นับเป็นเรื่องน่ายินดีกับข่าวที่นักเรียนไทย ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ ได้รับรางวัลปรัชญาโอลิมปิก และเป็นอีกครั้งที่นักเรียนไทยได้แสดงความสามารถในระดับนานาชาติ และที่น่าชื่นชมก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่มีนักเรียนไทยเข้าร่วมแข่งขันปรัชญาโอลิมปิค ทั้งที่วิชาปรัชญาไม่ได้มีอยู่ในหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน

วิชาปรัชญานับเป็นวิชาการเก่าแก่ลำดับที่ 6 ในการแข่งขันระดับโอลิมปิกวิชาการ รองจาก คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี วิทยาการสารสนเทศ และ ชีววิทยา ตามลำดับ โอลิมปิคปรัชญาเริ่มแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 2533

งานปรัชญาโอลิมปิกนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากสหพันธ์สมาคมปรัชญานานาชาติ หรือ FISP (French: Fédération Internationale des Sociétés de Philosophie) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างสมาคมปรัชญาของประเทศต่างๆ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1948 หรือราว 70 ปีที่แล้ว เพื่อพัฒนาวิชาการและสร้างความร่วมมือระหว่างสมาคมปรัชญา (รวมถึงศาสนา) ในประเทศต่างๆ สมาชิกของ FISP จะต้องเป็นสมาคมระดับชาติด้านปรัชญา แต่ละประเทศก็จะมีสมาคมไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของ FISP

หรืออย่างงานประชุมปรัชญา World Congress of Philosophy ที่จัดขึ้นทุกๆ 5 ปีโดย FISP ซึ่งถือเป็นงานวิชาการด้านปรัชญาที่ใหญ่ที่สุดในโลก งานครั้งล่าสุดเพิ่งมีขึ้นเมื่อ 13-21 สิงหาคม 2018 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีนักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนาเข้าร่วมกว่า 8,000 คน และในงานประชุมครั้งล่าสุดนี้ มีนักวิชาการด้านปรัชญาชาวไทยที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการและกรรมการบริหารของ FISP ด้วยนั่นคือ ศาสตราจารย์.ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

งานโอลิมปิกปรัชญาครั้งแรกในประเทศไทย

เงื่อนไขสำคัญของการเข้าร่วมแข่งขันปรัชญาโอลิมปิกก็คือ ตัวแทนที่จะเข้าแข่งขันได้จะต้องผ่านการคัดเลือกโดยสมาคมด้านปรัชญาและศาสนาที่เป็นสมาชิกของ FISP ซึ่งในประเทศไทยมีเพียง สมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย

แนวคิดที่จะส่งคนไทยไปเข้าร่วมแข่งขันปรัชญาโอลิมปิก เคยริเริ่มมาตั้งแต่สมัย ผศ.ดร. สิริเพ็ญ พิริยะจิตรกรกิจ เป็นนายกสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย เพราะมองว่า ด้วยแนวทางนี้จะช่วยให้เกิดความสนใจปรัชญาในระดับโรงเรียน และจะทำให้เกิดการเรียนวิชาปรัชญาเด็ก ทำให้เกิดการเรียนการสอนให้เด็กเกิดกระบวนการคิดทางปรัชญา แต่ช่วงแรกนั้น ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ และยังไม่แน่ใจว่าจะมีโรงเรียนที่สนใจส่งนักเรียนมาแข่งขันหรือไม่ จึงยังไม่มีการจัดแข่งขันปรัชญาโอลิมปิกในประเทศไทย

จนกระทั่งมีโรงเรียนบางแห่งที่เริ่มมีความพร้อม และติดตามข่าวการแข่งขันปรัชญาโอลิมปิกจากต่างประเทศ ติดต่อมายังสมาคมปรัชญาฯ เพื่อขอให้จัดแข่งขัน นายกสมาคมฯ คนปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ก็จึงเริ่มให้มีการจัดการแข่งขันปรัชญาโอลิมปิกขึ้นมา

นอกจากสมาชิกของ FISP จะมีสิทธิ์เปิดช่วงนำเสนอผลงานวิชาการในงานประชุมปรัชญาโลกแล้ว ก็ยังมีโอกาสส่งตัวแทนไปแข่งโอลิมปิกปรัชญา ที่จัดขึ้น ณ เมืองบาร์ ประเทศมอนเตเนโกรด้วย ในการประกาศรับสมัครตัวแทนของประเทศไทยครั้งนี้ มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาสมัครเข้าร่วมกว่า 20 คน โดยมากเป็นนักเรียนในเขตกรุงเทพมหานครที่รู้ข่าวการรับสมัครที่ประกาศผ่านหน้าเฟซบุ๊กของสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย

การจัดแข่งขันในครั้งแรกมีอุปสรรคคือ นักเรียนที่เข้าแข่งขันไม่เคยเรียนปรัชญามาก่อน และการจัดปรัชญาโอลิมปิกโดย FISP แสดงให้เห็นว่า การเรียนปรัชญาในประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับโลกวิชาการในระดับนานาชาติค่อนข้างน้อย และการแข่งขันที่ต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษอาจทำให้ผู้ที่พร้อมสมัครเข้าแข่งขันมีจำนวนจำกัด และที่สำคัญคือ การจัดแข่งขันโอลิมปิคปรัชญา ยังไม่มีทุนสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจึงสมัครมาด้วยความสนใจที่จะแข่งขันปรัชญาจริงๆ

 

การคัดเลือกแบบปรัชญาโอลิมปิก

การแข่งขันปรัชญาแบบวิชาการ จะใช้วิธีคัดเลือกตัวบทปรัชญามาประมาณหนึ่งย่อหน้าสั้นๆ แล้วให้ผู้เข้าแข่งขันเขียนอธิบายตัวบทปรัชญานั้น จากนั้นก็ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านปรัชญาเป็นผู้ตรวจ

การแข่งขันในระดับประเทศและการแข่งขันในระดับนานาชาติก็ใช้กติกาแบบเดียวกัน คือ ตัวบทของข้อสอบแข่งขันจะต้องถูกเขียนอธิบายในภาษาทางการของ FISP คือ ภาษาอังกฤษ เยอรมัน สเปน และฝรั่งเศส

กติกาสำคัญอีกข้อหนึ่งเพื่อลดความได้เปรียบระหว่างผู้เข้าแข่งขันคือ ห้ามเลือกภาษาแม่หรือภาษาทางการของประเทศตนเองในการทำข้อสอบ เช่น ผู้เข้าแข่งขันจากประเทศอังกฤษ จะต้องไม่ส่งข้อสอบในภาษาอังกฤษ ดังนั้น นักเรียนไทยที่เข้าแข่งขันในระดับประเทศไทยและระดับนานาชาติที่เขียนข้อสอบด้วยภาษาอังกฤษจึงถือว่าไม่ใช่ข้อเสียเปรียบแก่ผู้เข้าแข่งขันที่เป็นเจ้าของภาษา

ข้อสอบจำกัดความยาวไม่เกิน 5 หน้ากระดาษเอสี่ และจะต้องสำเนาให้กรรมการผู้ตรวจข้อสอบห้าท่าน ซึ่งข้อสอบมีคะแนนเต็มสิบคะแนน โดยเกณฑ์การตรวจข้อสอบมีสี่ส่วน คือ พื้นฐานทางปรัชญา นั่นก็คือ ผู้เขียนจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีความรู้และเข้าใจประเด็นปรัชญา และสามารถเชื่อมโยงประเด็นปรัชญาจากข้อสอบเข้ากับข้อถกเถียงอื่นๆ ในปรัชญาได้ การอ้างเหตุผล งานเขียนที่จะได้คะแนนดีจะต้องนำเสนอประเด็นด้วยลำดับการอ้างเหตุผลอย่างถูกต้องตามโครงสร้างตรรกะ ความคิดริเริ่ม นำเสนอความคิดได้อย่างน่าสนใจ เช่นยกตัวอย่างได้ดี หรือเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นหรือแสดงการประยุกต์ใช้แนวความคิดได้ การใช้ภาษา สามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องตามไวยกรณ์และอ่านเข้าใจได้ง่าย

รางวัลของโอลิมปิกปรัชญาพิจารณาจากคะแนนของข้อสอบ ซึ่งข้อสอบที่มีโอกาสได้รับรางวัลจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 7 คะแนน รางวัลที่จะได้ พิจารณาตั้งแต่รางวัลชมเชย (Honorary Mention) เหรียญทองแดง เหรียญเงิน และเหรียญทอง ซึ่งในแต่ละปี ผู้เข้าแข่งขันที่ได้รางวัลระดับเหรียญทองจะมีไม่เกิน 5 คน บางปีอาจจะไม่มีผู้ได้รับรางวัลเลยก็ได้ และในปีล่าสุด ผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่าร้อยคน มีผู้ได้รับรางวัลไม่ถึง 30 คนเท่า ดูรายชื่อผู้ได้รับรางวัลได้ที่นี่

สำหรับการแข่งขันปรัชญาโอลิมปิกครั้งแรกในประเทศไทย มีผู้เข้าแข่งราว 20 คนและมีผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนจากประเทศไทยคือ 1. นายชวิน อัศวเสตกุล (อายุ16 ปี จากโรงเรียนบางกอกพัฒนา) 2. นายธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ (อายุ 17 ปี จากเตรียมอุดมศึกษา) และรางวัลชมเชยคือ 1. นายธนา สมศิริวัฒนา (อายุ 16 ปี สวนกุหลาบวิทยาลัย) 2. นายวชิรวิชญ์ อินแสง (อายุ 18 ปี โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย) และเป็นที่น่ายินดี ที่ ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ เป็นหนึ่งในนักเรียนไทยที่เข้าแข่งปรัชญาโอลิมปิกนานาชาติ และยังเป็นหนึ่งใน 17 ผู้เข้าแข่งขันที่ได้รับรางวัลระดับ Honorary Mention

 

ก้าวต่อไปของปรัชญาโอลิมปิก

ศ.ดร. โสรัจจ์ นายกสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทยกล่าวถึงการจัดแข่งขันปรัชญาโอลิมปิกในประเทศไทยว่า การแข่งขันปรัชญาระดับโอลิมปิก เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความสนใจวิชาปรัชญา และกระตุ้นให้เกิดทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่จะได้จากการเรียนปรัชญา

ข้อจำกัดที่สำคัญของการส่งผู้แข่งขันจากประเทศไทยก็คือ นักเรียนไทยไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านปรัชญาจากโรงเรียน ต่างกับประเทศอื่นๆ ที่มีการสอนปรัชญาอยู่ในหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไอร์แลนด์ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่บรรจุวิชาปรัชญาให้สอนในโรงเรียน การเริ่มเรียนปรัชญาในมหาวิทยาลัยอาจจะเป็นการเริ่มต้นที่ช้าเกินไปในการฝึกให้ผู้เรียนมีความคิดเชิงวิพากษ์ และมีการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทางสมาคมปรัชญาและศาสนาก็รู้สึกยินดีที่มีนักเรียนให้ความสนใจในวิชาปรัชยา และความเป็นไปได้ที่จะสมาคมปรัชญาและศาสนาจะจัดการติวเพื่อสอบเข้าแข่งขันปรัชญาโอลิมปิคอย่างเป็นทางการ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้เข้าแข่งขัน  

ในปีนี้สมาคมปรัชญาและศาสนาก็กำลังเตรียมตัวจัดงานโอลิมปิกปรัชญาครั้งที่ 2 ซึ่งอยู่ในระหว่างการรับสมัครผู้เข้าร่วม คาดว่าปีนี้น่าจะมีการตอบรับที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา(สามารถติดตามรายละเอียดได้จากเฟซบุ้คของ สมาคมปรัชญาและศาสนา)

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:

Tags: ,