แรงผลักอะไรที่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งลาออกจากงานประจำ ชวนเพื่อนมาปลูกป่าในพื้นที่กว่า 50 ไร่ในอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน กางเต็นท์และกินนอนโดยที่น้ำไฟจำกัด? กุล ปัญญาวงค์ ผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ชุมชนต้นน้ำน่าน (ชตน.) ที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
กุลเป็นคนน่าน ได้เงินเรียนจากเคมีเพราะแม่ทำไร่ยาสูบ ทำการเกษตรเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นเกษตรพันธสัญญาตั้งแต่ยุคแรกๆ แต่ก็จากบ้านไปทำงานในเมืองอยู่นาน ถึงแม้จะทำงานในสายสิ่งแวดล้อมมาเกินครึ่งชีวิต ทั้งทำค่ายพาเด็กพิการเดินป่ากับนักนิยมธรรมชาติ ทำทัวร์จักรยานภูเขา เป็นบรรณาธิการนิตยสารยังก์ทราเวล อนุสาร อสท. งานล่าสุดก่อนที่จะมาเป็นผู้อำนวยการชุมชนต้นน้ำน่าน คือเป็นผู้จัดการมูลนิธิไทยรักษ์ป่าเป็นเวลา 6 ปีตั้งแต่อายุ 44 ปี จนถึงตอนนี้กุลอายุ 58 ปี รวมแล้วทำงานในสาขาอนุรักษ์ธรรมชาติมาทั้งสิ้น 20 ปี แต่ยังเคลื่อนไหวเป็นนินจาอยู่ในป่าที่เธอสร้างมาตั้งแต่ปี 2556
เธอคิดว่างานที่มูลนิธิฯ มั่นคงดี เพราะมีงบประมาณและนโยบายที่สามารถทำงานอนุรักษ์ได้ แต่เมื่อเจออาจารย์ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อเดือน พ.ย. 2560- ก.ค.2562) แนะว่าปัญหาของน่านเป็นปัญหาระดับประเทศ เพราะน่านเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของเจ้าพระยา กุลก็เริ่มคิดว่า ต้องเริ่มฟื้นฟูธรรมชาติที่น่านด้วยตนเอง
“เราก็เห็นกับตาว่า ป่ามันหายไปจริงๆ ถ้าเราแก้ปัญหาที่น่านได้ ก็สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ด้วยตามลำดับ ทำเล็กๆ ชัดๆ ให้คนเห็น ถ้าเราจะเปลี่ยนคนต้องทำตัวเองให้ได้ก่อน เราเลยดิ้นรนเพื่อที่จะได้ที่แปลงนี้มา ไปหาเพื่อนๆ แล้วบอกว่าเราอยากจะทำให้มันเกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี และฟื้นป่าน่านขึ้นมา เพื่อนก็ซื้อไอเดียแล้วลงขันกันมามากมายเกิน 10 คน เราเลยได้ที่ดินแปลงนี้มา ตอนแรกคิดว่าจะทำสัก 3-5 ไร่ แต่สุดท้ายชาวบ้านเขามีที่ดินแปลงใหญ่อยู่แล้ว เลยซื้อพื้นที่ได้มา 50 ไร่”
ปัญหาที่ถูกพูดถึงจนช้ำ คือภูเขาหัวโล้นและป่าต้นน้ำถูกทำลายในจังหวัดน่าน จากพื้นที่ทั้งหมด 7,601,880.49 ไร่ น่านเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เป็นภูเขาถึงร้อยละ 87.2 ซึ่งในภูเขาเหล่านั้นประกอบไปด้วยผืนป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญต่อการไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่การเกษตรเชิงเดี่ยวและการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อป้อนอุตสาหกรรมทุนนิยมยังเข้มข้นอยู่ หลายปีที่ผ่านมา ผืนป่าจึงค่อยๆ หายลับตาไปเรื่อยๆ ไม่นับปัญหาสิทธิที่ดินที่ชาวบ้านยังไม่สามารถทำมาหากินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย คนอยู่ร่วมกับป่าไม่ได้ และโครงสร้างรัฐก็ไม่เอื้ออำนวยให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้มากนัก วิถีชีวิตของเกษตรกรส่วนใหญ่จึงยังไม่หลุดไปจากความเหลื่อมล้ำเสียที
ภัยแล้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาสร้างความเดือดร้อนให้ภาคเกษตรกรรมหลายพื้นที่ทั้งในด้านการอุปโภคบริโภคและการทำนา ฝนทิ้งช่วงรุนแรงถึงขั้นทำให้ข้าวในนายืนต้นตาย น่านก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ประสบปัญหาเรื่องนี้ด้วย กุลจึงคิดว่าถ้าสามารถสร้างแนวคิดการเกษตรยั่งยืนให้กับเกษตรกรได้ คนเล็กๆ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงของทั้งจังหวัด หรือถึงขั้นประเทศได้
เดือนกรกฎาคม ปี 2556 กุลจึงเดินเข้าป่าพร้อมสุนัขสามตัวและเพื่อนหนึ่งคน กางเต็นท์ กินนอนที่นั่น และปลูกต้นไม้อยู่เป็นปี เริ่มทำกสิกรรมธรรมชาติแบบโคกหนองนาโมเดล คือการจัดการออกแบบพื้นที่กักเก็บน้ำตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ สร้างระบบนิเวศที่เลียนแบบธรรมชาติและเอื้อต่อการเจริญเติบโตของสัตว์เพื่อสร้างรายได้บนหัวคันนา มีอาหารจากพืชในสวนไว้กินไว้ใช้ ที่สำคัญคือไม่ขาดแคลนน้ำตลอดปี เธอพกความรู้เชิงทฤษฎีไว้แน่นกระเป๋า ที่เหลือจึงเป็นเพียงการมุทะลุลงมือทำไปเรื่อยๆ แม้เพื่อนจะเลิกทำไปในปีที่สอง แต่นับจนถึงวันนี้ ชุมชนต้นน้ำน่านมีอาสาที่เป็นเด็กรุ่นใหม่จากในเมืองและจากในนาไปมาหาสู่อยู่เป็นประจำ กุลยังไม่ออกมาจากป่าที่เธอสร้าง และใช้ป่าเป็นพื้นที่ตัวอย่างให้เกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติเท่าที่กำลังจะทำได้
ครั้งแรกที่มาถึงในปี 2556 จัดการพื้นที่ 50 ไร่นั้นอย่างไร
พื้นที่ตอนแรกเป็นสภาพของน่านทั่วๆ ไปเลย ดินแย่มาก มีวัตถุพยานเป็นกระป๋องสารเคมีเต็มไปหมด รอบๆ ยังปลูกข้าวโพดอยู่ บางที่ปลูกยางพารา และไม้ผลที่เป็นพืชเชิงเดี่ยวทั้งหมด เพราะก่อนหน้ายางพาราแพงมาก โลละร้อยกว่าบาท แล้วน่านก็ขึ้นป้ายเลยว่า จะลดโลกร้อนและสร้างพื้นที่สีเขียวด้วยยางพารา ทุกคนก็แห่ปลูกยางพารากันหมด เพราะการทำข้าวโพดมันต้องลุ้นทุกปี เหนื่อยทุกปี แต่ยางพาราเป็นไม้ยืนต้น ปลูกครั้งเดียวได้ตลอด
สิ่งแรกที่ทำตอนเจอสภาพแบบนี้คืออะไร
ปลูกต้นไม้ แต่ภายในคือต้องปรับตัวเองทุกอย่างเลย ต้อง low profile จากที่มีไฟใช้ มีพัดลมใช้ ก็เปลี่ยนมาเป็นไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่มีพลังงานแสงอาทิตย์แล้วก็มีจานเล็กๆ สำหรับชาร์ตแบตเตอรี่โน้ตบุ๊ก อ่านหนังสือได้ แค่นั้นเอง หน้าฝนไม่มีไฟใช้เพราะพระอาทิตย์ไม่ค่อยมี เก็บพลังงานไว้ได้ไม่พอ ก็จุดตะเกียงน้ำมันก๊าดเอา ตอนเย็นๆ ก็สุมไฟไล่ยุง ตอนแรกมาไม่ได้มีบ้าน เราก็กางเต็นท์นอนอยู่ริมอ่างเก็บน้ำ มีกระต๊อบคนงานที่เขาเคยปลูกไว้ ใช้ห้องน้ำในนั้นได้ ก็ใช้ชีวิตปกตินะ ใช้น้ำ ใช้ไฟ มีหมา มีปืน อยู่ในเต็นท์ แล้วก็เริ่มปลูกสร้างอาคาร สร้างห้องน้ำ
ช่วงที่ปลูกต้นไม้คิดอะไรอยู่
ไม่ได้คิดอะไรเลย คิดแค่ว่าปลูกให้มันเป็นป่า สมมติว่าเราปลูกไม้ผล เราก็คิดว่านี่คือของกิน ปลูกไม้ไว้ใช้งาน เราก็แยกว่า นี่คือไม้ที่เอามาสร้างบ้าน ปลูกต้นยางนา ก็คิดว่ามันจะโตขึ้นไปเป็นไม้สูงปรี๊ด 30 เมตรในอนาคต ไม้ยืนต้นเป็นป่าที่เราใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ แต่ไม่ได้คิดว่าจะปลูกเพื่อที่ตัวเองจะได้ใช้หรอก คิดแต่ว่าจะปลูกต้นไม้แทรกเข้าไปตรงไหนได้ ให้ไม้สูงๆ อยู่ในทิศที่เป็นเขาเพราะว่าภูเขามันเก็บไว้เป็นต้นน้ำ ปลูกต้นไม้ไว้ใกล้ๆ บ้าน พื้นที่ตั้ง 50 ไร่ คงไม่ปีนไปเก็บผักในที่ไกลๆ มากินหรอก (หัวเราะ) เราก็ดูว่าเราจะอยู่จะใช้ยังไงเท่านั้นเอง
วิธีการปรับปรุงพื้นที่ต้องทำอย่างไรบ้าง
เราจัดการออกแบบพื้นที่ให้เป็นโคกหนองนา หลักการง่ายๆ ของมันคือเก็บน้ำฝนให้ได้ 100% ด้วยการปลูกต้นไม้ 5 ระดับ ผสมผสานให้มีไม้ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือมีทั้งไม้ที่เราเอามากินและใช้สอยได้ เอามาสร้างบ้านได้ ได้ของกินของใช้ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แล้วก็มีความร่มรื่น แล้วก็ขุดหนองให้ลึกตื้นไม่เท่ากัน คดโค้งเลียนแบบธรรมชาติ คือลักษณะหนองน้ำที่ปลาโตไว แล้วก็ขุดหนองเก็บน้ำให้ลึกพอที่จะมีน้ำเหลือหลังจากที่แล้งผ่าน แล้วรอฝนถัดไป ซึ่งมีหลักการคำนวณว่าต้องลึกเท่าไรเพื่อจัดการน้ำ แล้วก็มีหัวคันนากว้างเป็นแหล่งที่ปลูกพืชผักของกิน
ในนามีทั้งข้าว สัตว์น้ำเยอะแยะไปหมด หลักๆ คือ โคกหนองนาโมเดลเป็นเรื่องของการเก็บน้ำ แล้วก็ขุดคลองไส้ไก่ (ร่องน้ำเล็กๆ ขุดเพื่อการกระจายน้ำให้ทั่วถึง) เพื่อกระจายความชื้น ให้น้ำกระจายแล้วไหลไปในพื้นที่ให้ช้าที่สุด
สองคือ เราต้องหยุดการพังทลายของหน้าดินด้วยการปลูกแฝกเพื่อให้รากมันยึดดิน เก็บน้ำไว้ ซับเคมีแล้วก็เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ก็จะเห็นความต่างอยู่ว่า จากที่ไม่มีนกไม่มีแมลงในตอนแรก ตอนนี้เต็มไปหมดเลย มีสิ่งมีชีวิตหลายอย่างเพราะป่าเยอะ กลายเป็นโอเอซิส เป็นที่ชุมนุมของสัตว์ป่า มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสัตว์
ตัวเราเองไม่เคยลองปฏิบัติแล้วเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าโมเดลแบบนี้จะได้ผล
ลองทำให้เป็นขั้นเป็นตอนก่อน ทำความเข้าใจกับมันแล้วก็ลงมือทำ ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเราเข้าใจทักษะแล้วในที่สุด เราจะเจอเทคนิคของเราเอง แล้วก็ต้องทำแบบพึ่งตัวเองเยอะๆ เรามีองค์ความรู้เรื่องการทำกสิกรรมธรรมชาติ
แต่พอชาวบ้านที่มีภูมิปัญญาและทำมานานมาบอกว่ามันไม่ถูก เราก็เขวนะ…ชาวบ้านบอกว่านาแบบนี้ไม่ได้กินหรอก ไม่มีหญ้าเลย เราก็ปรับปรุงบำรุงตามหลักกสิกรรมธรรมชาติทุกอย่าง หมักดองดิน ใส่น้ำหมัก ชวนคนที่มีความรู้ในพื้นที่ที่ทำนาเป็น ลองถามแม่บ้าง ญาติบ้าง แล้วในที่สุดก็เห็นทุกอย่างที่ทำให้เราเชื่อว่าเราสามารถเก็บน้ำไว้ได้ สร้างแหล่งอาหาร สร้างรายได้บนหัวคันนา ในนาไม่ได้มีแค่ข้าว ปลา กุ้ง หอย แต่มีสัตว์อีกหลายชนิด เราทำมาเรื่อยๆ จนเราเห็นและเชื่อกับตาตัวเองว่ามันทำได้จริง หลังจากนั้นค่อยให้ชาวบ้านมาดูงาน
ถึงปีไหนที่โคกหนองนาโมเดลเสร็จสมบูรณ์
ปีที่สี่ ปีแรกต้นไม้ที่เราปลูกก็โตกระดึ๊บขึ้นมานิดเดียว แต่ที่ปล่อยทิ้งไว้ให้มันขึ้นเองก็พุ่งปรี๊ดเลย ดินที่ไม่มีหญ้า พอเราไม่ฆ่าหญ้า ก็ทำให้มีพืชหน้าดิน เราก็ใช้หลักการคลุมดิน ไม่เปลือยดิน พอปิดดินไว้ ด้วยฟางหรือเศษใบไม้ก็ทำให้เกิดสัตว์หน้าดิน ต้นไม้ที่เราปลูกไว้มันก็ฟูขึ้นมาพรึ่บ ปีที่สามก็กลายเป็นป่าเลย คนก็ตกใจว่าดินสีน้ำตาลหายไปไหนหมด เห็นชัดเจนเลยว่าสามปีมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก่อนมองไปเห็นแต่น้ำ แต่ตอนนี้มองไปเห็นแต่ต้นไม้ขึ้นมาสูงแปดเมตร สิบเมตร เรามาอยู่ที่นี่สี่ปีแล้วนะ เมื่อพร้อมทั้งพื้นที่และอาหารแล้ว เราถึงจะให้คนมาดูแล แล้วก็เริ่มเปิดเป็นศูนย์ฝึกอบรม ซึ่งเราก็มีเครือข่ายมาช่วย เน้นการปฏิบัติ เรียนรู้จากประสบการณ์ เพื่อนๆ ก็มาช่วยกันทำกระบวนการฝึกอบรมเกษตรกร
ชาวบ้านรอบๆ ว่าอย่างไรบ้าง
ก็บอกว่าผีบ้ามาอยู่ในป่า (หัวเราะ) เขาเรียกตรงนี้ว่าป่าทั้งๆ ที่มันห่างจากหมู่บ้านแค่ 2 กิโลฯ เองนะ เขาก็ว่าเราไม่ปกติ เราก็ไม่ได้ใส่ใจขนาดนั้น มีเขวบ้างเพราะเราอยู่ที่นี่เราก็จ้างแรงงานชาวบ้าน คนช่วยขุด ช่วยยก ช่วยหาม งานหนัก บางทีเราก็ทำทั้งหมดเองไม่ได้ ปลูกต้นไม้ทีสามสี่พันต้นก็ต้องมีคนช่วยขุด ช่วยปักไม้ เขาก็พูดว่า แบบนี้ไม่ใช่ ไม่ถูก ไม่เคยทำกัน เราไม่มีความรู้พอที่จะไปอธิบายชาวบ้านด้วย เขาเองก็ไปไกลมาก เราก็กำลังจะวกกลับไปหาสิ่งที่เขาลืมไปแล้วด้วยซ้ำ เช่น ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องหญ้า หลักกสิกรรมเราบอกว่าหญ้านี่ดีเพราะทำให้ดินดี แต่ชาวบ้านบอกว่าหญ้าต้องฆ่าทิ้ง เราเลยคิดว่าไม่ได้มีประโยชน์ที่จะไปคัดค้านเขา แล้วเราก็ไม่ได้มั่นพอที่จะไปอธิบายอะไรใครได้ เพราะว่าหนึ่ง ที่เราต้องทำตอนแรกคือต้องพิสูจน์ให้เราเชื่อสนิทใจก่อนว่ามันคืออะไร ช่วงแรกๆ เลยยังไม่ได้มีเวลาไปใส่ใจกับใคร ใส่ใจกับตัวเองมากกว่าว่าเราจะผ่านมันไปได้ไหม
สิ่งที่โหดที่สุดตอนที่อยู่ในป่ากว่า 50 ไร่คืออะไร
คือตัวเองนี่แหละ มันเป็นโลกคนละใบกับที่เราอยู่เลย ไม่มีไฟ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสิ่งที่เราเคยเจอเหมือนคนเมืองทั่วไป เราเกิดที่นี่ก็จริง แต่ว่าเราโตมาในเมือง ทำงานในกรุงเทพฯ ทำงานโฆษณาที่เอเจนซี่ อยู่ในสังคมฟุ้งเฟ้อที่คนทำงานคนหนึ่งสามารถใช้ชีวิตได้นั่นแหละ แม้กระทั่งตอนที่มาทำงานมูลนิธิไทยรักษ์ป่าแล้วเราก็ยังอยู่ในเมือง สภาพแวดล้อมไม่ใช่แบบนี้ ทีนี้พอกลับมามันคือคนละเรื่อง
ปัญหาที่โหดที่สุดคือเราต้องประคับประคองความเชื่อของตัวเองให้ดี บางทีมันก็อยากจะเลิกหลายรอบนะ (หัวเราะ) แต่มันก็กลับมาได้เรื่อยๆ ถือว่าโชคดีที่เรามีความอดทนพอ แล้วก็โชคดีที่มีครูบาอาจารย์ พี่เลี้ยง คอยดันหลังอยู่ เขาก็คาดหวังว่าเราจะเป็นคนหนึ่งที่จะมาสร้างจุดต่างเล็กๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งมันน่าจะสร้างจุดเปลี่ยนให้สังคมได้
เมื่อเวลาผ่านไป คนในพื้นที่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้างไหม
ส่วนใหญ่ชาวบ้านที่มาที่นี่คือคนที่อยู่ท่ามกลางพื้นที่ภูเขาหัวโล้น เขาเห็นสิ่งที่เราทำที่นี่ในเชิงประจักษ์ว่าภูเขาของเราไม่ได้มีต้นไม้ชนิดเดียว และกินได้ อยู่ได้ สร้างรายได้ได้ ดังนั้นนี่คือหน้าที่ของเรา เราก็ให้เขาฝึกปฏิบัติในหลักกสิกรรมว่าสร้างป่ายังไง ปลูกพืชยังไง สอนการจัดการน้ำ เรื่องสารบำรุงต้นไม้ ไล่แมลงยังไง พึ่งตัวเองโดยการลดค่าใช้จ่าย เขาก็จะเห็นแนวทาง เราสอนนิดหน่อย ให้ลงมือทำเยอะๆ พอครบกระบวนการอบรม 5 วัน 4 คืน มันอาจจะเปลี่ยนความคิดของเขาได้ ซึ่งคนมา 100 คนนี่เปลี่ยนไม่ถึง 10 คนนะ แต่ 10 คนนี่แหละคือความหวังของเราเลย อบรมเสร็จเราก็ตามเขาไปในพื้นที่เลย สิ่งนี้เลยกลายเป็นโครงการ ‘จอบเปลี่ยนน่าน’
โครงการจอบเปลี่ยนน่านคืออะไร
พื้นที่น่านเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์เกือบทั้งหมด น่านเป็นต้นน้ำใหญ่ตั้งเกือบครึ่งหนึ่งของเจ้าพระยา หมายความว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของน่านเป็นป่าต้นน้ำ ไม่ใช่ที่ทำกิน แต่ตอนหลังชาวบ้านเปิดพื้นที่ลาดชันให้กลายเป็นที่ทำกินเยอะมากจนถึงปลายยอดภูเขาเลย ทีนี้ พื้นที่ที่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ใช่พื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิแต่ว่าเขาทำกินอยู่ตรงนั้นจริงๆ พอบอกว่าจะเอาป่าคืน แล้วชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน
ฉะนั้นในเมื่อพื้นที่ป่าตรงนี้เป็นป่าอนุรักษ์ จะใช้เครื่องจักรทำการเกษตรไม่ได้ ชาวบ้านปลูกข้าวโพดได้ใช่ไหม เราก็ให้ชาวบ้านลองขุดคลองไส้ไก่ เริ่มปลูกต้นไม้แบบที่เราทำที่นี่ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างด้วยตัวเอง ให้เพื่อนไปช่วยกันปลูก
เราเลยคิดว่ารูปแบบของการลงมือ การสร้างเครือข่าย มันเหมาะที่สุดกับการช่วยฟื้นฟูภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่เราอยู่กันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน ใช้พลังชาวบ้านร่วมกัน เลยมีการไปร่วมลงแรงกับชาวบ้าน ก็เลยกลายเป็นความคิดที่ว่าจอบที่เราขุดด้วยแรงนี่แหละ มันจะช่วยเปลี่ยนพื้นที่ แล้วมันจะสร้างป่าที่คนก็อยู่ได้ ป่าก็ยังอยู่ ต้นไม้ก็มี 5 ระดับ ระบบรากอุ้มน้ำได้ ชาวบ้านก็อยู่ได้ ไม่มีใครต้องเอาป่าคืน ไม่มีใครต้องถูกไล่ออกจากป่า แล้วก็ไม่ต้องมาพูดว่าใครทำลายหรือรักษาป่า คนน่านนี่แหละจะดูแลและฟื้นป่าน่าน ดังนั้นพอชาวบ้านมาอบรมกับเราแล้วเขาเปลี่ยนความคิด เราก็ตามเขาไปช่วยปรับเปลี่ยนพื้นที่
เหมือนสร้างคนไปพัฒนาในพื้นที่ของตัวเอง
ยังมีน้อยมาก อาจจะเป็นเพราะหลายปัจจัย อย่างเรามาอยู่ป่าคนเดียว ไม่มีญาติ ไม่มีครอบครัวมาใกล้ เราได้เปรียบชาวบ้าน แต่ชาวบ้านเขามีแรงเสียดทานเยอะมาก มีเพื่อนบ้านรอบๆ ครอบครัว คนที่หัวไวจริงๆ อึดมากๆ ถึงจะกลับไปทำได้จริง เราต้องการตัวอย่างโดยชาวบ้านนี่แหละ เพราะไม่งั้นเขาจะบอกว่า โอ้โฮ คุณมีตังค์นี่ คุณเคยทำงานมาก่อนถึงได้มีเงินเก็บมาซื้อที่ขุดหนองได้ ความตั้งใจของเราคือทำตรงนี้ให้เป็นพื้นที่เรียน มีตัวอย่างที่ทำให้คนมาทำความเข้าใจว่ามันสร้างได้ แต่เราไม่ใช่สารกระตุ้นรุนแรงที่เปลี่ยนภูเขาได้หรอก เราเลยคิดว่าชาวบ้านที่ทำในพื้นที่หัวโล้นจุดเล็กๆ เปลี่ยนไปต่างหากที่จะสามารถเปลี่ยนทั้งหมดได้ ตัวอย่างความสำเร็จโดยชาวบ้านเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับเรื่องนี้
เราก็ไม่ได้ฝันโลกสวยถึงขั้นว่าเราจะเป็นคนพลิกฟ้าปลูกป่าอะไรนะ แต่อย่างน้อยเราเห็นผู้หญิงลั๊วคนหนึ่งกลับไปทำไร่ข้าวโพด 3 ไร่ที่บ้าน ตอนนี้จากจอบแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้วเป็น 12 ไร่ในวันนี้ เกือบครึ่งจากที่ทำกินของเขาภายในเวลา 2 ปี นี่คือความหวังเลยนะ เราคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว
ผู้หญิงลั๊วคนนั้นกลับบ้านไปทำอะไรบ้าง
น้องเดือน เป็นผู้หญิงลั๊ว อยู่บนภูเขาที่เต็มไปด้วยไร่ข้าวโพด ตัวเขาเองมี 30 ไร่ พ่อ แม่ก็มี 50- 70 ไร่ เขามาอบรมตอนเปิดศูนย์รุ่นแรกๆ ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วเพราะเขาอยากทำกสิกรรมมาก แต่ว่าญาติพี่น้องรอบตัวเขา ไม่มีใครเห็นด้วยเลย เขาเลยไปแอบขุดดินกลางคืนอยู่เกือบปี ขุดภูเขาชันๆ เป็นรูปแบบที่เราทำกันเลยว่าจะเก็บน้ำยังไง ลงมือปลูกของกิน ทำนาและขุดคลองไส้ไก่
เขาขุดพื้นที่ 3 ไร่อยู่ประมาณ 8 เดือนแล้วก็จากที่ปลูกข้าวโพดอย่างเดียว เขาก็เริ่มปลูกข้าว ปลูกของกินเข้าไป หลังจากขุดแล้วประมาณปีเดียว เขามีข้าวกิน มีพืชผักที่สามารถเอาไปขายสร้างรายได้ได้ แล้วคนรอบข้างก็เริ่มมาดูที่ 3 ไร่ของเขา เพราะมันสามารถสร้างรายได้มากกว่าการปลูกข้าวโพดอย่างเดียวเป็น 10 เท่าเลย
พอคนเริ่มมาสนใจก็อยากมาเข้าอบรมปรับความคิด อบรมเสร็จ เดือนก็มีเพื่อนมากขึ้นในหมู่บ้านของเขา เขาเลยไปขยายพื้นที่อีก 9 ไร่ เป็น 12 ไร่แล้ว ซึ่ง 9 ไร่นี้ก็มีเพื่อนเครือข่าย 9 คนในหมู่บ้านที่จะมาเวียนกันทำ จากที่เขาขุดดิน 3 ไร่อยู่คนเดียว ตอนนี้จาก 1 เป็น 10 คน แล้วคิดว่าจาก 10 คนจะสามารถเปลี่ยนเวิ้งหัวโล้นตรงนั้นได้ เราเชื่อว่ามันจะแตกตัวแบบนี้ ถ้าเห็นตำตาว่าได้ผลยังไงชาวบ้านก็เชื่อ เห็นว่ามีกิน มีใช้ พึ่งตัวเองได้ สร้างรายได้ได้ แต่ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน
คิดว่าถ้าเป็นจุดเล็กๆ เป็นจุด จุด จุด ท่ามกลางทะเลภูเขาค่อยๆ กะพริบขึ้นมา เราคิดว่ามันจะค่อยๆ กระจายออกไปเอง นี่คือหัวใจของมัน จุดเป็นจุดตายของน่านที่จะฟื้นป่าได้ไม่ได้ คือเรื่องนี้แหละ และไม่ได้มีเรื่องนี้อย่างเดียว มีเรื่องภัยพิบัติ ดินถล่ม ชาวบ้านที่น่านหลายที่เหมือนกับว่าขุดหลุมไว้ฝังตัวเองนะ พื้นที่น่านทางตอนเหนือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยมาก ข้างบนที่เป็นภูเขา ต้นไม้มันถูกตัดออกไปหมดเลย แล้วชุมชนอยู่ข้างล่าง เวลาดินมันอุ้มน้ำไว้ได้ไม่มาก มันก็จะถล่มลงมา
เป้าหมายของชุมชนต้นน้ำน่านยังเหมือนเดิมจากตอนแรกไหม
สำหรับที่นี่ เรามีของกิน สามารถปลูกวิชาให้คนพึ่งตนเองได้ จึงน่าจะเป็นที่รองรับให้คนที่เกิดภัยพิบัติมากกว่า เป้าหมายสูงสุดที่นี่คือเป็นศูนย์พักพิงเวลามีภัยพิบัติ เหมือนมาที่นี่เป็นโรงเรียนให้ฝึก มีที่พัก มีอาหาร และโรงฝึกวิชาชีพ เขาสร้างแหล่งอาหารเองได้ เมื่อกลับไปพึ่งตัวเองได้ เขาจะสามารถช่วยคนอื่นได้ ที่นี่จะเป็นพื้นที่ฟื้นฟูป่าน่าน แล้วก็นำศาสตร์พระราชาลงมาสู่การลงมือเพื่อทำให้คนเห็นว่าป่าอยู่ได้ และคนพึ่งตัวเองได้จริงๆ มันสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องดินตาย น้ำเสีย ภูเขาหัวโล้นได้
เพราะสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติมันตำตาหลายเรื่องในปีนี้ ล่าสุดคือฝนทิ้งช่วง เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดก็เกิด ลำไยกำลังออกลูกอ่อน แต่มันแล้งจนลำไยร่วงหมดเลย ปีก่อนลิ้นจี่ก็ร่วงหมดเลย เพราะมันร้อนมาก ช่วงที่ร้อนบางทีก็มีฝนและพายุด้วย มันแปรปรวนมาก ส่วนปีนี้ชัดที่สุดคือชาวบ้านแถวนี้ไม่ได้ทำนาเลย ไม่มีน้ำเลย กล้าที่หว่านไว้ที่ตายคานาก็มี
จากวันแรกถึงวันนี้
ตอนแรกเรายังนึกไม่ออกว่าเราจะมาเปลี่ยนภูเขาหัวโล้นได้ยังไง เพราะเราทำเองตั้งหลายปีอยู่คนเดียว แต่หลังจากที่ได้เจอชาวบ้านที่ไปลงมือทำแล้วตามเขาไป มันลืมไปหมดเลย 3-4-5 ปีที่ผ่านมาเพราะชาวบ้านเขาเจอด่านยากกว่าเราเยอะเลย แต่ถ้าเขาเปลี่ยนได้คือจบข่าวเลยนะ เราบอกเลยว่าเรามาถูกทางแล้ว หน้าที่ของเราคือหาเครือข่ายที่จะไปช่วยคนเหล่านี้ให้เกิดตัวอย่างของความสำเร็จโดยเร็ว สนับสนุนทั้งกำลังกาย กำลังใจ ช่วยเขาทำ ถ้ามีโอกาสเราก็อยากชวนคนที่ไม่ใช่ชาวบ้านมาร่วมด้วย สุดท้ายแล้วเขาอาจจะไม่ต้องมาเป็นนักอนุรักษ์ หรือเกษตรกรก็ได้ เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมมันกระทบกันหมดไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร
Tags: กุล ปัญญาวงค์, โคกหนองนาโมเดล, ป่า, น่าน