เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชนชั้นปรสิต (Parasite) ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวถ่ายทอดเรื่องราวความเหลื่อมล้ำและประเด็นเรื่องชนชั้นทางเศรษฐกิจได้อย่างแสบสันชวนแค่นหัวเราะ

ผู้เขียนไม่ได้จะมารีวิวภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีเยอะแยะอยู่แล้ว และไม่ได้จะชวนคุยในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งก็มีการพูดถึงมากมายอยู่แล้วเช่นกัน แต่ในบทความนี้ผมจะเล่าถึงอีกมิติหนึ่งนั่นคือโอกาสในการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจของคนแต่ละเจเนอเรชั่น (Inter-generational Economic Mobility)

สองแนวคิดนี้แม้ดูเผินๆ จะคล้ายคลึงกัน แต่จริงๆ แล้วค่อนข้างแตกต่าง เพราะปลายทางของความเหลื่อมล้ำคือลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับหนึ่ง กล่าวคือคนที่รวยไม่ได้รวยล้นฟ้าในขณะที่คนจนก็ไม่ได้ยากไร้ถึงขั้นไม่มีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ 

ส่วนแนวคิดการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจระหว่างเจเนอเรชั่น จะเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างพ่อแม่กับลูกหลานในครอบครัว โลกในอุดมคติซึ่งโอกาสในการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเด็กจะเกิดในครอบครัวร่ำรวยหรือยากจนก็จะมีโอกาสในการขยับขึ้นหรือลงบันไดสถานะทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างกัน

สิ่งที่พี่น้องตระกูลคิมในเรื่องชนชั้นปรสิตต้องเผชิญเป็นภาพจำลองสถานการณ์ของเด็กที่เกิดในครอบครัวคนยากจน ที่แม้จะฉลาดเฉลียวแต่กลับไม่มีโอกาสเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสีย และต้องการแรงงานมาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย แถมยังต้องอาศัยในบ้านที่ไร้ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวก ความขาดแคลนดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กๆ ซึ่งเกิดในครอบครัวยากจนแทบไม่มีโอกาสไต่เต้าให้สูงเกินกว่าพ่อแม่ของตนเอง

หากจะกล่าวว่าความเหลื่อมล้ำคือผลลัพธ์ของสังคมที่ขาดแคลนพลวัตในการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจคงไม่ผิดนัก

เส้นโค้งเดอะเกรทแกตสบี้ (The Great Gatsby Curve)

ชื่อ เดอะเกรทแกตสบี้ (The Great Gatsby) วรรณกรรมสะท้อนสังคมหรูหราฟูฟ่าในสหรัฐอเมริกายุคศตวรรษที่ 20 โดย เอฟ. สก็อต ฟิตซ์เจอรัลด์ ถูกหยิบมาใช้ในชื่อของเส้นโค้งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำและการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจโดยอลัน ครูเกอร์ (Alan Krueger) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เส้นโค้งดังกล่าวสะท้อนเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมาว่า ยิ่งสังคมมีความเหลื่อมล้ำมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้การเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยหรือยากจนส่งผลลัพธ์ต่อความสำเร็จและสถานะทางเศรษฐกิจในอนาคตมากเท่านั้น

ข้อค้นพบดังกล่าวคือสิ่งที่แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาพยากรณ์ไว้ หากเราตั้งสมมติฐานว่ายิ่งเด็กๆ อยู่ในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนานเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น พ่อแม่ผู้ร่ำรวยก็ย่อมมีกำลังเงินและแรงจูงใจที่จะส่งลูกให้เรียนสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยังไม่นับ ‘เครือข่าย’ ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ซึ่งพ่อแม่ผู้ร่ำรวยย่อมมีความได้เปรียบมากกว่าครอบครัวที่ยากจน

เส้นโค้งเดอะเกรทแกตสบี้ แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความไม่เท่าเทียมทางรายได้ (สัมประสิทธิ์จีนี) และความยืดหยุ่นของรายได้ระหว่างเจเนอเรชั่น ภาพจาก Fair Progress? : Economic Mobility Across Generations Around the World

งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2554 พบว่าในรัฐที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เด็กๆ ที่เกิดในครอบครัวยากจนจะมีโอกาสเลื่อนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจของตัวเองต่ำกว่าหากเทียบกับรัฐที่มีความเท่าเทียมสูงกว่า นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งยับพบว่าผลลัพธ์จาก ‘หวย’ ว่าด้วยการสุ่มเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยหรือยากจนยังส่งผลต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของเด็กๆ มากกว่าในอดีตอีกด้วย

เราจะวัดโอกาสในการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจได้อย่างไร?

ตัวชี้วัดฐานะทางเศรษฐกิจก็หนีไม่พ้นรายได้ สถาบันบรู้คกิ้งส์ (The Brookings Institution) ได้เปรียบเทียบการเปลี่ยนลำดับชั้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยพบว่ากลุ่มประเทศแถบยุโรปและสแกนดิเนเวีย เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน มีความเท่าเทียมในโอกาสของการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจมากที่สุด

วิธีหนึ่งในการวัดการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ คือเทียบรายได้ของพ่อแม่กับลูกโดยแบ่งประชากรออกเป็น 5 กลุ่มกลุ่มละ 20 เปอร์เซ็นต์ตามระดับรายได้ ลองนึกภาพตามง่ายๆ ว่าคล้ายกับบันได 5 ขั้น โดยคนที่จนที่สุดจะอยู่ขั้นที่หนึ่งส่วนคนที่รวยที่สุดจะอยู่บนขั้นที่ห้า 

ในประเทศเดนมาร์ก ผู้ชายที่เกิดในครอบครัวซึ่งพ่อมีรายได้ต่ำที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ จะมีโอกาสเลื่อนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ 1 – 3 ขั้นสูงถึง 61 เปอร์เซ็นต์ โดยมีโอกาสไต่ถึงขั้นสูงสุดถึง 14 เปอร์เซ็นต์ และมีสัดส่วน 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังอยู่ตำแหน่งเดิม ในขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ผู้ชายที่เกิดในครอบครัวซึ่งพ่อมีรายได้อยู่ในลำดับขั้นที่ห้า มีโอกาสสูงถึง 42 เปอร์เซ็นต์ที่จะติดอยู่ในลำดับชั้นทางเศรษฐกิจเดิม

ตารางแสดงผลลัพธ์การเลื่อนลำดับขั้นของลูกชายที่เกิดในครอบครัวที่พ่อมีรายได้ต่ำที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ
ข้อมูลจาก INTERNATIONAL COMPARISONS OF ECONOMIC MOBILITY

อีกวิธีหนึ่งคือการคำนวณความยืดหยุ่นของรายได้ระหว่างพ่อ-ลูกชาย (Father-Son Earnings Elasticities) แม้จะฟังดูยุ่งยาก แต่จริงๆ แล้วคือการวัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรรายได้พ่อกับรายได้ลูกชาย ยิ่งตัวเลขดังกล่าวสัมพันธ์กันมากเท่าไร ก็หมายความว่ามีการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจต่ำเท่านั้น

หากพูดแบบขำๆ ก็คงเรียกได้ว่าดัชนี ‘มีวันนี้เพราะพ่อให้’

ในประเทศเดนมาร์ก ดัชนีชี้วัดดังกล่าวเท่ากับ 0.15 หมายความว่ารายได้ของพ่อสัมพันธ์กับรายได้ของลูกชายเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่ดัชนีดังกล่าวสูงถึง 0.47 ในสหรัฐอเมริกา”

อย่างไรก็ดี ในหลายประเทศการจัดเก็บตัวเลขรายได้ในระดับบุคคลแล้วนำมาเชื่อมโยงกับลูกหลานเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง นักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการศึกษาประเด็นดังกล่าวจึงหยิบปัจจัยอย่าง ‘การศึกษา’ ซึ่งสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับรายได้เป็นตัวแทนในการวิเคราะห์ โดยเปรียบเทียบในลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือเทียบจำนวนปีที่เด็กๆ เล่าเรียนในระบบกับจำนวนปีของพ่อแม่ และเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษาของพ่อแม่ละเด็ก 

รายงานของธนาคารโลกได้รวบรวมข้อมูลการศึกษาของทุกประเทศทั่วโลก โดยพบว่าประเทศไทยทำคะแนนได้ดีในแง่การเปลี่ยนลำดับชั้นทางการศึกษาของคนแต่ละเจเนอเรชั่น (Inter-generational Mobility in Education) โดยคนรุ่นหลังกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มีการศึกษาที่สูงกว่าพ่อแม่ และความสัมพันธ์ของระดับการศึกษาของคนทั้งสองรุ่นอยู่ที่ราว 0.40 ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนักในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่อย่าเพิ่งดีใจไปนะครับ ผู้เขียนขอแนะนำให้ตีความผลการศึกษานี้อย่างระมัดระวังเพราะมีสมมติฐานสำคัญคือระดับการศึกษาต้องสัมพันธ์กับระดับรายได้อย่างแนบแน่น จึงจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าโอกาสในการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่น่าสบายใจ

ปัจจุบัน ไม่ว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศพัฒนาแล้วต่างก็เผชิญกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีจำนวนมากหลุดพ้นจากความยากจน แต่คนรวยก็สะสมความมั่งคั่งในอัตราการรวดเร็วกว่าการเติบโตของรายได้คนจน ปัญหานี้จะยิ่งเรื้อรังและกลายเป็นวงจรอุบาทว์หากรัฐบาลไม่ยื่นมือเข้ามาแก้ไข และสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ

ตัวอย่างนโยบายสำคัญคือการเพิ่มโอกาสให้ทุกคนเริ่มออกตัวจากจุดสตาร์ตเดียวกันโดยสามารถเริ่มตั้งแต่การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น การให้อาหารเสริมซึ่งราคาไม่แพงแต่คนยากจนอาจไม่สามารถเข้าถึงได้ โครงการระยะยาวที่ดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 2 ขวบหรือน้อยกว่า โดยเสริมพัฒนาการ การได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ไปจนถึงการจัดให้มีสถานดูแลเด็กเล็กสำหรับทุกคน ต่อด้วยการสนับสนุนการศึกษาในระดับประถมและมัธยม เพิ่มอัตราการเข้าถึงและคุณภาพของการศึกษา

ที่สำคัญ คือการสร้างแรงบันดาลใจโดยหยิบยกตัวอย่างบุคคลต้นแบบที่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนด้วยความพยายามของตนเอง การสร้างแรงบันดาลใจที่ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ โดยมีการศึกษาในเม็กซิโกพบว่าเด็กยากจนอายุ 12 ถึง 22 ปีแต่มีความมุ่งมั่นที่จะเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจของตนเอง จะอยู่ในระบบการศึกษานานกว่า มีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดีกว่า และเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมทำลายอนาคตที่น้อยกว่า

“คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้” เป็นเพียงคำกล่าวสวยหรูปลอบใจให้คนจนและลูกหลานคนจนตั้งหน้าตั้งตาทำงานหนักต่อไป แต่ในประเทศที่ไม่เอื้อให้เปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ ต่อให้เขาหรือเธอพยายามมากแค่ไหน ก็มีโอกาสน้อยแสนน้อยที่จะลืมตาอ้าปากหากเทียบกับลูกหลานที่คาบช้อนทองมาเกิด โอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้สมาชิกในสังคมรู้สึกว่าตนเองได้รับ ‘ความยุติธรรม’

เอกสารประกอบการเขียน

Fair Progress? : Economic Mobility Across Generations Around the World

INTERNATIONAL COMPARISONS OF ECONOMIC MOBILITY

The great utility of the Great Gatsby Curve

What is The Great Gatsby Curve?

Tags: