบบนี้ คนอ่านเนชั่นเพราะมีชื่อเสียงแบบนี้ สิ่งที่ผู้ก่อตั้ง—คุณสุทธิชัยทำมา แม้บางเรื่องเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่นี่เป็นจุดยืนของหนังสือพิมพ์ที่ทำให้เขาอยู่รอดมาตั้ง 40 กว่าปี เราไม่ควรจะทำลายมัน ทำไมคนถึงมาอ่านเนชั่น ก็เพราะมันมีสิ่งเหล่านี้ ถ้ามันไม่มีสิ่งเหล่านี้ ใครจะอ่านเนชั่น
เพราะฉะนั้น อะไรที่เป็นจุดเด่นของคุณ คุณก็ต้องรักษา อันนี้มันคือ niche ของความเป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็น niche ของเนชั่น แต่ถ้าคุณจะละทิ้งสิ่งเหล่านั้น ก็คือการละทิ้งจุดแข็งของคุณ สิ่งที่จะต้องป้องกันเอาไว้ก็คือ ethic ของเราเอง อัตลักษณ์มันอยู่ แต่ตอนนี้ก็ไม่ค่อยแน่ใจแล้วล่ะ เพราะถ้ามันเปลี่ยนฟอร์มไป มันจะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้แบบไหน
ภาพรวมวงการนักข่าวไทย คุณสุภลักษณ์มองว่ามีอนาคตอยู่ไหมคะ
ไม่ค่อย เนื่องจากว่านักข่าวก็จะถูกภาวะทางเศรษฐกิจ ทางรายได้ force ให้มันค่อยๆ ละลาย คนที่จะอยู่ได้มันยังไม่เจอโมเดล
โอเค อย่างในภูมิภาคนี้เราก็พูดถึงเว็บมาเลเซียกินี (Malaysiakini) เขาก็ยังลำบากอยู่ ในที่สุดเขาต้องยอมขายหุ้นโน่นนี่นั่น แต่ก็ยังรักษาส่วนข้างมากไว้ได้อยู่ สตีเฟน (ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์มาเลเซียกินี) ก็ยังรักษาจริยธรรมของวารสารศาสตร์ของเขาไว้ได้อยู่ จาการ์ตาโพสต์ก็มีระบบพรีเมี่ยมคอนเทนท์ เนื้อหาที่เป็นคุณภาพของหนังสือพิมพ์นั้นที่คนดูต้องจ่ายเงิน ซึ่งต่อไปบางกอกโพสต์อาจจะทำได้ถ้าไม่มีเดอะ เนชั่น
ถ้าหากสามารถยืนระยะจนเป็นผู้รอดคนสุดท้ายในสนามได้ล่ะ
คุณก็ต้อง manage ตลาดน่ะ คุณถึงจะทำได้ อย่างนิวยอร์ก ไทม์สทำได้ การ์เดียนทำได้ มีคนเชื่อมั่นในสิ่งที่คุณรายงานจึงยอมที่จะจ่าย ซึ่งอย่างนิวยอร์ก ไทม์สมันต้องใช้เวลาเป็น 100 ปี ที่นี่ แม้แต่ 40 ปี มันก็เริ่มเป๋แล้ว
ถ้าคุณยืนยันเรื่องสร้างชื่อเสียง มันต้องผ่านการต่อสู้มา ซึ่งจริงๆ เนชั่นก็มีประวัติที่ดีสำหรับการต่อสู้มา แต่ว่าตอนที่คุณสุทธิชัยจะจากไป โอเค—เรารู้ว่าแกเจ็บปวดมาก แต่เราเองก็เจ็บปวดที่คุณสุทธิชัยจากเราไป โดยที่เราไปกินข้าวกับแกชั่วโมงหนึ่ง แกไม่พูดถึงสักคำ เราน้อยใจมากเลย คุณสุทธิชัยรู้ว่าผมเป็น บ.ก. ผมอยู่กับคุณมาตั้งนาน คุณจะไป ไม่มีคำลาเลยสักคำเดียว แล้วไม่แยแสด้วยว่าผมจะอยู่อย่างไรต่อไป อย่างน้อยที่สุด บอกว่า เฮ้ยคุณพยายามรักษาคุณค่าของเนชั่น อะไรอย่างนี้บ้างก็ยังดี เหมือนกับว่าถ้ามึงจะตามพวกนั้นไปก็เชิญ เรารู้สึกว่า ทำไมผู้นำทางจิตวิญญาณเราช่างใจจืดใจดำ
ตอนนั้นเขาอาจจะเจ็บปวดมากอยู่
เรารู้ว่าเขาเจ็บมาก แล้วเขาก็ไม่อยากจะพูดถึง แต่มันเหมือนกับที่พี่กวีมาพูดกับเรา เฮ้ย มึงต้องรักษาหนังสือพิมพ์เอาไว้ให้ได้ ประเทศไทยมันจะมีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับเดียวไม่ได้ ผมก็บอกว่า ทำไมผมต้องรับภาระอันนี้คนเดียวล่ะ
ทุกวันนี้ อะไรเป็นอุปสรรคต่อการทำงานมากที่สุด
ก็ปัญหาทางการเงินนี่แหละ แล้วก็การเมือง เนื่องจากการเมืองไทยแบ่งแยกมาก เป็นสิบกว่าปีแล้วที่สื่อเริ่มแบ่งค่ายแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน ระหว่างเทพกับมาร ถ้าค่ายนั้นอยู่ฝ่ายมาร จะมีฝ่ายเทพ
ตัวอย่างที่ยกให้ได้ก็คือ ปีที่แล้ว ผมเขียนข่าววิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล แล้วก็ทำแพ็กเกจครบรอบ 4 ปีของ คสช. เราเขียนว่าความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงที่ คสช. บริหารงาน วันนั้น สื่อในเครือก็สัมภาษณ์พิเศษคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์พอดี พูดถึงทิศทางที่ดีทางเศรษฐกิจ
วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่นเป็นฉบับเดียวที่บอกว่า ความเหลื่อมล้ำมันถ่างมากขึ้น ในขณะที่สื่ออื่นในเครือบอกว่าสัญญาณดี จากคำสัมภาษณ์ของคุณสมคิด ซึ่งให้สัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟกับทางเครือ คุณสมคิดก็โทรไปด่า ผู้บริหารก็เรียกผมไปด่าเช่นกัน
มันคล้ายๆ ว่าเราพึ่งพิงการทำอีเวนต์ให้รัฐบาล พรรคพลังประชารัฐทำอีเวนต์ เครือเราก็ไปจัดให้ ถึงแม้จะไม่พูดว่าเขียนเชียร์กันตรงๆ แต่คนอ่านก็รู้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็คือ มันเปลี่ยนธรรมชาติของมันไป เพราะฉะนั้น พวกเขาก็เหมือนจะอิดหนาระอาใจกับเราเป็นการส่วนตัว พูดทีไรเราก็เถียง ด่ามาเราก็ด่าไปอย่างนี้
วันนั้นเราก็นั่งเลกเชอร์ chief editor ของเครืออยู่ประมาณชั่วโมงหนึ่ง สิ่งที่คุณจะต้องทำคือต้องปกป้องพวกผมสิ ไม่ใช่ว่า คสช. โทรมาแล้วคุณมาโทรด่าผมอย่างนี้ คุณจะต้องดีเฟนด์ว่านี่คือหลักการ นี่คือหลักจริยธรรมของเรา เพราะฉะนั้นหนังสือพิมพ์ด่ารัฐบาลก็เป็นธรรมชาติของหนังสือพิมพ์ที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หนังสือพิมพ์ทำหน้าที่สามอย่างนะ ให้ข่าวสารข้อมูล ติชมวิพากษ์วิจารณ์ และโฆษณาประชาสัมพันธ์ 2-3 อย่างนี้ก็ต้องได้สัดส่วนกัน อันนี้คือสื่อทั่วๆ ไป ในฐานะที่เป็นสื่อกระแสหลัก คุณวิจารณ์ทักษิณได้ อุ๊ยชอบมาก แต่คุณวิพากษ์ คสช. ไม่ได้ มันก็ไม่ได้ดุล ใช่หรือเปล่า
แล้วสามารถคุยกันรู้เรื่องไหมคะ
ไม่ค่อยรู้หรอก อย่างมากก็คือเขาก็ยอม เราก็พูดในฐานะว่าเราแก่ เราอยู่กับบริษัทนี้มานาน เราทำหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มานาน นี่คือสิ่งที่เป็นจุดเด่นของเรา คุณทาบทามผมมาเป็น บ.ก. นี่เพราะอะไร เพราะชื่อเสียงของผม ใช่หรือเปล่า ถ้าคุณจะทำลายชื่อเสียงของผม คุณก็ไล่ผมออกก่อนจะดีกว่า เพราะว่ามันจะต้องทำแบบนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะต้องยอมให้ผมทำในสิ่งเหล่านี้ เพราะว่านี่มันคือจุดขายของเรา นี่คือจุดแข็ง ผมอยู่ในฝ่ายที่เชื่อว่าคุณภาพของผลงานจะสร้างรายได้ได้ในที่สุด แต่ถ้าคุณไม่เชื่อสิ่งเหล่านั้น คุณยอมลดคุณภาพลง แล้วเอารายได้เป็นหลัก มันก็จะลำบาก
คุณสุภลักษณ์จะยืนระยะไปได้อีกนานเท่าไร
ไม่ยืนแล้วครับ เมื่อปิดหนังสือพิมพ์ ก็ปิด ก็จบ
Fact Box
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เรียนจบปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อจบการศึกษาในปี 2531 ก็เริ่มต้นทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ทั้งที่ประชาชาติธุรกิจ เครือผู้จัดการ สำนักข่าวเกียวโด ก่อนจะมาทำงานที่หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่นนาน 18 ปี
สุภลักษณ์เป็นนักข่าวที่มีความสนใจและเชี่ยวชาญในพื้นที่อินโดจีน ติดตามทำข่าวพื้นที่ความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา เมียร์มาร์ ลาว ฯลฯ
ในช่วงที่หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่นเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ จนกระทั่งผู้ก่อตั้งอย่าง สุทธิชัย หยุ่น ตัดสินใจบอกลาองค์กรสื่อที่สร้างขึ้นมา สุภลักษณ์ซึ่งขณะนั้นเป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ จึงต้องเปลี่ยนสถานะมาเป็นบรรณาธิการบริหารในเดือนมีนาคม 2561 และเป็นบรรณาธิการบริหารคนสุดท้ายของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ที่มีอายุ 48 ปี