วารสารทางวิทยาศาสตร์ Nature รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานว่า เมื่อราว 90 ล้านปีที่แล้ว ชายฝั่งทางตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกาเคยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าฝน ซึ่งคล้ายคลึงกับป่าฝนบริเวณเกาะตอนใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน

เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ปี 2017 กลุ่มนักวิจัยได้เดินเรือขุดเจาะบริเวณทะเลอามันด์เซน ทางตะวันตกของแอนตาร์กติกา และได้เก็บตัวอย่างตะกอนจากพื้นที่ใกล้เกาะไพน์ (Pine) และธารน้ำแข็งทเวทส์ (Thwaites) ซึ่งเป็นบริเวณที่ห่างจากขั้วโลกใต้ราว 2,000 กิโลเมตร

“ระหว่างที่เราทำการขุดเจาะจากบนเรือ สีของชั้นตะกอนข้างล่างสะดุดความสนใจของเราทันที มันแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากสีของตะกอนชั้นบน” โจฮันน์ เคลจส์ นักธรณีวิทยาแห่งสถาบันอัลเฟรด เวเกเนอร์กล่าว 

กลุ่มนักวิจัยนำตะกอนที่เก็บได้มาเข้ากระบวนการซีทีแสกน และพบว่ามันประกอบไปด้วย ชิ้นส่วนดึกดำบรรพ์ของดิน ละอองเกสรและสปอร์โบราณ รวมถึงเซลล์ของพืชกว่า 65 ชนิด ที่ยังคงสภาพดีและสามารถนำมาระบุโครงสร้างเซลล์ได้ ซึ่งหลักฐานดังกล่าวชี้ว่า ชายฝั่งทางตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกาเคยเป็นป่าฝน ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับในเกาะตอนใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน 

นักวิทยาศาสตร์ได้นำหลักฐานที่ค้นพบมาสร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศของทวีปแอนตาร์กติกาขึ้นและพบว่า ราว 92-83 ล้านปีที่แล้ว ทวีปแอนตาร์กติกามีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 12 องศาเซลเซียส อุณหภูมิในฤดูร้อนประมาณ 19 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝน 97 ลูกบาศก์นิ้วต่อปี ขณะที่พื้นที่ใกล้ขั้วโลกใต้ในปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยช่วงกลางวันคือ -60 ถึง -25 องศาเซลเซียส

อีกคำถามหนึ่งที่นักวิจัยสงสัยคือ ทวีปแอนตาร์กติกาที่ทุกปีจะมีระยะเวลา 4 เดือนที่ไร้แสงอาทิตย์ ทำไมถึงยังมีอุณหภูมิที่พอเหมาะแก่พื้นที่ป่าฝนได้ และพวกเขาพบว่า มันเป็นเพราะในยุคครีเตเชียส (80-115 ล้านปีที่แล้ว) โลกถูกปกคลุมปริมาณคาร์บอนสูงถึง 1,120 – 1,680 ต่อล้านส่วน กอปรเข้ากับปริมาณน้ำแข็งที่น้อยกว่าในปัจจุบัน และพืชที่ปกคลุมผิวดิน ทำให้เหมาะแก่การเติบโตของป่าฝน

“เราทุกคนควรเรียกรู้จากการเปลี่ยนแปลงการสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะมันสะท้อนว่าสภาวะโลกร้อนรุนแรงแค่ไหน” เคลจส์กล่าวต่อว่า โลกกำลังอยู่ในช่วงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และถ้าเรายังคงยืนกรานทำแบบที่ผ่านมา เราอาจจะถอยหลังกลับเพื่อแก้ไขอะไรไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่า อะไรเป็นสาเหตุให้แอนตาร์กติกาเย็นลงจนเกิดแผ่นน้ำแข็งปกคลุม ก็ยังเป็นปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์ต้องหาคำตอบต่อไป

 

ที่มา:

https://edition.cnn.com/2020/04/01/world/antarctica-ancient-rainforest-scn/index.html?fbclid=IwAR2wp1cRo8zwS0le-tVkidnFUTDVnkDYwdhDKv7iWSzp15lz0xYJM6OFk28

https://www.theguardian.com/world/2020/apr/01/antarctic

https://www.sciencealert.com/discovery-of-ancient-rainforest-in-antarctica-is-a-grim-warning-of-earth-s-future/amp 

Tags: ,