“ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด มนุษย์จึงมักมองสิ่งต่างๆ แยกส่วนกัน

การเมืองก็ส่วนการเมือง สิ่งแวดล้อมก็สิ่งแวดล้อม

ความเหลื่อมล้ำก็เรื่องของความเหลื่อมล้ำ อย่าเอามาโยงกัน

คนก็ส่วนคน นกก็ส่วนนก ต้นไม้ก็คือเรื่องของต้นไม้ ไม่เกี่ยวข้องกัน

แท้จริงแล้ว ถ้าเราเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และปรับใช้

สิ่งต่างๆ ล้วนเชื่อมโยงกันประหนึ่งเรื่องเดียวกัน”

….

 

‘เริงชัย คงเมือง’ คือแอคทิวิสต์ในความเป็นช่างภาพสารคดี เขาทำงานขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งการทำงานร่วมกับพี่ชายฝาแฝด—เริงฤทธิ์ คงเมือง และการลุยเดี่ยว เขาบอกเล่าประเด็นต่างๆ ด้วยการเดินทางไปถึงพื้นที่ ยกกล้องขึ้นมาบันทึกภาพ

ผลงานของเขาเผยแพร่ในสื่อหลากหลาย โดยเฉพาะใน National Geographic ฉบับภาษาไทยที่เป็นเหมือนสนามใหญ่และสร้างชื่อให้เขามากที่สุด และผลงานหลายชิ้นของเขาก็ได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติ

หลายปีก่อน เริงชัยจัดแสดงนิทรรศการ ‘Dark Side of the City’ ร่วมกับพี่ชาย เขาบันทึกภาพชีวิตผู้คนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โครงการก่อสร้างที่ไม่เพียงส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำร้ายวิถีชุมชนแบบยากจะคืนกลับ

หลายครั้ง เริงชัยเล่าเรื่องปัญหาสังคมด้วยภาพถ่ายผู้คน

สำหรับครั้งนี้ เป็นอีกครั้งที่เขาเล่าเรื่องด้วยภาพถ่ายผ่านต้นไม้

 

 

…..

 

‘Gallery of Trees’ เป็นโครงการหนังสือของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เนื้อหาภายในเล่ม คือการรวบรวมภาพถ่ายและเรื่องราวต้นไม้ใหญ่ 45 ต้นทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติ พระราชวัง สถานศึกษา ชุมชน และบ้านเรือนประชาชน แต่ละต้นล้วนมีเรื่องราวสำคัญต่อทั้งประวัติศาสตร์ สังคม

เริงชัยเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อบันทึกภาพต้นไม้ทีละต้น…ทีละต้น

เขาคือช่างภาพผู้ถ่ายภาพต้นไม้ทั้งหมดในหนังสือเล่มดังกล่าว

 

 

(Gallery of Tress โครงการหนังสือของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร)

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาถ่ายภาพต้นไม้ นอกจากที่เคยถ่ายภาพต้นไม้บนปกและประกอบกับสารคดีภายในเล่มของนิตยสาร a day ฉบับ 168 (สิงหาคม 2557) มาแล้ว ประมาณ 10 ปีก่อน เริงชัยเคยถ่ายภาพประกอบบทความ ‘ไทร 24 ชั่วโมง’ ในนิตยสาร National Geographic บันทึกภาพสรรพชีวิตรอบต้นไทรทั้งวันทั้งคืน งานครั้งนั้นทำให้เขาได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างต้นไม้และสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิด

“ในเชิงเนื้อหามันน่าสนใจมาก ถ้าคนไม่ได้สนใจธรรมชาติก็จะไม่ค่อยได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับต้นไม้ ทุกต้นก็ดูเหมือนกันหมด ให้ร่มเงา ให้ความเย็น ให้ความชุ่มชื้น คนส่วนใหญ่รู้แค่นั้น แต่จริงๆ มันก็ยังมีดอกมีผลมีกิ่งก้านสาขาที่เป็นที่อยู่อาศัยของพวกสัตว์หลายชนิดมาก”

เริงชัยเล่าว่า ในลูกของต้นไทร จะมีตัวต่อไทรเข้าไปวางไข่ เมื่อลูกไทรสุก ตัวต่อจะบินออกมาพอดี นกบางชนิดจะชอบกินลูกไทรเพราะได้โปรตีนจากตัวต่อที่อยู่ในนั้น  ลูกไทรที่สุกและร่วงลงพื้นนั้นมีจำนวนมาก ที่กลายเป็นอาหารของสัตว์อีกหลายชนิด บริเวณรากมีช่องและหลืบที่สามารถเป็นที่อยู่อาศัย การเจอตันไทรในป่าจึงเป็นโอกาสที่จะได้พบเจอสัตว์อื่นๆ อีกเยอะมาก

“จุดเด่นของต้นไทรคือ เป็นต้นไม้ที่เป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ มันเลยมีมิติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าต้นอื่น เวลาไปเที่ยวป่า ถ้าเจอต้นไทรที่ลูกไทรสุกถือว่าโชคดีมาก เพราะโอกาสที่จะได้เจอสัตว์จะเยอะมาก พวกนกจะเข้ามารุมตั้งแต่เช้าจนค่ำ เหมือนจะรู้กันว่าต้นนี้สุกแล้ว มากันเหมือนช่วงห้างฯ ลดราคา ถ้าเป็นนักดูนก เขาจะเฝ้าอยู่แถวนั้น ไทรหนึ่งต้นจะให้เราได้เห็นนกแปลกๆ เยอะมาก”

 

…..

 

 

10 ปีต่อมา เขารับหน้าที่ถ่ายภาพต้นไม้อีกครั้ง ต้นไม้ส่วนใหญ่ที่คัดสรรมารวบรวมไว้ในหนังสือ  Gallery of Trees จะเป็นต้นที่มีขนาดใหญ่ และมีประวัติความเป็นมายาวนาน เช่น ‘ต้นจัน’ ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ‘ต้นพุทรา’ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือต้นไม้ที่คนรับรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะคุ้นเคยดี อย่าง ‘ต้นโพธิ์’ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ‘ต้นตาล’ บริเวณแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นต้นไม้อีกต้นที่มักปรากฏอยู่ภาพถ่ายของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ แต่น้อยคนจะรู้จักที่มาที่ไปและความสำคัญของมัน

เริงชัยเรียกผลงงานของตัวเองว่าเป็น ‘ภาพ portrait’ แม้ภาพนั้นจะไม่ใช่ภาพคน แต่เขามองต้นไม้ที่เขาบันทึกภาพว่ามีหน้าตา ลักษณะ และคุณสมบัติที่ต่างกัน หน้าที่ของเขาคือการขับเน้นสิ่งเหล่านั้นออกมาผ่านภาพถ่าย ไม่ต่างจากการถ่ายภาพบุคคล

“ต้นไม้แต่ละต้นจะมีบุคลิกที่ต่างกัน มีคุณสมบัติที่ต่างกัน แต่ละชนิดหน้าตาไม่เหมือนกัน ที่ถ่ายออกมาเป็น portrait คือให้เห็นรูปร่าง รูปทรง ลักษณะลำต้น ความสูงใหญ่ของต้นไม้ ที่เป็นเหมือนหน้าตาของมัน”

เริงชัยเล่าย้อนความทรงจำในขั้นตอนการทำงานโครงการนี้ว่า “พอเจอต้นหนึ่งก็ต้องเดินดูรอบๆ ก่อน หามุมที่จะนำเสนอหน้าตาของมัน ดูว่าแบบไหนน่าจะดีที่สุด เหมือนถ่ายภาพคนคนหนึ่ง จากนั้นก็รอเวลา”

การเดินทางไปถ่ายต้นไม้ทีละต้น ต้องอาศัยทั้งเวลาและความอดทน บางต้นต้องรอแสง บางต้นต้องรีบทำเวลา เพราะอยู่ในป่าที่มีฝูงช้างหากินใกล้เคียง ไม่ควรจะอยู่นานนัก

ต้นไม้หนึ่งต้นมีเรื่องราวหลากหลาย แต่กล้องบันทึกไว้ได้แค่ภาพนิ่ง โจทย์ของเริงชัยคือทำอย่างไรที่ภาพถ่ายภาพหนึ่งจะเล่าเรื่องมากมายให้ได้มากที่สุด

เริงชัยให้ความสำคัญกับบริบทรายรอบต้นไม้ เห็น คิด และใช้เทคนิคการถ่ายเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่อง เช่น ตอนที่ถ่าย ‘ต้นอินทนิลน้ำ’ในพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดซึ่งเดิมเป็นวังเก่า เคยมีเรื่องราวในประวัติศาสตร์เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนั้นมากมาย เขาอยากสะท้อนภาพในแง่มุมนั้น จึงเลือกถ่ายมุมกว้าง ไม่ได้เจาะจงต้องถ่ายแค่ลำต้นของต้นอินทนิลน้ำดังกล่าว  หรือต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ในป่า เขามักจะถ่ายภาพต้นไม้คู่กับคนในพื้นที่เพื่อให้เห็นขนาด และเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และต้นไม้

 

(ต้นอินทนิลน้ำ พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด กรุงเทพมหานคร)

 

“ที่ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง จะมีเรือประมงขนาดใหญ่เยอะมาก เรือที่ออกทะเลไปไกลๆ จับปลาแถวอินโดนีเซีย มาเลเซีย  เวียดนาม พอกลับมาบ้านก็จะเข้าทางปากน้ำประแส ชาวประมงจะมองหาต้นตะเคียนคู่สองต้น มันเป็นเหมือนประภาคารนำทางที่บอกชาวประมงว่าให้เข้าร่องนี้ จะได้กลับบ้านถูก

“และด้วยความที่เป็นต้นตะเคียน คนก็จะนับถือว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าแม่ตะเคียนทองเงินอยู่ด้วย ตอนที่ผมไปถ่ายก็มีคนมาขอหวย รำแก้บน รอบต้นตะเคียนมีวิถีชุมชนน่ารักๆ สุดท้ายมันก็ทำให้ต้นตะเคียนอยู่ได้ ด้วยความเชื่อและสิ่งที่เขาปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่น โอกาสที่จะต้นไม้จะโดนตัดก็น้อยลง โดยที่ไม่ต้องใช้กฏหมายอะไร”

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ‘ต้นเซียง’ ในสกลนคร สมัยก่อนคนอีสานมีความเชื่อว่าให้สร้างชุมชนอยู่ใกล้ผืนป่าที่เรียกว่า ‘ดอนปู่ตา’ ป่าผืนนี้มีไว้เพื่อให้วิญญาณบรรพบุรุษผู้ล่วงลับได้สถิตอาศัยและปกป้องลูกหลาน ในดอนปู่ตา จังหวัดสกลนคร มีต้นเชียงหลายต้น ส่วนมากจะมีผึ้งหลวงซึ่งมีความสำคัญกับระบบนิเวศมาทำรังเป็นจำนวนมาก

 

 

(ต้นเชียง จังหวัดสกลนคร)

 

“มียุคหนึ่ง ในสกลนครมีการเปิดประมูลรังผึ้งที่เกาะตามต้นไม้ เพื่อที่จะเอาเงินมาทำบุญในวัดบริเวณหมู่บ้าน แต่หลังๆ เขาก็ไม่ทำ ชาวบ้านเห็นความสำคัญว่าต้นเซียงต้นนี้มีผึ้งมาเกาะเยอะ ให้มันอยู่ตามธรรมชาติดีกว่า ผึ้งก็ขยายพันธ์ุได้มากขึ้น ระบบนิเวศของหมู่บ้านตรงนั้นมันก็น่าจะดีขึ้น เพราะผึ้งไปช่วยผสมเกสรพันธุ์พืชอื่นๆ ในสวนและไร่ของชาวบ้านละแวกนั้นได้หมด เฉพาะต้นเซียงต้นเดียวก็มีผึ้งหลวงเกินสิบรัง แล้วบริเวณนั้นไม่ได้มีต้นเซียงแค่ต้นเดียว แต่น่าจะมีอยู่เกินสิบต้น ผึ้งกระจายอยู่บริเวณดอนปู่ตา ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ชาวบ้านให้ความสำคัญกับต้นไม้และให้ความสำคัญกับผึ้งด้วย”

อีกประเด็นหนึ่งที่เริงชัยมองเห็นในการทำงานครั้งนี้ คือความแตกต่างระหว่างต้นไม้ที่อยู่ในป่า และต้นไม้ที่อยู่ในเมือง

“ต่างกันเยอะนะ ไม่รู้ว่าผมคิดไปเองหรือเปล่า แต่เหมือนต้นที่อยู่ในป่าดูมีสังคม มีความสุข ส่วนต้นไม้ที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่จะโดดเดี่ยว บริเวณรอบๆ เป็นตึก เป็นคอนกรีต เป็นถนน ซึ่งในความเป็นจริงมันก็ไม่ใช่เรื่องดีของต้นไม้ แต่มันก็โชคดีที่ยังอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

“ต้นที่ผมไปเจอแล้วรู้สึกถึงอะไรบ้างอย่างได้ คือ ‘ต้นกระบาก’ ที่อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช จังหวัดตาก เป็นกระบากที่ใหญ่มาก อลังการ เหมือนเราได้รับพลังงานบางอย่าง เหมือนเราไปเจอพระที่ขลังๆ แล้วได้รับพลังงานประมาณนั้นเลย ใหญ่จนบางทีผมรู้สึกกลัว ถ่ายภาพอยู่คนเดียวต้องมองหลังไป ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไร

“อีกต้นคือ ‘ต้นสมพง’ ที่ยะลา นั่นก็เป็นสมพงที่ใหญ่มาก เฉพาะรากพูพอนใหญ่เท่ากับคนสองคนต่อตัวกัน พูพอนก็คือส่วนที่ถ่างออกมาเพื่อที่จะค้ำยันลำต้น ด้วยความที่มันเป็นไม้เนื้ออ่อน โอกาสที่จะโค่นล้มง่าย ก็ต้องมีรากที่ใช้พยุงตัว อย่างต้นกระบากก็จะเป็นต้นสูงตรง ไม้เนื้อแข็งหน่อย พูพอนไม่เยอะเท่าสมพง

 

(ต้นสมพง จังหวัดยะลา)

 

“ผมอ่านหนังสือบางเล่มก็บอกว่าต้นไม้แต่ละต้นสามารถสื่อสารกันได้ ด้วยระบบรากที่ชอนไชถึงกัน อย่างกับหนังเรื่อง Avatar อาจจะเป็นเรื่องโชคดีของต้นไม้ที่อยู่ในป่าก็เลยโตเร็ว ส่วนต้นไม้ที่อยู่ในเมืองเมื่ออยู่โดดเดี่ยวก็เหมือนไม่รู้จะคุยกับใคร ต้นไม้ใหญ่ในเมืองส่วนใหญ่จะเป็นต้นที่ยอดใหม่น้อย แตกได้น้อย อาจจะด้วยระบบรากที่ไปไหนได้ไม่ไกล ยอดก็จะตายบ้าง แห้งบ้าง หักร่วงหล่นบ้าง ต้นตะเคียนใหญ่ๆ ที่ยังเหลือรอดอยู่ในเมืองก็มักจะเป็นต้นตะเคียนที่ไม่ค่อยมียอด ยอดกุดบ้าง ไม่สมบูรณ์บ้าง”

 

…..

 

จากการพูดคุยกัน ผมตั้งข้อสังเกตว่า แม้ประเทศไทยจะรุ่มรวยทรัพยากร แต่เราแทบจะไม่เห็นหนังสือภาพรวบรวมต้นไม้ใหญ่เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนวงการหนังสือภาพในต่างประเทศ เริงชัยคิดว่านโยบายรัฐในอดีตที่มีช่องว่าง ไม่มองการณ์ไกล มีส่วนทำให้ต้นไม้ใหญ่หายไป และไม่เป็นที่สนใจของสังคมในวงกว้าง

“ผมอยากบอกว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ป่าไม่เหลือก็คือ สัมปทานไม้ ในอดีตเราก็รู้   เรียนมาตั้งแต่สมัยประถมฯ ว่าสินค้าส่งออกของไทยสมัยก่อนคือไม้ ส่งไปเมืองนอก ในช่วงยุคเริ่มต้นของการเปิดประเทศ ต้นไม้ใหญ่เป็นตัวเลือกแรกที่จะโดนตัด ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งคุ้ม ตัดทีเดียวได้เนื้อไม้จำนวนมาก อย่างต้นกระบากขาวที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ กาญจนบุรี ไม่น่าเชื่อว่าหลุดรอดสายตาของคนทำอุตสาหกรรมไม้ในยุคเก่ามาได้อย่างไรจนถึงตอนนี้

 

(ต้นกระบากขาว จังหวัดกาญจนบุรี)

 

“ถ้าไม่มีการตัดไม้เยอะๆ ในยุคหนึ่ง ผมคิดว่าจะต้องมีต้นไม้รุ่นราวคราวเดียวกันกับต้นไม้ใหญ่ที่เราเห็นอยู่อีกเยอะมาก ขนาดตัวมันเองยังใหญ่มาก แล้วลองคิดดูสิว่าต้นพ่อแม่จะขนาดไหน แต่สุดท้าย นี่คือสิ่งที่เราเหลืออยู่ คือสิ่งที่เราสามารถรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ดู น่าใจหายถ้ามองย้อนกลับไป แต่ถ้ามองไปข้างหน้ามันก็เป็นโอกาสดีที่เราจะรักษาไว้ต่อไป ต้นไม้ใหญ่เป็นเครื่องเตือนใจว่าครั้งหนึ่งเราเคยทำลายไปเยอะแล้ว ต่อไปเราไม่ควรจะทำแบบนี้อีก”

 

…..

 

จากสายตาของช่างภาพนักเคลื่อนไหว เริงชัยหวังว่าภาพถ่ายต้นไม้ของเขาจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนฉุกคิด เห็นความสำคัญของต้นไม้ในด้านสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน รวมไปถึงเรื่องวิถีชุมชนที่เชื่อมโยงกับต้นไม้

นอกจากนี้ ต้นไม้ใหญ่ยังสะท้อนให้เราเห็นในทางอ้อมถึงการรักษาสิ่งที่ดีในอดีต ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต รวมถึงเป็นตัวแสดงให้เราตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุมเร้าโลกยุคนี้อย่างหนักหน่วง

“คนก็อยู่กับต้นไม้ได้ จริงๆ คนแทบไม่มีปัญหากับต้นไม้ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาในเชิงของเศรษฐศาสตร์ เราต้องการเงิน ก็เลยตัดต้นไม้ขาย แต่ถามว่าคนที่รักต้นไม้หรือดูแลต้นไม้มีมั้ย ผมว่าก็มีเยอะนะ

“ปัญหาสังคมมีหลายบริบทมาก เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ก่อนเราไม่เคยพูดถึงเรื่องโลกร้อน เพิ่งมาพูดถึงช่วงปี พ.ศ. 2543 มาเป็นข่าวดังให้คนเริ่มรู้จักก็ประมาณปี พ.ศ. 2547-2548 ถ้านับถอยหลังก็ไม่กี่ปีเอง ระยะหลังกระแสสังคมก็มาทางปัญหาขยะ ขยะในทะเล พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด สิ่งเหล่านี้อาจจะเชื่อมโยงได้ถ้าเราใช้ต้นไม้เป็นสื่อกลางในการที่จะพูดถึงปัญหาเหล่านี้ เหมือนกับต้นไม้เป็นตัวแทนของสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

“ถ้าวันใดวันหนึ่งเราใช้พลังงานแบบไม่บันยะบันนัง สุดท้ายเราก็จะไม่เหลืออะไร เหมือนกับต้นไม้ที่เหลืออยู่ไม่กี่ต้น ต้นไม้ไม่ได้มีแค่ความยิ่งใหญ่ ถ้ามองในเชิงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้นไม้พวกนี้มีประโยชน์มาก ด้วยความที่เป็นไม้เนื้อแข็ง มันจะกักเก็บดูดคาร์บอนเข้ามาในลำต้น แล้วกักเก็บในรูปแบบของเนื้อไม้ ต้นไม้ยิ่งเนื้อแข็งก็ยิ่งกักเก็บคาร์บอนได้เยอะ การตัดต้นไม้ครั้งหนึ่ง คาร์บอนก็สลายออกสู่ชั้นบรรยากาศ

“หากสังเกตง่ายๆ ต้นไม้ที่อยู่ตามบ้านเรือน เช่น ต้นมะพร้าวที่ปลูกตามท้องไร่ปลายนา กับต้นมะพร้าวที่อยู่ชิดบ้าน ต้นหลังจะเจริญเติบโตได้สมบูรณ์มาก เพราะชาวบ้านมีกิจกรรม มีการใช้ฟืนและถ่านในการหุงต้ม หน้าที่ของต้นไม้คือการกินคาร์บอน ดังนั้นเขาก็จะยิ่งโตเร็ว อย่างต้นที่โตตามท้องไร่ปลายนา ตามสภาพธรรมชาติ ก็จะโตช้าหน่อย เพราะฉะนั้นป่าบางชนิดก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรจะมีไฟป่าเลย ไฟป่าก็มีประโยชน์ในอีกบริบทหนึ่ง เป็นการดูแลระบบนิเวศในแบบนั้น แต่ต้องไม่ใช่ไฟป่าที่เกิดจากคนเผา”

 

 

…..

 

ทุกเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้ที่เริงชัยเล่า เขาเล่าด้วยความเข้าใจ ด้วยความเคารพ ถ้าเราอยากรักษาต้นไม้ด้วยการบอกให้คนห้ามตัด มันก็เป็นเพียงคำสั่ง แต่ถ้าเราเล่าเรื่องต้นไม้ให้เห็นถึงคุณค่าของมัน เล่าให้รู้ถึงความสำคัญที่ต้นไม้ต้องมีอยู่ ความเชื่อมโยงของต้นไม้กับวิถีชีวิตและสรรพสิ่ง เพื่อให้คนอยากรักษาต้นไม้ไว้ให้ยั่งยืนผ่านวันเวลาจากรุ่นสู่รุ่น…ด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า — ต้นไม้ไม่ได้เป็นเพียงต้นไม้

 

 

 

Fact Box

  • เริงชัย คงเมือง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เคยทำงานที่ WWF Thailand เป็นเวลา 4 ปี ก่อนจะออกมาเป็นช่างภาพสารคดี และนักเคลื่อนไหวขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผลงานของเขาเผยแพร่อย่างต่อเนื่องในนิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย และได้รับเลือกให้ตีพิมพ์ในฉบับภาษาต่างประเทศด้วยผลงานที่โดดเด่นมากมาย กับ ‘ต้นไม้’ เริงชัยถือว่าเป็นมิตรที่คุ้นเคยกันมายาวนาน ต้นไม้เกื้อกูลเขา และเขาก็ตอบแทนต้นไม้ด้วยใจ ‘รักษ์’ เสมอมา
  • ‘Gallery of Trees’ คือหนึ่งในโครงการหนังสือของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จัดทำขึ้นในรูปเล่มปกแข็งหุ้มกำมะหยี่อย่างงดงาม เพื่อเผยแพร่ให้กลุ่มลูกค้าเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ด้วยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรตระหนักถึงคุณค่าและความงดงามของต้นไม้ในหลากมุมมอง จึงมุ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา ‘รุกขมรดกแห่งชาติ’ โดยการรวบรวมภาพต้นไม้ใหญ่ทรงคุณค่าจากทั่วประเทศ พร้อมเรื่องราวน่าสนใจในแง่มุมต่างๆ ลงในหนังสือเล่มนี้ อันเป็นเสมือน ‘ห้องแสดงความงามของต้นไม้’ ด้วยมุ่งหวังจะปลูกความ ‘รักษ์’ ในต้นไม้ให้หยั่งรากลึกลงในใจผู้คนและสังคมอย่างยั่งยืน
Tags: , , , , , ,