กรกฤต อรุณานนท์ชัย คือศิลปินไทยผู้เป็นที่รู้จักในหลายประเทศ เขาทำงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่จิตรกรรม ภาพถ่าย ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง จนถึงวิดีโออาร์ต ที่ว่าด้วยคอนเซปต์อันหลากหลาย ทั้งในบริบทของเมืองไทยและเรื่องราวอัน universal เพื่อสื่อสารกับผู้คนข้ามวัฒนธรรมด้วย  

หลังจากที่ทำงานในนิวยอร์กเป็นส่วนใหญ่ ล่าสุดนี้ กรกฤต อรุณานนท์ชัย กลับมาจัดนิทรรศการศิลปะที่เมืองไทยอีกครั้งในชื่อ Ghost:2561 ที่รวมเอางานวิดีโออาร์ตและเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตจากศิลปินหลากเชื้อชาติที่เป็นความหวังของยุคสมัย มาแสดงในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 11-28 ตุลาคมนี้ ภายใต้ความตั้งใจว่าจะให้งานแต่ละชิ้นร่วมกันแชร์ไอเดียเกี่ยวกับ ‘Ghost’ หรือภูติผีปีศาจ ทั้งในความหมายทางธรรมชาติและเทคโนโลยี

รายชื่อศิลปินที่เขาชวนมาแสดงผลงานล้วนแต่น่าจับตามอง เช่น Ian Cheng ศิลปินอเมริกันผู้มีชื่อเสียงจากงานชีวิตจำลอง (live simulation), Josh Kline ศิลปินและภัณฑารักษ์จากนิวยอร์ก ผู้มักจะหยิบเอาป๊อปคัลเจอร์มาวิพากษ์สังคมอย่างเฉียบขาด, Jon Rafman คนทำหนังชาวแคนาดาที่มักจะเล่นกับเรื่องสภาวะอารมณ์ของมนุษย์กับสังคม, Raqs Media Collective กลุ่มศิลปินจากนิว-เดลี, Hito Steyerl ศิลปินนักปรัชญาชื่อดังชาวเยอรมัน ฯลฯ รวมถึงศิลปินไทยอย่าง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, จุฬญาณนนท์ ศิริผล หรือ ธนพล วิรุฬหกุล รวมถึงคนอื่นๆ ที่มีผลงานอันน่าสนใจและท้าทายต่อคนเสพงานศิลป์หน้าใหม่ไม่ใช่เล่น

วันที่พบกัน ณ บางกอก ซิตี้ ซิตี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่จัดแสดงงาน กรกฤตมากับผมยาวสีเงิน ซึ่งตอนแรกเขาตั้งใจให้เป็นสีขาว เพื่องานแสดงใน Video Essay ชิ้นใหม่ของกรกฤต อย่างที่เขากำลังจะเล่าต่อไปนี้

เห็นว่าคุณย้อมผมสีขาวเพื่อรับบทเป็น ‘พญานาค’ อยากให้เล่าที่มาที่ไปสักหน่อย

มันเป็นเรื่องของพญานาคเพราะผมสนใจการใช้สัญญะผ่านตัวละครในเรื่องเล่าต่างๆ ซึ่งต้องขอย้อนไปถึงงานประติมากรรมซีรีส์ที่แล้วของผม ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าแพน (Pan) ซึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งแพะ มีอวัยวะเพศใหญ่ แล้วก็เป่าขลุ่ย เป็นหนึ่งในเทพเจ้ากรีกที่เก่าแก่ที่สุด เป็นเทพเจ้าของชาวนา

แล้วสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับแพนคือ มันมีโมเมนต์ที่เรียกว่า death of Pan ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนาที่มีพระเจ้าเพียงองค์เดียว (monotheistic religions) เป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรที่มีอำนาจรวมอยู่ในจุดเดียว อันเป็นจุดเริ่มต้นของระบบทุนนิยมด้วย การตายลงของแพนเกิดจากที่อาณาจักรต่างๆ พยายามลดความสำคัญของแพนลง ให้กลายเป็นเทวดาตัวเล็กๆ ในป่า เป็นเพียง horny little goat god เพราะแพนเป็นเทพเจ้าของคน หลายกลุ่มหลายเผ่ามีแพนเป็นของตัวเอง แพนไม่ได้มาจากจุดศูนย์กลางของอาณาจักร

ผมเคยอ่านหนังสือชื่อ Sapiens ซึ่งเขาบอกว่าในยุคที่มนุษย์เริ่มเปลี่ยนจากลิง (great ape) มาเป็นโฮโมเซเปี้ยน สิ่งที่มีอานุภาพมากที่สุดคือการที่เราควบคุมไฟได้ นั่นทำให้เราพัฒนามาไกลมาก และอย่างที่สองคือการใช้เรื่องเล่าเป็นอาวุธ มันคือเรื่องเล่าที่สามารถรวมตัวโฮโมเซเปี้ยนมาอยู่ด้วยกันเป็น 500 คน ซึ่งถือว่าเยอะมากแล้ว เมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น จำนวนนี้กลายเป็นพลัง และพลังนี้ก็มาจากการที่มนุษย์สามารถสร้างไอเดียที่เป็น collective subjectivity (อัตวิสัยโดยรวม) ได้ เรื่องของแพนก็เป็นอย่างนั้น  

ครั้งนี้ผมจึงหยิบเอาความคิดแบบนี้มามองพญานาค เรื่องของนาคหรือสิ่งมีชีวิตจำพวกงู ก็เป็นเรื่องที่ถูกเล่าเพื่อรวบรวมผู้คนให้มาอยู่เป็นกลุ่ม สำหรับคนในโลกแถบตะวันออก ไม่แน่ว่าเรื่องของนาคอาจจะมีอยู่ในพื้นที่แถบนี้ก่อนที่พุทธศาสนาจะมาถึงเสียอีก

อย่างเช่นที่คำชะโนด จังหวัดอุดรธานี ก็จะมีเรื่องเล่าของพญานาคที่สำคัญที่สุด นั่นคือท้าวศรีสุทโธ ที่เขาเป็นพ่อของนางเอกในเรื่องนาคี แล้วก็เป็นพงศ์พันธ์เดียวกับที่พ่นลูกไฟออกมาจากแม่น้ำโขง แล้วที่นั่นก็ยังมีความเชื่อเรื่องนาคจ้างหนัง ที่บอกว่ามีคนหน้าขาวๆ ใส่ชุดขาว มาติดต่อคนฉายหนังว่าอยากดูหนังกลางแปลง ทีนี้คนเขาก็ฉายหนังทั้งคืน ก็จะมีคนพวกนั้นมานั่งดู ผู้ชายนั่งข้างหน้าผู้หญิงนั่งข้างหลัง ทุกคนไม่คุยกัน แล้วคนที่ฉายหนังก็หลับไป พอตื่นขึ้นมาอีกทีคนพวกนั้นก็หายไปหมดแล้ว เงินที่ได้มาก็กลายเป็นใบไม้หมดเลย ข้อสรุปของเรื่องก็คือคนเหล่านั้นเป็นพญานาคที่แปลงร่างมา

สำหรับผม มันน่าสนใจที่เรื่องเล่าว่าพญานาคเลือกกลับมาเป็นคน เพื่อมาดูหนัง ซึ่งนั่นเป็นผลผลิตทางเรื่องเล่าของมนุษย์ด้วย ผมก็เลยย้อมผมขาว เพื่อมาแสดงเป็นพญานาคที่มานั่งดูหนังนั่นแหละ

ทำไมการที่ ‘ghost’ มาอยู่ใน form ของมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่ต้องพูดถึง

เรื่องที่ว่าทำไมพญานาคถึงต้องมาเป็นคน พระอินทร์มาเป็นคน ภูเขามาเป็นคน ทำไมทุกอย่างต้องการเป็นคน นั่นก็เพื่อรองรับเรื่องเล่าที่ว่า สิ่งเหล่านั้นต้องการมาสร้างความสัมพันธ์กับคน เรามองมันเป็นเรื่องของ animism หรือวิญญาณนิยม คือการที่ทุกอย่างจะต้องมาอยู่ในรูปแบบของคนก็เพื่อจะเล่าเรื่องต่อคน เพราะเรื่องเล่าหากจะกลายเป็นอาวุธสำคัญมันก็ต้องโน้มน้าวคนได้ เรื่องที่จะโน้มน้าวได้มากที่สุดมันก็อาจต้องก้าวข้ามเส้นแบ่งทางวัฒนธรรม หรือในเรื่องเล่าหลายๆ อย่างเลยเกี่ยวกับธรรมชาติที่กลายมาเป็นคน เป็นเรื่องความรักความสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่

ซึ่งถ้าดูเรื่อง animism ในเมืองไทย ผมว่ามันแทรกซึมอยู่ในผู้คนตั้งนานมาแล้ว ธรรมเนียมที่เรายึดอยู่ทุกวันนี้ หลายอย่างมันถูกสร้างขึ้นระหว่างช่วงหลังสงครามโลก เพื่อจะดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางและเพื่อสู้กับคอมมิวนิสม์ มันจึงมี ghost ที่ยึดโยงกับอำนาจรัฐแบบ monotheistic religions ซึ่งมีอยู่เพื่อรักษาระบบชนชั้นไว้ เพื่อรักษาโครงสร้างทางอำนาจที่จะไม่เป็นกลาง ไม่อย่างนั้นรัฐจะควบคุมผู้คนจากบนลงล่างไม่ได้

อีกอย่างหนึ่งที่ผมกำลังรีเสิร์ชอยู่ตั้งแต่สองปีที่แล้ว คือไอเดียเรื่องการนิยามสิ่งมีชีวิตในแต่ละสปีซี่ ซึ่งคำนิยามของมนุษย์มันอาจไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย หรือ material ที่ประกอบขึ้นเป็นคน แต่มันคือความสัมพันธ์ระหว่างวิญญาณ หรือ ghost กับร่างที่เป็น host มากกว่า

อย่างในทุกวันนี้ บางทีคนชอบการสนทนาเรื่องโพสต์-ฮิวแมนนิสม์ เช่นว่าเทคโนโลยีมันขยายขอบเขตของคน เช่นถ้ามองแบบง่ายๆ เลยก็เช่น เดี๋ยวมันจะมี AI ที่หน้าเหมือนเรา แล้วก็ใช้ชีวิตเหมือนเรา แต่ผมว่าอย่างนั้นมันเป็นเรื่องไซ-ไฟในมุมมองแบบการ์ตูนๆ หน่อย จริงๆ มันคือเรื่องของความสัมพันธ์อะ ที่เราเลือกจะให้สิ่งอื่นส่งผลโยงใยต่อกันกับเรา ในประวัติศาสตร์ก็มีความสัมพันธ์แบบนี้อยู่แล้ว ในอนาคตมันก็จะมีอยู่

ง่ายๆ อย่างเรื่องของโซเชียลมีเดีย การที่เรามีตัวตนอีกหนึ่งที่เราสร้างขึ้นมาแล้วก็แสดงออกไปต่อผู้คน เรื่องของตัวตนของเราที่เกิดขึ้นในระบบหรือ meta-self เรื่อง avatar อะไรก็ตาม จริงๆ ตัวเราได้ขยายออกจากลิมิตของการเป็นคนที่อยู่ในร่างกายไปตั้งนานแล้ว เราไปไกลกว่านั้นเยอะแล้ว มนุษย์จึงไม่ใช่แค่สิ่งที่ปรากฏอยู่ในร่างกายมนุษย์เท่านั้นอีกต่อไป

ดังนั้น เรื่องราวที่ Ghost:2561 พยายามจะเล่า มันคือการพยายามมองเฟรมเวิร์กของ animism ซึ่งมันครอบคลุมไปถึงมิติของเทคโนโลยีด้วย คือถ้าข้อมูลต่างๆ ที่ไหลวนอยู่บนโลกนี้โดยที่เรามองไม่เห็นนั้นคือ ghost มันก็ต้องการร่างกายหรืออะไรบางอย่างที่จะมารองรับมัน อาจจะเป็น site หนึ่งที่รวมข้อมูลบางอย่างไว้ ซึ่งก็อาจไม่ต่างจากสิ่งนั้นที่ไม่ว่าจะอยู่ในร่างพญานาคหรืออยู่ในร่างมนุษย์ที่แปลงมาดูหนัง

 

ด้วยคอนเซปต์เกี่ยวกับ animism นี้ คุณเลือกชวนศิลปินแต่ละคนมาแสดงผลงานอย่างไรบ้าง

คนที่ชวนมา ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนที่รู้จักหรือเคยร่วมงานกัน บางทีก็มีบางคนที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เห็นงานเขาแล้วรู้สึกว่าเข้ากับโปรเจกต์นี้เราก็ชวน  และก็มีบางคนเช่น Raqs Media Collective หรือ Hito ที่เราเห็นงานเขาแล้วรู้สึกว่ามันสอนอะไรเราเยอะ อย่าง Hito นี่ผมก็อ่านหนังสือเขาแล้วก็ฟังเลคเชอร์เขามาตลอด จนรู้สึกว่าเขาเป็นเหมือนอาจารย์ของผมคนหนึ่งเลย ทั้งที่ไม่เคยเจอกัน ก็เลยอยากชวน

ทีนี้งานของแต่ละคนอาจไม่ได้พูดเรื่องเดียวกันหรือมีวิธีการเดียวกันหมด ผมว่าเนื้อหาของ Ghost:2561 มันยืดหยุ่นพอสมควร คือแค่ตัวคำว่า ghost หรือ ผี มันก็มีความหมายที่ลื่นไหลในตัวของมัน แล้วตัวงานที่นำมาแสดงมันค่อนข้างหลากหลาย คือมันเป็นวิดีโอ installation เกือบทั้งหมด กับบางชิ้นงานที่เป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์ แต่ว่าในวิธีการเล่า หรือวิธีการเชื่อมโยงกับตัวชิ้นงาน กับพื้นที่ กับเนื้อหาทั้งหลายในตัวงาน ผมว่ามันแตกต่างกันมาก

มันมีงานที่อาจจะต้องใช้เวลาด้วยสักพักถึงจะเข้าใจว่า ghost ตัวนี้ทำงานยังไง มีบางงานที่ทำงานกับคนดูในแบบประสบการณ์ทางการรับรู้ผ่านร่างกาย อย่างงานชิ้นหนึ่งที่ชื่อ Interdimensional serpents ก็จะเป็นงาน VR ที่เหมือนเรากำลังนั่งอยู่ในเครื่องอะไรสักอย่างที่เป็นพญานาค แล้ว VR ก็จะเปลี่ยนภาพในหัวเราให้เห็นโลกแบบพญานาค มันเป็นงานที่ดึงเราเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งเลย

ผมว่าศิลปะก็เป็นการสร้างโลกอย่างหนึ่ง ดังนั้นงานทุกชิ้นจะช่วยกันเล่าเรื่อง ความเชื่อมโยงของงานทั้งหมดมันจะประกอบกันเป็นกลุ่มก้อนไอเดียของนิทรรศการนี้ ซับเจกต์หลายๆ งานในนี้มันค่อนข้าง universal เหมือนอย่าง Hito พูดเรื่องไฟแนนซ์ เขาสร้างบริษัทจำลองชื่อ Liquidity Inc. ที่มองคอนเทนต์ของบริษัทนี้ในฐานะการเป็นของเหลว แต่ขณะเดียวกัน liquidity มันก็หมายถึงความเหลวในระบบไฟแนนซ์ หรือความเหลวในทางการเมืองก็ตาม ซึ่งตรงนี้มันก็เป็นไอเดียหรือความรู้สึกที่คนบนโลกนี้มีร่วมกัน

หรืออย่างงานของ Josh Kline ก็จะเกี่ยวกับ Universal Base Income หรือ UBI เขาเอาเรื่องนี้มาเล่นในฐานะที่มันคอนทราสต์กันกับสิ่งที่เกิดขึ้น นั่นคือในด้านแรงงานที่มีระบบหุ่นยนต์ เทคโนโลยี มาแทนที่คนมากขึ้น ซึ่งถ้าเจองานชิ้นนี้โดยแยกออกไป ไม่ได้ดูงานอื่นในซีรี่ย์นี้ ก็อาจจะเชื่อมโยงเรื่อง ghost ได้ยากหน่อย

ดูเหมือนว่าตัวนิทรรศการ Ghost:2561 ก็มีความคล้ายคลึงกับ ‘ผี’ อยู่เหมือนกัน

การจัดนิทรรศการตรงนี้ ก็เพื่อให้เราเห็นร่างกายของมันได้ ผ่านการรวมเอามุมมองหลายๆ อย่าง ที่ล้วนมีจุดที่เชื่อมโยงกัน มันจะเป็น ‘ความจริง’ ชิ้นหนึ่ง ที่ก็เป็นส่วนหนึ่งมากๆ ของความจริงก้อนที่เราอาศัยอยู่ภายในนั้น และการที่เราจะเห็นหรือสัมผัสความจริงนี้ได้ ก็อาจจะเป็นการดูศิลปะหรืองานเพอร์ฟอร์ม หรือวิดีโออะไรต่างๆ เราถึงได้เรียก Ghost:2561 ว่าซีรีส์

มันคือเมฆก้อนหนึ่งที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 3 อาทิตย์ แล้วก็เริ่มสลายตัว แต่ก็จะยังมีเค้าโครงต่อไปเรื่อยๆ มันคือการเชื่อมต่อเพื่อให้เห็นเครือข่ายของความสัมพันธ์ และผมมองว่าความสำคัญอย่างหนึ่งของ Ghost:2561 มันเกี่ยวกับเวลาด้วย โดย host ในที่นี้มันหมายถึงโลเคชั่น เพื่อให้ทุกอย่างสามารถเกิดเป็นความจริงขึ้นมาได้

แล้วทีนี้มันก็จะมีความหมายในเชิงเวลาและบริบท ว่าที่ที่ ghost ปรากฏรูปร่างขึ้นนี้คือเมืองไทยในปี 2561 ดังนั้น ทุกอย่างถือเป็น time base experience ที่คุณจะมาแล้วใช้เวลากับมัน แล้วเวลาหรือประสบการณ์มันไม่สามารถย่นย่อกลายเป็นภาพเพียงภาพเดียวหรือวิดีโอเดียวได้ เพราะเทคโนโลยีเหล่านั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแทนที่ประสบการณ์ตรงนี้ เราเลยอยากให้ทุกคนมาดู

คนที่เข้ามาดูงานในซีรี่ส์ Ghost:2561 จำเป็นต้องเข้าใจคอนเซปต์ทั้งหมดของมันไหม

มีนักเขียนฝรั่งเศส ชื่อธริสตัน การ์เซีย (Tristan Garcia) ผมอ่านหนังสือของเขาชื่อ Form and Object แล้วผมก็ชอบมาก ประโยคสุดท้ายที่เขาเขียนเอาไว้ก็คือ “I always look for a meaning and I find many” คือสุดท้ายแล้วเรื่องของมุมมองนิยม (perspectivism) มันสำคัญ เพราะจริงๆ แล้ว ‘ความจริง’ มันมีหลายแบบ และในความหลากหลายนั้นก็มีลำดับขั้นของมัน แล้วแต่ละขั้นมันก็มีระบบการให้คุณค่าที่ไม่เหมือนกัน ความหมายของ Ghost เองก็คงไม่ได้เหมือนกันหมดสำหรับแต่ละคนที่เข้ามาดู

ทีนี้เราก็มีระบบที่จะเข้ามาช่วยเสริมนั่นคือให้มีคนมาเล่าเรื่อง ซึ่งก่อนหน้านั้น เราจะเตรียมตัวกันผ่าน ‘ห้องเรียนนักเล่าเรื่อง’ (classroom of storytellers) ก่อน นี่เป็นโปรแกรมที่เจน (จุฑา สุวรรณมงคล) คิดค้นขึ้นมา และจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 กันยายน 2561

 

อยากให้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ‘นักเล่าเรื่อง’ ที่จะมาช่วยสื่อสารกับผู้ชมใน Ghost:2561

ที่ผมคุยกับเจนก็คือ อย่างหนึ่งของการดูงานศิลปะ คนพึ่งพิงความเข้าใจต่องานผ่านทางตัวบทที่เตรียมไว้ให้มากเกินไป จนไม่ได้ใช้เวลาให้ตัวเองลองจัดการกับผัสสะต่างๆ ที่งานมากระทบ พอเขาอ่าน statement แล้วเขาก็เข้าใจไปว่าเขาเข้าใจงาน หรือนั่นคือคำอธิบายของงาน ดังนั้นงานจึงหมายถึงสิ่งที่เราบอกเขา ไม่ใช่ประสบการณ์ที่เกิดจากการประติดต่อของตัวเขาเอง หรือแม้แต่สำหรับเรารู้สึกว่าวิธีแบบนั้นทำให้ไม่เกิดการดูงานแล้วดีลกับสิ่งที่ตัวเองรู้หรือไม่รู้ไปเรื่อยๆ ซึ่งมันคือกระบวนการที่จะเกิดขึ้นซ้ำๆ และเชื่องช้า คือมันจะค่อยๆ ซึมเข้าไป ไม่ได้สมบูรณ์ภายในครั้งเดียว

สิ่งที่เราทำ จึงไม่อยากยื่นตัวบทอะไรที่มากเกินไป คือเราจะมีข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับงานอยู่แล้ว แต่เราอยากให้คนดูค่อยๆ เรียนรู้ว่า การดูงานศิลปะร่วมสมัยมันคือความสัมพันธ์ของความคิดความเข้าใจที่แยกไม่ออกจากผัสสะต่างๆ ด้วย คนที่ทำงานเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ ใน Ghost:2561 จะเป็นเหมือนอีกเลเยอร์หนึ่งของงาน ที่เกิดขึ้นภายหลังการดูงาน และนักเล่าเรื่องแต่ละคนจะแลกเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับงานในแบบของเขา ผ่านการทำงานด้วยกันกับเราในห้องเรียนมาเป็นเวลาล่วงหน้าตั้งแต่เดือนกันยายน

วาทกรรมและมุมมองเชิงวิพากษ์ต่อตัวงาน จะยังวางอยู่บนความทรงจำและบุคลิกภาพส่วนตัวของนักเล่าเรื่องเอง เราหวังว่าทั้งหมดนี้จะนำไปสู่สนทนาที่เปิดทางสู่อย่างอื่นกับคนดู เพราะเราคิดว่าการเรียนรู้มีทั้งส่วนที่เป็นกระบวนการภายในของตัวเอง และการแตะไปสู่สิ่งอื่นหรือผู้อื่นในจุดที่โดยตัวเราเองคนเดียวอาจพาไปไม่ถึง

สำหรับสิ่งพิมพ์ เจนจะทำเป็น anthology (หนังสือรวมข้อเขียน) รวบรวมบทความจากนักเขียนคนโน้นคนนี้ที่เจนเลือกมากับบรรณาธิการอีกคนที่ชื่อมิ ยู (Mi You) ความคิดวางอยู่บนการตีความของไอเดียตั้งต้นของ Ghost:2561 โดยการเสนอมุมมองหลากหลายที่อาจช่วยตระเตรียมผู้ดูงานให้มีทางเข้าได้มากกว่าทางเดียว หนังสือนี้จึงเกาะเกี่ยวอยู่กับนิทรรศการ ขณะเดียวกัน ก็พาไปยังจุดอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อมโยงด้วยพร้อมกัน

เช่นงานเขียนของเดวิด อับบราม (David Abram) ชื่อ The Forgetting and Remembering of the Air เกี่ยวกับการพูดเรื่องอากาศในวัฒนธรรมของมนุษย์ว่ามันเป็นมาอย่างไร ตั้งแต่การเล่าแบบมุขปาฐะที่เคยสำคัญกว่าการเขียน ว่ามนุษย์เราผูกพันกับอากาศอย่างไร ในความหมายที่ว่าเรามองไม่เห็นมันหรอก แต่เราขาดมันไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ มันเป็นได้ทั้งในเชิงข้อเท็จจริงและการเปรียบเทียบ เพราะว่าการไม่ถูกมองเห็น มันยังหมายถึงคนที่ถูกทำให้กลายเป็นชายขอบด้วย แล้วความเจริญของอารยธรรมมนุษย์ มันยิ่งทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกลืมยังไงบ้าง ซึ่งนั่นหมายถึงการหลงลืมคุณลักษณะบางอย่างในตัวเราเองด้วย

แล้วก็จะมีบทความอีกชิ้นหนึ่งของฮิโต สเตเยิร์ล (Hito Steyerl) ก็จะพูดเรื่องข้อมูล ทะเลของข้อมูล เราอยู่ในสภาวะที่ข้อมูลเยอะมากจนเราไม่รู้ว่าเราจะจัดการกับข้อมูลเหล่านั้นยังไง มันเป็นภาวะที่คนบนโลกนี้พบเจอมากอะไรแบบนี้ ก็จะมีบทความทั้งหมด 9 ชิ้น และหนึ่งในนั้นเป็นบทหนึ่งในพระอภัยมณี ตอนที่พระอภัยมณีมีเพศสัมพันธ์กับนางเงือก คือเรารู้สึกว่าจินตนาการเกี่ยวกับมนุษย์กับสัตว์มันเกิดขึ้นในวรรณกรรมของทุกวัฒนธรรม มันไม่ใช่เฉพาะในตำนานกรีกหรือแถบละตินอเมริกา ทั้งหมดก็เพราะเราอยากสร้างบทสนทนาใหม่จากวัตถุดิบที่อาจจะคุ้นเคยพวกเรากันเองอยู่แล้ว

ไม่ว่าคนดูจะมีนิยามเรื่อง ghost ในหัวยังไง มันจะถูกต่อเติมผ่านการดูงานและการสนทนา มันจะมีบางส่วนที่แตะความเข้าใจเขา บางส่วนที่ทำให้ความเข้าใจเขาขยายไปจาก ghost แบบที่เคยเข้าใจมาก่อน ผมว่าศิลปะอาจจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเข้าใจอัตวิสัยของเรามากขึ้น อัตวิสัยของประวัติศาสตร์ ของครอบครัวตัวเอง ซึ่งความเข้าใจนั้นมันไม่ใช่แค่ขาวหรือดำ ไม่ใช่แค่เข้าใจหรือไม่เข้าใจ เราเองไม่ได้อยากให้เขามาเพื่อเข้าใจอะไรบางอย่าง ผมรู้สึกว่าถ้าคนมาดูงานแล้ว ไม่ว่าเขาจะได้อะไรกลับไป มันไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิดทั้งนั้น เพียงแต่มันจะต้องมีการแลกเปลี่ยนบางอย่างเกิดขึ้นแน่ๆ

Fact Box

  • กรกฤต อรุณานนท์ชัย เกิดในปี พ.ศ.2529 หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพฯ เขาย้ายไปเรียนต่อด้านภาพพิมพ์และจิตรกรรมที่สถาบันศิลปะและการออกแบบ โรด ไอส์แลนด์ และปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
  • กรกฤตเคยแสดงผลงานมาแล้วในหลายประเทศทั้งในอเมริกา อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส โปแลนด์ ออสเตรเลีย จีน เม็กซิโก และเลบานอน ล่าสุดเมื่อต้นปี 2018 ที่ผ่านมา เขาเพิ่งแสดงผลงาน A workshop for peace - in a room filled with people with funny names 4, C L E A R I N G ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม งานชุดเดียวกันนี้ยังเคยจัดแสดงที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ และนิวยอร์กด้วย
  • นิทรรศการเดี่ยวในประเทศไทยของเขาคือ 2012-2555,2556,2557 งานวิดีโอจัดวางไตรภาค ที่จัดแสดงในปี 2559 ณ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน และ PAINTING WITH HISTORY IN A ROOM FILLED WITH PEOPLE WITH FUNNY NAMES 3 ที่ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ในปีเดียวกัน

นิทรรศการ Ghost:2561 จัดขึ้นในหลายพื้นที่ ได้แก่ 100 Tonson Gallery, ARTIST+RUN Gallery, BANGKOK CITY CITY GALLERY, CARTEL Artspace, Doxza Art Lab, The Jim Thompson House, Nova Project Space, Subhashok The Arts Centre และ Gallery VER

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://ghost2561.com

ชมผลงานที่ผ่านมาของกรกฤตได้ที่  https://www.artsy.net/artist/korakrit-arunanondchai

และ http://www.carlosishikawa.com/artists/korakritarunanondchai/

Tags: , , , ,