ปัญหาการล่าและค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายแทบไม่เคยเป็นประเด็นในการประชุมผู้นำในระดับนานาประเทศ แม้แต่ในเวทีสิ่งแวดล้อม ประเด็นดังกล่าวก็เปรียบเสมือนไม้ประดับหากเทียบกับประเด็นร้อนอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ขึ้นพาดหัวแทบทุกสำนักข่าวแถมยังมีการตามติดชนิดเดือนต่อเดือนว่าแต่ละประเทศก้าวหน้าไปถึงไหน

แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวอาจเปลี่ยนไปหลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยกว่า 1.8 ล้านคนและผู้เสียชีวิตเกินหนึ่งแสนคนทั่วโลก อีกทั้งยังไม่มีแนวโน้มว่าจะควบคุมได้ เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่าโควิด-19 คือโรคระบาดที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนโดยมีจุดเริ่มต้นที่ตลาดสดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

อย่างไรก็ดี โควิด-19 ไม่ใช่โรคระบาดแรกที่แพร่จากสัตว์สู่คน โดยมีการศึกษาพบว่าโรคระบาดราว 60 เปอร์เซ็นต์นั้นแพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ และโรคระบาดกำเนิดใหม่ใหม่ 75 เปอร์เซ็นต์ก็มีที่มาจากสัตว์ หลายชื่ออาจเป็นที่รู้จักกันดี เช่น อีโบลา (Ebola) ซึ่งคาดว่ามีจุดกำเนิดจากสัตว์อย่างค้างคาว  ซาร์ส (SARS) จากชะมด  หรือเมอร์ส (MERS) จากอูฐ แต่ไม่มีครั้งไหนที่เชื้อไวรัสจะประสบความสำเร็จในการระบาดเท่าเชื้อ SARS-CoV-2 หรือโควิด-19 ในปัจจุบัน 

นี่อาจเป็นบทเรียนอีกครั้งต่อมนุษยชาติว่าสุขภาวะของเราเชื่อมโยงแนบแน่นอย่างยิ่งกับระบบนิเวศ และหนทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการระบาดในอนาคตคือการพร้อมใจกันหยุดล่า ค้า และรับประทานสัตว์ป่า

ภัยด้านความมั่นคงทางสุขภาพ

การแพร่ระบาดของโรคจากคนสู่สัตว์นั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การโดนสัตว์หรือแมลงกัด การสัมผัสใกล้ชิด การดูแลสัตว์ในช่วงเวลาที่เจ็บป่วย หรือการรับประทานเนื้อดิบ นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนซากสัตว์ เชื้อโรคที่จะส่งผ่านมายังร่างกายมนุษย์มีตั้งแต่แบคทีเรีย ปรสิต เห็ดรา ไปจนถึงตัวร้ายอย่างไวรัส

แม้เราจะไม่สามารถระบุที่มาอย่างชัดเจนว่าโควิด-19 มีจุดกำเนิดมาจากสัตว์ชนิดใด การวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมของ ไวรัส SARS-CoV-2 พบว่ามีส่วนคล้ายคลึงกับทั้งตัวนิ่มและค้างคาว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกลักลอบค้าและล่าอย่างผิดกฎหมายมากที่สุดในโลก แม้ประเทศจีนจะมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ดังกล่าว แต่เนื้อและเลือดตัวนิ่มก็นับว่าเป็นอาหารหรูราคาแพงในตลาดมืด อีกทั้งเกล็ดตัวนิ่มยังถูกใช้ในยาแผนโบราณอย่างถูกกฎหมายในโรงพยาบาลบางแห่งของจีน

ตัวนิ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกลักลอบค้าและล่าอย่างผิดกฎหมายมากที่สุดในโลก ซึ่งอาจเป็นต้นกำเนิดของการระบาดของโควิด-19 ภาพ Chaiwat Subprasom/REUTERS

การศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า มีสัตว์ถูกซื้อขายในอุตสาหกรรมค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั่วโลกถึง 5,600 ชนิดพันธุ์ หรือคิดเป็นราว 1 ใน 5 ของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่นักวิทยาศาสตร์รู้จัก การค้าสัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น ตลาดสดเมืองอู่ฮั่น จึงเป็นห้องทดลองชั้นดีที่จะนำไปสู่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่เพราะสัตว์ที่ตึงเครียดจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่สูงกว่าปกติ

คริสเตียน วอลเซอร์ (Christian Walzer) ผู้อำนวยการด้านสุขภาพแห่งสมาคมอนุรักษ์สัตว์ (Wildlife Conservation Society) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ว่า ในสภาพแวดล้อมดังกล่าว “เราจะมีนกที่ถ่ายมูลลงบนเต่าที่ถ่ายมูลลงบนอีเห็น นี่คือสภาพที่ยอดเยี่ยมอย่างยิ่งในการให้กำเนิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่” ยังไม่นับถึงสภาพความสกปรกในพื้นที่ตลาดสดซึ่งอุปกรณ์ในการชำแหละถูกใช้กับทุกชนิดพันธุ์โดยไม่ได้ทำความสะอาดอย่างเหมาะสม แม้ว่าการติดต่อหรือกลายพันธุ์ของเชื้อผ่านสัตว์ต่างชนิดพันธุ์จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก แต่ตลาดสดที่เอื้อให้เกิดการ ‘สัมผัสใกล้ชิด’ ของสัตว์ที่แทบไม่มีโอกาสพบเจอกันตามธรรมชาติเพราะกรงขังอยู่เรียงติดกัน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างยิ่ง

การรณรงค์ให้หยุดการล่า ค้า และรับประทานสัตว์ป่า ที่นอกจะช่วยหยุดการทำลายธรรมชาติแล้วยังช่วยหยุดโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ภาพจาก Wildlife Conservation Society 

จีนและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคจากสัตว์ป่าเป็นทุนเดิม เพราะเผชิญกับปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า ชุมชนและพื้นที่ปศุสัตว์ที่รุกคืบเข้าใกล้ชิดกับป่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบางชนิด และอาจนำไปสู่การระบาดใหม่ในอนาคต

พื้นที่ป่าซึ่งหดหายไปยังส่งผลให้บางประเทศต้องนำเข้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายจากประเทศห่างไกลขึ้น หรือกระทั่งการแสวงหาชนิดพันธุ์ใหม่ๆ มาทดแทนเพื่อตอบสนองความต้องการซื้อสัตว์ป่าหายากซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมความเสี่ยงของโรคระบาดกำเนิดใหม่ให้สูงมากขึ้นอย่างน่ากังวล

โรคระบาด: บทเรียนราคาแพงแต่ไม่มีใครจดจำ

เมื่อ พ.ศ. 2547 การระบาดของซาร์สทำให้รัฐบาลจีนออกกฎหมายห้ามซื้อขายสัตว์ป่าเป็นการชั่วคราว ร้านค้าในตลาดสดสัตว์ป่าแห่งมณฑลกวางตุ้งต้องปิดตัวไปร่วมปี แต่เมื่อโรคระบาดถูกควบคุมได้ ตลาดค้าสัตว์ป่าก็กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากรัฐบาลยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เปิดช่องให้มีการซื้อขายสัตว์ป่าบางชนิดพันธุ์อย่างถูกกฎหมาย ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ให้ห้ามการซื้อขายเป็นการถาวร

ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจีนได้ประกาศห้ามซื้อขายรวมถึงบริโภคสัตว์ป่าทุกชนิด รวมถึงสั่งปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั่วประเทศจีนกว่า 20,000 แห่ง และเช่นเดียวกับคราวของซาร์ส ประกาศดังกล่าวระบุอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลจีนจะยกเลิกการแบนภายหลังจากที่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงและค้าสัตว์ป่าในประเทศจีนนับว่าเป็นอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการจ้างแรงงานสูงถึง 14 ล้านคน

ภาพตลาดค้าสัตว์ป่าในเมืองอู่ฮั่น จาก South China Morning Post 

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการห้ามซื้อขายหรือบริโภคสัตว์ป่าภายหลังที่โรคระบาดสามารถติดต่อจากคนสู่คนนั้น ไม่ช่วยควบคุมการระบาดแต่อย่างใด แต่หากรัฐบาลจีนต้องการป้องกันการระบาดในอนาคตก็ต้องตัดสินใจห้ามซื้อขายสัตว์ป่าเป็นการถาวร การขยับตัวของรัฐบาลจีนจะส่งผลกระเทือนต่ออุตสาหกรรมลักลอบค้าสัตว์ป่าทั่วโลก เพราะเป็นการทลายปลายทางการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก

แหล่งผลิตสินค้าจากสัตว์ป่าเพื่อส่งออกไปยังจีนอย่างเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าสัตว์ป่าทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายและเติบโตเป็นอุตสาหกรรมมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐก็อาจเผชิญกับการถูกห้ามอย่างเด็ดขาด เพราะล่าสุด เหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีประเทศเวียดนาม ได้สั่งให้มีการร่างกฎหมายห้ามซื้อขายและเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าในฟาร์ม รวมถึงการเพาะเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ เนื่องจากความกังวลถึงความเสี่ยงจากโรคระบาดที่ติดต่อจากสัตว์ป่าสู่มนุษย์

อย่างไรก็ดี เวียดนามไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าอย่างแพร่หลาย รายงาน ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ณ ใจกลางของการซื้อขายสัตว์ป่า (Southeast Asia: At the heart of wildlife trade)’ โดยองค์กร TRAFFIC ซึ่งเผยแพร่เมื่อกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา ศึกษาการปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าตลอดสองทศวรรษของ 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยพบว่าปัญหาใหญ่ของภูมิภาคที่ทำให้การลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายคือ เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ อัตราการถูกจับกุมที่ต่ำ กฎหมายที่ไม่เพียงพอ และการกำกับดูแลตลาดสดและร้านค้าปลีกที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งปัญหาสุดท้ายทำให้เราสามารถพบเห็นการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้งตามท้องถนน ปัจจุบัน ภูมิภาคยังเผชิญกับความท้าทายใหม่คือการซื้อขายสัตว์ป่าออนไลน์ที่ยากจะควบคุม 

การระบาดของโควิด-19 คาดว่าจะกระทบต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจราว 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ของสหราชอาณาจักร นี่คือบทเรียนราคาแพงที่ประชากรทั่วโลกต้องร่วมจ่าย และผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทเรียนครั้งนี้จะทำให้ทั่วโลกร่วมใจหยุด ล่า ค้า และรับประทานสัตว์ป่า เพื่อป้องกันการระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เอกสารประกอบการเขียน

How do infections like the coronavirus jump from animals to people?

Coronavirus: Putting the spotlight on the global wildlife trade

To Prevent Next Coronavirus, Stop the Wildlife Trade, Conservationists Say

Coronavirus has finally made us recognise the illegal wildlife trade is a public health issue

China beefs up wildlife trade ban as COVID-19 outbreak intensifies

Coronavirus outbreak may spur Southeast Asian action on wildlife trafficking

Billion-dollar wildlife industry in Vietnam under assault as law drafted to halt trading

China just banned the trade and consumption of wild animals

Southeast Asia: At the heart of wildlife trade