“แล้วพบกันนะคะ”

หลังวางสายโทรศัพท์นัดหมายกับ เจี๊ยบ-อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล เสร็จสิ้นลง เราใคร่ครวญถึงบทสนทนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า อมรัตน์กำลังเดินทางจากสถานีตำรวจบางเขน มายังคาเฟ่สีขาวบรรยากาศอบอุ่นชื่อ Lemoncurd Tearoom บนถนนบรรทัดทอง หลังไปสังเกตการณ์การรายงานตัวของผู้ต้องหา 8 ราย ที่ได้รับ ‘หมายเรียก’ จากตำรวจ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ

เมื่อนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา พานให้รู้สึกโหวงตรงช่วงท้อง และเฝ้ารอรับฟังเรื่องราวมากมายจากปากเธออย่างเต็มแก่

อมรัตน์สร้างความประทับใจแรกด้วยการมาถึงก่อนเวลาครึ่งชั่วโมง ท่ามกลางความรู้สึกผ่อนคลายที่ได้รับจากรอยยิ้มของเธอ รอยยิ้มของผู้ช่วยเธอ และรอยยิ้มของเจ้าของร้าน ความโหวงท้องก่อนหน้านี้เริ่มหายไป เราจึงเป็นฝ่ายเริ่มบทสนทนาเกี่ยวกับชีวิตของอมรัตน์ก่อนจะเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เพื่อถามไถ่ว่าเธอเป็นใครมาจากไหน แล้วเพราะอะไรถึงสนใจเรื่องราวทางการเมือง

“ตอนเด็กๆ ก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นคือการเมือง เราสังเกตความเป็นไป ชนชั้น ความไม่เท่ากัน เพราะที่บ้านวิ่งรถโดยสาร บขส. สายใต้ กรุงเทพ-หาดใหญ่ กรุงเทพ-ภูเก็ต ตอนเย็นพนักงานเขาเอาเงินมาส่งที่บ้าน คนขับ กระเป๋ารถ เด็กท้ายรถ ทำงานหนักแต่ทำไมค่าแรงน้อย พ่อแม่ไม่เห็นทำอะไรเลย แต่ทำไมกลับได้เงินเยอะ ทำไมคนลงแรงเยอะแต่ได้เงินน้อย คนไม่ได้ลงแรงอะไรเลย ทำไมเขาได้เงินตั้งเยอะตั้งแยะ ก็มีคำถามตลอดเวลามาตั้งแต่เด็ก”

“เราเป็นเด็กสาธิตศิลปากรรุ่นแรกๆ  โรงเรียนสาธิตมีส่วนทำให้เป็นคนแบบนี้ ตอนนั้นเป็นโรงเรียนทางเลือกที่คนหนุ่มสาวจบด็อกเตอร์มาเปิดสอน เขาฝึกให้เถียง ตั้งคำถาม ให้สงสัย ให้มีความกล้า แรกเริ่มมีเด็กแค่ 60 คน ต้องสลับไปพูดหน้าชั้นทุกวัน เทียบกับสมัย 30 กว่าปีที่แล้ว ถือเป็นโรงเรียนสมัยใหม่ในยุคเก่า เราก็สนุกสนานกับรั้วโรงเรียนที่ติดกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งมาเรียนต่อที่เตรียมอุดมศึกษา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป”

“พอมาอยู่เตรียมฯ ต้องยืนสวดมนต์ ไว้ผมเท่ากัน สิ่งที่เจออาจทำให้เราอินกับเด็กรุ่นนี้ อินกับกลุ่มนักเรียนเลวที่ออกมาเรียกร้องหรือตั้งคำถามถึงระเบียบบางอย่างในสถานศึกษา ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยก เป็นเด็กบ้านนอกเข้ามาเจอกับคัลเจอร์ช็อก เพื่อนในห้องคิงก็จะนามสกุล — พหลพลพยุหเสนา นานา ณ อยุธยา ณ ถลาง ณ โน่นนี่ เพื่อนจะเอาคุณครูจากเตรียมฯ ไปติวที่บ้าน เราต้องปรับตัวทั้งระเบียบ กฎ วัฒนธรรมแบบผู้ลากมากดี”

“เราเห็นเรื่องชนชั้นมาตลอด เห็นความไม่เท่าเทียม เห็นการไม่กระจายโอกาส คนทำงานหนักได้ค่าตอบแทนน้อย ทำให้ตายก็ไม่รวย ความรวยไม่ได้เกิดจากความขยันอย่างเดียว ประจักษ์แจ้งเลยว่าคุณจะทำโอทีให้ตายยังไงก็ไม่สามารถรวยได้ง่ายๆ และสมัยนี้เรื่องเหล่านี้ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่”

อมรัตน์ยังคงเล่าเรื่องราวที่เธอพบเจอมาให้ฟังด้วยใบหน้าอิ่มเอมเมื่อย้อนนึกถึงความหลัง หากเอ่ยถึงการทำรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี พ.ศ. 2557 สื่อหลายสำนักทำให้เห็นภาพว่า คนส่วนใหญ่ออกมาเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึก ทว่าอมรัตน์กลับยิ้มแล้วตอบด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลว่า สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นเสมอไปก็ได้

“ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มน้อย แต่เราเป็นคนที่เสียงเบากว่าเท่านั้นเอง คนกลุ่มเล็กที่ออกมา Shut Down Bangkok คือคนกลุ่มเล็กที่เสียงดังและมีเส้นสาย ในความรู้สึกของเรา เขาเป็นม็อบมีเส้น แต่คนรากหญ้าหรือคนกลุ่มแรงงานมีมากกว่า เสียงกลับไม่ดังเท่า”

สิ่งที่อมรัตน์พยายามทำให้เสียงของกลุ่มตัวเองดังขึ้น คือการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ นัดจุดเทียนในจังหวัดนครปฐม จัดงานเรียกร้องว่ามีคนไม่ยอมรับโมฆะเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 จนถึงยกเต็นท์ขึ้นรถมุ่งหน้าไปยังถนนอักษะ ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ถนนสายยาวบ่งบอกถึงความสงบ สันติ และปราศจากสถานที่ราชการขนาดใหญ่ ที่ครั้งหนึ่งเคยรวมมวลชนคนเสื้อแดงได้จำนวนไม่น้อย

ทว่าการเรียกร้องของอมรัตน์กับกลุ่มคนเสื้อแดงต้องจบลง เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นับเป็นการทำรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย โดยให้เหตุผลว่า เพราะวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 จากกรณีการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และการชุมนุมของประชาชนหลายกลุ่ม ทำให้คสช. ต้องเข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยในสังคม

“ก่อนพลเอกประยุทธ์ทำรัฐประหาร เราไปตั้งเต็นท์ที่ม็อบอักษะ ประกาศตัวว่าเป็น ‘แดงนครปฐม’ แล้วก็โดนสลายการชุมนุม ข้าวของที่เอามากระจัดกระจาย ได้เห็นภาพมะละกอที่สับไว้กระจายไปหมด ข้าวของ โต๊ะพังระเนระนาด หลังรัฐประหารไปแล้วก็ต้องกลับไปที่อักษะอีกครั้งเพื่อขนของกลับบ้าน มีทหารถือปืนคุมตลอดทาง”

จาก ราษฎร สู่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

อะไรทำให้นักธุรกิจหญิงจากนครปฐมก้าวเข้าสู่ถนนการเมือง อมรัตน์บอกว่าจุดสำคัญคือการได้พบกับปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่คนแรก

“เราสนใจการเมืองแต่ไม่ได้จะลงเล่นการเมือง จนกระทั่งมาเจออาจารย์ป๊อก (ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคนแรกและคนเดียวของพรรคอนาคตใหม่) ถ้าสนใจก็คงเล่นไปนานแล้ว ไม่ต้องรอถึงอายุ 50 กว่า เพราะคุณพ่อก็ใกล้ชิดกับตระกูลสะสมทรัพย์ที่ทำการเมืองท้องถิ่นมานาน เราคุ้นเคยกับอาจารย์ป๊อกจากการที่มาฟังเสวนาที่ธรรมศาสตร์ เขาต้องการให้เราร่วมทีมอยู่เรื่อยๆ วันหนึ่งอาจารย์ป๊อกพูดว่า พี่เจี๊ยบ ผมจะตั้งพรรคการเมือง เราถามว่า พรรคอะไร เขาตอบว่า ยังไม่มีชื่อเลย ผมจะตั้งพรรคกับเพื่อนคนหนึ่งชื่อธนาธร ” 

“อาจารย์ป๊อกตั้งใจว่าไม่อยากให้ประชาชนแยกเป็นซ้ายกับขวา แดงกับเหลือง เส้นแบ่งที่ควรจะเป็นไม่ใช่เส้นบนลงล่าง แต่ควรเป็นเส้นแนวนอนของชนชั้นศักดินากับประชาชน คนข้างล่างควรได้กำหนดแนวการต่อสู้ใหม่ ไม่ได้มาสู้กันเอง แต่รวมกันแล้วสู้กับชั้นบนสุดต่างหาก มันตรงกับแนวคิดเราเลยอยากช่วย รวมถึงอาจารย์ป๊อกก็เป็นนิติราษฎร์ (กลุ่มที่เกิดจากอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์) ซึ่งเราก็ชอบแนวคิดนิติราษฎร์ที่เสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่แล้ว ก็เลยกลายเป็นผู้จดจัดตั้งพรรค 500 คนแรก”

ตอนนั้นพรรคยังไม่มีกระแส ‘ฟ้ารักพ่อ’ จากงานบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ช่วงแรกที่คัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. กว่า 350 เขต อมรัตน์นั่งสัมภาษณ์คนจำนวนมาก พอถึงจุดหนึ่ง การคัดเลือกดำเนินจนถึงวันท้ายๆ ห้วงเวลานั้นคือจุดเปลี่ยนทำให้ชีวิตของเธอไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

อมรัตน์เล่าว่า เนื่องจากตัวเลือกน้อย พรรคยังไม่มีชื่อเสียง และเน้นว่าเป็นพรรคของคนธรรมดา ไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทนักการเมือง แม้แต่คนเข็นผักในตลาดนนทบุรี พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ตึกไทยซัมมิท ที่ตั้งของพรรค ต่างก็มาสมัครเป็น ส.ส. 

“ทั้งหมดเป็นอย่างที่คุณเอก (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) บอกจริงๆ ว่าเป็นใครก็ได้ แต่คนสัมภาษณ์อย่างเราปวดหัวมาก คนมาเยอะแต่ไม่ใช่ทุกคนที่คุณสมบัติผ่าน เลยคิดในใจว่าสมัครเองดีกว่าไหม ประกอบกับอาจารย์ป๊อกก็เชียร์ด้วย เขาอยากให้กรรมการสรรหาลง ส.ส. ในนามบัญชีรายชื่อ เลยลงแบบจับพลัดจับผลูในลำดับที่ 29” 

“ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้ เคยคุยกับคุณเอก เขาบอกได้สิบคนก็เก่งแล้ว ได้ถึงสิบคือเกินเป้า ก็คิดว่าน่าจะได้สัก 7 คน ตอนนั้นหนังสือพิมพ์เขียนว่าพรรคอนาคตใหม่น่าจะได้ ส.ส. เข้าสภาแค่ 3 คน คือ ช่อ ป๊อก เอก แต่สุดท้าย ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคได้เข้าสภา 57 ที่นั่ง ส่วน ส.ส. เขตได้ 30 ที่นั่ง เราในลำดับที่ 29 ก็หลุดเข้าไปด้วย แผนที่วางไว้ว่าถ้าเลือกตั้งเสร็จจะไปทำศูนย์ฯ ที่นครปฐมจึงต้องพับไปก่อน”

ด้วยกระแสของพรรคอนาคตใหม่ที่มาแรงเกินคาดคิด สมาชิกหลายคนจึงมีโอกาสได้เข้าไปนั่งในสภา รวมถึงอมรัตน์ ที่ได้เข้ามาด้วยฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบการบริการประเทศของฝ่ายรัฐบาล ทว่าพอเข้ามาในสภา สิ่งที่ได้เห็นนับว่า ‘เกินความคาดหมาย’ จากสิ่งที่เธอเคยคิดไว้

“จริงๆ รู้อยู่ในระดับหนึ่งแล้วว่าเป็นอย่างไร เอาเรื่องที่หนักใจก่อนเลย เราไม่ได้เรียนนิติศาสตร์มา เริ่มกังวลเกี่ยวกับกฎหมายและวิชาการ ญัตติคืออะไร กระทู้ในเชิงการเมืองหมายถึงอะไร แปรญัตติเขาทำกันแบบไหน เรื่องพวกนี้สามารถเรียนรู้ได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ช็อกทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ามันคือละคร เคยได้ยินว่านักการเมืองด่ากันเถียงกัน แล้วเดี๋ยวพอเข้าห้องอาหารก็คุยกัน จับมือกัน แต่พอเข้ามาเจอเองมันดราม่ามากกว่าที่คิด”

ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างอมรัตน์กับประยุทธ์

หากยังจำกันได้ อมรัตน์เคยถูก ส.ส. ชายจากพรรคพลังประชารัฐค้านเรื่อง ‘เสื้อคอระบาย’ กลางสภา กล่าวหาว่าเธอแต่งกายไม่เหมาะสมกับสถานที่ ดราม่าที่คาดเดาไว้จึงไปไกลยิ่งกว่าเดิม นอกจากเสื้อคอระบายตัวเก่ง ยังมีประเด็นละเอียดอ่อนอย่างการถูก ‘ตบบ่าแรงๆ ’ ที่ชวนขบคิดว่า การกระทำดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่

“วันนั้นใส่สูทปกติ แต่เสื้อด้านในเป็นแบบคอระบายสีขาว เราลุกขึ้นกำลังจะพูดเรื่องการทำรัฐประหารที่ส่งผลให้การเมืองและเศรษฐกิจปั่นป่วน อยู่ๆ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ยกมือขึ้นประท้วงว่า ท่านประธานครับ นั่นเขาแต่งตัวอะไรเข้ามา ผิดระเบียบ ให้ตำรวจสภามาเชิญตัวออกไปเถอะครับ คิดว่าเขาประท้วงด้วยวัตถุประสงค์เพียงเพื่อขัดจังหวะให้เราหยุดพูด ให้ลืมสิ่งที่จะพูด”

อมรัตน์ยังเล่าอีกประสบการณ์หนึ่งในสภา เมื่อเธอได้เจอกับพลเอกประยุทธ์ ตัวจริงเสียงจริงทั้งในลักษณะตัวต่อตัว และในเวทีสภา ซึ่งเธอถือเป็นหนึ่งใน ‘คู่ชก’ ที่สมน้ำสมเนื้อมากที่สุด

“ครั้งหนึ่ง นั่งทานข้าวอยู่ในห้องอาหารรัฐสภา เพื่อนที่นั่งตรงข้ามเห็นนายกฯ ก็บอกว่า พี่เจี๊ยบ นายกฯ มา เขาเดินทักทายคนโต๊ะนั้นโต๊ะนี้ ด้วยความที่นั่งหันหลังอยู่ก็ไม่ได้หันไปสนใจ อยู่ๆ มีคนมาตบบ่าเสียงดัง เพี๊ยะ! ว่าไง เป็นยังไงบ้าง ตอนนั้นโกรธมากแต่คิดไม่ทัน ไม่คิดว่าเขาจะทำแบบนี้กับเรา อันนี้เป็นประเด็นทางเพศหรือไม่เราก็ไม่ทราบ แต่เราไม่เคยรู้จักกันส่วนตัว แค่เคยอภิปรายถึงเขาเฉยๆ แล้วเรื่องถึงอะไรเดินมาตบบ่าแรงแบบนี้ ตบเหมือนทหารผู้ใหญ่ตบพลทหาร พยายามแสดงความสนิทสนม แต่ความโกรธและความไม่ได้ตั้งตัว เราก็เลยหันแล้วทำได้แค่นี้”

ระหว่างที่เพลง All I Want for Christmas Is You จากลำโพงในคาเฟ่ถูกเปิดคลอไปกับบทสนทนา ‘ทำได้แค่นี้’ ของอมรัตน์คือการยกมือปัดไหล่ขวาที่นายกรัฐมนตรีเดินมาตบ เธอกล่าวว่า คิดย้อนกลับไปตอนนี้ก็ยังรู้สึกเสียดาย ถ้าหักลบอาการอึ้งปนตกใจก็คงจะถามว่า “เป็นเพื่อนกันเหรอ เราเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เมื่อไหร่” ก็ชวนให้รู้สึกประทับใจกับเพลงช่วงเทศกาลที่ฟังซ้ำเป็นร้อยๆ ครั้งเสียอย่างนั้น

ไหนๆ ชื่อของพลเอกประยุทธ์ ก็ถูกดึงเข้ามาในบทสนทนาแล้ว หากติดตามข่าวการเมืองไทยหรือรับชมการประชุมสภากันมาบ้าง บ่อยครั้งทำให้เห็นการประชันหน้าของทั้งคู่ ไม่ว่าการสลับกันชี้หน้า เหตุการณ์ที่อมรัตน์เดินขึ้นไปยังบัลลังก์นายกฯ เพื่อจี้ให้ตอบคำถาม และวลีที่ผู้นำไทยเอ่ยว่า “ผมไม่ยุ่งกับท่านดีกว่า” ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามหลายต่อหลายครั้งว่า เธอชิงชังพลเอกประยุทธ์จากใจจริงด้วยเรื่องส่วนตัว หรือว่ามีเหตุผลอื่นประกอบรวมเข้ามาทำให้รู้สึกแย่กันแน่

“เขาเคยโกหกอย่างน้อย 5 ครั้งออกสื่อว่าจะไม่ยึดอำนาจ บอกว่าไม่ยึดครับ ยึดอำนาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แรกเริ่มปฏิเสธแต่สุดท้ายก็ยึดอำนาจ เขาให้แกนนำม็อบสองฝั่งเข้าไปคุยในราบ 11 ทุบโต๊ะแล้วบอกว่าผมยึดอำนาจ ไหนจะขอเวลาอีกไม่นาน แต่ผ่านมา 6 ปีแล้ว ถ่วงเวลาการแก้รัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ” 

“ถ้าถามว่าผู้นำที่ดีควรจะเป็นแบบไหน ผู้นำที่ดีควรเป็นเพชรยอดมงกุฎ เป็นศักดิ์ศรีของประเทศ ผู้นำไม่จำเป็นต้องฉลาดทุกเรื่อง แต่ตอนนี้ผู้นำไม่มีคุณสมบัติหรือวิสัยทัศน์นำพาประเทศเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก แต่ยังคงขับเคลื่อนไทยด้วยชาตินิยมอย่างเดียว ยังเป็นลัทธิชาตินิยมช่วงสงครามเย็นอยู่”

ผู้ใหญ่วัย 50 ผู้แอคทีฟบนโลก ‘ทวิตเตอร์’

ถึงเธอจะตำหนิติเตียนผู้นำประเทศเสียยกใหญ่ อมรัตน์ยังคงมีสีหน้ายิ้มแย้ม ไม่มีท่าทีรุนแรงหรือหลุดกิริยาด้านลบออกมาให้เห็น สิ่งที่พรั่งพรูออกมาหลายครั้งอ้างอิงจากข่าวคราวบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่ยากจะปฏิเสธ บทสนทนาหยุดเป็นพักๆ ทิ้งช่วงให้ตกตะกอน แล้วเดินหน้าต่อด้วยประเด็นที่ขยับเข้าใกล้ตัวขึ้นอีกนิดอย่างประเด็น ‘Generation Gap’ หรือ ช่องว่างระหว่างวัย

อมรัตน์ถือเป็น ส.ส. ที่ใช้โซเชียลมีเดียบ่อยครั้ง แบ่งปันข้อมูลทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัวผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ จึงไม่แปลกที่เธอจะเห็นวลี ‘ผนงรจตกม.’ ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อยู่บ่อยๆ

“ขอยกตัวอย่างความล้มเหลวด้านภาวะผู้นำ การชี้หน้าขู่ ส.ส. กลางสภาว่า ระวังตัวไว้ด้วยแล้วกัน เราจึงตอบกลับไปว่า ท่านนายกฯ ก็ระวังตัวไว้ด้วยก็แล้วกัน ล่าสุดคือการยกมือขึ้นชี้หน้าผู้แทนราษฎรในสภา ซึ่งเราก็ทนไม่ได้ต้องชี้หน้ากลับไป อาการทำนองนี้มีให้เห็นมาตลอด แต่คนมักจะทำเป็นขำๆ ไป ไม่เคยมีใครให้บทเรียนว่าเป็นสิ่งไม่ควรทำ”

‘ผนงรจตกม’ คือนิยามของเด็กๆ ที่มอบให้กับผู้นำของพวกเขา เวลาเดียวกัน ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยก็ยังคงมองว่าการเมืองไทยเป็นเรื่องของคนมีอายุ เป็นเรื่องที่สงวนไว้กับคนโตแล้ว เด็กมีหน้าที่แค่ตั้งใจเรียนหนังสือและฟังสิ่งที่ผู้ใหญ่พร่ำสอน เห็นได้บ่อยๆ จากการถกเถียงของพ่อกับลูก หลานกับน้า อาจารย์กับนักเรียน ก็มักมีประโยค ‘เป็นแค่เด็กจะไปรู้อะไร’ ผ่านหูกันเป็นประจำ

“ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน เคยมีผู้ใหญ่ไปว่าเด็กว่า ‘เด็กไทยสนใจแต่ซีรีส์เกาหลี ไม่สนใจการเมือง’ เคยปรามาสไว้แบบนี้ เปรียบเทียบว่าไม่เหมือนคนรุ่นตุลาคม รุ่นนั้น รุ่นนี้ พอเลิกล็อกดาวน์ เขาก็ออกมา บินกันเหมือนผีเสื้อ ขยับปีกอยู่แทบทุกภูมิภาค ขึ้นเวทีพร้อมกับข้อมูลแน่นๆ ข้อมูลแบบคนที่รู้เลยว่าอ่านประวัติศาสตร์การเมือง เรื่องการเหยียดวัยไม่ควรเกิดขึ้น เหมือนกับการเหยียดเพศ แม้กระทั่งเด็กก็ไม่อยากให้ไปเหยียดวัยผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่ก็ไม่ควรจะดูถูกเด็ก ‘เด็กมันจะรู้เรื่องอะไร’ อันนี้คือการเหยียดวัย สำหรับเราสังคมปัจจุบันแทบไม่มีอาณาเขต ไม่มีช่องว่างใดๆ ชัดขนาดนั้นแล้ว”

ในปีนี้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ว่ากันว่าการชุมนุมเกิดขึ้นโดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษา แต่สำหรับอมรัตน์ เธอมองว่าการชุมนุมใหญ่เกิดขึ้นจากทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ชนชั้นใด มีปัญหาแบบไหน ทุกคนต่างนำสิ่งที่พบเจอมาแบ่งปัน จนทำให้กลุ่มที่คิดว่าเล็ก เริ่มแผ่ขยายใหญ่ขึ้นจะเกิดแรงกระเพื่อมมหาศาลต่อสังคม

“ก่อนจะมาเป็นคณะราษฎรก็มาจากกลุ่มย่อยหลากหลาย กลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มเสื้อแดงเก่าบางส่วน สุดท้ายมารวมกันเป็นคณะราษฎร มันเกิดมาจากอำนาจนิยมที่กดทับอยู่เป็นเวลานาน พอได้ที่ ได้เวลา รัฐประหารมาหลายปี กอปรกับพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ก็ทำให้เขาตั้งคำถามว่าทำไมพรรคที่เขาเลือกถึงโดนยุบ เกิดประเด็นความไม่เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม มันเป็นการเปิดแผลให้เห็นจนเริ่มเกิดแฟลชม็อบครั้งแรกๆ” 

“หลังจากนั้นม็อบก็เลยประเด็นเราไปแล้ว มีเรื่องให้ถูกพูดถึงมากขึ้น เริ่มขยับมาเป็นประเด็นนักเรียน อำนาจนิยมในโรงเรียน LGBTQ+ สายรุ้งที่สังคมไม่ยอมรับเรื่องการสมรสเท่าเทียม เรื่องเกณฑ์ทหาร ทุกคน ทุกกลุ่มย่อยมีจุดยืนของตัวเอง แต่ทุกกลุ่มมารวมกันเพราะอำนาจนิยมที่กดทับกลุ่มต่างๆ ทุกอย่างเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดสิ่งนี้”

หลายครั้ง เราเคยเห็นเธอเดินถือกระเป๋ายิ้มรับเสียงทักทายของมวลชน การลงพื้นที่ของเธอเกิดขึ้นเพราะการทำงานในฐานะผู้สังเกตการณ์พรรค รวมถึงความต้องการส่วนตัวของเธอเอง ที่ต้องการลงมาฟังกับหูว่าผู้คนที่กำลังส่งเสียงต้องการอะไร

“สาเหตุที่อินกับเรื่องการเรียกร้องของเด็กๆ เพราะตัวเองก็เป็นคนที่โดนคดี เคยวิ่งหนีตำรวจมาก่อน คดีคนอยากเลือกตั้ง ‘MBK39’ คดี ‘UN62’ โดนมาหมด ไปอยู่ห้องขังใต้ถุนศาลมาแล้ว เพียงเพราะเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเท่านั้นเอง ตอนนั้นเราอยากให้มีนักการเมืองฝ่ายค้านหรือนักการเมืองที่เห็นคุณค่าของการเลือกตั้งออกมาขยับตัว แต่ก็ไม่มี” 

“ไม่เข้าใจว่าทำไมนักการเมืองถึงเงียบ ส.ส. 500 กว่าคนหายไปไหนกันหมด โดนยึดอำนาจตั้งแต่ปี 2557 เวลาผ่านไป 2-3 ปี ก็ยังเงียบกันอยู่ แล้วทุกครั้งโดนจับด้วยข้อหาที่ไม่ควรโดน อย่างการจัดงานครบรอบการทำรัฐประหาร นิทรรศการลุงนวมทอง งานผู้ลี้ภัย ตำรวจก็มาจับเรา มีช่วงหนึ่งอ่าน ‘1984’ (นิยายของจอร์จ ออรเวลล์ นักเขียนชาวอังกฤษ) แล้วโดนจับ รวมตัวกันยืนเฉยๆ ก็โดนจับ ไปนั่งกินแซนด์วิชที่สยามพารากอนก็โดนจับ คราวนี้เลยเอาข้าวหลามไปยืนกินหน้าสถานทูตอเมริกาในวันที่ 4 กรกฎาคม วันชาติสหรัฐฯ ก็โดนจับอีก ตอนโดนจับไม่รู้กฎหมายอะไรเลย เราเลยตั้งคำถามว่านักการเมืองหายไปไหน”

“นักการเมืองไทยส่วนใหญ่เลือกถนอมตัวเองก่อน เคยมีครั้งหนึ่ง ส.ส. ที่เชิญมาร่วมนิทรรศการที่ธรรมศาสตร์ มาแค่อึดใจเดียว ถ่ายรูปแล้วขอตัวกลับก่อนเพราะต้องไปเล่นบอลต่อ ก็รู้สึกผิดหวัง พออยู่ในจุดที่เราเป็นนักการเมืองบ้าง เลยรู้สึกว่าต้องลงมาร่วมทุกข์ร่วมสุข มาฟังว่าพวกเขาพูดอะไรกัน ถ้าใครโดนจับหรือโดนอะไรจะได้ช่วยเป็นสักขีพยานให้ประชาชน เลยอาสาเป็นตัวแทนพรรคไปที่ชุมนุมตลอดในฐานะผู้สังเกตการณ์พรรค”

เมื่อนักการเมืองไม่ได้ดั่งใจ ก็ต้องลงมาทำเอง

ความ ‘สิ้นหวัง’ ต่อนักการเมือง และระบบการเมือง กลายเป็นหนึ่งตัวขับเคลื่อนที่ทำให้นักธุรกิจท้องถิ่นจากนครปฐม ตัดสินใจเลือกลง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคเกิดใหม่ ด้วยความรู้สึกว่า หากนักการเมืองในระบบไม่ได้ดั่งใจ พึ่งไม่ได้ ก็ต้องลงมือทำเอง

“ส่วนหนึ่งที่ยอมลงบัญชีรายชื่อ เพราะถ้าพึ่งใครไม่ได้ก็ลองทำเองดูสักตั้งไหม คนอื่นไม่ทำ เดี๋ยวถ้าได้เป็นจะลองดูว่าเราทำได้มั้ย จะได้รู้ว่าทำไมบางคนถึงทำไม่ได้ พอมาอยู่ตรงจุดนี้ ก็ทำทุกอย่างที่ตัวเองเคยอยากให้นักการเมืองทำให้เรา เคยปรารถนาอยากได้นักการเมืองแบบไหน เราก็ทำแบบนั้น ไม่รู้มาตรฐานคนอื่นว่าทุกคนต้องการอะไรบ้าง แต่ตัวเราอยากได้สิ่งเหล่านี้จากนักการเมือง เราก็ทำ”

เวลานี้มีคนถูกเรียกด้วยหมายดังกล่าวมากกว่าสามสิบคน อมรัตน์เป็นหนึ่งใน ส.ส. ฝ่ายค้าน ที่เดินดุ่มๆ ผ่านฝูงชนที่มารออยู่หน้าโรงพัก เข้าไปอยู่เคียงข้างกับผู้ถูกจับกุมเสมอ ไม่ว่าเวลานั้นจะเป็นช่วงบ่ายโมง เช้ามืด หรือว่าเที่ยงคืน และนอกจากนั่งเคียงข้าง เธอยังใช้เอกสิทธิ์ติดตัวประกันตัวให้กับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนอีก

เธอเคยรู้สึกเหนื่อยบ้างหรือเปล่า?

“นิดหน่อย แต่ว่านอนหลับไป วันรุ่งขึ้นก็หายเหนื่อยแล้ว”

และเหตุที่ไปไว ไปทุกที่ อาจเป็นเพราะคนมักจะนึกถึงตัวเธอก่อน เพราะรู้ว่ารู้จักคนเยอะ แล้ว ส.ส. พรรคอีกหลายคนก็อยู่ต่างจังหวัด อาจจะอยากมา แต่ก็มาไม่ทัน ก็เลยเป็นอมรัตน์ที่ต้องออกหน้าเสมอ

เธอบอกว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน เหตุการณ์ที่เด็กอายุ 16 ปี โดนแจ้งความด้วยมาตรา 112 ด้วยการสวมเสื้อครอปท็อปเขียนตัวว่า ‘พ่อกูชื่อมานะ’ เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อใจเธอมากที่สุดในชีวิต

“หลังน้องไปมอบตัวที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา เขาต้องถูกส่งตัวต่อไปยังศาลเยาวชน เพราะผู้พิพากษาต้องสอบอีกรอบหนึ่งต่อจากตำรวจ เพื่อนของน้องบอกให้เจ้าตัวติดต่อขอให้เราไปที่สถานีตำรวจด้วย วันที่ได้หมายเรียก เขาร้องไห้ บอกว่าให้ไปเป็นเพื่อนได้ไหม เราก็ตกลง พอบ่ายสองโมงถูกส่งตัวไปศาลเยาวชน คุณแม่น้องก็ขอให้ไปเป็นเพื่อนที่ศาล ไปฟังด้วยกัน”

ท่ามกลางบรรยากาศผ่อนคลาย เคล้าคำบอกเล่ามากมายปากอมรัตน์ ตาของเธอแดงก่ำขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงของเหลวใสที่ปริ่มขอบตา น้ำเสียงเริ่มสั่นเครือ บทสนทนาหยุดชะงักกลางคัน ทำอะไรไม่ได้นอกจากรอให้เธอซับน้ำตาแห่งความอัดอั้น เสียงเพลงจากลำโพงที่ดังคลออยู่ตลอดเงียบหายไปดื้อๆ ความคับอกคับใจจากประสบการณ์ที่พบเจอมา พานให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมอย่างไม่รู้ตัว

“เมื่อถูกขอร้องให้ไปด้วย เราตัดสินใจขับรถตามไปที่ศาล นั่งเป็นเพื่อนน้องอยู่ตรงใต้ถุนศาล ปรากฏว่าโชคดีมากที่รองอธิบดีศาลเยาวชนยอมให้เข้าไปด้วย ปกติถ้าเป็นเด็ก จะเข้าได้แค่พ่อแม่และทนาย แต่พอทนายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเขาทราบข่าวนี้ ก็วิ่งลงมาดีใจใหญ่บอกว่า พี่เจี๊ยบ เขาให้พี่ขึ้นไปด้วย อนุญาตให้ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ประกันตัวผู้ต้องหามาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุด เรายินดีที่จะประกันเพราะวงเงินประกันเหลือ พ่อแม่เขาก็ดีใจ น้องเขาก็ยิ้ม เราก็ดีใจไปด้วยที่ได้ใช้สถานภาพพิเศษที่มีเพื่อประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ”

“ประกันมาเยอะมาก เป็นสิบๆ คน บางทีก็ใช้ตำแหน่ง ส.ส. เพื่อนในพรรค มาช่วยแบ่งไป ไม่ใช่ชื่อเราคนเดียว เพราะ ส.ส. คนหนึ่งประกันได้ 10 เท่าของเงินเดือน ได้ประมาณล้านกว่าบาท ถ้าเกิดศาลแขวงปทุมวันเรียก 4 คน คนละ 2 หมื่นบาท รวมกัน 8 หมื่น วงเงินจะหักไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ ถ้าหักเยอะ ก็จะมีเพื่อน ส.ส. ที่พรรคไปขอใบรับรองเงินเดือนมาช่วย เราประกันมาเยอะมาก แต่ว่าที่สะเทือนใจที่สุดคือน้องอายุ 16 ปีนี่แหละ”

ในฐานะ ส.ส. อมรัตน์ยืนยันว่าการใช้มาตรา 112 หลายครั้ง เป็นเรื่อง ‘เลยเถิด’ การกำหนดโทษไว้ที่ 3-15 ปี ใครก็สามารถแจ้งความได้ ทำให้หลายคนได้รับผลกระทบหนัก ยกตัวอย่างเช่น วงไฟเย็น แต่งเพลง ‘112 ไม่เป็นธรรม’ นำเพลงนี้ขึ้นไปเล่นบนเวที ก็รับโทษไปเวทีละ 5 ปี เล่นทั้งหมด 20 เวที ก็โดนโทษเป็นร้อยปี หรือใส่ชุดไทยแล้วโดนแจ้งความเอาผิดตามมาตรา 112 ก็แสดงให้เห็นว่าขอบเขตที่ใช้มาตรานี้กระจายมั่วไปหมด มาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมือกำจัดคนที่เห็นต่างทางการเมือง เป็นการดึงให้สถาบันตกต่ำ และสิ่งที่ต้องถามกลับก็คือ สุดท้ายแล้วใครเป็นคนหมิ่นกันแน่?

จากการเป็นผู้เปิดประเด็นและยิงคำถามที่อยากรู้ให้เธอตอบ ตอนนี้อมรัตน์ถามกลับด้วยความฉงนงุนงง สังคมบิดเบี้ยวทำให้เรื่องไม่เข้าท่าสามารถเกิดขึ้นได้จริง ความอยุติธรรมจำนวนมากผสมปนเปอยู่ในสังคมจนแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ความผิดปกติกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว

“รัฐบาลคุณประยุทธ์เคยพูดว่า พระมหากษัตริย์ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ 112 เป็นข่าวที่อ้างอิงได้จริง เกิดการว่างเว้นไม่ใช้ประมาณ 2 ปี แต่ตอนนี้แจก 112 เกิน 36 คนแล้ว เท่ากับว่าคุณไม่ได้ฟังพระราชดำรัสเลย สิ่งที่ทำเป็นผลดีต่อสถาบันจริงหรือ มันไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย” 

แล้วทำไม ส.ส. ในสภา ถึงไม่กล้าตั้งคำถามกับการใช้มาตรา 112 หรือบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านเวทีสภา

“เราพูดไปแล้วตั้งแต่ม็อบวันที่ 8 พฤศจิกายน ประชาชนเอาถังขยะมาดัดแปลงเป็นตู้ไปรษณีย์สีแดงแล้วส่งจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ พอประชาชนหย่อนจดหมายเสร็จ ตู้กลับถูกหิ้วไปอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม มีกฎหมายอาญาบอกไว้ว่าจดหมายส่วนตัวห้ามเปิดอ่าน เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีสิทธิ์ทำแบบนี้เพราะผิดรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยต้องส่งไปยังสำนักพระราชวัง ทางนั้นเขาจะส่งหรือไม่ส่งต่อก็เป็นเรื่องกองเลขาฯ ไม่ใช่เรื่องของตำรวจที่จะมาทำ แต่ไม่มี ส.ส. ขยับปากในเรื่องนี้เลย อยากให้ลองถามว่าเซนเซอร์ตัวเองมากไปไหม สภาเป็นที่ที่คุณจะพูดอะไรก็ได้แล้วไม่โดนจับ มีเพียง 500 คนที่เป็นตัวแทนของประชาชน แล้วกลับเลือกให้เด็กมาเสี่ยง แบบนี้อาสามาเป็นตัวแทนทำไม หน้าที่ของ ส.ส. คือการพูดแทนประชาชนอยู่แล้ว ทั้งสถานที่ที่พูดได้ สถานะที่พูดได้ แต่ก็เลือกที่จะเซนเซอร์ตัวเอง มองดูพวกเขาโดนจับเข้าคุก แล้วคุณทนได้ยังไง”

เป็นอีกครั้งที่เห็นเธอตาแดงก่ำ ทว่าครั้งนี้ไม่ใช่น้ำตาที่เกิดจากความปีติยินดีปนอัดอั้นตันใจ เหมือนกับตอนที่เธอร้องไห้ให้กับเด็กอายุ 16 ปี แต่เป็นน้ำตาของความโกรธ ผิดหวัง และเจ็บปวด

“ส.ส. ไม่ได้พูดได้ทุกเรื่อง การพูดต้องเป็นไปตามนโยบายหรือมติพรรค พอถึงระดับหนึ่งก็ต้องทำให้เต็มเพดานที่มี ให้มันไต่เส้น ถ้าไม่อยากเสี่ยงก็อย่าให้ทะลุเส้น แต่คุณไม่แม้แต่จะแตะเพดานด้วยซ้ำ ทุกวันนี้เราก็อยู่ตรงเส้น ทะลุบ้างนิดๆ แต่ถ้าจะถามเรื่องในสภาว่าแตกต่างจากที่เคยจินตนาการไว้ยังไงบ้าง ก็คงขอบอกว่าผิดหวัง”

หลังการพูดคุยนี้จบลง ไม่กี่วันถัดมาการประชุมสภาเริ่มขึ้นอีกครั้ง อมรัตน์ทำสิ่งที่เธอเคยตำหนิ ส.ส. จำนวนมากเอาไว้ด้วยการลุกขึ้นพูดถึงขอบเขตการใช้มาตรา 112 โดยกล่าวกับประธานสภาว่า ในเวลาเพียงแค่เดือนเศษ มีผู้ถูกหมายเรียกมากเกือบ 40 คน และเรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจมีวิจารณญาณเกี่ยวกับการใช้มาตรานี้มากขึ้น เพื่อรักษาเกียรติภูมิของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ไม่ใช่เพื่อสนองผู้มีอำนาจทำลายล้างผู้เห็นต่าง 

เธอไม่ได้พูดลอยๆ แต่ลงมือทำตามสิ่งที่ตัวเองยึดมั่นให้เกิดขึ้นจริง

การเมืองไทยเป็นเกมที่ไม่มี ‘สปิริต’

ประสบการณ์หนึ่งปีเศษของอมรัตน์ในสภา เธอเห็นว่าหาก ‘ฝ่ายนิติบัญญัติ’ ยังคงเป็นแบบนี้ การเมืองไทย จะไปไม่ถึงไหน และในที่สุดจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ แม้แต่หน้าที่หลักอย่างการ ‘ผ่านกฎหมาย’ 

“หลายครั้งทำให้เห็นว่า สภาไม่ใช่คำตอบในการเปลี่ยนแปลงประเทศเสมอไป ผ่านกฎหมายได้ไม่กี่อัน ยื่นญัตติยกเลิกเกณฑ์ทหารไป ก็โดนตีตก นายกฯ ใช้สิทธิวีโต้ ไม่ได้ถูกพิจารณาในสภาด้วยซ้ำ การเมืองไทยยังไม่พัฒนา การเมืองไทยเป็นเกมที่ไม่มีสปิริต ยืนปุ๊บ ยังไม่ทันอ้าปากพูดอะไรก็ถูกประท้วง จนกระทั่งข้างนอกล้ำหน้าเราไปไกลแล้ว แถม ส.ส. ฝ่ายค้านก็ทำอะไรมากไม่ได้ บางทีก็มีคนมาด่าว่า ‘ไม่เห็นทำอะไรเลย ไปแก้ปัญหาบ้านเมืองสิ’ ความจริงก็คือ เราเป็น ส.ส. ฝ่ายค้านไม่ใช่ฝ่ายบริหาร เราเป็นฝ่ายตรวจสอบ เราถึงต้องพูด บางคนยังไม่เข้าใจเลยว่าหน้าที่ ส.ส. ฝ่ายค้านต้องทำอะไร”

“จากวันนั้นที่โดนเอกชัย หงส์กังวาน โดนแจ้งความตามความผิดมาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี) เขาก็มาที่สภาเพื่อยื่นเรื่องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้กระทั่งมายื่นหนังสือถึงสภา ก็ยังไม่มี ส.ส. ลงมารับหนังสือสักคน พอเราจะลงไป บอกว่าเอกชัยมายื่นเรื่องขบวนเสด็จ เขาก็ลงไปนั่งที่เดิม ไม่ไปแล้ว สงสัยว่ามันน่ากลัวตรงไหน เขาไม่ได้มายื่นเกี่ยวกับ 112 เขามายื่นว่าตัวเองถูกจับอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันเลย แต่เพื่อน ส.ส. ไม่ลงไป วันนั้นทั้งวันเอกชัยก็เลยอยู่กับเรา เป็นวันเดียวกันกับที่มีม็อบหน้าสภา วันที่เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำ ขู่จะใช้กระสุนยาง เอกชัยออกจากสภาไม่ได้ เลยพาเขาไปอยู่ที่วอร์รูมชั้น 6 ของพรรค แต่วันนั้นเอกชัยก็โดนข้อหาจาก สน. บางโพ ว่าเป็นผู้จัดม็อบ”

ย้อนกลับไปยังวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ผู้ชุมนุมกลุ่ม ‘คณะราษฎร’ และกลุ่ม ‘เสื้อสีเหลือง’ ประกาศชุมนุมในพื้นที่เดียวกัน ณ บริเวณหน้ารัฐสภาและสี่แยกเกียกกาย ทว่าช่วงบ่ายมวลชนยังไม่หลั่งไหล เจ้าหน้าที่ตัดสินใจฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาใส่การ์ดคณะราษฎร มีคลิปวิดีโอที่เผยให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศเตรียมใช้กระสุนยาง หลายคนที่เตรียมตัวเดินทางไปสมทบช่วงเย็นตัดสินใจยกเลิกแผนการ แต่ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่เห็นความรุนแรงและตัดสินใจตรงดิ่งไปยังรัฐสภา ความชุลมุนดำเนินต่อไปจนถึงกลางดึก ท่ามกลางเสียงกรีดร้อง และการปะทะกันหลายครั้งของคณะราษฎร กลุ่มคนเสื้อเหลือง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“หลังจากเอกชัยถูกหมายเรียกอีกครั้ง เราไปเป็นพยานให้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางโพ บอกเจ้าหน้าที่ว่าวันนั้นมีข่าวเอกชัยมายื่นหนังสือชัดเจน วันที่เท่าไหร่ เวลาไหน เอาข่าวหนังสือพิมพ์ให้ดู เพื่อให้เจ้าหน้าที่ถอนหมายเรียก เพราะเขาไม่ได้อยู่ที่ม็อบ แต่ตำรวจก็ไม่ยอมถอนหมายเรียกจนถึงวันนี้”

เวลานี้การเรียกร้องของประชาชนยังไม่จบลง ทุกอย่างต้องดำเนินต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย และใกล้ถึงเวลาที่เรากับอมรัตน์ต้องแยกย้ายไปใช้ชีวิตต่อ 

เธอทิ้งท้ายว่า อยากให้ผู้ที่ต้องการบางสิ่งที่ถวิลหา อย่าเพิ่งหมดแรงใจในการก้าวเดิน

“จากปรากฏการณ์ที่ผ่านมา มีเยาวชนคนรุ่นใหม่และกลุ่มพลังทางสังคมหลายฝั่ง ตอนไปสังเกตการณ์ได้ฟัง ได้เห็น เรารู้สึกได้ถึงความหวัง มันจะจบที่รุ่นของเราหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเทียบกับ 2-3 ปีก่อนที่ไม่หวังอะไรเลย แต่ตอนนี้เริ่มหวังแล้ว คนจะทยอยมีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 7-8 แสนคนต่อปี ขณะที่คนรุ่นเก่าร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ในไม่กี่ปีข้างหน้า ลองคิดว่ามีกี่ล้านคนที่คิดไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว”

“ทุกคนต้องหล่อเลี้ยงความหวังของตัวเองไว้เสมอ บางคนมาร่วมชุมนุมแล้วผิดหวัง คิดว่าทำไมไม่เปลี่ยน คิดว่าจะจบที่ม็อบนี้ ไม่เอาแล้ว เดี๋ยวรอมาวันสุดท้ายเลยทีเดียว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าวันไหน บางคนอาจท้อ แต่ทุกคนต้องหล่อเลี้ยงความหวัง”

อมรัตน์ยืนยันว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมความรัก รักในเสรีภาพ รักในอิสรภาพ ไม่มีใครอยากถูกกักขัง แต่เมื่อเจอกฎเกณฑ์ที่ ‘ไม่เข้าท่า’ กดทับไว้ สักวันหนึ่งสัญชาตญาณจะต้องชนะ

“ธรรมชาติของการโหยหาเสรีภาพจะต้องชนะทุกการกดขี่อย่างแน่นอน ไม่ช้าไม่นานก็ต้องถึงเวลา คนที่เหนื่อยคือคนที่เป็นศักดินาล้าหลัง และคนที่ตื่นแล้วจะไม่มีวันกลับไปหลับแบบเดิมอีก ส่วนคนที่แกล้งหลับก็จะไม่ยอมตื่น คนกลุ่มนั้นเราต้องเมินเฉยไปเลย ไม่ต้องไปเปลี่ยนเขา ยังเชื่อมั่นว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถได้ส่งเสียง จะเสียงดังหรือเสียงเบา ก็คือเสียงเหมือนกัน” อมรัตน์ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

เหมือนเช่นพบกันเมื่อหนึ่งชั่วโมงก่อนหน้านี้ แสงแห่งความหวังในตาของเธอยังคงสะท้อนแรงกล้าเสมอ

แล้วพบกันใหม่ ไม่มีใครรู้ว่าวันไหน แต่เราต้องพบกันอีกครั้ง ในวันที่ประชาธิปไตยไทยเบ่งบานอย่างแท้จริง

 

Fact Box

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 จบการศึกษาระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนสาธิตศิลปากร จังหวัดนครปฐม ระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ ก่อนจะศึกษาต่อในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะนักกิจกรรมประชาธิปไตย ก่อนจะลงเล่นการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล

Tags: , , , , , , , , , ,